วันนี้วันอาทิตย์ พรุ่งนี้วันจันทร์ต้องไปทำงาน

ที่ว่านี้หมายถึงคนที่ยังมีงานทำปกติ

แต่ถ้าเป็นคนที่เกษียณ ก็ต้องนั่งอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องไปทำงานเหมือนเคย

มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปเมื่อถึงวันต้องเกษียณ ที่สำคัญที่สุดก็คือไม่ได้ทำงานเหมือนที่เคยทำมานานเกือบตลอดชีวิต

คนที่เคยเป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้บัญชาการทหาร เป็นปลัดกระทรวง เป็นอธิบดี ก็ต้องทำใจให้ได้ เพราะอำนาจต่าง ๆ ที่เคยมีหายวับไปโดยพลัน

หากทำใจไม่ได้ก็จะห่อเหี่ยวหัวใจไปจนตาย

อีกทั้งสิทธิพิเศษที่เคยมีจะถูกหลวงยึดกลับคืนไปจนหมด เช่น

รถหลวง บ้านหลวง โทรศัพท์หลวง เป็นต้น

มีอย่างเดียวที่หลวงไม่ยอมยึดกลับก็คือ เมียหลวง

ข้าราชการส่วนใหญ่ที่เกษียณจะไม่เดือดร้อนในเรื่องการเงินเพราะมีเงินบำนาญกิน

เงินบำนาญสามารถนำมาใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพได้จนตลอดชีวิต

เช่นเดียวกับพนักงานรัฐวิสาหกิจก็มีเงินบำเหน็จเป็นก้อนให้นำมาใช้หลังเกษียณ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหมายถึงว่า ไม่มีหนี้สิน หากใครได้เงินบำเหน็จมาแล้ว ต้องใช้หนี้ไปเกือบหมด ก็เดือดร้อนได้ ผู้เกษียณที่ไม่เดือดร้อนจะต้องเป็นคนที่วางแผนการใช้เงินมาดี

บางคนไม่ได้วางแผนเก็บเงินไว้ใช้ตอนแก่เท่านั้น ยังหางานสำรองทำไว้ด้วย เช่น เปิดร้านขายของชำ ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้บริษัท หรือไปดูแลสวนยางพาราที่ปลูกไว้ก่อนเกษียณซึ่งกำลังจะกรีดได้

เพื่อนผมคนหนึ่งพอเกษียณ วันแรกก็มีอาชีพทำทันทีคือเป็นหมอดู

ที่ทำได้ทันทีก็เพราะก่อนเกษียณก็เริ่มมีอาชีพหมอดูบ้างแล้ว

บางคนโชคดี เพราะลูกได้ดิบได้ดี ลูกคนโตมีงานทำได้เงินเดือนเยอะ อีกคนเป็นนักธุรกิจค้าขายจนร่ำรวย และอีกคนไปเปิดร้านอาหารไทยอยู่ที่ออสเตรเลีย

ที่ว่าโชคดีก็เพราะลูก ๆ ให้เงินใช้ พอเหงาก็ขึ้นเครื่องบินไปพักผ่อนอยู่กับลูกที่ออสเตรเลีย

เมื่อมีคนโชคดีก็ต้องมีคนโชคร้าย เพราะบางคนพอเกษียณก็ป่วยทันทีเป็นทั้งโรคหัวใจ และโรคไต ต้องล้างไต ต้องใช้จ่ายเงินมากแต่เบิกไม่ได้เพราะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ปลดเกษียณแล้วไม่มีสิทธิเบิก

เงินที่เก็บไว้รวมทั้งเงินบำเหน็จ ต้องนำออกมารักษาตัวจนเหลือน้อยเต็มที

บางคนป่วยเป็นอัมพฤกษ์ มีเงินอยากจะเที่ยวก็ไปเที่ยวไม่ได้ ได้แต่นั่งคิดโทษตัวเองอยู่คนเดียวว่า

“รู้อย่างนี้ ก่อนป่วยน่าจะเที่ยว เก็บเงินไว้ทำไมก็ไม่รู้”

พูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว คนเกษียณ หรือคนสูงอายุ ถ้าพอมีเงินไปไหนมาไหนได้ ควรจะไปเที่ยว เพราะอีกไม่นานก็ตายแล้ว หรือไม่ก็เดินไม่ไหว

เมื่อยังมีแรงให้เดินได้ ก็ควรพักผ่อนด้วยการเที่ยว แต่ต้องหมายถึง เที่ยวแล้วไม่ทำให้เดือดร้อนเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย

บางคนบอกว่า หลังเกษียณไม่ควรทำอะไร หมายถึงพักผ่อนอยู่บ้านเฉย ๆ ดีที่สุด

สำหรับเรื่องนี้ ผมขอค้าน เพราะการอยู่เฉย ๆ จะตายเร็วขึ้น เพราะมีเวลาว่างเกินไป

ดีที่สุด ควรหางานทำ

ทำอะไรก็ได้ ที่เราชอบทำ ถึงแม้ได้ค่าตอบแทนน้อยก็ไม่เป็นไร

คนแก่สมัยนี้ ส่วนใหญ่สมองยังใช้งานได้ หากอยากทำงาน นายจ้างยังต้องการ หรือจะทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนตัวก็ได้ เช่น ทำสวน ปลูกผักสวนครัว

สรุปแล้ว คนแก่ควรมีงานทำ มิเช่นนั้นแล้ว ถ้าอยู่บ้านเฉย ๆ นาน ๆ เข้าจะเบื่อตัวเอง ความจำก็เสื่อมเร็ว กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย

ตามสถิติ คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือโรคขี้หลงขี้ลืม เช่น กินข้าวแล้วบอกว่ายังไม่ได้กิน อีกทั้งยังถามเรื่องเดียวซ้ำ ๆ หลายครั้ง มักจะเป็นคนเก็บตัวพักผ่อนอยู่ที่บ้านเงียบ ๆ คบเพื่อนก็ไม่คบ แม้โทรศัพท์ก็ไม่รับ เหมือนไม่ต้องการติดต่อกับใคร

คนเป็นอัลไซเมอร์นั้น ตัวเองไม่เดือดร้อน แต่ทำให้คนรอบข้างต้องเหนื่อยกับการดูแล

อย่างไรก็ตามถ้าต้องการมีความสุขหลังเกษียณ จะต้องเข้าใจชีวิตว่า

เกิดมาเป็นคนก็เป็นเช่นนี้แล คือ โชคดีบ้าง โชคร้ายบ้าง สบายบ้าง ลำบากบ้าง

เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเองก็อย่าไปกังวล เพราะความทุกข์จะอยู่กับเราไม่นาน เช่นเดียวกับความสุขก็อยู่กับเราไม่นานเช่นกัน

ทุกคนเกิดมาจะต้องมีวิถีการเดินทางของชีวิตเหมือนกัน คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงควรอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด โดยตัดความกังวลทุกอย่างออกไป

และถ้าไม่อยากแก่มากกว่านี้ ทำง่ายนิดเดียวคือให้รีบตายเสียก่อน

ถึงแม้ผมไม่เคยตาย แต่ก็พอจะรู้ว่าความตายไม่ได้เป็นสิ่งน่ากลัวเลย

ที่ไม่น่ากลัวก็เพราะ เมื่อตายไปแล้วจะได้มีที่อยู่ใหม่ อีกทั้งไม่ต้องกังวลว่าตัวเราจะได้ขึ้นสวรรค์หรือตกนรกด้วย

ถูกแล้ว ถ้าไม่ได้ขึ้นสวรรค์ การตกนรกก็ดีเหมือนกันเพราะเพื่อน ๆ ของเราส่วนใหญ่ที่ตายไปแล้วกำลังรอเราอยู่ที่นรกหลายคน เราจะได้ไม่เหงา.


ไมตรี ลิมปิชาติ