10 รายการตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง 10 รายการตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง
10 รายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นของผู้หญิง
การเชื่อว่า ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บซ่อนอยู่ในตัวย่อมทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี แต่จะดีกว่านี้ถ้ามีการตรวจเช็คร่างกายเพื่อความมั่นใจเต็มร้อยว่าปลอดโรคภัยอย่างแท้จริงหรือไม่ เรามีข้อแนะนำสำหรับคุณผู้หญิงทุกคนในการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายที่สำคัญ 10 ประการเพื่อประโยชน์ของคุณเองและอย่าลืมพาคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของคุณไปตรวจร่างกายด้วยก็ดี

1. เต้านม การอัลตราซาวนด์เต้านมควรเริ่มทำเมื่ออายุ 40 ปี เพื่อตรวจความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมและผลที่อาจเกิดจากวัยทองได้ โดยควรตรวจอย่างน้อยที่สุดทุกๆ 2 ปี สำหรับสาวๆ ในวัยอื่นก็ควรเข้ารับการตรวจแบบอัลตราซาวนด์ด้วย เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของโรคที่อาจเกิดจากเต้านมได้

2. ตา ต้อหินมักเกิดกับผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป ส่วนสาววัย 30 ขึ้นไปก็จะเริ่มมีปัญหากับดวงตา จึงมีความจำเป็นมากในการตรวจเช็คขอภาพหรือตรวจวัดสายตา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีปัญหาเลือดลมไม่ดี

3. ฟัน ควรตรวจฟันอย่างน้อยที่สุดปีละครั้งหรือ 6 เดือนครั้ง เพื่อตรวจดูว่า มีหินปูนเกาะหรือมีฟันผุไหม เพื่อจะได้ทำการรักษาแต่เนิ่นๆ ไม่รอจนกระทั่งเหงือกอักเสบ หรือฟันผุมากจนต้องถอนทิ้งในที่สุด

4. หัวใจและเลือดลม ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ จะมีโอกาสเสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจน้อยที่สุด ส่วนผู้ที่ขี้เกียจออกกำลังกายอย่างได้นิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจความดันโลหิต เพื่อป้องกันและโรคอัมพาตตั้งแต่เนิ่นๆ

5. แปปสเมียร์ ผู้หญิงที่วัย 25 ปีขึ้นไป หรือวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์เร็ว ควรมีการตรวจภายในและตรวจเซลล์เยื่อบุปากมดลูก ที่เรียกว่าแปปสเมียร์ปีละครั้ง จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกในระยะต้นๆ เพื่อนำไปสู่การรักษาให้หายขาด

6. มดลูก การอัลตราซาวนด์เป็นสิ่งสำคัญมากในกรณีอาจเป็นซีสต์หรือเนื้องอก เพื่อตรวจทำการรักษาได้ทัน ส่วนสตรีที่ต้องการจะมีลูกควรตรวจอัลตราซาวนด์ปีละครั้งดีที่สุด

7. ผิวหนัง หากไฝมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลง หรือผิวมีผื่นเล็กๆ เป็นขุย ซึ่งมักพบบริเวณใบหน้า แขน หลังมือ โดยเฉพาะบริเวณที่โดนแสงแดดมากๆ ควรไปให้แพทย์ผิวหนังตรวจ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน

8. กระดูก ผู้หญิงช่วงวัยทองควรไปตรวจความแน่นของกระดูก ถ้ามีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนหรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น น้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน โรคปวดตามข้อ ปวดหลัง กระดูกหัก จะได้ทำการรักษาความแข็งแรงของกระดูกไม่ให้เสื่อมเร็ว

9. ลำไส้ เมื่ออายุย่างเข้าสู่เลข 5 ควรเข้ารับการตรวจลำไส้ใหญ่เป็นประจำทุกปี เพราะลำไส้ใหญ่มีโอกาสเสี่ยงกับการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้ และหากอายุ 55 ปี ก็จำเป็นต้องตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะหากญาติพี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน

10. เลือด เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจเลือดทุก 2 ปี ซึ่งผลการตรวจเลือดจะบอกได้ว่ามีการติดเชื้อ เป็นภูมิแพ้ หรือมีโลหิตจางหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถตรวจเช็คค่าคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือดอีกด้วย เพื่อดูว่ามีความเสี่ยงกับการเป็นโรคเบาหวานหรือไม่

ขอบคุณบอร์ดบ้านมหาและนิตยสารลิซ่าสุดสัปดาห์