กำลังแสดงผล 1 ถึง 1 จากทั้งหมด 1

หัวข้อ: ทำไมต้องทำขวัญนาค

  1. #1
    Moderators สัญลักษณ์ของ บ่าวตั้ม
    วันที่สมัคร
    Jan 2009
    ที่อยู่
    ไปทั่วทีป
    กระทู้
    411
    บล็อก
    2

    บ้านมหาโพสต์ ทำไมต้องทำขวัญนาค

    ทำไมต้องทำขวัญนาค
    การเรียกพิธีบวชคนพื้นเมืองเป็นพระ ภิกษุว่า บวชนาค สะท้อนให้เห็นลักษณะประนีประนอมทางพิธีกรรม คือ พุทธยอมให้ผี เพราะคนพื้นเมืองไม่ยอมเลิกนับถือผีไปเป็นพุทธอย่างชมพูทวีป

    พิธีบวชนาคยุคแรกมีร่องรอยเหลือ อยู่ในพม่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า ว่านาคยังไม่ปลงผมโกนหัว เอานาคขึ้นม้าไปแห่เสียก่อน ต่อเมื่อจะเข้าโบสถ์ขออุปสมบทจึงค่อยโกนหัว ซึ่งต่างจากคนไทยทุกวันนี้ที่ให้นาคโกนหัวก่อนแล้วค่อยแห่นาค

    เหตุที่นาคยังไม่ต้องโกนหัว เพราะนาคคือคนธรรมดา ไม่ได้มีฐานะพิเศษ คนไทย-ลาวแต่ก่อนก็เป็นอย่างพม่า เพราะพวกเขมรเป็นนาคก็ต้องใส่หัวเป็นรูปพญานาคด้วยซ้ำไป แสดงว่ายังไม่ต้องโกนหัว

    ประเพณีบวชสมัยก่อนใช้เวลาอย่าง น้อย 3 วัน คือ วันแรกทำขวัญ วันที่สองบวช วันที่สามฉลองพระ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป บางรายทำขวัญตอนสายแล้วบวชตอนบ่ายวันเดียวกัน แต่บางรายไม่ทำขวัญ เมื่อโกนหัวก็แห่เข้าโบสถ์บวชเลยก็ได้



    ตามประเพณีเก่า วันแรกทำขวัญนาคตอนกลางคืน เพราะว่าพรุ่งนี้คือวันบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา คำทำขวัญนาคบอกว่า

    “...พ่อนาคเอ่ย วันพรุ่งนี้แล้วพ่อจะบรรพชาสิ้นมัวหมอง ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ห่มครองเป็นภิกษุสงฆ์ นับเข้าเป็นญาติโดยตรงกับพระศาสนา อันหมู่มารร้ายนานาจงแพ้พ่าย...”

    ฉะนั้น วันนี้ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น ทำขวัญ ฯลฯ เพื่อให้ผู้จะบวชในวันพรุ่งนี้รำลึกถึง

    สิ่งที่ควรให้ความสำคัญและควรแก่การรำลึกถึงก็ คือความเป็นมนุษย์ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งคือเป็นคนมีบุญ ได้พบพระพุทธศาสนา นับว่าพ่อนาคมีบุญมากจึงจะได้บวช

    คนมีบุญที่จะได้บวชต้องเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง แต่พื้นฐานทางสังคมของภูมิภาคอุษาคเนย์ให้ความสำคัญผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมจำเป็นต้องปรับประเพณีมิให้ขัดแย้งกัน นั่นก็คือยกย่องคนมีบุญนั้น แท้ที่จริงมีปฏิสนธิแล้วถือกำเนิดมาจากผู้หญิงผู้เป็นแม่นั่นเอง

    ถ้าพิจารณาอีกทางหนึ่ง ประเพณีทำขวัญนาค ก็คือ พิธีให้ความสำคัญแก่ผู้เป็นแม่ เพราะวันพรุ่งนี้เมื่อนาคเข้าโบสถ์แล้วแม่จะหมดหน้าที่ ความสำคัญจะโอนไปอยู่ที่พ่อซึ่งเป็นผู้ชาย

    พิธีทำขวัญที่ให้ความสำคัญผู้เป็นแม่ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ มีคำทำขวัญพรรณนาเป็นลำดับ เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ถึงเวลาแพ้ท้อง จนกระทั่งคลอด หมอขวัญจะพรรณนาเป็นขั้นเป็นตอน จากนั้นก็เชิญขวัญ เบิกบายสี แล้วทำพิธีเวียนเทียนด้วยการขับร้องและบรรเลงเพลงนางนาค

    พิธีทำขวัญแต่ก่อนร่อนชะไรไม่ซับซ้อน เป็นพิธีพื้นๆ ง่ายๆ ในหมู่บ้าน ที่มีแต่ฝูงเครือญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น ครั้นนานวันเข้าก็ถูกปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมให้ซับซ้อนขึ้น โดยรับคติทางศาสนาที่รู้จักกันครั้งนั้นเข้ามาประสมประสาน เช่น พิธีพราหมณ์ ฉะนั้นจึงมีบายสีเป็นชั้นๆ สูงขึ้นไป แล้วมีแว่นเวียนเทียนเป็นเครื่องประกอบ

    บายสี เป็นคำเขมรปนสันสกฤต มาจาก บายสรี (อ่านว่า บาย-สะ-เร็ย) บาย แปลว่า ข้าว สรี กร่อนจากสตรี แปลว่า ผู้หญิง (ปัจจุบันเขียนเพี้ยนเป็น บายศรี หมายถึงข้าวขวัญ) จัดไว้ในกระทงใบตอง ภายหลังจึงหมายรวมถึงกระทงใส่เครื่องสังเวยในพิธีทำขวัญ การจัดบายสีเป็นอย่างพราหมณ์ที่รับเข้ามาในพิธีพุทธ แล้วรวมกับพิธีผีที่เป็นระบบความเชื่อท้องถิ่น เหตุนี้ในพิธีทำขวัญนาคจึงให้ความสำคัญแก่บายสีและเวียนเทียน

    เมื่อเริ่มพิธีเวียนเทียน ดนตรีก็เริ่มบรรเลงและขับร้องเพลงนางนาค แต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่าเพลงเรื่องทำขวัญ เพราะมีการปรับปรุงลำดับเพลงให้มีหลายๆ เพลง บรรเลงต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จพิธี

    ตามปกติขนบของวงดนตรีไทยโดยเฉพาะวงปี่พาทย์ ไม่ว่าจะบรรเลงเพลงเรื่องหรือเพลงชุดใดๆ ที่เกี่ยวกับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ จะต้องบรรเลงเพลงสาธุการเป็นเพลงแรก เพราะเป็นเพลงสัญลักษณ์ของการน้อมนมัสการพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือเป็นสิริมงคล จากนั้นจึงบรรเลงเพลงอื่นๆ เรียงลำดับไปตามแบบแผนที่กำหนดมาแต่โบราณ

    มีแต่เพลงชุดทำขวัญนี้เท่านั้นไม่เริ่มด้วย เพลงสาธุการ แต่เริ่มด้วยเพลงนางนาคเป็นเพลงแรก เพื่อให้หมายถึงการแสดงความอ่อนน้อม และวิงวอนร้องขอความมั่นคงและมั่งคั่งหรือความอุดมสมบูรณ์จากนาค หรือเจ้าแม่ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินและแผ่นน้ำให้แก่ผู้รับทำขวัญ

    ...................................

    หมายเหตุ : บทความเผยแพร่โดย สถาบันสุวรรณภูมิ

    http://www.bangkokbiznews.com/2006/07/20/w006_121132.php?news_id=121132
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย บ่าวตั้ม; 25-03-2011 at 01:01.

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •