กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: เขาพระสุเมรุ

  1. #1
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    เขาพระสุเมรุ

    เขาพระสุเมรุ




    “เขาพระสุเมรุ” คำนี้คนไทยคุ้นเคยมายาวนาน ทั้งนี้ ข้อมูลในเว็บไซต์ เมืองโบราณ สมุทรปราการ (มีการจำลองเขาพระสุเมรุดังภาพประกอบ) ระบุถึง “เขาพระสุเมรุ” ไว้ว่า...



    ตามความเชื่อในเรื่องพุทธจักรวาลของคนไทย เขาพระสุเมรุคือ “หลักของโลก”




    เขาพระสุเมรุ



    เป็นศูนย์กลางจักรวาลที่ลอยอยู่เหนือพื้นน้ำ โดยมี “ปลาอานนท์” หนุนอยู่ บนยอดเขาพระสุเมรุคือ “สวรรค์ชั้นดาวดึงส์” ที่ตั้งของนครไตรตรึงษ์ “นครแห่งเทพ”


    มี “พระอินทร์เทวราช” เป็นผู้ดูแลปกครอง พระอินทร์ คือ ผู้อภิบาลโลกและพิทักษ์คุณธรรมให้แก่มนุษย์ ที่ประทับของพระอินทร์มีชื่อว่าไพชยนต์มหาปราสาท



    ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานแท่นบัณฑุกัมพลอันเป็นทิพยอาสน์ ในยามที่โลกเกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย ทิพยอาสน์นี้จะแข็งดั่งศิลาเพื่อบอกให้พระอินทร์ทราบและลงมาช่วยเหลือมนุษย์


    ตามคติความเชื่อแต่โบราณ รอบเขาพระสุเมรุเป็นมหาสมุทร เรียกว่า “นทีสีทันดร” มี “ป่าหิมพานต์” ที่อยู่ของ “สัตว์หิมพานต์” ชนิดต่าง ๆ และมี “สระอโนดาต” ที่มีตาน้ำอยู่สี่ทิศ ลักษณะของแต่ละทิศจะเป็นหน้าสิงห์ ช้าง ม้า และวัว ตามลำดับ ทิศที่เป็นหน้าวัวจะเป็นทิศที่น้ำจากสระอโนดาตไหลไปออกมหาสมุทร นี่ว่ากันโดยสรุปเกี่ยวกับ “เขาพระสุเมรุ”



    เขาพระสุเมรุ



    และจากข้อมูลใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ซึ่งอ้างอิงไตรภูมิพระร่วง ก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับ “เขาพระสุเมรุ” ดังนี้



    กล่าวคือ...


    เขาพระสุเมรุนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางจักรวาล มีทิวเขาและทะเลล้อมรอบสลับกันได้ 7 ชั้น



    เขาพระสุเมรุ



    ทิวเขามีชื่อต่าง ๆ ดังนี้คือ


    1.ยุคนธร,
    2.อิสินธร,
    3.กรวิก, 4.สุทัศน์,
    5.เนมินธร,
    6. วินันตก
    7.อัศกรรณ



    ซึ่งเป็นเขารอบนอกสุด ทิวเขาเหล่านี้รวมเรียกว่า เขาสัตตบริภัณฑ์ ส่วนทะเลที่รายล้อมอยู่ 7 ชั้น เรียกว่า มหานทีสีทันดร


    ถัดจากทิวเขาอัศกรรณออกมาเป็นมหาสมุทรอยู่ทั่วทุกด้าน แล้วจะมีภูเขาเหล็กกั้นทะเลนี้ไว้รอบ เรียกว่าขอบจักรวาล พ้นไปนอกนั้นเป็นนอกขอบจักรวาล โดยมหาสมุทรในทิศต่าง ๆ คือ เหนือ ใต้ ออก ตก ก็จะมีลักษณะ มีรายละเอียดแตกต่างกันไป


    สำหรับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ตั้งอยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุ เป็นสวรรค์ชั้นที่สองจากหกชั้นคือ...



    จาตุมหาราชิกภูมิ,
    ดาวดึงส์,
    ยามา,
    ดุสิต,
    นิมมานรดี
    สวรรค์ชั้นสูงสุดคือ ปรนิมมิตวสวัตตี



    สวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกภูมิได้ 46,000 โยชน์


    มีนครไตรตรึงส์เมืองของพระอินทร์อยู่ตรงกลาง เมืองนี้กว้าง 8,000,000 วา มีปรางค์ปราสาทแก้ว มีกำแพงแก้ว มีประตูทองประดับแก้ว 7 ประการ เมื่อเปิดประตูจะได้ยินเสียงดนตรีไพเราะ กลางนครไตรตรึงส์มีไพชยนต์วิมานที่ประทับของพระอินทร์ สูง 25,600,000 วา ประดับด้วยสัตตพิพิธรัตนะหรือแก้ว 7 ประการที่งดงาม ประกอบด้วยเชิงชั้นชาลา 100 ชาลา แต่ละชาลามีวิมานได้ 700 วิมาน วิมานหนึ่งมีนางอัปสร 7 องค์


    นอกจากพระอินทร์ที่เป็นเจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้วยังมีเทวดาอีก 32 องค์ครองเมือง 32 เมืองอยู่รอบนครไตรตรึงส์นี้ทิศละ 8 องค์ ทิศตะวันออกของสวรรค์


    ชั้นดาวดึงส์มีสวนขวัญชื่อ นันทอุทยาน มีต้นไม้ดอกไม้วิเศษ เป็นที่พักผ่อนของเหล่าเทวดา ใกล้อุทยานมีสระใหญ่ชื่อนันทาโบกขรณี และจุลนันทาโบกขรณี น้ำในสระทั้งสองนี้ใสงามดังแก้วอินทนิล
    ริมฝั่งสระทั้งสองมีศิลาแก้วรัศมีรุ่งเรือง 2 แผ่น
    ชื่อนันทาปริถิปาสาณ
    จุลนันทาปาริถิปาสาณ



    เขาพระสุเมรุ



    ทิศใต้ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีอุทยานชื่อ ผรุสกวัน แปลว่าสวนมะปราง มีสระใหญ่ชื่อภัทราโบกขรณี และสุภัทราโบรขรณี ที่ฝั่งสระทั้งสองมีศิลาแก้ว 2 แผ่น ชื่อภัทราปริถิปาสาณ และสุภัทราปริถิปาสาณ


    ทิศตะวันตกของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีอุทยานชื่อ จิตรลดาวัน แปลว่างามไปด้วยไม้เถา มีสระใหญ่ชื่อจิตรโบกขรณี และจุลจิตรโบรขรณี ที่ฝั่งสระทั้งสองมีศิลาแก้ว 2 แผ่น ชื่อจิตรปปาสาณ และจุลจิตรปาสาณ


    ทิศเหนือของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีอุทยานชื่อ สักกวัน มีสระใหญ่ชื่อธรรมาโบกขรณี และสุธรรมาโบกขรณี ที่ฝั่งสระทั้งสองมีศิลาแก้ว 2 แผ่น ชื่อธรรมาปริถิปาสาณ และสุธรรมาปริถิปาสาณ


    ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีอุทยานชื่อ บุณฑริกวัน มีไม้ทองหลางใหญ่ชื่อปาริชาติกัลปพฤกษ์ ใต้ต้นกัลปพฤกษ์มีแท่นศิลาแก้วชื่อบัณฑุกัมพล เป็นแท่นสีแดงเข้มดังดอกชบาและอ่อนดังฟูกผ้า ใกล้กันมีศาลาสุธรรมเทพสภา เป็นที่ประชุมและฟังธรรมของเทวดา


    ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มี เจดีย์จุฬามณี ประดับด้วยทองและแก้ว 7 ประการ มีกำแพงทอง 4 ด้าน ประดับด้วยธงประฏาก ธงไชย และกลดชุมสาย คือกลดทำด้วยผ้าตาดทองมีสายห้อยเป็นระย้าอยู่รอบ ๆ มีเทวดาประโคมดนตรีถวายพระเจดีย์อยู่เสมอ และพระอินทร์จะเสด็จยังเจดีย์จุฬามณีนี้บ่อย ๆ



    เขาพระสุเมรุ




    โครงสร้างของจักรวาล จักรวาลมีรูปเป็นทรงกลม


    จักรวาลหนึ่งประกอบด้วยเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง
    มีเขาสัตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ด อันได้แก่



    ยุคันธร, ยุคนธร..... เป็นคันขอบของเขาพระสุเมรุ เป็นที่ทรงไว้ของพระอาทิตย์ และพระจันทร์

    อิสินธร....เป็นทิพยพิมานของมหิทสรเทวบุตร

    กรวิก.....เป็นที่อยู่ของนก “กรวิก”

    เนมินธร....เป็นที่เกิดของปทุมชาติขนาดใหญ่เท่ากงรถและกงเกวียน

    สุทัศนะ.....เป็นที่เกิดของทิพยโอสถ ว่านยาวิเศษ

    วินันตกะ.....เป็นที่อยู่ของมารดาพญาครุฑ

    อัสสกัณณะ....เป็นที่เกิดของไม้กำยาน ซึ่งมีความสูงลดหลั่นกันลงไปทีละครึ่ง ล้อมรอบเป็นวงกลมเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันลงไป


    ระหว่างเขาสัตบริภัณฑ์สลับคั่นด้วยแม่น้ำสีทันดรทั้งเจ็ด ถัดจากเขาอัสสกัณณะ ซึ่งมีความสูงน้อยที่สุดออกมาเป็น โลณสมุทรหรือทะเลน้ำเค็ม

    ในโลกสมุทรมีเกาะหรือทวีปอยู่ตรงทิศทั้งสี่ ของเขาพระสุเมรุ คือ



    อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือ
    บุรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออก
    ชมพูทวีป อยู่ทางทิศใต้
    อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตก


    ทวีปใหญ่ทั้งสี่ทวีป มีทวีปเล็ก ๆ เป็นบริวาร ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยเขาจักรวาลเป็นกำแพงจักรวาล มีพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรรอบเขาพระสุเมรุ ในระดับความสูงเท่ายอดเขายุคนธร


    เขาพระสุเมรุ



    ภูมิต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วอยู่ซ้อนทับบน โครงสร้างของจักรวาลอีกทีหนึ่ง ไล่ตั้งแต่ภูมิต่ำที่สุดคือนรกภูมิ อยู่ใต้แผ่นดินชมพูทวีป มนุสสภูมิอยู่บนทวีปต่าง ๆ สูงขึ้นไปเป็นสวรรค์ชั้น จาตุมหาราชิกา อยู่ในระดับยอดเขายุคนธร บนยอดเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สูงขึ้นไปเป็นสวรรค์ชั้นยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวัสวตี รูปภูมิ 16 ชั้น และอรูปภูมิ 4 ชั้น ตามลำดับ


    เขาพระสุเมรุ เป็นศูนย์กลางของจักรวาล คัมภีร์ส่วนมากกล่าวตรงกันว่าถูกล้อมรอบ ด้วยเขาสัตบริภัณฑ์และนทีสีทันดร แต่เฉพาะรายละเอียดของเขาพระสุเมรุพบว่าแต่ละคัมภีร์ บรรยายความแตกต่างกันอยู่บ้างดังนี้ คัมภีร์ โลกบัญญัติ “…ภูเขาหลวงสิเนรุอยู่ท่ามกลางมหาปฐพีนี้…เกิดดีมีสัณฐานดี เป็น สี่เหลี่ยมจัตุรัส…ด้านตะวันออกล้วนแล้วด้วยทอง ด้านตะวันตกล้วนแล้ว ด้วยเงิน ด้านเหนือล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรณ์ ด้านใต้ล้วนแล้วด้วยแก้ว ผลึก…”


    คัมภีร์ อรุณวดีสูตร “…ภูเขาสิเนรุเป็นภูเขาที่สูงที่สุด ด้านทิศตะวันออกเป็นเงิน ด้านทิศใต้ เป็นแก้วอินทนิล ด้านทิศตะวันตกเป็นแก้วผลึก ด้านทิศเหนือเป็นทอง …(มีรูปร่าง)ประดุจตะโพน…” คัมภีร์ ไตรภูมิพระร่วง “…เขาพระสุเมรุนั้นแลกลมไส้…ด้านฝ่ายตะวันออก…เทียรย่อมเงิน ด้านหัวนอนพระสุเมรุราช เทียรย่อมแก้วอินทนิลฯ ด้านตะวันตก…เทียร ย่อมแก้วผลึกรัตนะฯ ด้านตีนนอนพระสุเมรุราช เทียรย่อมทอง…มีเขา 3 อันประดุจก้อนเส้าแต่งรองตีนเขาพระสุเมรุราช…” คัมภีร์ โลกัปปทีปกสาร “…ภูเขาสิเนรุนั้นมีสัณฐานกลม…ตั้งอยู่บนท่อนเสา 3 ฐาน…ด้าน ตะวันออกเป็นสีเงิน ด้านใต้เป็นสีแก้วอินทนิล ด้านตะวันตกเป็นสีแก้ว ผลึก ด้านเหนือเป็นสีทอง…”


    คัมภีร์ จักกวาฬทีปนี อ้างตามคัมภีร์ฎีกาชินาลังการว่าภูเขาสิเนรุนั้นกลมไม่เป็นสี่เหลี่ยม และ อ้างตามคัมภีร์โลกบัญญัติและโลกัปปทีปกสารว่ามีสัณฐานเหมือน ตะโพน นอกจากนี้ยังระบุว่า “…ข้างทั้งสี่ของภูเขาสิเนรุนั้นหลาก ๆ กัน …ข้างทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุสำเร็จด้วยเงิน, ข้างทิศใต้สำเร็จด้วยแก้วมณี, ข้างทิศตะวันตกสำเร็จด้วยแก้วผลึก ข้างทิศเหนือสำเร็จด้วยทอง…”


    คัมภีร์ โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี “…ภูเขาสิเนรุนั้นเป็นภูเขาที่สูงที่สุด… ด้านทิศตะวันออกเป็นเงิน ทิศใต้เป็นสีแก้วอินทนิล ทิศตะวันตกเป็นสีแก้วผลึก ทิศเหนือเป็นสีทอง… เป็นภูเขาที่สูงที่สุด กลม มีสัณฐานเหมือนตะโพน…”



    หมายเหตุ


    ขนาดของจักรวาล ในพระไตรปิฎก



    เขาพระสุเมรุ



    จักรวาลอันหนึ่ง โดยยาวและโดยกว้าง ประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร)

    ส่วนโดยรอบปริมณฑลทั้งสิ้น (ของจักรวาลนั้น) ประมาณ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์


    ขนาดหนาของแผ่นดิน ในจักรวาลนั้น
    แผ่นดินนี้ กล่าวโดยความหนา มีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์

    ขนาดหนาของน้ำรองแผ่นดิน สิ่งที่รองแผ่นดินนั้นหรือ
    คือน้ำอันตั้งอยู่บนลม โดยความหนามีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์


    ขนาดความหนาของลมรองน้ำ
    ลมอัน (พัดดัน) ขึ้นฟ้า (โดยความหนา) มีประมาณ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ นี่เป็นความตั้งอยู่พร้อมมูลแห่งโลก


    ขนาดภูเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) และต้นไม้ประจำทวีป


    อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มี


    ภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น


    ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือ



    ภูเขายุคันธร
    ภูเขาอิสินธร
    ภูเขากรวีกะ
    ภูเขาสุทัสสนะ
    ภูเขาเนมินธระ
    ภูเขาวินตกะ
    ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป (ในมหาสมุทร) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า)
    โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ


    ภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ นั้น (ตั้งอยู่)

    โดยรอบภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ (จาตุ)มหาราช เป็นที่ๆ เทวดา
    และยักษ์อาศัยอยู่


    .......................................................................





    ที่มา และ อ้างอิง
    www.ancientcity.com
    http://www.thapra.lib.su.ac.th
    http://84000.org/tipitaka
    http://84000.org
    http://larndham.net
    http://www.thai-school.net




    ……………………………………………………………….


    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย khonsurin; 03-09-2010 at 08:33.
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  2. #2
    ศิลปิน นักแสดง สัญลักษณ์ของ kitty
    วันที่สมัคร
    Mar 2010
    ที่อยู่
    ลำลูกกา คลอง 2
    กระทู้
    1,135
    ขอบคุณค่ะ
    ละเอียดีค่ะ ที่เคยรู้มากะบ่ปานนี้ค่ะ

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •