กำลังแสดงผล 1 ถึง 5 จากทั้งหมด 5

หัวข้อ: ประวัติศาสตร์ 76 จังหวัด เด้อพี่น้อง

  1. #1
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ บ่าวดอนโบม
    วันที่สมัคร
    Sep 2007
    กระทู้
    1,421

    ประวัติศาสตร์ 76 จังหวัด เด้อพี่น้อง

    ดาวโหลด ประวัติ 76 จังหวัด ได้หม่องนี่เด้อพี่น้อง จัดให้จากใจ โดยบ่าวดอนโบม

    ประวัติศาสตร์ 76 จังหวัด เด้อพี่น้อง

    ประวัติศาสตร์ 76 จังหวัด เด้อพี่น้อง


    ประวัติศาสตร์จังหวัดยโสธร

    จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยโสธรเป็นเมืองเก่าแก่พอๆ กับเมืองอุบลราชธานี กล่าวคือหลังจากท้าวทิดพรหม ท้าวคำผง ขอพระราชทานตั้งบ้านดอนมดแดงขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานีแล้ว บริวารอีกส่วนหนึ่งได้อพยพลงมาตามลำน้ำชี ถึงบริเวณป่าใหญ่ที่เรียกว่า "ดงผีสิงห์" หรือ "ดงโต่งโต้น" เห็นว่าเป็นที่มีทำเลดีเพราะอยู่ใกล้ลำน้ำชี ประกอบกับมีวัดร้างและมีรูปสิงห์ จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด และตั้งหมู่บ้านขึ้น เรียกชื่อว่า "บ้านสิงห์ท่า"
    ในปีจุลศักราช ๑๑๗๙ (พ.ศ. ๒๓๕๗) เจ้าพระยาวิไชยราชขัตติยวงศา ขอพระราชทานตั้งบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นเมือง พระราชทานนามว่า "เมืองยศสุนทร" หรือยโสธร มีเจ้าเมืองปกครองมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการจัดแบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล จังหวัด และอำเภอ เมืองยศสุนทรจึงถูกลดฐานะมาเป็นอำเภอ ชื่ออำเภอยโสธร ตามชื่อที่ชาวเมืองนิยมเรียกกันมา ขึ้นตรงต่อจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่นั้นมา จนเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๕ จึงได้มีการแยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานีและตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๗๐ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
    ปัจจุบัน จังหวัดยโสธรแบ่งการปกครองเป็น ๘ อำเภอ คือ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอ เลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอกุดชุม อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอค้อวัง และอำเภอทรายมูล มีประชากรประมาณ ๔๘๕,๐๐๐ คน พื้นที่๔,๘๕๐ ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๕๗๘ กิโลเมตร
    ชาวยโสธรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ เป็นผู้ยึดมั่นในจารีตประเพณี ชอบทำบุญให้ทาน ซื่อสัตย์สุจริต มีสัมมาคารวะ และมีอุปนิสัยใจคอโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สิ่งที่เชิดหน้าชูตาของชาวยโสธร คือ รักความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีสถิติสูงสุดของประเทศ เป็นเมืองที่อนุรักษ์ประเพณี "แห่บั้งไฟ" ซึ่งมีชื่อเสียงไปถึงต่างประเทศ เป็นแหล่งผลิตหมอนขิด ปลูกแตงโมหวาน ผลิตข้าวจ้าวมะลิส่งไปขายทั่วประเทศ จนได้รับสมญาว่า "เมืองประชาธิปไตย บั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ" นอกจากนี้ยังมีคำเล่าลือเป็นคำจำกัดความที่แสดงถึงจุดเด่นเป็นการเฉพาะของแต่ละอำเภอทั้ง ๘ อำเภอ ของจังหวัด อันไพเราะ สอดคล้องและสมจริง อีกว่า "คนงามมหา คนก้าวหน้ากุดชุม คนสุขุมค้อวัง คนดังลุมพุก (คำเขื่อนแก้ว) คนสนุกเมืองยศ (เมืองยโสธร) คนทรหดเลิงนกทา คนมีค่าทรายมูล และคนคูณป่าติ้ว"

    สถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความรู้ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้แก่
    พระธาตุอานนท์ เป็นพระธาตุบรรจุอัฐิและอังคารของพระอานนท์ ซึ่งชาวยโสธรถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดยโสธร ตั้งอยู่บริเวณวัดมหาธาตุ อำเภอเมืองยโสธร
    พระธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ จากตำนานที่เล่าลือสืบกันมาว่า นายบุญมาซึ่งเป็นชาวนา ทำนาอยู่กลางทุ่งตั้งแต่เช้าจนสาย ถึงเวลาที่แม่ต้องเอาข้าวเที่ยงมาส่งก็ยังไม่มา นายบุญมาหิวจนตาลาย เมื่อแม่เอาข้าวมาส่งเห็นก่องข้าวเล็กกลัวจะกินไม่อิ่ม ด้วยความโมโหจึงได้ทำร้ายแม่จนตาย แต่เมื่อกินข้าวอิ่มปรากฏว่าข้าวยังเหลือ จึงสำนึกได้และได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อย เพื่อล้างบาป ตั้งอยู่ที่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร
    วนอุทยานภูหมู เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงาม อยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา ติดต่อกับเขตอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
    สวนสาธารณพญาแถน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่ริมลำห้วยทวนมีทิวทัศน์ และธรรมชาติที่สวยงาม ร่มรื่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองยโสธร
    บ้านศรีฐาน เป็นแหล่งผลิตหมอนขิดที่มีชื่อเสียง ส่งไปจำหน่ายแทบทุกจังหวัด
    บ้านนาสะไมย์ เป็นแหล่งผลิตกระติบข้าวเหนียว ทำกันทุกหลังคาเรือนส่งไปจำหน่ายในตัวเมืองจังหวัดยโสธร และจังหวัดใกล้เคียง

    ขนบธรรมเนียมประเพณีงานบุญ
    จากการขุดค้นพบใบเสมาหินที่บ้านตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร ของคณะสำรวจโบราณคดี กรมศิลปากร มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนชาวจังหวัดยโสธร มีวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่และดั้งเดิม ตามแบบฉบับของชาวอีสานอย่างแท้จริง ซึ่งได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจาก บรรพบุรุษนับเป็นเวลากว่าพันปีแม้ว่าในสภาพของสังคมยุคปัจจุบันขนบธรรมเนียมประเพณีอันเก่าแก่นี้ ในบางท้องที่จะเลือนหายไป แต่ชาวจังหวัดยโสธรส่วนใหญ่ยังคงยึดถือและปฏิบัติอย่างสืบเนื่องต่อกันมาหลายชั่วอายุคน การยึดมั่นในการประกอบคุณงามความดีของชาวเมืองยโสธรนี้ จะพบได้ทุกหนแห่งและฤดูกาล และกระทำกันมิได้ขาดทุกเดือน แสดงให้เห็นถึงว่าชาวจังหวัดยโสธร เป็นผู้ที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารี มีความสามัคคี เสียสละซื่อสัตย์ ชอบสนุกสนานและทำบุญทำทาน ประเพณีงานบุญ ที่ประชาชนชาวจังหวัดยโสธร ถือปฏิบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้ โดยไม่เปลี่ยนแปลงคืองานบุญ ๑๒ เดือน ดังต่อไปนี้
    บุญเดือนอ้าย ทำบุญคูณลาน ข้าวเม่า ข้าวหลาม จะทำกันหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จใหม่ เป็นการฉลองลานนวดข้าว
    บุญเดือนยี่ ทำบุญฉลองกองข้าว บุญคุ้มข้าวใหญ่ ทำหลังจากนวดข้าวเสร็จกองไว้ที่ลานข้าว เพื่อฉลองกองข้าวที่อุดมสมบูรณ์
    บุญเดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ บางบ้านเรียกว่า " บุญคุ้ม " แต่ละคุ้มจะกำหนดวันบุญเลี้ยงพระกลางบ้าน ตอนเย็นก็จัดเตรียมข้าวปลา อาหารไว้รับเลี้ยงพี่น้องและเพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมพบปะสังสรรค์ร้องรำทำเพลง บางคุ้มก็เรี่ยไรเงินถวายวัดต่าง ๆ หรือบางคุ้มก็จัดมหรสพตอนกลางคืน เป็นที่สนุกสนานครึกครื้นยิ่ง
    บุญเดือนสี่ ทำบุญมหาชาติหรือบุญพระเวส จัดทำทุกวัดตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีการเทศน์มหาชาติ โดยนิมนต์พระจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาเทศน์ตามกัณฑ์ที่นิมนต์ไว้
    บุญเดือนห้า ทำบุญตรุษสงกรานต์ บางที่เรียกว่า "บุญเนา" สรงน้ำพระ รดน้ำญาติผู้ใหญ่ บ้างก็รวมกลุ่มสาดน้ำตามคุ้มต่างๆ บางกลุ่มก็จัดข้าวปลาสุราอาหารไปรับประทานกันตามชายทุ่ง ชายป่า หรือบริเวณหาดทรายริมแม่น้ำ ร้องรำทำเพลง ลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน
    บุญเดือนหก ทำบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญประเพณีอันเก่าแก่ของชาวอีสาน มีมาแต่โบราณกาล เป็นพิธีสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุจุฬามณีบนดาวดึงส์พิภพ และถือว่าเป็นพิธีขอฝนจากพญาแถนให้มีฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวนาจะได้ลงมือทำนาทำไร่ พอถึงเดือนนี้ของทุกปี ในท้องถิ่นจะจัดงานบุญบั้งไฟต่อเนื่องกันมา ถือเป็นประเพณีอันสำคัญของหมู่บ้าน โดยเฉพาะการจัดงานที่จังหวัดถือว่าเป็นการจัดงานบุญบั้งไฟระดับชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในทุกๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวจากทุกภาคของประเทศตลอดจนชาวต่างประเทศมาร่วมชมงานนี้เป็นจำนวนมาก
    บุญเดือนเจ็ด ทำบุญบวชนาค ชาวจังหวัดยโสธรนิยมให้บุตรหลานของตนอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย อันเป็นหลักปฏิบัติตนให้เป็นคนดี และเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาและผู้มีพระคุณ ในปีหนึ่งๆ จะมีการบวชนาคตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก
    บุญเดือนแปด ทำบุญปุริมพรรษาชาวบ้านในทุกคุ้ม และทุกหมู่บ้านจะจัดทำเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน น้ำมัน ยารักษาโรค และจตุปัจจัยอื่นๆ เพื่อนำไปถวายพระตามวัดต่างๆ ในหมู่บ้าน
    บุญเดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เพื่อบุญอุทิศให้แก่ญาติพี่น้องที่ ล่วงลับไปแล้วในวันนี้ ทุกบ้านเรือนจะจัดทำข้าวต้มมัด ขนม เพื่อใส่บาตรพระในตอนเช้า
    บุญเดือนสิบ ทำบุญข้าวกระยาสาตร เป็นการประกอบบุญกุศลเป็นทานมัยบุญกิริยาวัตถุ คือบุญที่สำเร็จขึ้นด้วยการทานอย่างหนึ่ง ทุกบ้านเรือนจะจัดทำข้าวต้มมัด ขนม ใส่บาตรพระ จัดอาหารทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
    บุญเดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษาในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะจัดหาอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญร่วมกัน ตกกลางคืนทำดอกไม้ธูปเทียนหากวัดหมู่บ้านใดที่อยู่ริมน้ำก็มีการลอยกระทงหรือปล่อยเรือไฟเพื่อเป็นพุทธบูชา
    บุญเดือนสิบสอง ทำบุญมหากฐิน และบุญแข่งเรือ ทุกวัดในหมู่บ้านต่างๆ ที่มีพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ ชาวบ้านจะทำกฐินทอดถวายทุกปีมิได้ขาด และเนื่องจากยโสธรตั้งอยู่ริมแม่น้ำชีมีประเพณีที่จัดทำเป็นประจำทุกปี เมื่อคราวออกพรรษาแล้วด้วยการแข่งเรือยาวของแต่ละคุ้มและ เชิญเรือยาวจังหวัดข้างเคียง มาร่วมแข่งขัน

    ทำเนียบผู้บริหาร (พ.ศ. ๒๕๑๕ - ปัจจุบัน)
    ๑. นายชัยทัต สุนทรพิพิธ พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๙
    ๒. นายพีระศักดิ์ สุขะพงษ์ พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๒
    ๓. นายกาจ รักษ์มณี พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๒
    ๔. นายอรุณ ปุสเทพ พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๓
    ๕. นายนพรัตน์ เวชชศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๖
    ๖. นายจรวย ยิ่งสวัสดิ์ พ.ศ. ๒๕๒๖-ปัจจุบัน
    รองผู้ว่าราชการจังหวัด
    ๑. ร.ต. วัฒนา สูตรสุวรรณ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๖
    ๒. ร.ท. บันเทิง ศรีจันทราพันธุ์ พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๘
    ๓. นายโสภณ ชวาสกุล พ.ศ. ๒๕๒๘-ปัจจุบัน
    ปลัดจังหวัด
    ๑. นายณัฐพล ไชยรัตน์ พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๖
    ๒. นายไพบูลย์ วัฒนาพานิช พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๘
    ๓. นายนพรัตน์ เวชชศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙
    ๔. นายมนูญ บุญยะประภัศร พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๑
    ๕. นายเสถียร หุนตระกูล พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๓
    ๖. ร.อ. สถาพร เอมะสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๕
    ๗. นายพิสุทธิ์ ฟังเสนาะ พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๖
    ๘. นายอุดม รอดชมภู พ.ศ. ๒๕๒๗-ปัจจุบัน


    ที่มา : บรรยายสรุปข้อราชการจังหวัดยโสธร. ยโสธร : สำนักงานจังหวัดยโสธร, ๒๕๒๙.

  2. #2
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ ลุงเดฟ
    วันที่สมัคร
    Mar 2010
    ที่อยู่
    ยโสธร
    กระทู้
    176
    ขอบคุณครับข้อมูลดีๆๆ
    ปล. บุญบั้งไฟยโสธรปีนี้ อย่าลืมเด้อครับ 13-15 พ.ค นี้ครับ สิฮอดแล้ว

  3. #3
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ขออนุญาตเจ้าของกระทู้เพิ่มเติมครับ....



    จังหวัดยโสธร


    จังหวัดยโสธร ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในเขตอีสานใต้ มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว พื้นที่ส่วนใหญ่ทางด้านเหนือเป็นที่ราบสูงสลับกับพื้นที่ราบแบบลูกคลื่น ทางด้านใต้เป็นที่ราบต่ำสลับซับซ้อน มีแม่น้ำชีไหลผ่านและมีหนองบึงอยู่ทั่วไป

    แหล่งน้ำธรรมชาติ
    ยโสธรมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ แม่น้ำชี และมีลำห้วย ลำธาร คลอง เป็นจำนวนมากถึง ๓๙๕ สาย หนองบึง ๗๓๒ แห่ง น้ำพุน้ำซับ ๖ แห่ง

    แม่น้ำชี มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่านหลายจังหวัดในภาคอีสานแล้วไหลเข้าจังหวัดยโสธรที่อำเภอเมือง ฯ ผ่านอำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอวังค้อ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูลในเขต อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำชีมีน้ำไหลตลอดปี
    ลำทวน มีต้นกำเนิดในเขตอำเภอทรายมูล ไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ ไปบรรจบแม่น้ำชีในเขตอำเภอเมือง ฯ
    ลำเซบาย มีต้นกำเนิดจากภูเขาในเขตอำเภอเลิงนกทา แล้วไหลผ่าน อำเภอป่าติ้ว อำเภอคำเขื่อนแก้ว แล้วไหลลงแม่น้ำมูลในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ลำเซบายมีน้ำไหลตลอดปี
    ลำน้ำโพง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอเลิงนกทา ไหลผ่านเขตอำเภอกุดชุม อำเภอป่าติ้ว อำเภอคำเขื่อนแก้ว แล้วไหลลงลำเซบาย ลำน้ำโพง มีน้ำไหลเกือบตลอดปี
    ลำน้ำยัง มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาภูพานในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ไหลผ่านเข้าสู่จังหวัดยโสธรที่อำเภอเมือง ฯ แล้วไหลลงแม่น้ำชี ลำน้ำยังมีน้ำไหลเกือบตลอดปี
    นอกจากลำน้ำสำคัญดังกล่าวแล้ว ยังมีหนองน้ำ บึง อยู่บริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ได้แก่ หนองอิ่ง บึงโดน กุดแหลม กุดมน กุดกะเหลิบ บึงหนาด หนองบอน บึงผือฮี เป็นต้น

    ป่าไม้
    จังหวัดยโสธร มีป่าสงวนแห่งชาติเป็นจำนวน ๒๗ ป่า เป็นพื้นที่ประมาณ ๗๑๒,๕๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๒๗ ของพื้นที่จังหวัด ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง และป่าดงดิบแล้ง อำเภอเลิงนกทามีพื้นที่ป่ามากที่สุด รองลงมาคืออำเภอกุดชุม


    พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

    ในเขตพื้นที่จังหวัดยโสธร ได้พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ จากยุคประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ชุมชนโบราณส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตทุ่งราบโล่ง หรือบริเวณขอบชายทุ่ง ติดกับพื้นที่โคกและป่า ได้แก่ชุมชนโบราณชายขอบทุ่งกุลาร้องไห้ ในเขตอำเภอมหาชนะชัยและอำเภอค้อวัง เช่น ชุมชนโบราณที่บ้านหัวเมือง บ้านคูเมือง บ้านคูสองชั้น ในเขตอำเภอมหาชนะชัย ชุมชนโบราณบ้านน้ำอ้อม บ้านโพนแพง บ้านหมากมาย บ้านแข้ บ้านโพนเมือง ในเขตอำเภอค้อวัง
    ชุมชนโบราณนอกเขตชายทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ ชุมชนโบราณบ้านบากเรือ บ้านบึงแก ในเขตอำเภอมหาชนะชัย ชุมชนเหล่านี้ขุดดินขึ้นมาถมทำที่อยู่อาศัย ส่วนที่ขุดดินออกจะเป็นแหล่งน้ำ อุปโภคบริโภค และยังใช้เป็นเครื่องกีดขวางข้าศึกศัตรูได้อีกด้วย ชุมชนโบราณโนนเมืองน้อย ตำบลดงแดนน้อย อำเภอคำเขื่อนแก้ว มีขนาดเล็กตั้งอยู่กลางทุ่งโล่ง ส่วนชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ตามแนวขอบชายทุ่งติดกับขอบป่าดง ได้แก่ชุมชนโบราณกู่จาน

    สมัยทวาราวดี
    มีร่องรอยการสร้างชุมชนด้วยการขุดคูน้ำล้อมรอบ แล้วนำดินที่ขุดมาสร้างเป็นคันดินล้อมบริเวณคู่ไปกับคูน้ำ ในเขตจังหวัดยโสธร พบการตั้งถิ่นฐานในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ ได้แก่ บ้านตาดทอง บ้านขุมเงิน ในพื้นที่อำเภอเมือง ฯ ดงเมืองเตย บ้านโนเมืองน้อย อำเภอคำเขื่อนแก้ว บ้านบึงแก บ้านคูสองชั้น บ้านหัวเมือง บ้านบากเรือ อำเภอมหาชนะชัย บ้านโพนแพง บ้านน้ำอ้อม บ้านหมากมาย บ้านแข้ บ้านโพนเมือง อำเภอค้อวัง ตามชุมชนดังกล่าวได้พบศิลปวัตถุร่วมสมัย กับศิลปกรรมแบบ อมราวดี ทวาราวดี และลพบุรีปนอยู่ด้วย ตามประวัติพระธาตุพนม มีข้อความว่า ชาวสะเดาตาดทองได้นำของมาช่วย ชาวสะเดาตาดทองนั้น เป็นหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองยโสธรปัจจุบัน และพระธาตุพนมก็สร้างในสมัยทวาราวดี

    สมัยลพบุรี

    ได้พบศิลปกรรมสมัยลพบุรี เป็นรูปสิงห์หินแกะสลักเทวรูปนารายณ์ศิลาหินเขียว เสมาหิน ท่อน้ำรูปปากนาค แท่นศิวลึง เทวรูปนารายณ์สำริด ที่บ้านตาดทอง และบ้านกู่จาน อำเภอเมือง ฯ และมีโบราณสถานเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ เช่นโบราณสถานบ้านกู่จาน และภาพสลักหินที่วัดสมบูรณ์พัฒนา บ้านกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว สิงห์หินแกะสลักที่วัดศรีธาตุบ้านสิงห์ และสิงห์หินแกะสลักรุ่นเดียวกัน ที่วัดสิงห์ อำเภอเมือง ฯ แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานในสมัยลพบุรี ณ ที่ตั้งเมืองยโสธรปัจจุบัน

    สมัยสุโขทัย
    ดินแดนจังหวัดยโสธรไม่ปรากฏว่ามีศิลปะสมัยสุโขทัยอยู่เลย อาจจะเนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งมีภูเขาสูงใหญ่กั้นอยู่ การติดต่อค้าขายและไปมาหาสู่กันจึงแทบไม่มี ประกอบกับอาณาจักรสุโขทัยทางด้านตะวันออก มีอาณาเขตมาถึงอาณาจักรเวียงจันทน์ เสียงคำเท่านั้น

    สมัยอยุธยา
    ดินแดนจังหวัดยโสธรไม่ปรากฏว่ามีศิลปะสมัยอยุธยาเข้ามาถึง อาจจะเนื่องจากดินแดนแห่งนี้อยู่ในเขตของอาณาจักรล้านช้าง และได้เป็นพันธมิตรกับราชอาณาจักรอยุธยา ดังจะเห็นได้จากการสร้างพระธาตุศรีสองรัก อันเป็นสักขีพยานถึงความรักใคร่ เป็นสัมพันธไมตรีต่อกัน ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐา แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างหลวงพระบาง ราชอาณาจักรอยุธยาได้แผ่ไปถึงจังหวัดนครราชสีมา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

    สมัยธนบุรี
    จากการที่เกิดการแย่งราชสมบัติกันของเชื้อพระวงศ์กรุงศรีสัตนาคนหุต เป็นต้นเหตุให้อาณาจักรศรีสัตนาคนหุต แยกออกเป็น ๓ อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง ล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ และอาณาจักรนครจำปาศักดิ์ เกิดการสู้รบกันตลอดมา ฝ่ายเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หรือเมืองหนองบัวลำภูซึ่งเจ้าปางคำ ราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศา แห่งเวียงจันทน์มาสร้างไว้ ไม่ขึ้นต่อเวียงจันทน์และหลวงพระบาง เมื่อเจ้าปางคำทิวงคตแล้ว เจ้าพระตาโอรสได้ขึ้นครองเมืองแทน ต่อมาพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์เกิดไม่ไว้ใจ เกิดรบกันขึ้น จึงได้มีการให้ขยายเมืองหน้าด่านขึ้นไว้อีกหลายเมือง เพื่อให้ช่วยเหลือกันได้ ในการนี้ท้าวคำโสกับพวกได้ยกกำลังไปยังดงโต่งโต้น และได้สร้างเมืองขึ้น ณ ที่นั้น คือเมืองสิงห์หิน เมืองสิงห์ทอง ซึ่งต่อมาภายหลังได้ชื่อว่า บ้านสิงห์ท่า เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำชี ต่อมาได้ตั้งเป็นเมืองโดยสมบูรณ์ชื่อว่า เมืองยศสุนทร หรือยโสธร ท้าวคำโสกับพวกมาตั้งบ้านสิงห์ท่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๔ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ กองทัพเมืองเวียงจันทน์ร่วมกับกองทัพพม่า ได้ยกเข้าตีเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานแตก เจ้าพระยาวอยกกำลังถอยหนีไปยังบ้านสิงห์ท่า และบ้านดอนมดแดง ริมแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน ทางเมืองเวียงจันทน์ได้ส่งกำลังมาโจมตี กำลังของเจ้าพระวอที่เวียงกองดอน เจ้าพระวอตายในที่รบ เจ้าคำผงหรือพระปทุมสุรราชรักษาเมืองไว้ได้ แต่กองทัพเวียงจันทน์ยังคุมเชิงอยู่ เจ้าคำผงเห็นว่าจะต้องขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้ากรุงธนบุรีมาช่วยจึงจะพ้นจากข้าศึกได้ จึงนำหนังสือไปส่งเมืองนครราชสีมา ขอกองทัพกรุงธนบุรีมาช่วย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกำลังไปช่วย
    ฝ่ายพญาสุโพ แม่ทัพเวียงจันทน์ทราบข่าวกองทัพกรุงธนบุรียกกำลังมา จึงรีบยกกำลังถอยกลับไปเวียงจันทน์ กองทัพกรุงธนบุรีก็ยกติดตามไปเวียงจันทน์ กองทัพหลวงพระบางเห็นเป็นโอกาส จึงยกกำลังมาช่วยตีกระหนาบเมืองเวียงจันทน์ ทางเวียงจันทน์สู้ไม่ได้ พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์จึงหนีไปเมืองคำเกิด


    cont...........>>>

  4. #4
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    .........>>>>

    สมัยรัตนโกสินทร์
    พระปทุมสุรราช ได้พากันอพยพจากบ้านเวียงดอนทองมาอยู่ที่บ้านดอนมดแดงริมแม่น้ำมูล ต่อมาได้ไปราชการสงครามปราบเมืองเขมรได้ชัยชนะ ขยายพระราชอาณาเขตกรุงรัตนโกสินทร์ออกไป และได้เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่นั้นมา
    ในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ ทางเมืองนครจำปาศักดิ์เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ตั้งตัวเป็นใหญ่ ยึดเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ พระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบลจึงได้มีใบบอกไปยังฝ่ายหน้าผู้น้อง ให้ร่วมกันยกกำลังไปปราบอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ทั้งสองพี้น้องได้ยกกำลังไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์กลับคืนมาได้ ก่อนที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึง และให้เจ้าฝ่ายหน้าติดตามจับอ้ายเชียงแก้วเขาโองได้ แล้วประหารชีวิตเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเจ้าฝ่ายหน้าขึ้นเป็นเจ้า มีพระราชทินนามว่า เจ้าพระยาพิชัยราชขัติยวงศา เจ้านครจำปาศักดิ์ ให้ย้ายจากบ้านสิงห์ท่า ไปอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ทางบ้านสิงห์ท่าได้ให้ท้าวคำม่วงผู้เป็นน้องชายปกครองแทน
    ในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ เจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศาถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้านู หลานเจ้านครจำปาศักดิ์องค์เดิม คือพระเจ้าไชยกุมารเป็นผู้ครองนครจำปาศักดิ์สืบต่อไป ทำให้เจ้าราชวงศ์สิงห์ บุตรเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศาไม่พอใจ จึงขอกลับไปอยู่บ้านสิงห์ท่า และได้ปรับปรุงบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โตรุ่งเรืองขึ้น
    ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง ชื่อ เมืองยโสธร หรือยศสุนทร ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมือง มีราชทินนามว่า พระสุนทรวงศา พระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่งเจ้าเมืองประเทศราช ให้เมืองยโสธรส่งส่วยบำรุงราชการเป็นของหลวงคือ น้ำรักสองเลขต่อเบี้ย ป่านสองเลขต่อขวด มีอาณาเขตปกครอง คือ ทิศเหนือถึงภูสีฐาน ด่านเมยยอดยัง ทิศใต้ถึงห้วยก้ากวาก ทิศตะวันออกถึงบ้านคำพระคำมะแว ลำน้ำเซ ทิศตะวันตกถึงลำห้วยไส้ไก่วังเจ็ก
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เมืองยโสธรก็ได้รับเกณฑ์เข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วยได้ชัยชนะ ได้รับพระราชทานเชลยเมืองเวียงจันทน์ ๕๐๐ ครอบครัว และพระราชทานปืนใหญ่ไว้สำหรับเมืองหนึ่งกระบอกชื่อว่า ปืนนางป้อง ยังปรากฏอยู่ที่ศาลหลักเมืองยโสธรมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพระสุนทรราชวงศาเห็นได้เป็นเจ้าเมืองแล้ว ได้นำศิลาจากบ้านแก้งหินโงมมาสร้างพระพุทธบาทจำลอง แล้วสร้างวัดป่าอัมพวัน และวัดกลางศรีไตรภูมิไว้เป็นวัดคู่เมือง
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ได้เกิดศึกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองหนองคาย เมืองยโสธรถูกเกณฑ์ให้ยกกำลังไปสมทบ กองทัพจากกรุงเทพ ฯ เป็นจำนวน ๕๐๐ คน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖ พวกฮ่อได้ยกกำลังมาตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ เมืองยโสธรได้รับเกณฑ์ให้เอากำลังช้างม้าโคต่างๆ ไปเป็นพาหนะบรรทุกเสบียงไปเลี้ยงกองทัพ
    เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบเมืองประเทศราช มาเป็นการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมืองอุบลราชธานีเป็นเมืองเอก มีเมืองขึ้น ๔๑ เมือง เมืองยโสธรอยู่ใน ๔๑ หัวเมืองดังกล่าวด้วย
    ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ยกกำลังจากเมืองญวนมาตีเมืองสมโบกของไทย เมืองยโสธรได้ถูกเกณฑ์ให้ไปช่วยรักษาเขตแดนโดยนำกำลังไปสมทบกองทัพจากกรุงเทพ ฯ สามกองทัพ กองทัพละ ๑,๐๐๐ คน
    ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุทัยยโสธรเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว เปลี่ยนชื่ออำเภอปจิมยโสธร เป็นอำเภอยโสธร เมืองยโสธรจึงลดฐานะจากเมืองมาเป็นอำเภอตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕


    มรดกทางธรรมชาติ

    จังหวัดยโสธร อยู่ในพื้นที่แอ่งโคราช - อุบล และเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ มีแม่น้ำชีไหลผ่านทางตอนใต้ของจังหวัด ทางตอนเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลอนคลื่น ติดกับแนวเทือกเขาภูพาน ป่าไม้เป็นป่าเต็งรังเป็นส่วนมาก มีป่าดงดิบแล้งและป่าผสมผลัดใบอยู่บ้างบางพื้นที่
    พื้นที่ป่าสงวนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์มีอยู่ประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๙ ของพื้นที่จังหวัด

    ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงปอ ดงบังอี่
    อยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา ลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาโค้งเป็นวงแหวน มีแนวเทือกเขาภูพานเป็นหุบเขาโค้งเป็นวงแหวน มีแนวเทือกเขาภูพานเป็นวงรอบทางด้านเหนือและด้านตะวันออก สภาพป่าเป็นป่าดงดิบแล้ง และป่าผสมผลัดใบ เป็นป่าสมบูรณ์ ประมาณ ๑๓๙,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๔๘ ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด มีพันธุ์ไม้สำคัญและมีค่าอยู่มาก ที่สำคัญและมีความเกี่ยวพันกับชาวยโสธรในอดีตคือ เร่ว หรือ หมากเหน่ง และกระวาน ซึ่งเป็นพืชที่เกิดขึ้นตามพื้นล่างของป่า ชอบเกิดในป่าที่สมบูรณ์ ผลแห้งมีกลิ่นหอมใช้ประกอบเครื่องเทศ และยาสมุนไพร จึงเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทยมานาน ยโสธรเป็นเมืองหนึ่งที่ถูกกำหนดให้ส่งผลเร่ว และกระวานเข้าส่วนกลาง

    ป่าสงวนแห่งชาติดงมะไฟ
    พื้นที่ส่วนใหญ่ อยู่ในเขตอำเภอทรายมูล มีพื้นที่ประมาณ ๖๓,๐๐๐ ไร่ เป็นป่าสมบูรณ์อยู่เพียงประมาณ ๗,๑๐๐ ไร่ เป็นป่าเต็งรังและป่ากึ่งเบญจพรรณ ป่าแห่งนี้มีเห็ดหลายชนิดขึ้นแซมพื้นป่า จนกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญ โดยเฉพาะในห้วงฤดูฝน เช่นเห็ดโคน เห็ดไค เห็ดละโงก ฯลฯ ดงมะไฟยังเป็นแหล่งอาหารของอิสานหลายชนิด เช่นไข่มดแดง จักจั่น กะปอม (กิ้งก่า) ผักติ้ว ผักกระโดม เป็นต้น

    ภูถ้ำพระ
    เป็นเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๓๐ เมตร เป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาภูพาน อยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา บริเวณยอดเนินเป็นลานกว้าง มีหินรูปร่างแปลก ๆ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไป เป็นประติมากรรมทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่สวยงามมากแห่งหนึ่ง บางแห่งเป็นถ้ำเงิบ หินผา สลับกับ พะลานหินกว้าง ประกอบด้วยลานหินปุ่ม หินแตก และเสาเฉลียงรูปทรงต่าง ๆ อันเกิดจากการกัดเซาะของลมและน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน มีจุดชมวิวที่สวยงามอยู่หลายจุด สามารถมองเห็น ภูหมู และภูแผงม้าได้อย่างชัดเจน ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก พื้นที่โดยรอบเป็นป่าไม้ร่มรื่นสวยงาม ตามหลืบถ้ำจะมีพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ มีอายุเก่าแก่อยู่เป็นจำนวนมาก

    ต้นยางนาใหญ่ดอนปู่ตา บ้านหัวเมือง
    ดอนปู่ตามีต้นยางนาขนาดใหญ่ขึ้นอยู่หลายสิบต้น และมีศาลเจ้าปู่อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อถือของท้องถิ่น ที่เชื่อว่าต้นไม้ใหญ่เป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งผีปู่ผีตา นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านให้ช่วยกันรักษาป่าไม้
    ในบรรดาต้นยางนาใหญ่มีบางต้น ลำต้นใหญ่ขนาด ๑๐ คนโอบ และสูงประมาณ ๕๐ เมตร เชื่อกันว่าเป็นต้นยางนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดต้นหนึ่งของประเทศไทย
    นอกจากต้นยางนาใหญ่แล้ว ดอนปู่ตาบ้านหัวเมือง ยังมีซากโบราณวัตถุทำด้วยหินทราย และศิลาแลงสมัยทวาราวดี แสดงถึงความเก่าแก่ของสถานที่แห่งนี้

    มรดกทางวัฒนธรรม

    โบราณสถานดงเมืองเตย
    ตั้งอยู่ในเขตตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว เป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดีที่ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมในสมัยเจนละ มีโบราณสถานก่อด้วยอิฐ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมทำจากหินทรายสีแดงพร้อมศิลาจารึก เรียกว่าจารึกดงเมืองเตย ปัจจุบันดงเมืองเตยมีสภาพเป็นป่า สวน และสำนักสงฆ์ มีร่องรอยคูเมืองที่ถูกขุดลอกเป็นสระน้ำ ได้พบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาหลายยุค รวมทั้งเศษตะกรันโลหะเนื่องในอารยธรรมยุคสำริด นอกจากนั้นยังได้พบประติมากรรมรูปสิงห์หินแกะสลักตามรูปแบบศิลปลพบุรี

    โบราณสถานดงศิลาแลง
    ตั้งอยู่ใกล้บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอป่าติ้ว ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า ดงศิลาเลข มีโบราณสถานก่อด้วยอิฐและมีใบเสมาทำจากหินทราย รูปแบบของใบเสมามีอกเลาคล้ายใบไม้ ปักอยู่หลายแห่งในบริเวณนี้ ดงศิลาแลงเป็นโบราณสถานในลุ่มน้ำยังเซบาย ศิลปวัตถุคล้ายกับบริเวณดงเฒ่าเก่าบ้านนาหมอม้า จังหวัดอำนาจเจริญ

    โบราณสถานบ้านกู่จาน
    อยู่ในเขตตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว กู่ทำด้วยศิลาแลงและหินทราย อยู่ในสภาพชำรุดพังทลาย มีร่องรอยฐานวางรูปเคารพตามความเชื่อในศาสนาฮินดู มีร่องรอยชุมชนโบราณสมัยทวาราวดี มีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยม อยู่ภายในบริเวณชุมชนหลายแห่ง ทางทิศตะวันออกของกู่ได้พบสระน้ำที่สร้างในสมัยเดียวกัน

    แหล่งโบราณคดีบ้านตาดทอง
    อยู่ที่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง ฯ มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่สูงประมาณ ๓ เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๑ ชั้น เป็นรูปวงรี วางตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันตกเฉียงใต้ กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๖๕๐ เมตร ปัจจุบันตัวเมืองถูกแบ่งเป็นสองส่วน เนื่องจากทางหลวงสาย ๒๓ ตัดผ่าน และมีการตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่น มีการทำนาและปลูกผักโดยรอบเนินดิน ทำให้คูน้ำคันดินโบราณถูกทำลายลง คูเมืองด้านทิศตะวันตก ได้ขุดลอกเป็นคลองระบายน้ำ
    บ้านตาดทอง มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เป็นชุมชนเกษตรกรรม พบหลักฐานการฝังศพแบบนอนหงาย เครื่องใช้ที่พบได้แก่เศษภาชนะดินเผาแบบมีลายเขียนสีที่ขอบปาก ซึ่งพบทั่วไปในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ชุมชนแห่งนี้มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึง สมัยทวาราวดี และขอม นับถือศาสนาพุทธ ได้พบใบเสมาเป็นจำนวนมาก ใบเสมาที่พบมีลักษณะต่างไปจากใบเสมาที่พบในชุมชนต้นและกลางแม่น้ำชี บริเวณจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ รุ่นหลังลงมาจนถึงปัจจุบัน มีชุมชนไท - ลาวเข้าอยู่อาศัย ศาสนสถานสำคัญของชุมชนคือ พระธาตุก่องข้าวน้อย และพระธาตุบ้านสะเดา

    แหล่งโบราณคดีบ้านสงเปือย (ดงเมืองเตย)
    อยู่ที่บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว ดงเมืองเตย เป็นชุมชนโบราณในลุ่มแม่น้ำชีตอนปลาย ลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างรี มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ความกว้างตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๔๐ เมตร ความยาวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๖๕๐ เมตร คู้กว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร
    ปัจจุบันดงเมืองเตยเป็นป่าโปร่ง มีถนนตัดผ่ากลางตามแนวเหนือ - ใต้ มีซากโบราณสถานก่ออิฐสมัยเจนละ มีเศษภาชนะดินเผาสมัยทวาราวดีกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก
    ดงเมืองเตย เป็นชุมชนโบราณที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นชุมชนเกษตรกรรมใช้ขวานหินขัด รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผาและถลุงโลหะ เพราะพบเศษภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลาร้องไห้ และตะกรันเหล็ก มีประเพณีการฝังศพแบบฝังครั้งที่สอง ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในบริเวณ แม่น้ำมูล - ชี มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว นับถือทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ สันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในชุมชนที่เรียกว่าเจนละ มีศาสนสถานเป็นอาคารสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนยอดสันนิษฐานว่าเป็นมณฑปซ้อนขึ้นไป เนื่องจากพบหินสลักรูปจำลองอาคารลักษณะเป็นกุฑุวงโค้งรูปเกือกม้า ที่ฐานอาคารสลักลวดลายกลีบดอกไม้ มีอัฒจรรย์ที่ฐานบันไดทางขึ้นด้านหน้า เป็นอาคารสถาปัตยกรรมยุคต้น ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียแบบคุปตะ และหลังคุปตะ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒

    แหล่งโบราณคดีบ้านบึงแก
    อยู่ที่บ้านบึงแก ตำบลบึงแก อำเภอมหาชนะชัย ตั้งอยู่บนเนินดินที่มีลักษณะค่อนข้างกลมรี ความกว้างตามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตกประมาณ ๔๕๐ เมตร ความยาวตามแนวทิศเหนือ - ใต้ประมาณ ๖๕๐ เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ด้านเหนือมีคันดินสามชั้น ความกว้างของคันดินประมาณ ๓ เมตร ความสูงประมาณ ๒.๕ เมตร แนวคันดินด้านตะวันตกมี ๒ คัน ด้านทิศใต้เหลือ ๑ คัน ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปเพื่อทำนา ทำถนน และทำที่อยู่อาศัย คูน้ำมี ๒ ชั้น ทางด้านเหนือชั้นในกว้างประมาณ ๓๐ เมตร ชั้นนอกกว้างประมาณ ๕๕ เมตร เรียกว่าบึงเจ้าปู่ คูน้ำด้านทิศตะวันออกเป็นบึงขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียกว่าบึงหว้า คูเมืองด้านทิศตะวันตกยังคงมีน้ำขังอยู่เต็ม ได้แก่บึงขัว และบึงหนาด คูน้ำชั้นนอกปัจจุบันมีสภาพเป็นผืนนาเสียส่วนใหญ่
    ภายในบริเวณหมู่บ้านได้พบโบราณวัตถุหลายชนิด ได้แก่ ใบเสมา พระพุทธรูปหินทราย แท่นหิน เศษภาชนะดิน เผาด้วยความร้อนต่ำ มีทั้งชนิดเนื้อหยาบ ไปถึงเนื้อละเอียดตกแต่งผิวด้วยแบบลายเชือกทาบ แบบปั้นแปะ แบบลายขูดขีด แบบลายเขียนสีแดง และแบบลายเขียนสีขาว นอกจากนั้นได้พบหลักศิลาจารึก ๑ หลัก เป็นอักษรขอมภาษาสันสกฤต พบที่เนินดินกลางทุ่งนา ที่เรียกว่าโนนสังอยู่ห่างจากบ้านบึงแกออกไปประมาณ ๘๐๐ เมตร
    ชุมชนแห่งนี้มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวาราวดี มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

    แหล่งโบราณคดีดงศิลาแลง
    อยู่ใกล้บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอป่าติ้ว มีลักษณะเป็นเนินดินกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐๐ เมตร พบใบเสมาหินทราย และใบเสมาศิลาแลงไม่มีลวดลายสลักอยู่ประมาณ ๑๐ ใบ จากตำแหน่งการปักใบเสมาที่ปักเรียงกัน ๓ ใบ ที่มุมทั้ง ๔ ของเนินและบริเวณกึ่งกลางด้าน ๓ ด้าน รวม ๗ ใบ ให้ความสำคัญกับใบเสมาที่ปักอยู่กลาง ซึ่งอาจแสดงถึงขอบเขตศักดิ์สิทธิ์
    แหล่งโบราณคดีดงศิลาแลง อยู่ในช่วงสมัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวาราวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่าดงศิลาเลข

    แหล่งโบราณคดีในเขตบ้านกู่จาน บ้านงิ้ว
    อยู่ในเขตตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว มีหลักฐานทางโบรารคดีกระจายอยู่ในพื้นที่ ๓ บริเวณด้วยกันคือ
    บริเวณดงปู่ตา อยู่ทางด้านทิศเหนือของบ้านกู่จาน พบใบเสมาจำนวน ๑๐ ใบ ทำจากหินทรายแดง รูปทรงด้านบนคล้ายกลีบดอกบัว บริเวณกึ่งกลางใบสลักลวดลายเป็นสันนูน และลายยอดสถูปเทินเหนือหม้อน้ำปูรณฆฏะที่มีความหมายแทนองค์สถูป ใบเสมาเหล่านี้ปักอยู่ในลักษณะเดิมทั้งหมด และยังพบใบเสมารูปแปดเหลี่ยมอีก ๑ ใบ ทำด้วยศิลาแลง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐ เซ็นติเมตร สูง ๑ เมตรเศษ
    บริเวณดอนกู่ มีศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมร ลักษณะเป็นปราสาทก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ สร้างขึ้นประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แผนผังอาคารประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย และสระน้ำ ปัจจุบันตัวปราสาทเหลือเพียงอิฐรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๗ เมตร ด้านตะวันออกของปราสาทเป็นบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลง สระน้ำอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท เป็นสระรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส บริเวณตัวปราสาทมีแท่นฐานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ๓ องค์ ที่เรียกว่า รัตนตรัยมหายาน ประกอบด้วยพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่ตรงกลาง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตาขนาบอยู่สองข้าง
    ลักษณะแผนผังอาคารคล้ายองค์ประกอบศาสนสถานที่เรียกว่า อโรคยาศาล หรือโรงพยาบาล ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ให้สร้างขึ้น ณ สถานที่ต่าง ๆ จำนวน ๑๐๒ แห่ง ใช้สำหรับเป็นสถานพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วย มีพบอยู่ทั่วไปในเขมร และไทย
    วัดกู่จาน เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว มีชาวลาวอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านกู่จาน ห่างจากองค์พระธาตุไปทางทิศตะวันตก ได้บูรณะพระธาตุเก่าที่มีอยู่เดิมตลอดมา องค์พระธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบอีสาน (ล้านช้าง) คือมีส่วนยอดธาตุเป็นทรงบัวเหลี่ยม ฐานพระธาตุต่ำลักษณะเป็นฐานบัว ประกอบด้วยบัวคว่ำบัวหงายเตี้ย ๆ ส่วนท้องไม้มีลูกแก้วอกไก่คั่นกลาง องค์เรือนธาตุค่อนข้างสูงไม่มีลวดลาย ส่วนยอดธาตุเป็นทรงบัวเหลี่ยมซ้อนทับกันสองชั้น มีกลีบบัวประดับส่วนโคนของพุ่มบัวเหลี่ยม ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตร

    แหล่งโบราณคดีบ้านโนนเมืองน้อย
    อยู่ที่บ้านโนนเมืองน้อย ตำบลดงแดนใหญ่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว ลักษณะเป็นเนินดินรูปวงรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐๐ เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๑ ชั้น คูกว้างประมาณ ๑๖ เมตร คันดินที่เหลืออยู่ทางด้านทิศตะวันออก - ตะวันตก กว้างประมาณ ๘ เมตร ชุมชนโบราณแห่งนี้สันนิษฐานว่า มีอายุร่วมสมัยกับชุมชนโบราณบ้านบึงแก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน คือ สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หรือสมัยทวาราวดี ประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว

    แหล่งโบราณคดีบ้านโพนแพง
    อยู่ที่บ้านโพนแพง ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง มีลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลมรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐๐ เมตร มีคูน้ำล้อมรอบ แต่คันดินไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดีลพบุรี ร่วมสมัยกับชุมชนโบราณบ้านน้ำอ้อม บ้านโพนเมือง และบ้านแข้ มีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว โบราณวัตถุที่พบ มีกำไล ลูกปัด เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง เคลือบผิวสีน้ำตาล ทำลวดลายขูดขีดเป็น ลอนคลื่นภายในลายวงกลมคู่ขนาน

    แหล่งโบราณคดีบ้านน้ำอ้อม
    อยู่ที่บ้านน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง มีลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐๐ เมตร สูงประมาณ ๒ เมตร จากพื้นที่โดยรอบ มีคูน้ำกว้างประมาณ ๔๐ เมตร ล้อมรอบ โบราณวัตถุที่พบมีเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก เป็นชนิดเนื้อหยาบผสมด้วยเม็ดกรวด พืช มีทั้งแบบขึ้นรูปด้วยมือ และแป้นหมุน สีส้ม สีนวล เป็นภาชนะแบบก่อนประวัติศาสตร์ แสดงว่าชุมชนแห่งนี้ได้เป็นที่อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวาราวดี มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

    แหล่งโบราณคดีบ้านบากเรือ
    อยู่ที่บ้านบากเรือ ตำบลกุดกุง อำเภอมหาชนะชัย จากภาพถ่ายทางอากาศปรากฏมีร่องรอยคูน้ำคันดิน ซึ่งอยู่นอกหมู่บ้านออกไปทางด้านทิศเหนือประมาณ ๓๐๐ เมตร สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีอายุอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว

    แหล่งโบราณคดีบ้านหมายมาย
    อยู่ที่บ้านหมายมาย ตำบลค้อวัง อำเภอค้อวัง จากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า ชุมชนแห่งนี้มีการขุดคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปวงกลม มีแนวลำชีเป็นคูเมืองทางด้านทิศใต้ เป็นชุมชนที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวาราวดี และเขมร มีอายุประมาณ ๑,๕๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

    แหล่งโบราณคดีบ้านขุมเงิน
    อยู่ที่บ้านขุมเงิน ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมืองยโสธร ไม่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีร่องน้ำธรรมชาติไหลผ่านขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ เนินดินทางด้านทิศใต้ มีเศษภาชนะดินเผาทับถมเป็นชั้นหนา พบหินดุซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปั้นภาชนะ พบเศษภาชนะดินเผาก่อนประวัติศาสตร์ คือภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง ที่ขอบปากมีการกดบากเป็นรอยคล้ายฟันปลา นอกจากนั้นยังพบใบเสมา แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนา เช่นเดียวกับชุมชนโบราณบ้านตาดทอง ชุมชนโบราณแห่งนี้มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวาราวดี มีอายุอยู่ประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

    แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเมือง
    อยู่ที่บ้านโพนเมือง ตำบลฟ้าหว่น อำเภอค้อวัง บริเวณเนินดินพบโบราณวัตถุเป็นเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาลแบบเครื่องถ้วยลพบุรี เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีโดยรอบ จึงสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยกัน คือในช่วงสมัยทวาราวดี - ลพบุรี มีอายุอยู่ประมาณ ๑,๕๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

    แหล่งโบราณคดีบ้านหัวเมือง
    อยู่ที่บ้านหัวเมือง ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับกลางของแม่น้ำชี อยู่ห่างจากแม่น้ำประมาณ ๕ กิโลเมตร บริเวณโดยรอบมีหนองน้ำหลายแห่ง โบราณวัตถุที่พบมีเศษภาชนะดินเผา พระพุทธรูป ใบเสมา และฐานรูปเคารพ ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ ที่นับถือพุทธศาสนา และอยู่ในวัฒนธรรมทวาราวดีตั้งแต่เริ่มตั้งถิ่นฐาน อยู่ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ต่อมาได้รับวัฒนธรรมลพบุรี ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘

    แหล่งโบราณคดีบ้านแข้
    อยู่ที่บ้านแข้ ตำบลฟ้าหว่น อำเภอค้อวัง ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ ๒ แห่งด้วยกันคือ
    วัดป่าดงบ้านหอย เป็นซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ ลักษณะเป็นฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๕ เมตร ยาวประมาณ ๙ เมตร มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านตะวันออก ตรงกลางเป็นแท่นสันนิษฐานว่าเป็นฐานรูปเคารพ สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีอายุอยู่ในสมัยขอม มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๘
    บริเวณบ้านแข้โพนเมือง พบเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาลสมัยลพบุรี

    แหล่งโบราณคดีบ้านคูสองชั้น
    อยู่ที่บ้านคูสองชั้น ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย เป็นชุมชนโบราณที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวาราวดีและขอมรุ่นหลัง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ นอกเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ได้แก่ เทวรูปสตรี ทำจากหินทราย มีจารึกตัวอักษรขอมโบราณภาษาสันสกฤต ประติมากรรมหินทราย ฝาภาชนะเคลือบสีน้ำตาล ถ้วยขนาดเล็กเคลือบสีน้ำตาลเข้ม หินลับ และเศษภาชนะดินเผาซึ่งมีทั้งเนื้อดินสีส้ม สีนวล และเนื้อแกร่ง

    แหล่งโบราณคดีบ้านเดิด
    อยู่ที่บ้านเดิด ตำบลเดิด อำเภอเมือง ฯ ลักษณะเป็นเนินดินรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐๐ เมตร มีร่องรอยคูเมืองเป็นรูปวงกลม ทางด้านตะวันตก ด้านเหนือ และด้านตะวันออกมีหนองน้ำรูปสี่เหลี่ยม มีลักษณะเป็นหนองน้ำที่ขุดขึ้นมา เนินดินด้านตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่าดอนผาแดง เมื่อขุดลงไปได้พบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ทับถมกันอยู่ในระดับลึกจากยอดเนินลงไป ๓ เมตร ชุมชนโบราณแห่งนี้ยังไม่มีการสำรวจ ในชั้นต้นสันนิษฐานว่ามีอายุร่วมสมัยกับชุมชนโบราณบ้านตาดทอง

    จารึกดงเมืองเตย
    เป็นจารึกที่วงกบประตู แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการนับถือศาสนาฮินดู โดยจารึกบนแผ่นหินทรายจำนวน ๕ แผ่น ๆ ละ ๑ ด้าน ๆ ละ ๔ บรรทัด เป็นตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ข้อความในจารึกกล่าวถึง พระศรีมานประวรเสนะ ผู้เป็นใหญ่ในเมืองสังวรปุระ และบุตรีคนที่ ๑๒ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ได้สร้างลิงคโลกที่เคารพบูชาไว้
    นอนจากนี้ยังพบศิลาจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต จับใจความไม่ได้ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘

    จารึกกู่จาน
    เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปใบเสมา เป็นอักษรปัลลวะ ยังไม่สามารถกำหนดอายุได้

    จารึกโนนสัง
    เป็นจารึกบนแท่งหินทรายแดง ขนาดกว้าง ๖๔ เซ็นติเมตร สูง ๔๖ เซ็นติเมตร หนา ๓๖ เซ็นติเมตร จารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤด พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านบึงแก อำเภอมหาชนะชัย ปัจจุบันอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าโนนสัง ข้อความในจารึกกล่าวถึงความเชื่อในโลกทั้งสาม อันเป็นความเชื่อของศาสนาพรหมณ์

    จารึกตาดทอง
    เป็นจารึกบนแทงหินทรายแดงกว้างประมาณ ๔๕ เซ็นติเมตร สูงประมาณ ๕๕ เซ็นติเมตร หนา จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร มีข้อความจารึก ๒ ด้าน ด้านที่ ๑ มี ๒๐ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๒๗ บรรทัด ได้มีการอ่านด้านที่ ๑ ไปแล้ว แต่ด้านที่ ๒ ยังไม่ได้อ่านและพิมพ์เผยแพร่ เก็บรักษาอยู่ที่วัดโพธิศรีมงคล บ้านตาดทอง อำเภอยโสธร

    จารึกวัดพระพุทธบาท
    เป็นจารึกบนแท่งหินทรายแดงขนาดกว้าง ๔๖ เซ็นติเมตร สูง ๖๓ เซ็นติเมตร หนา ๒๘ เซ็นติเมตร จารึกด้วยอักษรธรรมแบบล้านช้าง ภาษาลาวและบาลี จารึกในสมัยกรุงธนบุรี ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ยังไม่มีการอ่านแล้วพิมพ์เผยแพร่ เก็บรักษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาท บ้านหนองยาง ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย

    จารึกวัดมหาธาตุ
    เป็นจารึกบนแท่งหินทรายแดง ขนาดกว้าง ๕๐ เซ็นติเมตร สูง ๗๘ เซ็นติเมตร หนา ๒๘ เซ็นติเมตร จารึกไว้ด้านเดียวด้วยอักษรธรรม ภาษาลาว มีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ อยู่ที่ผนังโบสถ์ด้านตะวันตกของวัดมหาธาตุ อำเภอเมือง ฯ

    cont.......>>>>

  5. #5
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ........>>>


    มรดกทางพระพุทธศาสนา
    พระธาตุตาดทอง หรือธาตุก่องข้าวน้อย
    ตั้งอยู่นอกบ้านตาดทองไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ กิโลเมตร อำเภอยโสธร ตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๑ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ก่ออิฐถือปูน ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอีสาน ผสมเรือนธาตุอย่างล้านนา มีซุ้มจรนำทั้งสี่ทิศ ฐานเป็นฐานเขียงซ้อนกัน ๔ ชั้น ต่อขึ้นไป เป็นฐานปัทม์ ลักษณะบัวหงาย มีลูกแก้วอกไก่คั่นกลาง รองรับเรือนธาตุที่ก่อซุ้มจรนำทั้ง ๔ ทิศ เป็นซุ้มหลอก มียอดซุ้มโค้งแบบหน้านาง สลักลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ด้านข้างซุ้มทำลายตาเวนหรือดวงตะวันประดับด้วยกระจก ส่วนบนของเรือนธาตุลักษณะคล้ายบัวหงาย ยื่นออกมารองรับกับฐานปัทม์ช่วงล่าง ส่วนยอดทรงบัวเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ช่วง ที่ยอดธาตุส่วนล่างทั้ง ๔ มีกาบยื่นออกมาทำเป็นรูปจำลองอาคารซ้อนกันขึ้นไป ส่วนยอดสุดมีแอวขันคั่นเพื่อลดความสูง เมื่อมองดูจึงเกิดความพอเหมาะพอดีในด้านทัศนศิลป์โดยรอบองค์เป็นกลุ่ม
    ด้านหน้าขององค์ธาตุมีอุปมุง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส แบบศิลปกรรมอีสานลาว หลังคาโค้งมน ประดับลายปูนปั้น สันมุมทั้งสี่เป็นรูปพญานาคผงกหัวขึ้นในส่วนปลาย ลำตัวทอดยาวไปตามส่วนโค้งของสันหลังคา ส่วนยอดทำคล้ายธาตุจำลอง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป
    ประวัติความเป็นมาของพระธาตุแห่งนี้มีอยู่สองนัย นัยหนึ่งมีที่มาจากตำนานก่องข้าวน้อย อีกนัยหนึ่งมีที่มาจากการบูรณะพระธาตุพนม บรรดาผู้ที่จะไปร่วมนำของมีค่าไปบรรจุที่พระธาตุพนม ได้เดินทางมาพักอยู่บริเวณใกล้บ้านตาดทอง ได้ข่าวว่าการบูรณะพระธาตุพนมเสร็จแล้ว จึงได้พร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบของมีค่าที่เตรียมมาดังกล่าวนั้น พร้อมกันนั้นชาวสะเดาตาดทอง ก็ได้นำถาดทองที่ใช้เป็นพานอัญเชิญวัตถุมงคล ไปบรรจุในพระธาตุพนม มารองรับวัตถุมงคลที่ชาวบ้านตั้งใจนำไปบรรจุในพระธาตุพนม แล้วช่วยกันก่อเจดีย์บรรจุไว้

    ธาตุบ้านสะเดา
    ตั้งอยู่ที่บ้านสะเดา อำเภอเมือง ฯ องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐสององค์แรก มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นรูปแบบของธาตุอีสานทรงแปดเหลี่ยม มีช่วงฐานต่ำ เหนือขึ้นมาเป็นส่วนแอวขันรองรับองค์เรือนธาตุ ลักษณะคล้ายลาดบัวขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม และยอดบัวคล้ายบัวแปดเหลี่ยมทรงสูง เป็นยอดธาตุที่ซ้อนกับสองชั้น คั่นด้วยแอวขันขนาดเล็ก ช่วงล่างมีลายปูนปั้นเป็นรูปกลีบบัว เหนือสุดขององค์ธาตุเป็นยอดฉัตร ด้านหน้าของธาตุมีร่องรอยแท่นวางของบูชา
    ธาตุองค์ที่สองตั้งอยู่ใกล้ธาตุองค์แรก แต่มีขนาดเล็กกว่า ปัจจุบันเหลือแต่เพียงส่วนฐาน ตรงกลางมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมคล้ายเป็นกรุ
    โบราณวัตถุ ที่บรรจุในกรุกลางฐานได้แก่ พระพุทธรูปไม้แกะสลัก พระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปตะกั่ว พระพุทธรูปดินเผาสีแดงชาดปิดทอง พระพิมพ์ กล้องยาสูบ และเครื่องถ้วยจีนจากโบราณวัตถุ และลักษณะของธาตุ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔ โดยฝีมือช่างพื้นเมือง

    พระพุทธบาทบ้านหนองยาว
    ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระพุทธบาท บ้านหนองยาว ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองที่ทำขึ้นตามคตินิยมในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในบริเวณเดียวกันได้พบพระพุทธรูปปางนาคปรก ทำด้วยหินทราย พร้อมศิลาจารึกอักษรไทยน้อย ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้กันแพร่หลายในกลุ่มไท - ลาวอีสาน เมื่อร้อยปีก่อน ข้อความในจารึกมีว่า พระมหาอุดมปัญญา ได้อาราธนารอยพระพุทธบาทมาแต่กรุงศรีอยุธยา

    วัดมหาธาตุ
    ปูชนียสถานในวัดได้แก่ พระธาตุพระอานนท์ และหอไตรกลางน้ำ
    พระธาตุพระอานนท์ ออกแบบอย่างประณีต มีรูปแบบต่างจากธาตุอีสานทั่วไป องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาวด้านละ ๘ เมตร สูง ๒๕.๓๐ เมตร ฐานสูง ประกอบด้วยฐานเขียว ๓ ชั้น แอวขันปากพานคอดกิ่ว รองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายท้องไม้มีลวดบัวลูกแก้วอกไก่คั่นกลาง เรือนธาตุค่อนข้างสูง แต่คั่นจังหวะให้ดูเล็กลงด้วยบัวคว่ำบัวหงาย หยักซ้อนกันขึ้นไปในช่วงล่าง ซุ้มจรนำประดิษฐานรูปยืน (คือพระอานนท์) มียอดซุ้มโค้งแบบหน้านางตกแต่งลายปูนปั้นทางสีเหลือง ส่วนยอดเป็นทรงดอกบัวเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทรวดทรงบัวเหลี่ยมของพระธาตุองค์อื่น คือได้ยกกระเปาะยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน แต่ชั้นฐานถึงส่วนยอดช่วงล่าง ได้เสริมยอดปลีทำเป็นรูปแบบจำลองอาคารซ้อนกันขึ้นไป บนสุดเป็นยอดฉัตร
    ตามตำนานพื้นบ้านกล่าวว่า พระธาตุองค์นี้สร้างขึ้นโดยเสนาบดีเก่าจากกรุงศรีสัตนาคนหุต ทั้งยังส่งอิทธิพลทางรูปแบบการก่อสร้างให้กับพระธาตุตาดทอง พระธาตุหนองสามหมื่น
    ด้านหน้าองค์พระธาตุมีธาตุขนาดเล็ก เป็นธาตุบรรจุอัฐิพระวิชัยราชขัตติยวงศา (อดีตเจ้าเมืองสิงห์ท่า) ลักษณะธาตุได้รับอิทธิพลศิลปะจากหลวงพระบาง

    หอไตรกลางน้ำ
    เป็นอาคารไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านยาวยาวกว่าด้านกว้างอยู่ ๑ ช่วงเสา เป็นอาคารทรงเตี้ย หลังคาซ้อนลดหลั่นกัน ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ เป็นศิลปกรรมแบบลาว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย - ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในหอไตรเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน เป็นจำนวนมาก

    หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์
    อยู่ที่วัดสระไตรนุรักษ์บ้านนาเวียง ตำบลนาเวียง อำเภอทรายมูล เมื่อครั้งท่านเจ้าชาพระเถระผู้แตกฉาน ในธรรมพร้อมด้วยประชาชนส่วนหนึ่ง ได้อพยพหลบหนีพระเจ้าสิริบุญสาร โดยได้รวบรวมทรัพย์สมบัติ และคัมภีร์ต่างๆ มาด้วย ท่านเจ้าชาได้สร้างวัดขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน พร้อมขุดสระน้ำเพื่อสร้างหอไตรไว้เก็บคัมภีร์ สิ่งก่อสร้างในวัดประกอบด้วย หอไตร กุฎี ศาลาโรงธรรม สิมน้ำ เป็นต้น
    หอไตร มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพม่า สร้างโดยช่างลาวที่อพยพมาครั้งตั้งหมู่บ้าน ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก กว้าง ๘.๓๐ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร หลังคามุงด้วยไม้ซ้อนลดหลั่นกัน ๔ ชั้น มีชายคายื่นออกมาทั้ง ๔ ด้าน บานประตูแกะสลักลวดลายสวยงาม รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ของช่อฟ้า กระจกประดับ บัวเชิงชาย หางหงส์ (ตัวหงา) มีลวดลายกนกซ้อนกัน ๔ ชั้น ตรงกลางเป็นห้องทึบเป็นที่เก็บพรไตรปิฎก มีทางเดินรอบนอก พระไตรปิฎกผูกเป็นเรื่องราวบันทึกลงใบลาน แยกเป็นหมวดหมู่ ทั้งภาษาไทยอีสาน ขอม บาลี ตัวหนังสือเป็นอักษรธรรม อักษรไทยน้อย และอักษรขอม มีคัมภีร์ใบลานอยู่ทั้งหมด ๑๙๘ มัด ๑,๕๕๓ ผูก

    พระพุทธรูปโบราณวัดสิงห์ท่า
    ประดิษฐานอยู่ที่วัดสิงห์ท่า บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง ฯ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐฉาบปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างประมาณ ๓ เมตร
    พระพุทธรูปองค์นี้ตามตำนานกล่าวว่าได้ประดิษฐานอยู่ก่อนที่คนไท - ลาว เชื้อสายพระวอ พระตา จะอพยพเข้ามาอยู่ ชาวยโสธรจัดให้มีพิธีสรงน้ำสงกรานต์เป็นประจำทุกปี

    พระพุทธรูปโบราณวัดศรีธาตุ
    ประดิษฐาน อยู่ที่วัดศรีธาตุ บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง ฯ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐฉาบปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร มีศิลปะการสร้างคล้าย พระพุทธรูปโบราณวัดสิงห์ท่า

    วัดพระธาตุคำบุ (พระธาตุเก่า)
    อยู่ที่บ้านดอนกลาง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง ฯ มีเรียกกันหลายชื่อด้วยกัน ได้แก่ พระธาตุเก่า พระธาตุหลักโลก พระธาตุโลกบาล มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่พบดังนี้
    เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม มีลักษณะคล้ายส่วนบนของพระธาตุจอมศรี บนยอดเขาภูศรีเมืองหลวงพระบาง และพระธาตุดำ ที่นครเวียงจันทน์ เป็นเจดีย์รูปแบบศิลปะลาว ชาวยโสธรเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่ราชวงศ์ลาวรุ่นก่อนมาสร้างไว้
    พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐฉาบปูน ประดิษฐานอยู่ห่างจากเจดีย์ประมาณ ๓ เมตร ทุกปีจะมีพิธีสรงน้ำสงกรานต์พระเจดีย์องค์นี้

    พระธาตุหลักคำ
    ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุหลักดำ บ้านน้ำดำน้อย ตำบลน้ำดำน้อย อำเภอเมือง ฯ เป็นเจดีย์สององค์ติดกัน มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า พระครูหลักคำ ซึ่งดำรงตำแหน่งสังฆปาโมกข์ประจำเมือง จำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุในเมืองยโสธร ต่อมาท่านไม่พอใจเจ้าเมือง จึงขนเครื่องบริขาร และคัมภีร์ใบลานลงเรือตามลำน้ำทวน มาสร้างวัดที่วัดบ้านน้ำดำน้อย ท่านได้สงวนป่าไม้ไว้เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งยังคงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุเครื่องลางของขลัง และคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาไว้ภายใน ส่วนเจดีย์องค์เล็กชาวบ้านได้สร้างขึ้นหลังจากท่านมรณภาพแล้ว เพื่อบรรจุอัฐิของท่าน

    พระธาตุบ้านเวิน
    ประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านเวิน ตำบลผือฮี อำเภอมหาชนะชัย เป็นสถูปเก่าและชำรุดทรุดโทรมมาก มีตำนานกล่าวว่า ในอดีตสมัยที่พระเรืองชัยชนะยกกำลังมาตั้งเมืองมหาชนะชัยที่บ้านเวินนั้น ณ ตรงที่ตั้งเจดีย์แห่งนี้มีรูขนาดใหญ่ วันดีคืนดีจะมีนางนาคจากแม่น้ำชี แปลงร่างเป็นหญิงสาวสวยมายืมฟืมจากชาวบ้านไปทอผ้า เมื่อชาวบ้านให้ยืมฟืมแล้วก็สะกดรอยตามหญิงสาวนั้นไป เมื่อไปถึงรูดังกล่าวหญิงสาวนั้นก็หายตัวลงไปในรู ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า หญิงสาวผู้นั้นอาจเป็นธิดาพญานาค จึงได้ช่วยกันสร้างสถูปเจดีย์ปิดทับช่องทางขึ้นลงของพญานาคเสีย แล้วนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ภายในสถูป สมัยต่อมาได้มีการย้ายเมืองมหาชนะชัยไปอยู่ที่บ้านฟ้าหยาด สถูปเจดีย์องค์นี้จึงถูกทิ้งร้างไว้ ในระยะต่อมาจึงได้มีชาวไท - ลาว จากลุ่มน้ำมูล อพยพเข้ามาตั้งชุมชนใหม่ เป็นบ้านเวินในปัจจุบัน

    พระธาตุฝุ่น
    ตั้งอยู่กลางป่าห่างจากบ้านทรายมูลไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอทรายมูล พระธาตุฝุ่นเป็นเจดีย์เก่าแก่ อยู่ในสภาพพังทลายไปมาก ชาวบ้านได้สร้างอาคารมุงหลังคาคลุมเอาไว้ พร้อมทั้งได้สร้างพระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ เมตรเศษ ประดิษฐานไว้ทางด้านตะวันตกขององค์พระธาตุ เพื่อเป็นที่สักการบูชา ต่อมาได้มีการสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นแทน ตั้งอยู่ห่างจากพระธาตุเก่าประมาณ ๙ เมตร
    ประวัติความเป็นมาที่เล่าสืบกันมาประมวลได้ว่า เมื่อชาวบ้านทรายมูลอพยพมาจากเวียงจันทน์ ก่อนอพยพ หัวหน้าผู้นำชาวบ้านได้ให้ทุกคนขุดเอาดินตรงที่ฝังสายรก (ภาษาอีสานเรียก สายแฮ) คือดินจากบ้านเกิดคนละ ๑ กำมือ เอาผ้าขาวห่อนำติดตัวมาด้วยทุกคน เพื่อให้แม่พระธรณีจากบ้านเกิดช่วยคุ้มครอง ดูแลตลอดเวลาการเดินทาง เมื่อเดินทางมาถึงจุดที่เหมาะสมที่จะตั้งชุมชนแห่งใหม่ คือบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุแห่งนี้ จึงให้ทุกคนเอาดินที่นำติดตัวมา กองรวมกันแล้วสร้างเจดีย์ครอบไว้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงแม่พระธรณีบ้านเกิด จัดให้มีการสักการบูชาเป็นประจำทุกปี ดินที่ทุกคนนำมานั้นเรียกว่าดินฝุ่น พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นจึงเรียกว่าพระธาตุดินฝุ่น ต่อมาชื่อได้กร่อนไปเป็นพระธาตุฝุ่น ส่วนคำว่าดินฝุ่นนั้นรวมกันเรียกว่า ทรายมูล คือเป็นดินทรายอันเป็นมรดกจากบ้านเดิม ตั้งชื่อว่า บ้านทรายมูล

    วัดป่าดอนธาตุ
    ตั้งอยู่ในแนวป่าระหว่างบ้านบ่อบึงกับบ้านน้อยโพนจาน ตำบลสงยาง อำเภอมหาชนะชัย ตามลักษณะและสภาพโบราณสถานน่าจะเป็นวัดร้าง เพราะมีกองอิฐซึ่งน่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทพระอุโบสถ หรือที่ทางอีสานเรียกว่าสิม และมีเจดีย์ที่ปรักหักพังลงมา เหลือแต่เพียงส่วนฐานขึ้นไปถึงส่วนแอวขัน มีศิลปะปูนปั้นเป็นลายก้านขด มีก้นหอยอยู่ด้านบน มีกาบซ้อนหอยลงสู่เบื้องล่าง ศิลปะคล้ายหรือเหมือนกันกับธาตุบรรจุอัฐิของเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศา ทั้งรูปแบบและขนาด

    รอยพระพุทธบาทจำลองวัดป่าอัมพวัน
    วัดป่าอัมพวันตั้งอยู่ในอำเภอเมือง ฯ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยที่เมืองยโสธรมีเจ้าเมืองตามการปกครองหัวเมืองลาว มีพระอุโบสถและมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาทสร้างด้วยหินทรายแดง กว้างประมาณ ๘๐ เซ็นติเมตร ยาวประมาณ ๓ เมตร ที่ขอบรอยมีลายแกะสลักเป็นลายก้านขด ฐานด้านข้างเป็นรอยกลีบบัวซ้อนเหลื่อมกัน ตัวมณฑปเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มียอดเรียวแหลมลดหลั่นจากเรือนมณฑปขึ้นไป
    ประวัติความเป็นมา กล่าวว่า วัดป่าอัมพวันสร้างโดยพระสุนทรราชวงศา (ศรีสุพรหม) กับอุปฮาดเงาะ อุปฮาดเงาะได้รับหน้าที่เป็นนายกอง คุมไพร่พลและเสบียงไปสมทบกับกองทัพของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม คราวไปปราบศึกฮ่อที่หนองคาย มีความชอบได้รับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศเป็นเจ้าอุปฮาด เจ้าอุปฮาดดีใจมากจึงได้พาญาติพี้น้อง และบ่าวไพร่ไปเลือกหินจากริมน้ำห้วยทวน ข้างบ้านสิงห์โคก นำมาสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นข้างโบสถ์ ชาวเมืองเรียกว่า หอพระบาท

    รอยพระพุทธบาทจำลองวัดศรีธรรมาราม
    เดิมรอยพระพุทธบาทจำลองชิ้นนี้ ได้เคยประดิษฐานอยู่ที่วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ ต่อมาวัดดังกล่าวไม่มีสงฆ์อยู่ครอง ทางวัดศรีธรรมารามจึงได้ขอเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่วัดจนถึงปัจจุบัน

    รอยพระพุทธบาทจำลองวัดพระพุทธบาทบ้านหนองยาง
    เป็นรอยพระพุทธบาทที่สลักจากหินทราย ด้านบนฝ่าพระบาทสลักลายมงคล ๑๐๘ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในศาลาโถงวัดพระพุทธบาทยโสธร จึงเรียกว่า รอยพระพุทธบาทยโสธร ตามประวัติกล่าวว่าพระมหาอุตตมปัญญา และลัทธิวิหาริกได้นำมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยอิทธิพลวัฒนธรรมอีสาน (ล้านช้าง) หรือล้านนา อายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ ช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

    รอยพระพุทธบาทจำลองวัดภูกลอย
    ประดิษฐานอยู่ที่วัดภูกลอย หรือวัดเทวัญคีรี อำเภอไทยเจริญ อยู่บนภูเตี้ย ๆ ทางด้านทิศตะวันออกเป็นหน้าผาชัน ด้านทิศตะวันตกเป็นหินลาดต่ำลงไปจนจดลำธาร ทิศเหนือ - ใต้เป็นหินแตก รอยพระพุทธบาทเป็นรอยที่ติดอยู่บนโขดหิน ลักษณะของรอยเหมือนคนเหยียบลงไปบนดินเหนียว แล้วถอยเท้ายกขึ้นเหมือนรอยเท้าคนจริง ๆ แต่มีขนาดใหญ่กว่าเท้าคนธรรมดาทั่วไป ทางวัดได้ก่อสถูปเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทไว้ นับว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของอำเภอไทยเจริญ

    วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ
    อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ จากพงศาวดารเมืองยโสธร ฉบับของพระยามหาอำมาตยาธิบดี มีความว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๘ เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์ได้สู้รบกับทางกรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพ ยกกำลังไปตั้งค่ายอยู่ที่เมืองพานพร้าว และเมื่อพระพิชัยสงครามซึ่งยกกำลังล่วงหน้าไปก่อน เสียทีแก่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ พระยาราชสุภาวดีจึงให้ถอยกำลังมาตั้งอยู่ที่เมืองยโสธร แล้วทำพิธีปฐมกรรมตัดไม้ข่มนาม สถานที่ขุมนุมทำพิธีคือที่วัดทุ่งสว่างชัยภูมิแห่งนี้ ต่อมาอุปฮาดแพงรักษาการเจ้าเมืองยโสธร ได้รับพระบัญชาให้จัดกองทัพไปช่วยรบทางเมือง เสียมราฐ ประทายเพชร และพระตะบอง ก่อนนำทัพไปรบก็ได้ทำพิธีที่เนินตรงวัดทุ่งสว่างชัยภูมิ เช่นกัน เมื่อไปรบมีชัยชนะกลับมา เห็นว่าพื้นที่โนนทุ่งนี้เป็นชัยภูมิดีเลิศ จึงได้สร้างธาตุเจดีย์ แล้วยกขึ้นเป็นวัด ชื่อวัดชัยชนะสงคราม หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วัดบูรพาทิศาราม แล้วอัญเชิญรอยพระพุทธบาท จากวัดใต้ศรีมงคลมาประดิษฐานไว้ภายในพระเจดีย์ดังกล่าว แต่ต่อมารอยพระพุทธบาทจำลองนี้ได้ย้ายไปไว้ที่วัดศรีธรรมาราม และองค์พระเจดีย์ได้มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔

    พระอุโบสถวัดใต้ศรีมงคล
    วัดใต้เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองยโสธร มีพระอุโบสถที่มีรูปแบบทางศิลปะล้านนาผสมล้านช้าง กล่าวคือใต้หน้าบันลงมาระหว่างเสาสองต้น จะมีลวดลายไม้แกะสลักห้อยลามลงมาตามเสาทั้งสอง แล้วห้อยย้อยลงตรงกลางเหมือนรวงผึ้ง ส่วนเสาไปหาระเบียงก็ประดับลวดลายระหว่างเสาเช่นเดียวกัน เสาเป็นรูปเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีกลีบบัวสัตบุษย์หงายรองรับส่วนบน ภายในวัดนี้ได้พบธรรมาสน์ และโฮงเทียนศิลปะลาวรุ่นเก่า พระอุโบสถแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ยังคงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน

    หอไตรวัดศรีธาตุ
    เป็นหอไตรตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีระเบียงรอบยื่นมาติดเสาระเบียง เดิมใช้เป็นที่เก็บหนังสือผูกใบลานต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารพื้นเมืองที่เก่าแก่ ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมมาก แต่ยังคงคุณค่าสูงในทางสถาปัตยกรรม บานประตูเป็นลายเครือเถา และสลักลวดลายสวยงาม

    ที่มา : หอมรดกไทย
    ..................../////.....................

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •