ตำนานนิทานทุ่งกุลาร้องไห้

มี ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อหลายพันปีมาแล้วดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้เคยเป็น ทะเลสาบมาก่อนกว้างยาวสุดลูกหูลูกตาไม่มีต้นไม้ใหญ่สสักต้นเพราะน้ำลึกมาก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ในสมัยนั้นมีเมืองสำคัญอยู่เมืองหนึ่งคือ เมืองจำปาขัน หรือเมืองจำปานาคบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของทะเลสาบ ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวไว้ว่า

"ท่งกุลาเดิมเค้ามันเป็นทะเลใหญ่
หัวเมืองไกลเทียวค้าเฮือข่วมท่องเที่ยว
ทะเลสาบคดเคี้ยวฟองแก่งแฮงกระแส
หมู่ชาวแฮือชาวแพซ่อยขนสินค้า
ปัจจิมพ้นจำปานคเรศ
เขตเวนตกก้ำพี้เมืองบ้านน่านนคร"

พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองเมืองนครนั้นมีธิดาอยู่องค์หนึ่งชื่อว่า นางแสนสี และมีหลานสาวคนหนึ่งชื่อว่า คำแพง นางทั้งสองเป็นหญิงสาวรุ่นราวคาวเดียวกันและมีรูปร่างหน้าตาสาวงามพร้อมทั้งลักษณะเท่ากับนางอัปสรมีวัย 15 หยกๆ 16 หยอนๆพระราชารักเหมือนดวงพระเนตรและได้จัดให้มีคนดูแลรักษาอย่างดี ผู้ดูแลรักษามีชื่อว่า จ่าแอ่น เมื่อ นางทั้งสองจะไปที่ใด จ่าแอ่นก็จะติดตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง ในเมืองจำปานาคบุรีนี้มีพญานาคอยู่ฝูงหนึ่ง เป็นพญานาคที่มีฤทธิ์มากถ้าชาวเมืองได้รับความเดือดร้อน พญานาคนี้จะให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง จึงมีชื่อว่า นาคบุรี ในสมัยเดียวกันนั้น มีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า บูรพานคร ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบ มีโอรสชื่อ ท้าวฮาดคำโปง ละมีหลานชายชื่อ ท้าวอุทร ทั้งสองได้ออกไปเรียนวิชาศิลปศาสตร์สำนักเดียวกันเมื่อเรียนจบแล้ว อาจารย์อยากจะให้ลูกศิษย์ลองวิชาดูว่าจะมีความสามารถเพียงใด จึงเรียกลูกศิษย์ทั้งสองเข้ามาหาแล้วสั่งว่า ให้เจ้าทั้งสองไปสู้รบกับพญานาคที่เมืองจำปานาคบุรี และกำชับว่า พญานาคนั้นมีฤทธิ์มากหากเจ้าทั้งสองชนะพญานาคได้ก็หมายความว่าวิชาที่เจ้าได้ร่ำเรียนมานั้นเป็นผลสำเร็จ ศิษย์ ทั้งสองก็ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของอาจารย์ จึงพากันกราบลาอาจารย์ออกจากสำนักไปยังเมืองจำปานาคบุรี เมื่อไปถึงท้าวทั้งสองยังมิได้ลองวิชาแต่อย่างไร แต่ ได้ทราบว่าเจ้าเมืองจำปานาคบุรีนั้นมีพระธิดาและหลานสาวที่สาวงามมาก จึงเป็นเหตุให้ชายหนุ่มทั้งสองหันมาให้ความสนใจสาวงามมากกว่าการที่จะสู้รบ ทดลองวิชากับพญานาค จึงได้พยายามติดต่อกับนางทั้งสอง แต่มองไม่เห็นหนทางที่จะสำเร็จได้ เพราะนางทั้งสองมีผู้ดูแลรักษาอย่างเข้มงวด จึงหาโอกาสติดต่อได้ยาก แต่หนุ่มทั้งสองก็มิได้ละความพยายามแต่อย่างใด และได้สืบทราบมาว่าทุกๆเจ็ดวันนางทั้งสองจะพาบ่าวไพร่และผู้ดูแลรักษาออกไป เล่นน้ำทะเลสักครั้งหนึ่งจึงคิดว่าจะใช้วิชาที่ได้ร่ำเรียนมาเข้าช่วย


ยู่ มาวันหนึ่ง พระนางทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร และจ่าแอ่นผู้ดูแลรักษา ได้พายเรือลงไปเล่นน้ำทะเล ท้าวทั้งสองเห็นเป็นโอกาสดีจึงเสกผ้าเช็ดหน้าให้กลายเป็นหงส์ทองลอยไปข้าง หน้าเรือของนางทั้งสอง เมื่อนางทั้งสองเห็นหงส์ทองลอยน้ำมาก็อยากได้ไว้ชม จึงอ้อนวอนจ่าแอ่นให้พายเรือติดตามเอาหงส์ทองมาไห้ได้ แต่ยิ่งตามไปใกล้เท่าไรหงส์ทองก็ยิ่งลอยออกไปไกลทุกที ครั้งชะลอฝีพายลงหงส์ทองก็ลอยช้าลงด้วย ทำท่าจะให้จับตัวได้ เมื่อยิ่งตามไปเรือของนางทั้งสองก็ตกอยู่กลางทะเลใหญ่ ท้าว ฮาดคำโปงและท้าวอุทรเห็นเป็นโอกาสดี จึงแล่นเรือสำเภาของตนซึ่งจอดรอคอยอยู่แล้วออกสกัดหน้าเรือของนางทั้งสอง แล้วเอานางทั้งสองพร้อมด้วยบริวารขึ้นเรือสำเภาของตน แล้วแล่นออกไปในทะเลใหญ่

ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า

"บ่าวสำน้อยท้าวฮาดคำโปง
ท้าวอุทรกะลงสู่สำเภาลอยน้ำ
คึดอยากไปเทียวก้ำจำปานคเรศ
อยากเห็นเนตรยอดฟ้าสาวหล้าซาวไกล
หลายเพลาขวบได้เฮือแล่นตามลม
หมายซิชมเอานางต่างเมืองมาซ้อน
สำเภามาจวนค่อยจำปาเมืองใหญ่
เขาจอดเฮืออยู่ใกล้มนต์ร่ายใส่เสน่ห์
เสกเป็นหงส์ทองเอ้ลงท่าลีลา
ใช่เป็นสาส์นหงส์มาล่อเอานางน้อย
ตอนนั่นคำแพงสร้อยแสนสีน้องพี่
ลงวารีอาบล้างหน้าน้อยค่อยละมัย
เห็นหงส์ทองอยากได้เอิ้นใส่ทาสา
ให้จ่าแอ่นนั่นมาไล่หงส์บ่พอได้
ทำมาอยากกรายใกล้ไหวดีล่อหลอก
ออกมาหวิดเขตน้ำกรายก้ำบ่อนสิคืน
บังคับสาวให้ขึ้นเฮือแล่นหนีไป"


เมื่อ เจ้าเมืองจำปานาคบุรีได้ทราบข่าวว่านางทั้งสองหายไปก็ตกพระทัยเป็นอันมาก แต่พระราชาองค์นี้มีพญานาคเป็นสหาย เคยสัญญากันไว้ว่า ถ้าเกิดศึกสงครามแก่บ้านเมืองเวลาใด ให้ตีกลองชัยจะได้มาช่วย เมื่อเกิดเหตุกระทันหันขึ้นดังนี้ พระราชาจึงใช้ให้มหาดเล็กตีกลองชัยขึ้น เมื่อพญานาคได้ยินเสียงกลองของพระราชาก็ได้จัดกองทัพขึ้นมา แต่ไม่เห็นข้าศึกจึงถามพระราชาว่า มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นจึงได้ตีกลองชัย พระราชาจึงบอกว่า มีหนุ่มวิทยาคมสองคนได้ลักพาพระธิดาและหลานสาวทั้งสองหายไปในทะเลสาบจึงขอ ให้ท่านช่วยเหลือด้วย พญานาคเป็นผู้มีฤทธิ์จึงบันดาลให้ ทะเลสาบแห้งเหือดทันที

ตำนานทุ่งกุลา ตอนที่ 1 ติดตามต่อตอน จบ