กำลังแสดงผล 1 ถึง 7 จากทั้งหมด 7

หัวข้อ: เมืองไทยในอดีต มีนาคม

  1. #1
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    เมืองไทยในอดีต มีนาคม


    เมืองไทยในอดีต มีนาค





    1 มีนาคม2230


    - ออกพระวิสูตรสุนทร ได้เป็น ราชทูตออกไปเมืองฝรั่งเศส เดินทางกลับถึงประเทศไทย

    - ฝรั่งเศสได้ส่งกองทหาร 636 คน ในบังคับนายพลเดฟาร์ช มาประจำที่ป้อมเมืองมะริด

    - ตามคำร้องขอของฟอลคอน และมีหัวหน้าทูตเข้ามา 2 คน คือ เดอลาบูแบ และ คลอดเซเบแต้ดูบูลเย



    1 มีนาคม2433


    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟตั้งแต่กรุงเทพ ฯ ถึงเมืองนครราชสีมาเป็นทางรถไฟสายแรกในราชอาณาจักรไทย




    2 มีนาคม2477



    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ เนื่องจากไม่ทรงเห็นชอบกับรัฐบาลคณะราษฎร 24 มิถุนายน2475 ในการออกกฎหมายบางเรื่อง




    2 มีนาคม2477



    พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์สืบแทน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสละราชสมบัติ




    2 มีนาคม2485



    ออสเตรเลียประกาศสถานะสงครามกับไทย ตามความต้องการของอังกฤษ




    4 มีนาคม1893


    สถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยพระเจ้าอู่ทองเป็นปฐมกษัตริย์




    4 มีนาคม2480


    ไทยกับประเทศนอร์เว ทำสัญญาแลกเปลี่ยนไมตรีการพาณิชย์ ในรัชกาลที่8




    6 มีนาคม2413




    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ สิงคโปร์ ชวา โดยเรือพิทยัมรณยุทธ ออกจากกรุงเทพ ฯ วันนี้



    7 มีนาคม2477


    รัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เห็นชอบอัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์ นับตั้งแต่วันและเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ วันที่ 2 มีนาคม 2477 เวลา 13.45 น. ตามเวลาในประเทศอังกฤษเป็นต้นไป แต่เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระชนมายุเพียง 9 พรรษาซึ่งได้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุราชนิติภาวะ




    7 มีนาคม2510


    ชักชวนให้พวกพ่อค้าในเรือนั้นกระทำร้ายพระเจ้าแผ่นดินสยาม (พระเจ้าปราสาททอง) และเนื่องด้วยเหตุนี้พระเจ้าปราสาททอง จึงส่งกองทัพเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราช



    9 มีนาคม2413


    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสน์เมืองสิงคโปร์ ปัตตาเวีย และเกาะชวา โดยเรือพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธ เพื่อทอดพระเนตรกิจการบ้านเมือง ตลอดจนขนมธรรมเนียม และประเพณีของต่างชาติ เป็นเวลา 47 วัน และเสด็จกลับเมื่อ15 เมษายน 2414




    9 มีนาคม2433



    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองแขวงเมืองปทุมธานี ไปออกแม่น้ำนครนายก หรือที่เรียกว่า คลองรังสิต และคลองนี้เอง ที่เป็นการเริ่มต้นกิจการด้านการชลประทาน
    และเป็นผลดีแก่เกษตรกรในจังหวัดใกล้เคียงเป็นอันมาก




    9 มีนาคม2434



    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) ประกอบพิธีกระทำพระฤกษ์ เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ นครราชสีมา



    10 มีนาคม2334



    เมืองทะวายกลับมาอยู่ในอิทธิพลของไทย หลังจากตกไปเป็นของพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2302




    10 มีนาคม2394


    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระบรมราชชนนีและกรมพระราชวังบวร ฯ ที่สวรรคตแล้ว (ร.1-3)




    10 มีนาคม2451


    อังกฤษยอมตกลงปักปันเขตแผ่นดินไทย และรัฐกลันตันของมลายู ด้วยแม่น้ำสุไหงโกลก ที่ไหลมาออกอ่าวไทยที่บ้านตาบา (ใต้อำเภอตากใบ) จังหวัดนราธิวาสลงไปราว 5กิโลเมตร มีการลงนามในสัญญาแบ่งเขตแดนที่เรียกว่า สัญญาตาบา เพราะไทยใช้วัดชลธาราสิงเหตำบลเจ๊ะเห ริมฝั่งแม่น้ำตากใบ อ้างเป็นหลักฐานยืนยันว่า แผ่นดินตากใบรวมถึงตัวเมืองนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี เป็นของไทยมาเก่าแก่ ต่อมาวัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดพิทักษ์แผ่นดินมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้




    10 มีนาคม2451


    ไทยเสียรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส เป็นพื้นที่80,000 ตร.กม. ให้แก่ อังกฤษ เพื่อให้ได้อำนาจศาลไทยที่จะใช้บังคับคนในบังคับอังกฤษในประเทศไทย



    11มีนาคม 2484



    ไทยกับฝรั่งเศสตกลงทำสัญญาเลิกรบกัน ในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น



    11 มีนาคม2505



    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ประพาสประเทศปากีสถาน จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2505




    12 มีนาคม2504


    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมท์ปฎิทิน ทรงคำนวนขึ้นเป็นครั้งแรก




    12 มีนาคม2524



    ตั้งค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ตามหลักฐานแจ้งความกองทัพบก ลง 12 มีนาคม 2524 เป็นที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ 5 อยู่ที่ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช




    13 มีนาคม2318



    เป็นวันที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัว เจ้าพระยาจักรีที่พิษณุโลก ขณะนั้นอะแซหวุ่นกี้อายุ72 ปี เจ้าพระยาจักรีอายุ 38 ปี และพม่าล้อมที่พิษณุโลก 4 เดือน จึงจะเข้าตีพิษณุโลกได้




    15 มีนาคม2349



    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราชผู้รับรัชทายาท




    15 มีนาคม2400


    กำเนิดหนังสือราชกิจจานุเบกษา โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้พิมพ์ออกแจกจ่ายประชาชน พระราชทานนามว่าหนังสือราชกิจจานุเบกษา ซึ่งแปลว่า หนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ



    15 มีนาคม2401


    ร.4 ขึ้นครองราชย์ และเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษา ฉบับปฐมฤกษ์ออก



    15 มีนาคม2410


    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขึ้นเป็นกรมขุนพินิตประชานารถ



    16 มีนาคม2423



    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พรราชทานเพลิงศพ สมเด็จรพะนางเจ้าสุนันทากุมานีรัตน์ พระบรมราชเทวี(พระนางเรือล่ม)




    16 มีนาคม2485



    นิวซีแลนด์ประกาศสถานะสงครามกับไทย โดยให้มีผล ตั้งแต่ 25 ม.ค. 2485



    18 มีนาคม2414




    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสอินเดีย เป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งบางกอก มีเรือรบตามเสด็จ 2 ลำ




    20 มีนาคม2279



    วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระราชสมภพ ณ ที่ปัจจุบันคือ วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา




    20 มีนาคม2375



    ไทยกับสหรัฐ ตกลงทำสัญญาค้าขายกัน ในสมัยประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจคสัน โดยมี มร. เอ็ดมัน โรเบอร์ดส์ เป็นทูตเข้ามาเซ็นสัญญา




    20 มีนาคม2519



    รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประโมท ได้สั่งให้สหรัฐอเมริกา ปิดฐานทัพในประเทศไทย และถอนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ทั้งหมดออกไปภายในระยะเวลา4 เดือน นับเป็นการสิ้นสุดของทหารสหรัฐที่ประจำอยู่ในประเทศไทย




    22 มีนาคม2327



    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร จากพระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี ข้ามฟากลำน้ำเจ้าพระยา นำไปประดิษฐานไว้บนบุษบกทองคำ ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม



    22 มีนาคม2449


    ฝรั่งเศสเข้ายึดครองมณฑลบูรพาของไทย คือ เมืองเสียมราฐ พระตะบอง





    22 มีนาคม2456


    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นเป็นครั้งแรก




    23 มีนาคม2449


    ไทยเสียดินแดนมณฑลบูรพา คือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ พื้นที่ 51,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากตราดและแลกกับอำนาจทางการศาลของไทย



    24 มีนาคม2328



    วันที่พม่าถอยทัพออกจากถลาง (เปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร เมื่อ พ.ศ. 2510)



    24 มีนาคม2430


    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศให้ยิงปืนเที่ยงบอกเวลา12.00 น สถานที่ตั้งยิงปืนเที่ยงอยู่ที่ท้องสนามหลวง



    24 มีนาคม2493


    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัติประเทศไทย และได้ทรงประทับบนเรือหลวงศรีอยุธยาที่กองทัพเรือจัดถวาย เป็นเรือพระที่นั่งในคราวเสด็จพระราชดำเนิน จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์นิวัติพระนคร




    26 มีนาคม2439



    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปิดการเดินรถไฟเป็นปฐมฤกษ์จากกรุงเทพ ฯ ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นส่วนหนึ่งของทางไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการรถไฟแห่งะประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 26 มีนาคม ของทุกมีเป็นวันกำเนิดกิจการรถไฟไทย




    26 มีนาคม2459



    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
    ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




    27 มีนาคม2450


    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใช้เวลาเสด็จประพาสครั้งนี้รวม 7 เดือนเศษ เสด็จกลับกรุงเทพ ฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน




    27 มีนาคม2457


    กระทรวงกลาโหม ยกฐานะแผนกการบิน เป็นกองบินทหารบก กองทัพอากาศ จึงได้ถือเอาวันที่ 27 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสถาปนากองทัพอากาศ



    27 มีนาคม2485


    ประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณศาลาแดง กรุงเทพ ฯ




    27 มีนาคม2504



    เปิดอนุสาวรีย์ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มณตรี (เจิม แสงชูโต) ที่ค่ายสุรศักดิ์มณตรี จังหวัดลำปาง



    28 มีนาคม2431


    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลิกใช้จุลศักราช (จ.ศ.) และให้ใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) แทน โดยถือเอาปีตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ พ.ศ. 2325 เป็นปีที่ 1 (ร.ศ.1)




    28 มีนาคม2456


    เริ่มวันหยุดราชการเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6



    29 มีนาคม2493


    วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง




    30 มีนาคม2415


    ไทยเสียรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปลิส แก่อังกฤษ




    31 มีนาคม2330


    วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3




    ..............................................

    ขอบคุณ

    วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
    หอมรดกไทย

    ..............................................
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย khonsurin; 24-02-2011 at 05:59.
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  2. #2
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ คนนครผำ
    วันที่สมัคร
    Feb 2010
    กระทู้
    87
    ขอบคุณหลายๆ คับที่หามาให้เสริมควมฮู้....

  3. #3
    เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สัญลักษณ์ของ คนบ้านบ้าน
    วันที่สมัคร
    Mar 2009
    กระทู้
    452
    29 มีนาคม2410

    วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

    ข้อมูลผิดพลาดหรือเปล่าครับ อาจารย์ 2410 ท่านยังไม่เกิดนะครับ

  4. #4
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197
    กระทู้ต้นฉบับโดยคุณ คนบ้านบ้าน
    29 มีนาคม2410

    วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

    ข้อมูลผิดพลาดหรือเปล่าครับ อาจารย์ 2410 ท่านยังไม่เกิดนะครับ

    ขอบคุณมาก คนบ้านน้าน ด้วยนะค่ะ


    เปลี่ยน เป็น 29 มีนาคม2493

    วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง




    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  5. #5
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร


    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร





    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร





    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ พระอัฐมรามาธิบดินทร (20 กันยายน พ.ศ. 2468 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489)



    พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ณ เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมนี ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็น "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี")


    ทรงมีพระพี่นางและพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)


    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

    เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษาและประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ






    พระองค์เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481


    ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ระหว่างกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่


    9 มิถุนายนพ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี





    พระราชประวัติ



    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงเป็นพระโอรสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

    พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์กประเทศเยอรมนี

    ขณะที่สมเด็จพระราชบิดาทรงศึกษาการแพทย์ที่ประเทศเยอรมัน โดยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าหม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล


    หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท


    พระองค์ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ สมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


    พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ หลังจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรส และพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนนูแวลเดอลา ซูวิสโรมองต์ และ ทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ


    วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท


    ดังนั้น คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดลซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

    โดยได้รับการเฉลิมพระนามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

    ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 8 พรรษา และยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)


    เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งให้นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


    และเมื่อเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงแก่อสัญญกรรม จึงมีการแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทนหลังจากนั้น


    เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญญกรรม รวมทั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง นายปรีดี พนมยงค์ จึงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว
    จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับสู่พระนคร




    รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนคร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2477 เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่สมบูรณ์จึงได้เลื่อนกำหนดออกไปก่อน และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2478 แต่ก็ทรงติดขัดเรื่องพระพลานามัยอีกเช่นกัน


    หลังจากนั้น รัฐบาลได้ส่งพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์) ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนีที่โลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2479 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเตรียมการเสด็จนิวัติพระนครนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ คณะรัฐบาลใหม่จึงขอเลื่อนการรับเสด็จออกไปอย่างไม่มีกำหนด


    หลังจากนั้น รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง ในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองโลซานน์ที่ประทับโดยทางรถไฟมายังเมืองมาเชลล์ เพื่อประทับเรือเมโอเนีย ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทย


    และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เรือพระที่นั่งได้เทียบจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง รัฐบาลได้จัดเรือหลวงศรีอยุธยาออกไปรับเสด็จมายังจังหวัดสมุทรปราการ ณ ที่นั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จไปคอยรับพระราชนัดดาและพระสุนิสาด้วย หลังจากนั้น จึงได้เสด็จโดยเรือหลวงศรีอยุธยาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งนับเป็นการเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


    เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง พระองค์จึงเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการเสด็จนิวัติประเทศในครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป


    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์จนเรียบร้อยแล้วจึงจะเสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวรและทรงเข้ารับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง


    แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ด้วยสาเหตุทรงต้องพระแสงปืน ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน


    หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวังและจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบงเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานชั้นบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


    วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสริรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม


    การเฉลิมพระปรมาภิไธย


    เนื่องจากสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไม่ได้ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระบรมขัติยราชอิสสริยยศ รวมทั้ง ยังได้ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางองค์ เช่น นพปฎลเศวตฉัตร ซึ่งใช้ในการกางกั้นพระบรมศพและพระบรมอัฐิ จึงได้มีการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมล รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช" โดยประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2489


    หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ในวโรกาสพระราชพิธีฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายเพิ่มพระนามพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า



    "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตน สรณารักษ์วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร”



    นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขานพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า


    "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาล มหารัษฎธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร"


    และอย่างสังเขปว่า



    "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร"








    ขอบคุณ
    วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  6. #6
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    พระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม


    พระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม



    พระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม พระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยามพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม




    ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศทั้งหลายที่เจริญแล้วในโลก ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศทั้งหลายที่เจริญแล้วในโลกนับตั้งแต่สมัยตั้งกรุงสุโขทัยตลอดจนกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงสุโขทัยตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ซึ่งทรงเป็นประมุขของประเทศได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการคมนาคมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำความรุ่งเรืองมาสู่ชาติเสมือนโลหิตที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่ และในบรรดาทางเดินของโลหิตสายนั้นการรถไฟคือทางเดินของโลหิตสำคัญสายหนึ่ง ซึ่งในราชอาณาจักรไทยสมัยก่อน ๆ ยังไม่เคยมีเค้ารูป และโครงการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะแสดงให้เป็นที่ปรากฏชัดว่าการคมนาคมทางบกภายในประเทศจะมีการขนส่งโดยทางรถไฟของรัฐบาลเกิดขึ้นเลย เพราะในเวลานั้นประชาชนยังนิยมใช้สัตว์ เช่น โค กระบือ ม้า ช้างและเกวียน เป็นพาหนะเพื่อประโยชน์ในการเดินทางและในการลำเลียงสินค้าต่าง ๆ จากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่งจนกระทั่งการขนส่งโดยทางรถไฟได้เริ่มมีชีวิตจิตใจขึ้นจนสำเร็จเป็นรูปร่างอันสมบูรณ์ในรัชสมัย


    " พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ "


    โดยมีประกาศ พระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม
    ตั้งแต่ กรุงเทพฯ ถึง เมืองนครราชสีมา
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433



    ก่อนที่การรถไฟหลวงจะถือกำเนิดขึ้นนั้นปรากฏว่าในปีพุทธศักราช 2398 รัฐบาลสหราชอาณาจักรอังกฤษให้ เซอร์ จอห์น เบาริง (Ser John Bowring) ผู้สำเร็จราชการเกาะฮ่องกง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม พร้อมด้วย มิสเตอร์ แฮรี่ สมิท ปาร์ค (Mr. Harry Smith Parkes) กงสุลเมืองเอ้หมึง เป็นอุปทูล เดินทางโดยเรือรบหลวงอังกฤษเข้ามาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาทางราชไมตรีฉบับที่รัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ทำไว้กับรัฐบาลไทยเมื่อ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2369 ซึ่งในกาลนั้น มิสเตอร์ แฮรี่ สมิท ปาร์ค ได้นำสนธิสัญญาฉบับใหม่ออกไปประทับตราแผ่นดินอังกฤษ แล้วนำกลับมาแลกเปลี่ยนสนธิสัญญากับฝ่ายไทย กับอัญเชิญพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนางวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษเข้ามาเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อาทิ รถไฟจำลองย่อส่วนจากของจริงประกอบด้วย รถจักรไอน้ำ และรถพ่วงครบขบวน เดินบนรางด้วยแรงไอน้ำทำนองเดียวกับรถใหญ่ที่ใช้อยู่ในเกาะอังกฤษ(ขณะนี้รถไฟเล็กได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) ราชบรรณาการในครั้งนั้นสมเด็จพระนางวิคตอเรีย ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นเครื่องดลพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงคิดสถาปนากิจการรถไฟขึ้นในราชอาณาจักรไทย แต่เนื่องจากในขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในฐานะไม่มั่นคง และมีจำนวนพลเมืองน้อย กิจการจึงต้องระงับไว้



    พระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม


    พระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม



    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เหตุการณ์ทางด้านการเมือง สืบเนื่องมาจากนโยบายขยายอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส แผ่มาครอบคลุมบริเวณเหลมอินโดจีน พระองค์ท่านทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟ เพราะการใช้แต่ทางเกวียนและแม่น้ำลำคลองเป็นพื้นนั้น ไม่เพียงพอแก่การบำรุงรักษาพระราชอาณาเขต ราษฎรที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมีจิตใจโน้มเอียงไปทางประเทศใกล้เคียง สมควรที่จะสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศเพื่อติดต่อกับมณฑลชายแดนก่อนอื่น ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การปกครอง ตรวจตราป้องกันการรุกรานเป็นการเปิดภูมิประเทศให้ประชาชนพลเมืองเข้าบุกเบิกพื้นที่ รกร้างว่างเปล่า ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษกิจของประเทศ และจะเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสารและสินค้าไปมาถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นในปี พ.ศ.2430 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และมีทางแยกตั้งแต่เมืองสระบุรี – เมืองนครราชสีมาสายหนึ่ง จากเมืองอุตรดิตถ์ - ตำบลท่าเดื่อริมฝั่งแม่น้ำโขงสายหนึ่ง และจากเมืองเชียงใหม่ไปยังเชียงราย เชียงแสนหลวงอีกสายหนึ่ง โดยทำการสำรวจให้แล้วเสร็จเป็นตอน ๆ รวม 8 ตอน ในราคาค่าจ้างโดยเฉลี่ยไม่เกินไมล์ละ 100 ปอนด์ ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2430


    เมื่อได้สำรวจแนวทางต่าง ๆ แล้ว รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าจุดแรกที่สมควรจะสร้างทางรถไฟเชื่อมกับเมืองหลวงของไทยก่อนอื่น คือ นครราชสีมา ดังนั้นในเดือนตุลาคม 2433 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟขึ้น สังกัดอยู่ในกระทรวงโยธาธิการมีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นเสนาบดี และนาย เค. เบ็ทเก ( K. Bethge ) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟพร้อมกันนั้นได้ เปิดประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ - นครราชสีมา เป็นสายแรก ณ ที่ทำการรถไฟกรุงเทพ ปรากฏว่า มิสเตอร์ จี มูเร แคมป์เบล แห่งอังกฤษ เป็นผู้คำประกันประมูลได้ในราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาเป็นเงิน 9,956,164 บาท






    ขอบคุณ

    lms.thaicyberu.go.th
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  7. #7
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    แถลงการณ์รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ


    แถลงการณ์รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ





    แถลงการณ์รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ





    “ ข้าพเจ้าเห็นว่า คณะรัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครอง ซึ่งไม่เห็นถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรม ตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้า
    ต่อไปได้ “


    “ ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปแต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ยอมฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร “



    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก
    วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
    เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที




    I am willing to surrender the powers I formerly exercised to the people as a whole, but I am not willing to turn them over to any individual or any group to use in an autocratic manner without heeding the voice of the people.





    ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=CTceroZLxoc




    ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=EqYqeGPORZQ




    ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=ovf0_SE3IBk





    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
    รัชกาลที่ 7 ( พ.ศ. 2468-2477 )





    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน 11 แรม 14 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2436 เป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ และสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ทราบรมราชินีนาถ โดยเป็นพระอนุชาธิราช พระองค์สุดท้ายแห่งพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว




    ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ โดยเริ่มศึกษา

    วิชาสามัญที่วิทยาลัยอีตัน

    โรงเรียนนายร้อยเมืองวูลิซ แผนกวิชาทหารปืนใหญ่ม้า ทรงสามารถสอบไล่ได้เต็มหลักสูตรแล้วเสด็จไปประจำกรมทหารปืนใหญ่ม้าเมืองออลเดอชอดอยู่อีกระยะเวลาหนึ่ง

    จากนั้นจึงเสด็จนิวัติพระนคร หลังจากเสด็จกลับมารับราชการในประเทศไทย


    พ.ศ.2463 ทรงพระประชวรต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ยังทวีปยุโรป เมื่อสุขภาพเป็นปกติแล้ว ก็ได้เข้ารับพระบรมราชานุญาตเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารชั้นสูงของฝรั่งเศสจนสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง


    พระองค์เสด็จเสวยราชย์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์


    ทรงเริ่มสร้างสะพานพุทธยอดฟ้าเนื่องในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี ทำให้ความเจริญแผ่ขยายออกไปทางทิศตะวันตกของพระนคร ทรงจัดตั้งกรมเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ส่งเสริมกิจการสหกรณ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยการออกกฎหมายรองรับ


    ทรงวางรากฐานระบบบริหารงานบุคคลของชาติ ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม โดยการออกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2471 และทรงพยายามสร้างความนิยมต่อทรรศนะในการมีสามีภรรยาเพียงคนเดียว โดยริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า และทะเบียนรับรองบุตร ก่อนจะมีการบังคับตามกฎหมาย




    ทรงสถาปนาอภิรัฐมนตรีสภาเป็นที่ปรึกษาราชการชั้นสูง ไม่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยตามลำพังพระองค์ ทรงปรับปรุงเสนาบดีสภาให้เป็นกิจจะลักษณะ รู้จักการทำงานรับผิดชอบเป็นคณะ


    อภิรัฐมนตรีประกอบด้วย

    สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทบุรีนฤนาถ


    ทรงจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ มีตราช้างเป็นเครื่องหมาย นับว่าเป็นฉบับพิมพ์อักษรไทย จบบริบูรณ์ครั้งแรก


    หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก มีผลกระทบถึงประเทศไทยอย่างรุนแรง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยอย่างกล้าหาญ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ แม้จะเสี่ยงต่อความไม่พอใจของข้าราชการที่ต้องออกจากราชการ เพื่อเป็นการตัดทอนรายจ่ายใน พ.ศ.2469 รายจ่ายแรกที่ถูกตัด คือ


    รายจ่ายของพระมหากษัตริย์ ทรงให้ตัดลง 33 เปอร์เซ็นต์ เงินส่วนนี้รวมถึงเงินเดือนข้าราชการ ค่าใช้จ่ายในราชสำนัก และใช้จ่ายในพระองค์ เป็นเงินรวมทั้งสิ้นปีละ 6 ล้านบาท


    การแก้ไขสนธิสัญญาที่เริ่มมาแต่รัชกาลที่ 6 สำเร็จในรัชกาลนี้ ทำให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีศุลกากรฉบับใหม่ได้ โดยเพิ่มภาษีสินค้าขาเข้าทุกชนิด


    จัดระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการทดลองส่งข้าราชการไปดูงานที่ต่างประเทศ ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฉบับแรก อันเป็นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง


    ปรับปรุงกองทัพ โดยรวมทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ เป็นกระทรวงเดียวกันเพื่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดตามฐานะของประเทศ


    ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดาราม จังหวัดอยุธยา โปรดฯ ให้เขียนภาพพงศาวดาร สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ที่ผนังพระอุโบสถ


    พระราชนิพนธ์เพลงที่มีชื่อเสียง เช่น เพลงราตรีประดับดาวและเพลงเขมรละออองค์


    พระองค์มีพระราชจินตนาที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน (ปรากฏหลักฐานในพระราชกระแส เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2475) เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี แต่มีพระบรมวงศ์บางพระองค์คัดค้านว่า ยังไม่สมควรแก่เวลา


    เสด็จพระราชดำเนินเปิดบรมราชานุสรณ์และสะพาน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2475 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมกษัตริย์ พระราชทานนามว่า สะพานพุทธยอดฟ้า และที่เชิงสะพานฝั่งพระนครประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 เป็นปฐมบรมราชานุสรณ์


    วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้มีคณะราษฎร์ ประกอบด้วยทหารและพลเรือนเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ


    จึงทรงตัดสินพระทัยโดยพระเมตตาธรรม พระกรุณาธรรม มิประสงค์ให้มีการต่อสู้เสียเลือดเสียเนื้อคนในชาติ จึงทรงตกลงด้วยที่จะให้เป็นไปดังความปารถนาได้ ดังนั้นธรรมนูญการปกครองฉบับแรก จึงได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน


    หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 12 มีนาคม 2477 ด้วยเหตุผลทางการเมือง และประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยพิการ สิริรวมพระชนมายุ 47 พรรษา

    ได้ถวายพระเพลิงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 อย่างเงียบๆ ไม่มีพระเมรุมาศกลางเมือง ไม่มีพระบรมโกศ ไม่มีประโคมและยิ่งกว่านั้น พสกนิกรชาวไทยในประเทศไม่มีโอกาสถวายความจงรักภักดี ร่วมถวายพระเพลิงแต่อย่างใด


    กาลเวลาผ่านไป ความค่อยปรากฏชัดว่า พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณแก่ชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ รัฐบาลในชุดต่อมาจึงได้กราบบังคมทูลขอเชิญเสด็จ สมเด็จพระบรมราชินี ให้ทรงเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่พระนคร เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับสมเด็จพระบูรพากษัตราธิราชเจ้า เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาติไทยสืบไป



    ..............................................................................




    บันทึกความขัดแย้งที่ทำให้พระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ





    ท่ามกลางความเห็นที่ไม่ต้องตรงกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับรัฐบาลสยามในเวลานั้น พระองค์ได้พระราชทานพระราชบันทึกมายังรัฐบาลรวม 2 ฉบับ เมื่อเดือน กันยายน 2477 คือ




    พระราชบันทึกฉบับที่ 1 ทรงขอร้องมา 3 ประการคือ



    (1) ให้งดเว้นว่ากล่าวคดีกบฏสำหรับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ และนายทหารรักษาวัง
    (2) งดการเลิกทหารรักษาวัง
    (3) ให้งดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงวังใหม่




    พระราชบันทึกฉบับที่ 2 ทรงขอร้องมารวมทั้งสิ้น 4 ประการด้วยกันคือ



    (1) ให้ยอมตามข้อขอร้องทั้ง 3 ข้อ ในพระราชบันทึกฉบับที่ 1

    (2) ให้บุคคลต่างๆในรัฐบาล เลิกกล่าวร้ายทับถมการงานของพระราชวงศ์จักรีอย่างเข้มงวด

    (3) แสดงความเคารพนับถือในองค์พระมหากษัตริย์โดยชัดเจน

    (4) พยายามระงับความไม่สงบต่างๆ โดยตัดไฟคือ ก. ไม่ดำเนินโครงการเศรษฐกิจแบบโซชะลิสต์หรือสังคมนิยมอย่างแรง ข. ลดหย่อนผ่อนโทษ นักโทษการเมือง


    ทว่าหลังจากการโต้ตอบกันไปมาทางหนังสือหรือโทรเลขดำเนินไประยะหนึ่ง โดยทางรัฐบาลพันเอกพระยาพหลฯเห็นว่าไม่สามารถทำความเข้าใจระหว่างกันให้แจ่มแจ้งชัดเจนได้ จึงส่งผู้แทน เดินทางในเดือนพฤศจิกายน 2477 ไปเข้าเฝ้าฯ ณ ประเทศอังกฤษ


    ผู้แทนทั้ง 3 นายประกอบด้วย


    เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศประธานสภาผู้แทนราษฎร

    นาวาตรี หลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี

    นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการ




    จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงพระราชทานพระราชบันทึกมายังรัฐบาลเป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2477 มีใจความสำคัญรวม 9 ข้อดังนี้


    บันทึก ฉบับที่ 3


    1.การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ต้องให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงเลือกอย่างแท้จริง ไม่ใช่รัฐบาลหรือคณะปฏิวัติเป็นผู้เลือก


    2.ให้ แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 39 ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติ แล้ว หากสภายืนยันตามมติเดิมก็ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ให้แก้เป็นต้องได้รับคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะใช้ได้


    3.ให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 14 คือให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเขียน การพูด การโฆษณา ฯลฯ อย่างแท้จริง


    4.ให้เลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะขัดกับหลักเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยมาก

    5.ให้อภัยโทษและลดหย่อนผ่อนโทษแก่นักโทษการเมือง


    6.ให้ข้าราชการที่ถูกปลด ฐานมัวหมองต้องสงสัยในคดีการเมือง ได้รับเงินบำนาญ


    7.ให้งดการจับกุมฟ้องร้องข้าราชการที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับคดีการเมือง ทั้งที่กำลังฟ้อง หรือดำริจะฟ้องต่อไปเสีย


    8.ขอให้รัฐบาลและสภาให้คำรับรองว่าจะไม่ตัดกำลัง และตัดงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยลงไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และขอให้จ่ายอาวุธและกระสุนให้แก่กรมทหารรักษาวังเท่ากับทหารราบหน่วยอื่นๆ


    9.ขอให้จัดการออกพระราชบัญญัติวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ


    แต่คำตอบของรัฐบาลที่สนองพระราชบันทึกไป ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย
    จนไม่อาจจะประนีประนอมกันได้


    ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติและได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายังรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ดังมีความในตอนท้าย ดังนี้



    "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร


    บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวง อันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์


    ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่า มิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบ หรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า


    ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.


    ประชาธิปก.ปร.
    วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477
    เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที"



    จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติสนิทบางพระองค์ จึงทรงย้ายที่ประทับจากใจกลางเมืองไปอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอน

    จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน เวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ทรงมีพระชนมพรรษา 47 พรรษา





    ………………………………………………





    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •