กำลังแสดงผล 1 ถึง 9 จากทั้งหมด 9

หัวข้อ: หมอบรัดเลย์ CNN ประจำกรุงสยาม

  1. #1
    Moderators สัญลักษณ์ของ สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน
    วันที่สมัคร
    Feb 2010
    ที่อยู่
    เกาหลี
    กระทู้
    750
    บล็อก
    30

    อ่านข่าวออนไลน์ หมอบรัดเลย์ CNN ประจำกรุงสยาม

    หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันผู้ทุ่มเทบุกเบิกงานพิมพ์ในสยามมากกว่างานสอนศาสนา แล้ว Bangkok Recorder หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยามก็อวดโฉม สร้างสมาชิกกว่า 100 คน ซึ่งสมาชิกหมายเลข ๑ ก็คือ คิงมงกุฎ (ร.๔) นั่นเอง
    หมอบรัดเลย์ หรือ ด็อกเตอร์แดน พีช แบรดเล เป็นชาวเมือง Marcellus นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา บรัดเลย์เป็นคนมีความรู้ที่ร.๔ เคยสั่งให้เข้าไปสอนภาษาอังกฤษแก่ฝ่ายใน

    ในปีพ.ศ. ๒๓๗๘ หมอบรัดเลย์ได้ตั้งศาลาโอสถขึ้น ณ ศาลาข้างใต้วัดเกาะ เปิดรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยตลอดวัน ซึ่งการตั้งโรงหมอของบรัดเลย์เกิดจากความต้องการดึงดูดความสนใจของคนให้เข้ามาสนใจศาสนาของตน กล่าวคือ เมื่อมีคนมารักษาจะไม่คิดค่ารักษาและค่ายา แต่จะแจกหนังสือเกี่ยวกับศาสนาให้แทน ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านที่ยากจนเป็นอย่างมาก เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งมีคนมารักษาประมาณ ๘๕ คนเลยทีเดียว

    แต่เมื่อเปิดได้สองสามเดือน ก็ถูกเจ้าของที่ไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น จึงได้ย้ายไปอยู่ที่กุฎีจีน ปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆกับโบสถ์ซางตาครู้ส และเปิดร้านจ่ายยาขึ้นเป็นครั้งที่สอง พร้องกับตั้งกิจการโรงพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยสั่งเครื่องพิมพ์ของมิชชันนารีเข้ามาในปีพ.ศ. ๒๓๗๗ งานแรกที่พิมพ์คือ พิมพ์กิจการศาสนาคริสต์แจก และพิมพ์ประกาศของทางราชการ เรื่องห้ามนำฝิ่นเข้ามาในประเทศสยามจำนวน ๙ ฉบับในปี พ.ศ. ๒๓๘๒

    หลังจากทำงานพิมพ์เล็กๆน้อยๆอยู่ซักระยะ หมอบรัดเลย์ก็ออกหนังสือพิมพ์ฉบับรายปีชื่อ “บางกอกคาเลนเดอร์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามประเทศ แล้วต่อมาก็ออกหนังสือพิมพ์รายเดือนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งฉบับ ชื่อ “หนังสือจดหมายเหตุใหม่” (Bangkok Recorder)


    ด้วยความเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทำให้หมอบรัดเลย์เกิดปัญหาโต้แย้งกับคนเกือบทุกฝ่าย อาทิ เขียนบทความว่าพระมหากษัตริย์ใช้เงินอย่างไม่มีประโยชน์ แทนที่จะเอาเงินไปพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญ กลับต้องเอาไปใช้เลี้ยงดูผู้คนในวังอย่างไม่จำเป็นถึง ๒๒,๗๕๔ คน ซึ่งเป็นการตำหนิด้วยความหวังดี ร.๔ จึงไม่ทรงกริ้ว(คงเพราะความเป็นพระสหายด้วย)

    แต่กรณีที่หนักหนาถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล ก็คือกรณีพิพาทระหว่างนายโอบาเรต์กงสุลฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ที่ทำการละเมิดต่ออำนาจของไทย โดยการชักชวนข้าทาสคนไทยไปอยู่ในร่มธงฝรั่งเศส และตั้งตนเป็นเอเย่นขายสุราโดยมิได้แจ้งแก่รัฐบาลไทย เมื่อหมอบรัดเลย์ทราบเรื่องจึงได้นำไปเขียนลงหนังสือพิมพ์ นายโอบาเรต์ไม่พอใจจึงเกิดการฟ้องร้องขึ้น
    ซึ่งการตัดสินความปรากฎว่า หมอบรัดเลย์แพ้คดี ถูกปรับ แต่มีชาวไทยช่วยเรี่ยไรเงินมาจ่ายค่าปรับแทน และ ร.๔ ก็ได้พระราชทานเงินมาร่วมด้วย

    จากนั้นก็พิมพ์หนังสือเล่มจำหน่าย อาทิ เรื่องสามก๊ก ซึ่งร.๔ ทรงสั่งซื้อเป็นจำนวนถึง ๕0 เล่ม เพื่อประทานแก่โอรสธิดา

    หมอบรัดเลย์เป็นหมอฝรั่งคนแรก ที่นำเอาหลักวิชาแพทย์สมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย โดยได้เริ่มการผ่าตัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗0 และเริ่มการปลูกฝีบำบัดไข้ทรพิษ โดยปลูกของตนเองเป็นตัวอย่างในงานฉลองวัดประยูรวงศ์ ซึ่งร.๓ ได้ส่งหมอหลวงมาเรียนด้วย

    ปัญหาสำคัญที่สุดของหมอบรัดเลย์คือการระหกระเหินย้ายถิ่นฐานเสมอ ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ร.๔ จึงโปรดเกล้าฯให้เช่าอยู่ที่หลังป้อมวิไชยประสิทธิ์อย่างเป็นทางการ โดยมีหนังสือสำคัญเรื่องการเช่าที่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นหลักฐาน

    ปัจจุบันหมอบรัดเลย์ ผู้นำเครื่องพิมพ์เข้ามายังสยามประเทศเป็นครั้งแรก ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการพิมพ์ หรือ CNN ประจำกรุงสยามนั่นเอง


    จากหนังสือ ทวิภพ

    www.pantip.com

  2. #2
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ๒๐๐ ปีหมอบรัดเลย์ ชีวิตและงานอันยิ่งใหญ่ของชายผู้หนึ่ง
    ส. พลายน้อย


    สยาม, ปีที่ ๑๑ ในรัชสมัยพระบาทสม เด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    มิชชันนารีอเมริกันนาม แดน บีช บรัดเลย์ และภรรยา ได้มาถึงบางกอกเมื่อเวลาสามทุ่ม หลังจากเดินทางโดยเรือใบจากสหรัฐอเมริกา รอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นเวลานาน
    ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ วันที่มาถึง ตรงกับวันเกิดปีที่ ๓๑ ของเขาพอดี
    พระนครในความมืดที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า คือจุดหมายปลายทางที่มิชชันนารีอเมริกันผู้นี้ปรารถนาจะนำคำสอนและพระกิตติคุณของพระผู้เป็นเจ้ามาเผยแผ่ หากตลอดเวลา ๓๘ ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในสยาม งานเผยแผ่ศาสนาซึ่งเป็นภารกิจหลักของเขา กล่าวได้ว่าไม่บังเกิดผล แต่การริเริ่มกิจการอื่น ๆ กลับมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อสังคมสยามอย่างมหาศาล

    ไม่ว่าจะเป็นการนำการแพทย์สมัยใหม่มาสู่สยาม คือการผ่าตัดและการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การถอนฟัน การรักษาต้อกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิมพ์ซึ่งทำให้ความรู้เผยแพร่ไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว หมอบรัดเลย์พิมพ์ บางกอกรีคอเดอ ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย พิมพ์หนังสือทางการแพทย์ หนังสือราชการ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย ตลอดจนวรรณกรรม เช่น สามก๊ก โดยเฉพาะ นิราษเมืองลอนดอน นั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการซื้อขายลิขสิทธิ์วรรณกรรมไทย
    หมอบรัดเลย์เสียชีวิตด้วยโรคไทฟอยด์เมื่ออายุได้ ๖๙ ปี ร่างของเขาฝังอยู่ที่สุสานโปรเตสแตนต์ ยานนาวา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำที่พาชายผู้หนึ่งมาขึ้นฝั่งบางกอก และดำเนินชีวิตอยู่ต่อมาโดยพานพบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว
    ในประวัติศาสตร์ไทย แดน บีช บรัดเลย์ เป็นมิชชันนารีอเมริกันที่มีชื่อเสียง เพราะได้สร้างคุณูปการใหญ่ยิ่งแก่สังคมไทย เป็นที่จดจำเล่าขานแม้เวลาจะผ่านพ้นมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม...


    ถิ่นกำเนิด
    คนไทยกับคนอเมริกันได้พบเห็นหน้าอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ในครั้งนั้นประธานาธิบดีแย็กสัน (Andrew Jackson) ได้แต่งตั้งให้เอมินราบัดหรือ เอดมันด์ รอเบิต (Edmond Roberts) เป็นทูตขี่เรือกำปั่นเข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ (ภายหลังประเทศอังกฤษ) และต่อจากนั้น ๓ ปี หมอบรัดเลย์ก็นั่งเรือใบเข้ามา
    หมอบรัดเลย์เป็นคนเมืองมาร์เซลลุส (Marcellus) ในมลรัฐนิวยอร์ก เป็นเมืองที่บิดามารดามาตั้งครอบครัวอยู่หลังจากอพยพมาจากนิวฮาเวน (New Haven) บิดาชื่อ แดน บรัดเลย์ มีอาชีพเป็นศาสนาจารย์, เกษตรกร, ผู้พิพากษา และบรรณาธิการวารสารทางเกษตรกรรม มารดาชื่อ ยูนิซ บีช บรัดเลย์ (Eunice Beach Bradley) เมื่อนางให้กำเนิดหมอบรัดเลย์เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ แล้ว นางก็สิ้นชีวิตในวันต่อมา หมอบรัดเลย์เป็นบุตรคนที่ ๕ ชื่อแรกมาจากชื่อของบิดาคือ แดน และชื่อกลางมาจากชื่อสกุลมารดาคือ บีช รวมเป็น แดน บีช บรัดเลย์
    ต่อมาบิดาของท่านได้แต่งงานใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ ท่านจึงได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาเลี้ยง และมีน้องที่เกิดจากแม่คนใหม่อีก ๕ คน แม้กระนั้นก็ได้ให้ความรักความเมตตาแก่ท่านเป็นอย่างดี ทำให้ไม่รู้สึกว้าเหว่แต่อย่างใด
    ท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เป็นเด็ก จึงอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านสนใจในการพิมพ์หนังสือในสมัยต่อมา และอยากให้คนไทยอ่านหนังสือกันมาก ๆ
    เผอิญสิ่งแวดล้อมในอเมริกาครั้งนั้นเป็นผลดีแก่เมืองไทย ที่จะได้คนดีอย่างหมอบรัดเลย์เข้ามา คือในสมัยนั้นทางฝ่ายเผยแผ่ศาสนาคริสต์มีความต้องการมิชชันนารีที่เป็นแพทย์จำนวนมาก หมอบรัดเลย์จึงได้ตัดสินใจเข้าศึกษาวิชาแพทย์แทนที่จะทำงานทางศาสนา และเนื่องจากขณะนั้นสุขภาพไม่ค่อยดี ในระยะแรกท่านจึงศึกษากับนายแพทย์โอลิเวอร์ (Dr. A.F. Oliver) ที่เมือง Penn Yan แบบตามสบายเพื่อรอให้สุขภาพดีขึ้น
    เมื่ออยู่ในวัยรุ่น ท่านมีข้อบกพร่องอยู่อย่างหนึ่งคือพูดติดอ่าง ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการเผยแผ่ศาสนาที่จะต้องพูดหรือบรรยายธรรม ฉะนั้นท่านจึงต้องรีบแก้ไขโดยการเข้ากลุ่มฝึกพูด ซึ่งก็เป็นผลดี
    ในหนังสือ ๕๐ ปีโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน นายแพทย์คทาวุธ โลกาพัฒนา ได้กล่าวถึงการเรียนวิชาแพทย์ของหมอบรัดเลย์ไว้ตอนหนึ่งว่า
    "การศึกษาวิชาแพทย์ในสมัยนั้นเป็นการศึกษาแบบปฏิบัติกับแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ จนกระทั่งมีประสบการณ์เพียงพอจึงจะสอบเพื่อรับปริญญา ท่านเคยไปฟังบรรยายทางการแพทย์ที่ Harvard ในปี ค.ศ. ๑๘๓๐ และกลับไปฝึกปฏิบัติงานการแพทย์สลับกับการเป็นครูในหมู่บ้าน เมื่อสะสมเงินได้เพียงพอ จึงไปที่โรงเรียนแพทย์ในกรุงนิวยอร์กเพื่อเรียนและสอบได้ปริญญาแพทย์ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๓ ระหว่างอยู่ในนิวยอร์กยังได้ปฏิบัติงานหาความชำนาญ และระหว่าง ๒ ปีนั้นอหิวาตกโรคกำลังระบาดอยู่ในนิวยอร์ก โดยระบาดมาจากเมืองควิเบก ขณะศึกษาอยู่ในนิวยอร์กได้สมัครเป็นแพทย์มิชชันนารีกับ ABCFM (American Board of Commissioners of Foreign Missions) เพื่อทำงานในอาเซีย
    ที่นิวยอร์ก หมอบรัดเลย์ได้รู้จักกับบุคคลสองคนซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะต่อมา คนแรกคือ Charles Grandison Finney ซึ่งเป็นนักเทศน์และอาจารย์จาก Oberlin College มีความเชื่อว่า มนุษย์ควรจะดำรงชีวิตโดยไม่มีบาป คือดำรงชีวิตของตนเช่นเดียวกับพระคริสตเจ้า ความเชื่อนี้มีผลต่อการปฏิบัติงานของหมอบรัดเลย์ในเมืองไทย คนที่สองคือ Reverend Charles Eddy แห่งคณะ ABCFM ซึ่งแนะนำว่าการทำงานมิชชันนารีในต่างแดนควรจะมีผู้ช่วย"
    ในที่สุดหมอบรัดเลย์ได้เข้าศึกษาที่ College of Physicians ที่เมืองนิวยอร์ก และได้รับปริญญา Doctor of Medicine เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๓ (พ.ศ. ๒๓๗๖) พร้อมที่จะเป็นมิชชันนารีต่อไป
    จากบอสตันถึงบางกอก
    ได้มีผู้แนะนำหมอบรัดเลย์ว่า การเป็นมิชชันนารีในต่างแดนนั้น จำเป็นต้องมีผู้ช่วยจึงจะทำงานได้ผลดี และผู้ช่วยดังกล่าวก็ไม่มีใครดีไปกว่าภรรยา ดังนั้นหมอบรัดเลย์จึงตัดสินใจที่จะแต่งงาน ความจริงหมอก็พบนางในฝันแล้วชื่อ เอมิลี่ รอยซ์ (Emilie Royce) แต่ยังไม่ได้มีกำหนดว่าจะแต่งงานกันเมื่อไร (เอมิลี่เกิดที่คลินตัน, นิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๕๔ อ่อนกว่าหมอบรัดเลย์ ๗ ปี) แต่แล้วในตอนต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๗ ก็ได้รับจดหมายแจ้งให้เตรียมตัวเดินทางจากบอสตันในตอนต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องรีบกำหนดวันแต่งงานอย่างปัจจุบันทันด่วนในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๗๗ ทว่าการเดินทางได้เลื่อนไปต้นเดือนกรกฎาคม
    หมอบรัดเลย์และภรรยาออกเดินทางเมืองบอสตัน เมืองท่าสำคัญทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา เมื่อวันพุธที่ ๒ กรกฎาคม ๑๘๓๔ พร้อมกับมิชชันนารีกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเดินทางไปพม่า เรือชื่อ Cashmere ส่วนกัปตันชื่อ Hallet จะมุ่งไปปัตตาเวีย ใช้เวลา ๑๕๗ วันจนกระทั่งถึงเมืองท่า Amherst ของพม่า (อยู่ทางใต้ของเมืองมะละแหม่ง) เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๑๘๓๔ วันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม ๑๘๓๕ เรือได้มาจอดทอดสมอที่นอกเกาะปีนัง แล้วเดินทางต่อถึงเมืองสิงคโปร์ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๑๘๓๕ เรือ Cashmere ที่หมอบรัดเลย์โดยสารมาจาก Boston รอนแรมผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดียรวมเวลา ๖ เดือนกว่าจึงได้มาถึงสิงคโปร์
    เมื่อมาถึงสิงคโปร์ หมอบรัดเลย์ได้พักอาศัยอยู่กับ London Missionary Society และได้พยายามเรียนภาษาไทยจนสามารถพูดภาษาไทยได้ ในระหว่างนั้น นางเอมิลี่ ภรรยาหมอบรัดเลย์คลอดบุตรชายก่อนกำหนด ทารกหายใจเป็นพัก ๆ และเสียชีวิตหลังคลอด ๘ ชั่วโมง
    หมอบรัดเลย์พักอยู่ที่สิงคโปร์ ๕ เดือนจึงได้เดินทางออกจากสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๓๗๘ โดยเรือชื่อ Futtlebarry เรือมาทอดสมออยู่นอกสันดอนเจ้าพระยาตอนเช้า ๗.๐๐ น. ของวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๓๗๘ รอน้ำทะเลขึ้นและคนนำร่อง ในที่สุดทราบว่าต้องรออีกเกือบ ๑๐ วันกว่าเรือจะผ่านสันดอนได้ ถึงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม จึงได้ลงเรือยาวพร้อมกับสัมภาระบางส่วน มาถึงปากน้ำเวลาเที่ยงวัน รอใบผ่านทางอยู่ ๒ ชั่วโมง พอถึง ๕ โมงเย็นถึงปากลัด และถึงกรุงเทพฯ เวลา ๒๑.๐๐ น. ของวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๓๗๘ ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ ๓๑ ของหมอบรัดเลย์พอดี

    ความจริงแล้วก่อนที่หมอบรัดเลย์และคณะอเมริกันบอร์ด (American Board of Commissioners of Foreign Missions) จะเข้ามานั้น ได้มีมิชชันนารีเข้ามาตั้งสอนศาสนาอยู่แล้ว ในหนังสือ ประวัติศาสตร์โปรเตสแตนท์ในประเทศไทย ได้กล่าวว่า มิชชันนารีอเมริกันคนแรกที่เข้ามาเมืองไทยคือศาสนทูต เดวิด อาบีล, เอ็ม.ดี. ได้มาถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๑ (พ.ศ. ๒๓๗๔) และมิชชันนารีอเมริกันคนต่อมาคือศาสนทูต ชารลส์ โรบินสัน (Rev. Charles Robinson) และศาสนาจารย์ สตีเฟน จอห์นสัน (Rev. Stephen Johnson) ทั้งสองท่านนำภรรยาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๗ ได้เป็นผู้เช่าที่นายกลิ่นบริเวณวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศาราม) ปลูกบ้านสองหลัง เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๗
    ฉะนั้นเมื่อหมอบรัดเลย์และภรรยาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ จึงได้มาอยู่ที่เรือนสองหลังนี้ได้ทันที บริเวณดังกล่าวเป็นที่สกปรก มีเรือนเตี้ย ๆ หลังคามุงจากอยู่โดยรอบ ทางเข้าบ้านเปียกแฉะ ข้างหน้าบ้านเป็นคูต้องใช้เรือหรือมิฉะนั้นก็ต้องเดินบนไม้กระดานแผ่นเดียวซึ่งทอดยาวยืดเป็นสะพานเข้าไป ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวัดเกาะอยู่ใกล้แม่น้ำที่เป็นชายเลนลุ่ม น้ำขึ้นถึงอยู่เสมอ ในที่ใกล้เคียงกับที่ที่มิชชันนารีอยู่นั้นเป็นตลาดสำเพ็ง ที่พวกมิชชันนารีได้พบเห็นคนเจ็บป่วยอยู่เป็นประจำ เพราะผู้คนอยู่ในที่สกปรก อันเป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
    เรือนสองหลังนี้ นอกจากเป็นที่พักอาศัยของพวกมิชชันนารีแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่จำหน่ายยาและรักษาโรคให้คนไข้อีกด้วย
    หมอบรัดเลย์มาถึงกรุงเทพฯ ตอนสามทุ่ม จึงไม่ได้เห็นอะไรชัดเจน เพราะเป็นวันแรม ๘ ค่ำ ต่อรุ่งเช้าจึงได้สำรวจสิ่งรอบ ๆ ตัว ก็รู้สึกประหลาดใจว่า สิ่งที่พบเห็นไม่ว่าจะเป็นที่พักและเป็นบ้านเรือนที่อยู่โดยรอบ ช่างแตกต่างจากสิ่งที่พบเห็นในสิงคโปร์ราวขาวกับดำ และมีความรู้สึกว่า "ช่างสกปรกเหลือทน คนอะไร ไร้ระเบียบสิ้นดี"

    สิ่งที่พบเห็นในกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่เกินความคาดคิดของหมอบรัดเลย์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกกาที่บินว่อนร้องเสียงขรม เสียงจิ้งหรีด เสียงกบร้อง เสียงเห่าของสุนัข ล้วนแต่เป็นเสียงแปลกใหม่ที่หมอไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน รวมกับภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่ขาดสุขลักษณะด้วยแล้ว ก็ไม่เป็นภาพที่เจริญหูเจริญตาพาให้สุขใจได้เลย
    หมอบรัดเลย์พักอยู่ได้ประมาณ ๑๐ วัน ครั้นถึงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๓๗๘ มิสเตอร์ฮันเตอร์ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวยุโรปเพียงคนเดียวที่ตั้งห้างอยู่ในสมัยนั้น ได้มาหาหมอบรัดเลย์แต่เช้า แจ้งว่า พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ให้มาเชิญไปในพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้ไปรักษาคนใช้และพวกเชลยซึ่งป่วยเป็นไข้ทรพิษและโรคอหิวาต์ หมอก็ยอมไปรักษาด้วยความเต็มใจ แต่ดึงเอามิสเตอร์ฮันเตอร์ไปด้วย
    ทั้งสองได้ไปหาพระนายซึ่งเป็นน้องภรรยาของ พระยาศรีพิพัฒน์ (ในเวลานั้นพระนายจะมีบรรดาศักดิ์เป็นอะไรไม่ทราบ แต่ต่อมาเข้าใจว่าได้เป็นเจ้าพระยาพลเทพ เอี่ยม) พระนายได้นำหมอบรัดเลย์ไปยังที่ที่คนไข้อยู่ และว่าถ้าหมอรักษาคนเหล่านี้หายได้ดีเรียบร้อยแล้ว ในหลวงจึงจะให้เข้าไปรักษาคนชั้นสูงในวังต่อไป ครั้งนี้เป็นแต่เพียงทดลองความสามารถดูก่อน
    หมอบรัดเลย์พิจารณาคนเจ็บเหล่านั้นแล้ว เห็นว่าอยู่ในที่สกปรกชื้นแฉะ หลังคาเรือนทำด้วยกระแชง อาหารการกินก็ไม่สะอาด คนรักษาพยาบาลก็ไม่มี แต่ละคนอยู่ในอาการเพียบหนักแล้ว หมดทางที่จะช่วยเหลือ
    พระนายจึงถามว่า คนที่เป็นโรคอหิวาต์และเป็นไข้ทรพิษนั้น ถ้าเพียงแต่เห็นอาจบอกได้หรือไม่ว่าจะตายหรือจะรอด หมอบรัดเลย์ตอบทันทีว่า บอกไม่ได้
    เมื่อได้ฟังคำตอบปฏิเสธเช่นนั้น พระนายก็ลงความเห็นว่า หมอบรัดเลย์ไม่ใช่หมอที่เก่งอย่างที่โจษขานกันเสียแล้ว หมอบรัดเลย์สนทนาอยู่พอสมควรแก่เวลาแล้วก็กลับ
    การที่คุณพระนายเข้าใจเช่นนั้น ก็เนื่องมาจากหมอทั่ว ๆ ไปชอบคุยโอ้อวดว่า เพียงแต่เห็นคนไข้ก็รู้ได้ทันทีว่าจะตายหรือจะรอด คนที่ขาดวิจารณญาณก็หลงเชื่อเล่าลือต่อ ๆ กันไป ด้วยเหตุนี้เมื่อคุณพระนายได้ฟังคำปฏิเสธของหมอบรัดเลย์ จึงคิดว่าหมอบรัดเลย์ไม่เก่งจริง โดยลืมนึกไปว่าคนไข้จะหายหรือจะตายก็หลังจากได้ทดลองกินยาแล้ว ถ้ายามีประสิทธิภาพตรงกับโรคก็หาย ถ้าไม่ตรงก็รักษาไม่หาย เข้าทำนองคำกล่าวของไทยที่ว่า ลางเนื้อชอบลางยา นั่นเอง
    ...........>>>>

  3. #3
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    คนอังกฤษก่อเรื่อง

    เมื่อหมอบรัดเลย์กลับจากเยี่ยมคนไข้เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนั้นแล้ว ก็เตรียมการทำงาน จัดบ้านและห้องที่จะใช้ขายยาให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อรับคนไข้ ตามบันทึกของหมอบรัดเลย์ได้เขียนไว้ว่า วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ (ค.ศ. ๑๘๓๕) ได้รักษาคนไข้หลายคน อนุญาตให้มาขอความช่วยเหลือได้ตลอดทั้งวัน แต่ความจริงการรักษาต้องทำเพียงวันละ ๑ หรือ ๒ ชั่วโมงเท่านั้นก็พอ ในที่บางแห่งกล่าวว่า หมอบรัดเลย์ได้เปิดห้องจำหน่ายยาและให้คำแนะนำที่ใต้ถุนบ้านของครอบครัว ศาสนาจารย์ สตีเฟน จอห์นสัน ปรากฏว่าต้องทำการรักษาคนไข้ประมาณ ๑๐๐ คนทุกวัน ซึ่งส่วนมากเป็นคนจีนเพราะอยู่ใกล้สำเพ็ง
    ในโอกาสเดียวกับที่ทำการรักษานั้น ก็ได้เผยแผ่ศาสนาควบคู่กันไปด้วย โดยพิมพ์ข้อความสั้น ๆ ที่มีในพระคัมภีร์แนบติดไปกับฉลากยา ผู้ที่รับยาไปก็อดที่จะอ่านข้อความเหล่านั้นไม่ได้ นับว่าเป็นวิธีการที่ฉลาดทีเดียว

    หมอบรัดเลย์ได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๗๘ ตอนหนึ่งว่า
    "ตอนเช้าวันนี้ มีคนป่วยมาหาหมอกว่า ๑๐๐ คน เพื่อขอคำแนะนำในทางยาและขอยาสำหรับรักษาโรค ได้ให้คนป่วยเหล่านั้นสวดมนต์และอ่านพระคัมภีร์ก่อนที่จะให้ยารักษาโรค เพื่อเป็นการชักจูงคนป่วยให้เห็นฤทธิ์เดชของพระเจ้าว่าศักดิ์สิทธิ์ เมื่อสวดมนต์แล้วกินยาจะหายดี และต่อไปจะได้มีความเชื่อในพระเจ้ามาก ๆ"
    การขายยาของพวกมิชชันนารีเป็นที่ระแวงสงสัยของขุนนางไทยมาก เคยมีข้าราชการไทยคนหนึ่งมาเดินดู แล้วหยิบขวดยาขึ้นดม กับจิบน้ำในแก้วด้วยความสงสัยว่าจะเป็นเหล้าหรือน้ำตาลเมา เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพวกขุนนางไม่ชอบพวกมิชชันนารีนั่นเอง และการตั้งคลินิกของมิชชันนารีในครั้งนั้น คงจะไม่ได้ขออนุญาตเป็นทางการมาก่อนเป็นแน่ เพราะปรากฏว่านายกลิ่นซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้เคยบอกและเตือนให้ไปขออนุญาตจาก เจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์-ดิศ) เสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจถูกขับไล่โดยไม่รู้ตัว แต่ยังไม่ทันที่พวกมิชชันนารีจะได้จัดการอย่างไร ก็มีเหตุทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นเสียก่อน
    เรื่องเกิดขึ้นในตอนเย็นวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๓๗๘ กัปตันเวลเลอร์ (ในฉบับภาษาอังกฤษเรียก Captain Wellar) ซึ่งทำงานอยู่กับมิสเตอร์ฮันเตอร์ ได้เดินถือปืนเข้าไปในร้านขายยาพร้อมกับมิสเตอร์ฮันเตอร์ ขณะที่ฮันเตอร์ยืนคุยอยู่กับพวกมิชชันนารีนั้นเอง เวลเลอร์ก็นึกสนุกอยากจะยิงนกพิราบเล่นเป็นการทดสอบฝีมือ จึงเดินดุ่มเข้าไปในวัดเกาะ พอไปถึงก็ยกปืนขึ้นส่องนกแล้วยิงเปรี้ยงออกไปทันที กระสุนปืนไปถูกนกพิราบตาย ๒ ตัว พระที่กำลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นอยู่ได้ออกมาห้ามปราม แต่เวลเลอร์ไม่ยอมละลด พระสงฆ์จึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้อาญาวัดเอากระบองตีศีรษะเวลเลอร์เป็นการสั่งสอน เรื่องพระตีฝรั่งหัวแตกนี้ ได้มีการไต่สวนกันอย่างเคร่งเครียด เพราะฮันเตอร์ฟ้องไปทางกรมเจ้าท่าให้จัดการ และในที่สุดพระรูปที่ลงมือตีได้ถูกลงทัณฑกรรมให้นั่งกลางแดดหนึ่งวัน และมีประกาศห้ามพระสงฆ์มิให้ยุ่งกับฝรั่งอีกต่อไป


    การแพทย์แผนใหม่
    หลังจากเกิดเรื่องที่วัดเกาะแล้ว ๓-๔ วัน หมอบรัดเลย์และพวกมิชชันนารีก็ได้รับความเดือดร้อนอีก คือในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๓๗๘ นายกลิ่นเจ้าของที่ได้มาขับไล่พวกมิชชันนารี อ้างว่าในหลวงเสด็จผ่านมาพบเข้า ตนจะถูกพระราชอาญา เพราะในหลวงจะเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดเกาะ อย่างไรเสียก็จะต้องทรงทราบว่ามีฝรั่งมาตั้งร้านขายยาอยู่ ฉะนั้นขอให้ย้ายไปเร็ว ๆ
    การที่พวกมิชชันนารีต้องย้ายอย่างกะทันหันเช่นนี้ จึงต้องแยกกันไปอาศัยบ้านศาสนาจารย์โยนส์อยู่บ้าง บ้านมิสเตอร์ฮันเตอร์อยู่บ้างจนกว่าจะหาที่เหมาะสมอยู่ได้ ศาสนทูตชารลส์ โรบินสัน ไปอยู่กับพวกโปรตุเกส ศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน ไปอยู่ที่แพซึ่งพวกมิชชันนารีซื้อไว้ว่าจะทำร้านขายยา หมอบรัดเลย์กับครอบครัวไปอยู่บ้านกุฎีจีน ตามบันทึกของหมอบรัดเลย์กล่าวว่า เรื่องที่ถูกย้ายสถานที่นี้ เพราะรัฐบาลรังเกียจที่พวกมิชชันนารีอยู่ในระหว่างบ้านของพวกจีน และเป็นที่นับถือของพวกจีนมากด้วย จึงเกรงว่าเมื่อพวกมิชชันนารีมีพวกมากแล้ว จะชักชวนพวกจีนก่อการกำเริบขึ้น
    ในสมัยที่พวกมิชชันนารีเข้ามานั้น ได้มีบ้านชาวต่างประเทศมาตั้งอยู่ก่อนบ้างแล้ว หมอบรัดเลย์กล่าวว่ามีบ้านฝรั่งอยู่เพียงสองแห่งเท่านั้น คือบ้านซินยอคาลส ซิลไวรา (Senor Carlos Silveira) กงสุลโปรตุเกส ได้เข้ามาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ไทยเรียกสั้น ๆ ว่า คาลศ และ คาโลศ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงอภัยวานิช อยู่ตรงสถานทูตโปรตุเกสแห่งหนึ่ง กับบ้านนายฮันเตอร์ที่กุฎีจีนอีกแห่งหนึ่ง
    หมอบรัดเลย์กับพวกมิชชันนารีย้ายไปอยู่ใกล้กับพวกโปรตุเกส มีห้างอังกฤษของฮันเตอร์อยู่ระหว่างกลาง เป็นที่ริมแม่น้ำตรงหน้าวัดประยุรวงศาวาส พวกมิชชันนารีได้ทำสัญญาเช่ากับเจ้าพระยาพระคลัง เป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่สองหลัง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีระเบียงรอบ คิดค่าเช่าเดือนละ ๖๕ บาท พวกมิชชันนารีเห็นว่าไม่แพง เมื่อคิดเทียบกับเรือนที่พวกลอนดอนมิชชันนารีเช่าอยู่ที่สิงคโปร์และปีนัง ก็เห็นว่าดีกว่าด้วย และการมาอยู่ในที่ของเจ้าพระยาพระคลังเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นเกราะป้องกันความหวาดระแวงต่าง ๆ ไปได้มาก
    เมื่อพวกมิชชันนารีย้ายมาอยู่บ้านใหม่เรียบร้อยแล้ว ได้เปิดเป็นร้านขายยาขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ และมีห้องเหลืออีกห้องหนึ่ง ได้จัดเป็นห้องผสมยา แม้ว่าจะมีคนไข้มากวันละราว ๑๐๐ คนก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะหมอบรัดเลย์ได้จัดระเบียบไว้อย่างดี คือให้นางบรัดเลย์และหญิงผู้ช่วยเป็นผู้จ่ายยาให้แก่คนไข้พวกผู้หญิง ให้มิสเตอร์ยอนและจีนผู้ช่วยเป็นธุระจ่ายยาให้แก่พวกคนไข้ผู้ชาย ตัวหมอบรัดเลย์คอยดูแลกำกับงานทั่วไป และยังมีครูภาษาไทยของหมอบรัดเลย์นั่งโต๊ะตรงกับหมอบรัดเลย์อีกคนหนึ่ง คอยเขียนการ์ดคนไข้ และคำถามคำตอบในระหว่างหมอบรัดเลย์กับคนไข้ การที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อจะได้เรียนภาษาไทยในเรื่องไข้เจ็บให้ชำนาญมากยิ่งขึ้นไปอีก
    การรักษาโรคตามวิธีการแพทย์สมัยใหม่ของหมอบรัดเลย์ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีคนไข้ที่เป็นขุนนางข้าราชการหันมาใช้บริการ
    หมอบรัดเลย์ย้ายมาอยู่ที่บ้านหน้าวัดประยุรวงศาวาสได้ประมาณปีเศษ เจ้าพระยาพระคลังก็มีงานฉลองวัดประยุรวงศ์ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๒ ขึ้น ๗ ค่ำ (วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๙) ในงานมีมหรสพมากมาย มีการเอาปืนใหญ่ทำเป็นไฟพะเนียงอย่างดอกไม้ไฟธรรมดา เพื่อทำให้เป็นของแปลกประหลาดเลื่องลือในครั้งนั้น แต่เกรงว่าปืนจะถีบแรงนักจะเป็นอันตรายแก่คนดู จึงให้เอาโคนกระบอกปืนฝังลงไปในแผ่นดิน แต่กลับถีบแรงกว่าที่คาดกันมาก พอจุดปืนใหญ่ก็ระเบิดแตกออกเป็นชิ้นน้อยและชิ้นใหญ่ ถูกคนที่อยู่ในที่นั้นตาย ๘ คน และเจ็บป่วยอีกมากกว่ามาก หมอบรัดเลย์ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุราว ๆ ๖ เส้น ๕ วา ถูกเรียกไปรักษาผู้ที่บาดเจ็บ แต่มีน้อยคนที่เต็มใจให้หมอบรัดเลย์รักษา ในพวกคนบาดเจ็บที่ให้หมอบรัดเลย์รักษา มีพระสงฆ์ไทยองค์หนึ่งซึ่งกระดูกแขนแตก อันจำเป็นต้องตัดแขนทิ้งทีเดียว หมอบรัดเลย์จึงตัดแขนพระองค์นั้นในที่เกิดเหตุนั้นเอง ถึงเลื่องลือกันว่าก่อนนี้คนไทยไม่รู้เลย ว่าจะตัดร่างกายมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เช่นนั้น ด้วยพระสงฆ์ที่ทนการผ่าตัดได้ไม่นานเท่าใดก็หายดี ในเวลานั้นยังไม่มีโคลโรฟรอมหรืออีเทอร์ใช้ในการหมอ พวกมิชชันนารีอยู่คอยดูแลปฏิบัติคนบาดเจ็บอยู่จนถึงเที่ยงคืน เรเวอเรนด์ยอนสันและโรเบิต ฮันเตอร์ เพื่อนของพวกมิชชันนารีก็อยู่คอยช่วยเหลือด้วย คนบาดเจ็บที่ยอมอยู่ในความรักษาของพวกมิชชันนารีหายดีหมดทุกคน แต่ผู้ที่ปฏิเสธความช่วยเหลือของพวกมิชชันนารีนั้น ได้ตายลงเป็นจำนวนมาก
    การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดครั้งนั้นถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นที่สนใจของเจ้าพระยาพระคลังมาก หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วหลายเดือน หมอบรัดเลย์ได้บันทึกว่า
    "วันนี้ (๑๒ กรกฎาคม ๒๓๗๙) เป็นวันมีเหตุสำคัญของหมอบรัดเลย์ คือเป็นวันที่เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้หมอบรัดเลย์นำเครื่องมือที่ใช้ในการตัดผ่าทั้งหมดไปแสดงที่บ้านของท่าน หมอบรัดเลย์ยอมทำตามความประสงค์ มีข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นเจ้าเมืองซึ่งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ มาดูกันมาก เจ้าพระยาพระคลังเข้าใจ และรู้จักวิธีใช้เครื่องมือเหล่านี้ดีกว่าคนที่มาดูทั้งหมด"
    แต่การรักษาด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่บางอย่างก็ยังเป็นที่หวาดเสียวของคนไข้อยู่มากเช่นการถอนฟัน ตามเรื่องว่าวันหนึ่ง (๑๙ พฤศจิกายน ๒๓๘๐) เจ้าพระยาพระคลังอยากจะให้พวกมิชชันนารีตรวจฟันของท่านที่โยกอยู่ซี่หนึ่งปวดมาก พวกมิชชันนารีมีความยินดีที่จะปฏิบัติตามความประสงค์ของท่าน วันรุ่งขึ้นจึงได้ไปหาท่านพร้อมด้วยหีบเครื่องมือ แต่เจ้าพระยาพระคลังได้เห็นเครื่องมือถอนฟันเข้าก็ตกใจ ให้เรียกคนใช้คนหนึ่งซึ่งมีฟันโยกและปวดเหมือนกับท่านเข้ามาให้พวกมิชชันนารีถอนฟันต่อหน้าท่าน เพื่อท่านจะดูว่ามีความเจ็บปวดและเลือดจะออกมาน้อยหรือมากสักเพียงไร เมื่อคนใช้คนนั้นเข้ามาแล้ว พวกมิชชันนารีก็จัดการถอนฟันออกโดยมิทำให้เจ็บปวดเลย แต่เมื่อเจ้าพระยาพระคลังเห็นคนใช้คนนั้นบ้วนโลหิตออกมาจากปากเพียงเล็กน้อยก็กลัว สั่งให้พวกมิชชันนารีนำเครื่องมือกลับไป และกล่าวว่าท่านไม่สามารถทนการถอนเช่นนั้นได้ เกรงว่าถ้าเลือดไม่หยุดก็จะต้องตายเป็นแน่
    การแพทย์แผนใหม่อีกอย่างหนึ่งซึ่งหมอบรัดเลย์นำมารักษาคนไทยก็คือการรักษาต้อกระจก ได้ลงพิมพ์ประชาสัมพันธ์ใน Bangkok Recorder ฉบับเดือนตุลาคม จุลศักราช ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ดังต่อไปนี้

    "หมอบรัดเลอวยพรมาถึงท่านทั้งหลายที่เปนโรคจักขุ เปนต้อกระจกนั้น ให้เชิญมาหาข้าพเจ้าเถิดจะรักษาให้ ด้วยได้เคยรักษาหายเปนหลายสิบคนแล้ว แต่คนที่มีจักขุบอดมืดทีเดียวเราก็ได้รักษาหาย จนเหนเปนปรกตินั้นมาก ที่เรารักษาหายนั้นประมาณ ๓ ส่วน ที่ไม่หายนั้นสักส่วน ๑ ที่รักษาไม่หายนั้นก็ไม่มีอันตราย เปนเสมอโรคเดิมอยู่ยังนั้น อนึ่งท่านทั้งปวงที่เปนต้ออย่าคิดกลัวว่าวิธีที่หมอรักษานั้น จะทำให้เจบปวดหนักนั้นหามิได้ เจบแปลบเดียวเท่านั้นดอก พอทนได้เชิญมาเถิด เราไม่เอาวัตถุสิ่งใดเลย ปรารถนาจะทำคุณแก่ท่านทั้งปวงเท่านั้นแล"
    หมอบรัดเลย์ได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ว่ามีขุนนางผู้ใหญ่ในกรมนาคนหนึ่งอายุ ๗๓ ปี เป็นต้อตามืดมาช้านาน ครั้นหมอบรัดเลย์ตัดต้อให้แล้ว ก็กลับแลเห็นได้ แสดงว่าทำได้จริง ๆ
    อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินผลแล้วปรากฏว่า บรรดาคนไข้ของพวกมิชชันนารีมีทั้งต่างจังหวัดและในพระนคร โดยมากมาจากอยุธยา สามโคก ปากลัด และปากน้ำ ซึ่งไกลจากที่อยู่ของพวกมิชชันนารีออกไปตั้งหลาย ๆ ไมล์ และชื่อเสียงของหมอบรัดเลย์ก็เลื่องลือไปทั้งในที่ใกล้และที่ไกล มีคนนับหน้าถือตากันมากกว่าหมอที่มีความรู้ดีในสมัยนั้นเสียอีก หมอบรัดเลย์ได้สรุปถึงกิจการไว้เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ ว่า "วันนี้เป็นวันครบสองปีบริบูรณ์ตั้งแต่พวกมิชชันนารีตั้งร้านขายยามา คิดจำนวนคนไข้ทั้งหมดตามที่ปรากฏในบัญชีเป็น ๕,๐๒๕ คน" (Donald C. Lord กล่าวไว้ในหนังสือที่เขาแต่งว่า ในปีแรกหมอบรัดเลย์รักษาคนไข้ได้ ๓,๕๐๐ คน แสดงว่าในปีที่ ๒ มีคนไข้เพียง ๑,๕๒๕ คน ซึ่งอาจบอกได้ว่าสุขภาพอนามัยเริ่มดีขึ้น)
    .......>>>>>>

  4. #4
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    ปราบไข้ทรพิษ

    คำถามแรกที่เจ้าพระยาพระคลังถามหมอบรัดเลย์เมื่อพบกันก็คือ รักษาไข้ทรพิษได้ไหม เพราะสมัยนั้นคนไทยเป็นไข้ทรพิษหรือฝีดาษกันมาก ไข้ทรพิษ (smallpox) เป็นโรคติดต่อที่มีมาแต่โบราณ ทางภาคใต้เรียกว่า ไข้น้ำ ภาคเหนือเรียกว่า เป็นตุ่มหรือตุ่มสุก เพราะเมื่อเป็นจะมีเม็ดเล็ก ๆ หรือตุ่มเกิดขึ้นดาษตามตัวเต็มไปหมด จึงได้เรียกว่าตุ่มและฝีดาษ ในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวรด้วยไข้ทรพิษเสด็จสวรรคตทั้งสองพระองค์
    ก่อนที่หมอบรัดเลย์จะมาถึงเมืองไทย ท่านและภรรยาได้เสียบุตรชายอายุเพียง ๘ ชั่วโมงไป ๑ คน และเมื่อมาอยู่เมืองไทยแล้วต้องเสียบุตรสาวแฮเรียต (Harriet) อายุเพียง ๘ เดือนด้วยไข้ทรพิษไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งหมอก็หมดปัญญาที่จะรักษา ฉะนั้นการถามของเจ้าพระยาพระคลังและประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงทำให้หมอต้องศึกษาเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

    ตามบันทึกของหมอบรัดเลย์กล่าวว่า วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นวันแรกที่ได้เริ่มปลูกฝีกันไข้ทรพิษ โดยวิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในแขนของเด็ก ๆ ประมาณ ๑๕ คน ถ้าหากว่าการปลูกฝีเป็นผลสำเร็จดีแล้ว จะเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการออกฝีดาษกันทุก ๆ ปีนั้นมาก หมอบรัดเลย์ได้ไปหาเจ้าพระยาพระคลัง หารือเรื่องปลูกฝีกันไข้ทรพิษ เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย และกล่าวว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง จะหาการบุญอย่างอื่นมาเปรียบเทียบได้โดยยาก ถ้าหมอคิดการปลูกฝีเป็นผลสำเร็จ ท่านยินดีจะอนุญาตให้หมอบรัดเลย์เรียกเอาขวัญข้าวจากคนที่ได้ปลูกฝีขึ้นแล้วคนละ ๑ บาท
    การรักษาไข้ทรพิษในสมัยโบราณยุ่งยากมาก นายแพทย์ประเมิน จันทวิมล ได้เขียนไว้ในเรื่อง "ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย" ตอนหนึ่งว่า
    "ก่อนที่นายแพทย์เอดวาร์ด เยนเนอร์ แพทย์อังกฤษ จะพบว่าหนองฝีจากวัวกันไข้ทรพิษในคนได้นั้น (พ.ศ. ๒๓๓๙) ชาวจีนได้พบว่าผู้ป่วยเป็นไข้ทรพิษแล้วไม่เป็นอีก ก็เลยพยายามเอาสะเก็ดของผู้ป่วยด้วยไข้ทรพิษบดเป็นผง แล้วพ่นเข้าทางรูจมูก หรือเอาหนองปลูกลงบนผิวหนังเพื่อให้เกิดเป็นไข้ทรพิษชนิดอ่อน ๆ ขึ้น จะได้กันไข้ทรพิษแท้ได้ แต่การปฏิบัติเช่นนี้อาจจะทำให้เป็นไข้ทรพิษอาการรุนแรงขึ้นถึงตายได้ (ประมาณ ๑ ใน ๕๐๐) และยังทำให้ติดต่อไปยังผู้อื่นได้อีกด้วย จึงไม่สามารถที่จะระงับการระบาดได้ ต่อมาก็ได้แพร่ไปในอินเดีย และเมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๐ เลดี้ แมรี่ วอรทเลย์ มอนตากู ภรรยาเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิล ก็ได้นำไปใช้ในประเทศอังกฤษ แต่ภายหลังต่อมาเมื่อวิธีการของนายแพทย์เยนเนอร์ได้รับรองแล้ว วิธีการที่ได้ใช้สะเก็ดหรือหนองของผู้ป่วยไข้ทรพิษปลูกก็ต้องห้ามรวมทั้งประเทศไทยด้วย"
    เรื่องหมอบรัดเลย์กับไข้ทรพิษไปได้ความจากนายแพทย์คทาวุธ โลกาพัฒนา ในหนังสือ ๕๐ ปีโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ว่า การปลูกฝีเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้หมอบรัดเลย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มวิชาเวชศาสตร์ป้องกันในเมืองไทย
    "ในรัชกาลที่ ๓ มีการระบาดของไข้ทรพิษเป็นระยะ มีอัตราตายสูงและทำให้เสียโฉม ในระยะแรกใช้การปลูกฝีโดยการใช้สะเก็ดจากคนที่เป็นฝีดาษมาปลูกให้คนปรกติ แต่เป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฝีดาษ เรียกว่า inoculation ต่อมาใช้วิธี vaccination ซึ่งพบโดย Edward Jenner ในประเทศอังกฤษ ที่พบว่าหญิงที่รีดนมวัวที่ติดเชื้อฝีดาษวัว ทำให้หญิงรีดนมวัวนั้นไม่ติดโรคฝีดาษ Jenner ได้รายงานเรื่องนี้ในปี ๑๗๙๘ หมอบรัดเลย์อาศัยหนองฝีที่ส่งมาจากต่างประเทศ ทั้งจากประเทศจีนและจากอเมริกา (เมืองบอสตัน) น่าสนใจว่าเหตุใดหมอบรัดเลย์จึงสนใจการปลูกฝีมาก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเป็นโรคระบาดร้ายแรง อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเคยเรียนรู้วิธีการเมื่อขณะเป็นแพทย์อยู่ในอเมริกา"

    หมอบรัดเลย์ได้บันทึกถึงเรื่องการปลูกฝีกันไข้ทรพิษไว้เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๑ ตอนหนึ่งว่า สมัยนี้เป็นสมัยเกิดไข้ทรพิษชุกชุม พวกมิชชันนารีได้พยายามที่จะช่วยป้องกันอย่างเต็มความสามารถ พวกมิชชันนารีคิดหาวิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในตัวโค แล้วเอาหนองโคนั้นมาใช้ฉีดกันไข้ทรพิษ วิธีนี้คิดและทดลองอยู่ถึง ๕ ปีจึงได้สำเร็จ ได้ใช้หนองนั้นฉีดกันพวกบุตรธิดาของตนไว้ได้เป็นอันมาก พอพวกมิชชันนารีคิดเรื่องหนองฝีสำเร็จ พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบก็ดีพระทัยมาก โปรดให้หมอหลวงทั้งหมดมาหัดฉีดหนองฝีกันไข้ทรพิษ แล้วจะให้ไปปลูกทั้งที่ในวังและนอกวัง ตลอดจนพวกราษฎรตามมณฑลอื่น ๆ อีก การปลูกฝีจึงเกิดเป็นธุระสำคัญขึ้นในครั้งกระนั้น ไม่จำเพาะแต่ในพวกหมอหลวงเท่านั้น แม้หมอเชลยศักดิ์ก็พากันมาขอฝึกหัดอยู่หลายเดือน ต่อมาไม่สู้ช้านักพระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานรางวัลให้แก่พวกหมอหลวงทั่วทุกคน แล้วพระราชทานเงินแก่พวกมิชชันนารีด้วยถุงหนึ่ง เป็นบำเหน็จในการที่ได้สอนวิชาปลูกฝีแก่หมอหลวง เป็นเหตุให้ช่วยชีวิตเจ้านายและข้าราชการไว้ได้เป็นจำนวนมาก
    ตามบันทึกอีกแห่งหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้หมอหลวงไปหัดปลูกทรพิษกับพวกมิชชันนารีตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ ส่วนการพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่หมอหลวงและหมอบรัดเลย์ที่ได้ปลูกทรพิษนั้น ได้พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ ได้พระราชทานคนละ ๔๐๐ บาทลงมาจนถึง ๒๐๐ บาท
    อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการปลูกฝีดังกล่าวข้างต้นนั้น น่าจะเป็นหนองฝีที่ผลิตในเมืองไทย เพราะมีบันทึกต่อไปอีกว่าเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๘๔๐ (พ.ศ. ๒๓๘๓) หมอบรัดเลย์ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษในกรุงเทพฯ ด้วยพันธุ์ที่ได้มาจากอเมริกาเป็นครั้งแรก และต่อมาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๕ เกิดโรคไข้ทรพิษ คนมาขอให้มิชชันนารีปลูก มิชชันนารีไม่มีพันธุ์หนองฝีที่เคยได้มาจากอเมริกา ต้องเอาหนองฝีดาษปลูกลูกของตนเองก่อนแล้วปลูกให้ผู้อื่น มีตายบ้าง ครั้นถึงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๓๘๗ เริ่มปลูกทรพิษอีกครั้งหนึ่ง ต้องหยุดมาถึง ๔ ปีเพราะขาดพันธุ์หนอง และเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน๒๓๘๙ ได้พันธุ์หนองมาจากเมืองบอสตัน ได้ลงมือปลูกทรพิษซึ่งหยุดมาปีหนึ่ง ปลูกครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓
    เรื่องการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นเรื่องที่ต้องยกย่องหมอบรัดเลย์และคณะมิชชันนารีเป็นอย่างมากที่เสียสละ และตั้งใจช่วยอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่มีคณะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะมีคนตายอีกมากน้อยเท่าใด
    ในส่วนตัวหมอบรัดเลย์ นอกจากจะลงมือผลิตหนองฝีแล้ว ยังได้แต่ง ตำราปลูกฝีโค ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเขียนลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ ของท่าน ทำให้คนไทยได้รู้จักวิธีการรักษาที่ทันสมัยดียิ่งขึ้น
    หนังสือ ตำราปลูกฝีโค พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนแปดหลัง ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) จำนวน ๕๐๐ เล่ม พิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนยี่ ข้างแรม ปีเดียวกัน จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม หนังสือนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์อเมริกันบอร์ด (A.B.C.F.M. Press.)


    เฝ้าเจ้าฟ้า

    เมื่อครั้งมิชชันนารียังอยู่ที่โอสถศาลาวัดเกาะ ตอนเย็นวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ เจ้าฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า) ได้เสด็จมาเยี่ยมพวกมิชชันนารี เจ้าฟ้าน้อยในบันทึกของหมอบรัดเลย์ในขณะนั้น ดำรงอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงสนพระทัยในกิจการใหม่ ๆ ของชาวตะวันตก ตรัสภาษาอังกฤษได้ ในวันนั้นได้เชิญหมอบรัดเลย์ไปที่วัง ซึ่งหมอก็ได้ไปเฝ้าในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ เป็นครั้งแรก
    ในครั้งนั้นเจ้าฟ้าน้อยยังประทับอยู่พระราชวังเดิม ปากคลองบางกอกใหญ่ กับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ พระราชชนนี และเมื่อหมอบรัดเลย์ย้ายไปอยู่หน้าวัดประยุรวงศาวาส ก็ยิ่งใกล้และสะดวกที่จะไปเฝ้ามากขึ้น ปรากฏว่าหมอบรัดเลย์ได้เข้าเฝ้าหลายครั้ง เช่นเมื่อครั้งที่หม่อมของเจ้าฟ้าน้อยประสูติพระธิดาเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศง ๒๓๗๘ พระองค์ได้เชิญหมอบรัดเลย์ไปที่พระราชวัง เจ้าฟ้าน้อยได้ตรัสเล่ากับหมอบรัดเลย์ว่า ตามธรรมเนียมไทยเมื่อหญิงคลอดบุตรแล้วต้องอยู่ไฟ ฉะนั้นหม่อมของพระองค์ก็กำลังอยู่ไฟ และจะต้องอยู่ครบ ๓๐ วันด้วย เพราะเพิ่งจะคลอดเป็นครั้งแรก ถ้าครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ก็อยู่ลดลงมาเป็นลำดับ
    รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ ธันวาคม เวลาเย็น หมอบรัดเลย์กับภรรยาไปเฝ้าเจ้าฟ้าน้อยอีก นางบรัดเลย์ได้แนะนำให้หม่อมของพระองค์กินยาของหมอบรัดเลย์ และแนะนำให้ให้น้ำนมของเธอเองแก่พระธิดาเสวย อย่ามอบให้แก่นางนมในชั้นแรกนี้
    ต่อมาในวันที่ ๓๑ ธันวาคม เวลา ๑๔ นาฬิกา เจ้าฟ้าน้อยให้มหาดเล็กรีบมาตามหมอบรัดเลย์ไปดูหม่อมและพระธิดาของพระองค์ พอหมอบรัดเลย์ทราบข่าวก็รีบไปพระราชวังทีเดียว แต่หมอบรัดเลย์ไปถึง ไม่ทันจะช่วยเหลือธิดาอย่างใดได้เสียแล้ว เพราะได้สิ้นชีพไปเสียก่อนหน้าที่หมอบรัดเลย์จะไปถึง เจ้าฟ้าน้อยทรงพระโทมนัสมากในการที่หม่อมเจ้าอันเป็นพระธิดาหัวปีของพระองค์ต้องสิ้นชีพไป บรรดาพระญาติและข้าราชบริพารพากันร้องไห้อาลัยถึงเป็นอันมาก ดูเหมือนว่าเจ้าฟ้าน้อยทรงพระดำริจะเลิกใช้หมอไทย ซึ่งได้ถวายพระโอสถรักษาพยาบาลหม่อมของพระองค์อยู่นั้น และจะมอบภาระให้หมอบรัดเลย์ถวายพระโอสถแต่ผู้เดียว แต่ต้องเสียพระทัยด้วยไม่สมด้วยพระดำริ เพราะพระราชมารดาและเหล่าพระภคินีกับทั้งหมอหลวงและผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ไม่เห็นชอบด้วยตามพระดำรินั้น

    ครั้นถึงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๘ เวลาบ่าย เจ้าฟ้าน้อยทรงส่งเรือมารับหมอบรัดเลย์กับภรรยาให้ไปเฝ้าสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี พระราชชนนีของพระองค์ ซึ่งไม่ใคร่ทรงสบายและใคร่จะได้หมอมารักษา หมอบรัดเลย์พร้อมด้วยภรรยาจึงได้รีบไปเฝ้าตามพระกระแสรับสั่ง เมื่อหมอบรัดเลย์ตรวจพระโรค ดูเหมือนจะทรงแปลกพระทัยมากที่หมอบรัดเลย์ที่ใคร ๆ กล่าวยกย่องสรรเสริญว่าเป็นหมอที่มีความรู้ดี แต่หาสมจริงตามคำเล่าลือนั้นไม่ เพราะรู้อาการพระโรคของพระองค์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หมอบรัดเลย์จึงต้องทูลสารภาพว่า เขาไม่มีความรู้อย่างที่เข้าใจกันเป็นอันมากในเมืองไทยว่า พอเห็นคนไข้ก็รู้ทีเดียวว่าจะเป็นหรือตาย การที่เข้าใจกันเช่นนั้นทำให้ความสามารถทางการใช้ยาของเขาถูกลบหลู่ลงไปมาก หมอบรัดเลย์ทูลต่อไปว่าหมออเมริกันที่มีชื่อเสียงไม่คุยอวดดีเหมือนหมอไทยเลย และการที่จะรู้ว่าเป็นหรือตายนั้น ธรรมดามนุษย์จะรู้ไม่ได้ รู้ได้แต่พระเจ้าบนสวรรค์พระองค์เดียวเท่านั้น
    เมื่อเสร็จจากการตรวจแล้ว ได้ตรัสถามถึงเรื่องประเทศอเมริกาว่าไกลเท่าไรจากเมืองไทย การเดินทางมาต้องเสียค่าพาหนะเท่าไร พวกมิชชันนารีจะอยู่เมืองไทยนานไหม และท้ายที่สุดตรัสถามว่า ที่อเมริกามีความสุขอย่างเมืองไทยนี้หรือไม่ เมื่อทูลตอบว่ามีความสุขสบายมาก ก็ตรัสถามว่า ก็ถ้าเช่นนั้นแล้ว เหตุใดพวกท่านจึงมาที่นี่กันเล่า หมอบรัดเลย์ได้ทูลตอบว่า ที่มาที่นี่มิได้มาเพื่อหาความสุข แต่มาโดยหวังจะนำคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์มาเผยแพร่แก่สัตว์โลกทั่วไป
    หมอบรัดเลย์สังเกตเห็นว่า ในระหว่างที่พระราชชนนีตรัสอยู่กับหมอนั้น เจ้าฟ้าน้อยประทับนิ่ง มิได้ตรัสอย่างไรเลย ดูเหมือนจะทรงเกรงกลัวพระราชชนนีมาก
    เมื่อได้เฝ้าอยู่นานประมาณชั่วโมงหนึ่ง หมอบรัดเลย์กับภรรยาก็ทูลลากลับ คำนับอย่างธรรมเนียมอเมริกันเดินเกี่ยวแขนกันออกไป ซึ่งเป็นภาพที่แปลกตาของคนไทยที่ยังไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อนเลย
    หลังจากได้เฝ้าเจ้าฟ้าน้อยแล้วหลายเดือน เจ้าฟ้าใหญ่ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จึงมีรับสั่งให้หมอบรัดเลย์ไปเฝ้าที่วัดราชาธิวาสในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้หมอบรัดเลย์รู้สึกหนักใจอยู่บ้างที่จะต้องพาภรรยาไปด้วย เพราะเจ้าฟ้าใหญ่เป็นพระสงฆ์ที่มีพระเกียรติยศสูง จะไม่สู้เหมาะนักที่จะพาผู้หญิงไปเฝ้าพระองค์ แต่เมื่อคิดว่าจะได้ให้คนไทยรู้ว่าชาวอเมริกันไม่นับผู้หญิงเป็นเพศที่เลวกว่าชาย จึงตัดสินใจพาภรรยาไปด้วย
    เมื่อทั้งสองไปถึงวัดราชาธิวาส เจ้าฟ้าใหญ่ก็ทรงรับรองอย่างดี และเชิญให้นั่งที่เก้าอี้ที่อยู่ตรงข้ามกับที่ประทับ มิได้ทรงรังเกียจตามที่หมอคิดไว้เลย
    หลังจากการเฝ้าครั้งแรกประมาณ ๒ สัปดาห์ ในตอนเช้าวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๗๙ เจ้าฟ้าน้อยได้มีรับสั่งให้เชิญหมอบรัดเลย์ไปเฝ้าเจ้าฟ้าใหญ่พร้อมกับพระองค์ ได้ส่งเรือเก๋งมารับหมอไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จไปอีกลำหนึ่ง ในวันนั้นหมอบรัดเลย์ได้ถวายการตรวจพระอาการแล้ว เห็นว่าอาการประชวรของพระองค์ไม่ใช่โรคเล็กน้อย เป็นพระโรคที่หมอไทยเรียกว่าโรคลมอัมพาต จะเริ่มเป็นตั้งแต่พระบาทลามสูงขึ้นไปตามลำดับ การรักษาของหมอไทยใช้ยาชนิดร้อน ๆ พอก
    หมอบรัดเลย์ตรวจอยู่นาน จึงเห็นว่าตามที่หมอไทยว่าเป็นโรคที่เกิดแต่ลมและใช้วิธีรักษาดังกล่าว ไม่ถูกต้อง เมื่อเจ้าฟ้าใหญ่และเจ้าฟ้าน้อยได้ทรงทราบข้อวินิจฉัยของหมอแล้ว ก็ทรงเห็นว่ามีความจริงอยู่มาก ใคร่จะทรงเลิกหมอไทย และให้หมอบรัดเลย์รักษาต่อไป แต่ก็ยังทรงลังเลพระหฤทัยอยู่ ต่อเมื่อหมอบรัดเลย์ชี้แจงถวายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงตกลงให้เลิกหมอไทย แล้วมอบภาระในเรื่องการรักษาพระโรคให้หมอบรัดเลย์ต่อไป
    หมอบรัดเลย์เล่าว่า เมื่อออกจากที่เฝ้าแล้ว มีคนนำไปพักที่ตึกเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ซึ่งมีหน้าต่างเปิดรอบด้านทำให้โปร่งสบาย การจัดสถานที่ผิดไปจากแบบไทยคือมีพรมปูพื้น และเครื่องประดับห้องเป็นแบบอเมริกัน บนโต๊ะมีอาหาร ผลไม้ ขนม จัดไว้เรียบร้อย ขณะที่หมอบรัดเลย์นั่งรับประทานอาหารอยู่นั้น มีคนไปล้อมดูกันมาก เพราะไม่เคยเห็นฝรั่งชาวอเมริกันรับประทานอาหารอย่างไรมาก่อนเลย
    สิบสามวันต่อมาหลังจากไปตรวจพระอาการ และตกลงว่าจะให้หมอบรัดเลย์รักษา แต่แล้วก็มีเหตุขัดข้อง เพราะการปฏิบัติใด ๆ ก็ตามจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตหรือในหลวงทรงเห็นชอบด้วย ฉะนั้นในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๓๗๙ เจ้าฟ้าใหญ่ได้มีลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งถึงหมอบรัดเลย์มีความว่า พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการให้หมอหลวงมาประจำรักษาพระองค์ และได้ทรงสัญญาว่า หมอหลวงรับจะรักษาให้หายได้ภายใน ๓ วันเท่านั้น พระองค์ก็ได้ทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงทราบแล้วว่า เวลานั้นหมอบรัดเลย์ได้ถวายพระโอสถอยู่ และทรงสบายขึ้นมากตั้งแต่ได้เสวยพระโอสถที่หมอบรัดเลย์จัดถวาย แต่ครั้นจะทรงปฏิเสธหมอหลวงเสียทีเดียว ก็เกรงว่าจะเป็นการขัดพระราชโองการ
    ฉะนั้นจึงขอแจ้งให้หมอบรัดเลย์ทราบว่า จำเป็นต้องให้หมอหลวงรักษาต่อไปตามพระราชประสงค์ ขอหมอบรัดเลย์อย่าได้มีความรังเกียจเลย ถ้าหมอหลวงไม่สามารถรักษาให้หายได้ตามกำหนดนั้นแล้ว จึงจะขอให้หมอบรัดเลย์ถวายพระโอสถต่อไปใหม่
    เมื่อหมอบรัดเลย์ได้รับลายพระหัตถ์แล้วก็ได้ทูลตอบไปว่า มีความยินดีที่จะให้หมอหลวงได้ถวายพระโอสถตามพระราชโองการ และให้อยู่ในความรับผิดชอบของหมอหลวง ตนจะไม่ยอมถวายพระโอสถอีกต่อไป ด้วยเกรงว่าจะเกิดมีการแกล้งกันขึ้นในระหว่างหมอ ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่คนไข้ได้ (เช่นเมื่อต้องการให้หมออีกฝ่ายหนึ่งเสียชื่อ ก็แกล้งเอายาที่แสลงแก่โรควางแล้วทิ้งเสียไม่รักษาต่อไป)
    ตามความเข้าใจของหมอบรัดเลย์นั้น เชื่อว่าพระอาการโรคของเจ้าฟ้าใหญ่ เท่าที่ตนได้รักษาไปแล้วนั้น เกือบจะหายแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เสวยพระโอสถอย่างใดอีก ก็มีแต่จะทรงสบายขึ้นทุก ๆ วัน จึงมีความสบายใจมากกว่าเป็นกังวล
    หมอบรัดเลย์นอกจากจะถวายการรักษาพยาบาลแด่เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์แล้ว ยังได้ถวายพระอักษรภาษาอังกฤษอีกด้วย โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หมอบรัดเลย์เข้าไปถวายพระอักษรภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒


    หลวงนายสิทธิ์กับหม่อมราโชทัย

    ในสมัยที่หมอบรัดเลย์เข้ามาเมืองไทยนั้น มีคนที่สนใจภาษาอังกฤษอยู่เพียง ๔ คนเท่านั้น คือ เจ้าฟ้าใหญ่ เจ้าฟ้าน้อย หลวงนายสิทธิ์ (ช่วง บุนนาค) และ หม่อมราชวงศ์กระต่าย (หม่อมราโชทัย) ซึ่งหมอบรัดเลย์กล่าวว่า ในครั้งนั้นเรียกกันว่า เจ้ากระต่าย (Chao Kratai)
    เมื่อหมอบรัดเลย์แรกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ นั้น เป็นเวลาที่เจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) กับบุตรชายคือหลวงนายสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก (ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ได้ออกไปเมืองจันทบุรีเพื่อสร้างป้อมป้องกันพวกญวน และได้ต่อเรือใบไทยลำใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรก จึงไม่มีโอกาสได้พบกันจนอีก ๓ เดือนต่อมา
    วันนั้นตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ มีขุนนางหนุ่มคนหนึ่งท่าทางคมขำเฉียบแหลม พูดจาไพเราะ ได้มาหาพวกมิชชันนารีที่หน้าวัดประยุรวงศาวาส ได้สนทนากับพวกมิชชันนารีอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับได้แวะพูดคุยกับยอน แบปติสต์ ผู้ช่วยในร้านขายยา และได้บอกว่า
    "ฉันชื่อหลวงนายสิทธิ์"
    ปรากฏว่าท่านเพิ่งนำเรือ อาเรียล ที่ต่อใหม่จากจันทบุรีเข้ามาถึง
    พอพวกมิชชันนารีทราบเช่นนั้นก็ดีใจ เพราะลูกชายเจ้าของบ้านเช่าอุตส่าห์มาเยี่ยมถึงบ้าน ได้เชื้อเชิญให้ท่านอยู่สนทนาต่อ ท่านก็ยอมอยู่และได้เชิญพวกมิชชันนารีไปเที่ยวที่บ้านของท่านบ้าง

    เมื่อได้โอกาสเช่นนั้น พวกมิชชันนารีก็ไปพบท่านในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง บ้านหลวงนายสิทธิ์เป็นบ้านใหญ่งดงามมาก ที่หน้าบ้านเขียนป้ายติดไว้ว่า "นี่บ้านหลวงนายสิทธิ์ ขอเชิญท่านสหายทั้งหลาย" (This is Luang Nai Sit's Home. Welcome)
    อีก ๒ วันต่อมา พวกมิชชันนารีก็ไปดูเรือใบ อาเรียล ที่นำมาถวายให้ในหลวงทอดพระเนตร ตามคำกล่าวของมิชชันนารีว่า เรือ อาเรียล เป็นเรือลำแรกที่ทำเทียมเรือฝรั่ง หลวงนายสิทธิ์ไม่มีแบบที่ดี จึงเที่ยวจำแบบจากเรือฝรั่งลำโน้นนิด ลำนี้หน่อย มาประกอบขึ้น แต่ถึงเช่นนั้นก็ต้องนับว่าดี และชมหลวงนายสิทธิ์ว่าเป็นคนฉลาดไหวพริบดีเทียมฝรั่ง นอกจากเรือ อาเรียล แล้ว หลวงนายสิทธิ์ยังได้ต่อเรืออื่น ๆ ที่เมืองจันทบุรีอีกเป็นจำนวนมาก น้ำหนักตั้งแต่ ๓๐๐-๔๐๐ ตัน
    พวกมิชชันนารีมีโอกาสได้พบคุณกลิ่นภรรยาของหลวงนายสิทธิ์ด้วย และว่ามีนิสัยคล้ายสามี คือ ชอบสมาคมกับชาวต่างประเทศ มีความชอบพอคุ้นเคยกับภรรยาของพวกมิชชันนารี ถึงกับเคยไปนอนค้างที่บ้านพวกมิชชันนารี
    ครั้นถึงเวลาที่หลวงนายสิทธิ์จะต้องกลับไปทำงานที่เมืองจันทบุรี จึงได้เชิญพวกมิชชันนารีไปเที่ยวด้วย โดยเฉพาะเรเวอเรนด์ยอนสันกับภรรยานั้น ให้พักอยู่ที่นั่นสัก ๖ เดือน เพราะภรรยาและลูกของหลวงนายสิทธิ์ต้องการจะเรียนภาษาอังกฤษกับคนทั้งสอง หมอบรัดเลย์ได้เดินทางไปจันทบุรีด้วยเพื่อเปลี่ยนอากาศบ้าง เพราะตั้งแต่พวกมิชชันนารีต้องถูกไล่ที่เป็นต้นมา หมอบรัดเลย์ต้องเป็นคนวิ่งเต้นหาที่อยู่ใหม่ รู้สึกอ่อนล้ามาก การไปเที่ยวจันทบุรีครั้งนั้นเป็นการไปเปลี่ยนอากาศของหมอบรัดเลย์เป็นครั้งแรก เป็นเวลานานถึง ๑ เดือน ได้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๒๑ ธันวาคม
    ถ้าพิจารณาจากเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่หมอบรัดเลย์เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ หมอบรัดเลย์รู้จักคุ้นเคยกับเจ้านายและขุนนางทางฝั่งธนบุรีที่ใกล้กับบ้านของหมอบรัดเลย์มากกว่าที่อื่น หมอบรัดเลย์ได้เคยกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เริ่มมีความสัมพันธ์ดีขึ้นเมื่อผ่านไปถึง ๖ ปี และเรื่องที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีก็ไม่ใช่เรื่องอื่นใด แต่เป็นเรื่องของการพิมพ์หนังสือที่มีปัญหาเรื่องตัวพิมพ์บ้าง เครื่องมือบ้าง และบางครั้งก็ช่างพิมพ์ มีการแลกเปลี่ยนหยิบยืมกันอยู่เสมอ เพราะในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงผนวชได้ประทับอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในวัด จนถึง พ.ศ. ๒๓๘๒ หมอบรัดเลย์จึงได้รับเชิญให้ถวายพระอักษรแด่พระองค์ โดยเสด็จมาประทับที่วัดใกล้ ๆ บ้านของหมอบรัดเลย์ (เข้าใจว่าจะเป็นวัดโมลีโลกยาราม) ในตอนเย็น (สัปดาห์ละ ๕ วัน)

    นอกจากนั้นยังได้ทรงส่งเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้มาเรียนภาษาอังกฤษที่บ้านของหมอบรัดเลย์อีกด้วย เป็นผู้มีเชื้อสายในพระราชวงศ์เรียกกันว่า เจ้ากระต่าย คุณชายกระต่ายได้พยายามเรียนภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีเป็นครั้งเป็นคราวอยู่หลายปี จนได้รับความรู้ใช้ภาษาอังกฤษรับราชการได้ จึงได้เป็นผู้ช่วยทูต (attache) ของคณะทูตไทย ซึ่งไปเมืองลอนดอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ และได้เป็นล่ามสำคัญของอัครราชทูตด้วย เมื่อกลับจากประเทศอังกฤษไม่ช้านัก ได้แต่งหนังสือ จดหมายเหตุระยะทางเรื่องทูตไทยไปเมืองลอนดอน ทั้งได้แต่ง นิราษเมืองลอนดอน อีกด้วย ตั้งแต่นั้นคนจึงได้รู้จักหม่อมราโชทัยมากขึ้น สรุปว่าหมอบรัดเลย์มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับหลวงนายสิทธิ์และหม่อมราโชทัยมาตั้งแต่ต้น จึงได้มีความสัมพันธ์อันดีตลอดมา
    ..........>>>

  5. #5
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    เผยแพร่วิชาผดุงครรภ์

    ในหนังสือ ประวัติศาสตร์โปรเตสแตนท์ในประเทศไทย ของ ดร. เคนเนท อี. แวลส์ ได้กล่าวว่า นับแต่หมอบรัดเลย์เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ งานของมิชชันนารีในระหว่าง ๑๐๐ ปี ควรจะยกเกียรติให้แก่ท่านและผู้สืบสายโลหิตของท่าน ชื่อเสียงของท่านเป็นที่กล่าวกันในประเทศไทยด้วยความเป็น "ที่หนึ่ง" ของยุคปัจจุบัน ที่หนึ่งในด้านการพิมพ์, ที่หนึ่งในการผ่าตัด และที่หนึ่งในความสำเร็จในการปลูกฝีและฉีดยาต่อต้านไข้ทรพิษ
    แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งควรจะกล่าวรวมไว้ในที่นี้ คือ หมอบรัดเลย์เป็นแพทย์มิชชันนารีคนแรก ที่พยายามแนะนำให้คนไทยเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟ เรื่องนี้นายแพทย์มนัสวี อุณหนันทน์ ได้เขียนไว้ใน ประวัติการแพทย์มิชชันนารีในประเทศไทย เป็นเรื่องที่น่ารู้ จึงขอคัดมาเฉพาะบางตอนดังต่อไปนี้

    "ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้นายแพทย์บรัดเลย์เข้าไปในวังเพื่อตรวจอาการเจ้าจอมผู้หนึ่งซึ่งป่วยเป็นไข้ในระยะอยู่ไฟ นายแพทย์บรัดเลย์ได้กราบทูลถวายคำแนะนำว่า ควรให้เจ้าจอมผู้นั้นเลิกอยู่ไฟทันที เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว นายแพทย์บรัดเลย์ก็จัดแจงย้ายเตาไฟออกไปนอกห้อง และให้เปิดหน้าต่างออกทุกบาน พร้อมกับสั่งให้ลูบตัวคนไข้ด้วยน้ำเย็น ไม่ช้าอาการไข้ก็หายเป็นปรกติ
    แม้คนทั้งปวงจะเห็นคุณของการผดุงครรภ์แผนตะวันตกแล้วก็ดี แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดกล้าเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟ จนกระทั่งมาถึงรัชกาลที่ ๕ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ทรงขอให้ หมอเกาแวน (Peter Gowan) แพทย์ประจำพระองค์ เป็นผู้ทำการผดุงครรภ์และพยาบาลแบบฝรั่งให้แก่หม่อมและบุตรธิดาของท่าน เหตุที่กรมหมื่นปราบปรปักษ์ได้เลิกการอยู่ไฟก่อนผู้อื่นนั้น กล่าวกันว่าเมื่อท่านยังเป็นหม่อมเจ้า มีบุตรคนแรก (คือเจ้าพระยาพระเสด็จ) หม่อมเปี่ยมมารดาเป็นไข้ทุรนทุรายทนความร้อนไม่ได้ แต่พวกผู้ใหญ่ที่พยาบาลบังคับ ขืนให้อยู่ไฟจนหม่อมเปี่ยมตาย ท่านจึงรังเกียจการอยู่ไฟตั้งแต่นั้นมา
    เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ มีพระอาการเป็นไข้ กรมหมื่นปราบฯ จึงกราบทูลชี้แจงแสดงคุณของวิธีพยาบาลอย่างฝรั่ง จนสมเด็จพระบรมราชินีทรงเลื่อมใส ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเลิกผทมเพลิง แต่นั้นก็เริ่มเลิกวิธีอยู่ไฟที่ในพระบรมมหาราชวัง และพวกผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ข้างนอกวังก็เอาอย่างตามเสด็จพระบรมราชินีมากขึ้นเป็นลำดับ
    ต่อมาเมื่อได้ตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้นใหม่ ๆ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมพยาบาลในสมัยนั้น ทรงพยายามที่จะชี้แจงชักชวนหญิงที่ไปคลอดบุตรในโรงพยาบาลให้เลิกอยู่ไฟ แต่ก็ยังไม่เป็นผล เมื่อความขัดข้องนั้นทราบถึงสมเด็จพระบรมราชินี จึงโปรดประทานอนุญาตให้กรมพยาบาลอ้างกระแสรับสั่งชี้แจงแก่คนที่จะคลอดลูกในโรงพยาบาลว่า พระองค์เองเคยผทมเพลิงมาแต่ก่อน แล้วมาเปลี่ยนใช้วิธีพยาบาลอย่างใหม่ ทรงสบายกว่าผทมเพลิงมาก มีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรได้ความสุขด้วย จึงทรงแนะนำให้เลิกอยู่ไฟเสีย ถ้าใครทำตามที่ทรงชักชวนจะพระราชทานเงินค่าทำขวัญลูกที่คลอดใหม่คนละ ๔ บาท จึงมีคนสมัครให้พยาบาลอย่างใหม่มากขึ้นเป็นลำดับ ในที่สุดกรมพยาบาลก็สามารถตั้งข้อบังคับเลิกประเพณีอยู่ไฟในโรงพยาบาลได้สำเร็จ"

    นอกจากหมอบรัดเลย์จะแนะนำให้เลิกประเพณีอยู่ไฟตามแบบโบราณแล้ว หมอบรัดเลย์ยังให้เรียบเรียงตำราสูติศาสตร์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเล่มหนึ่งมีชื่อว่า คำภีร์ครรภ์ทรักษา พิมพ์เมื่อ จ.ศ. ๑๒๐๔ (พ.ศ. ๒๓๘๕) จำนวน ๒๐๐ เล่ม มีภาพประกอบ นับเป็นตำราแพทย์เล่มที่ ๒ ต่อจากตำราปลูกฝีโค เหตุที่แต่งตำราเล่มนี้หมอบรัดเลย์ชี้แจงไว้ดังต่อไปนี้
    "ข้าพเจ้าหมอบรัดเลย์ ได้ทำตำราปลูกฝีดาษถวาย ได้รับพระราชทานรางวัลแล้ว แลได้ให้กราบทูลพระกรุณาไว้ว่า จะทำตำรารักษาหญิงคลอดบุตรถวายนั้น เนิ่นช้ามาเพราะข้าพเจ้ายังมีธุระอยู่หลายประการ บัดนี้ธุระค่อยเบาบางแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ทำตำราคลอดบุตรนี้ถวาย ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจจะจัดแจงตำรานี้ถวายนั้นเพราะได้เห็นเหตุ ๓ ประการ คือในเมืองนี้หญิงคลอดบุตรได้โดยยากลำบากนัก ข้าพเจ้ามีความเมตตาปรารถนาจะช่วยสำแดงวิธีรักษาครรภ์ไว้ให้เห็นเป็นอย่าง จะได้รักษาโดยง่าย โดยสะดวกนั้นประการหนึ่ง ประการหนึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ทารกที่เกิดออกมานั้นมักมีโรค มักตายเร็วเป็นอันมาก เพราะเขารักษาโดยเห็นวิปลาศ ประการหนึ่งข้าพเจ้าได้ค้นดูตำราอย่างอเมริกา แลตำราเมืองอังกฤษ แลตำราเมืองอื่น ๆ เป็นหลายเมือง พิจารณาดูเห็นว่า ตำราอันใดเป็นอย่างดีวิเศษควรเชื่อฟังได้ ข้าพเจ้าจึงได้กระทำตามตำรานั้นมาช้านานหลายปีแล้ว แลฝ่ายพวกหมออเมริกาแลหมออังกฤษทั้งปวง ก็ได้กระทำตามตำราที่ดีที่ถูกต้องนั้นมาหลายร้อยปีแล้ว จึงมีคุณแก่ชาวเมืองอเมริกาแลเมืองอังกฤษนั้นมาก บัดนี้ข้าพเจ้าจะจัดแจงตำราคลอดบุตรนี้แต่โดยย่อ พอให้เห็นเป็นใจความก่อน ด้วยตำราคลอดบุตรนี้เป็นตำราใหญ่กว้างขวางนัก จะแปลออกให้สิ้นเสร็จยังไม่ได้ จะคัดเอาเป็นแต่ใจความพอรักษาได้ก่อน ต่อเมื่อหมอหลวงเห็นด้วย เชื่อฟังแล้ว ข้าพเจ้าจึงจะจัดแจงให้กว้างขวางออกไปต่อภายหลัง"
    ต่อจากนี้หมอบรัดเลย์ก็เริ่มบรรยายตั้งแต่ครั้งสร้างโลกตามคัมภีร์คริสตศาสนา จนถึงพระยโฮวาสร้างอาดัมกับอีวามนุษย์คู่แรกขึ้นมา แล้วอีวาตั้งครรภ์จึงเริ่มเรื่องกำเนิดของทารกและการผดุงครรภ์ ถึงกระนั้นก็ไม่วายที่จะแทรกเรื่องในคัมภีร์ เช่นในตอนจะคลอดกล่าวว่า
    "อุทรนั้นครั้นถึงกำหนดคลอด ข้างเบื้องบนอุทรก็บีบรัดเข้าเอง มังสะอุทรนั้นบีบเข้า คออุทรก็แยกขยายผายออกเป็นคราว ๆ ตามธรรมดาที่พระเจ้าตั้งไว้ เป็นเพราะเหตุเช่นว่านี้มารดาจึงปวดนัก ลางคนปวดน้อย อันความเจ็บปวดเวทนาเมื่อคลอดนั้น เป็นธรรมดามาแต่แม่หญิงในเดิม เพราะแม่หญิงคนที่เป็นแม่เดิมมนุษย์ทั้งปวงนั้น ได้กระทำผิดต่อพระยโฮวาเจ้าผู้สร้างมนุษย์ แม่หญิงนั้นลอบลักกินผลไม้ที่พระเจ้าห้าม พระเจ้าจึงลงอาญาสาปสรรให้หญิงนั้นคลอดยากลำบากเวทนานัก หญิงทั้งปวงที่เป็นลูกหลานเหลนเชื้อสายต่อ ๆ กันมา ก็พลอยผิดพลอยเป็นบาปตามแม่หญิงเดิมนั้นทุกคน ๆ จะเป็นเช่นนี้ตลอดไปจนสิ้นโลก"
    เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดาของศาสนาจารย์ที่จะต้องแทรกข้อความในพระคัมภีร์เท่าที่จะมีโอกาสทำได้ แต่อย่างไรก็ตามนับว่าหมอบรัดเลย์ได้ทำคุณประโยชน์แก่การแพทย์ของไทยและชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก


    โรงพิมพ์-หนังสือพิมพ์

    ความจริงเรื่องโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องค้นคว้าหาหลักฐานกันมาก แต่ในที่นี้ประสงค์จะกล่าวนำพอให้เห็นเค้าก่อนจะถึงเรื่องของหมอบรัดเลย์เท่านั้น ตามที่ทราบกันแล้วว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ท่านสังฆนายกอาร์โนด์ อังตวน การ์โนลต์ (Arnoud Antioine Garnault) ได้เดินทางมาจากปีนัง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗ ได้มาพำนักอยู่ที่โบสถ์ซางตาครูส ท่านผู้นี้ได้นำเครื่องพิมพ์เข้ามาด้วย แต่จะได้พิมพ์อะไรบ้างไม่ทราบ ที่พบในปัจจุบันเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ พิมพ์ด้วยตัวอักษรโรมัน แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยได้ดังนี้
    KHAM SON
    CHRISTANG
    Phac ton
    อ่านว่า "คำสอน คริสตัง ภาคต้น" พิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๖ (พ.ศ. ๒๓๓๙) นอกจากเล่มนี้แล้ว ยังไม่พบว่ามีหนังสือเล่มใดอีก ต่อมาท่านสังฆนายกปัลเลอกัวซ์ได้ย้ายเครื่องพิมพ์นี้ไปไว้ที่วัดอัสสัมชัญ

    สรุปว่าการพิมพ์ได้เริ่มขึ้นที่ซางตาครูสเป็นครั้งแรก โดยฝ่ายโรมันคาทอลิกนำเข้ามา แต่มีข้อสำคัญที่ควรทราบคือ วิธีการพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าวไม่ได้ใช้ตัวพิมพ์ "แต่เป็นการพิมพ์เผยแพร่ในวงแคบและใช้วิธีแกะเป็นตัวพิมพ์จากบล็อกไม้ หรือที่เรียกว่า Xylograph ยังไม่มีแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ใช้ในรัชกาลนั้น" (ก้าวแรกของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย โดย ขจร สุขพานิช) จึงยังไม่ควรเรียกว่าเป็นโรงพิมพ์
    จากการตรวจสอบของอาจารย์ขจร สุขพานิช พบว่าตรอกกัปตันบุชเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทยคือ โรงพิมพ์ของคณะอเมริกันบอร์ด (ซึ่งมีหมอบรัดเลย์ร่วมอยู่ด้วย) ได้พิมพ์คำสอนศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๖ (พ.ศ. ๒๓๗๙) และโรงพิมพ์ของคณะแบปติสต์ (หมอจันทเล) เฉพาะโรงพิมพ์ของคณะอเมริกันบอร์ดได้อาศัยสถานที่ตั้งอยู่ตรอกกัปตันบุชตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๕ ไปจนถึง ค.ศ. ๑๘๓๘ (พ.ศ. ๒๓๘๑) จึงได้ย้ายไปตั้ง ณ ที่เช่าข้างวัดประยุรวงศาวาสของเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งในเวลานั้นมีแต่ตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดแรกที่เฮาท์หล่อขึ้นที่เมืองย่างกุ้ง ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้หล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดใหม่ขึ้นที่ข้างวัดประยุรวงศาวาสใน ค.ศ. ๑๘๔๑ (พ.ศ. ๒๓๘๔) ได้พยายามทำอยู่ ๔ เดือน และเมื่อช่างพิมพ์จากสิงคโปร์ชื่อวิลเลียมเข้ามาช่วย จึงทำสำเร็จเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๔๒ (พ.ศ. ๒๓๘๕) ตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดใหม่นี้ หมอบรัดเลย์ได้นำไปถวายเจ้าฟ้ามงกุฎที่วัดบวรนิเวศด้วย ๑ ชุด พร้อมด้วยตัวพิมพ์ภาษาอังกฤษอีก ๑ ชุด
    ฉะนั้นหนังสือที่พิมพ์ในสมัยแรกจึงพิมพ์ที่ตรอกกัปตันบุชและที่หน้าวัดประยุรวงศาวาสเป็นส่วนมาก รวมทั้งประกาศห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่นที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พิมพ์ ๙,๐๐๐ แผ่น เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๘๓๙ (พ.ศ. ๒๓๘๒) ก็พิมพ์ที่โรงพิมพ์มิชชันนารี หน้าวัดประยุรวงศาวาส หมอบรัดเลย์เล่าว่า คนแรกที่มาขอก็คือ นายฮันเตอร์ เพราะอยู่ใกล้ที่สุด และว่าจะเอาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ
    โรงพิมพ์ที่ตรอกกัปตันบุชเป็นของคณะ American Board of Commissioners for Foreign Missions หรือเรียกย่อว่านิกาย A.B.C.F.M. ซึ่งต่อมางานของอเมริกันบอร์ดในประเทศไทยได้ยุติลงในปี ค.ศ. ๑๘๔๙ (พ.ศ. ๒๓๙๒) ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
    ๑. ประเทศจีนเปิดรับมิชชันนารี
    ๒. ผู้ที่มาทำงานในประเทศไทยต้องเจ็บป่วยล้มตายอยู่เนือง ๆ
    ๓. งานที่ทำไม่บังเกิดผล

    เมื่อไม่มีคณะทำงาน หมอบรัดเลย์จึงได้ขอแยกออกจากคณะนี้ เมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๐ (พ.ศ. ๒๓๙๓) และได้รวบรวมเงินซื้อแท่นพิมพ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากคณะ A.B.C.F.M. มาเป็นของท่าน แล้วเข้าสังกัดในคณะใหม่ที่มีชื่อว่าคณะ American Missionary Association (A.M.A.)
    ฉะนั้นหนังสือรุ่นแรก ๆ ของหมอบรัดเลย์จึงพิมพ์ที่โรงพิมพ์คณะอเมริกันบอร์ดหรือ A.B.C.F.M. เช่น คำภีร์ครรภ์ทรักษา ก็พิมพ์ที่ A.B.C.F.M. Mission Press. และเมื่อโรงพิมพ์เปลี่ยนมาเป็นของท่านแล้วก็ใช้ว่า American Missionary Association Press ซึ่งเป็นนามคณะใหม่ที่หมอบรัดเลย์มาเข้าร่วม หนังสือ นิราษเมืองลอนดอน ก็พิมพ์ที่โรงพิมพ์ใหม่นี้
    การที่หล่อตัวพิมพ์ได้เอง ทำให้มีตัวพิมพ์ใช้ได้มากขึ้น หมอบรัดเลย์จึงวางแผนออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เรียกว่า หนังสือจดหมายเหตุ และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษอีกบรรทัดหนึ่งว่า Bangkok Recorder ฉบับแรกออกเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ออกเดือนละหนึ่งใบ (เมื่อพับแล้วจะมีสี่หน้า) ในสมัยนั้นไม่เรียกว่าฉบับ แต่เรียกเป็นใบ คือ ใบ ๑ ใบ ๒ ขายปลีกใบละ ๑ เฟื้อง (๑๒ สตางค์ครึ่ง) ปีละ๑ บาท หมอบรัดเลย์ต้องการให้คนอ่านกันมาก ๆ จึงเปลี่ยนวิธีการใหม่ ถ้าเป็นขุนนางและพระราชาคณะ พระสงฆ์ฐานานุกรมถ้าต้องการหนังสือพิมพ์ก็มารับได้โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ถ้าเป็นราษฎรต้องเสียเงินปีละ ๑ สลึง แต่ต้องเสียเงินทั้งหมดเมื่อมารับใบที่ ๑
    หนังสือ บางกอกรีคอเดอ (เขียนตามหนังสือพิมพ์) ๒ ปีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น พิมพ์ที่ A.B.C.F.M. Mission Press.
    เมื่อแรกออกหนังสือ บางกอกรีคอเดอ ในรัชกาลที่ ๓ นั้นยังไม่ได้กำหนดว่าหนังสือจะออกวันที่เท่าไร เพียงแต่กำหนดว่าจะออกในวันพฤหัสบดีแรกของเดือน ฉะนั้นฉบับแรกจึงบอกแต่เพียงว่า "เล่ม ๑ บังกอกเดือนแปดปัถมาสาตร์ จุลศักราช ๑๒๐๖ July, 1844Ž เมื่อถือตามกำหนดวันพฤหัสบดีแรกก็ตรงกับวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ซึ่งตรงกับวันชาติของอเมริกา (หมอบรัดเลย์เรียกว่าวันต้นบังเกิดเมืองอเมริกา) บางกอกรีคอเดอ ได้ออกต่อมาจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ (เท่าที่พบหนังสือ) ซึ่งเป็นปีที่เอมิลี่ภรรยาของท่านถึงแก่กรรม ภาระของท่านมีมากขึ้นเพราะบุตรยังเล็กอยู่ จึงจำต้องหยุดชั่วคราว
    เข้าใจว่าบ้านเรือนที่อยู่หน้าวัดประยุรวงศาวาสนั้นคงจะคับแคบไม่เหมาะจะทำกิจกรรมต่าง ๆ คณะมิชชันนารีจึงขวนขวายที่จะหาที่ใหม่ และในที่สุดก็ได้โอกาสหลังจากอยู่มา ๑๗ ปี เมื่อเจ้าฟ้าน้อยหรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้รับบวรราชาภิเษกเป็นกษัตริย์วังหน้า เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ พื้นที่ข้างพระราชวังเดิมไม่ได้ใช้ทำกิจการของหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นคุณงามความดีของหมอบรัดเลย์และพวกมิชชันนารีที่มีต่อเมืองไทยเป็นอันมาก จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกมิชชันนารีและหมอบรัดเลย์เช่าที่ปลูกเรือน และทำหนังสือสัญญาให้ไว้เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๕
    เมื่อได้ที่ดินใหม่แล้ว หมอบรัดเลย์ก็ดำเนินการปลูกบ้านด้วยตนเอง ความจริงที่ใหม่นี้อยู่ในทำเลที่ดี เพราะปากคลองบางหลวงเป็นตลาดเรือที่ชาวสวนขนผลไม้พืชผักมาขาย เรือบรรทุกปลาทะเลก็มาออกที่นั่น ขุนนางคหบดีมีบ้านเรือนอยู่ในคลองบางหลวง และเมื่อมีโรงเรียนสตรีวังหลังเกิดขึ้นในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ก็เพิ่มสีสันให้แก่คลองบางหลวง และบริเวณโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบันมากขึ้น
    หลังจากที่หยุดทำ บางกอกรีคอเดอ รุ่นรัชกาลที่ ๓ ได้ ๑๔ ปี หมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ บางกอกคาเลนเดอร์ Bangkok Calender ที่โรงพิมพ์ใหม่ของท่านที่ใช้ชื่อว่า "Printing office of the American Missionary Association" หลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ หนังสือ บางกอกคาเลนเดอร์ เป็นหนังสือรายปี ศาสนาจารย์ N.A. McDonald แห่งคณะเปรสไบทีเรียน เป็นบรรณาธิการในตอนแรก ต่อมาหมอบรัดเลย์เป็นบรรณาธิการ ออกเล่มแรกเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๙ (พ.ศ. ๒๔๐๒) และออกฉบับสุดท้ายปี ค.ศ. ๑๘๗๒ เพราะปี ค.ศ. ๑๘๗๓ (พ.ศ. ๒๔๑๖)


    หมอบรัดเลย์ถึงแก่กรรม

    การทำหนังสือ บางกอกคาเลนเดอร์ นั้น หมอบรัดเลย์ได้ลงพิมพ์แจ้งความไว้อย่างตรงไปตรงมา ว่าขอแบ่งกำไรไปเลี้ยงครอบครัวบ้าง ทำบุญบ้าง เนื่องจากหมอบรัดเลย์ไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างอื่น วิชาแพทย์ที่เรียนมาก็ไม่ได้ใช้เป็นอาชีพ แต่ทำเป็นการกุศลตามปณิธานที่ตั้งไว้ในตอนแรกเริ่ม


    บางกอกรีคอเดอ

    เมื่อหมอบรัดเลย์หยุดทำหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ นั้นแล้ว ต่อมาอีก ๒ ปีก็เดินทางไปอเมริกาและพักอยู่ที่นั่นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๑๘๔๗ (พ.ศ. ๒๓๙๐) ถึงเดือนตุลาคม ๑๘๔๙ (พ.ศ. ๒๓๙๒) ขากลับมาได้พา หมอซิลซีบี (Professor Josiah Silsby) และ หมอเลน (Dr. Lane M.D.) มาอยู่ด้วย และมีชื่ออยู่ในหนังสืออนุญาตให้เช่าที่ดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาทั้งสองคนนี้ได้กลับไปอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ และหมอบรัดเลย์ก็ไม่รับใครมาทำงานแทน หมอบรัดเลย์ก็วุ่นอยู่คนเดียว

    เรื่องที่น่ารู้ก็คือ นอกจากทำหนังสือ บางกอกคาเลนเดอร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ ดังกล่าวในตอนก่อนแล้ว หมอบรัดเลย์ได้หวนกลับมาทำหนังสือ บางกอกรีคอเดอ อีกครั้งหนึ่งในรัชกาลที่ ๔ ได้เริ่มออกฉบับภาษาอังกฤษก่อนเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ค.ศ. ๑๘๖๕ (พ.ศ. ๒๔๐๘) ส่วนฉบับภาษาไทยออกเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๕ (พ.ศ. ๒๔๐๘) ในครั้งนั้นจะพิมพ์รวมกับฉบับภาษาอังกฤษหรืออย่างไรไม่ทราบ ไม่เคยเห็นหนังสือ แต่ทราบจากข้อความท้ายจดหมายเหตุเล่ม ๑ ใบ ๑ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๘ มีความว่า

    ตั้งแต่นี้ไปจะไม่ให้ติดอยู่กับหนังสือจดหมายเหตุที่เปนภาษาอังกฤษนั้นต่อไป จะให้ตีต่างหากเปนใบสี่น่าเต็ม ๆ เช่นอย่างฉบับนี้
    แสดงว่าก่อนหน้านี้ได้มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยอยู่ในฉบับเดียวกัน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่พบหนังสือดังกล่าวหนังสือจดหมายเหตุที่ออกใหม่นี้ ออกเดือนละ ๒ ใบ ใบแรกออกวันที่ ๑ มีนาคม จ.ศ. ๑๒๒๗ ใบ ๒ ออกวันที่ ๑๖ มีนาคม ค่าบอกรับปีละ ๕ บาท ในการออกครั้งใหม่นี้แจ้งว่า "เจ้าของหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอนั้นชื่อว่า ดีบี บรัดเล ๑, เอนเอ แมคดันล์ ๑"
    เอน เอ แมคดันล์ นั้นคือ Norman A. McDonald บรรณาธิการร่วมของหมอบรัดเลย์ และเคยทำหน้าที่รองกงสุล และกงสุลอยู่ระยะหนึ่ง แสดงว่าในการออกหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอ ครั้งหลังนี้ (ห่างจากครั้งแรกถึง ๒๐ ปี) หมอบรัดเลย์ต้องหาทุนมาร่วมด้วย เพราะหลังจากหมอบรัดเลย์ซื้อกิจการพิมพ์และสิ่งอื่น ๆ จากอเมริกันบอร์ด
    (A.B.C.F.M.) แล้ว ท่านก็ไม่ได้รับค่าใช้จ่ายจากสมาคมอเมริกันมิชชันนารีอีก ต้องหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวด้วยการรับตีพิมพ์หนังสือและเอกสารต่าง ๆ สรุปว่าท่านไม่ได้ใช้วิชาแพทย์ของท่านให้เป็นเงินเป็นทอง เพราะรักษาฟรีอยู่ตลอดเวลา อาชีพที่ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวกลับเป็นอาชีพพิมพ์หนังสือขาย
    หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอ ออกใหม่เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม จ.ศ. ๑๒๒๗ (พ.ศ. ๒๔๐๘) ยังมีนโยบายหรือวัตถุประสงค์แบบเดิม คือมีข่าวในประเทศและต่างประเทศ แจ้งราคาสินค้าพืชผลต่าง ๆ ของไทย ที่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านชาวเมืองก็คือ วิธีทำยารักษาบาดแผลอย่างง่าย ๆ แจ้งกำหนดเวลาเรือกำปั่นเข้ามากรุงเทพฯ และออกจากกรุงเทพฯ ข่าวการเลหลังสินค้า ข่าวตาย ข่าวปล้น ฯลฯ
    อย่างไรก็ตามถึงจะมีผู้บอกรับเป็นสมาชิกหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ อยู่ร้อยคนเศษ แต่การชำระเงินก็ไม่ครบตามจำนวน ในที่สุดเมื่อทำมาถึงเล่มที่ ๒ ใบที่ ๒๔ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ จุลศักราช ๑๒๒๘ (พ.ศ. ๒๔๐๙) หมอบรัดเลย์ก็เลิกทำ


    วิจารณ์กงสุล-หมอบรัดเลยแพ้คดี

    การทำหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอ ของหมอบรัดเลย์นั้น บางครั้งก็มีบทวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของชาวบ้านที่เห็นแก่ตัวรุกล้ำที่สาธารณะบ้าง การปฏิบัติงานที่ล่าช้าของรัฐบาลทำให้เสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้บ้าง วิจารณ์ความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของเจ้านายบางองค์บ้าง ทั้งนี้รวมไปถึงการกระทำของชาวต่างชาติที่เข้ามาแสดงอำนาจบาตรใหญ่ และคิดแบ่งดินแดนไทย ซึ่งคนชาวบ้านชาวเมืองไม่มีโอกาสรู้ หมอบรัดเลย์ก็นำมาลงพิมพ์ให้ได้อ่าน เช่นในฉบับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๙ หมอบรัดเลย์ได้เก็บความจากหนังสือพิมพ์อังกฤษชื่อ ไชนะ เติลเครฟ มาลงพิมพ์มีความว่า
    "พวกฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งบ้านเมืองใกล้กับแดนกรุงเทพฯ ได้พูดโอ้อวดว่าได้ที่เมืองกระแล้ว จะขุดคลองใหญ่ให้ทะลุทะเลตะวันตก เพื่อให้เรือกำปั่นแล่นลัดเข้าออกตามคลองนั้น เราเห็นว่าเมืองฝรั่งเศสเป็นไมตรีกับกรุงเทพฯ แล้วมาเจรจาดังนี้เป็นการไม่ดี ผิดธรรมเนียมบ้านเมือง คนทั้งปวงที่ได้ฟังข่าวกรุงเทพฯ ใน ๒ ปีที่แล้ว คงจำมนเซียโอบาเรกงสุลฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ ได้ว่า ครั้งนั้นโอบาเรได้ทำการวุ่นวายต่าง ๆ แล้วกลับไปกรุงปารีส คนทั้งปวงก็หวังใจว่าเอมเปอเรอฝรั่งเศสจะถอดออกจากกงสุล แต่กลับให้มาเป็นกงสุลต่อไปอีก ฯลฯ"
    มนเซียโอบาเรนั้นคือ มองซิเออโอบาเรต์ (Monsieur Auburet) ซึ่งแต่เดิมเป็นทหาร จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Captain Auburet
    เหตุที่โอบาเรต์ทำการวุ่นวายต่าง ๆ นั้น เนื่องมาจากข่าวการทำสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสว่าด้วยเรื่องเมืองเขมร กับข่าวการทำสัญญาว่าด้วยอากรสุรากับฝรั่งเศส ซึ่งหมอบรัดเลย์ได้พยายามห้ามปรามและชี้แจงให้เห็นโทษของสุรามาตลอด จึงเป็นเรื่องที่ควรยกย่องสรรเสริญอีกเรื่องหนึ่งของหมอบรัดเลย์ที่หวังดีต่อชีวิตของคนไทย
    หลังจากเกิดเรื่องนี้แล้ว โอบาเรต์ได้ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๐๘ แต่แล้วก็กลับมาอีกเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๐๙ และเกิดเรื่องกับหมอบรัดเลย์อีก
    การวิจารณ์การกระทำของกงสุลดังกล่าวมาแล้ว เพียงแต่ทำให้กงสุลฝรั่งเศสไม่พอใจและถูกเพ่งเล็ง แต่หมอบรัดเลย์ก็ไม่สนใจ เมื่อพบว่ากงสุลโอบาเรต์ทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ก็นำมาพิมพ์ให้ประชาชนคนอ่านได้ทราบ เป็นเหตุให้โอบาเรต์เป็นเดือดเป็นแค้นเป็นอันมาก ดังข่าวที่ลงพิมพ์ในฉบับวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๙ ซึ่งมีความดังต่อไปนี้
    "ได้ยินข่าวเล่าลือกันมากว่าในวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ (วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๐๙) มองซิเออร์โอบาเรต์กงสุลฝรั่งเศสได้เข้าไปเฝ้าในหลวงที่หน้าพระที่นั่งสุทไธยสวรรย์ องอาจกล่าวโทษท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นใจความว่า ถ้าจะโปรดให้ท่านอยู่ที่กลาโหมต่อไป กรุงสยามกับฝรั่งเศสจะอยู่เป็นสุขไม่ได้ มิหนำซ้ำว่าควรจะถอดเสีย ถ้าความนี้เป็นความจริงก็ผิดอย่างธรรมเนียมที่เคยมีในยุโรปแต่เดิมมา ถึงมาตรว่าจะเป็นราชทูตใหญ่จะมากล่าวโทษ ผู้ที่เป็นสำเร็จราชการแผ่นดินเหมือนอย่างท่านก็ไม่ได้ ที่ประเทศยุโรปถึงราชทูตใหญ่ทำองอาจดังนั้น เห็นทีอังกฤษหรือฝรั่งเศสหรือเมืองอื่นก็ดี จะส่งหนังสือที่ราชทูตถือมาคืนให้แล้วก็จะไล่เสีย นี่เป็นแต่กงสุลบรรดาศักดิ์ต่ำกว่าราชทูตมากจะยอมได้หรือ เรามีความหวังใจว่ารัฐบาลกรุงเทพฯ จะไม่ยอมตามที่กงสุลฝรั่งเศสปรารถนานั้นเลย เป็นการองอาจแทบจะบังคับในหลวงให้ตัดแขนข้างขวาเสีย ตั้งแต่ความนั้นเกิดมาเราได้ถามหลายคนนักหนาก็ว่าเป็นความจริง ผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ว่าเป็นความจริง คนทั้งปวงเสียใจนัก ได้ยินข่าวว่าในหลวงได้โปรดยกโทษกงสุลฝรั่งเศสเสียแล้ว ถ้าเป็นความจริงยกโทษเสียง่าย ๆ ดังนี้ ถ้าฝรั่งเศสยกทัพมาตีเมืองฝ่ายใต้ได้หมด ก็จะยกโทษเสียง่าย ๆ ดั่งนั้นก็ได้เหมือนกัน"

    เรื่องนี้หมอบรัดเลย์ออกจะไม่พอใจที่ยกโทษให้โอบาเรต์ง่าย ๆ จึงได้เขียนประชดเช่นนั้น และในฉบับต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ได้ลงเรื่องโอบาเรต์ต่ออีก
    "หนังสือจดหมายอังกฤษมาแต่เมืองปารีส ชื่อคาสิค นายเม็ตเซนเชอ ได้ลงพิมพ์เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้นสามค่ำ เป็นหนังสือเล็งเอาข่าวที่มาแต่กรุงเทพฯ ที่ว่าด้วยมองซิเออโอบาเรต์กงสุลฝรั่งเศสได้ทำวุ่นวายในกรุงเทพฯ เมื่อครั้งก่อนนั้น ในหนังสือนั้นมีใจความว่าในบางกอกเกิดความผิดประหลาดนัก คือกงสุลฝรั่งเศสได้เกิดความขัดข้องกันกับพระเจ้าแผ่นดินสยาม เราได้คัดเรื่องความนั้นออกจากหนังสือบางกอกรีคอเดอที่เป็นภาษาอังกฤษ เป็นจดหมายเหตุประเสริฐที่ควรจะเชื่อ ความที่เราคัดนั้นได้ลงพิมพ์ แต่หาได้ลงให้หมดไม่เพราะที่นั้นน้อย ถ้าผู้ใดได้อ่านก็คงเห็นว่ากงสุลฝรั่งเศสมีความผิดใหญ่จริง ไม่สมกับขุนนางฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงว่าเป็นคนรู้อัธยาศัย แลขุนนางฝรั่งเศสย่อมถือตัวว่าเป็นคนดีมีอัธยาศัยกว่าเมืองอื่น ๆ พวกข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะไม่รับการมองซิเออโอเบอเรต์นั้นเลย แลคงจะห้ามปรามในการชั่วนั้นเมื่อคำฟ้องมาถึงรัฐบาลแล้ว แลรัฐบาลจะขัดขวางไว้
    ข้าพเจ้าผู้เป็นเจ้าของหนังสือจดหมายเหตุในภาษาไทยนี้ มีความหวังใจว่าคนที่ดีมีปัญญาพอประมาณ คงจะปลงใจเห็นพร้อมใจกันในการผิดของมองซิเออโอบาเรต์นั้น ถ้ามองซิเออโอบาเรต์ได้รู้ว่า ตัวผิดแลลุแก่โทษรับสารภาพตามที่สมควรแล้ว ข้าพเจ้าจะมิได้ลงพิมพ์กล่าวโทษต่อไปอีกเลย แต่ข้าพเจ้าได้ยินข่าวว่าเมื่อท่านจะออกจากกรุงสยามนี้ท่านก็รู้ว่าตัวผิดจริง แต่หาได้ไปลุแก่โทษสารภาพโดยดีไม่ ควรที่ท่านจะไปขอโทษเอง ก็หาไปไม่ ใช้ให้บ่าวไปลุแก่โทษกับหม่อมราโชทัยแทนตัวท่าน ทำเช่นนี้ดูเป็นการดูถูกซ้ำเติมขึ้นอีก"
    ข่าวที่ลงพิมพ์เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๐๙ ข้างต้นนั้น มองซิเออ โอบาเรต์ ได้ยื่นฟ้องหมอบรัดเลย์เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ศกเดียวกันในข้อหาหมิ่นประมาท เรียกค่าทำขวัญจากหมอบรัดเลย์ ๑,๕๐๐ เหรียญ ซึ่งในที่สุดหมอบรัดเลย์ก็แพ้คดี
    อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นพวกฝรั่งในกรุงเทพฯ มีความสงสารหมอบรัดเลย์ ได้เรี่ยไรเงินรวมเข้าด้วยกันได้ ๓๐๐ บาท สมทบทุนในการนี้ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินให้หมอบรัดเลย์อีก ๒,๐๐๐ เหรียญอเมริกัน หลังจากสิ้นสุดคดีนี้เพียง ๑๐ วัน หมอบรัดเลย์ก็ประกาศเลิกทำ จดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์


    หนังสือที่แต่งและพิมพ์จำหน่าย

    หมอบรัดเลย์เริ่มเรียนภาษาไทยตั้งแต่ยังไม่เห็นเมืองไทย ได้พยายามฝึกพูดเขียนจนใช้การได้ และหมอก็เป็นคนชอบเขียนชอบบันทึก ประวัติของหมอที่เขียนในปัจจุบันก็ได้จากบันทึกของหมอทั้งสิ้น การทำหนังสือพิมพ์ของหมอก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หมอต้องเขียนอยู่ทุกวัน เขียนทั้งข่าว ทั้งบทความ ตลอดจนแปลบทความต่าง ๆ นิทานอีสปก็เริ่มแปลลงในหนังสือ บางกอกรีคอเดอ เป็นครั้งแรก ผลงานตอนก่อนทำหนังสือพิมพ์จะเป็นพวกคำสอนในศาสนาคริสต์ พิมพ์เป็นเล่มเล็ก ๆ แจก
    การเขียนของหมอบรัดเลย์ก็ใช้สำนวนภาษาที่อ่านง่ายแม้จะนานกว่า ๑๕๐ ปีมาแล้ว ก็ยังเป็นสำนวนภาษาไทยที่อ่านแล้วเข้าใจดีกว่าการเขียนของนักเขียนไทยบางคนเสียอีก ผลงานบางเรื่องเป็นการริเริ่มที่ดีมีประโยชน์ทางวิชาการ จะขอแนะนำหนังสือบางเล่มมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
    ตำราปลูกฝีโค หรือปลูกฝีดาษ เป็นหนังสือเล่มแรกที่เกี่ยวกับการแพทย์สมัยใหม่ ที่หมอบรัดเลย์เขียนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออธิบายถึงวิธีการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษที่ระบาดอยู่ในเวลานั้น และได้รับพระราชทานรางวัลเป็นเงิน ๓ ชั่ง (๒๔๐ บาท) ซึ่งเป็นจำนวนที่มากในสมัยนั้น เข้าใจว่าพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๓๙ (พ.ศ. ๒๓๘๒)
    คัมภีร์ครรภ์ทรักษา เป็นผลงานแปลเกี่ยวกับการแพทย์เล่มที่ ๒ ที่หมอบรัดเลย์พิมพ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อ ค.ศ. ๑๘๔๒ (พ.ศ. ๒๓๘๕) จำนวน ๒๐๐ เล่ม มีความยาวจำนวน ๑๖๗ หน้า มีรูปประกอบ พิมพ์ที่โรงพิมพ์อเมริกันบอร์ด (A.B.C.F.M. Mission Press)
    หนังสืออักขราภิธานศรับท์ หนังสือเล่มนี้หมอบรัดเลย์ไม่ได้เป็นคนทำ แต่เป็นคนต้นคิดให้ผู้อื่นทำและจัดพิมพ์ ดังปรากฏในแจ้งความต้นเล่มว่า "หนังสืออักขราภิธานศรับท์นี้ เปนคำไทยอธิบายโดยพิศดารตามภาษาไทย ข้าพเจ้าหมอปรัดเลได้ให้อาจารย์ทัดคัดแปล แลอธิบายโดยละเอียดตามวิธีอักษรสยามภาคย์ ได้ตีพิมพ์ริมป้อมปากคลองบางกอกใหญ่ หลังวังสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ จ้าวฟ้าจาตุรณรัศมี จบลงเมื่อ ณ วันอังคาร เดือนสิบสอง ขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราช ๑๒๓๕ ปีรกา เบญจศก"
    หมายความว่าพิมพ์เสร็จเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ภายหลังหมอบรัดเลย์ถึงแก่กรรม ๔ เดือน ข้อความท้ายแจ้งความนั้นมาเติมขึ้นภายหลัง เพราะปรากฏว่าบุตรชายคนที่ชื่อ Dan F. Bradley ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์ต่อมา และรัชกาลที่ ๕ ทรงช่วยซื้อได้ ๑๐๐ เล่ม
    นิราษเมืองลอนดอน เป็นหนังสือบทกลอนขนาดยาวเรื่องแรกที่หมอบรัดเลย์จัดพิมพ์จำหน่าย เป็นการบุกเบิกด้านวรรณกรรมให้แพร่หลายมากขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นครั้งแรกที่มีการซื้อขายลิขสิทธ์วรรณกรรมไทย โดยหมอบรัดเลย์ได้ซื้อกรรมสิทธิ์หนังสือ นิราษเมืองลอนดอน ของหม่อมราโชทัย เป็นเงิน ๔๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ และพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔
    สามก๊ก เป็นพงศาวดารจีนเรื่องแรกที่หมอบรัดเลย์พิมพ์จำหน่าย หนังสือ สามก๊ก เป็นเรื่องยาว ต้องใช้เวลาพิมพ์นาน ได้เขียนปรับทุกข์กับคนสั่งจองอยู่ตลอดเวลา เช่นในฉบับที่ ๑ มกราคม ๒๔๐๙ ลงแจ้งความว่า "เล่มที่หนึ่งรวม ๒๔ เล่มสมุดไทย ตีเกือบจะแล้วเป็นการใหญ่ยืดยาวนัก เกินสัญญาไปได้สักสองเดือน เพราะข้าพเจ้าผู้เจ้าของหมายการผิดไป ข้าพเจ้าขออภัยกับท่านที่ได้ลงชื่อไว้ทุก ๆ คนเถิด ตั้งแต่นี้ไปเล่มต้นจะตีใน ๑๐ วัน จะแล้วแลจะต้องผูกให้ได้สัก ๓๕๐ เล่ม

  6. #6
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    หมอบรัดเลย์
    นายแพทย์คทาวุธ โลกาพัฒนา โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน




    "ระหว่างช่วงแรกของศตวรรษที่ ๑๙ (ค.ศ. ๑๘๐๐-๑๘๔๐) ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการฟื้นฟูทางศาสนาเกิดขึ้นเป็นระลอก ซึ่งก่อให้เกิดลักษณะทางวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบันนี้ ภาคตะวันตกของมลรัฐนิวยอร์ก มลรัฐเวอร์มอนต์ มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ หรือรวมเรียกว่า "ถิ่นแห่งความร้อนรน" (The Burned Over District) เป็นถิ่นที่ตั้งของขบวนการเคลื่อนไหวที่ดึงดูดคนหนุ่มสาวให้เข้าร่วม "สงครามทางศาสนา"

    ขบวนการแรก คือการละเว้นสิ่งมึนเมา ขบวนการที่สอง คือการเลิกทาส ซึ่งในที่สุดจบลงด้วยสงครามกลางเมือง (ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๖๕) ในสมัยของประธานาธิบดี Abraham Lincoln และขบวนการที่สาม คืองานของมิชชันนารี ซึ่งก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ไปทั่วโลก"

    นี่คือส่วนหนึ่งในบทนำของหนังสือชื่อ Siam Then เขียนขึ้นโดย Dr.William L. Bradley ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๘๑ หนังสือเล่มนี้เขียนเล่าถึงประวัติของหมอบรัดเลย์ โดยวิธีเขียนแบบอัตชีวประวัติ ซึ่งท่านผู้เขียนหนังสือเล่มนี้สอนวิชาปรัชญาทางศาสนา เคยมาเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเหลนแท้ๆ ของหมอบรัดเลย์ จากข้อเขียนในบทนำดังกล่าวอธิบายได้ถึงสาเหตุเบื้องต้นที่เราได้หมอบรัดเลย์มาอยู่ในเมืองไทยในยุคสมัยที่พอเหมาะ ก่อเกิดการแพทย์แผนใหม่ กระทั่งพัฒนามาสู่ยุคปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็อธิบายได้ว่า ในปัจจุบันคงไม่มีคนที่จะมาอุทิศชีวิตทั้งชีวิตในเมืองไทยดังท่านอีกเป็นแน่แท้





    หมอบรัดเลย์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ ที่เมือง Marcellus ในมลรัฐนิวยอร์ก ใกล้เมือง Syracuse ไม่ไกลจากทะเลสาบ Ontario บิดาของท่านชื่อ Dan Bradley ย้ายถิ่นฐานมาจากเมือง New Haven, Connecticut และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเมือง Marcellus นี้ มีอาชีพเป็นศาสนาจารย์ เกษตรกร ผู้พิพากษา และเป็นบรรณาธิการวารสารทางเกษตรกรรม

    สิ่งที่ท่านได้จากบิดา คือความรักในวรรณคดี กับความมุ่งมั่นที่จะรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า รวมถึงความสามารถในการเกษตร วิชาช่างไม้ และการพิมพ์ มารดาชื่อ Eunice Beach Bradley เสียชีวิตในวันที่ให้กำเนิดหมอบรัดเลย์ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ท่านได้รับการเลี้ยงดูจากบิดาผู้ให้ความรักและเคร่งในศาสนา กับจากมารดาเลี้ยงซึ่งให้ความห่วงใย จากขบวนการฟื้นฟูทางศาสนาที่เกิดขึ้นทำให้ท่านเกิดความตั้งใจที่จะทำงานทางศาสนาในขณะที่อายุ ๒๑ ปี แต่เนื่องจากสุขภาพไม่ดีจึงมิอาจศึกษาต่อ

    ในสมัยนั้นมีความต้องการมิชชันนารีที่เป็นแพทย์มาก จึงทำให้หมอบรัดเลย์ตัดสินใจที่จะศึกษาวิชาแพทย์ ระยะแรกได้ศึกษากับ Dr.A.F. Oliver ที่เมือง Penn Yan แบบตามสบาย จนกว่าสุขภาพจะดีขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ไขการพูดติดอ่างซึ่งเป็นมาตั้งแต่วัยรุ่นโดยการเข้ากลุ่มฝึกพูด การศึกษาวิชาแพทย์ในสมัยนั้นเป็นการศึกษาแบบปฏิบัติกับแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ จนกระทั่งมีประสบการณ์เพียงพอจึงจะสอบเพื่อรับปริญญา ท่านเคยไปฟังบรรยายทางการแพทย์ที่ Harvard ในปี ค.ศ. ๑๘๓๐ และกลับไปฝึกปฏิบัติงานการแพทย์ สลับกับการเป็นครูในหมู่บ้าน เมื่อสะสมเงินได้เพียงพอ จึงไปที่โรงเรียนแพทย์ในกรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียนและสอบได้ปริญญาแพทย์ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๓ ระหว่างอยู่ในนิวยอร์กยังได้ปฏิบัติงานหาความชำนาญ และระหว่างสองปีนั้น อหิวาตกโรคกำลังระบาดอยู่ในนิวยอร์ก โดยระบาดมาจากเมืองควิเบก ขณะศึกษาอยู่ในนิวยอร์ก ได้สมัครเป็นแพทย์มิชชันนารีกับ ABCFM (American Board of Commissioners of Foreign Missions) เพื่อทำงานในเอเชีย

    ที่นิวยอร์ก หมอบรัดเลย์ได้รู้จักกับบุคคลสองคนซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะต่อมา คนแรกคือ Charles Grandison Finney ซึ่งเป็นนักเทศน์และอาจารย์จาก Oberlin College มีความเชื่อว่ามนุษย์ควรจะดำรงชีวิตโดยไม่มีบาป คือดำรงชีวิตของตนเช่นเดียวกับพระคริสตเจ้า ความเชื่อนี้มีผลต่อการปฏิบัติงานของหมอบรัดเลย์ในเมืองไทย คนที่สองคือ Reverend Charles Eddy แห่งคณะ ABCFM ซึ่งแนะนำว่าการทำงานมิชชันนารีในต่างแดนควรจะมีผู้ช่วย ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การแต่งงานกับ Emelie Royce (ค.ศ. ๑๘๑๑-๑๘๔๕) แห่งเมือง Clinton, New York เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๑๘๓๔





    หมอบรัดเลย์และภรรยาออกเดินทางจากเมืองบอสตัน เมืองท่าสำคัญทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา เมื่อวันพุธที่ ๒ กรกฎาคม ๑๘๓๔ พร้อมกับมิชชันนารีกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเดินทางไปพม่า เรือชื่อ Cashmere ส่วนกัปตันชื่อ Hallet จะมุ่งไปปัตตาเวีย ขนาดของห้องพักในเรือประมาณ ๖x๖ ฟุต และสูง ๖ ฟุตเช่นกัน เตียงนอนกว้าง ๓ ฟุตครึ่ง สูงจากพื้น ๓ ฟุตครึ่ง ตลอดความกว้างของห้อง ใต้เตียงเป็นที่เก็บหีบสัมภาระ ในจำนวนนั้นมีกล่องใส่ส้มและมะนาว ถุงแอปเปิ้ลตากแห้ง ใกล้ประตูมุมห้องด้านซ้ายเป็นอ่างล้างมือ มีเก้าอี้นั่งมีเท้าแขนกับแผ่นรองเขียน มีหนังสือจำนวนมากที่หมอบรัดเลย์อ่านตลอดระยะการเดินทาง ใช้เวลา ๑๕๗ วัน จนกระทั่งมาถึงเมืองท่า Amherst ของพม่า เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๑๘๓๔ เมือง Amherst ปัจจุบันคือเมือง Kyaikkami อยู่ทางใต้ของเมืองมะละแหม่ง อยู่ในระดับเส้นรุ้ง ๑๖ องศาเหนือ ใกล้เคียงกับนครสวรรค์ของไทย วันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม ๑๘๓๕ เรือได้มาจอดทอดสมอที่นอกเกาะปีนัง แล้วเดินทางต่อถึงเมืองสิงคโปร์ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๑๘๓๕ เรือ Cashmere ที่หมอบรัดเลย์โดยสารมาจาก Boston รอนแรมผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย รวมเวลา ๖ เดือนกว่าจึงได้มาถึงสิงคโปร์ เป็นเรือใบอาศัยแรงลมในการเดินทาง

    ในปี ๑๙๘๗ เมื่อผู้เขียนมีโอกาสเดินทางถึงเมือง Salem ทางเหนือของ Boston ในมลรัฐ Massachusetts ได้แวะชมพิพิธภัณฑ์การเดินเรือ Peabody Museum of Salem ซึ่งแสดงการเดินเรือในบริเวณ New England การทำการประมง การล่าปลาวาฬในศตวรรษที่ผ่านมา การเดินทางมาค้าขายกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ภายในพิพิธภัณฑ์นี้มีห้องสมุด และมีส่วนหนึ่งที่รวบรวมชื่อกับภาพวาดของเรือที่จดทะเบียนในชายฝั่งทะเลแถบ New England ไว้ด้วยการช่วยเหลือของบรรณารักษ์ ได้ค้นหาหลักฐานของเรือชื่อ Cashmere พบว่ามีใน Ship Registers of Boston, Massachusetts, 1831-1840 หน้า ๑๒๔-๑๒๕ มีรายนามเรือที่ชื่อ Cashmere ๓ รายการ คือรายการที่สาม ความว่า

    613. CASHMERE, ship, of Boston. Registered at Boston-Charlestown June 10, 1834-permanent. Built at lincolnville, Me. in 1826.

    397 46/95 tons; length 115 ft. 3 in., breadth 27 ft. 8 in., depth 13 ft. 3 in. Master: Francis Hallett. Owners: Alfred Richardson, Boston. Two decks, three masts, square stern, no galleries, a billethead. Previously registered #182 at Boston-Charlestown June 2, 1834; now cancelled, property partially transferred. (Vol. 34, p.194)

    ได้สำเนาภาพถ่ายรูปวาดของเรือ Cashmere ลำนี้ไว้ เชื่อว่าน่าจะเป็นเรือ Cashmere ลำเดียวกันกับที่หมอบรัดเลย์โดยสารมาเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๑๘๓๔ ในบันทึกการจดทะเบียนเรือให้ชื่อกัปตันว่า Francis Hallett ส่วนในบันทึกของหมอบรัดเลย์ให้ชื่อว่า Hallet หากว่ามิใช่เรือดังในภาพก็น่าจะเป็นเรือใบในลักษณะใกล้เคียงกัน เห็นได้ว่าการเดินทางนั้นยากลำบากและเสี่ยงอันตราย





    เมื่อมาถึงสิงคโปร์ หมอบรัดเลย์ได้พักอาศัยอยู่กับ London Missionary Soceity ได้พยายามเรียนภาษาไทยกับชาวอินเดียในสิงคโปร์ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นคือ Mrs.Dean ภรรยาของศาสนาจารย์วิลเลียม ดีน ที่มาจากอเมริกาพร้อมกันได้ให้กำเนิดบุตรสาวในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๑๘๓๕ แล้วมารดาเกิดมีอาการชัก ในที่สุดเสียชีวิตในวันที่ ๕ มีนาคม ในขณะที่หมอบรัดเลย์เตรียมที่จะให้การรักษาโดยให้เลือดที่เจาะจากสามีของเธอ

    ส่วนในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ Mrs.Emelie Bradley ภรรยาของหมอบรัดเลย์ก็ให้กำเนิดบุตรชายก่อนกำหนด เด็กหยุดหายใจเป็นพักๆ ช่วยกันด้วยวิธีเป่าปากให้หายใจ แต่ก็เสียชีวิตหลังคลอด ๘ ชั่วโมง ในที่สุดภรรยาของหมอบรัดเลย์ก็ต้องดูแลลูกสาวของศาสนาจารย์ Dean ซึ่งกำพร้าแม่อยู่หลายปีกว่าจะพากลับไปอเมริกา

    หมอบรัดเลย์ออกเดินทางจากสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๑๘๓๕ โดยเรือชื่อ Futtlebarry





    เรือมาทอดสมออยู่นอกสันดอนเจ้าพระยาตั้งแต่เช้า ๐๗.๐๐ น. ของวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๑๘๓๕ รอน้ำทะเลขึ้นและคนนำร่อง ในที่สุดทราบว่าต้องรออีกเกือบ ๑๐ วันกว่าเรือจะผ่านสันดอนได้ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม จึงได้ลงเรือยาวพร้อมกับสัมภาระบางส่วนเพื่อเข้ากรุงเทพฯ มาถึงปากน้ำเวลาเที่ยงวัน รอใบผ่านทางอยู่ ๒ ชั่วโมง ๕ โมงเย็นถึงปากลัด และถึงกรุงเทพฯ เวลา ๒๑.๐๐ น. ของวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๑๘๓๕ ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ ๓๑ ของหมอบรัดเลย์ เริ่มต้น Bradley"s Era หรือยุคของหมอบรัดเลย์ตามที่มิชชันนารีในยุคหลังอ้างถึง





    หมอบรัดเลย์อยู่ในเมืองไทยตลอด ๓๘ ปี ยกเว้นเมื่อภายหลังภรรยาเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๑๘๔๕ จากวัณโรค แล้วหมอบรัดเลย์ได้พาลูกออกจากเมืองไทยวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๑๘๔๗ ไปอยู่ในอเมริกาประมาณ ๒ ปี และกลับมาถึงเมืองไทยอีกครั้งวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๑๘๕๐ ตลอดชีวิตการทำงานของหมอบรัดเลย์ จุดมุ่งหมายอันดับหนึ่งที่อยู่ในใจตลอดเวลา คือการเผยแผ่พระกิตติคุณของพระผู้เป็นเจ้า ดังจะเห็นได้จากความมุ่งมั่นตั้งแต่แรกว่าจะทำงานทางด้านศาสนา ต่อเมื่อพบว่าไม่สามารถเรียนได้โดยตรงก็มุ่งเข็มมาเรียนวิชาแพทย์ด้วยจุดประสงค์ที่จะทำงานมิชชันนารี เพราะความต้องการมิชชันนารีที่เป็นแพทย์ในสมัยนั้นมีสูง





    หมอบรัดเลย์มีจิตใจมุ่งมั่นในการประกาศพระกิตติคุณของพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย สิ่งสำคัญที่ทำเป็นประจำคู่กับการรักษาคนเจ็บป่วยที่คลินิกคือการเทศน์และการอธิบายถึงพระเจ้าแท้จริง ท่านจะไปเทศน์อธิบายข้อความในพระคัมภีร์ทุกแห่งที่มีโอกาสแม้แต่ในวัด เช่น เมื่อครั้งไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชที่วัดราชาธิวาสก็จะถือโอกาสเทศน์ให้พระสงฆ์ในศาสนาพุทธฟัง หรือเมื่อไปรักษาคนเจ็บป่วยในวังก็จะเทศน์ให้ชาววังเสมอ ที่คู่กับการเทศน์อธิบายในพระคัมภีร์ คือการแจกแผ่นปลิวที่พิมพ์เป็นภาษาไทยจากการเพียรพยายามแปลด้วยตนเอง และมีครูภาษาไทยช่วยเรียบเรียงในระยะแรกๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการค้าขายกับเมืองจีน มีเรือสำเภามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก โดยจอดเรียงรายตั้งแต่แถบบริเวณท่าดินแดง ราชวงศ์ คลองสาน เรื่อยลงมาถึงแถบบางรัก ยานนาวา หมอบรัดเลย์จะแวะขึ้นเรือสำเภาเหล่านี้ และแจกหนังสือแก่ลูกเรือชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งคนที่อ่านได้ก็จะอ่านให้คนอื่นฟัง บางคนบอกว่าเคยเห็นหนังสือแบบเดียวกันที่เมืองกวางตุ้ง ท่านเคยไปแจกหนังสือในงานพิธีพระบรมศพแห่งหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นบริเวณสนามหลวงใกล้กับพระบรมมหาราชวัง ปรากฏว่ามีคนมารับแจกกันมาก จนต้องกลับมายังเรือ ก็ยังมีคนว่ายน้ำมารับที่ข้างเรือ ท่านได้เช่าห้องห้องหนึ่งในชุมชนที่เป็นตลาด ทำเป็นที่สำหรับเทศน์และแจกแผ่นปลิวซึ่งท่านได้เอาใจใส่อยู่เสมอ





    เป็นที่ทราบกันโดยกว้างขวางแล้วว่าหมอบรัดเลย์เป็นผู้นำการแพทย์แผนปัจจุบัน (แบบตะวันตก) เข้ามาหลายประการ ทั้งการผ่าตัดและการป้องกันโรค

    การรักษาโรคในระยะแรกๆ หมอบรัดเลย์จะตรวจผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมากเกือบ ๗๐-๑๐๐ คน ในเวลา ๓-๔ ชั่วโมง ส่วนมากในช่วงเช้ามีคนช่วยจัดยาและแจกใบปลิวข้อความในพระคัมภีร์ด้วย

    หมอบรัดเลย์เป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นครู อยากสอนให้ผู้อื่นรู้ โดยเฉพาะอยากสอนให้หมอหลวงได้รู้จักการแพทย์สมัยใหม่ ในปีแรกเจ้าฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้เสด็จมาเยี่ยม เล่าให้ฟังถึงประเพณีการอยู่ไฟของมารดาหลังคลอด หมอบรัดเลย์ก็เสนอว่าอยากจะสอนให้คนหนุ่มชาวไทยบางคนรู้จักภาษาอังกฤษ และจะสอนวิชาแพทย์ให้ ในช่วงที่มีการปลูกฝี ก็มีหมอหลวงมาศึกษาวิธีปลูกฝี หมอบรัดเลย์มีความคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ควรอุทิศเวลาให้กับการเขียนหนังสือเพื่อสอนหมอชาวสยาม ซึ่งต่อมาหมอบรัดเลย์ก็ได้เขียนบทความอธิบายถึงวิธีการปลูกฝีในภายหลังเมื่อทำการปลูกฝีมากขึ้น ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๑๘๓๙ รัชกาลที่ ๓ ได้พระราชทานรางวัลให้ ๒๔๐ บาท (เท่ากับ ๑๔๕ ดอลลาร์อเมริกัน ซึ่งทำให้เรามองเห็นความแตกต่างของค่าเงินบาทในปัจจุบันอย่างชัดเจน ในปี ๒๐๐๔ นี้ ๑ ดอลลาร์อเมริกัน = ๔๐ บาท) หมอบรัดเลย์ได้กล่าวตอบเมื่อไปรับเงินรางวัลพระราชทานต่อเจ้าพระยาพระคลังว่าจะนำเงินนี้ไปใช้จ่ายในการเขียนตำราผดุงครรภ์ เพื่อเป็นความรู้ต่อหมอหลวงและหมอชาวบ้านโดยทั่วไป ในภายหลังก็สำเร็จ เป็นตำราแพทย์แผนปัจจุบันเล่มแรกชื่อว่า "ครรภ์ทรักษา" ในปี ๑๘๔๒ มีความหนาประมาณ ๒๐๐ หน้า มีภาพประกอบฝีมือคนไทยประมาณ ๕๐ ภาพ เกี่ยวกับอาการของโรคในการคลอดและวิธีการแก้ไขรักษา กับพยายามสอนให้คนไทยเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มารดาหลังคลอดเสียชีวิต

    สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้หมอบรัดเลย์มาก คือการผ่าตัด เนื่องจากเป็นสิ่งที่หมอไทยในสมัยนั้นทำไม่ได้ การผ่าตัดก้อนเนื้อที่หน้าผากของผู้ป่วยรายหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๑๘๓๕ (ประมาณ ๑ เดือนกว่าหลังจากมาถึงเมืองไทย) โดยไม่มียาสลบ เพราะสมัยนั้นยังไม่มี เมื่อทำการผ่าตัดก็กังวลใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ หรือหากผู้ป่วยรายนี้ถึงแก่ชีวิตเพราะการผ่าตัด ก็คงจะกระทบกระเทือนถึงชีวิตการทำงานทางศาสนาเป็นแน่ แต่ก็ทำการผ่าตัดได้สำเร็จท่ามกลางการเฝ้าดูและร้องเชียร์ของชาวบ้านเป็นอันมาก

    การผ่าตัดอีกครั้งที่จารึกไว้คือ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๑๘๓๗ ในตอนเย็นขณะที่มีงานที่วัดประยุรวงศาวาส (เชิงสะพานพุทธในปัจจุบัน) เกิดการระเบิดของปืนใหญ่กระบอกหนึ่ง มีคนตายในที่เกิดเหตุ ๘ คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก การแสดงต่างๆ หยุดลงโดยฉับพลัน หมอบรัดเลย์ได้ตัดแขนของชายหนุ่มคนหนึ่ง (ในบันทึกไม่ได้บอกว่าเป็นภิกษุในขณะนั้น) ถึงเหนือหัวไหล่ ดูแลผู้บาดเจ็บจนถึงเที่ยงคืน โดยมี Brother Johnson และ Mr.Hunter (นายหันแตร พ่อค้าชาวอังกฤษ ซึ่งคอยช่วยเหลือหมอบรัดเลย์มาตั้งแต่ที่มาเมืองไทยใหม่ๆ) เป็นผู้ช่วย

    ในภายหลัง วันที่ ๗ กันยายน ๑๘๔๐ หมอบรัดเลย์ได้บันทึกไว้อีกว่าได้ตัดแขนเด็กคนหนึ่งที่ได้รับอุบัติเหตุบนเรือฝรั่งเศส และได้กล่าวถึงชายหนุ่มที่ได้ช่วยชีวิตไว้โดยการตัดแขนเมื่อประมาณ ๔ ปีก่อนว่า ไม่เคยกลับมาหาหมอบรัดเลย์อีกเลย แม้ว่าตอนหลังได้บวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในเขตกำแพงพระนครก็ตาม

    นอกจากการผ่าตัดดังกล่าวยังมีบันทึกว่าเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๑๘๓๗ หมอบรัดเลย์ได้ใช้เวลาเกือบทั้งวันในการแก้ไขกรามบนของชายผู้หนึ่งที่หักในงานวัดแห่งหนึ่ง ๖ วันก่อนนั้น ต้องใช้ความพยายามและความช่างประดิษฐ์มากยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ที่ผ่านมา





    การผ่าตัดที่พบมากในบันทึกของหมอบรัดเลย์อีกชนิดหนึ่ง คือการผ่าตัดรักษาต้อกระจก (Cataract) รวมทั้งการผ่าตัดต้อเนื้อ ความชำนาญในด้านโรคตาคงจะแพร่กระจายไปไกล เช่น เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๑๘๓๖ มีพระภิกษุรูปหนึ่งจากสุโขทัยลงเรือเดินทางมา ๑๕ วัน พาพี่ชายที่ตาบอดเพราะการอักเสบมาตรวจ แต่ก็ช้าเกินกว่าจะรักษา หลังจากนั้นในวันที่ ๔ ธันวาคม ๑๘๓๖ พระภิกษุรูปเดิมก็พาพระภิกษุมา ๕ รูป จากสุโขทัยมาตรวจตา มีรูปหนึ่งอายุ ๘๐ ปี เป็นต้อเนื้อ ก็ได้รับการผ่าตัดลอกต้อให้เรียบร้อย

    การผ่าตัดต้อกระจกที่บันทึกไว้ นอกจากชาวบ้านทั่วไปก็มีขุนนางผู้ใหญ่ เช่น เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๑๘๔๔ ได้ผ่าตัดต้อกระจกให้เจ้าพระยาพลเทพ อายุ ๗๓ ปี ซึ่งอีก ๒ เดือนต่อมาให้ใส่แว่นแล้วเห็นได้ชัดเจนดี ได้ให้ข้าวสาร ๔๕ ถังแก่หมอบรัดเลย์ (ราคา ๔๕ บาท/๔๕ ถัง)

    จากประวัติการผ่าตัด Cataract ในตำราจักษุวิทยากล่าวว่า ในสมัยโบราณใช้วิธี Couching (คือการดันให้เลนส์ตาตกไปด้านหลัง) ต่อมาเริ่มในปี ๑๗๕๓ เป็นยุคใหม่ที่มีการผ่าตัดต้อกระจกโดยวิธี extracapsular extraction โดยจักษุแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Daviel (๑๖๙๖-๑๗๖๒) และวิธีนี้ก็เผยแพร่ไปทั่วโลก ยุคที่หมอบรัดเลย์เรียนวิชาแพทย์และฝึกหัดโรคตาอยู่ในกรุงนิวยอร์กเป็นเวลาเกือบ ๘๐ ปี หลังจาก Daviel เริ่มวิธีนี้ ดังนั้นวิธีผ่า Cataract ของหมอบรัดเลย์ควรเป็นวิธีที่ทันสมัย ไม่ใช่วิธี Couching



    ๑๐

    การปลูกฝี เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้หมอบรัดเลย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มวิชาเวชศาสตร์ป้องกันในเมืองไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการระบาดของไข้ทรพิษเป็นระยะ มีอัตราตายสูงและทำให้เสียโฉม ในระยะแรกใช้การปลูกฝีโดยการใช้สะเก็ดจากคนที่เป็นฝีดาษมาปลูกให้คนปรกติ แต่เป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฝีดาษ เรียกว่า inoculation ต่อมาใช้วิธี vaccination ซึ่งพบโดย Edward Jenner ในประเทศอังกฤษ ที่พบว่าหญิงที่รีดนมวัวที่ติดเชื้อฝีดาษวัว ทำให้หญิงรีดนมวัวนั้นไม่ติดโรคฝีดาษ Jenner ได้รายงานเรื่องนี้ในปี ๑๗๙๘ หมอบรัดเลย์อาศัยหนองฝีที่ส่งมาจากต่างประเทศ ทั้งจากประเทศจีนและจากอเมริกา (เมืองบอสตัน) น่าสนใจว่าเหตุใดหมอบรัดเลย์จึงสนใจการปลูกฝีมาก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเป็นโรคระบาดร้ายแรง อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเคยเรียนรู้วิธีการเมื่อขณะเป็นแพทย์อยู่ในอเมริกา จาก Harvard University Gazette ฉบับ May 20, 1999 ได้อ่านพบเรื่อง The Beginning of the End of Smallpox กล่าวถึง Professor Benjamin Waterhouse (๑๗๕๔-๑๘๔๖) ขณะที่เป็นศาสตราจารย์ที่ Harvard ในปี ๑๘๐๐ ว่าเป็นคนแรกที่ทดลองปลูกฝีในอเมริกาโดยทดลองในครอบครัวของตนเอง ต่อมาได้รณรงค์การป้องกันไข้ทรพิษ โดยการส่งตัวอย่าง Cowpox ไปทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนของประธานาธิบดี Thomas Jefferson ในปี ๑๘๑๒ ถูกต่อต้านเรื่องการปลูกฝี และออกจากการเป็นศาสตราจารย์ที่ Harvard แต่ก็ยังรณรงค์ต่อ ในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ริเริ่มการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษในอเมริกา และมีรูปแขวนอยู่ในโรงเรียนแพทย์ Harvard เห็นได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในยุคที่หมอบรัดเลย์กำลังจะศึกษาแพทย์ เป็นวิทยาการที่ทันสมัยในยุคนั้น ซึ่งท่านได้นำมาเผยแพร่ในเมืองไทย



    ๑๑

    การพิมพ์หนังสือ เป็นอีกด้านหนึ่งที่หมอบรัดเลย์นำมาเผยแพร่ในยุคแรกๆ ภูมิหลังน่าจะได้มาจากบิดาของท่านซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือ และการสนใจในวรรณคดีตั้งแต่เด็ก การพิมพ์ในยุคแรกของหมอบรัดเลย์มุ่งเน้นเรื่องทางศาสนา โดยได้แปลและพิมพ์หนังสือ ใบปลิวที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก โดยไม่ยอมพิมพ์หนังสือเรื่องทางโลกอื่นๆ ยกเว้นเรื่องทางการแพทย์และเอกสารของราชการ แต่ต่อมาหลังจากกลับจากอเมริกาและกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๑๘๕๐ แล้ว มีความจำเป็นต้องพึ่งตัวเองมากขึ้นในการสอนศาสนา หมอบรัดเลย์จึงได้เริ่มพิมพ์งานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น ได้พิมพ์นิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย หนังสือจินดามณี ภูมิประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส สามก๊ก และก่อนจะเสียชีวิตในปี ๑๘๗๓ ได้ตีพิมพ์พจนานุกรมไทยชื่อ "อักขราภิธานศรับท์" นอกจากนั้นยังได้เป็นผู้ริเริ่มการพิมพ์หนังสือในแนวจดหมายเหตุ และหนังสือพิมพ์ที่มีบทวิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมกับการเมือง



    ๑๒

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงถือว่าหมอบรัดเลย์เป็นพระสหาย พระองค์ทรงพระราชสมภพวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๑๘๐๔ ส่วนหมอบรัดเลย์เกิดวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๑๘๐๔ มิตรภาพเริ่มขึ้นจากการเป็นแพทย์ในการถวายการดูแลรักษา และได้รับการต้อนรับให้เกียรติแก่สตรีเช่นชาวตะวันตกปฏิบัติกัน ต่างให้ความรู้แก่กัน โดยเฉพาะรัชกาลที่ ๔ ทรงสนพระทัยวิชาทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ พระองค์ทรงให้เกียรติหมอบรัดเลย์มากขนาดที่ว่าหากปีใดวันพระราชสมภพตรงกับวันอาทิตย์ ก็จะทรงเลื่อนงานฉลองออกไปในวันถัดไป เพื่อให้มิชชันนารีมาร่วมงานได้ จนกระทั่งต่อมาพวกพ่อค้า กงสุล ได้ร้องเรียนว่าพระองค์ให้เกียรติแก่มิชชันนารีมากกว่า พระองค์จึงทรงแยกจัดงานเป็น ๒ งาน มิชชันนารีในยุคหลังเรียกยุคของหมอบรัดเลย์ จนกระทั่งถึงวันเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ ๔ เพราะหลังจากนั้นบทบาทของหมอบรัดเลย์ก็น้อยลง ไม่เกินความจริงที่มีผู้กล่าวว่าประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ที่เปิดประเทศโดยอาศัยดินปืนของอังกฤษและเรือปืนของฝรั่งเศส หากเปิดประเทศสู่โลกตะวันตกด้วยกองทัพชาวอเมริกัน-กองทัพแห่งกางเขน ซึ่งหมายถึงมิชชันนารี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอบรัดเลย์



    ๑๓

    ความสนใจทางวิทยาศาสตร์ หมอบรัดเลย์ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอไว้โดยละเอียด วันที่ ๗ สิงหาคม ๑๘๖๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปหัววาฬเพื่อเตรียมการเกี่ยวกับสุริยุปราคา และได้โปรดให้ชาวอเมริกันกับยุโรปได้ไปดูด้วยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย วันที่ ๑๒ สิงหาคม หมอบรัดเลย์และบุตรสาวชื่อ Sarah บุตรชายชื่อ Dwight ได้เดินทางไปด้วยโดยเรือกลไฟหลวง ออกจากกรุงเทพฯ เที่ยงวัน ถึงปากน้ำ ๑๖.๐๐ น. และถึง Hua Wan (หมายถึงหว้ากอ) เวลา ๒๓.๐๐ น. วันที่ ๑๖ สิงหาคม เป็นวันอาทิตย์ ได้ประกอบพิธีอธิษฐาน และหมอบรัดเลย์เป็นคนเทศน์สำหรับชาวต่างประเทศ รวมทั้งสมุหนายกของไทยด้วย เมื่อถึงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๑๘๖๘ อากาศตอนเช้าสดใส แต่มีเมฆมากขึ้นในตอนสาย เมื่อเวลา ๑๐.๐๗ น. อันเป็นเวลาเริ่มสัมผัสแรกของการเกิดคราสก็แทบมองไม่เห็นดวงอาทิตย์เพราะเมฆบัง เมื่อเริ่มเห็นดวงอาทิตย์ รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงยิงปืนใหญ่หนึ่งนัดเพื่อเป็นสัญญาณ และมีการเป่าแตรสัญญาณจากบริเวณค่ายหลวง หมอบรัดเลย์บันทึกไว้ว่าทุกคนล้วนกังวลว่าจะมีเมฆมาบังเวลาเกิดคราสเต็มดวง จนถึงกับท่านสมุหนายกได้ขอร้องให้ผู้ที่สวดอ้อนวอนพระเป็นเจ้าได้ให้สวดขอให้พระองค์ได้ช่วยสลายหมู่เมฆ ตามการคำนวณของรัชกาลที่ ๔ สุริยุปราคาเริ่มเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๒ วินาที และเกิดติดต่อกันเป็นเวลา ๖ นาที ๔๕ วินาที ท้องฟ้ามืดคล้ายคืนข้างขึ้น ๘ ค่ำ มองเห็นดาวศุกร์ ท่านบันทึกว่าเป็นภาพน่าดูที่คุ้มค่าการเดินทางนับร้อยไมล์เพื่อมาชมปรากฏการณ์นี้ เห็นลำแสงแรกที่พุ่งออกหลังดวงจันทร์เมื่อสิ้นสุดการเกิดคราสเต็มดวง รัชกาลที่ ๔ ทรงยิงปืนใหญ่อีกหนึ่งนัดเมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์นี้ กับทรงพอพระราชหฤทัยที่ได้คำนวณได้แม่นยำกว่าทีมนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถึง ๒ วินาที วันที่ ๑๙ สิงหาคม เดินทางกลับ ถึงนอกสันดอนเวลาเที่ยง และรอน้ำขึ้น กลับถึงกรุงเทพฯ เวลา ๒๓.๐๐ น.

    สุริยุปราคาครั้งนี้อยู่ใน Saros ที่ ๑๓๓ วงศ์เดียวกับที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทอดพระเนตรที่ลพบุรีเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๑๖๘๘

    เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ที่หว้ากอ ก่อให้เกิดคนเสียชีวิตด้วยไข้ป่าถึง ๙ คนในเวลาต่อมา และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สวรรคตเมื่อประมาณ ๒๑.๐๐ น. ของวันที่ ๑ ตุลาคม ๑๘๖๘ หมอบรัดเลย์เพียรพยายามจะเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีโอกาส



    ๑๔

    บ้านของหมอบรัดเลย์ เมื่อแรกมาเมืองไทยพักอยู่บริเวณหน้าวัดเกาะ ต่อมาย้ายไปอยู่เรือนแพบริเวณกุฎีจีน ซึ่งเป็นถิ่นของชาวคริสต์คาทอลิกในละแวกวัดกัลยาณมิตร โบสถ์ซางตาครู้ส วัดประยุรวงศาวาส ทุกวันนี้ในวิหารวัดกัลยาณมิตรยังปรากฏภาพวาดฝาผนังเป็นรูปฝรั่งและแหม่มเดินตามทางเดินใกล้เรือนแพ คงเป็นภาพที่ปรากฏในสมัยนั้น บ้านที่หมอบรัดเลย์อยู่นานตลอดอายุ และต่อมาภรรยาคนที่สองคือ Sarah Blachly ได้อาศัยและดำเนินกิจการโรงพิมพ์ต่อหลังจากหมอบรัดเลย์เสียชีวิตแล้ว รวมทั้งลูกสาวคนสุดท้องคือ Irene ได้อยู่ต่อมาจนกระทั่งเสียชีวิตประมาณปี ๑๙๔๐ บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของปากคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ หมอบรัดเลย์เป็นคนคุมการก่อสร้างเอง ปัจจุบันไม่ปรากฏตัวบ้านแล้ว บริเวณที่ตั้งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือ



    ๑๕

    บั้นปลายชีวิตของหมอบรัดเลย์ ระหว่างวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๑๘๗๑-๒๓ มกราคม ๑๘๗๒ หมอบรัดเลย์ได้เดินทางโดยเรืออเมริกันชื่อ Luzon ไปพักผ่อนเพื่อสุขภาพที่ฮ่องกง ได้แวะไปซัวเถา ได้พบ Cornelius ลูกชายและสะใภ้ซึ่งมาเยี่ยมจากอเมริกาเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๑๘๗๑

    ระหว่างอยู่ที่ฮ่องกงได้ไปถ่ายรูปเดี่ยวที่ร้าน A Fong และไปรับรูปเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๑๘๗๒ โดยได้สั่งอัดรูปไว้ ๒๔ ใบ ออกเดินทางในวันเดียวกันกลับถึงนอกสันดอนปากน้ำในวันที่ ๒๓ มกราคม ๑๘๗๒ เมื่อถึงบ้านได้พบกับบุตรชายคือ Cornelius และภรรยาที่มาล่วงหน้าจากฮ่องกง

    บั้นปลายชีวิตของท่านดำเนินการพิมพ์พจนานุกรม ซึ่งได้รับทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จะทรงช่วยซื้อไว้ ๑๐๐ เล่ม

    วันที่ ๘ พฤษภาคม ๑๘๗๓ ได้เขียนบันทึกเป็นวันสุดท้ายว่าเดินทางไปเที่ยวอ่างหิน แต่ต้องกลับมาปากน้ำเพราะลมแรงเกินไป หมอบรัดเลย์ล่วงลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๑๘๗๓ หลังจากไม่สบายอยู่ ๔๐ วัน ด้วยโรคไทฟอยด์ พจนานุกรมที่พิมพ์อยู่เสร็จสมบูรณ์หลังจากที่ท่านเสียชีวิตแล้ว บุตรชายชื่อ Dan F. Bradley เป็นผู้ดำเนินการต่อ

    งานศพของท่านเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับชาวตะวันตกเท่าที่เคยมีมาในเมืองไทย ร่างของท่านอยู่ที่สุสานโปรเตสแตนต์ที่บ้านใหม่ ยานนาวา

    เหลนของท่านคือ Helen G. Bradley, Barbara Sue Hildner, Dr.William L. Bradley ล้วนเคยมาเมืองไทย โดยเฉพาะ Dr.William เคยมาเยี่ยมชมอาคารหมอบรัดเลย์ในโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งเป็นอนุสรณ์ถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่มนุษย์คนหนึ่งจากแดนไกลสามารถมอบให้กับพี่น้องร่วมโลกโดยผ่านทางองค์พระผู้เป็นเจ้า



    บรรณานุกรม

    ๑. หมอบรัดเลย์กับสังคมไทย. เอกสารวิชาการหมายเลข ๕๗ ประกอบการสัมมนาของโครงการไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๑๖-๑๗ กรกฎาคม ๑๙๘๕.

    ๒. Abstract of the Journal of Rev. Dan Beach Bradley, M.D. Medical Missionary in Siam, 1835-1873. Edited by Rev. George Haws Feltus. Printed in the Multigraph Department of Pilgrim Church, Cleveland, Ohio, 1936.

    ๓. Mo Bradley and Thailand. by Donald C. Lord., William B. Eerdmans. Publishing Company Grand Rapids, Michigan, 1969.

    ๔. Siam Then. by William L. Bradley. William Carey Library, Pasadena, California 1981.

    ....................................

  7. #7
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    บรัดเลย์ : ตัวพิมพ์กับกำเนิดโลกทัศน์ใหม่
    ประชา สุวีรานนท์


    ปฐมบทของการพิมพ์ และการออกแบบตัวพิมพ์ของไทยเริ่มขึ้นเมื่อนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือหมอบรัดเลย์ และมิชชันนารีคณะแบ็พทิสต์จากสหรัฐอเมริกาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ เขาได้ก่อตั้งโรงพิมพ์และจัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวพิมพ์ภาษาไทย ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ กิจการหนังสือพิมพ์และโรงพิมพ์ของคณะเจริญเติบโตจนเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว มีการออกหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม และสั่งซื้อแท่นพิมพ์เพิ่มขึ้นในปีต่อๆ มา

    นั่นคือช่วงเวลาหลังจากที่ไทยได้ทำสัญญาเบอร์นี่ และสยามประเทศอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ในด้านเทคโนโลยี เทคนิควิทยาการ เช่น การแพทย์สมัยใหม่ เครื่องจักรไอน้ำ และสิ่งประดิษฐ์นานาชนิดกำลังหลั่งไหลเข้ามา ในด้านความรู้และภูมิปัญญา สังคมไทยกำลังเผชิญกับการท้าทายของแนวคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบกฎหมาย แบบแผนประเพณี ตลอดจนความหมายของชุมชนที่จะเรียกกันว่าชาติ

    หนังสือและตัวพิมพ์ซึ่งเป็นผลงานของแบรดลีย์คือที่รวมของความเปลี่ยนแปลงทั้งสองด้านนั้น ในด้านเทคโนโลยี มันเป็นแบบอย่างของการผลิตซ้ำอย่างกลไกด้วยเครื่องจักร ประสิทธิภาพการพิมพ์ในสมัยนั้นช่วยย่นย่อระยะเวลา และขจัดข้อผิดพลาดของการทำงานแบบเก่า ซึ่งในที่นี้ก็คือการคัดลอกด้วยมือ

    ในด้านความรู้และภูมิปัญญา เนื้อหาของสิ่งพิมพ์อันได้แก่ หนังสือสอนศาสนาคริสต์ ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนภูมิดาราศาสตร์ได้เข้ามาสั่นคลอนรากฐานความรู้และคติความเชื่อเดิมของสังคมไทย นอกจากนั้นบางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยของเขา ยังได้นำเอาวิธีการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นของใหม่ในสมัยนั้นเข้ามาด้วย



    กำเนิดตัวพิมพ์ไทย :เส้นทางอันยอกย้อน

    กำเนิดตัวพิมพ์ไทยมีความซับซ้อนที่น่าสนใจ ก่อนยุคของแบรดลีย์ การพิมพ์และหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยมีขึ้นแล้ว แต่ทำกันในต่างประเทศ ผลงานยุคแรกสุด เช่น หนังสือ Jame Low"s Thai Grammar ใช้ตัวพิมพ์ซึ่งจัดทำโดยมิชชันนารีสตรีชาวอเมริกันชื่อแนนซี่ ยัดสัน และช่างพิมพ์ที่ชื่อนายฮัฟ การเรียงตัวและจัดพิมพ์ทำขึ้นที่อินเดียและพม่า ในราว พ.ศ. ๒๓๗๐ เข้าใจว่าในเวลาต่อมา เมื่อแบรดลีย์เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน ตัวพิมพ์ชุดนี้ก็ถูกนำเข้ามาใช้ในโรงพิมพ์ของเขา

    ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ แบรดลีย์รับจ้างราชการไทยจัดพิมพ์เอกสารที่เรียกกันว่าแผ่นประกาศห้ามสูบฝิ่น ขึ้นตามพระราชโองการของรัชกาลที่ ๓ เพื่อแจกจ่ายออกไปทั่วพระราชอาณาจักร เอกสารชิ้นนี้ใช้ตัวเรียงซึ่งซื้อจากสิงคโปร์ เข้าใจว่าคณะมิชชันนารีได้ส่งคนในคณะไปดูแลการทำแม่แบบที่ปีนัง และนำไปหล่อที่มะละกา การหล่อตัวพิมพ์ในประเทศไทยทำสำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๘๔ แบบตัวชุดนี้มีความสวยงามกว่า และมีขนาดเล็กกว่าที่เคยสั่งหล่อจากสิงคโปร์ หนึ่งในสิ่งพิมพ์ชิ้นแรกๆ ที่ใช้ตัวเรียงพิมพ์ที่หล่อเป็นครั้งแรกในเมืองไทย คือหนังสือของแบรดลีย์เอง ชื่อคำภีร์ ครรภ์ทรักษา, แปลย่นความออกจากกำภิร์ครรภ์ทรักษา แห่งแพทย์หมออะเมริกา ส่วนตัวพิมพ์ที่เรียกกันว่า "บรัดเลย์เหลี่ยม" นั้นเป็นผลงานรุ่นถัดมา ปรากฏการใช้เป็นครั้งแรกในบางกอกรีคอร์เดอร์ หรือหนังสือจดหมายเหตุฯ/ ซึ่งออกในปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย (ชื่อตัวพิมพ์ดังกล่าวตั้งขึ้นในภายหลังโดยกำธร สถิรกุล ในตัวหนังสือและตัวพิมพ์)



    เมื่อตัวพิมพ์ยืดตัวตรง

    แบบอักษรของบรัดเลย์เหลี่ยมนั้นถ่ายทอดมาจากตัวเขียนลายมืออย่างไม่ต้องสงสัย ตัวเขียนที่แบรดลีย์ใช้เป็นต้นแบบ สันนิษฐานได้ว่ามาจากลายมือแบบอาลักษณ์ เราอาจพบลายมือคล้ายกันนี้ปรากฏอยู่ในสมุดข่อย ซึ่งเขียนขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์หลายเล่ม

    หากเอาบรัดเลย์เหลี่ยมมาเปรียบเทียบกับตัวพิมพ์รุ่นก่อนหน้านั้นก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก บรัดเลย์เหลี่ยมมีรูปทรงตั้งตรง ตัวรุ่นคำภีร์ ครรภ์ทรักษาฯ ยังเป็นแบบเอนไปข้างหลัง โครงสร้างอักษรของตัวคำภีร์เริ่มชัดเจน แต่ยังไม่ค่อยมีเอกภาพ เช่น เส้นตั้งไม่ได้ขนานกันอย่างสมบูรณ์ ตัว ก ไก่ อ้วนมาก การม้วนของ ห หีบ เป็นเส้นเหลี่ยม หรือถ้าเอาไปเปรียบเทียบกันรุ่นของยัดสัน จะเห็นว่ารุ่นนั้นถ่ายทอดมาจากลายมือแบบหวัดแกมบรรจง ยังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน เช่น มีตัวหนังสือที่โย้หน้าบ้าง โย้หลังบ้าง การแกะตัวพิมพ์เป็นศิลปะอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากการเขียน ถ้าการเขียนหรือจารเป็นงานจิตรกรรม การแกะพั้นช์ แกะแม่ทองแดง และหล่อตัวพิมพ์ ก็เปรียบได้กับงานประติมากรรม ในการถ่ายทอดศิลปะข้ามสื่อนี้มีความจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างบางอย่างของตัวอักษรเพื่อทำให้การแกะง่ายขึ้น เช่น ดัดตัวให้ตรง มีเส้นนอนด้านบน ซึ่งหักมุมเหลี่ยมเป็นบุคลิกสำคัญ มีรูปทรง และสัดส่วนของอักษรที่แน่นอน เช่น ก ไก่ มีความกว้างยาวเป็นสัดส่วนราว ๒ ต่อ ๓ และมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง

    นอกจากนั้นบรัดเลย์เหลี่ยมยังมีการปรับปรุงโครงสร้างอื่นๆ เช่น ทำเส้นตั้ง หรือ "ขา" ให้ตั้งฉากกับเส้นนอน กำหนดหัวกลมโปร่งให้มีเอกภาพและตำแหน่งแน่นอน เส้นมีความหนา และการหักมุมเที่ยงตรงแบบเรขาคณิต แลดูเป็นระเบียบเรียบร้อย

    รูปโฉมของบรัดเลย์เหลี่ยมไม่ได้เป็นเพียงการแต่งเนื้อแต่งตัวให้แปลกใหม่ทันสมัยมากขึ้น แต่เป็นการสถาปนามาตรฐานใหม่ของอักษรไทย ถือกันว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญให้แก่ตัวพิมพ์ไทย



    กำเนิดโรงพิมพ์หลวง

    หนังสือพิมพ์และตัวพิมพ์นำความสนใจมาสู่ชนชั้นผู้นำของสยาม โดยเฉพาะสำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งในขณะนั้นทรงผนวชและเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ท่านโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในวัด โรงพิมพ์นี้มีพระสงฆ์เป็นผู้ทำหน้าที่ทุกอย่างในการพิมพ์ และมีผลงานด้านหนังสือเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น พระปาฏิโมกข์ และบทสวดมนต์

    ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ หลังจากที่เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่าโรงอักษรพิมพการ และโปรดให้มีฐานะเป็น "โรงพิมพ์หลวง" โรงอักษรพิมพการได้ดำเนินการผลิตหนังสือ และเอกสารสำคัญของแผ่นดินหลายฉบับ เช่น ราชกิจจานุเบกษา หรือหนังสือรวมประกาศข้อบังคับต่างๆ ของราชการ ซึ่งพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๐๑

    ระหว่างที่ทรงดำเนินกิจการโรงพิมพ์ในวัดบวรนิเวศ ด้วยความรอบรู้และเข้าใจในความยากลำบากของการแกะ หล่อและเรียงพิมพ์ เจ้าฟ้ามงกุฎจึงมีพระราชดำริเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนอักษรไทยเสียใหม่เพื่อให้สะดวกแก่การพิมพ์ และประดิษฐ์อักษรไทยแบบใหม่ซึ่งมีชื่อว่า "อักษรอริยกะ" วิธีการเขียนแบบนี้มีจุดเด่นตรงที่อักษรทั้งหมดถูกจับลงมาอยู่บรรทัดเดียวกันและเรียงสระและวรรณยุกต์ให้อยู่หลังพยัญชนะเช่นเดียวกับอักษรโรมัน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเลิกใช้รูปอักษรเดิม หันไปใช้รูปทรงและโครงสร้างที่คล้ายอักษรโรมัน อักษรอริยกะถูกสร้างเป็นตัวพิมพ์เพื่อใช้ในโรงพิมพ์วัดบวรนิเวศ และพิมพ์เอกสารที่เผยแพร่เฉพาะในหมู่สงฆ์ในนิกายธรรมยุต



    บั้นปลายของหนังสือพิมพ์รุ่นบุกเบิก

    แม้ว่าชนชั้นสูงของสยามจะรู้สึกหวาดระแวงต่อเนื้อหาและการแจกจ่ายหนังสือ "นอกศาสนา" ของแบรดลีย์ แต่ความแปลกใหม่ และมีประโยชน์ของการพิมพ์ ทำให้การสอนศาสนา และการดำเนินธุรกิจของเขาเป็นที่ยอมรับ ผลงานด้านหนังสือพิมพ์ ความรู้ หนังสือแปล และตำราเรียนของเขาแพร่หลายออกไปทีละน้อย หลังจากนั้นโรงพิมพ์อื่นๆ ก็เกิดตามมา เช่น โรงพิมพ์ของมิชชันนารีอีกคนหนึ่งที่ชื่อแซมมวล จอห์น สมิธ หรือครูสมิธ

    ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ แบรดลีย์ได้พิมพ์นิราษเมืองลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (กระต่าย) ซึ่งปรากฏเป็นข่าวเกรียวกราว เนื่องจากเป็นหนังสือภาษาไทยเล่มแรกที่มีการซื้อลิขสิทธิ์กันอย่างเป็นทางการ ในหนังสือเล่มนี้มีการใช้ตัวพิมพ์แบบใหม่คือ "บรัดเลย์โค้ง" เป็นครั้งแรก ชุดนี้มีถึง ๒ ขนาด ขนาดใหญ่ใช้เรียงเป็นชื่อหนังสือในหน้าแรกๆ ส่วนในบางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งออกในปี พ.ศ. ๒๔๐๘ บรัดเลย์โค้งใช้เป็นตัวพาดหัว หรือตัวดิสเพลย์

    กิจการโรงพิมพ์ของแบรดลีย์เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ แต่การทำหนังสือพิมพ์ของเขายุติลงในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ด้วยเหตุว่าถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท แบรดลีย์เชื่อว่าการที่ตนเองแพ้คดีนี้เพราะถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากชนชั้นสูงชาวสยามเริ่มไม่พอใจกับการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของเขา

    ตัวพิมพ์นั้นหากถือว่าเป็นพัฒนาการในยุคแรกเริ่ม ก็นับว่าเป็นไปอย่างช้าๆ ตราบจนสิ้นรัชกาลที่ ๔ เรามีตัวพิมพ์สามสี่แบบ ผลงานออกแบบตัวพิมพ์ของแบรดลีย์กลายเป็นรากฐานการออกแบบในยุคต่อไป ตัวพิมพ์ไทยในรุ่นหลังเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่วิวัฒนาการมาจากตัวพิมพ์ที่ท่านได้วางเอาไว้ทั้งสิ้น
    ..............................................

  8. #8
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    บ้านหมอบรัดเล
    ผู้แต่ง ป. บุนนาค


    "บ้านหมอบรัดเล" อันเป็นที่ตั้งของ "โรงพิมพ์หมอบรัดเล" ตั้งอยู่ ณ ปากคลองบางหลวง ( หรือ คลองบางกอกใหญ่ ) หลังป้อมวิไชยประสิทธิ์ ข้างพระราชวังเดิม ธนบุรี
    "หมอบรัดเล" หรือ นายแพทย์แดน บีช บรัดเล ( Dan Beach Bradley ) เป็นหมอสอนศาสนาที่สังกัดอยู่ ในคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน คณะ A.B.C.F.M ซึ่งได้ เดินทางเข้ามายังบางกอก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2378 โดยเมื่อแรกมาถึงได้พำนักอยู่กับมิชชันนารี ชื่อ "จอห์นสัน" ที่บ้านใกล้วัดเกาะ และจากนั้นเพียง 20 วัน หมอบรัดเลก็เปิด "โอสถศาลา" ( จ่ายยาและรักษาโรค ) ขึ้น แต่อยู่ได้เพียง 2-3 เดือน ก็ถูกเจ้าของที่เช่าแห่งนั้นไล่ออกจากบ้าน หมอบรัดเลจึงได้ย้ายไป เช่าบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ที่ กุฎีจีนใกล้กับโบสถ์วัดซางตาครู๊ส แล้วเปิดร้านจ่ายยาขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง และยังได้ตั้งโรงพิมพ์ ขึ้นทำการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับกิจการศาสนาคริสต์แจกจ่ายก่อน ต่อมาภายหลังจึงได้รับจ้างพิมพ์หนังสือ , ออกหนังสือพิมพ์ และพิมพ์หนังสือออกมาขายเป็นอาชีพ
    ด้วยเหตุที่หมอบรัดเลได้สร้างคุณงามความดีให้ไว้ กับสยามมิใช่น้อย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชานุญาตให้พวกมิชชันนารี และหมอบรัดเลเช่าที่ดินหลัง ป้อมวิไชยประสิทธิ์ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2397 ดังที่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือสำคัญทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ซึ่งพระยาศรีสุริยวงศ์ ( สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค ) ได้ทำไว้ให้หมอบรัดเลและคณะเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2397 ดังนี้

    "ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโอการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้คุณราชกิจปรีชาปลัดกรม จัดแจงที่พระราชทางให้พวกอะเมริกรรมิชะเนเร่ แอศโซซีเอซรร มาเช่าที่ตรงปากคลองบางหลวง ข้างพระราชวังเดิมระหว่างวัดโมลีโลกย์ กับป้อมท้ายพระราชวังเดิมต่อกัน ให้คนทั้งปวงเข้าใจว่า คุณราชกิจปรีชาได้จัดแจงที่นั้นให้พวกอะเมริกรรมาเช่าปลูกเรือนอยู่ ที่นั่นตามชอบใจ ที่ด้านข้างริมป้อมนั้น วัดโดยกว้างสามสิบหกวา โดยยาวด้านพระราชวังเดิม สี่สิบหกวาศอกน่าท่าบ้านด้านข้างนั้น ก็ยอมให้อยู่ในบังคับของพวกอะเมริกรรด้วยตามธรรมเนียม เหตุดังนี้ พวกหมออะเมริกรรนั้นจะเสียเงินตราค่าเช่าที่นั้น ให้กับคุณราชกิจปรีชาปลัดกรมปีละสี่ชั่ง นับตั้งแต่ ณ วันที่ ๖ ๑ฯ๔ ค่ำ จุลศักราช พันสองร้อยสิบสาม ปีกุญตรีศกไป เมื่อถึงกำหนดครึ่ง ปีแล้ว จะให้เงินสองชั่งครั้งหนึ่ง ครั้นครบจำนวนปีหนึ่ง แล้วจะส่งให้อีกสองชั่ง เป็นสี่ชั่งด้วยกันอย่างนี้ เป็นธรรมเนียมต่อไปทุก ๆ ปี แล้วเข้าใจกันว่า ถ้าพวกอะเมริกรรนั้น ได้เสียค่าเช่าอยู่นี้นานเท่าใด ก็จงโปรดให้พวกหมออยู่ไปนานเท่านั้น แต่บัดนี้หมอที่พวกอะเมริกรร มิชะเนเร่นั้นคือหมอปลัดเล หมอซิลซีบี หมอเลน เป็นสามคนด้วยกัน
    ๑. ประพฤติดีไม่ผิดกฎหมายประเพณีบ้านเมือง
    ๒. ถ้าพวกมริกันผู้ใด ซึ่งจะอยู่ต่อไปในเบื้องหน้าทำให้ ผิดประเพณีกฏหมายบ้านเมืองก็จะต้องไล่เสียออกจากที่นั่น "


    จากหลักฐานชิ้นนี้เอง ทำให้สามารถระบุได้ว่า บ้านนั้นต้องอยู่หลังป้อมวิไชยประสิทธิ์อย่างแน่นอน โดยมีขนาดความกว้างยาวของแต่ละด้านตามที่ปรากฎอยู่ในเอกสารชิ้นนี้เอง
    ซึ่งหมอบรัดเล ได้อาศัยอยู่ที่นี่ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้พระราชทานที่ที่เคยเช่านั้นให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า จนกระทั่งหมอบรัดเลถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2416 รวมอายุได้ 71 ปี
    จากนั้นไอรีนบุตรสาวของหมอบรัดเลจึงได้อยู่ที่ตรงนั้น สืบต่อมา จนกระทั่งไอรีนได้มอบที่ตรงนั้นให้กับกองทัพเรือ ( แต่ไม่ทราบว่าเป็นเมื่อใดกันแน่ ) โดยได้รับเงินค่าตอบแทนในการนั้น จากกองทัพเรือเป็นเงิน 3,000 บาท ทำให้บริเวณบ้านหมดบรัดเลตกมา อยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือต่อมาจนวันนี้
    ..............................

  9. #9
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา สัญลักษณ์ของ sompoi
    วันที่สมัคร
    Mar 2007
    ที่อยู่
    japan
    กระทู้
    5,708
    บล็อก
    23
    โอ่วว ขอบคุณสำหรับวิทยาทานค่ะ เป็นความรู้ล้วนๆ สิกลับมาอ่านใหม่ตอนว่างๆอยู่ดอกค่ะ
    มองต่าง..อย่างปลง

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •