เป็นสาวทำงานที่ฉลาด...บริหารเงิน (Lisa ฉ.16/2552)
โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
น.บ. , น.บ.ท. , น.ม. (กฎหมายมหาชน)
ระหว่างที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับ Lisa ฉบับนี้อยู่ (ปลายเดือนมีนาคม) เป็นช่วงเวลาที่คนไทยต้องทำหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีบุคคลธรรมดาประจำปี ซึ่งทำให้ผมมองเห็นวิธีการของแต่ละคนในการปฏิบัติตามหน้าที่พลเมืองไทย เช่น บางคนจ้างเพื่อนร่วมงานหรือฝ่ายการเงินของบริษัทเป็นตัวแทนทั้งกรอกทั้งยื่นการเสียภาษีแทน บางคนก็กรอกเอง จ่ายเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เขาก็ใช้วิธีกรอกข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเลยครับ
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนในที่ทำงานก็คือว่า หลายคนก็จะบ่นว่า “รู้งี้ ทำประกันชีวิตก็ดี จะได้หักลดหย่อน ไม่ต้องจ่ายภาษีแพง” หรือไม่ก็ “แหมแต่งงานแล้ว ก็ดีงี้เนอะ ได้ลดหย่อนภาษีด้วย” โดยเฉพาะประเด็นแต่งงานแล้วได้ลดหย่อนภาษี (กรณีที่สามีไม่มีเงินเดือนประจำ) ก็กลายเป็นเรื่องไว้แซวสาวๆที่ยังโสดในที่ทำงาน แต่พวกเธอก็โต้ตอบได้เจ็บปวดครับ โดยพวกเธอบอกว่า “ยอมจ่ายภาษีแพงๆ ดีกว่าแต่งงานกับผู้ชายที่มีรายได้ไม่แน่นอนค่ะ”
ส่วนคนที่เขาวางแผนการเสียภาษีมาเป็นอย่างดี บางทียื่นแบบไปแล้วได้เงินภาษีคืนอีกครับ ดังนั้น Lisa ฉบับนี้ผมจึงอยากพูดคุยกับคุณผู้อ่าน โดยเฉพาะคุณสาวๆ นักทำงานทั้งหลายว่า การที่คุณทำงานงกๆ หาเงินนั้นคุณควรจะบริหารจัดการการใช้เงินของคุณอย่างไรบ้างให้เป็นสาวฉลาดใช้ชีวิตในแบบฉบับของ Lisa ครับ
อะไรเอ่ย...แก่ง่าย ตายช้า?
คำถามที่ผมจั่วหัวถามคุณผู้อ่านในฉบับนี้ไม่ได้ตั้งใจก้าวร้าวหรือกล่าวหาคุณผู้หญิงซึ่งเป็นเพศแม่หรอกนะครับ เพียงแต่อยากให้คุณผู้อ่านที่เป็นคุณผู้หญิงได้ตระหนักถึงความใส่ใจในการใช้ชีวิตของคุณ ทั้งอาหารการกิน การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ เช่นคุณผู้หญิงส่วนใหญ่มักไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ขับรถเร็ว (บางคนขับช้าจนเป็นภัยทางการจราจรเหมือนกัน เพราะเธอทำให้รถติดทั้งซอยเนื่องจากขับรถแค่ 40 กม./ชั่วโมง) ไม่เครียด (เพราะเธอใช้วิธีการบ่นๆๆๆ กับคนรอบข้าง) สิ่งเหล่านี้เลยทำให้ผู้หญิงมีอายุที่ยืนยาวกว่าผู้ชายที่ส่วนใหญ่ทั้งดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีเรื่องชกต่อย เครียด ฯลฯ ซึ่งอายุที่ยืนยาวของคุณผู้หญิงนี่แหละครับ เป็นเหตุผลที่นักบริหารการเงินทั้งหลายเขาให้คำแนะนำไว้ว่าพวกคุณผู้หญิงทั้งโสดและไม่โสด (เพราะคุณจะให้ผู้ชายเป็นฝ่ายจัดการเงินๆ ทองๆ ทั้งหมดให้คุณและลูกคงเป็นไปไม่ได้)ควรจะต้องวางแผนการเงินตั้งแต่วันที่เริ่มเข้าทำงานเลยครับ
มีใช้...หัดเก็บ
บางคนอาจจะถือคติว่า “เงินทองเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาเอาใหม่” เลยใช้เงินแบบไม่ยั้ง มีแฟชั่นออกมาใหม่ ทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม แบบไหนที่มีในแฟชั่น เธอก็จะวิ่งตามทุกอย่าง แบบนี้ไม่ไหวนะครับ รับรองมีหมื่นใช้หมื่น มีแสนใช้แสน ลองคิดถึงอนาคตบ้างนะครับ อย่างน้อยที่สุดช่วงเวลาปีสองปีนี้ที่เศรษฐกิจทั้งโลกย่ำแย่ อาจจะส่งผลต่อการทำมาหากิน หรือสถานภาพทางด้านหน้าที่การงาน อันส่งผลต่อการเงินของคุณได้นะครับ ดังนั้นคุณควรต้องเก็บเงินสดไว้หน่อยนะครับอย่างน้อยก็ควรมีเงินก้อนสำรองเพื่อเหตุฉุกเฉินโดยอาจจะลองบวกค่าใช้จ่ายรายเดือนของคุณสัก 5-6 เดือนเป็นฐาน ที่สำคัญแม้ว่าคุณจะแต่งงานแล้ว คุณก็ควรมีบัญชีธนาคารเป็นชื่อของคุณไว้บ้างเพื่อเป็นเครดิตของตัวคุณเองเวลาที่จะทำธุรกิจ ธุรกรรมต่างๆ ครับ
ใช้บัตรเครดิต...ให้เป็น
ส่วนบัตรเครดิตนั้นก็รูดใช้แต่สิ่งที่จำเป็นและในกรณีที่ไม่สะดวกใช้จ่ายเป็นเงินสด และไม่ต้องมีหลากหลายบัตรจนเกินไป มันจะเคยมือครับ ที่สำคัญเมื่อสมัครใช้บริการบัตรเครดิตต้องติดตามสอบถามไปยังบริษัทบัตรเครดิต หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ว่าส่งบัตรมาให้คุณหรือยัง เพราะคุณอาจถูกสวมสิทธิ์จากใครก็ไม่รู้ที่ไปเซ็นรับบัตร รวมทั้งเซ็นหลังบัตรเครดิตของคุณ แล้วก็นำบัตรเครดิตในชื่อของคุณไปใช้รูดบัตรซื้อสินค้าต่างๆอิ่มเอมเปรมหฤทัยเลยครับ จนกระทั่งวันหนึ่งคุณอาจได้รับหนังสือแจ้งจากทางบริษัทบัตรเครดิตว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตเรียบร้อยโรงเรียนจ่าไปแล้ว
เช่นเดียวกับสำเนาเอกสารต่างๆ ที่คุณใช้ประกอบการทำธุรกรรมคุณต้องเซ็นทับตัวสำเนาที่เป็นรูปถ่าย แล้วขีดทแยง รวมทั้งระบุไว้ในนั้นเลยนะครับว่า คุณใช้สำเนานี้เพื่อสิ่งใด มิเช่นนั้นอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันกับคุณเหมือนข่าวที่เคยเกิดกรณีแก๊งอาชญากรรมทางเศรษฐกิจไปตระเวนหาสำเนาเอกสารที่มีช่องโหว่ของบุคคลผู้โชคร้ายมาทำบัตรเครดิตครับ ต่อมาเจ้าของบัตรก็เป็นหนี้อ่วมเลยครับ
ถ้าคุณผู้อ่านเจอปัญหาอย่างนี้ต้องรีบแจ้งให้ทางบริษัทบัตรเครดิตให้รับทราบทันทีว่า เราไม่เกี่ยวข้องกับการใช้บัตรเครดิตดังกล่าว เพื่อที่เขาจะได้ทำการตรวจสอบหรือแจ้งความดำเนินคดีเพื่อให้มีการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดต่อไป ซึ่งถ้าบริษัทได้ตัวผู้กระทำความผิดมาก็จะเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เรารอดพ้นจากการเป็นหนี้ที่ไม่ได้ก่อขึ้นนะครับ แต่ถ้าหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ต้องไปพิสูจน์กันในศาลว่าเราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวจริงๆ เสียทั้งเวลาเสียทั้งค่าทนายความ ถ้าต่อสู้คดีไม่ได้แพ้คดียิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นควรป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อนนะครับ
ทำประกันชีวิต...ลดหย่อนภาษี
การทำประกันชีวิตมีประโยชน์มากมายเลยนะครับ เพราะเป็นการประกันอนาคตเมื่อคุณเจ็บป่วย มีอุบัติเหตุ บางกรมธรรม์ยังเป็นประกันแบบเป็นเงินฝากไปในตัวอีก นอกจากนี้คุณผู้หญิงที่ชาญฉลาดในการใช้เงินยังสามารถนำเอาเบี้ยประกันไปหัดลดหย่อนภาษี แต่ต้องเป็นเบี้ยประกันที่มีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไปตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000 บาท (ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ตามจริงแต่ต้องไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย อย่างไรเสียก็ไม่เกิน 40,000 บาทครับ)
นอกจากนี้หากคุณเป็นลูกที่ทำประกันชีวิตให้กับบุพการรีคือพ่อและแม่ หรือคุณพ่อคุณแม่ของสามีหรือภรรยาที่ท่านมีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ คุณก็สามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงครับ แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
ใบหย่าระบุ...ทรัพย์สินที่จะแบ่ง
มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเตือนคุณแม่บ้านทั้งหลายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในเรื่องการซื้อทรัพย์สินกับคุณพ่อบ้าน เช่น บ้านและที่ดินต่าง ๆ ในชื่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเช่นอาจจะใส่ชื่อฝ่ายสามีไว้เพียงฝ่ายเดียว ต่อมาภายหลังเมื่ออยากแยกทางกัน ก็ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน แทนที่จะตกลงในทะเบียนหย่าให้ชัดเจนว่า จะแบ่งสินสมรสอะไรกันบ้าง กลับไประบุในท้ายทะเบียนหย่าแบบง่าย ๆ ว่า “สินสมรสจะไปตกลงกันเอง” หลังจากนั้นฝ่ายชายที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหลายแปลง ได้ตกลงแบ่งคืนบางส่วนให้แก่ฝ่ายหญิงโดยการส่งมอบโฉนดที่ดิน หนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อประกอบการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับฝ่ายหญิง
พอฝ่ายหญิงได้รับโฉนดที่ดินพร้อมเอกสารประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ ก็คิดว่าไม่มีปัญหาจึงไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินทำการตรวจสอบราคาประเมินต่าง ๆ กลับคิดค่าธรรมเนียมอากร ค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ปรากฏว่าต้องใช้จ่ายเงินเป็นล้านถึงจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนมาได้
ดังนั้น ต่อไปนี้ถ้าหากคุณอ่านท่านใด หรือเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องจะหย่าขาดจากคู่สมรส และจะแบ่งสินสมรสประเภทที่ดิน ก็ให้ตกลงกันให้ชัดเจนในท้ายทะเบียนหย่าไปเลยครับ เพราะเวลาไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน สามารถเปลี่ยนจากชื่อฝ่ายหนึ่งเป็นอีกฝ่ายหนึ่งได้เลยครับ โดยไเสียค่าธรรมเนียมนิดหน่อย
ผมหวังว่าเนื้อหาในคอลัมน์ฉบับนี้คงพอทำให้คุณผู้อ่านได้สติในการบริหารจัดการทั้งรายรับและรายจ่าย โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เกิดวิกฤตการเงินไปทั่วโลกอย่างนี้ ซึ่งคนที่จะอยู่ได้คือคนที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยอย่างพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไปครับ

ขอขอบคุณ อ.ประมาณ เจ้าของกระทู้ครับ