วันสมาธิโลก World Meditation Day

6 สิงหาคม  วันสมาธิโลก (World Meditation Day)

6 สิงหาคม  วันสมาธิโลก (World Meditation Day)


6 สิงหาคม  วันสมาธิโลก (World Meditation Day)
ความเป็นมาของวันสมาธิโลก


อาจกล่าวได้ว่า ภัยที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติก็คือ “สงคราม” ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้นมาเอง และตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกนี้ ก็ยังไม่เคยมียุคใดว่างเว้นจากสงครามอย่างเด็ดขาดได้เลย คำว่า “สันติภาพ” จึงเป็นสิ่งที่ชาวโลกพากันแสวงหามาโดยตลอด

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ได้มีการนำระเบิดปรมาณูที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไปปล่อยลงที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เหตุการณ์อันเจ็บปวดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ทำให้ชาวโลกตระหนักถึงภัยอันใหญ่หลวงของสงคราม จึงได้พยายามร่วมมือกันจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมา เพื่อรักษาสันติภาพให้แก่ประชาคมโลกนั่นคือ องค์การสหประชาชาติ

ในการประชุมขององค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ย พ ส ล.) ปี พ.ศ. 2531 ได้เห็นความสำคัญของการทำสมาธิ ทั้งนี้เพราะการทำสมาธิ แม้จะเป็นธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นของสากลที่ศาสนิกชนอื่นก็สามารถปฏิบัติได้ ดังนั้น ย พ ส ล. จึงกำหนดเอาวันที่ 6 สิงหาคม เป็นวันสมาธิโลก เพื่อเป็นวันรวมใจของชาวพุทธและชาวโลกทั้งหลายมานั่งสมาธิ เพื่อให้เป็นมรณะสติเตือนใจ และมุ่งที่จะให้เกิดสันติภาพของโลกที่แท้จริงและยั่งยืน

วันนี้เป็นวันดีที่สุดวันหนึ่งในชีวิตของพวกเราทุกๆ คน ที่เราได้สละเวลาอันมีค่ามาแสวงหาหนทางของพระนิพพาน เราได้วางภารกิจต่างๆ เดินทางมาจากทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ บางท่านก็เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน มาสร้างสันติสุข สันติภาพให้เกิดขึ้นแก่โลก โดยเฉพาะวันที่ 6 สิงหาคม เป็นวันสมาธิโลก คือ ทั่วโลกนานาชาติ นานาประเทศเขากำหนดเอาว่าวันนี้เป็นวันสมาธิโลก ชาวโลกทุกคนไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดต่างก็รวมกัน เพื่อทำสมาธิให้บังเกิดขึ้นในใจ หรืออาจกล่าวได้ว่าวันนี้เป็นวันสันติภาพของโลก ซึ่งสันติภาพของโลกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มนุษย์ทุกคนในโลกได้เข้าถึงสันติสุขภายใน

สันติสุขภายในที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อใจหยุดนิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิ หยุดนิ่งสนิทอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ดังนั้น การเจริญสมาธิภาวนาจึงเป็นจุดเชื่อมโยงที่จะทำให้เกิดสันติภาพของโลกอย่างแท้จริง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้ฉลาดในการเจริญสมาธิภาวนา มีสติตั้งมั่น มีจิตบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว พึงบรรลุนิรามิสสุข เสวยรสแห่งธรรมที่น้อมไปเพื่ออาสวักขยญาณทำให้จิตหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นก็มีญาณยังรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ผู้นั้นย่อมถูกต้องญาณอันเป็นเครื่องตรัสรู้อย่างยอดเยี่ยมในอัตภาพนี้

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ เพราะว่าการเจริญสมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต อาจจะถือว่า เป็นทั้งหมดของชีวิตทีเดียว และเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้บรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต คือ อายตนนิพพาน

ดังนั้น ผู้รู้ ผู้มีปัญญาทั้งหลายก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิต เพื่อการเจริญภาวนา ฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง เพราะรู้คุณค่าของเวลาจึงสงวนเวลาทุกอณุวินาทีเอาไว้สำหรับการฝึกใจ มีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรม 8 คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ เพราะสิ่งเล่านี้เป็นธรรมประจำโลกที่บัณฑิตนักปราชญ์เห็นว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สาระที่แท้จริงของชีวิต จะมุ่งแสวงหาสาระ หรือของจริงที่มีอยู่ภายใน คือ พระธรรมกาย

พระธรรมกายมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุก ๆ คนในโลกไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใด จะเป็นใครก็แล้วแต่ จะมีความเชื่ออย่างไร นับถือศาสนาอะไรก็ตามล้วนมีธรรมกายทั้งสิ้น เมื่อทุกๆ คน ทุกชาติ ทุกภาษา ฝึกใจให้หยุดนิ่งอย่างถูกวิธีในตำแหน่งที่ถูกต้องคือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เหมือน ๆ กัน เมื่อใจหยุดแล้วก็สามารถเข้าถึงพระธรรมกายได้ เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้วความเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา จะเกิดขึ้น จะเป็นอิสระจากกิเลสอาสวะ เป็นสุขล้วน ๆ มีความสุขได้ด้วยตัวของตัวเอง เป็นนิรามิสสุข คือสุขที่ไม่เจือไปด้วยอามิส ไม่ต้องอาศัยวัตถุสิ่งของภายนอก ซึ่งผู้ที่ฉลาดหรือนักสร้างบารมีต้องแสวงหาความสุขอย่างนี้ แสวงหาความสุขที่เกิดจากการเข้าถึงธรรม สุขที่เกิดจากใจหยุดใจนิ่ง เพราะความสุขชนิดนี้เยี่ยมกว่าความสุขทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านถึงได้ตรัสว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุข สุขอื่นนอกจากใจหยุดนิ่งแล้วไม่มี เป็นรสแห่งความสุข รสแห่งธรรมที่ชนะรสทั้งปวง แล้วยังเป็นวิมุตติสุขที่จะนำไปสู่อายตนนิพพาน เป็นรสแห่งธรรมที่น้อมไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ ความสุขนี้เป็นรากฐานของชีวิต และเป็นสุดยอดแห่งความปรารถนาของมวลมนุษยชาติ ที่เราเกิดกันมาแต่ละภพแต่ละชาตินั้น ก็เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ให้เข้าถึงสิ่งที่คงที่ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมประชุมอยู่ในธรรมกายทั้งหมด

ฉะนั้นการเข้าถึงธรรมกาย จะทำให้ชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขสดชื่นเบิกบานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความคิดคำพูด และการกระทำก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จะเกิดปัญญาบริสุทธิ์สามารถขจัดปัญหาต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปได้ความบริสุทธิ์ ความผ่องแผ้วของจิตก็จะเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นมลทินทั้งหลายก็จะหมดไป มหากรุณาก็จะเกิดขึ้น มีความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน ปรารถนาให้ทุก ๆ คนในโลกได้เข้าถึงพระธรรมกาย ปรารถนาให้ทุกคนในโลกมีความบริสุทธิ์ ปรารถนาให้ทุกคนในโลกมีความสุข สดชื่น เบิกบานอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

เพราะฉะนั้นวันสมาธิโลกของเราวันนี้ หากทุกคนในโลกนำใจมาหยุดอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องในที่เดียวกันพร้อมๆ กัน และได้เข้าถึงพระธรรมกายที่เป็นนิจจัง สุขัง อัตตาแล้วสันติสุขที่แท้จริง สันติภาพที่แท้จริงของโลกก็จะบังเกิดขึ้นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เหลือวิสัย ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน แต่ว่าสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าทุกคนรู้ว่า เรามีของดีอยู่ในตัว และเริ่มต้นในตำแหน่งที่ถูกต้อง คือฐานที่ 7 แล้วก็ลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ทำอย่างต่อเนื่องให้ถูกวิธี ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันอย่างนี้ทั้งโลก โลกก็จะพลิกจากมืดมาสว่าง จากที่เป็นมลทินก็มาเป็นความบริสุทธิ์ จากความเห็นแก่ตัวก็จะมาเป็นการแบ่งปัน มีความรัก มีรอยยิ้มให้กัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน ความคิดเบียดเบียนผูกโกรธ พยาบาทก็จะหมดสิ้นไป ตรงกันข้ามจะมีแต่ความเมตตา ปรารถนาดี มีการให้อภัย เสียสละ แบ่งปันซึ่งกันและกัน มีแต่ความบริสุทธิ์ มีแต่ความสุขเป็นโลกแห่งสันติสุขที่ใคร ๆ ก็ปรารถนากันมายาวนาน


6 สิงหาคม  วันสมาธิโลก (World Meditation Day)
การสอนสมาธิเป็นเรื่องที่ทุกสถาบันควรให้ความสนใจ เพราะในภาวะแวดล้อมที่ชักจูงให้เด็กๆ เยาวชนของชาติเข้าไปลุ่มหลงกับสิ่งไร้สาระมีมากเหลือเกิน ถ้าเด็กๆ ฝึกพัฒนาใจของตนเองให้สว่างใสตามแนวทางของพระพุทธศาสนาได้แล้ว ใจของเขาจะเกิดคุณธรรม ๒ ข้อที่จะเป็นตัวต้านทานและคอยเตือนสติไม่ให้เด็กๆ ไปสู่ทางเสื่อมอย่างแน่นอน คุณธรรมที่ว่านี้ก็คือ "หิริและโอตตัปปะ" นั่นเอง