ในยุคของโลกไร้พรมแดนเช่นทุกวันนี้ การเดินทางไปต่างประเทศไม่มีความยุ่งยากครับ ขอเพียงแค่คุณเดินทางไปอย่างถูกกฎหมายและเมื่อไปถึงที่โน่นคุณท่องเที่ยว ไปเรียนหรือไปทำงานอย่างที่คุณขอวีซ่าไว้ แล้วใช้ชีวิตตามกฎหมายของบ้านของเมืองเขาจนกระทั่งคุณเดินทางกลับประเทศก็ไม่มีปัญหาครับ

ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตที่นั่น เช่น ถูกให้ออกจากงาน ถูกให้ออกจากที่เรียน หรือหากเป็นนักท่องเที่ยวแล้วถูกยกเค้า ถูกล้วงกระเป๋า ใจเย็นๆ ครับ คุณมีผู้ช่วยอยู่ในแต่ละแห่งที่คุณเดินทางไปถึง นั่นก็คือความช่วยเหลือจากกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนแรงงานไทยในต่างแดนนั้นได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2537) ตามผมมา จะสาธยายให้ฟัง

เดือดร้อน...ให้ไปสถานทูต จริงๆ แล้วถ้าคุณผู้อ่านตั้งใจจะไปใช้ชีวิตที่ต่างแดนเป็นเวลานานๆ ควรจะไปแจ้งชื่อ ที่อยู่ไว้ที่สถานทูตหรือสถานกงสุลครับ เวลาที่เกิดอะไรขึ้นกับคุณผู้อ่าน ทางนั้นจะได้ช่วยเหลือได้ เช่น ถูกโจรกรรม เจ็บป่วย ถูกเลิกจ้าง ถูกหลอกไปทำงาน ปัญหาการทำธุรกิจที่นั่น เกิดการกระทำผิดกฎหมาย ถูกจับกุม คุมขัง และถูกจำคุกในต่างประเทศการช่วยเหลือมีตั้งแต่การดูแลให้ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี การเยี่ยมเยียนให้กำลังใจหากถูกตัดสินให้จำคุก ไปจนถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการขอลดโทษ และประสานงานในการที่ผู้ต้องโทษจะขออภัยโทษในกรณีประหารชีวิต หรือแม้แต่ประสบปัญหาในการเดินทางกลับประเทศไทย ฯลฯ เหล่านี้คือหน้าที่ของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศทั้งนั้นครับ

ร้องทุกข์...อย่างไร ญาติของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือผู้เดือดร้อนสามารถยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือได้โดยคนไทยในต่างแดนที่ตกทุกข์และยังอาศัยอยู่ในต่างประเทศสามารถยื่นคำร้อง ขอความช่วยเหลือได้โดยตรงที่ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ในประเทศที่ตนตกทุกข์อยู่สำหรับญาติของผู้เดือดร้อน (อาศัยอยู่ในเมืองไทย) สามารถยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (โทรศัพท์ 0-2575 1047-51) หรือยื่นคำร้อง Online ที่เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศครับ

ฉุกเฉิน...หลวงจะออกเงินให้ก่อน โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในกรณีเดือดร้อนของตัวเองเป็นอันดับแรก แต่ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งญาติ พี่น้องในประเทศไทยมีฐานะยากจนไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้ รัฐบาลไทยมีแนวปฏิบัติที่จะทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปก่อน โดยญาติ พี่น้องหรือตัวผู้ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศจะต้องทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ และหนังสือสัญญาชดใช้เงินคืนไว้กับทางราชการภายในขอบเขต และหลักเกณฑ์ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ พ.ศ. 2541 แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีทางศาล เช่นการว่าจ้างทนายความหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีต่างๆ อันนี้หลวงจ่ายให้ไม่ไหวนะครับ

คุ้มครองแรงงานไทย...ในต่างแดน กรณีที่คุณไปทำงานในต่างประเทศกับบริษัทจัดหางานแล้วคุณไม่ได้งานหรือได้ค่าจ้างต่ำกว่า หรือได้ตำแหน่งงาน หรือสิทธิประโยชน์ไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน บริษัทจัดหางานต้องจัดการให้คุณกลับประเทศไทย โดยบริษัทจัดหางานต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นจนกว่าคุณจะเดินทางกลับประเทศไทย แต่คุณต้องแจ้งความประสงค์ เป็นหนังสือให้บริษัทจัดหางานหรือตัวแทนทราบภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบว่าได้งานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งกับบริษัทจัดหางานหรือตัวแทนได้ ก็ให้คุณไปแจ้งที่สำนักงานแรงงงานไทย สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้น หรือผู้ที่รับผิดชอบเพื่อแจ้งต่อไปยังบริษัทจัดหางานต่อไปครับ

ถ้ายอม...ได้งานต่ำกว่าสัญญา พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2537) มีทางออกให้สำหรับคนที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้วยอมรับงานที่ต่ำกว่าสัญญาจ้าง (คือบางท่านอาจจะเห็นว่า...ไหนๆ ก็ไปถึงที่โน่นแล้ว) หากคุณประสงค์จะทำงานที่ได้ค่าจ้าง หรือตำแหน่งงานต่ำกว่า หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆต่ำกว่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน บริษัทฯไม่ต้องรับผิดชอบในการจัดการให้คนงานเดินทางกลับประเทศไทย แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานแรงงานไทยในประเทศนั้นทราบภายใน 15 วัน ถ้าไม่มีสำนักงานแรงงานไทยที่นั่น ให้แจ้งสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลในประเทศนั้นแทน และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวให้ สำนักงานทะเบียนจัดหางานกลางทราบด้วย นอกจากนี้บริษัทต้องคืนค่าบริการที่เรียกเก็บจากคนงานไปแล้วเป็นอัตราส่วนกับค่าจ้างที่คนหางานได้รับจริงภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คนงานขอรับคืน
ไม่ว่าคุณจะอยู่ภายในประเทศหรือเดินทางออกนอกประเทศ กฎหมายไทยก็พยายามเข้าไปคุ้มครองคุณจนถึงที่สุดครับ แต่ก่อนอื่นคุณก็ต้องช่วยเหลือตัวเองบ้างนะครับ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในต่างประเทศได้ภายหลัง