กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ผนึก 3 ประสาน ผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ และประชาชน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทำให้มีกำลังผลิตสำรองไฟฟ้าเพียงพอตามมาตรฐาน มั่นใจ ไม่มีปัญหาไฟตกไฟดับ ด้าน กฟผ. กำหนด 5 มาตรการประหยัดพลังงานเพิ่มเติมภายในองค์การ

จากสถานการณ์ประเทศพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 กระทรวงพลังงานและ กฟผ. ได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้า (Supply Side) และด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side) โดยมาตรการด้านการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย
1. งดการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทั้งหมดในช่วง 5-14 เมษายน
2. ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว เพื่อขอซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม เต็มความสามารถ
3. ประสานงานกับกรมชลประทานขอเพิ่มการระบายน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้า โดยไม่กระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำ
4. ได้รับความร่วมมือจากโรงไฟฟ้าทุกโรงไฟฟ้าเดินเครื่องเต็มที่ เพื่อเสริมระบบ
5. ทดสอบโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่ต้องเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลให้มีความพร้อมในการผลิตก่อนการจ่ายก๊าซช่วงวันที่ 5-14 เมษายน

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้จัดการรณรงค์ปฏิบัติการ 3 ป. ขอความร่วมมือ รวมใจคนไทย สู้วิกฤตไฟฟ้า ปฏิบัติการ 3 ป. “ปิดไฟ ปรับแอร์ ปลดปลั๊ก” ช่วยชาติประหยัดพลังงาน ได้แก่
...ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ทุกครั้ง แม้จะเป็นการหยุดใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม การเปิดปิดไฟบ่อยๆ จะไม่ทำให้สิ้นเปลืองไฟแต่อย่างใด แต่ทุกครั้งที่ปิดกลับจะช่วยให้เกิดการประหยัดไฟมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวโคมไฟและหลอดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีการส่องสว่างอย่างเต็มประสิทธิภาพ
...ปรับอุณหภูมิแอร์ที่ 26 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า ทุกอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะประหยัดไฟฟ้าได้ร้อยละ 10 แต่ไม่ควรตั้งอุณหภูมิเกิน 28 องศาเซลเซียส เพราะนอกจากจะไม่เย็นแล้ว แอร์ยังคงทำงานหนักอยู่เช่นเดิม
...เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ไม่จำเป็นหรือหยุดใช้งานออกทุกครั้ง การปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยไม่ปลดปลั๊กออก หรือการปิดโทรทัศน์ด้วยรีโมทคอนโทรล จะยังคงมีกระแสไฟฟ้าวิ่งหล่อเลี้ยงระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการสิ้นเปลีองพลังงานโดยเปล่าประโยชน์
สำหรับมาตรการเพิ่มเติมของ กฟผ. ในสถานการณ์ดังกล่าว แบ่งเป็น 5 เรื่องหลัก ได้แก่
1) ระบบปรับอากาศ ให้ปรับอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส กำหนดเวลาเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน โดยให้เปิดระหว่างเวลา 08.00-15.30 น. และ ปิดเมื่อไม่อยู่ในห้อง รวมถึงในช่วงพักกลางวัน เวลา 11.30-13.00 น.
2) ระบบไฟแสงสว่างในอาคาร ให้เปิดไฟแสงสว่างระหว่าง 08.00-16.00 น. โดยปิดในช่วงพักกลางวันและขณะที่ไม่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่ในห้อง
3) ลิฟต์ รณรงค์การเดินขึ้น-ลงบันได 2 ชั้น และสำหรับการใช้ลิฟต์ในสำนักงานกลาง เปิดให้ใช้งานเวลา 07.00 – 16.30 น.
4) อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องคอมพิวเตอร์ ให้เปิดใช้เครื่องและอุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น Printer เฉพาะเวลาใช้งาน และปิดเครื่องทันทีเมื่อไม่ใช้งาน
5) อุปกรณ์อื่นๆ ตู้น้ำเย็น-ร้อน ให้ถอดปลั๊กออกหรือปิดสวิตซ์เมื่อไม่ใช้งาน
สำหรับพื้นที่ของโรงไฟฟ้า เขต เขื่อน และสำนักงานอื่นๆ ของ กฟผ. ให้พิจารณานำมาตรการเหล่านี้ไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละพื้นที่ และให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นกำกับดูแลการใช้พลังงานในกิจกรรมต่างๆ ของ กฟผ. ให้เป็นไปตามมาตรการ
จากมาตรการและความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า จะไม่เกิดการขาดแคลนพลังงานในช่วงวิกฤตพลังงาน อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้รับผิดชอบด้านพลังงานและคนไทยทุกคน ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านพลังงานจากการพึ่งพิงเชื้อเพลิงใดเชื้อเพลิงหนึ่งมากเกินไป ตลอดจนการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงในระยะยาว

แหล่งที่มา http://surin.energy.go.th