หลายคนอาจจะหงุดหงิดที่เห็นพูดถึงประวัติศาสตร์ชาติลาวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องเส้นกั้นพรมแดนตั้งแต่สมัยสมเด็จเจ้าฟ้างุ่มฟ้าหล้าธรณีศรีศัตนาคนหุต ที่ว่าเขตแดนลาวมีเทือกภูพญาเย็นเป็นเส้นกั้น

เจ้าฟ้างุ่มที่ว่านี้หรือเปล่าที่เป็นที่มาของวรรณคดีโบราณเรื่อง “จำปาสี่ต้น” เพราะมีเรื่องการถูกลอยแพ ในลำแม่น้ำโขงเหมือนอย่างในวรรณคดีเรื่องดังกล่าว?

ผลงานของมหาสิลา วีระวงส์ อีกแล้วครับ!

“ปวัดสาดลาวแต่บูรานเถิง 1946” หรือเขียนเป็นภาษาไทยว่า “ประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่โบราณจนถึง ค.ศ.1946 (หรือ พ.ศ.2489)” พิมพ์ครั้งที่ 3 โดยหอสมุดแห่งชาติ กระทรวงแถลง ข่าวและวัฒนธรรม สปป.ลาว เมื่อปี 2001 (พ.ศ.2544)

รัฐต่างๆ ในแผ่นดินใหญ่เอเชียอาคเนย์ระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 8 มีรัฐน่านเจ้า ปะยุ เจนละบก เจนละน้ำ ทวารวดี จามปา หนังสือประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่โบราณฯ อ้างจาก Southeast Asia, Charles A. Fisher, London METHUEN, 1969)

ก่อนถึงรัชสมัยเจ้าฟ้างุ่ม ประวัติศาสตร์ลาวแต่โบราณฯ กล่าวว่า “พวกอ้ายลาว ตั้งหลักฐานอยู่ดินแดนระหว่างแม่น้ำฮวงโหกับแม่น้ำยั้งจื้อ (แยงซีเกียง) อันเป็นอาณาจักรของจีนเดี๋ยวนี้ พวกอ้ายลาวทำมาหากินด้วยการกสิกรรม...” มีมาก่อนพุทธศักราช 2,500 ปีมาแล้ว

คำว่า “ลาว” เป็นมาอย่างไร ค่อยว่ากันทีหลังเพราะเป็นเรื่องยาว

จับความเอายุคสมัยที่จีนแบ่งออกเป็น 3 ก๊ก มีก๊กโจโฉ ก๊กเล่าปี่ และก๊กซุนกวน รบราฆ่าฟันแย่งชิงความเป็นใหญ่กัน พวกอ้ายลาวที่เคยอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหกับแม่น้ำแยงซีเกียงมาช้านานหลายพันปี และถอยร่นลงมาอยู่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ได้โอกาสที่จีนรบรากันอยู่นั้นสร้างอาณาจักรบ้านเมืองของตนขึ้นถึง 6 เมือง โดยมีเมือง น้งเส หรือ หนองแส เป็นเมืองหลวง

หนองแสเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำโขงในเขตมณฑลยูนนานของจีนปัจจุบัน แต่โบราณคนลาวเรียกหนองน้ำนี้ว่าหนองแส หรือหนองกระแสแสนย่าน จีนเรียก ตาลีฟู

บ้านเมืองบริเวณนี้นี่ล่ะ เขาเรียกว่า “อาณาจักรลาวหนองแส หรือน่านเจ้า” ซึ่งมีประวัติศาสตร์การปกครองบ้านเมืองสืบต่อกันมาหลายร้อยปี บางช่วงตกเป็นเมืองขึ้นของจีน และบางช่วงเป็นรัฐเอกราช

ล่วงมาถึงยุคสมัยขุนบรมราชาธิราช หรือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ลาวผู้กล้าหาญ ทรงชำนาญในการสงครามอย่างยอดยิ่ง ได้ทรงแผ่อาณาเขตลาวหนองแสให้กว้างขวางที่สุด เสวยราชสมบัติในนครหนองแสเมื่อปี พ.ศ.1272 (ค.ศ.729) เมื่อมีพระชนมายุ 32 ปี โปรดดูภาพแผนที่ประกอบซึ่งแสดงรัฐต่างๆ ในแผ่นดินใหญ่เอเชีย อาคเนย์ระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 8 มีรัฐน่านเจ้า ปะยุ เจนละบก เจนละน้ำ ทวารวดี จามปา หนังสือประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่โบราณฯ อ้างจาก Southeast Asia, Charles A. Fisher, London METHUEN, 1969)

ที่ร่ายยาวมาข้างต้นเพื่อเชื่อมโยงมาถึงเมืองล้านช้าง ในยุคสมัยขุนลอ โอรสองค์ใหญ่ของขุนบรมฯ และถือว่าเจ้าขุนลอพระองค์นี้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง ผู้ครองนครเชียงทองสืบต่อกันมาถึง 22 รัชกาล ด้วยระยะเวลากว่า 500 ปี ก่อนจะถึงรัชสมัยของสมเด็จเจ้าฟ้างุ่มฟ้าหล้าธรณีศรีศัตนาคนหุต ผู้ทรงแผ่พระบารมีเหนือเขตน้ำแดนดินโขงสองฝั่ง และขึ้นเสวยราชย์ในปีมะเส็ง จุลศักราช 715 (ตรงกับ ค.ศ.1353 หรือ พ.ศ.1896)


มหาสิลา วีระวงส์ นักปราชญ์ลาวผู้มีปิตุภูมิอยู่ที่บ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนที่จะไปพำนักและรับราชการอยู่ในลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้บันทึกประวัติศาสตร์ลาวฯ ในบทที่ว่าด้วย “รัชกาลพระเจ้าฟ้างุ่ม” พอสรุปความได้ดังนี้

เจ้าฟ้างุ่มเกิดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 (บางฉบับว่า ค.ศ.1316 และ 1328) เป็นโอรสองค์สุดท้าย 1 ใน 4 องค์ (หญิง 2 ชาย 2) ของเจ้าฟ้าเงี้ยว หรือขุนผีฟ้า เวลาประสูติออกมามีฟันเกิดมาพร้อม 33 ซี่ เป็นเหตุให้อำมาตย์ราชมนตรีทั้งหลายเกรงจะเป็นเสนียดแก่บ้านเมือง จึงทูลให้พระราชบิดาเนรเทศพระราชโอรสด้วยการลอยแพล่องไปตามลำแม่น้ำโขง

ขุนผีฟ้าขัดขืนคำชาวบ้านชาวเมืองไม่ได้ จึงตัดสินใจให้เอาราชกุมารลงแพล่องแม่น้ำโขง พร้อมด้วยพ่อเลี้ยงแม่นมและบริวารรวม 33 คน แพไหลไปตามลำน้ำโขงได้ปีหนึ่งจึงไปถึงหลี่ผี เวลานั้นมีพระภิกษุชาวเขมรองค์หนึ่งนามว่ามหาปาสะมันตะเถระ วัด คูหาใกล้หัวหาดหลี่ผี ได้เห็นแพที่ล่องมาจอดและทราบว่าเป็นโอรสกษัตริย์จึงเอาไปเลี้ยงดู และสั่งสอนวิชาความรู้ จนพระกุมารมีพระชนมายุได้ 6-7 ปี จึงเอาไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเขมรที่พระนครหลวง (คือนครทมปัจจุบัน)

“พระกุมารฟ้างุ่มประทับอยู่ในพระราชวังพระเจ้าแผ่นดินเขมร ได้ทรงศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ เฉกเช่นเดียวกันกับพระกุมารเขมรทั้งหลายจนชำนาญ พระเจ้าแผ่นดินเขมรทรงเห็นความฉลาดสามารถหลักแหลมของพระเจ้าฟ้างุ่ม จึงได้มอบพระราชธิดา ผู้มีนามว่านางแก้วเก็งยาให้เป็นพระเทวี โดยพระองค์มีพระประสงค์จะผูกไมตรีกับชนชาติลาวไว้ และท้าวฟ้างุ่มก็ประทับอยู่ที่นั่นจนพระชนม์ได้ 33 ปี

ถึงปี ค.ศ.1349 (พ.ศ.1892) เจ้าฟ้างุ่มกับนางแก้วเก็งยาก็กราบทูลลาพระเจ้าแผ่น ดินเขมรยกทัพขึ้นมาประเทศลาว ตีเอาหัวเมืองใหญ่น้อยระหว่างทาง และจัดระบบบริหารราชการให้แก่บ้านเมืองเหล่านั้น พร้อมกำหนดให้ส่งส่วยบรรณาการด้วยทรัพย์สินไพร่พล

ฝ่ายพระยาเจ็ดเจืองผู้เป็นเจ้าเมืองพวนเชียงขวาง ครั้นได้ทราบข่าวว่ากองทัพของเจ้าฟ้างุ่มตีเมืองพระน้ำฮุ่งได้ก็มีความหวาดกลัวในเดชานุภาพเป็นอันมาก จึงแต่งให้ทูตถือราชสารลงมาอ่อนน้อม ใจความในพระราชสารนั้นมีว่า...

“ผู้ข้านี้ เป็นหลานเป็นเหลนเชื้อแถวขุนบรมราชาธิราชเจ้าและทั้งขุนลอมาแต่โบราณ เป็นการดีแล้วครั้งนี้พระยาฟ้าจักไปปราบบ้านปราบเมืองที่ใดก็ดี ข้าจักแต่งรี้พล ไปช่วยไปเติมทุกแห่งหนแล...”

พระเจ้าฟ้างุ่มได้ทราบดั่งนั้นก็มีพระทัยโสมนัส จึงมีพระราชอาชญาตอบคืนไปว่า

“พี่น้องเรายังคิดถึงเราก็ดีแล้ว บ้านเมืองของหลานเรากับน้องเราแต่ก่อนที่ใดก็ดี ให้ไว้แก่น้องเราเถอะ เครื่องศึก เครื่องใช้ เครื่องเหล็กอันใดก็ดี เราหากจักรับเอาไว้ด้วยความยินดี อันหนึ่ง บ้านเมืองที่เราปราบได้ ตั้งแต่เมืองซ้า เมืองม่วน ก็ให้มาไหว้แก่น้องเรา..”

ฝ่ายเจ้าแผ่นดินประเทศแกวได้ทรงทราบข่าวดังนั้น มีความหวาดกลัวในอานุภาพ ของพระเจ้าฟ้างุ่มเป็นอันมาก จึงแต่งราชบรรณาการมาถวาย พร้อมกับส่งทูตมาเจรจา ตกลงแบ่งปันเขตแดนประเทศทั้งสอง ตามหลักธรรมชาติภูมิประเทศและวัฒนธรรมทางเชื้อชาติประเพณีดังนี้

1. พลเมืองที่อยู่เฮือนมีฮ้าน กว้านมีเสา (คือเรือนยกพื้น) ให้เป็นพลเมืองลาว

2. เขตแดนประเทศลาวนั้น ให้นับแต่ต้นส้านสามหง่า ไปถึงน้ำม้าสามแถว หรือ หินสามเส้าไปถึงน้ำเต้าสามแถว

3. หลักการแบ่งเขตนั้น ให้ถือเอาตามสันภูน้ำแบ่ง คือฝนตกน้ำไหลลงมาสู่ประเทศลาวบ่อนใดให้ถือเอาบ่อนนั้นเป็นเขตแดน ถ้าไหลไปทางเมืองแกว ก็ให้เป็นดินของแกว

นับแต่นั้นมาเทือกเขา ที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างลาวกับเวียดนามจึงได้ชื่อว่า “เทือกเขาแดนแกว”

เช่นเดียวกันกับเทือกเขาเพชรบูรณ์ นับแต่ดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) ภูพญาฝ่อก็ได้ชื่อว่าเทือกเขาแดนลาว

ครั้นทรงมีพระราชอาชญาไปดั่งนั้นแล้ว ก็ตรัสสั่งให้เจ้าเมืองพวนเกณฑ์กองทัพเข้าสมทบ ยกไปตีเอาหัวเมืองเขตแดนของประเทศแกว (หมายถึงเวียดนาม) ได้ 3 เมืองในปี พ.ศ.1894

ในระหว่างปี ค.ศ.1343 (พ.ศ.1886) เจ้าฟ้าเงี้ยวบิดาของเจ้าฟ้างุ่มเสด็จสวรรคต เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญเอาเจ้าคำเรียวพระอนุชาให้ขึ้นเสวยราชย์แทน ฝ่ายเจ้าฟ้างุ่มที่ประทับอยู่เมืองเขมร เมื่อทราบว่าพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว และผู้เป็นอาว์ได้ครอง เมืองแทน จึงทูลขอเอากองทัพเขมรยกขึ้นมาตีเอาเมืองลาว...

การที่พระเจ้าแผ่นดินเขมรมีความเมตตาเลี้ยงดูพระเจ้าฟ้างุ่มไว้ จนถึงขั้นพระราชทานพระธิดาให้เป็นเทวีและมอบกองทัพให้นั้น เนื่องจากในเวลานั้นประเทศเขมรกำลังประสบภัยจากการโจมตีของสุโขทัย ทั้งเขมรเองก็กำลังอ่อนอำนาจลง เมื่อก่อนสุโขทัยเป็นเมืองขึ้นของเขมร ก็ได้แยกออกเป็นเอกราชโดยเด็ดขาด โดยอำนาจของขุนผาเมืองและขุนบางกางท่าวเจ้าเมืองบางยาง ในปี ค.ศ.1257-1282 (พ.ศ.1800-1825) พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยก็ได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยชิงเอาแดนดินของเขมรได้หลายเมืองในทางตะวันออก ตั้งแต่เมืองสระหลวงคือเมืองสองแคว ลงไปถึงเมืองร้อยเอ็ดและโคราช...”




www.pantip.com