กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: บายศรีสู่ขวัญ

  1. #1
    กะปอมน้อย
    Guest

    บายศรีสู่ขวัญ

    ประณีตน้อมบรรจงจีบกลีบตองส่ง
    บรรเลงลงประดับดวงพวงบุปผา
    รสสุคนธ์ประพรมร่ำฉ่ำมาลา
    สุคนธาอบอวลทั่วตัวใบตอง

    เป็นบายศรีศิริขวัญอันงามงด
    เกียรติปรากฏประดับหล้าหาหม่นหมอง
    อัญเชิญชูสู่พิธีศรีเทพทอง
    ตามครรลองของอิสานตำนานชน

    พราหมณาสวดคาถาบาลีสัตย์
    เทพพิพัฒน์ประพรมพรเป็นศรฝน
    ประโลมหล้าประดับดินถิ่นมงคล
    เชิญขวัญตนสู่มิ่งร่างอย่างเก่ากาล

    นางรำร่ายสไบพริ้วลิ่วสะบัด
    บรรจงจัดเครื่องบัดพลีศรีสถาน
    อันเชิญเทพเทวามาประทาน
    อำนวยชัยทิพย์วิมานสราญเทอญ

  2. #2
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ นวรัตน์
    วันที่สมัคร
    Feb 2008
    กระทู้
    687
    3.3 ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ



    บายศรีสู่ขวัญ เป็นประเพณีดั้งเดิม เก่าแก่ของภาคอีสานที่นิยมทำกัน ถ้าทำแล้วถือว่าเป็น
    สิริมงคลทำให้เกิดความสุข เกิดมงคลอยู่ด้วยความสวัสดีมีชัย มีโชคลาภ ชีวิตดำรงอยู่ด้วย
    ความราบรื่นและดลบันดาลให้ผู้เคราะห์ร้ายหายจากเคราะห์ การสู่ขวัญต้องอาศัยคนเฒ่า
    คนแก่ผู้รู้วิชาเรียกว่า หมอขวัญหรือพราหมณ์ สู่ขวัญให้จึงจะเป็นสิริมงคลได้ผลดีตามความ
    ปรารถนา การสู่ขวัญต้องมีอุปกรณ์ที่สำคัญคือ ขันบายศรี ซึ่งขันบายศรี จะประกอบด้วย
    ภาชนะใส่เครื่องบูชาในการเรียกขวัญ เครื่องประกอบนี้จะทำบนพาน และตกแต่งให้
    สวยงามโดยทำด้วยใบไม้ เช่น ใบตองกล้วย นำมาพับเป็นกรวยหรือพับเป็นมุมแหลม
    แล้ว เย็บซ้อนกันอย่างสวยงาม อาจจัดเป็นบายศรีชนิด 3 ชั้น 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น
    แล้วแต่ความสะดวก ความเหมาะสมและความประสงค์ของผู้จัดพิธีบายศรี
    แต่ละชั้นจะมีพานรองรับ โดยชั้นล่างมีขนาดใหญ่ และชั้นถัดไปมีขนาดใหญ่เล็กลดหลั่น
    กันตามลำดับ ชั้นล่างมีเครื่องขวัญ เซี่ยน เมี่ยง หมาก ข้าวเปลือก ข้าวสาร กล้วย อ้อย
    ข้าวต้มมัด ขนมรูปเทียนไก่และไข่ต้ม เนื้อ ปลา ข้าวเหนียวนึ่ง แต่ละชั้นประดับด้วย
    ดอกไม้อย่างสวยงาม ชั้นสูงสุด
    มีฝ้ายผูกแขนและเทียนเวียนหัว นอกนี้มีเครื่องประกอบขันบายศรี มีการจัดถาดหรือพาน
    ใบหนึ่งสำหรับใส่เสื้อผ้า แว่น สร้อย แหวน ของ “หมอขวัญ” คือ ผู้ทำพิธีสู่ขวัญ มีขันห้า
    คือ ดอกไม้และเทียนอย่างละ 5 คู่ เงินใส่ซองจำนวนพอสมควร ดอกไม้และเทียนอย่าง
    ละ 1 คู่ สอดไว้ในซอง และมีการจัดสุรา ขวดน้ำ แก้วน้ำ และอาหารใส่ถาด 1 ชุด ตั้งไว้
    ข้างขันบายศรีด้วย
    พิธีบายศรีสู่ขวัญ ผู้เป็นเจ้าของขวัญจะมานั่งล้อมพาขวัญ ใช้มือขวาจับพาขวัญ
    แล้วพราหมณ์ จะเริ่มสวดตามบทสวด เริ่มต้มด้วยการอัญเชิญเทวดาอารักษ์ ด้วยบทชุมชุม
    เทวดา จนกระทั่งจบในระหว่างสวด จะมีการเรียกขวัญกันเป็นระยะตามเสียงของพราหมณ์
    ว่า “มาเด้อขวัญเอย ๆ ๆ” เป็นที่สนุกสนาน เนื่องจากพิธีนี้จัดให้เหมาะสมแต่ละงานโดย
    เฉพาะ แม้แต่บทสวดก็ไม่เหมือนกัน และขณะที่ทำพิธีสู่ขวัญทุกคนจะต้องยื่นมือบาย
    (แตะ) ขันบายศรีรอบ ๆ ขัน และผู้ที่อยู่ในวงนอกออกไปก็แตะกันต่อ ๆ กันไปทุกคนถือว่า
    ได้ช่วยจับแขนผู้ที่ตนทำขวัญให้เป็นการรวมความนึกคิดจิตใจมาสู่จุดอันเดียวกันคือตัว
    ขวัญของบายศรีอันจะส่งผลให้เป็นดังคำกล่าวเรียกขวัญของพ่อเฒ่าทุกประการ
    การสู่ขวัญของชาวอีสานทำกันหลายกรณี ทำในโอกาสที่เหมาะสมและสำคัญ
    ที่สำคัญมีดังนี้

    1. ในการได้ลาภยศ เช่น ได้เงินทองร่ำรวยมาก ได้ยศศักดิ์ เป็นต้น
    2. ในการพ้นจากทุกข์ เช่น หายจากเจ็บไข้ได้ป่วย พ้นจากภัยอันตราย ฯลฯ
    3. ในช่วงหลังชายอีสานนิยมทำบายศรีสู่ขวัญ สำหรับส่งหรือรับผู้มาเยือน
    พิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นพิธีที่รู้จักกันดีของชาวอีสาน ในแต่ละหมู่บ้านจะมีหมอสู่
    ขวัญประจำหมู่บ้านเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นผู้กระทำพิธีนี้อยู่ตลอด



กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •