คนเป็นโรคหัวใจมีสิทธิ์จะวิ่งไหม?
คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับ หัวใจ หรือมีโรคหัวใจจะออกกำลังกายโดยการวิ่งได้ไหม
ปัญหาหัวใจในที่นี้เราจะพูดกันถึงคนที่เป็นโรคหัวใจแท้ ๆ ชนิดเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ค่อยพอ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
(แทนที่จะเต้น ตุบ ตับ ตุบ ตับ กลับมีจังหวะแปลก ๆ เข้ามาแทรกซ้อน) ว่าพวกเขายังมีสิทธิ์คิดวิ่งอยู่หรือเปล่า
เมื่อไม่นานมานี้ คนที่เป็นโรคหัวใจ ถูกบังคับให้นั่ง ๆ นอน ๆ ภาษาแพทย์ ใช้คำง่าย ๆ สบายหูว่า “พักผ่อน”
คนไข้พวกนี้เลยได้ทั้งพัก และ “ผ่อน” คือ ผ่อนสายป่านชีวิตตัวเองให้จมไปในโลก และโรคของความสบายมากเข้าทุกวัน
ไขมันยิ่งจับเพิ่มพูนเป็นดินพอกหางหมู โรคหัวใจเลยไม่รู้จักดีขึ้นสักที
มาบัดนี้ การแพทย์เปลี่ยนแนวทางการรักษาใหม่ เขาจับให้คนไข้เหล่านี้ออกกำลังทันทีที่ฟื้นคืนตัว พูดง่าย ๆ คือบังคับให้รักษาตัวตั้งแต่อยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู เริ่มด้วยออกกำลังลุกนั่งบนเตียง เรียกว่าเอามาเลี้ยงดูให้รู้จักดำเนินชีวิตใหม่ กลับบ้านไปก็ให้ออกกำลังต่อตามกำหนด เพื่อที่จะลดการเป็นโรคหัวใจซ้ำอีก
การแพทย์ปัจจุบันรู้แล้วว่า โรคหัวใจป้องกันได้ พูดง่าย ๆ ไม่น่าที่จะเป็น และเมื่อเป็นแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า คนคนนั้นจะต้องพิการใจไปตลอดชีวิต
เขาสามารถสร้างชีวิตใหม่ได้โดยการออกกำลัง ดังนั้นผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรคหัวใจ จึงเห็นวิ่งกันอยู่ทั่วไป

วิ่งทำให้เกิดโรคหัวใจได้หรือไม่
คำถามนี้คงคันอยู่ในสมองของหลาย ๆ คน (โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยได้วิ่ง)
มีเรื่องเล่ากันอยู่เสมอในวงปาร์ตี้ ถึงคนนั้นคนนี้เป็นลมตาย ในขณะออกกำลังกาย
ดังนั้นคำตอบคือคงเป็นไปได้ ที่คนเราจะตายจากโรคหัวใจในขณะออกกำลัง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความ เขาจะไม่ตายถ้าไม่ได้ออกกำลัง แต่เรามาดูสถิติกันดีกว่า
นายแพทย์รอย เจ.เชปปาร์ด ศาสตราจารย์ทางเวชศาสตร์ป้องกัน แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต คำนวณว่าโอกาสจะเกิดโรคหัวใจในคนปกติ ที่ออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง มีอยู่ 1 ใน 5 ล้าน นี่หมายถึงในผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงโอกาสถูกลอตเตอรี่ มีเพียง 1 ใน 17 ล้าน
นายแพทย์เคนเนธ คูเปอร์ เจ้าของตำรับวิทยายุทธ “แอโรบิค” อันเลื่องชื่อได้ทำการทดสอบสมรรถภาพทางกีฬา ให้แก่นักกีฬาและบุคคลธรรมดามาอย่างมากมาย ในรายงาน 6 ปีของเขาพบว่า มีเพียง 2 ราย (จากจำนวนผู้เข้ารับการทดสอบทั้งหมด 2,276 คน) ที่มีปัญหาทางด้านหัวใจเกิดขึ้นในระหว่างการทดสอบ ซึ่งมีระยะทางเดินหรือวิ่งรวมกัน ทั้งหมดเกือบ 8 แสนไมล์ คำนวณอย่างง่าย ๆ ออกมาได้ว่าปัญหาทางหัวใจเกิดขึ้น 1 ราย ในระยะทางการออกกำลัง 391,097ไมล์ (หรือ 625,752 กิโลเมตร) หรือถ้าคิดจากจำนวนเวลาของการออกกำลัง ก็ได้ 93,409 ชั่วโมง
ทั้ง 2 รายที่เกิดปัญหาด้านหัวใจในระหว่างการทดสอบได้ฟื้นคืนตัวเรียบร้อยแล้ว และยังคงออกกำลังโดยการวิ่งเป็นประจำ
เห็นหรือยังว่า โอกาสถูกรถยนต์ชนตายอาจมีมากกว่า การวิ่งออกกำลังเสียอีก สถิติสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทยเวลานี้ คือ “อุบัติเหตุ”
ถ้าใครดูข่าวการวิ่งต่างประเทศแล้วเห็นคนวิ่งสวมเสื้อรูปหัวใจแตกสลาย ขอให้รู้ไว้ว่านั่นคือผู้เคยเป็นโรคหัวใจ ซึ่งก็ไม่ใช่ภาพที่หาดูได้ยาก
นายแพทย์เทอเรนซ์ คาวานอธ จากเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา พานักวิ่งเข้าแข่งบอสตันมาราธอน 8 คน คนทั้งแปดล้วนแต่เคยเป็นโรคหัวใจ เจ็ดในแปดคนวิ่งเข้าถึงเส้นชัย (42 กิโลเมตร) ทั้งแปดคนไม่มีใครเป็นอันตรายจากการวิ่ง
นายแพทย์แจ๊ค สค๊าฟ แพทย์โรคหัวใจเมืองฮาวาย สนับสนุนให้คนไข้โรคหัวใจของเขาเข้าวิ่งฮอนโนลูลูมาราธอนที่ฮอนโนลูลูมาราธอนนี้
นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ซึ่ง เคยเป็นโรคหัวใจ ก็ได้เข้าวิ่งถึงเส้นชัยมาแล้ว
ยังมีรายชื่อแพทย์อีกหลายคน ในสหรัฐอเมริกาที่รักษาคนไข้โรคหัวใจของตนโดยการให้วิ่งออกกำลัง
หรืออย่างที่เยอรมันนี เขาจะมีศูนย์ทั่วประเทศสำหรับเป็นที่ฝึกฝนให้คนที่เป็นโรคหัวใจได้มาออกกำลังร่วมกัน โดยอยู่ใต้ความดูแลของแพทย์
บ้านเราตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีแพทย์ที่สนใจในทางนี้และกำลังช่วยชี้ช่องทางอันสว่างให้แก่คนไข้โรคหัวใจอยู่เช่นกัน
ฉะนั้นท่านที่มีโรคหัวใจ ไม่จำต้องท้อแท้ใจ ขอเพียงให้ปฎิบัติตัวตามคำแนะนำ เพราะหน้าที่แพทย์ทำได้เพียงแค่ชี้นำ แต่สิ่งสำคัญที่สุด อยู่ที่ตัวท่านทำ ท่านต้องนำตัวของท่านก้าวไปเอง กว่าจะบรรลุถึงจุดหมาย รับรองได้ว่าท่านต้องเสียเหงื่อไปหลายหยด อาจจะหมดกำลังอีกหลายหน
อย่าลืมว่า “ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน”
:,1-:,1-:,1-:,1-:,1-:,1-:,1-
ที่มา:http://www.healthcarethai.com