ดอกสวยสมชื่อ เล็บมือนาง

เล็บมือนาง


“เล็บมือนาง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Quisqualis Indica Linn.” อยู่ในวงศ์ Combretaceae มีชื่อเรียกอื่นๆ ที่เรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น เล็บนาง, มะจีมั่ง, จ้ามัง, จะมั่ง, วะดอนิ่ง, ไท้หม่อง เป็นต้น เล็บมือนางมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเซียเขตร้อน เป็นไม้เถารอเลื้อยขนาดกลาง เนื้อแข็ง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มหนาทึบ เมื่อต้นอ่อนผิวจะเกลี้ยงมีขนสีน้ำตาลอมเทาปกคลุม แต่เมื่อแก่จะกลายเป็นหนาม ใบรูปมน ขอบขนาน เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ

ดอกมีลักษณะเป็นหลอดยาว ราว 3-5 นิ้ว ปลายมี 5 กลีบ มีเกสรยาวยื่นโผล่พ้นดอก เมื่อแรกบานจะมีสีขาว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู และใกล้โรยจะเป็นสีแดง ออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกจะค่อยๆ ทยอยบาน จึงทำให้มีทั้งสีขาว ชมพู แดงอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกมีกลิ่นหอม และออกดอกตลอดปี ผลแข็ง รูปรี สีดำ มีเมล็ดภายใน 1 เมล็ด



เล็บมือนาง

ประโยชน์ทางพืชสมุนไพรของเล็บมือนางก็มีไม่น้อย อาทิเช่น ใบ ใช้แก้บาดแผลฝี แก้อักเสบ และถ้านำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ จะเป็นยาแก้ไข้ ตัวร้อน แก้ปวดหัว ถอนพิษ, ต้น ใช้ เป็นยาแก้ไอ, เมล็ด ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม พยาธิเส้นด้าย ในเด็กแก้ตานขโมย, ราก เป็นยาระบาย และขับพยาธิไส้เดือน เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ “เล็บมือนาง” เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว อายุยืน มีดอกสวยงาม และมีกลิ่นหอม คนส่วนใหญ่จึงมักนิยมปลูกเป็นไม้ประดับไว้ตามรั้วหรือซุ้มประตู

คำว่า “เล็บ” ในภาษาบาลีและสันสกฤตใช้ว่า “นขะ” มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับเล็บมือของนาง (ที่มิใช่ต้นเล็บมือนาง) ซึ่งเป็นที่มาของการที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุไว้เล็บยาว เรื่องนี้อยู่ในวินัยปิฎกที่ 7 บอกไว้ว่า

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไว้เล็บยาวเที่ยวบิณฑบาต สตรีผู้หนึ่งเห็นเข้า จึงได้กล่าวชวนภิกษุรูปนั้นมาเสพเมถุนด้วย แต่ภิกษุนั้นก็ได้ตอบปฏิเสธไปว่า อย่าเลย เรื่องเช่นนี้ไม่สมควร



เล็บมือนาง

แต่สตรีผู้นั้นไม่พอใจ จึงขู่ว่าถ้าไม่ยอมเสพ ก็จะหยิก ข่วนเนื้อตัวของตัวเองด้วยเล็บของตัวเอง แล้วจะโวยวายว่า ถูกภิกษุผู้นี้ข่มขืน ข้างฝ่ายภิกษุก็ยังยืนยันเช่นเดิม สตรีผู้นั้นจึงหยิกข่วนเนื้อตัวของตนด้วยเล็บ แล้วร้องโวยวาย ขึ้นว่า “ภิกษุนี้ข่มขืนเรา !!” ชาวบ้านได้ยินดังนั้น จึงวิ่งเข้าไปจับกุมภิกษุ แต่เมื่อได้เห็นผิวหนังและเลือดที่เล็บมือของสตรีผู้นั้น จึงลงความเห็นว่า สตรีผู้นี้ทำตัวเอง ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้กระทำ จึงปล่อยภิกษุนั้นไป

ครั้นภิกษุนั้นไปถึงวัดแล้ว ได้เล่าเรื่องทั้งหมดแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า ท่านไว้เล็บยาวหรือ ภิกษุรูปนั้นจึงรับว่าใช่... บรรดาภิกษุต่างก็เพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน... ภิกษุจึงได้ไว้เล็บยาว แล้วกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค

พระองค์จึงตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้เล็บยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฎฯ”

จากนั้นภิกษุทั้งหลายจึงพากันตัดเล็บมือด้วยเล็บมือบ้าง ตัดเล็บมือด้วยปากบ้าง ครูดเล็บมือที่ฝาผนังบ้าง จนนิ้วมือเจ็บ จึงได้กราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้มีดตัดเล็บได้ และให้ตัดเล็บเสมอเนื้อฯ


เล็บมือนาง



เครดิต : เวปธรรมจักร.เน็ต/บ้านมหา.คอม