สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว เป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นพระเชษฐา ของมเหสีในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) และเป็นพระมาตุลาของสมเด็จพระราเมศวร


พระราชประวัติ

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 มีพระนามเดิมว่า ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งคำว่า "พะงั่ว" นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง ลำดับที่ 5 ตามการนับเลขแบบไทย

โดยมีความหมายว่า พระองค์เป็นราชบุตรพระองค์ที่ 5 พระองค์เป็นพระเชษฐา ของพระมเหสีในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ตรัสเรียกพระองค์ว่าพระเชษฐา

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 1893 ในการนั้นพระองค์ทรงสถาปนาขุนหลวงพะงั่วขึ้นเป็น "สมเด็จพระบรมราชาธิราช" พร้อมทั้งโปรดให้ขึ้นไปครองราชสมบัติ ณ เมืองสุพรรณบุรี

ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จมาแต่เมืองลพบุรีและขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อมา โดยพระองค์ยังคงครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรีเช่นเดิม

จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 1913 พระองค์ได้เสด็จจากเมืองสุพรรณบุรีมายังกรุงศรีอยุธยา ความทราบถึงสมเด็จพระราเมศวร พระองค์จึงเสด็จออกไปอัญเชิญเสด็จพระมาตุลาเข้าสู่พระนคร หลังจากนั้น สมเด็จพระราเมศวร ได้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์

และถวายบังคมลาเสด็จไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม พระองค์เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1931 รวมระยะเวลาในการครองราชสมบัติได้ 18 ปี โดยพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสของพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบไป


พระราชกรณียกิจ

ราชการสงคราม

เมื่อ พ.ศ. 1895 พระองค์ได้ทรงยกทัพไปยังเมืองนครธม แห่งกรุงกัมพูชาธิบดี เพื่อช่วยทัพของสมเด็จพระราเมศวร ที่เข้าโจมตีกรุงกัมพูชาธิบดีก่อนหน้านั้น การศึกครั้งนี้มีเหตุจากการที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาบดี แปรพักตร์

ดังนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีพระราชโองการให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปปราบปราม แต่การไม่เป็นดังคาด ทัพพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีสามารถโจมตีทัพหน้า ของกรุงศรีอยุธยาจนแตกพ่าย แล้วจึงเข้าปะทะกับทัพหลวงต่อ

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีพระราชโองการให้ขุนตำรวจออกไปเชิญพระองค์ที่ประทับอยู่ ณ เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นไปทำศึกช่วยสมเด็จพระราเมศวร การศึกดำเนินไปเป็นระยะเวลา 1 ปีโดยประมาณ

จึงสามารถเอาชนะกรุงกัมพูชาธิบดีได้สำเร็จ และได้กวาดต้อนครัวชาวกัมพูชาธิบดีเข้ามายังอยู่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ่

หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในปี พ.ศ. 1914 พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปทำสงคราม กับเมืองฝ่ายเหนือหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว เมืองพิษณุโลก เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง สงครามยืดเยื้อกันมาเป็นเวลานาน จนพระองค์เสด็จสวรรคต


สงครามกับเมืองชากังราว

พระองค์ทรงยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองชากังราวถึง 4 ครั้ง เนื่องจากเมืองชากังราวเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัย โดยครั้งแรกนั้นทรงยกกองทัพไปเมืองปี พ.ศ. 1916 พระยาไสแก้วและพระยาคำแหงเจ้าเมืองชากังราวออกรบต่อพระองค์

การศึกในครั้งนั้นเป็นเหตุให้พระยาไสแก้วเสียชีวิต แต่พระยาคำแหงนั้นสามารถกลับเข้าเมืองได้ แล้วทรงยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา พระองค์ยกทัพขึ้นไปเมืองชากังราวครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 1919 พระยาคำแหงและท้าวผ่าคอง คิดกันว่าจะยอทัพหลวงทำมิได้

ครั้งนั้นท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี แต่พระองค์ทรงยกทัพตามและสามารถตีทัพท้าวผ่าคองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นเป็นจำนวนมาก แล้วทรงยกทัพหลวงกลับพระนคร

พระองค์ยกทัพมาเมืองชากังราวเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 1921 ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชา (ที่ 2) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ทรงออกรบเป็นสามารถ แต่เห็นจะสู้ทัพจากกรุงศรีอยุธยาไม่ไหว

ดังนั้น พระมหาธรรมราชาจึงออกมาถวายบังคม พระองค์ทรงให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองต่อไป ในฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา แล้วทรงยกทัพหลวงกลับพระนคร

พระองค์ยกทัพไปเมืองชากังราวอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 1931 แต่ไม่ปรากฏว่าทรงยกทัพไปด้วยสาเหตุอันใด ครั้งนั้นทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตระหว่างการเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา


การพระศาสนา

เมื่อ พ.ศ. 1917 พระองค์และพระมหามหาเถรธรรมากัลญาณ ได้ปรึกษากันและทรงสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ ฝ่ายบุรพทิศ (วัดมหาธาตุ) หน้าพระบันชรสิงห์สูง 19 วา ยอดนพศูลสูง 3 วา


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี