อภิญญาสมาบัติ " อภิญญา ๕ "


อภิญญาสมาบัติ

อภิญญาสมาบัติ " อภิญญา ๕ "

๑. อิทธิฤทธิญาณ มีความรู้ในการแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ
๒. ทิพโสตญาณ มีความรู้เหมือนหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของคนและสัตว์
๔. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายแล้วไปเกิด ณ ที่ใด
๕. ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

๕ ข้อข้างบนนี้ ท่านรวมเรียกว่า "อภิญญา" เพราะมีความรู้เกินกว่าสามัญชนจะพึงทำได้ อภิญญาทั้ง ๕ นี้เป็นโลกียวิสัย โลกียชนสามารถจะปฏิบัติ หรือฝึกหัดจิตของตนให้ได้ ให้ถึงได้ทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกวาสนาบารมี แต่เลือกเอาเฉพาะผู้ทำถูก ทำจริง และทำดี ถ้าทำจริง ทำถูก และทำแต่พอดีแล้ว ได้เหมือนกันหมด เว้นเสียแต่ท่านผู้รู้นอกลู่นอกทางเท่านั้น ที่จะทำไม่พบไม่ถึง ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า เมื่ออภิญญานี้เป็นของคนทุกชั้นทุกวรรณะแล้ว ทำไมนักปฏิบัติกรรมฐานสมัยนี้มีดื่น สำนักกรรมฐานก็ก่อตั้งกันขึ้นเหมือนดอกเห็ด ทำไมเขาเหล่านั้นไม่มีใครได้อภิญญา? ถ้าท่านถามอย่างนี้ ก็ขอตอบว่า ที่เขาได้เขาถึงในปัจจุบันนี้ก็มีมาก แต่เขาไม่กล้าแสดงตนให้ท่านทราบ เพราะดีไม่ดีท่านนั่นแหละจะหาว่าเขาบ้า ๆ บอ ๆ เสียก็ได้ ที่ปฏิบัติกันเกือบล้มเกือบตายไม่ได้ผลอะไรเลยแม้แต่ปฐมฌานก็มี ที่ไม่ปรากฏผลก็เพราะเขาปฏิบัติไม่ถูก


บางสำนักไม่แต่เพียงปฏิบัติไม่ถูกอย่างเดียว ยังแถมสร้างแบบสร้างแผนปฏิบัติเป็นของตนเอง แล้วแอบอ้างว่าเป็นของพระพุทธเจ้า ทำการโฆษณาคุณภาพแล้วก็สอนกันไปตามอารมณ์ ตามความคิดความนึกของตัว พอทำกันไปไม่กี่วันก็มีการสอบเลื่อนชั้นเลื่อนลำดับ แล้วออกใบประกาศรับรองว่าคนนั้นได้ชั้นนั้น คนนี้ได้ชั้นนี้ ครั้นพิสูจน์กันเข้าจริง ๆ ปรากฎว่าไม่ได้อะไรเลย แม้แต่อุปจารฌานก็ไม่ได้ แล้วยังแถมมีจิตคิดผิด หลงผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิไปเสียอีก กรรมหนักแท้ ๆ

ในบางสำนักก็ให้ชื่อสำนักของตนเป็นสำนักวิปัสสนา แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาสอนไปตามลัทธิของตน ถูกหรือผิดไม่รู้ แล้วแถมยังคุยเขื่องอีกว่าพวกฉันเป็นพวกวิปัสสนา ฉันไม่ใช่สมถะ พวกสมถะต่ำ ไปนิพพานยังไม่ได้ ส่วนวิปัสสนาของฉันเป็นทางลัดไปนิพพานโดยตรงเลย น่าสงสารแท้ ๆ ช่างไม่รู้เก้ารู้สิบเอาเสียเลย ความรู้เรื่องไปนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ชัดเจน ไม่ได้ปิดบังอำพรางแต่ประการใด ท่านสอนว่า ผู้ที่มุ่งพระนิพพานนั้น ในขั้นต้นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต ที่เรียกว่า "อธิศีลสิกขา"

เมื่อปรับปรุงศีลอันเป็นเครื่องระงับความชั่วทางกาย วาจาได้แล้ว ก็ให้เข้ามาปรับปรุงใจ ใจนั้นมีสภาพดิ้นรนกลับกลอก ไม่อยู่นิ่ง คล้ายลิง ให้ผูกใจมัดใจให้มีสภาพคงที่มั่นคงเสียก่อน โดยหาอุบายฝึกใจให้จับอยู่ในอารมณ์เดียว คือ คิดอะไรก็ให้อยู่ในวัตถุนั้น ไม่สอดส่ายไปในวัตถุอื่น ที่เรียกว่า "สมาธิ" หรือเรียกตามชื่อของกรรมฐานว่า "สมถะกรรมฐาน" เป็นอุบายสงบใจ การทำใจให้สงบนี้ จะโดยวิธีใดก็ตาม เรียกว่า สมถะทั้งนั้น อุบายที่ทำให้ให้สงบระงับไม่ดิ้นรนนี้ พระพุทธเจ้าทรงวางแบบไว้ถึง ๔๐ แบบ จัดเป็นกลุ่มได้ ๗ กลุ่ม


กลุ่มที่ ๑ เอาไว้ปราบพวกรักสวยรักงาม เรียกว่า "ราคะจริต"

กลุ่มที่ ๒ เอาไว้ปราบพวกใจร้ายอำมหิต เรียกว่า "โทสะจริต"

กลุ่มที่ ๓ เอาไว้ปราบพวกหลงงมงาน เรียกว่า "โมหะจริต"

กลุ่มที่ ๔ เอาไว้ปราบพวกเชื่อง่ายไม่มีเหตุผล เรียกว่า "ศรัทธาจริต"

กลุ่มที่ ๕ เอาไว้ปราบพวกช่างคิดช่างนึก ตัดสินใจไม่เด็ดขาด เรียกว่า "วิตกจริต"

กลุ่มที่ ๖ เอาไว้ปราบพวกฉลาดเฉียบแหลม เรียกว่า พุทธจริต

กลุ่มที่ ๗ เป็นกรรมฐานกลาง ปฏิบัติได้ทุกพวก

เมื่อสามารถระงับใจให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ พอจะใช้งานด้านวิปัสสนาได้ ที่เรียกว่า ได้ฌานที่ ๑ - ๒ - ๓ - ๔ ตามลำดับอย่างนี้เรียกว่า "อธิจิตสิกขา" เป็นการเตรียมการณ์ลำดับที่ ๒ แล้วจึงเอาจิตที่มีสมาธิตั้งมั่นจนถึงลำดับฌานแล้วนี่แหละไปวิจัยด้านวิปัสสนา

คำว่า "วิปัสสนา" นั้นแปลว่า รู้แจ้งเห็นจริง หรือ ถ้าจะพูดตามภาษานิยมก็เรียกว่า ยอมรับนับถือตามความเป็นจริง ไม่ฝืนกฎธรรมดานั่นเอง


ที่มา : เฟสบุ๊ค/หลวงพ่อฤาษีลิงดำ/บ้านมหา.คอม