กำลังแสดงผล 1 ถึง 3 จากทั้งหมด 3

หัวข้อ: กฤษณา Eagle Wood

Threaded View

คำตอบที่แล้วมา คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป คำตอบถัดไป
  1. #1
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    กฤษณา Eagle Wood





    Eagle Wood
    Aquilaria crassna Pierre ex H. Lee
    THYMELAEACEAE






    เราเคยเห็นชาสมุนไพรใบกฤษณา ใส่เป็นกล่องไว้ ข้างในเป็นถุงฟอยด์อบไว้อย่างดี
    เปิดถุงฟอยด์ออกมา พบว่ามีแต่ใบกฤษณาล้วนๆ อ่านในกล่องดูจึงรู้ว่าไว้บรรเทาอาการของความดันโลหิตสูง ก็เลยถึงบางอ้อค่ะ


    เราเคยรู้ว่าว่าไม้กฤษณาเป็นไม้ราคาแพงมาก นำไปทำน้ำหอม เพิ่งมาเห็นว่าใช้ใบมาทำยานี่แหละค่ะ


    ก็เลยมีความรู้สึกว่าเราน่าจะปลูกไว้เอง แล้วนำใบมาอบแห้งได้เอง แล้วแพคใส่ถึงพลาสติกไม่ให้อากาศเข้าได้ เพราะที่เขาขายกล่องหนึ่งห้าร้อยบาท ถ้าเราปลูกได้คงใช้ได้ทุกส่วนเลยละค่ะ และนำไปแบ่งขายได้ดีด้วย ถือได้ว่าเป็นพืชสมุนไพรและเป็นพืชเศรษฐกิจได้ดีทีเดียว เราลองมาดูว่า กฤษณามีประโยชน์อะไรบ้างนะคะ





    กฤษณา Eagle Wood




    กฤษณา Eagle Wood

    ชื่ออังกฤษ : Eagle Wood, Lignum Aloes, Agarwood, Aloe Wood, Calambac, Aglia, Akyaw.

    ชื่อตามพฤกษศาสตร์ : Aquilaria crassna Pierse

    ชื่อวงศ์ : Thymelaeaceae

    คำว่า Aquilaria มาจากภาษาลาติน และภาษา อัคคาเดียน คือ "Aquila" หรือ "aquilae" (ภาษาลาติน) หมายถึง นกอินทรีย์ "ekle" (ภาษาอัคคาเดียน) หมายถึง ดำ ,เข้ม, กลางวัน ไม้สกุล Aquilaria นี้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 25 ชนิด แต่ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ชนิด คือ



    1. Aquilaria malaccensis
    2. Aquilaria crassna
    3. Aquilaria subintegra
    4. Aquilaria hirta



    กฤษณา Eagle Wood



    Aquilaria malaccensis
    ชื่อพื้นเมือง ไม้หอม




    ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 40 เมตร ลำต้นเปลา เปลือกเรียบ สีเทาหรือขาว ใบเดี่ยวรูปรีหรือ รูปไข่กลับ กว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นคลื่นม้วนเล็กน้อย แผ่นใบบางเรียบ ด้านบนใบมัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ออกดอกด้านข้างกิ่ง ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลือง กลีบดอกรวมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ มีขนอ่อนปกคลุมทั่วไป ผล รูปไข่ ปลายมน


    แหล่งอาศัย ตามป่าชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ทั่วไป

    แหล่งที่พบในประเทศไทย พบมากทางภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตรัง

    แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ อินเดีย พม่า มาเลเซีย




    Aquilaria crassna

    ชื่อพื้นเมือง กฤษณา



    ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรง เปลือกเรียบ ใบและดอกลักษณะเหมือน Aquilaria malaccensis แต่ปลายผลเป็นติ่งเล็กน้อย มีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองตามผิวผลหนาแน่น ฐานผลติดอยู่บนกลีบรวม ซึ่งมีแฉกของส่วนยาวกว่ากลีบส่วนล่างที่ติดกันคล้ายรูประฆัง และแฉกของกลีบรวมหุ้มแนบ

    แหล่งอาศัย ขึ้นกระจายทั่วไปตามพื้นที่เป็นสันดอนไม่มีน้ำขังในป่าดงดิบ ซึ่งส่วนใหญ่พบในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้นจันทบูรณ์ ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ผลแก่ช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม

    แหล่งที่พบในประเทศไทย นครนายก, ปราจีนบุรี, จันทบุรี, ตราด

    แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม




    Aquilaria subintegra

    ชื่อพื้นเมือง กาฮารู



    ลักษณะทั่วไป เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร ใบรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ใบยาว 19-27.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นแบบกระดาษมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั่วไป ดอกออกเป็นช่อตรงง่ามกิ่ง มี 8-20 ดอก ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้ง รูปยาวเรียว

    แหล่งอาศัย พบตามป่าชุมชื้น สูงกว่าระดับน้ำทะเล 300-500 เมตร

    แหล่งที่พบในประเทศไทย ปัตตานี, นราธิวาส

    แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ มาเลเซีย




    Aquilaria hirta

    ชื่อพื้นเมือง จะแน





    ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 14 เมตร ใบเดี่ยวปลายใบแหลม โคนใบมนขอบขนาน ความยาวของใบ 6.5-14 เซนติเมตร กว้าง 2.5-5.5 เซนติเมตร มีขนอ่อนขึ้นปกคลุมใบ ดอกออกตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน มีขนขึ้นปกคลุม ดอกบานช่วงเดือนมีนาคม ผลเรียวแหลมคล้ายหอกและมีติ่งยื่นออกมา

    แหล่งอาศัย พบขึ้นตามที่ราบ

    แหล่งที่พบในประเทศไทย นราธิวาส

    แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ มาเลเซีย





    รูปลักษณะ




    กฤษณา Eagle Wood


    กฤษณา Eagle Wood




    กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21เมตรขึ้นไป วัดโดยรอบลำต้นยาวประมาณ1.5-1.8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ต่ำๆ หรือรูปกรวย ลำต้นตรง มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก เปลือกนอกเรียบสีเทาอมขาว เนื้อไม้อ่อนสีขาว เปลือกหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป เปลือกนอกจะปริเป็นร่องเล็กๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลือง



    ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว รูปมน รูปไข่กลับหรือรูปยาวขอบขนานออกเรียบสลับกัน เนื้อใบเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร ใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน แต่ใบอ่อนสั้นและคล้ายไหม


    ดอก สีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็กๆ มีกลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศเกิดที่ง่ามใบหรือยอด เป็นแบบ Axillary หรือTerminal umbles ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ตามง่ามใบและดอก ออกดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน

    ผลแห้ง รูปวงรี เปลือกแข็ง มีขนสีเทา เมื่อแก่จะแตก กลีบเลี้ยงเจริญติดอยู่กับผล

    ลักษณะของเนื้อไม้ ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งเนื้อไม้ปกติ และเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา ซึ่งคนไทยรู้จักจำแนกความแตกต่างมาแต่โบราณแล้ว ดังกล่าวถึงในมหาชาติคำหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ. 2025 ว่ามีทั้งกฤษณาขาว และกฤษณาดำ ซึ่งมีเนื้อไม้หอม


    เนื้อไม้กฤษณา ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดซักเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำจะทนทานพอประมาณ เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ในการผึ่งจะมีการปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะ ทำให้ไม้เสียสี (กรมป่าไม้, 2486)


    ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่างๆ ของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว (Resin) อยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ Dihydroagarofuran, b. Agarofuran, a-Agarofuran, Agarospirol และ Agarol (มีชัย, 2532)





    ประวัติ



    ไม้หอมกฤษณา เป็นไม้หอมที่มีคุณค่ามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เป็นหนึ่งในของหอมธรรมชาติ 4 อย่าง เรียกว่า จตุชาติสุคนธ์ ที่ใช้เผาและประพรมในพิธีกรรมต่างๆ เป็นเครื่องประทินผิว และใช้เข้าเครื่องยาหอมมาแต่อดีต รวมทั้งส่งเสริมเป็นเครื่องราชบรรณการและเป็นสินค้าส่งออกที่ขึ้นชื่อของสยาม ถึงขนาดพระเจ้ากรุงสยาม คือ พระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้ผูกขาดการค้าไม้กฤษณาให้ซื้อขายจากหลวง และได้ผูกขาดต่อเนื่อง ทำรายได้แก่ประเทศชาติมาหลายยุคหลายสมัย เพิ่งมายกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้ไม้กฤษณาถูกลักลอบโค่นลงเป็นจำนวนมาก เพื่อนำแก่นไม้หอมอันมีราคาสูงไปจำหน่ายยังประเทศกลุ่มอาหรับ


    ไม้กฤษณาชนิดที่ดีที่สุดในโลกนั้น พบหลักฐานในสมัยอยุธยา ในจดหมายของบริษัทอินเดียตะวันออก พ.ศ. 2222 ระบุว่าคือไม้หอมกฤษณาจากบ้านนา (Agillah Bannah) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก ชนิดนี้พบมากแถวบริเวณกัมพูชา แต่ในปัจจุบันไม้กฤษณาคุณภาพดีที่สุดได้จากเขาใหญ่ ซึ่งเคยมีมากแถบดงพญาไฟ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไม้หอมเพื่อการส่งออกมาแต่อดีต การหาไม้กฤษณาจะมาจากบ้าน บุเกษียร ลำคลองกระตุก บุตาชุ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นทุ่งหญ้า อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในทางศาสนาพุทธ มีประวัติกล่าวไว้ว่า เมื่อพุทธเจ้าประสูติ พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือดอกบัว เช่น เดียวกับพระกฤษณะ และพระหัตถ์อีกข้างหนึ่งถือไม้กฤษณา คำว่า "กฤษณะ" หมายถึงผู้ที่มีผิวดำ ส่วน "กฤษณา" จะหมายถึง เนื้อไม้ส่วนที่มีสีดำสะสมเป็นสารกฤษณา


    จากตำนานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ในทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู พอที่จะกล่าวไว้ว่า กฤษณาเกี่ยวข้องกับคำว่า กฤษณะ หรือมาจากคำว่า "กฤษณะ" เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ซึ่งเป็น เทพผู้รักษา ดังนั้นในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู และ ศาสนาพุทธ รวมทั้งในศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ จึงให้ความเคารพไม้กฤษณาว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ต้องปกป้องรักษาไว้ และมีการใช้ ไม้กฤษณาในพระราชพิธีต่าง ๆ
    การปลูกไม้กฤษณาจึงถือเป็นสิริมงคลของชีวิตเสมือนการจุดธูปหลายล้านดอก และสมควรที่จะใช้ประโยชน์จากไม้กฤษณาปลูกเท่านั้น เพราะปัจจุบันไม้กฤษณาปลูกสามารถกระตุ้นให้หลั่งสารกฤษณาได้ เร็วกว่าที่เกิดในธรรมชาติถึง 10 เท่า และมีศักยภาพสูงมากพอในเชิงเศรษฐกิจ


    ไม้กฤษณา เป็นตำนานที่กล่าวขวัญกันมาช้านาน ทั้งในฐานะ "ของที่มีค่าหายาก" เป็นที่ต้องการของสังคมชั้นสูงทั่วโลกและ "ราคาแพงดั่งทองคำ" ควบคู่กับประวัติของพระพุทธเจ้า น่าเสียดายที่ "ไม้กฤษณา" เป็นสินค้าต้องห้ามสำหรับประชาชนทั่วไปเพราะมีกฎหมายให้ค้าขายได ้เฉพาะกษัตริย์มาตั้งแต่โบราณ ตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา อันที่จริงเราส่งไม้กฤษณาทั้งที่เป็นเครื่องราชบรรณาการและเป็นสินค้าไปเมืองจีนมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย และเป็นที่ต้องการของราชสำนักจีนมาก นอกจากจีนและญี่ปุ่นแล้ว เรือสำเภาที่มาค้าขายจากฝั่งตะวันตกก็ยังได้นำเอาสรรพคุณของกฤษณาทั้งด้านความหอมและสรรพคุณสมุนไพร ขจรไกลไปถึงคาบสมุทรอาหรับในตะวันออกกลางและยังไปถึงอาณาจักรกรีก โรมัน อียิปต์โบราณ ไม้กฤษณาที่เป็นสินค้าซื้อขายกันแพงๆ เป็นผลิตผลจากต้นกฤษณาซึ่งมีเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ไม้กฤษณาจึงเป็นสัญลักษณ์ของตะวันออกและสุวรรณภูมิหรือประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายมาช้านาน




    ลักษณะโดยทั่วไป

    กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21เมตรขึ้นไป วัดโดยรอบลำต้นยาวประมาณ1.5-1.8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ต่ำๆ หรือรูปกรวย ลำต้นตรง มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก เปลือกนอกเรียบสีเทาอมขาว เนื้อไม้อ่อนสีขาว เปลือกหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป เปลือกนอกจะปริเป็นร่องเล็กๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลือง


    ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว รูปมน รูปไข่กลับหรือรูปยาวขอบขนานออกเรียบสลับกัน เนื้อใบเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร ใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน แต่ใบอ่อนสั้นและคล้ายไหม
    ดอก สีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็กๆ มีกลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศเกิดที่ง่ามใบหรือยอด เป็นแบบ Axillary หรือTerminal umbles ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ตามง่ามใบและดอก ออกดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน


    ลักษณะของเนื้อไม้ ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งเนื้อไม้ปกติ และเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา ซึ่งคนไทยรู้จักจำแนกความแตกต่างมาแต่โบราณแล้ว ดังกล่าวถึงในมหาชาติคำหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ. 2025 ว่ามีทั้งกฤษณาขาว และกฤษณาดำ ซึ่งมีเนื้อไม้หอม


    เนื้อไม้กฤษณา ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดซักเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำจะทนทานพอประมาณ เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ในการผึ่งจะมีการปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะ ทำให้ไม้เสียสี (กรมป่าไม้, 2486)


    ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่างๆ ของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว (Resin) อยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ Dihydroagarofuran, b. Agarofuran, a-Agarofuran, Agarospirol และ Agarol (มีชัย, 2532)



    การปลูกไม้กฤษณา

    การปลูกไม้กฤษณา ไม้กฤษณาเป็นไม้ในป่าเมืองร้อนที่ปลูกง่าย ปลูกได้ในดิน หลายชนิด ทั้งดินเหนียว ดินร่วน และดินร่วนปนทราย ฯลฯ และปลูกได้ทุกภาค ของประเทศไทย มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว และสม่ำเสมอ จึงมีอายุยืนยาว หลายสิบปี เนื่องมาจากพันธ์กฤษณาได้มาจากการเพาะเมล็ด จึงมีระบบรากแก้ว ลึกลงไปในแนวดิ่ง มีรากแขนงและรากฝอยหาอาหารในระดับผิดดินดี พันธ์ไม้กฤษณาที่ปลูกควรมีความสูง 50 - 80 เซนติเมตรขึ้นไปหรือมีอายุอย่าง น้อย 8 เดือน ถึง 1 ปี




    ระยะการปลูกแบ่งตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

    ระยะปลูก 2 เมตร x 2 เมตร จะได้ต้นไม้หอม จำนวน 400 ต้น/ไร่

    ระยะปลูก 2 เมตร x 4 เมตร จะได้จำนวน 200 ต้น/ไร่ เพื่อป้องกันแดด และดูดซับน้ำระหว่างแถวควรปลูกกล้วย ในระหว่างที่รอผลผลิตจากไม้หอมสามารถขายกล้วยเป็นเงินหมุนเวียนได้

    ระยะปลูก 4 เมตร x 4 เมตร จะได้จำนวน 100 ต้น/ไร่ เหมาะสำหรับผู้ปลูกที่มีการปลูกไม้ล้มลุก หรือพืชผักได้ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มระหว่างรอผลผลิตไม้หอม



    ระยะปลูก เป็นพืชแซมกับสวนผลไม้หรือสวนไม้เศรษฐกิจอื่นๆ ต้องตามสภาพความเหมาะสม ความสะดวกในการดูแลรักษา



    การตัดแต่งกิ่ง

    การตัดแต่งกิ่ง ไม้กฤษณาส่วนมากจะแตกยอดออกเป็น 2 กิ่ง ควรตัดกิ่งที่มีใบใต้กิ่งออก จากนั้น ไม้กฤษณาจะมีกิ่งแขนงออกมาตามลำต้น ควรเก็บไว้เพื่อให้ไม้กฤษณา จะมีการสังเคราะห์แสงและปรุงอาหารหล่อเลี้ยงลำต้นได้ดีและจะมีลำต้นอ้วนใหญ่สมบูรณ์หลังจากลำต้นสูงใหญ่แล้วก็ค่อยๆ ตัดออกให้สมส่วนกับลำต้น แต่ถ้าไม่มีการตัดกิ่งจะทำให้ลำต้นเตี้ย กิ่งมาก โค่นล้มง่าย และการกระตุ้นสารไม่ดี



    การใส่ปุ๋ย

    การใส่ปุ๋ย ในพื้นที่ที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ควรใส่มูลวัว มูลควาย ในช่วงกล้าไม้อายุตั้งแต่ 1-3 ปี ในอัตราส่วน 1-3 ก.ก./ต้น/เดือน หลังจาก 3 ปีแล้ว ก็ใส่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5 ก.ก./ต้น ควรใส่ในฤดูฝน เมื่อไม้หอมมีอายุ 3 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ในพื้นที่ ที่อุดมสมบูรณ์ก็แทบจะไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย




    การกำจัดวัชพืชต่างๆ


    การกำจัดวัชพืชต่างๆ ที่อยู่ใกล้โคนไม้หอมโดยการตัด หรือถางออก หรือใช้ผ้ายางขนาด 1 ม. X 1 ม. คลุมบริเวณโคนต้นแล้วสังเกตว่าวัชพืชเริ่มตายแล้วก็เอาผ้ายางออก เพราะถ้าคลุมไว้นาน จะเกิดเชื้อราโคนเน่าได้ แต่ไม่ควรใช้ยากำจัดวัชพืชโดยเฉพาะที่เป็นยาดูดซึม เช่น ไกลโฟเซต หรือยาคุมต่างๆ ส่วนศัตรูพืชที่สำคัญของไม้หอมในระยะ 1-3 ปี ได้แก่หนอนกินใบ หรือแมลงกินใบ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากผีเสื้อมาไข่ไว้บริเวณใบยอดของลำต้น ถ้าสังเกตจะมีใยสีขาวอยู่บริเวณใต้ใบเมื่อตัวอ่อนฟักตัวออกมาก็จะกินใบอ่อนของไม้หอมแทบหมดต้นทำให้ต้นไม้หอมชะงักการเจริญเติบโต มีวิธีป้องกันได้โดยหมั่นสังเกต และตรวจดูว่ามีใยสีขาว หรือมีแมลงรบกวนก็ควรฉีดยาจำพวกเซปวิน 85 หรือยาพวกถูกตัวแมลงหรือหนอนแล้วตาย แต่ถ้าไม้หอมมีอายุตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไปส่วนใบไม้หอมขมมาก บางแห่งจะมีแมลงมาเจาะลำต้นในขณะที่ไม้หอมยังเล็กอยู่ (อายุ 1 - 2 ปี) ซึ่งไม้หอมยังไม่พร้อมให้แมลงเจาะเพราะจะทำให้ลำต้นหักโค่น หรือตายได้จึงสมควรกำจัดแมลงในช่วงนี้ด้วย แต่เมื่อไม้หอมอายุ 3 ปีขึ้นไป ถ้ามีแมลงเจาะลำต้น ซึ่งสังเกตได้จากมีขี้ขุยไม้กลมๆ สีขาวหล่นมาบริเวณโคนต้นคล้ายๆ เม็ดปุ๋ย นั่นแสดงว่าแมลงเริ่มทำงาน หรือเริ่มเจาะไม้หอมซึ่งจะทำให้เกิดน้ำมัน หรือสารกฤษณาขึ้นมาภายหลัง ฉะนั้นห้ามทำลายแมลงช่วงนี้โดยเด็ดขาด ส่วนศัตรูที่สำคัญของไม้หอมในช่วงเล็กๆ คือ พวกเชื้อราที่ทำให้เกิดโคนเน่า ราใบติด หรือเชื้อราลำต้น ซึ่งเมื่อไม้หอมแยกไปปลูกแล้ว จะเกิดเชื้อราน้อยมาก ยกเว้นพื้นที่แฉะ และน้ำท่วมขัง ป้องกันโดยทำร่องระบายน้ำไม่ให้น้ำท่วมขัง แต่เมื่อไม้หอมอายุ 3 ปี ไปแล้วก็ไม่ต้องใช้ยา




    การใช้ประโยชน์จากกฤษณาในทางยา

    คนไทยรู้จักใช้มานานแล้ว ดังปรากฏในตำรายาพระโอสถสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2202 กล่าวถึงตำรายาที่เข้ากฤษณาหลายชนิด เช่น "มโหสถธิจันทน์นั้นเอาสมุลแว้ง ดอกมะลิ สารภี พิกุล บุนนาค เกสรบัวหลวง เกสรสัตบงกช จันทน์ทั้ง 2 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก แฝกหอม ตะนาว (ชื่อกระแจะเครื่องหอม) เปราะหอม โกฐหัวบัว เสมอภาค น้ำดอกไม้เป็นกระสาย บดทำแท่งละลายน้ำซาวข้าว น้ำดอกไม้ ก็ได้ รำหัดพิมเสนชโลม ถ้ากินแรกขัณฑสกรลงด้วย แก้พิษไข้สันนิบาต อาการตัวร้อนหนัก สรรพไข้ทั้งปวงหายสิ้นแลฯ" หรือใน "ตำรายาทรงทาพระนลาต แก้พระโลหิตกำเดา อันประชวรพระเจ้านัก ให้เอา กฤษณา อบเชยเทศ รากมะลิ รากสลิด รากสมี ชะมด ลดด้วยน้ำดอกไม้เทศ น้ำดอกไม้ไทยก็ได้ รำหัดพิมเสนลง ทรงทาหายแลฯ" เป็นต้น


    ตำราพระโอสถรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2355 กล่าวถึงตำรายาที่เข้ากฤษณา หลายชนิด เช่น "ยาชื่อมหาเปราะ เอาดอกบุนนาค กฤษณา กะลำพัก ผิวมะกรูด ว่านน้ำ การบูร ไคร้หอม หอมแดง สิ่งละส่วน เปราะหอม 3 ส่วน ทำเป็นจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำดอกไม้แทรกพิมเสน ทั้งกิน ทั้งชโลม ทาก็ได้ แก้พิษลมซางทั้ง 7 จำพวก แลสรรพทางอันจรมานั้น หายสิ้นดีนัก"


    นอกจากกฤษณาจะเข้ายาแก้ซาง ดังปรากฏในตำรายาชื่อมหาเปราะดังกล่าว ยังมีคุณประโยชน์ คือ กฤษณาจะเข้ายากำลังราชสีห์ กินบำรุงโลหิต หรือเข้ายาชื่อแดงใหญ่ แก้สรรพต้อมีพิษ แก้จักษุแดง เป็นต้น


    ตำรายาสมัยต่อมา ก็ปรากฏตำรายาที่เข้ากฤษณาอีกมากมายหลายชนิด เช่น ตำรายาหอมของนายพันไท หม่อมเจ้ากรรมสิทธิ์ กล่าวถึงการใช้กฤษณาเข้ายาอินทโอสถ แก้ไข แก้สลบ แก้หืด แก้ริดสีดวง แก้ฝีในท้อง จำเริญอาหาร จำเริญธาตุ จำเริญพระชมน์ เป็นต้น ตำรายาไทยระบุว่า กฤษณารสขมหอม สุขุม คุมธาตุ บำรุงโลหิตในหัวใจ (อาการหน้าเขียว) บำรุงหัวใจ บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด แก้ลมซาง แก้ไข้ อาเจียน ท้องร่วง บำบัดโรคปวดตามข้อ ตำรับยาที่เข้ากฤษณามีหลายชนิด เช่น ตำรายาเด็กในคัมภีร์ปฐมจินดา กล่าวว่ากฤษณาจะเข้ายาแก้ซาง แก้ไข้ แก้พิษ เช่น ยาแดง ยาคายพิษ ยาทาลิ้น ทาแก้เสมหะ ยาแก้ไข และยาล้อมตับดับพิษ ยากวาดแก้ดูดนมมิได้ ยาหอมใหญ่ แก้ซาง แก้ไข้ ยาเทพมงคล ยาสมมติกุมารน้อย ยาสมมติกุมารใหญ่ ยาอินทรบรรจบ ยาแก้ซางเพลิง ยาแก้ท้องเสีย แก้บิดในเด็ก เป็นต้น ส่วนในพระคัมภีร์มหาโชติรัตน์ว่าด้วยโรคระดูสตรี กฤษณา จะเข้ายาบำรุงโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษ เช่น ยาอุดมโอสถน้อย-ใหญ่ ยาเทพรังสิต ยาเทพนิมิต กฤษณาจะเข้ายาบำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงกาม เพื่อให้ตั้งครรภ์ เช่น ยากำลังราชสีห์ ในคัมภีร์ธาตุบรรจบ กฤษณายังเข้ายาเทพประสิทธิ์ ใช้แก้ลม แก้สลบ แก้ชัก ปัจจุบันตำรับยาที่เข้ากฤษณาก็ยังมีอยู่ เช่น ยากฤษณากลั่น แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่น รวมทั้งยาหอมแทบทุกชนิด เช่น ยาหอมตราห้าเจดีย์ ยาหอมตราฤาษีทรงม้า ล้วนแต่มีส่วนผสมของกฤษณาทั้งสิ้น (สุภาภรณ์, 2537)


    ปัจจุบันมีตำรายาที่เข้ากฤษณาอยู่หลายชนิด เช่น ยากฤษณากลั่นตรากิเลน ใช้บำบัดอาการปวดท้อง ท้องเสีย จุกเสียด แน่น หรือยาหอมที่เข้ากฤษณาก็มีอยู่หลายขนาน มีสรรพคุณ คือ ใช้แก้ลม วิงเวียนจุกเสียด หน้ามืดตาลาย คลื่นเหียน อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ ขับลมในกระเพาะลำไส้ บำบัดโรคปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ยาหอมสุคนธโอสถตราม้า มีตัวยาที่สำคัญ คือ กฤษณา โกฐหัวบัว โกฐพุงปลา ชะเอม สมุลแว้ง ชะมด พิมเสน อบเชย กานพลู ฯลฯ ยาหอมตรา 5 เจดีย์ มีตัวยาสำคัญหลายชนิด คือ กฤษณา ชวนพก [Magnolia officinalis Rehd. Et wils] โกฐสอ กานพลู เกล็ดสะระแหน่ อบเชย โกฐกระดูก พิมเสน โสยเซ็ง [Asarum sieboldii Miq.] ฯลฯ ยาหอมทูลฉลองโอสถ ประกอบด้วยตัวยาที่สำคัญ คือ กฤษณา โกฐสอ โกฐเชียง ฯลฯ ยาหอมตราเด็กในพานทอง ตัวยาสำคัญ คือ กฤษณา กานพลู สมุลแว้ง ดอกบุนนาค โกฐหัวบัว ฯลฯ ยาหอมหมอประเสริฐ ตัวยาสำคัญ คือ กฤษณา จันทร์เทศ ผิวส้มจีน เกล็ดสะระแหน่ ฯลฯ


    ตำราจีน กฤษณาจัดเป็นยาชั้นดี มีรสเผ็ดปนขม ฤทธิ์อ่อน ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน รักษาอาการปวดแน่นหน้าอก แก้หอบหืด เสริมสมรรถภาพทางเพศ แก้โรคปวดบวมตามข้อ ขับลมในกระเพาะอาหาร ปัจจุบันได้นำกฤษณาไปผลิตยารักษาโรคกระเพาะที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง คือ จับเชียอี่ (สุภาภรณ์, 2537)




    ประโยชน์ของกฤษณา


    แบ่งตามคุณภาพได้ดังนี้คือ


    ไม้ลูกแก่น เป็นไม้คุณภาพดีที่สุด สีดำสนิท ใช้เผาให้เกิดกลิ่นหอม สูดดมแล้วเกิดกำลังวังชา และถือเป็นมงคล ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา อิสลามในสุเหร่า หรือตามบ้านอภิมหา-เศรษฐี หรือต้อนรับอาคันตุกะพิเศษ


    ไม้ปากขวาน (มีคุณภาพสูงกว่าไม้ตกตะเคียน เกิดจากการฟันต้นไม้ ทิ้งไว้ราว 3 ปี มีสีเกือบดำ ถ้าทิ้งไว้เป็นร้อยปีมีสีดำสนิท เป็นไม้เกรด หนึ่ง) จะนำมากลั่นเป็นหัวน้ำหอม โดยนำเนื้อไม้มาป่น เป็นเส้นเท่าเข็มเย็บผ้า ความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร นำไปตากแห้ง แล้วแช่น้ำไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วนำไปต้มกลั่นด้วยระบบควบแน่น เพื่อให้ได้หัวน้ำหอมบริสุทธิ์ มีสีดำ บรรจุขวดขนาด 1 โตลา หรือ 12.5 ซีซี น้ำหนักประมาณ 11.7 กรัม ราคาในประเทศไทยโตลาละประมาณ 2,500 บาท (มนตรี, 2537) น้ำมันหอมระเหยจากกฤษณานี้ใช้ใน อุตสาหกรรมผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอาง ผู้ผลิตน้ำหอม ชาวยุโรปยังสั่งซื้อในราคาสูง เพื่อปรุงแต่งทำน้ำหอมให้มีคุณภาพดี ยิ่งขึ้น ติดผิวกายได้นานขึ้น ส่วนชาวอาหรับจะนิยมใช้น้ำมันหอม มาทาตัว เป็นเครื่องประทินผิว ติดผิวหนังนาน ป้องกัน ตัวแมลงต่าง ๆ ได้อย่างดี นอกจากนั้นยังใช้อุตสาหกรรมเข้าเครื่องยาต่าง ๆ หลายชนิด ส่วนกาก ที่เหลือก็นำไปทำธูปหอมหรือยาหอม


    ไม้ตกตะเคียน เป็นไม้คุณภาพรองลงมา(เกิดจากการตัดฟันทิ้งไว้ 6-7 เดือน จนเนื้อไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงน้ำตาลเข้ม)



    ปัจจุบันประเทศที่นิยมใช้กฤษณามากคือ แถบตะวันออกกลาง และบางประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งมีความต้องการใช้กฤษณาและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น น้ำหอม สาเหตุที่ชาวมุสลิมแถบตะวันออกกลาง นิยมใช้ไม้กฤษณาเพราะศาสนาอิสลามบัญญัติห้ามชาวมุสลิมดื่มสุรา และใช้เครื่องสำอางที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม แต่ให้ใช้เครื่องสำอางและน้ำหอมที่ผลิตได้จากสมุนไพรเท่านั้น ชาวมุสลิมจึงได้นำเอาแก่นกฤษณาหรือไม้สับ (ไม้ที่มีกฤษณาแทรกอยู่ในเนื้อไม้ สีน้ำตาลอ่อน) มาเผาด้วยถ่านหินในเตาขนาดย่อม ที่ออกแบบสวยงามเป็นพิเศษ สำหรับการเผาไม้กฤษณาโดยเฉพาะ เพื่อให้ควันและกลิ่นหอมของกฤษณาติดผิวหนัง หรือสูดดมควันเพื่อเป็นยา รักษาโรคหัวใจ และกลิ่นนั้นสามารถ ป้องกันแมลงหรือไรทะเลทรายมากัดจนเกิดแผลพุพองได้ ชาวมุสลิมที่มีฐานะดี นิยมปรุงแต่งผิวกายด้วยน้ำหอมจากไม้กฤษณา ให้เป็นกลิ่นหอมประจำตัว เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร จากความนิยมมีน้ำหอมเฉพาะตัวเช่นนี้ ทำให้ได้กลิ่นก็สามารถบอกได้ว่าเป็นบุคคลใดทั้ง ๆ ที่ยังไม่เห็นตัว รวมถึงการใช้ไม้กฤษณาต้อนรับแขกผู้มาเยือน ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติแขกอย่างสูง อันเป็นวัฒนธรรมของชนชาวมุสลิมแถบตะวันออกกลาง




    ประโยชน์อย่างอื่นของกฤษณา


    เปลือก ให้เส้นใย ใช้ทำเสื้อผ้า ถุงย่าม ที่นอน เชือก และกระดาษ

    ด้านสมุนไพร สรรพคุณตามตำราไทยคือ

    เนื้อไม้ บำรุงโลหิตในหัวใจ บำรุงตับและปอดให้เป็นปกติ แก้ลม แก้ลมซาง แก้ลมอ่อนเพลีย ทำให้ชุ่มชื่นใจ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ไข้ บำรุงโลหิต รักษาโรคปวดข้อ

    แก่นไม้ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับและปอดให้ปกติ

    น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้มะเร็ง

    ไม่ระบุส่วนที่ใช้ บำรุงโลหิต แก้ตับและปอดพิการ แก้ไข้เพื่อเสมหะและลม บำรุงโลหิตในหัวใจ ทำตับปอดให้ปกติ คุมธาตุ





    ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ลดความดันโลหิต


    ด้านการเป็นไม้ประดับ ความสนใจของไม้ต้นนี้คือ รูปทรงของลำต้นเป็นรูปเจดีย์คว่ำใบหนาเป็นมันดูเข้มแข็ง และไม่ผลัดใบ เป็นไม้ที่หายาก และมีคุณค่าสูงมาก ถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ปลูกไว้เป็นไม้ประดับได้สวยงาม แต่ควรพิจารณาพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม


    ไม้กฤษณา ไม่ถูกกำหนดเป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ แต่ถูกกำหนดให้เป็นของป่าหวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามเฉพาะในเขตป่าเท่านั้น ในที่ดินที่มิใช่ป่าก็ไม่ใช่ของป่าและก็ไม่ใช่ของป่าหวงห้าม การเพาะชำกล้าไม้กฤษณา ไม่มีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด


    การปลูกกฤษณาในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย รวมถึงการตัดไม้กฤษณาขาย ไม่มีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน เพราะไม้กฤษณา ชิ้นไม้กฤษณาที่ได้จากการปลูกขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่ใช่ไม้ หวงห้ามหรือของป่าหวงห้าม


    ที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครองตามกฎหมาย คือที่ดินที่มีเอกสารของทางราชการ ที่กรมที่ดินออกให้ ได้แก่ โฉนดที่ดิน,โฉนดแผนที่, โฉนดตราจอง, ตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" น.ส. 3, น.ส. 3 ก, น.ส. 3 ข, แบบหมายเลข 3, น.ส. 2 และส.ค.1 เป็นต้น


    การออกใบรับรองไม้กฤษณาและไม้ชนิดอื่นที่มิใช่ไม้หวงห้าม ที่ปลูกขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายอยู่ระหว่าง การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร



    ดังนั้นเราจะพบว่ากฤษณา เป็นพืชที่แสนวิเศษจริงๆ เลยละค่ะ


    ปลูกต้นไม้ไม่ว่าจะต้นอะไรก็ตาม
    สิ่งที่ได้รับคือ ความเพลิดเพลินใจ
    ได้ออกกำลังกาย ได้รดน้ำ
    เฝ้ามองการเจริญเติบโตของต้นไม้

    เข้าบ้านแล้วมีความรู้สึกสดชื่น อบอุ่นใจ
    จะวิ่งไปรดน้ำต้นไม้ก่อนเลย เพราะเป็นเหมือนเพื่อนเรา

    ได้ใส่ใจลงในใบเขียวสารพัดแล้ว
    ขอบอกว่าสุขใดจะเท่าสุขและอบอุ่นจากบ้านเราไม่มีอีกแล้วในโลก


    รักต้นไม้ รักใบหญ้า รักแมลง รักธรรมชาติ

    ไม่ขอทิ้งโอกาสดีๆ เช่นนี้เลยละค่ะ







    ...................................................................................





    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย khonsurin; 23-12-2010 at 14:13.
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •