กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: MV พูนศักดิ์ สมบูรณ์ ลูกอีสาน ผู้ดำเนินรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

  1. #1
    ท่องเวบ สัญลักษณ์ของ pui.lab
    วันที่สมัคร
    Jul 2006
    ที่อยู่
    โสดไม่มีใครเอา หรือว่าเราไม่เอาใคร
    กระทู้
    8,954
    บล็อก
    9

    MV พูนศักดิ์ สมบูรณ์ ลูกอีสาน ผู้ดำเนินรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

    MV พูนศักดิ์ สมบูรณ์ ลูกอีสาน ผู้ดำเนินรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

    เอ็มวี พูนศักดิ์ สมบูรณ์ อรหันต์ชาวนา ลูกอีสาน ผู้ดำเนินรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

    ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=Dx6AoEz-fMg&color1

    แหลม อรหันต์ชาวนา ผู้น้อมรับพระราชดำรัส

    ในวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางรายการ 'คนค้นฅน' ได้ร่วมเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านด้วยการนำเสนอเรื่องราวของชาวนา จังหวัดยโสธรคนหนึ่ง ที่น้อมรับกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเอง มาเป็นแนวทางชี้นำชีวิตของเขาและครอบครัวให้สามารถอยู่รอดได้ในระบบสังคมที่บริโภคทุนนิยมอย่างเช่นทุกวันนี้

    หากเอ่ยถึงอาชีพชาวนาแล้ว น้อยคนนักที่จะหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องเป็นชาวนาให้ได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ด้วยแล้วไม่ต้องพูดถึงด้วยซ้ำ แทบจะไม่มีใครอยากจะสืบทอดกรรมพันธุ์ชาวนาจากพ่อแม่ ต่างหันหลังให้ท้องทุ่งมุ่งหน้าสู่สังคมเมืองเพื่อไปขายแรงงาน โดยมีเหตุผลซ้ำๆ คือ ที่บ้านไม่มีงานทำ อยู่ไปลูกเมียก็อดตาย ไปตายเอาดาบหน้า.... ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างรีบถีบตัวเองให้พ้นจากความยากจนข้นแค้นและความแห้งแล้งของผืนดินอีสาน พากันหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ

    หนึ่งในนั้นก็คือ แหลม พูนศักดิ์ สมบูรณ์ ชายหนุ่มวัย 33 ปี แห่งบ้านโนนยาง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ก็เป็นคนหนึ่งที่เคยมีความคิดแบบนี้ หากว่าวันนั้นเขาทนเห็นการเอารัดเอาเปรียบของผู้คนในสังคมเมืองใหญ่ได้ โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร....

    แหลม เกิดและเติบโตมาในครอบครัวชาวนา เมื่อเรียนจบ ป. 6 แหลมเดินทางเข้ามาทำงานก่อสร้างในเมืองตามกระแสนิยมของสังคมและความต้องการของพ่อแม่ที่มีความหวังว่าอนาคตของลูกจะดีขึ้น ไม่ต้องมาทำนาให้ลำบากเหมือนตนเอง ชีวิตในเมืองหลวงทำให้เขาเรียนรู้ถึงระบบนายทุนที่เข้ามาครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งจิตใจของผู้คน ทุกอย่างถูกตีมูลค่าเป็นเงิน แม้กระทั่งน้ำเปล่าแค่ 1 แก้ว คิดจะหาน้ำใจจากผู้คนสังคมเมืองนั้นยากเต็มที และความคิดระบบนี้กำลังคืบคลานเกาะกินจิตใจผู้คนในสังคมชนบทอย่างรวดเร็ว


    “เมื่อก่อนผมไม่เคยมีความคิดว่าจะทำนาเหมือนพ่อแม่มาก่อนเลย คิดอยู่อย่างเดียวว่า การเข้าเมืองไปขายแรงงานทำให้มีเงินแล้วความเป็นอยู่จะดีขึ้นด้วย ในหัวตอนนั้นคิดแต่ว่าจะต้องมีเงิน ต้องหาเงิน อยากกินอยากได้อะไรก็ได้แค่เรามีเงินเสียอย่าง หลังจากที่ผมทำงานเป็นลูกน้องเขา เห็นการเอารัดเอาเปรียบกันมาก อย่างอะไหล่ชิ้นละ 5 บาทแต่เถ้าแก่แกเขียนบิลให้ลูกค้าเป็น 300 บาท ผมคิดว่ามันเป็นการเอารัดเอาเปรียบกันมากเกินไปแล้ว หากผมยังทำงานต่อไปก็จะบาปไปเรื่อย ๆ มันไม่ใช่วิถีชีวิตของเรา เกิดมาในครอบครัวชาวนาถึงยากจนก็ไม่เคยถูกสอนมาให้เป็นคนขี้โกงแบบนี้ เลยตัดสินใจลาออก ตอนนั้นพ่อกับแม่ผิดหวังในตัวผมมาก”

    แหลมตัดสินใจพาเรณูผู้เป็นภรรยา และลูกชายที่อยู่ในวัยเรียนทั้ง 2 คนหันหลังให้กับระบบนายทุนที่มีความสัมพันธ์กันแค่เปลือกนอก หวนกลับสู่วิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ คือ อาชีพชาวนา โดยยึดเอากระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่พอเพียงและทำไร่นาสวนผสมมาเป็นแนวทางให้กับชีวิต โดยไม่สนใจต่อคำสบประมาทของชาวบ้าน ที่มองว่าเป็น “ผีบ้า”

    “ในตอนนั้นไม่มีคนเห็นด้วยกับผมเลย แม้กระทั่งพ่อแม่ก็คัดค้านเพราะเขามองไม่เห็นทางว่ามันจะอยู่รอดได้ ผมก็ได้แต่พยายามที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนเชื่อว่า วิถีแบบนี้มันยั่งยืนและเป็นจริงที่สุด....”

    “คนในหมู่บ้านมองว่าผมเป็น ผีบ้า เพราะกลางคืนเดือนแจ้ง ผมจะลงไปขุดดินทำหลุมปลูกผัก บางวันก็ทำงานไม่หยุด เพราะต้องการที่จะให้มันเกิดผลเร็วๆ ให้พื้นที่แห้งแล้งกลายเป็นสีเขียวให้ได้ แล้วที่สำคัญผมต้องการพิสูจน์ให้ชาวบ้านที่เขาปรามาสไว้ว่า ไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่ผมจะทำให้ได้...”

    แหลม เริ่มต้นทำนาแบบเกษตรพอเพียง ด้วยที่ดินจำนวน 16 ไร่ โดยแบ่งเป็นโซนทำนา 7 ไร่ ทำสระเลี้ยงกบเลี้ยงปลาและกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งอีก 3 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยและปลูกผักสวนครัวอีก 6 ไร่ โดยจะแบ่งผลผลิตที่ได้มา 3 ส่วน 1.ขาย 2. กินเอง 3.ให้ญาติพี่น้อง โดยแหลมบอกว่า “ที่ต้องเก็บไว้ให้พี่น้องก็เพราะเขามีบุญคุณกับเรา เวลาที่เขามาเยี่ยมในช่วงเทศกาล มีผลไม้เสื้อผ้ามาฝากเรา ทำนามีข้าวก็เอามาฝาก เค้าแลกเปลี่ยนกัน มันเป็นวัฒนธรรมมาแต่โบราณที่ไม่ได้ตีค่ามูลค่าสิ่งของเป็นเงิน ถ้าเราผลิตแล้วขายหมดพี่น้องก็อาจจะตีมูลค่าของที่นำมาฝาก วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนก็จะหมดสิ้นไปต่อไปพี่น้องอาจจะไม่รู้จักกันก็ได้

    "ผมจะผูกพี่น้องด้วยวัฒนธรรมแบบนี้ ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าเงินเป็นตัวนำหน้าจิตใจอย่างเวลาขายกบขายปลาทั้งให้ทั้งแถมถ้าขาดทุน ผมจะคิดว่าได้ทำบุญไม่ได้เงินก็ไม่เป็นไร ถ้าเอาเปรียบแล้วได้เงินมาก แต่ก็ได้บาปมากไปด้วย ผมก็ไม่เอา แลกเปลี่ยนกันกินจะดีกว่า"

    แหลมทำนาแบบเกษตรผสมโดยไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดมา 6-7 ปีแล้ว และพยายามยึดหลักวิถีชาวนาดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดแต่ก็ไม่ปฏิเสธของสมัยใหม่ไปทั้งหมด วิธีการทำนาแบบผสมเขาบอกว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ควาย”

    “ชาวนาที่ดูถูกควาย ผมไม่คิดว่าเค้าเป็นชาวนา ชาวนาจริงๆ จะคิดว่า ควาย คือเพื่อนที่มีบุญคุณ สำหรับผมกลับยกย่องว่า ควายเป็นครู ผมต่างหากที่คิดว่าตัวเองเป็นศิษย์ของควาย”

    ทุกวันนี้ แหลมพยายามนำวัฒนธรรมดั้งเดิมมาใช้ร่วมกันในการดำเนินชีวิตและทำนาโดยอาศัยการเกื้อกูลกันของวัฏจักรตามธรรมชาติ และนำความรู้สมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้มาก เขามองว่าการทำนาปัจจุบันต้องเอาระบบเก่าและระบบใหม่มาผสมผสานกันชีวิตของชาวนาจึงจะสามารถอยู่รอดได้ และการออกไปเปิดหูเปิดตารับข่าวสารข้างนอกก็ช่วยให้ประสบผลสำเร็จเร็วขึ้น

    การทำนาสมัยนี้ ชาวนามักใช้เงินเป็นทุนอย่างเดียว ทุนปัญญา และทุนกำลังคน แทบจะไม่ต้องใช้เลย ไม่มีเงินก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา ไม่หลุดพ้นจากวงจรหนี้สักที หากเรานำทุนทั้ง 2 อย่างนั้นมารวมกัน จะทำให้หลุดพ้นจากระบบหนี้สินนี้ได้

    นอกจากนี้ แหลมยังมีความคิดต่อยุคสมัยนี้ว่า “ยุคนี้มันเป็นยุคของนายทุนฆ่าชาวนา ชาวนาจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย นอกจากปัญญาและกำลังที่ติดตัวมาเฉยๆ และด้วยความซื่อจึงไม่รู้ทันระบบนายทุน เราไม่ใช่พ่อค้าคิดไม่ทันเขาหรอก หากจะมาทำเกษตรธรรมชาติแบบผสมนั้นยาก หากยังวิ่งตามนายทุนกันอยู่สุดท้ายก็ต้องตกหลุมพรางที่เขาวางไว้ อย่างเช่นมีนโยบายโคล้านตัวก็เลี้ยงกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งประเทศไหลไปตามกระแส

    ทั้งที่บรรพบุรุษของเราก็เลี้ยงวัวเลี้ยงควายกันมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม เมื่อมีนายทุนเข้ามาต้องเลี้ยงวัวด้วยหัวอาหารแทนหญ้า ส่วนหญ้าก็เป็นหญ้าปลูก ทุกอย่างมันต้องใช้เงินหมด สุดท้ายก็ไม่เหลืออะไร ตราบใดที่ชาวนาอย่างเราๆ ยังดูแต่ทีวีมีโฆษณาชวนเชื่อ ดูแต่ละครน้ำเน่า แล้วรับเอามาเป็นแบบอย่าง ดูหรือฟังแบบไหนก็นำมาแสดงแบบนั้น”

    นอกจากจะนำพาตัวเองเข้าสู่เกษตรพอเพียงแล้ว แหลมยังพยายามถ่ายทอดแนวคิดให้กับชาวบ้านและลูกชายทั้ง 2 โดยวิธีการพ่อนำพาลูก เพราะเขามั่นใจว่าเมื่อเด็กเห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำก็จะจดจำ พ่อแม่พาเล่นไพ่ลูกก็ต้องเล่นไพ่ พ่อแม่พาดำนาลูกก็ต้องดำนา แม้กระทั่งเรื่องการศึกษาในระบบโรงเรียนเขาก็ยังคิดสวนกระแสพ่อแม่คนอื่นๆ

    “ผมคิดว่าใบปริญญาเป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียวเท่านั้น การปฏิบัติจริงนี่แหละคือ ปริญญาชีวิต วิถีชาวนากินอยู่กันยังไงผมจะพยายามสอนพวกเขาทุกอย่าง ให้เค้าเกี่ยวหญ้าให้ควาย และเก็บเห็ด เช้าๆ 2 พี่น้องก็ปั่นจักรยานนำเห็ดไปขายก่อนไปโรงเรียน สอนให้เค้าเก็บออมเงินที่หามาได้ ไม่เคยหวังว่าจะต้องมีเงินเยอะๆ บ้านหลังโตๆ มีรถเก๋งขี่ เพียงมีอยู่มีกินมีอาหารครบถ้วนในแต่ละวัน ลูกเมียอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ไม่แยกย้ายไปขายแรงงานที่ไหน ครอบครัวมีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจแค่นี้ผมก็ภูมิใจและพอใจแล้ว”

    ณ วันนี้ แหลมเริ่มมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์หันกลับมาทำนาแบบปลอดสารพิษและเกษตรพอเพียงร่วม 20 กว่าหลังคาเรือนแล้ว กว่าแหลมจะสามารถทำได้อย่างทุกวันนี้ก็เพราะเขาเรียนรู้มาด้วยชีวิตทั้งสมหวังและผิดหวัง แต่สุดท้ายแล้ว....อะไรทำให้แหลมเลือกที่จะหยุดอยู่กับอาชีพนี้ เลือกวิถีชีวิตแบบนี้ เลือกที่จะเป็นชาวนา แหลมให้นิยามของการเป็นชาวนาแบบพวกเขาว่า 'อรหันต์ชาวนา' คือ ชาวนาที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ไม่โง่แล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากการเป็นทาสของระบบนายทุน หลุดพ้นจากวังวนแห่งการใช้สารเคมี และการหลุดพ้นจากความจนจะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาเอง

    ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
    บ้านมหาดอทคอม เว็บไซต์ส่งเสริม ศิลปะ วัฒนธรรมไทย ศิลปิน ความรู้ออนไลน์
    st1: มิตรภาพและรอยยิ้ม กับดีเจคนไกลบ้าน st1:

  2. #2
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ Boom69
    วันที่สมัคร
    Aug 2007
    ที่อยู่
    Khon kaen ThaiLand
    กระทู้
    960
    บล็อก
    4
    ได้เบิ่งอยู่จ้า
    สุดยอดอีกคนหนึ่งขอชมเชยจ้าตำนานนักสู้ชาวนาอีสาน

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •