กำลังแสดงผล 1 ถึง 4 จากทั้งหมด 4

หัวข้อ: ส.คบ. หน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

  1. #1
    ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สัญลักษณ์ของ sert1964
    วันที่สมัคร
    Nov 2007
    กระทู้
    314

    ส.คบ. หน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

    ส.คบ. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541 เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามมาตรา 4 ที่ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการคุ้มครอง 5 ประการ ได้แก่ 1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาและ 5) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

    กองงาน 3 ฝ่าย ของ ส.คบ.

    เมื่อประชาชนเห็นว่าสิทธิผู้บริโภคในการใช้สินค้าหรือบริการของตนถูกละเมิดก็สามารถมายื่นเรื่องที่ ส.คบ. ซึ่ง ส.คบ. มีกองงาน 3 ฝ่ายให้ประชาชนยื่นเรื่องร้องทุกข์คือ 1) กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา 2) กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก 3) กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา หลังจากรับเรื่องแล้ว ส.คบ.ก็จะทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมส่งเสริมหรือกำหนดมาตรฐานของสินค้าหรือบริการ หรือในบางกรณี ส.คบ.ก็อาจจะทำหน้าที่ดำเนินคดีแทนผู้บริโภค ก็ได้ครับ

    ประสานงาน...เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

    ที่ผมบอกว่าเขาจะประสานงานกับหน่วยงานอื่นก็คือหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองเพื่อความปลอดภัยและเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สินค้าที่เป็นอันตราย เช่น อาหารผสมสีย้อมผ้า อาหารไม่บริสุทธิ์ หรือสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เช่น พืชผลไม้ซึ่งมียากำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ โดยจะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามที่เห็นสมควร หรือ สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เช่น สินค้าเลียนแบบ หรือสินค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น ขายสินค้าเกินราคา สินค้าที่มีปริมาณไม่ตรงตามมาตราชั่ง ตวง วัด โดยจะประสานงานกับกรมการค้าภายในกรมทะเบียนการค้า และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ออกดำเนินการตรวจสอบ จับกุมและดำเนินคดี ส่วนบริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค สินค้าหรือบริการที่โฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความเป็นจริง สินค้าที่แสดงฉลากหลอกลวง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะกำหนดมาตรการในการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการเหล่านี้และติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ เหล่านั้นอยู่เสมอ

    คดีแบบไหน...ที่ ส.คบ.ดำเนินคดีแทน

    ไม่ใช่ทุกคดีนะครับที่ ส.คบ. จะดำเนินคดีแทนผู้บริโภค ซึ่งคดีที่ ส.คบ. จะดำเนินการทางด้านกฎหมายแทนผู้บริโภคนั้นต้องเป็นคดีที่ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ใช้สินค้าโดยชอบ แม้ไม่ได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตามครับ โดยหากบุคคลเหล่านี้ถูกละเมิดสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งใน 5 ประการข้างต้นตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบกับการดำเนินคดีจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นส่วนรวม เช่น หากผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นยังคงประกอบธุรกิจลักษณะนั้นต่อไปอาจทำให้ผู้บริโภครายอื่นๆ ได้รับความเสียหาย ดังเช่น ผลิตอาหารที่มีสารพิษปลอมปนเป็นต้น

    สินค้าที่อาจเป็นอันตราย...ไม่ต้องรอคนแจ้ง

    เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าสินค้าชนิดใดที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค คณะกรรมการคุ้มครองฯ ก็อาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้านั้น หากผลการพิสูจน์ปรากฏว่าสินค้านั้นเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคและไม่อาจป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากสินค้านั้นได้โดยการกำหนดฉลาก หรือตามกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งห้ามขายสินค้านั้นและถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงสินค้านั้นภายใต้เงื่อนไขตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้ ในกรณีที่สินค้านั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือเป็นที่สงสัยว่าผู้ประกอบธุรกิจจะเก็บสินค้านั้นไว้เพื่อขายต่อไป คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจทำลายหรือจะจัดให้มีการทำลายโดยผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายก็ได้

    ถ้าผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าที่คณะกรรมการสั่งห้ามขายเพราะสินค้านั้นอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจนั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าผู้ประกอบธุรกิจนั้น เป็นผู้ผลิตเพื่อขายหรือเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้ประกอบธุรกิจนั้นต้องระวางโทษหนักขึ้น คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ท่านใดถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือได้รับอันตรายจากสินค้าหรือบริการสามารถร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทำเนียบรัฐบาล กทม. 10300 โดยการเขียนจดหมายส่งตู้ ปณ.99 กรุงเทพฯ 10300 ไปด้วยตนเองหรือโทรศัพท์สายด่วนร้องทุกข์ ส.คบ. โทร. 1166 ได้เลยครับ

    *อย่าดมก่อนเห็น อย่าเซ็นก่อนอ่าน* ถ้าท่านจะทำธุรกรรมหรือนิติกรรมอันใด อย่าลืมอ่านสัญญาให้ถ้วนถี่นะครับ อ่านทั้งหมดเลยจะได้รู้ว่าเราเสียเปรียบเขามากแค่ไหน...ค้ำประกันทุกวันนี้ เขามัดมือชกให้เป็นลูกหนี้ร่วม สิทธิของคนค้ำไม่มีเหมือนแต่ก่อน…

    ที่มา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

  2. #2
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197
    ขอบคุณมากนะคะ อ่านแล้วไ้ด้ความรู้มากมายค่ะ
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

  3. #3
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ pcalibration
    วันที่สมัคร
    Nov 2008
    ที่อยู่
    เมืองฉะเชิงเทรา(แปดริ้ว)
    กระทู้
    1,883
    บล็อก
    1
    ขอบคุณครับท่านอาจารย์sert1964..สำหรับข้อมูลที่ดีดี
    ในหลักการและความมุ่งมั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อส่วนรวม
    แต่ในโลกของความเป็นจริง..ก็ยังถูกมองว่าเป็นแค่เสือกระดาษ..

  4. #4
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63
    แทงค์คิว หลายๆเด้อครับที่มีผุหาควมฮู้มาให่ได่อ่านกัน (ปล.ฮิบมาเร็วๆไวๆแหน่เด้อถ่าดนหลายมันสิหล่ายเด้)

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •