งามสวยสม มหาพรหมราชินี พบที่เดียวในประเทศไทย


งามสวยสม มหาพรหมราชินี


งามสวยสม มหาพรหมราชินี พบที่เดียวในประเทศไทย

ปัจจุบันทั่วโลกมีพันธุ์ไม้ในสกุลมหาพรหม 48 ชนิด ในประเทศไทย มี 7 ชนิด รวม “มหาพรหมราชินี” เป็น 8 ชนิด มหาพรหมราชินีเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความคล้ายคลึงกับมหาพรหม เนื่องจากอยู่ในสกุลเดียวกัน จัดอยู่ในพันธุ์ไม้ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์

“มหาพรหมราชินี” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Weerasooriya,Chalermglin & R.M.K. Saunders เป็นไม้วงศ์กระดังงาชนิดใหม่ของโลก ที่มีความสวยงามเป็นพิเศษ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่แคบๆ ของยอดเขาสูงชันที่ระดับความสูง 1,100 เมตร ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น (endemic) เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งยังเป็นพรรณไม้หายาก เนื่องจากมีจำนวนต้นในสภาพถิ่นกำเนิดน้อยมากและมีการกระจายพันธุ์ต่ำ


งามสวยสม มหาพรหมราชินี


ลักษณะของต้นมหาพรหมราชินี เป็นไม้ต้นขนาดเล็กสูง 4-6 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-8 เซนติเมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนอ่อนคลุมอยู่ ใบมีรูปหอก กว้าง 4-9 เซนติเมตร ยาว 11-19 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบ เรียบเป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบและปลายใบแหลม มีเส้นใบแขนงใบจำนวน 8-11 คู่ มีดอกดก ลักษณะเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ 1-3 ดอก ออกที่ใกล้ปลายยอด เป็นพรรณไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับดอกของพรรณไม้ในสกุลมหาพรหมเดียวกัน คือ เมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 1.8-2.7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ รูปไข่กว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกเป็นรูปไข่ กว้าง 4.1-5.3 เซนติเมตร โคนกลีบบาน ปลายกลีบเรียวแหลมกลีบบางสีขาวมีลายเส้นเรียงตามความยาวของใบ กลีบดอกชั้นในกว้าง 3.6-4.1 เซนติเมตร ยาว 3.7-4.3 เซนติเมตร โคนกลีบสีเขียวอ่อน ปลายกลีบสีม่วงเข้ม กระดกงอขึ้นและประกบติดกันเป็นรูปกระเช้า แต่ละดอกบานอยู่ได้ 3-5 วัน กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานเต็มต้นในช่วงเดือนพฤษภาคม


งามสวยสม มหาพรหมราชินี

ส่วนผล เป็นผลกลุ่มมีผลย่อย 10-15 ผล รูปทรงกระบอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2-2.4 เซนติเมตร ยาว 5.5-8 เซนติเมตร มีขนอ่อนปกคลุมหนาแน่น ผลจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคม ผลสุกหวานรับประทานได้

ผู้ค้นพบมหาพรหมราชินี คือ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยพบบริเวณยอดเขาในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในกลางปี พ.ศ. 2547 การค้นพบดังกล่าวได้รับการรับรองจาก DR. Aruna Weerasooriya ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้สกุลมหาพรหมแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งข้อมูลทางพฤกษาศาสตร์ของมหาพรหมราชินีได้ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany แห่งประเทศเดนมาร์ก

และได้รับพระราชานุญาตจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้อัญเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่นี้ว่า “มหาพรหมราชินี” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547



งามสวยสม มหาพรหมราชินี


ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายของคำว่า “พรหม” ไว้ 3 ความหมายว่า

(1) ผู้ประเสริฐ (2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวก คือรูปพรหม มี 16 ชั้น และอรูปพรหมมี 4 ชั้น และ (3) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

ส่วนคำว่า “พรหมวิหารธรรม” หมายถึงธรรมซึ่งเป็นเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ หรือธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ มี 4 ข้อคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวถึงความเป็นพรหมของบิดามารดา อันเนื่องจากมีคุณธรรมอันประเสริฐ 4 ประการดังกล่าว ว่า

พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร
อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ ปชาย อนุกมฺปกา


มารดาบิดาท่านว่าเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์ เป็นที่นับถือของบุตร และเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร



งามสวยสม มหาพรหมราชินี


เครดิต : เวปธรรมจักร.เน็ต/บ้านมหา.คอม