การวางตัวต่อเพศตรงข้ามและการเลือกคู่ครอง

การที่คนเราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขจำเป็นต้องรู้จักปรับปรุงตนเองจำเป็นต้องรู้จักปรับปรุงตนเองให้เป็นที่ยอมรับและรักใคร่ของผู้อื่น การปรับปรุงตนเองให้เข้ากับผู้อื่นนั้น มีหลักการทั่วไป ดังนี้

1. มีความรับผิดชอบ เพราะความรับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำใหเคนเราดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย และมีความสุข

2. รู้จักปรับปรุงบุคลิกภาพ เพราะผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดีย่อมเป็นที่นิยมชมชอบของผู้อื่น และบุคลิกภาพที่ไม่ดีสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

3. ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะจะทำให้เราเข้าใจยอมรับ และเห็นสิ่งที่ดีของผู้อื่น

4. รู้จักสร้างมนุษยสัมพันธ์ เพราะการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้เราได้รับการยอมรับนับถือ และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้อื่น

การวางตัวต่อเพศตรงข้าม คือการที่ชายและหญิงปฏิบัติตนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในสถานภาพต่าง ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของสังคมนั้น ๆ

การวางตัวต่อเพศตรงข้ามมีความสำคัญมากในช่วงวัยรุ่นเนื่องจากจะเป็นพื้นฐานของการเลือกคู่ครองต่อไปในอนาคต

การวางตัวต่อเพศตรงข้ามจะดำเนินไปด้วยดีหรือไม่ ขึ้นกับสภาพแวดล้อม ดังนี้
1. ครอบครัว
2. โรงเรียน
3. เพื่อนบ้าน

การมีโอกาสรู้จักและคุ้นเคยกับเพื่อนต่างเพศซึ่งมีอายุรุ่นเดียวหรือใกล้เคียงกันจะช่วยให้เราได้เรียนรู้ถึงความแตกต่าง และความสัมพันธ์ระหว่างตนกับเพื่อนต่างเพศ การวางตัวต่อเพศตรงข้ามรวมทั้งมารยาทและการปฏิบัติตนต่อเพศตรงข้าม นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับเพศตรงข้ามได้

การวางตัวต่อเพศตรงข้าม อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ฐานะ ดังนี้
1. การวางตัวต่อเพศตรงข้ามในฐานะเพื่อน

2. การวางตัวต่อเพศตรงข้ามในฐานะคู่รัก


การวางตัวต่อเพศตรงข้ามในฐานะเพื่อน

การปฏิบัติตนของฝ่ายชาย

1. ควรแต่งกายให้สุภาพ สะอาดเรียบร้อย ไม่ฟุ่มเฟือย และไม่นำสมัยจนเกินไป ไม่ควรแต่งกายตามสบายมากนัก

2. ใช้วาจาที่สุภาพ ไม่แสดงอาการก้าวร้าว เสียดสีด้วยวาจา ใช้คำพูดตามมารยาทในการพูดในสังคม

3. การแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ ต้องสุภาพเรียบร้อย ทั้งการนั่งยืน เดิน และต้องมีความองอาจสมความเป็นชาย แสดงถึงบุคลิกภาพที่ดี ควรให้เกียรติผู้หญิง ทำตัวเป็นสุภาพบุรุษ ช่วยเหลือผู้หญิงตามสมควร

4. แสดงความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ

5. การให้ความสนิทสนม ควรอยู่ในขอบเขตไม่คลุกคลีมากเกินไป ควรระลึกเสมอว่าต้องให้เกียรติฝ่ายหญิงทุกโอกาสแม้ว่าจะสนิทสนมกันมากเพียงใด

การปฏิบัติตนของฝ่ายหญิง

1. แต่งกายให้สุภาพ สะอาดเรียบร้อย รัดกุม ไม่ควรแต่งตัวล่อแหลม นุ่งห่มน้อยชิ้น ถ้าพบโดยบังเอิญในขณะที่แต่งกายไม่เรียบร้อย ก็ไม่ควรหยุดพูดคุยด้วยต้องขอตัวไปเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อยก่อนจึงมาพูดคุยด้วยในภายหลัง

2. ใช้วาจาที่สุภาพเหมาะสมให้สมกับเป็นกุลสตรี ไม่พูดหยาบคาย ส่งเสียงดัง แม้จะมีความสนิทสนมกับฝ่ายชายมากก็ตาม

3. ควรแสดงกิริยาที่เหมาะสม สุภาพ ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือเสพสิ่งเสพติด ต้องสำรวมตนให้ดูเรียบร้อยเป็นกุลสตรีรู้จักมารยาทสังคม การเดิน การนั่ง การยืน ต้องดูเรียบร้อยสง่างาม เหมาะสมกับกาลเทศะ

4. ควรมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจเมื่อได้รับการช่วยเหลือจากฝ่ายชาย

5. ไม่ควรอยู่ลำพังกับฝ่ายชายสองต่อสองในที่ลับตาคน ไม่แสดงกิริยาสนิทสนมเกินขอบเขต

การวางตัวต่อเพศตรงข้ามในฐานะคู่รัก

ชายหญิงที่มีความสัมพันธ์กันในฐานะคู่รัก ทั้งคู่ควรจะได้ศึกษาอุปนิสัย ค่านิยม ความต้องการ ความพอใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์พัฒนาต่อไปจนถึงการตัดสินใจที่จะสมรสและใช้ชีวิตคู่ร่วมกันควรทำความรู้จักกับญาติทั้งสองฝ่าย เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับครอบครัวและสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างญาติก่อนแต่งงาน

ในขณะที่คบกันถึงแม้จะอยู่ในฐานะที่เป็นคู่รักกันก็ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน และควรจะต้องเพิ่มเติมความห่วงใยเอาใจใส่ดูแลกันให้มากขึ้นควรให้ความเคารพเชื่อฟังญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งมีน้ำใจต่อญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายด้วย และไม่ให้ความสนิทสนมกันเกินขอบเขตของประเพณีเพราะในช่วงของวัยรุ่นนี้โดยธรรมชาติจะมีแรงขับทางเพศที่จะผลักดันให้มีเพศสัมพันธ์กัน จึงควรมีขอบเขตจำกัดตามประเพณีและวัฒนธรรมของไทย ดังนั้นชายหญิงจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ด้วยกันตามลำพัง ไม่ดื่มเหล้าหรือเสพของมึนเมาเพราะจะทำให้ควบคุมตนเองไม่ได้ควรหาทางระบายความต้องการทางเพศในทางที่เหมาะสม เช่น การเล่นกีฬา การร่วมกิจกรรมของหมู่คณะ การเล่นดนตรี การทำงานอดิเรกหรืองานศิลปะ เป็นต้น

การเลือกคู่ครอง

“ ความรักนั้นจะเกิดจาก อารมณ์ที่มั่นคงแล้ว ผ่านระยะเวลาการฟูมฟัก และไม่จางจากไปได้ง่าย ๆ ความรักจะฝังอยู่ในความรู้สึกฝังอยู่ในหัวใจ และฝังอยู่ในความทรงจำอย่างลึกซึ้ง ความชอบไม่ใช่ความรัก ความชอบเกิดขึ้นได้และอาจเปลี่ยนไปในชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่ยืนนาน ”

จุดเริ่มต้นที่สำคัญของชีวิตสมรส คือ การเลือกคู่ครอง เพราะการตัดสินใจในการเลือกคู่ครองนั้น เป็นการตัดสินใจที่สำคัญในชีวิตของคนเรา ผลจากการตัดสินใจในการเลือกคู่ครอง หมายถึง ความสุขความสมหวังหรือความล้มเหลวในชีวิตของคู่สมรส ฉะนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานเราควรคิดอย่างรอบคอบและเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เพราะการวางรากฐานที่มั่นคงหรือการตั้งต้นที่ดีนั้น หมายถึง ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตไปแล้วครึ่งหนึ่งนั่นเอง

การเลือกคู่ครองนับได้ว่าเป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของโชคหรือดวงชะตาแต่อย่างใด การเลือกคู่ครองจึงควรใช้เหตุผลมากกว่าที่จะใช้อารมณ์ โดยพิจารณาคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะได้รับเลือก เพื่อคาดหวังผลสำเร็จในอนาคตโดยอาศัยหลักการที่ว่า การค้นพบสิ่งที่อาจทำให้ผิดพลาดได้ก่อน ย่อมดีกว่ามาพบในภายหลังเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างสายเกินไปแล้ว

เมื่อคนเราเกิดความสนใจต่อเพศตรงข้ามและเริ่มปรับตัวเข้ากับเพศตรงข้ามแล้ว ความพึงพอใจหรือความสนใจเป็นพิเศษที่มีต่อเพศตรงข้ามจะเกิดขึ้นตามมา วัยรุ่นส่วนมากมักคิดว่าความพึ่งพอใจที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความรักที่ตนมีต่อเพศตรงข้าม ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วความพึงพอใจกับความรักนั้น แตกต่างกัน

ความพึงพอใจ หมายถึง การสะดุดตาสะดุดใจในรูปร่างหน้าตา น้ำเสียง หรือลักษณะที่น่าประทับใจบางอย่างในบุคคลที่เราสนใจ ทำให้เกิดความรู้สึกคลั่งไคล้ นึกถึงอยู่ตลอดเวลา ความพึงพอใจมักจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและเกิดขึ้นได้เสมอ อย่างไรก็ตามความพึงพอใจอาจเป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดความรักได้

ความรัก เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่แสดงต่อบุคคลหรือสิ่งของ การแสดงออกของความรักจะเป็นความปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ๆ และช่วยเหลือทำงานให้กลับคนที่เรารัก ความรักมีหลายประเภท เช่น รักตนเอง รักเพื่อน รักเพื่อนต่างเพศ ความรักเป็นความรู้สึกที่ฝังอยู่ในจิตใจอย่างมั่นคงและเปลี่ยนแปลงได้ยาก

ความรักเป็นสิ่งเริ่มต้นที่จะชักจูงให้ชายและหญิงต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน และเป็นสิ่งเชื่อมความรู้สึกของคน 2 คนไว้ด้วยกัน ผู้ที่จะเลือกมาเป็นคู่ครองจึงควรเป็นผู้ที่ตนรักและรักตน ผู้ที่มีความรักให้แก่กันอย่างแท้จริงจะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแต่งงานกัน

การแต่งงาน หมายถึง การที่ชายและหญิงตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน การแต่งงานถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน การแต่งงานส่วนมากต้องมีการจดทะเบียนสมรสเพื่อเป็นข้อผูกพันตามกฎหมาย สำหรับสิทธิของชายหญิงและบุตรที่จะเกิดตามมาเมื่อชายและหญิงแต่งงานมาอยู่ด้วยกัน ก็จะต้องใช้ชีวิตร่วมกัน เปรียบเสมือนเป็นบุคคลคนเดียวกัน ดังนั้นก่อนตัดสินใจแต่งงานชายและหญิงจะต้องมีพื้นฐานที่สำคัญที่สุด คือ “ ความรัก ” แต่ความรักอย่างเดียวก็ไม่อาจทำให้ชีวิตสมรสราบรื่นยาวนานได้ ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรัก นั่นคือ ความเข้าใจ ความรับผิดชอบ การให้อภัยซึ่งกันและกัน ฯลฯ ดังนั้น การเลือกคู่ครองจึงควรพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย

หลักทั่วไปในการเลือกคู่ครอง

ในการเลือกคู่ครอง นอกจากจะพิจารณาพื้นฐานด้านความรักที่ชายและหญิงมีให้แก่กันและกันแล้ว ควรพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย ดังนี้

1. เชื้อชาติ โดยทั่วไปคนเชื้อชาติเดียวกันย่อมมีภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่เหมือนกัน คู่ครองที่มีเชื้อชาติเดียวกันจึงมักจะเข้าใจกันได้ง่าย ถ้าหากเป็นคนละเชื้อชาติก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่เข้าใจกัน และอาจเกิดปัญหาการอพยพหรือย้ายกลับภูมิลำเนากับคู่สมรส ทำให้ชีวิตคู่ต้องแยกหรือพลัดพรากจากกันได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม คู่สมรสที่มีเชื้อชาติต่างกันก็ไม่ใช่ว่าชีวิตสมรสจะล้มเหลวเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่การปรับตัวของคู่สมรส ถ้าได้ใช้ความพยายามอย่างแท้จริงในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขได้

2. ศาสนา เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ศาสนาทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายในการ อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี ละเว้นความชั่ว ส่วนหลักการและพิธีกรรมต่างๆ ของแต่ละศาสนาย่อมมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ถ้าหากคู่สมรสนับถือศาสนาเดียวกัน ความเชื่อถือศรัทธาและการปฏิบัติตนตามพิธีกรรมทางศาสนาก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่หากนับถือศาสนาต่างกันก็อาจจะมีปัญหากระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น คนหนึ่งจะไปวัดอีกคนไปโบสถ์ หรือเกิดปัญหาข้อขัดแย้งว่าจะให้บุตรที่เกิดมานับถือศาสนาอะไร เป็นต้น การตัดสินใจเลือกคู่ที่นับถือศาสนาต่างกันจึงจำเป็นต้องพยายามปรับตัวเข้าหากัน และไม่ควรนำประเด็นทางศาสนามาเป็นข้อโต้แย็งว่าศาสนาของงใครดีกว่าของใคร เพราะปัญหานี้ไม่มีข้อสรุปและอาจนำไปสู่ความแตกแยกในชีวิตสมรสได้ง่าย

3. การศึกษา การที่คู่สมรสมีระดับการศึกษาสูงหรือจบปริญญา แม้จะไม่ใช่เครื่องรับประกันความสำเเร็จของชีวิตสมรสได้อย่างแน่นอนก็จริงอยู่ แต่จากตัวอย่างชีวิตสมรสจำนวนมากได้ชี้ให้เห็นว่า คนที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มในการประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการศึกษาช่วยทำให้บุคคลเจริญงอกงามทั้งทางร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคมและสติปัญญา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชีวิตสมรสหรือชีวิตครอบครัวเป็นอย่างมากและจากการศึกษาวิจัยโดยทั่วไปมักพบว่า คู่สมรสที่มีสติปัญญาและระดับการศึกษาใกล้เคียงกันมักจะมีโอกาสประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตสมรสมากกว่าคู่สมรสที่มีระดับการศึกษาต่างกันมาก เพราะระดับการศึกษาที่ใกล้เคียงกันจะช่วยทำให้คู่สมรสพูดจากันรู้เรื่องและเข้าใจกันได้ง่าย แต่หากคู่สมรสมีระดับการศึกษาต่างกัน ฝ่ายชายควรจะเป็นฝ่ายที่มีการศึกษาสูงกว่า ถ้าฝ่ายหญิงมีการศึกษาสูงกว่าฝ่ายชายมาก อาจทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัวของฝ่ายชายได้

4. ฐานะทางเศรษฐกิจ ความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจหรือฐานะการเงินนับเป็นข้อที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่งในการเลือกคู่ เพราะถ้าคู่สมรสมีฐานะทางการเงินไม่ดีการหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ในขณะที่ครอบครัวต้องขยายตัวออกไป สมาชิกใหม่ในครอบครัวก็จะต้องเพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบให้เกิดปัญหาชีวิตครอบครัวได้ เว้นเสียแต่คู่สมรสนั้นจะต้องทำงานหนักเพื่อเพิ่มพูนรายได้และรู้จักประหยัดในการใช้จ่าย จึงจะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

5. บุคลิกภาพ คนเรามีบุคลิกภาพไม่เหมือนกัน บุคลิกลักษณะที่เป็นเสน่ห์อยู่ในตัวบุคคลก็แตกต่างกันออกไปด้วย เช่นขนาดของร่างกาย รูปร่าง หน้าตา กิริยาท่าทาง ท่วงทีวาจาอุปนิสัยใจคอ ความสนใจ ค่านิยม รสนิยม อุดมคติ ความประพฤติ ฯลฯ ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างพันธุกรรม และประสบการณ์ทั้งหมดของแต่ละบุคคลเมื่อคนเราจะเลือกคู่ครองจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาบุคลิกภาพ บุคลิกลักษณะของผู้ที่จะมาเป็นคู่ครอง หรือคู่ชีวิตของตนเองในอนาคตด้วยว่าบุคลิกภาพและบุคลิกลักษณะดังกล่าว เหมาะสมกับตนหรือไม่ ตนพอใจยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันในชีวิตสมรสหรือไม่ ดังนั้นการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพของคู่ครองก่อนแต่งงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และชีวิตสมรสที่มีความสุขจะต้อง ประกอบด้วยบุคลิกภาพของชายและหญิงที่เข้ากันได้ และจะต้องทราบอุปนิสัยใจคอต่างๆ ของคู่สมรสก่อนแต่งงาน แม้ว่าบุคลิกภาพของคนเราจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของอีกฝ่ายหนึ่งภายหลังการแต่งงานกันแล้ว ก็อาจจะเสี่ยงต่อความผิดหวังในชีวิตสมรสได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ

6. วุฒิภาวะทางอารมณ์ การที่ร่างกายของชายและหญิงเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่และพร้อมที่จะให้กำเนิดบุตรได้ มิได้หมายความว่า บุคคลผู้นั้นพร้อมที่จะแต่งงาน หรือมีครอบครัวได้ การแต่งงานหรือการสมรสจำเป็นต้องอาศัยความเจริญเติบโตของจิตใจ หรือความมีวุฒิภาวะทางอารมณ์เป็นหลักสำคัญประกอบด้วย เพราะผู้ที่บรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์ย่อมเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวให้มีความสุขกับครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ความสามารถในการปรับตัวนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับชีวิตสมรสที่ประสบความสำเร็จ

บุคคลที่มีวุฒิภาวะอารมณ์ อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมเหล่านี้

1. เป็นผู้ที่รู้จักและเข้าใจตนเองได้ดี

2. เป็นผู้รู้จักและเข้าใจผู้อื่นได้ดี

3. เป็นผู้ที่สามารถเผชิญกับความจริงแห่งชีวิตได้ดี

4. ตัดสินใจได้เอง เมื่อทำผิดก็ยอมรับผิด

5. มองอนาคตด้วยความหวัง และเต็มใจรอคอย

6. เข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล

7. มีจิตใจมั่นคง และไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ได้ง่าย

8. มีอารมณ์ขัน และมองโลกในแง่ดี

9. ยอมรับกติกาหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม

10. มีความสุขุมรอบคอบ รู้จักเหตุผล และรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว

11. รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบสูง

12. สามารถประเมินผลการกระทำของตนเองได้

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อวุฒิภาวะทางอารมณ์ของบุคคลได้แก่ อายุ ผู้ที่มีอายุมากจะเป็นผู้ที่มีอารมณ์มั่นคงกว่าผู้ที่มีอายุน้อย และจากการศึกษาพบว่า อายุที่เหมาะสมกับการมีคู่ครองนั้นผู้ชายควรจะมีอายุระหว่าง 27-30 ปี ผู้หญิงควรมีอายุระหว่าง 21-25 ปี และไม่ควรแตกต่างกันเกิน 10 ปี เพราะความต่างวัยจะทำให้คู่สมรสปรับตัวเข้าหากันได้ยาก เนื่องจากความต้องการและความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งในชีวิตสมรสได้

7. สุขภาพ สุขภาพย่อมมีความสำคัญต่อบุคคล ผู้ที่มีสุขภาพดีนับว่าเป็นลาภอันประเสริฐ ดังพุทธภาษิตที่กล่าวว่า “ อโรคยา ปรมาลาภา” สุขภาพเปรียบเหมือนวิถีทางหรือหนทางที่จะนำบุคคลไปสู่ความสุข และความสำเร็จต่างๆ ในชีวิตการทำงานและชีวิตการสมรส ดังนั้นผู้ ที่เราจะเลือกเป็นคู่ครองควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ก่อนการแต่งงานจึงควรให้แพทย์ตรวจสุขภาพของชายและหญิงว่ามีโรคใดบ้างที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชีวิตการสมรส เช่น การตรวจหมู่เลือด หรือการผิดปกติเกี่ยวกับเลือด และโรคที่สามารถถ่ายถอดทางพันธุกรรม และหากพบว่ามีโรคภัยไข้เจ็บก็ควรได้รับการรักษาให้หายเสียก่อน

จากข้อควรพิจารณาในการเลือกคู่ครองที่กล่าวมาพอสรุปได้ว่า การเลือกคู่ครองที่มีเชื่อชาติ ศาสนา การศึกษา เศรษฐกิจและระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่คล้ายกันหรือใกล้เคียงกัน จะช่วยให้ชีวิตสมรสประสบผลสำเร็จมากกว่าคู่ครองที่มีสิ่งเหล่านี้แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าคู่ครองที่มีภูมิหลังแตกต่างกันจะไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิตสมรส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรัก ความเข้าใจ การยอมซึ่งกันและกันที่จะช่วยให้คู่สมรสประสบผลสำเร็จในชีวิตได้อย่างไรก็ตาม การที่ชายและหญิงเลือกคู่ครองของตน ก็ควรได้มีการปรึกษาพ่อ แม่ หรือญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง และเกิดการยอมรับในการตัดสินใจเลือกคู่ครองของคู่สมรส

การวางตัวต่อเพศตรงข้ามและการเลือกคู่ครอง