เนื่องจากการจดทะเบียนสมรสในปัจจุบันสามารถทำได้ทุกอำเภอในต่างจังหวัดและทุกสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร ดังนั้นชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีการปกปิดความจริงเกี่ยวกับการที่ตนเองมีคู่สมรสแล้ว

คือ ได้จดทะเบียนสมรสมาแล้ว แต่มิได้จดทะเบียนหย่ากับคู่สมรสเดิม กลับมาจดทะเบียนสมรสกับคนใหม่ การจดทะเบียนสมรสครั้งหลังนี้ถือได้ว่าเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน อันจะมีผลเป็นโมฆะและก่อให้เกิดความเสียหายกับคู่สมรสใหม่ที่ได้ตกลงจดทะเบียนสมรสด้วยโดยสุจริตซึ่งเขาเหล่านั้นจะมีสิทธิเรียกร้องสิ่งใดได้บ้างนั้น มีกรณีตัวอย่างให้พิจารณากันดังนี้

นายตู่จดทะเบียนสมรสกับนางเต้นในปี 2535 อยู่กินด้วยกัน 2 ปี ที่กรุงเทพมหานคร แต่นางเต้นไม่อาจมีบุตรได้เนื่องจากปัญหาสุขภาพ นายตู่ไม่พอใจกับชีวิตครอบครัวเนื่องจากปัญหาดังกล่าว จึงขอย้ายตัวเองไปเป็นผู้จัดการ ในสำนักงานสาขาจังหวัดขอนแก่นของบริษัทที่ได้ทำงานอยู่เดิม นับแต่นายตู่ย้ายมาทำงานที่จังหวัดขอนแก่น นายตู่ไม่เคยกลับไปหานางเต้น และนางเต้นก็ไม่เคยมาหานายตู่ที่จังหวัดขอนแก่นเลย

ต่อมาในปี 2542 ซึ่งผ่านมา 5 ปีนับแต่นายตู่ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น นายตู่ได้พบรักกับนางสาวสมหวัง ซึ่งเป็นข้าราชการครูคบหากันมาได้ 2 ปีนายตู่ได้ขอนางสาวสมหวังแต่งงาน โดยนายตู่และนางสาวสมหวังได้ไปตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานแล้ว แพทย์ยืนยันว่าทั้งสองสามารถมีบุตรได้โดยไม่มีปัญหาสุขภาพ นายตู่ดีใจมากจึงไปพบบิดามารดาของนางสาวสมหวังโดยตกลงที่จะซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ราคา 4,000,000 บาท มอบให้เป็นของหมั้นแก่นางสาวสมหวัง และจะให้นางสาวสมหวังลาออกจากการเป็นข้าราชการครูเพื่อเตรียมมีบุตรและเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัวหลังแต่งงาน

นางสาวสมหวังและบิดามารดาตกลงตามนั้น โดยนางสาวสมหวังไม่ทราบเลยว่านายตู่เคยสมรสแล้ว จึงมีการจัดพิธีสมรสระหว่าง นายตู่ และ นางสาวสมหวัง ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งก่อนวันแต่งงาน นายตู่ได้ไปจัดการโอนบ้านและที่ดินราคา 4,000,000 บาทให้เป็นของหมั้นแก่นางสาวสมหวัง โดยในวันทำพิธีแต่งงาน นายตู่ได้นำ โฉนดที่ดินดังกล่าว พร้อมทองคำน้ำหนัก 10 บาท มอบให้กับนางสาวสมหวัง และมีการเชิญนายอำเภอมาในงานแต่งงานเพื่อเป็นสักขีพยานและทำการจดทะเบียนสมรสระหว่าง นายตู่ และ นางสาวสมหวัง ภายหลังจากเสร็จพิธีแต่งงานได้ 2 สัปดาห์ นางสมหวัง ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นข้าราชการครูที่เคยได้เงินเดือน เดือนละ 12,000 บาท เพื่อออกมาเตรียมมีบุตรและเป็นแม่บ้านให้นายตู่

หลังจากนายตู่และนางสมหวังอยู่กินด้วยกันมาได้ 3 เดือน ข่าวการแต่งงานของนายตู่กับนางสมหวังได้ทราบถึงนางเต้น นางเต้นเกิดความไม่พอใจจึงเดินทางไปพบนางสมหวังและเล่าความจริงเกี่ยวกับการเป็นสามีภริยาระหว่างตนกับนายตู่ให้นางสมหวังฟัง โดยนางเต้นให้เหตุผลว่านายตู่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกันกับตนหลายแปลง แต่นายตู่ไม่ยอมแบ่งให้ตนเองจึงไม่ยอมจดทะเบียนหย่าและแบ่งทรัพย์สินกับตน เพราะกลัวสูญเสียทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งนางสมหวังได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นางเต้นได้กล่าวทั้งหมด ปรากฏว่าเป็นความจริงนางสมหวังเสียใจมาก จึงฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างตนเองกับนายตู่ที่เป็นโมฆะและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าทดแทนในชื่อเสียง และค่าเสียโอกาสจากการประกอบอาชีพที่ต้องลาออกจากการเป็นข้าราชการครู เป็นค่าทดแทนจำนวน 500,000 บาท และค่าเลี้ยงชีพต่อเดือน เดือนละ 12,000 บาท แต่นายตู่ให้การว่าตนเองไม่ได้อยู่กินกับนางเต้นมาเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีแล้ว จึงเป็นเหตุหย่าขาดจากนางเต้นได้ ตนเองจึงมีสิทธิที่จะแต่งงานใหม่กับนางสมหวังได้ แต่ถ้านางสมหวังจะเพิกถอนการสมรสก็ให้คืนของหมั้นที่เป็นบ้านและที่ดิน ราคา 4,000,000 บาท และทองคำน้ำหนัก 10 บาท ที่ตนได้มอบให้นางสมหวังเป็นของหมั้นทั้งหมดด้วย ส่วนค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพตนไม่ต้องรับผิดชอบเพราะการสมรสเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย กรณีตามปัญหาดังกล่าวศาลจะพิจารณาคดีนี้อย่างไร

ตามปัญหาแม้นายตู่กับนางเต้นจะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันก็เป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่าง นายตู่ และนางเต้น นางเต้นจึงยังเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายตู่อยู่ตลอดมา

เมื่อนางสมหวังมาจดทะเบียนสมรสกับนายตู่ขณะที่นายตู่มีนางเต้นเป็นคู่สมรสอยู่ จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสใน ป.พ.พ.มาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 และเมื่อขณะที่นางสมหวังจดทะเบียนสมรสกับนายตู่นั้น นางสมหวังไม่ทราบว่านายตู่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางเต้นอยู่แล้ว นางสมหวังจึงเป็นผู้สมรสโดยสุจริต นางสมหวังฟ้องของให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสระหว่างนางสมหวังกับนายตู่เป็นโมฆะ ดังนั้นนางสมหวังจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพจากนายตู่ได้ตามป.พ.พ.มาตรา 1499 วรรคสาม และตามป.พ.พ.มาตรา 1499 วรรคสอง การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืน มาตรา 1452 (สมรสซ้อน) ซึ่งไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรส ก่อนที่ตนเองจะรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะนั้น (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 3192/2549, 3134/2530)

สรุปได้ว่านางสมหวังสามารถฟ้องให้การสมรสระหว่างตนเองกับนายตู่เป็นโมฆะได้เพราะตนเองไม่รู้ว่านายตู่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่ตนเองจดทะเบียนสมรสกับนายตู่ จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียและเมื่อนางสมหวังสุจริตในเวลาทำการสมรสกับนายตู่ นางสมหวังจึงไม่เสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรส คือ ของหมั้นที่เป็นบ้านและที่ดิน ราคา 4,000,000 บาทกับทองคำ น้ำหนัก 10 บาท ที่นายตู่มอบให้เป็นของหมั้นในวันแต่งงานนางสมหวังจึงไม่ต้องคืน และนางสมหวังยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนในความเสียหายแก่ชื่อเสียงเป็นตัวเงินได้เป็นจำนวนที่สมควรแก่ฐานานุรูป ซึ่งนางสมหวังคิดเป็นเงิน 500,000 บาทนั้น ศาลสามารถกำหนดให้ได้ตามสมควรอันเป็นดุลพินิจของศาล ส่วนค่าเลี้ยงชีพที่เรียกเป็นรายเดือนจำนวน 12,000 บาทต่อเดือนนั้น นางสมหวังก็มีสิทธิเรียกได้เพราะนางสมหวังต้องลาออกจากการเป็นข้าราชการครูที่มีเงินเดือนแน่นอนอันเนื่องมาจากการสมรสกับนายตู่ เพื่อออกมาเป็นแม่บ้าน นายตู่จึงต้องรับผิดชอบค่าเลี้ยงชีพต่อนางสมหวังเป็นรายเดือนด้วย ซึ่งจะเป็นจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับฐานานุรูปของผู้รับและความสามารถของผู้ให้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลเช่นกัน


จดทะเบียนซ้อนโดยสุจริต เรียกสิทธิอะไรคืนได้บ้าง? ที่มา : มังกรซ่อนกาย ผู้จัดการออนไลย์ จดทะเบียนซ้อนโดยสุจริต เรียกสิทธิอะไรคืนได้บ้าง?

เซื้อซาติแฮ้งอย่าเหม็นสาบกุยกัน
เกิดเป็นคนอีสานให้ฮักแพงกันไว้
ไผเฮ็ดดีให้ซ่อยยู้ ซอยซูอย่าย่านเหลิน
ไผเฮ็ดผิดให้ซอยเว้า ไขแก้ดอกซอยกัน ซันดอกหวา