รัชกาลที่๓ กับ สุนทรภู่
เรื่องราวประวัติของสุนทรภู่ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นเรื่องราวที่เชื่อกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงโปรดสุนทรภู่นัก ทั้งนี้ก็ด้วยสาเหตุจากการที่สุนทรภู่เคย " หักหน้า" พระองค์ไว้คราวประชุมกวีสองคราว ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เรื่องพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงโปรดสุนทรภู่นั้น เป็นที่สงสัยถกเถียงกันมากกว่าจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพราะมีเหตุผลบางประการ ทำให้คิดได้ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงโปรดสุนทรภู่จริง แต่น่าจะเป็นด้วยเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่า เรื่องดังกล่าวซึ่งทำให้สุนทรภู่ต้องรำพันให้เกิดภาพพจน์ที่สร้างความสะเทือนใจอย่างยิ่งว่า

เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้
ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ
เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา


เบื้องหลัง ทำไมหนอ สุนทรภู่จึงเป็นกวีที่ไม่รุ่งเอาเสียเลยในสมัย ร.3

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า วันที่ ๒๖ มิถุนายน เป็นวันสุนทรภู่ กวีเอกของโลก ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๒ ตกอับในรัชกาลที่ ๓ สิ้นชีวิตในรัชกาลที่ ๔ มูลเหตุที่สุนทรภู่ได้เป็นกวีที่ปรึกษาก็เพราะกลอน คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ ทรงนำพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ มาแก้ไขให้เหมาะสม กับการแสดงละคร มีตอนหนึ่งคือตอนหนุมานถวายแหวน ถึงบทสีดาผูกคอตายกลอนของเดิมว่า

บัดนั้น วายุบุตรวุมิไกรใจกล้า
ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา ผูกศอโจนมาก็ตกใจ
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้
โลดโผนโจนลงตรงไป ด้วยกำลังว่องไวทันที
ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง ที่ผูกองค์พระลักษมี
หย่อนลงยังพื้นปัฐพี ขุนกระบี่ก็โจนลงมา


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ ทรงติว่า บทหนุมานยาวไป กว่าจะช่วยได้ ก็พอดีสีดาตายจริง ๆ หรือไม่ก็บรรยากาศของผู้ดูจะเห็นว่าสีดาตายจริง ๆ จึงทรงพระราชนิพนธ์เสียใหม่ เป็น

"จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่"


นัยว่าจนพระราชหฤทัย จึงรับสั่งให้สุนทรภู่ช่วยแต่ง สุนทรภู่ต่อขึ้นได้ในทันทีทันใดนั้น

"ชายหนึ่งผูกศออรไท แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ได้ดังใจหมาย"


จะเห็นว่ากลอนของสุนทรภู่นั้นสั้นและให้ใจความชัดเจน ทั้งยังทำให้ผู้ดูเห็นว่า หนุมานช่วยสีดาไว้ได้ทันท่วงที


เรื่องที่สุนทรภู่ถูกพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กริ้วนั้น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนานั้น ทรงแบ่งตอนบุษบาเล่นธาร เมื่อท้าวดาหาไปใช้บน พระราชทานให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงพระนิพนธ์ เมื่อทรงพระนิพนธ์แล้ว ถึงวันจะอ่านถวายตัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ มีรับสั่งให้วานสุนทรภู่ดูเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่าเห็นดีแล้ว ครั้นเสด็จออกเมื่อโปรดให้อ่านต่อหน้ากวีที่ปรึกษาพร้อมกันถึงบทแห่งหนึ่งว่า

"น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว"


สุนทรภู่ติว่ายังไม่ดี ขอแก้เป็น

"น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว"

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ โปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสว่า เมื่อขอให้ไปตรวจทำไมจึงไม่แก้ไขแกล้งนิ่งเอาไว้ติหักหน้าเล่นกลางคัน เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ครั้งหนึ่ง เรื่องท้วงติงอีกครั้งหนึ่ง คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระราชทานให้กรมหมื่น เรื่องสุนทรภู่ต้องระเหระหนในรัชกาลที่ ๓ ถ้านึกถึงความเป็นจริงจะเป็นความอยุติธรรมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็คงไม่ได้เพราะพระองค์พระราชทานให้สุนทรภู่ตรวจดูแล้ว ในฐานะที่ทรงนับถือเป็นครู สุนทรภู่ก็เห็นด้วย แต่ต่อหน้าพระที่นั่งกลับติ และก็ไม่ได้เพียงครั้งเดียวเป็นถึงสองครั้ง ถ้าเป็นตัวเราเองก็คงเห็นจะคบกันไม่ได้


แต่ถ้ามองโลกในแง่ดีจะถือว่าเป็นความผิดของสุนทรภู่ก็ไม่ได้อีก เพราะอารมณ์กวีอาจเกิดขึ้นตอนนั้นก็ได้ ตอนแรกสุนทรภู่อาจเห็นว่าไพเราะแล้ว แต่พอหน้าพระที่นั่ง อารมณ์กวีเกิดขึ้นทันทีจึงเห็นว่ายังไม่ไพเราะก็เป็นได้ คงจะเป็นถึงคราวโชคชะตาของท่านที่จะตกอับ แต่ก็นับว่าเป็นความโชคดีของเรา ที่ทำให้ท่านตกอับระเหระหน จึงต้องแต่งเรื่องต่าง ๆ ขายเพื่อยังชีพ เราจึงได้อ่านเรื่องดี ๆของท่านมากมายหลายเรื่อง


ข้อมูลจาก : http://210.1.20.34/?name=article&file=readarticle&id=392