เหตุผลที่คนชั่ว.......


ในคัมภีร์อภิธรรมได้แจกแจงถึงสาเหตุที่ทำให้คนเป็นชั่วไว้ ๕ ประการดังนี้

๑. ชั่วเพราะสันดานเดิม


สันดานเดิมในที่นี้ บาลีจริง ๆ มุ่งเอากรรมชั่วที่สั่งสมไว้ในอดีตชาติ หมายความว่า อดีตชาติเคยสั่งสมกรรมชั่วในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเอาไว้จนเป็นนิสัยสันดาน ครั้นตายไปแล้วกลับมาเกิดใหม่ กรรมชั่วที่สั่งสมเอาไว้ก็ยังคงติดตามมา และกลายเป็นคุณสมบัติประจำตัวอีก เรียกว่ามีเชื้อชั่วติดตัวมา เช่น กรณีของพระเทวทัต แม้จะเกิดในราชสกุล แต่เพราะสันดานชั่วที่สั่งสมมามีกำลังมากกว่า ย่อมผลักดันให้กลายเป็นคนชั่วในที่สุด


ความจริงในข้อนี้ หากพิจารณาในปัจจุบันก็อาจพอเห็นร่องรอยได้บ้าง เช่น เด็ก(รวมถึงผู้ใหญ่) บางคนเกิดในครอบครัวดี พ่อแม่เป็นคนดีมีฐานะ เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคม แต่กลับมีความประพฤติตรงกันข้าม นั่นเป็นเพราะสันดานชั่วฝังอยู่ในกมลสันดาน


๒. ชั่วเพราะสิ่งแวดล้อมพาไป


สิ่งแวดล้อมนี้ได้แก่สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ข้างตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง สังคม รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนกำหนด หรือบังคับให้ต้องเลือกกระทำความชั่วลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อาจจะโดยเต็มใจ หรือไม่เต็มใจก็ได้


๓. ชั่วเพราะคบคนชั่ว


บาลีพระพุทธพจน์ทรงย้ำเรื่องของการคบไว้ว่า “คบคนเช่นไรเป็นเช่นนั้น” (ยํ เว เสวติ ตาทิโส) ในมงคลสูตรข้อแรกจึงสอนให้เรา “ไม่คบคนพาล” และ “เลือกคบแต่บัณฑิต” นั่นเป็นเพราะว่า ธรรมชาติของคนเรา เมื่อคบค้าสมาคมกับใครเป็นมิตรสหายแล้ว ก็ย่อมเปิดโอกาสให้เกิดการหลอมอัธยาศัยให้เข้ากันได้โดยง่าย การคบค้าสมาคมกับคนชั่วจึงเท่ากับเปิดช่องให้ผู้นั้นกลายเป็นคนชั่วตามไปด้วย คล้าย ๆ กับสำนวนอุปมาอุปมัยโบราณที่ว่า “กฤษณาห่อปลาเน่าก็พลอยเน่าเหม็นไปด้วย”


๔. ชั่วเพราะปฏิเสธสิ่งดีงาม


“ชั่วเพราะปฏิเสธสิ่งดีงาม” ผู้เขียนแปลมาจากศัพท์บาลีว่า “ไม่ฟังธรรมของสัตบุรุษ” เหตุผลที่แปลเช่นนี้เพราะไม่ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของคำว่า “ฟังธรรม” คับแคบไปจนเหลือเพียงการฟังเทศน์ฟังธรรม และคนที่จะเทศน์จะแสดงก็เหลือเพียงพระสงฆ์เท่านั้น


ความหมายของการ “ไม่ฟังธรรมของสัตบุรุษ” จริง ๆ แล้วมีความหมายถึงว่า ไม่ยอมรับฟังคำชี้แนะ ข้อเสนอแนะ คำตักเตือน คำสั่งสอนอันดีงามจากผู้ที่มีความรักความปรารถนาดีต่อตนเอง เป็นการปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับคำสอน เช่น เด็กไม่ฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ นักเรียนไม่ฟังคำตักเตือนของครู เพื่อนปฏิเสธคำตักเตือนของเพื่อน เจ้านายไม่ฟังคำทักท้วงจากลูกน้อง ลูกน้องไม่ฟังคำตักเตือนจากเจ้านาย เป็นต้น ผู้ที่ตกอยู่ในสถานะเช่นนี้ ย่อมมีโอกาสพลาดพลั้งกระทำในสิ่งที่เป็นความชั่ว ความเสียหายได้โดยง่าย


๕. ชั่วเพราะคิดผิด


ข้อนี้ เพ่งถึงความคิดความอ่านที่บุคคลนั้น ๆ ตั้งเอาไว้ในใจ อาจอยู่ในรูปของค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ ความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำ รวมไปถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ หรือสนับสนุนการกระทำของตนให้เกิดความชอบธรรม เช่น ตนเองทำความผิด พอถูกจับได้ไล่ทันก็สร้างเรื่องว่าถูกกลั่นแกล้ง ถูกใส่ร้าย เป็นต้น นอกจากนั้นยังขยายขอบเขตไปถึงความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เชื่อว่าบาป-บุญ คุณ-โทษ นรก-สวรรค์ไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วกลับได้ดี เป็นต้น


ผู้ที่มีความเชื่อ หรือทัศนคติเช่นนี้ ย่อมเปิดช่องให้ทำความชั่วได้โดยง่าย และถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะพฤติกรรมทั้งหมดของคนเรา ล้วนแล้วแต่ออกมาจากความรู้สึกนึกคิดทั้งสิ้น


ในพระบาลี จึงมีพระพุทธพจน์เตือนใจเราไว้ว่า “จิตที่บุคคลตั้งไว้ผิด กระทำอันตรายได้มากกว่าศัตรูผู้มุ่งร้ายต่อเรา” ทั้งนี้เพราะศัตรู ต่อให้เก่งแค่ไหน ก็ทำอันตรายเราเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และเราเองก็สามารถหาทางป้องกันได้ ขณะที่จิตที่ตั้งไว้ผิดนั้นทำอันตรายตลอดชีวิต แม้นตายไปแล้ว ก็ยังสามารถตามเราไปทุกภพทุกชาติตราบเท่าที่เรายังไม่ละวางความเห็นผิดนั้น