ในเวลาที่ต้องเผชิญเรื่องน่าเบื่อ หรือต้องแก้ไขปัญหาชวนปวดหัว อาจทำให้หลายคนอารมณ์ไม่ดีขึ้นมาได้ง่าย ๆ แต่คงจะดีกว่าหากจะมีวิธีรับมือกับอารมณ์บูดนั้นให้หายไปจากชีวิตเร็ว ๆ ซึ่งในวันนี้เรามีข้อมูลในการรับมือกับอารมณ์บูด ๆ มาฝากกันค่ะ
ลองด้วยเคล็ดลับข้อแรก ง่าย ๆ ก่อนเลยนะคะ คุณลองลงมือเขียนบันทึก เพราะการเขียนเรื่องที่ทำให้คุณอารมณ์บูดลงในสมุดไดอารี่ หรือบนบล็อกส่วนตัวของคุณเป็นอีกหนึ่งวิธีระบายความโกรธที่ดีทีเดียว ที่สำคัญมันสามารถช่วยได้โดยไม่ต้องรบกวนเพื่อน ญาติ ให้มารับฟังปัญหาของคุณอีกด้วย
เคล็บลับข้อต่อไป ให้คุณลองคิดถึงฉากภาพยนตร์ ละคร หรือเรื่องราวน่าประทับใจแทนเหตุการณ์ที่ชวนอารมณ์ไม่ดี หรือจะฟังเพลงที่ชอบก็ได้ อาจจะช่วยได้อีกทางนึงค่ะ
หรือถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้ลองเข้าหาธรรมชาติ อาจจะออกไปอยู่ในสวน ชมต้นไม้ ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือออกไปเดินตากแดดอุ่น ๆ เดินชมแสงจันทร์ หรือหมู่ดาวยามค่ำคืน หรือแม้กระทั่งเขยิบตัวไปชิดหน้าต่างที่เปิดรับลมจากภายนอกก็ยังได้ ธรรมชาติจะช่วยให้จิตใจสงบ และผ่อนคลายลงจนทำให้คลายอารมณ์บูดได้นะคะ
อีกวิธีนึงที่อาจช่วยได้ คุณลองก้มตัวลงไปเอามือแตะหัวแม่เท้า ค้างไว้สัก 1 นาที จากนั้นค่อย ๆ ยกตัวกลับขึ้นมา จะรู้สึกว่า อารมณ์ดีขึ้น เป็นเพราะร่างกายได้เหยียดยืด ความตึงเครียดตามอวัยวะต่าง ๆ จะหายไป ทำให้อารมณ์สดใสขึ้นได้
หรือถ้าคุณมักจะอยู่ในบ้าน ก็ให้ลองแปะภาพที่ให้ความรู้สึกดี ๆ ไว้บนประตูตู้เย็น อาจจะเป็นภาพประทับใจของครอบครัวก็ได้ค่ะ อาจช่วยให้เราระลึกได้ถึงวันเวลาดี ๆ เพื่อให้ความรู้สึกดี ๆ เหล่านี้เข้ามาช่วยขับอารมณ์บูดๆ ออกไปได้
ข้อต่อไป ให้คุณวางแผนลาพักร้อน เหนื่อยนักก็พักเสียเลย กางปฏิทินหาเวลาเหมาะ ๆ วางแผนลาพักร้อนไปเที่ยวกับครอบครัว และหากมีปฏิทิน ก็วงวันที่ด้วยปากกาสีสันสดใส ให้ตัวโต ๆ เวลาเดินผ่านจะได้นึกถึงช่วงวันหยุดที่กำลังจะมาถึง จิตใจจะได้ผ่องใสค่ะ
นอกจากนี้ ให้ลองเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนรอบข้าง ทำดีให้คนอื่น ๆ โดยไม่หวังผลตอบแทน เช่น นำหนังสือนิทานดี ๆ มาแบ่งปันให้เด็กๆ ในซอยฟัง หรืออาจจะซื้อกาแฟอร่อย ๆ มาฝากเพื่อนบ้านหรือเพื่อนร่วมงาน หรือคลุกข้าวเผื่อเจ้าตูบหน้าปากซอยก็ได้นะคะ
แต่ถ้าหากลองทำเคล็ดลับตามที่กล่าวมาแล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้น ในทางพุทธศาสนาก็มีแนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้ ลด-ละ-เลิก ความยึดมั่นถือมั่น ต้นเหตุของการเกิดอารมณ์ไม่ดี ช่วยเรียกสติกลับคืนมาด้วยการทำสมาธิ กำหนดจิตไว้กับลมหายใจ ปล่อยวางอดีต-อนาคต สิ่งภายนอก อยู่กับความพอดี พอใจในสิ่งที่มี เข้าใจในอารมณ์ และรู้ว่าอารมณ์นี้ไม่ใช่ของเรา สุดท้ายจะช่วยให้ปล่อยวาง และทำให้จิตใจสบายขึ้นได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา