กฎหมายเกี่ยวกับพลุและดอกไม้ไฟ (Lisa ฉ.2 / 2553)
โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
น.บ. , น.บ.ท. , น.ม. (กฎหมายมหาชน)
ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆของไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมกราคม พลุและดอกไม้ไฟเป็นการละเล่นหนึ่งที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างซื้อหามาจุดเพราะหลงใหลในแสงสว่างและความสวยงามของลูกไฟสีต่าง ๆ ที่พุ่งขึ้นไปและแตกตัวกลางท้องฟ้ายามค่ำคืนซึ่งช่วยเติมสีสัน เติมความสนุกสนานและเพิ่มบรรยากาศให้งานรื่นเริงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีครับ แต่ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะนิยมเล่นพลุและดอกไม้ไฟแค่ไหนก็ตาม ถ้าคุณผู้อ่านไม่ระมัดระวังในการเล่นเท่าที่ควร ก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งตัวคุณเองและคนรอบข้างได้ ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์ไว้เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

พลุและดอกไม้ไฟ...เป็นวัตถุระเบิด

พลุและดอกไม้ไฟจัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่งนะครับเพราะมีดินปืนเป็นส่วนประกอบหลัก ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดไว้ว่าสถานประกอบการหรือโรงงานผลิตพลุ ดอกไม้ไฟต้องตั้งอยู่ห่างจากแหล่งชุมชนและได้รับใบอนุญาตการผลิตสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่การผลิต การเก็บรักษา และการขนย้ายพลุ ดอกไม้เพลิง ห้ามดัดแปลงที่พักอาศัยเป็นโรงงานผลิตพลุ ดอกไม้ไฟ ตลอดจนห้ามทำการใดๆที่ก่อให้เกิดประกายไฟในบริเวณที่ผลิตหรือจัดเก็บพลุ ดอกไม้ไฟเป็นอันขาด รวมถึงไม่ควรเร่งผลิตพลุ ดอกไม้ไฟตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์การควบคุมและกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547 เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะทำให้เกิดเพลิงไหม้หรือระเบิดจนก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินครับ

แนวทางปฏิบัติของร้านค้า
ร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการซื้อขายพลุและดอกไม้ไฟจำเป็นต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อย่างเคร่งครัด คือ

1. ร้านค้าที่มีพลุหรือดอกไม้เพลิงไว้เพื่อเก็บและจำหน่ายในร้านค้า ต้องมีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดโดยไม่รวมวัสดุห่อหุ้มไม่เกิน 50 กิโลกรัม
2. ต้องมีที่เก็บเป็นสัดส่วนโดยมีชั้นเก็บเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีช่องให้อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี ห้ามวางดอกไม้เพลิงทับหรือซ้อนกันจำนวนมาก
3. ต้องไม่วางดอกไม้เพลิงปะปนกับสินค้าอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ง่ายต่อการติดไฟ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ก๊าซ ไม้ขีดไฟ เป็นต้น
4. ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพและให้มีจำนวนตามที่นายทะเบียนกำหนด
5. ร้านค้าดอกไม้เพลิงสามารถจำหน่ายได้เฉพาะภายในเวลา 06.00 – 18.00 น. และจะต้องจำหน่ายในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

หากร้านค้าใดไม่ปฏิบัติตามนี้ นายทะเบียนท้องที่จะพิจารณาเกี่ยวกับการขอต่อใบอนุญาตในปีต่อไป สำหรับร้านค้าซึ่งจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่สำคัญหากผู้ที่ซื้อไปเล่นนำไปก่อเหตุตามความผิดทางอาญา เช่นไปทำให้บ้านใครเกิดเพลิงไหม้ ไปทำให้ใครได้รับอันตรายทางร่างกาย ฯลฯ คุณผู้เล่นก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งทางแพ่งและอาญาเลยนะครับ

ผู้เล่น...ก็ต้องระวัง

สำหรับผู้เล่นพลุและดอกไม้ไฟก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การเล่นของคุณเป็นความผิดทางอาญาตามมา เพราะนอกจากจะต้องรับผิดทางอาญาถึงขั้นจำคุกแล้ว หากเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ก็อาจถูกลงโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตเลยทีเดียว นอกจากนี้คุณยังต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดอีกชั้นด้วย และหากเศษของพลุหรือดอกไม้ไฟทำให้ทางสาธารณะหรือสถานที่สกปรก คุณก็ต้องรับโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 อีกด้วยนะครับ...จำไว้เลย

ขอขอบคุณ อ.ประมาณฯและทีมงานครับ