หม้อปุ๋ยหน้าโซน "กะเหรี่ยง เวนจูรี่" NEW MODLE

มูลเหตุจูงใจ :
"การให้ปุ๋ยทางท่อ" หรือ "การให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำ" เป็นเทคโนโลยีการเกษตรอย่างหนึ่งที่ทั่วโลกใช้กันมานาน และมีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะๆให้ปรากฏ

ส่วนใหญ่ใช้กับระบบน้ำหยดสำหรับพืชในกระถาง หรือในภาชนะปลูก โดยมีเป้าหมาย ให้สารอาหารพืชแบบตลอด 24 ชม. ซึ่งจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตเร็วกว่าการให้ตามระยะเวลา

จากระบบการให้น้ำแบบน้ำหยด นักเทคโนโลยีการเกษตรได้พัฒนามาสู่ระบบการให้ปุ๋ยไปกับน้ำด้วยหัวสปริงเกอร์ สำหรับพืชในแปลงที่ขนาดใหญ่กว่าพืชในกระถาง เช่น แปลงไม้ผลยืนต้น แปลงผักสวนครัว แปลงพืชไร่ ก็สามารถให้ปุ๋ยทางท่อ หรือให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำได้เช่นกัน ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือที่ชื่อว่า "เวนจูรี่" อุปกรณ์ตัวนี้ เมด อิน ยูเอสเอ. แต่โรงงานอยู่ที่บางปู สมุทรปราการ สนนราคา 1 ชุด 5,000 (+/-) นิดหน่อย

ว่าจ้างบริษัทจำหน่ายระบบสปริงเกอร์มาติดตั้งให้ ระบบอิสราเอล ค่าใช้จ่ายตกไร่ละ 100,000 แต่ถ้าติดตั้งเอง ระบบกะเหรี่ยง ค่าใช้จ่ายตกไร่ละ 5,000 ทั้ง 2 ระบบไม่รวมค่าปั๊ม

เกษตรพอเพียงตามแนวพระราชดำริ มิได้สอนให้ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่ทรงสอนให้ใช้ให้เป็น ใช้คุ้มค่า ใช้อย่างสมเหตุสมผล การปฏิบัติบำรุงต่อพืช บำรุงเต็มที่ย่อมได้ผลเต็มที่ - บำรุงเต็มทีแต่จะเอาผลเต็มที่ย่อมไม่ได้ การบำรุงเต็มที่ทำไม่ได้ สาเหตุหนึ่งมาจากทำไม่ทัน ทำไม่ทันเนื่องจากไม่มีเวลา และเนื่องจากทำงานด้วยมือ นั่นเอง ..... สังคมโลกเกษตรปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเทคโนโลยีการผลิต เทคโนโลยีการตลาด และเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรง เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำสุด

สปริงเกอร์ติดตั้งครั้งเดียวใช้งานได้นาน 10-20 ปี ด้วยระยะเวลาใช้งานนานขนาดนี้ เมื่อเปรียบเทียบ "ต้นทุน-เวลา-แรงงาน-ประสิทธิผลเนื้องาน" แล้ว ถือว่าคุ้มค่ากว่าการใช้สายยาง หรือเครื่องมือฉีดพ่นอื่นๆ ที่ต้องฉีดพ่นทีต้นๆ

ปิดท้าย :
อ.วิชัยฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง บอกว่า ระบบสปริงเกอร์ที่เทียบประสิทธิภาพในการทำงานและราคาต้นทุนแล้ว ระบบสปริงเกอร์ที่ไร่กล้อมแกล้มถือว่าดีที่สุดในประเทศไทย.....


***  หม้อปุ๋ยหน้าโซน ***
1.
"กะเหรี่ยง เวนจูรี่" ใช้วัสดุ พีวีซี. ทั้งชุด ถ้าเป็นวัสดุใหม่แกะกล่อง ราคาราว 150-200 บาท แต่ถ้าใช้วัสดุอุปกรณ์เก่ามา REUSE ราคาต้นทุนก็จะต่ำลงมาอีก (ไม่รวมวาวล์....เพราะวาวล์ต้องใช้อยู่แล้ว....วาวล์ซันวาอันละ 750 บาท) ทุกอย่างคิดขึ้นมาเอง สามารถจดทะเบียนลิขสิทธิ์ได้ ถือเป็น "สิ่งประดิษฐ์" ที่รอการพัฒนาต่อยอด เฉกรถยนต์ที่อเมริกาคิดและสร้างขึ้นมาก่อน แล้วญี่ปุ่นทำบ้าง ไม่ได้ลอกเลียนแบบแต่เป็นการอาศัยหลักการของรถยนต์แล้วสร้างขึ้นมาเอง

เมื่อเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ จึงไม่มีคำว่า "สิ้นเปลือง" มิเช่นนั้นโลกจะมีสิ่งของเครื่องใช้ใหม่ๆออกมารึ

การทำงานของ "กะเหรียง เวนจูรี่" เป็นระบบสูญญากาศ เหมือนเวนจูรี่ เมด อิน ยูเอสเอ. เปี๊ยบ อันนี้ไม่ถือเป็นการลอกเลียนแบบ หรือละเมิดลิขสิทธิ์



***  หม้อปุ๋ยหน้าโซน ***
2.ให้ ปุ๋ย/ฮอร์โมน/สารสมุนไพร/สารเคมียาฆ่าแมลง/ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน โดยที่ทุกอย่างเป็นน้ำแก่ต้นพืชได้ทั้งนั้น นอกจากนั้นยังสามารถให้ ณ วัน/เวลา ที่ต้องการได้อีกด้วย.....เช้า-สาย-บ่าย-ค่ำ-ดึก ทำงานได้ทั้งนั้น ด้วยแรงงานเพียงคนเดียว

เช้ามืด ตี.5 .......... เปิดสปริงเกอร์ล้างน้ำค้างก่อนน้ำค้างแห้ง ช่วยป้องกันโรคราน้ำค้าง-ราแป้ง-ราสนิม
สาย 9 โมงเช้า....... เปิดสปริงเกอร์ให้ ปุ๋ย/ฮอร์โมน/สมุนไพร ทางใบ
เที่ยง.................. เปิดสปริงเกอร์ให้สมุนไพร ป้องกันเพลี้ยไฟ-ไรแดง
ค่ำ..................... เปิดสปริงเกอร์ให้สมุนไพร ไล่แมลงวางไข่-กำจัดหนอน

กลางวันหลังฝนหยุดใบแห้งแล้ว..... เปิดสปริงเกอร์ให้ ปุ๋ย/ฮร์โมน กดใบอ่อนสู้ฝน
กลางวันหลังฝนหยุดก่อนใบแห้ง..... เปิดสปริงเกอร์ให้สมุนไพรป้องกันแอ็นแทร็คโนส


แปลงไม้ผล :
สมมุติ....ไม้ผล 1 โซน 50 ต้น ลากสายยางเดินฉีดพ่นทางใบทีละต้นๆ ต้นละ 10 นาที ต้องใช้เวลา 500 นาที สายยางก็ต้องใช้ปั๊มไฟฟ้า นั่นเท่ากับ 500 นาทีไฟฟ้า ต่อการทำงาน 1 ครั้ง....... ไม้ผล 1 โซน 50 ต้น (แปลงเดียวกัน) ใช้สปริงเกอร์-หม้อปุ๋ย กะเหรี่ยง เปิดสปริงเกอร์ฉีดพ่นทางใบพร้อมกันทั้ง 50 ต้น ใช้เวลาประมาณ 10 นาที สปริงเกอร์ก็ต้องใช้ปั๊มไฟฟ้าเช่นกัน นั่นเท่ากับ 10 นาทีไฟฟ้า ต่อการทำงาน 1 ครั้ง อย่างไหนประหยัดเวลา ประหยัดไฟฟ้า มากกว่ากัน กับทั้ง อย่างไหนให้ประสิทธิภาพประสิทธิผลของเนื้องานมากกว่ากัน ..... จ้างคนงานลากสายยางฉีดพ่น คนงานมีโอกาสอู้งานหรือทำงานไม่เรียบร้อยได้ แต่คนงานที่ใช้สปริงเกอร์ไม่มีโอกาสอู้งาน หรือทำงานบกพร่อง เว้นเสียแต่ไม่ได้เปิดสปริงเกอร์เท่นั้น ..... ที่สำคัญ ทั้งเจ้าของสวนและลูกจ้าง ไม่เสียอารมย์ในการทำงาน

สวนไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อที่ 50 ไร่ ใช้แรงงาน 1 คน เจ้าของทำเอง ลากสายยางฉีดพ่น ปุ๋ย/ฮอร์โมน/ยาสมุนไพร อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉีดพ่นอย่างประณีต เช้าถึงค่ำ (06.00-18.00 น.) ทุกวัน ต้องใช้ระยะเวลาถึง 7 วัน จึงครบทุกต้น นั่นเท่ากับต้นไม้ได้รับเพียง 1 ครั้ง ทั้งๆที่คนต้องทำงานทุกวัน ..... หากเป็นสปริงเกอร์ แบ่งพื้นที่เป็นโซน โซนละ 2 ไร่ (ปั๊ม 3 แรงม้า ไฟฟ้าบ้านธรรมดา 220 v) ใช้เวลาโซนละ 10 นาที นั่นคือ สวนขนาด 50 ไร่ จะใช้เวลาทำงานเพียง 250 นาที หรือ 6 ชม. หรือ 1 วัน (08.00-16.00 น.) เท่านั้น......ลากสายยางต้องใช้ไฟฟ้าทำงาน 7 วัน/อาทิตย์ กับสปริงเกอร์ใช้ไฟฟ้าเช่นกัน แต่ทำงาน 1 วัน/อาทิตย์.....อย่างไหนประหยัดและได้ประสิทธภาพในการทำงานมากกว่ากัน



***  หม้อปุ๋ยหน้าโซน ***
3.
หม้อปุ๋ย 2 ขนาด ใหญ่-เล็ก ใน 1 โซน ..... ใหญ่ ขนาดจุ 2 ล. (ขวดน้ำปลา) ..... เล็ก ขนาดจุ 1/2 ล. (ขวดโซดา)

หม้อปุ๋ยขนาดจุ 2 ล. สำหรับให้ปุ๋ยทางราก สมมุติ ต้องการให้ปุ๋ยทางรากแก่ต้นไม้ 50 ต้น ต้นละ 50 กรัม (2 อาทิตย์/ครั้ง แบบให้น้อยบ่อยครั้ง) เท่ากับใช้ปุ๋ยทางราก 2.5 กก. ...... ให้ละลายปุ๋ยในน้ำเปล่าก่อน น่าจะใช้นำเปล่าประมาณ 5-6 ล. ขึ้นอยู่กับชนิดและสูตรปุ๋ย จากนั้นจึงเติม "น้ำละลายปุ๋ย" ลงในหม้อแล้วปล่อยไปกับระบบสปริงเกอร์ งานให้ปุ๋ยครั้งนี้ต้องใช้ปุ๋ย 3 หม้อ หรือเติม 3 ครั้ง ครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 5 นาที เท่ากับใช้เวลาให้ปุ๋ยทางรากแก่ต้นไม้ 50 ต้น ด้วยเวลาเพียง 15 นาที กับแรงงานเพียง 1 คน เท่านั้น อีกด้วย

หม้อปุ๋ยขนาดจุ 1/2 ล. สำหรับให้ปุ๋ยทางใบ เพียง 1 หม้อก็พอแล้ว สำหรับต้นไม้ 50 ต้น ใน 1 โซน ใช้เวลาเพียง 5-10 นาที ด้วยแรงงานเพียงคนเดียวอีกด้วย

ให้ปุ๋ยทางราก...........เปิดวาวล์หม้อปุ๋ยทางราก ปิดวาวล์หม้อปุ๋ยทางใบ
ให้ปุ๋ยทางใบ............เปิดวาวล์หม้อปุ๋ยทางใบ ปิดวาวล์หม้อปุ๋ยทางราก



***  หม้อปุ๋ยหน้าโซน ***
4.
เวลาก็คือต้นทุนอย่างหนึ่ง ..... จากการที่ต้องเติมปุ๋ยทางรากลงหม้อปุ๋ยถึง 3 ครั้ง ต่อการให้ปุ๋ย 1 ครั้ง/1 โซน เห็นควรต้องปรับปรุงหม้อปุ๋ยใหม่ โดยเพิ่มจำนวนหม้อปุ๋ยขนาด 2 ล. จากจำนวน 1 หม้อ เป็น 3 หม้อ เมื่อรวมกับหม้อปุ๋ยขนาด 1 ล. ก็จะเป็น 4 หม้อ ในโซนเดียวกัน ..... อันนี้ทำได้อยู่แล้ว



***  หม้อปุ๋ยหน้าโซน ***
5.
สังเกตุ "สี" ของวัสดุ พีวีซี. แม้จะต่างสี แต่ขนาดเดียวกันจึงใช้ร่วมกันได้ นี่คือ ผลจาก REUSE นำวัสดุ พีวีซี. ที่เคยใช้งานมาแล้วมาใช้งานซ้ำ ช่วยให้ต้นทุนการสร้างถูกลงมาอีก วัสดุ พีวีซี.บางชิ้นผ่านการใบ้งานมาแล้ว 3-4 ครั้ง แต่ก็ยังนำกลับมาใหม่ได้ดีเหมือนเดิม



***  หม้อปุ๋ยหน้าโซน ***
6.
เหมือนยานอวกาศ "ไวกิ้งส์" หม้อปุ๋ยอันนี้แบบ 4 หม้อ ความจุหม้อละ 3 ล. ใส่ปุ๋ยพร้อมกันได้ครั้งละ 12 ล. ในการใช้งานจริงอาจไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยละลายน้ำแล้วมากขนาดนี้ แต่เป็นการทำเผื่อไว้ กับให้เห็นหลัการในการทำงานของหม้อปุ๋ยเท่านั้นว่า ทำได้-ทำได้ ...... ขนาดจุหม้อปุ๋ย กับ เนื้อปุ๋ย เป็นคนละส่วนกัน เมื่อต้องการใช้เนื้อปุ๋ยเท่าไรก็ใส่ลงไปเท่านั้นที่เหลือเป็นน้ำ เพราะถึงอย่างไร เนื้อปุ๋ยจากหม้อปุ๋ยก็ต้องผสมกับน้ำในท่อไปสู่หัวสปริงเกอร์-ต้นไม้ อยู่แล้ว..... หรือ 3 ขวดใส่ปุ๋ยทางราก ส่วนอีก 1 ขวดใส่ปุ๋ยทางใบก็ได้ ถึงเวลาให้ ให้ทางไหนเปิดวาวล์ทางนั้นพร้อมกับปิดวาวล์อีกทางหนึ่ง เท่านั้น



***  หม้อปุ๋ยหน้าโซน ***
7.
ท่อแยกแบบ 4 ทาง (2 นิ้ว - 1/2 นิ้ว) มีหรือไม่มีขายตามร้าน พีวีซี. ไม่ทราบ เลยเอาแบบ 2 ทาง (2 นิ้ว - 1/2 นิ้ว) ที่มีอยู่ ของเก่า-ของใหม่ มาดัดแปลงให้เป็นแบบ 4 ทางใช้งานแทน ก็ทำงานได้ดี.....เทคนิคนี้ สามารถดัดแปลงทำ 3 ทางก็ได้

ส่วนบนของหม้อปุ๋ยมีวาวล์ 12 ตัว (3 ตัว/1 หม่อ) เห็นแล้วอย่างง เพราะแต่ละหม้อใช้หลักการทำงานแบบเดียวกัน เปิดตัวไหน-ปิดตัวไหน หรือ เปิด 2 หม้อ-ปิด 2 หม้อ ก็ได้ เลือกเอาตามถนัด

หลักการในการติดตั้งระบบสปริงเกอร์ที่ไร่กล้อมแกล้มประการหนึ่ง คือ ใช้วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างที่หาซื้อในตลาดต่างจังหวัด (ตลาดบ้านโป่ง) เท่านั้น ไม่มีการสั่งซื้อจาก กทม. หรือนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้คนที่มาดูสามารถทำตามอย่างได้ ถ้าพอใจทำ ส่วนราคาวัสดุอุปกรณ์ก็ว่ากันตามแต่ท้องถิ่น ยกตัวอย่างง่ายๆ

หัวสปริงเกอร์แบบที่ใช้ที่ไร่กล้อมแกล้ม ราคาหัวละ 2 บาท หัวแบบเดียวกันซื้อในตลาดนนทบุรี หัวละ 12 บาท ซื้อที่ตลาดพิจิตร หัวละ 36 บาท

วาวล์ 1/2 นิ้ว ที่ตลาดบ้านโป่ง อันละ 12 บาท แต่ที่ตลาดท่ามะกา อันละ 35 บาท
เกลียวนอกสวมวาวล์ทองเหลืองขนาด 2 นิ้ว ที่ตลาดบ้านโป่ง อันละ 10 บาท ที่ลาดท่ามะกา อันละ 35 บาท



***  หม้อปุ๋ยหน้าโซน ***
8.
ส่วนล่างของหม้อปุ๋ย ใช้วาวล์ 2 ตัว ตัวหนึ่งสำหรัปล่อยน้ำเข้าหม้อปุ๋ย กับอีกตัวหนึ่งสำหรับระบายน้ำในหม้อปุ๋ยออก

ขณะทำงานปล่อยปุ๋ย จะเห็นน้ำจากปั๊มเข้าไปผสมกับเนื้อปุ๋ยในหม้อปุ๋ย แล้วดันปุ๋ยจากล่างขึ้นบนชัดเจน ทำให้เกิดกำลังใจและสนุกสนานกับการทำงานอย่างมาก

เคยมีคนบอกว่า ท่อ พีวีซี. แบบใสเหมือนแก้ว จนมองเห็นภายในได้ ส่วนใหญ่ใช้ในกิจการโรงงานอุตสาหกรรม มีทุกไซส์ตามต้องการ แต่ พีวีซี.ใสแบบนี้มีขายที่บริษัทใหญ่แห่งเดียวเท่านั้น แล้วราคาก็แพงมากด้วย เพราะฉนั้นใครที่คิดจะทำบ้าง แต่ตัดขวดไม่ได้ก็อาจจะติด่อซื้อที่บริษัท พีวีซี.ก็ได้นะ

ระหว่าง "ขวด" กับ "พีวีซี." ต้องหาขวดที่มีไซส์เข้ากับ พีวีซี.ได้พอดี เพราะไซส์ พีวีซี. มีมาตรฐานตายตัวแน่นอน แต่ไซส์ขวดไม่มีมาตรฐานแน่นอน ขวดน้ำปลาเหมือนกันแต่ต่างยี่ห้อกัน ไซส์ก็ต่างกันแล้ว.....นี่แหละงานใหญ่



***  หม้อปุ๋ยหน้าโซน ***
9.
สปริงเกอร์ระบบกะเหรี่ยง ยาวตัด-สั้นต่อ-ไม่พอซื้อ-ไม่ดีรื้อทำใหม่ ของใช้แล้วพวกนี้ไม่มีการทิ้ง เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพียง 1-2 อันเท่านั้น ที่ต้องจำใจทิ้ง เพราะ REUSE ไม่ขึ้นจริงๆ

บางคนไปที่ไร่กล้อมแกล้ม บอกว่า ได้สูตร REUSE นี้สูตรเดียวคุ้มเกินคุ้ม เพราะที่บ้านมีเป็นเข่ง

ชิ้นส่วนบางชิ้น REUSE กับซื้อใหม่ ราคาพอๆกัน แต่ก็ REUSE เพราะต้องการทำให้เห็นว่า มันยังใช้งานได้ เท่านั้น ....... หน็อย หาว่าตาคิมขี้เหนียว



ประสบการณ์ตรง.....ซาเล้งร้องไห้ :
กาลครั้งนั้น ซาเล้งรับซื้อของเก่าโฉบผ่านมาที่ไร่กล้อมแกล้ม ถามหาซื้อของเก่า เศษท่อ พีวีซี.ก็เอา เราก็คิดว่า คงเอาไปขายเป็นเศษพลาสติกเหมือนขวดพลาสติก ประมาณนั้น จึงเอาเศษ พีวีซี.ที่ REUSE ไม่ได้แล้วขาย ได้มาประมาณ 50 บาท โดยคนซื้อให้ราคาเอง

วันรุ่งขึ้น ซาเล้งเจ้าเดิมย้อนกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับเอาเศษ พีวีซี.ที่ซื้อไปเมื่อวานนี้มาคืน บอกว่า เอาไปทำใหม่ไม่ได้เลย มันเป็นเศษจริงๆ เราจึงคืนเงินให้ กับแถมให้อีก 20 บาท ให้เอาไปทิ้งที่กองขยะให้ด้วย


เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า.....
ซาเล้งรับซื้อเศษท่อ พีวีซี. เอาไปแกะชิ้นส่วนที่เป็นส่วนเกินออก แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เป็นชิ้นส่วนมือสอง เช่น ท่อต่อตรงขนาด 2 นิ้ว 1 อัน ซื้อที่ตลาดท่ามะกา อันละ 35 บาท แต่ซาเล้งซื้อไปจากไร่กล้อมแกล้มตกราวอันละแค่ 2 บาท เมื่อแกะส่วนเกินออกสามารถขายอันละ 5-7 บาทได้ สบายๆ ..... สุดท้ายที่ซาเล้งเอาเศษท่อ พีวีซี.มาคืน เพราะเป็นเศษซากจริงๆ ไม่มีส่วนเกินใดที่แกะออกแล้วเอากลับมาใช้ใหม่ได้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว นั่นเอง



ดูเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้ครับ
http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=2604#20551