เครื่องหมาย อย.
ภัยสังคม

อ่านฉลากดีๆก่อนการซื้อทุกครั้งมั่นใจได้
เครื่องหมาย อย. นับเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะเข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก อย.แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพบางชนิด กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องแสดงเครื่องหมาย อย.บนฉลาก
ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ยังคงพบว่ามีปัญหาการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อผู้บริโภค คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุม โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องมาทำการจดแจ้งต่อ อย.ก่อนออกวางจำหน่าย แต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดจะไม่มีการแสดงเครื่องหมาย อย.บนฉลากผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคอาจยังพบฉลากเครื่องสำอางบางชนิดที่ยังคงมีเครื่องหมาย อย.บนฉลาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ ผลิตภัณฑ์ดัดผม ยืดผม เป็นต้น เนื่องจากเครื่องสำอางดังกล่าว แต่ก่อนจัดอยู่ในกลุ่มของเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ แม้จะมีการปรับกฎหมายใหม่แล้ว แต่ อย.ยังคงผ่อนผันให้ผู้ประกอบการรายเดิมใช้ฉลากที่มีเครื่องหมาย อย. ได้จนถึง 31 ธันวาคม 2553 นี้

สำหรับ ปัญหาที่พบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือ ผู้ขายมักใช้ข้อความโฆษณาที่เป็นการ โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ซึ่งจะพบมากในผลิตภัณฑ์ทาสิว ฝ้า ที่ทำให้หน้าขาว เช่น “ใช้แล้วขาวบริ๊ง ดูดซึมเร็ว เห็นผลทันใจ” “ช่วยปรับ ผิวขาวเร่งด่วนได้ใน 2 สัปดาห์ เห็นผลจริง” “ทำให้ผิวหน้าสะอาดล้ำลึก ขาวใส เปล่งปลั่ง นุ่มเนียน กระชับ จนคุณรู้สึกได้เลยเมื่อแรกใช้” เป็นต้น โดยมักอ้างว่าขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้ว การที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ามาจดแจ้งผลิตภัณฑ์ต่อ อย. เป็นเพียงการแจ้งสูตร ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ให้ อย.ทราบว่าไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตราย แต่ไม่ได้เป็นการรับรองในส่วนของการโฆษณา ดังนั้น ในการเลือกซื้อเครื่องสำอางให้ปลอดภัย ผู้บริโภคควรเชื่อสรรพคุณเฉพาะที่มีระบุบนฉลากเท่านั้น ไม่ใช่การโฆษณา และควรดูว่ามีฉลากภาษาไทยที่ระบุรายละเอียดที่ครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และปริมาณสุทธิ รวมถึงควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ

โดยสรุปแล้ว ผู้บริโภคไม่ควรคำนึงถึงแต่เครื่องหมาย อย. บนผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือพิจารณาแต่ว่าผ่าน อย.แล้ว หรือขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญ คือ ผู้บริโภคควรอ่านข้อมูลบนฉลากส่วนอื่น ๆ ด้วย และใช้ข้อมูลบนฉลากให้เป็นประโยชน์ก่อนการพิจารณาตัดสินใจซื้อ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ

ขอบคุณบอร์ดบ้านมหาดอดคอมและClassifiedThai