หยิบยกมาฝาก

เปิดตัวกระทู้นี้ด้วยเรื่องผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์ต่อคนชนบทมาก



ผลงานวิจัย เครื่องสีข้าวขนาดจิ๋วสำหรับครัวเรือน


หยิบยกมาฝาก 2555

หยิบยกมาฝาก 2555



เครื่องนี้ถูกเปิดตัวครั้งแรกในงาน เกษตรแฟร์ ปี 2555 ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-8 กันยายน 2555 ณ ด้านหลังหอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสาตร์ บางเขน


รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยทีมคณะนักวิจัย ได้ทำการพัฒนาเครื่องสีข้าวเล็กครัวเรือน รุ่น มกวศ. 2555 เป้าหมายการออกแบบเพื่อการใช้งานในระดับครัวเรือน ในเขตชนบทและเขตเมือง เป็นเครื่องที่ส่งเสริมการเรียนรู้การแปรสภาพข้าวเปลือกในห้องปฏิบัติการภายในสถานศึกษาทั่วไป


เครื่องสีข้าวเล็กครัวเรือน มีลักษณะ

1 ขนาดเครื่องกะทัดรัด ความกว้างขนาด 277 มิลลิเมตร ยาว 340 มิลลิเมตร สูง 585 มิลลิเมตร น้ำหนักเพียง 15 กิโลกรัม

2 สามารถไปใช้สีข้าวเปลือกและข้าวกล้องในระดับครัวเรือน ซึ่งจุข้าวเปลือกที่จะสีได้ประมาณ 300 กรัม (เติมปริมาณได้ตลอดเวลา) เป็นเครื่องที่สะดวกและตรงกับความต้องการผู้บริโภค เครื่องสีข้าวนี้ ได้ทำการพัฒนาให้เหมาะกับการสีข้าวพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวพันธุ์สังข์หยด เป็นต้น


เครื่องสีข้าวเล็กครัวเรือน หรืออาจจะเรียกได้ว่า เครื่องสีข้าวจิ๋ว ได้ทำการพัฒนาหลักการทำงานและชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญคือ

1 เริ่มจากการนำข้าวเปลือกหรือข้าวกล้องบรรจุลงในถังป้อนข้าวซึ่งติดตั้งอยู่ส่วนบนของเครื่อง

2 จากนั้นทำการดึงเลื่อนตำแหน่งลิ้น ปล่อยข้าวเปลือกให้อยู่ในตำแหน่งเปิด ข้าวเปลือกจะไหลลงสู่ช่องว่างภายในระหว่างเพลาขัดกับชุดห้องขัดด้วยน้ำหนักของตัวข้าวเปลือกเอง

3 ข้าวเปลือกที่ไหลลงมาในตำแหน่งนี้จะถูกลำเลียงด้วยเกลียวลำเลียงที่อยู่ตรงปลายเพลาขัด ทำให้ข้าวเปลือกเคลื่อนที่ผ่านเข้าสู่บริเวณตะแกรงขัด ซึ่งตะแกรงขัดจะถูกติดตั้งอยู่ภายในชุดห้องขัดที่ไม่สามารถหมุนได้ โดยมีตำแหน่งจุดศูนย์กลางของแกนตะแกรงอยู่ร่วมกับจุดศูนย์กลางการหมุนของเพลาขัดข้าวเปลือก

4 ณ ตำแหน่งนี้ข้าวเปลือกจะถูกทำการขัดด้วยความเสียดทานที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของข้าวเปลือก ผ่านชิ้นส่วนตะแกรงขัดและเพลาขัด โดยที่เพลาขัดจะมีครีบขัดให้ข้าวเปลือกเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาของการขัดสีข้าวเปลือก

5 เวลาที่เหมาะสมในการขัดข้าวเปลือกจะใช้เวลาประมาณ 1 นาที

6 โดยที่ส่วนล่างของตะแกรงขัด มีช่องแกลบและรำของข้าวเปลือกที่ถูกขัดสี ข้าวที่ถูกขัดสีแล้วจะถูกลำเลียงออกมาเป็นข้าวสารทางด้านหน้าของชุดครอบภายนอกเครื่องสีข้าว

7 ส่วนระบบต้นกำลังใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 1/3 แรงม้า ที่มีความเร็วรอบในการทำงาน 1,350 รอบต่อนาที ติดตั้งอยู่ที่ด้านล่างของโครงสร้างเครื่อง ส่งกำลังผ่านสายพานมู่เล่ย์ ไปยังส่วนชุดเพลาขัดเพื่อใช้เป็นกำลังหมุนในการขัดข้าวเปลือกต่อไป

ส่วนหนึ่งของงานวิจัย ของภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งนี้ เป็นแนวทางใช้สำหรับการพัฒนาเครื่องสีข้าวในครัวเรือนที่สามารถสีได้ทั้งข้าวธรรมดา และข้าวกล้อง ได้โดยการพึ่งพาตนเอง เคลื่อนย้ายได้ง่าย
สามารถแปรรูปข้าวเปลือกได้โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง


+++++++++++++++++++



อ้างอิง

บทความเรื่อง นักวิจัย ม.เกษตร พัฒนาเครื่องสีข้าวสำหรับครัวเรือน
ผู้เขียน หนังสือพิมพ์ บ้านเมือง
www.banmuang.co.th