มาคุยกันถึงวิธีการแก้ไขและข้อควรปฏิบัติในเด็กที่มีปัญหาการกินกันครับ ขอเน้นย้ำว่าที่เรากำลังคุยกันนี้ หมายถึงเด็กอายุเกิน1ปีที่มีปัญหาการกินนะครับ ไม่ใช่เด็กทารก
10 วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวนั้น มีดังนี้ครับ

1 ถ้าให้นมมากเกินไป ต้องลดนมลง
อันนี้เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากครับ เพราะคุณพ่อคุณแม่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าให้ลูกนมมากๆจะดี แท้ที่จริงแล้วอาหารหลักของเด็กที่อายุเกิน1 ขวบไปแล้ว คือข้าว( อาหาร5 หมู่ ) ครับ ไม่ใช่นม
ดังนั้นในเด็กที่มีปัญหาการกินอาหารมากๆ อาจต้องจำกัดนมไม่ให้เกิน16 ออนซ์ต่อวัน
หรือเท่ากับนม8ออนซ์ 2มื้อ ฟังดู แล้วเหมือนน้อยมากนะครับ แต่ย้ำว่าจำเป็นเพราะไม่เช่นนั้นแล้วเด็กที่มี ปัญหาการกินก็จะเลือกกินแต่นม อยู่ได้ด้วยนม ไม่ยอมกินข้าว ถึงแม้เด็กบางคนจะกินนมมาก ( เช่นเด็ก1-2 ขวบ บางคนอาจกินนมขวดละ8 ออนซ์ 5-6มื้อต่อวัน )แต่น้ำหนักกลับไม่ค่อยขึ้น บางคนน้ำหนักตกเกณฑ์ด้วยซ้ำ การลดนมนั้นถ้าจำเป็นมักทิ้งมื้อนม ก่อนนอนกลางวัน และก่อนนอนกลางคืนไว้ เนื่องจากถ้าไม่ให้กินนมเด็กจะร้องกวนไม่ยอมนอน นอกจากนี้ในเด็กบางคนที่ตื่นมากินนมในเวลากลางคืนหลายครั้งก็ควรพยายามงดนมมื้อกลางคืนด้วยครับ โดยเฉพาะนมช่วงเช้ามืดซึ่งมักจะขวางอาหารมื้อเช้า ทำให้ไม่อยากกินอาหารมื้อเช้า นอกจากนี้ควรให้เด็กเลิกนมขวดเมื่ออายุ1ปี หรือก่อน2ปี เพราะเด็กที่ดูดขวดนมแล้วหลับคาปาก จะทำให้ฟันผุและมีปัญหาการเคี้ยวอาหารตามมาได้ครับ
ที่แนะนำี่ให้ลดนมลงนี่ เฉพาะเด็กอายุเกิน1 ขวบ ที่มีปัญหาการกินเท่านั้นนะครับ
เด็กหลายคนกินมากทั้งนม ทั้งข้าว ( ไม่มีปัญหาการกิน ) ก็ไม่จำเป็นต้องไปลดนม แต่ระวังลูกจะเป็นโรคอ้วนแทน

2 ทิ้งช่วงห่างระหว่างมื้ออาหาร ( นมกับข้าว )อย่างน้อย4ชั่วโมง
แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตารางเวลาการให้อาหารไว้เพื่อสะดวกในการประเมินความเหมาะสมของอาหารและระยะห่างของอาหารแต่ละมื้อครับ

3 งดอาหารหวานทุกชนิด
เช่น ขนมถุง ขนมซอง ไอศครีม น้ำอัดลม น้ำหวาน ทอฟฟี่ ชอคโกแลต ขนม หรืออาหารเหล่านี้จะมีรสหวาน หลังกินจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ซึ่งจะไปกดศูนย์การหิวซึ่งอยู่ในสมองของคนเรา ตรงนี้ล่ะครับที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กอิ่ม ไม่อยากอาหาร ดูตัวเราเองก็ได้วันไหน ช่วงบ่ายๆหลังจากอาหารเที่ยงลองรับประทาน น้ำหวาน น้ำอัดลมไปเรื่อยๆ พอถึงมื้ออาหารเย็น เราอาจรู้สึกอิ่มๆ ไม่ค่อยอยากอาหารได้เช่นกัน

4 เวลากินอาหารควรเป็นบรรยากาศสบายๆ
เหมือนเวลาเราไปเที่ยวชายทะเล วิวดี สบายใจก็มักจะทานอาหารได้มาก
ดังนั้นในมื้ออาหารจึงไม่ควรคาดหวัง เข้มงวด หรือทำให้เด็กรู้สึกเครียด และไม่ควรวิพากษ์ วิจารณ์ปริมาณอาหารที่เด็กกิน

5 ไม่ควรดุว่าลงโทษ แสดงอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ หรือพูดให้เด็กรู้สึกผิด

6 ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเองในการกิน
อันนี้สำคัญมากครับเช่น เด็กอายุ1ปีก็เริ่มจะตักข้าวกินเองได้ โดยเราอาจยอมให้หกเลอะได้บ้าง ไม่ควรป้อน หรือพยายามบังคับให้เด็กกิน อีกวิธีหนึ่งคือการหาอาหารซึ่งเด็กสามารถใช้มือหยิบจับกินเองได้สะดวก เช่น น่องไก่ ข้าวเหนียวปั้น เด็กจะรู้สึกสนุกกับการกินมากขึ้นครับ

7 ตักอาหารน้อยๆ ในถ้วยหรือจานสำหรับเด็ก
ถ้าไม่พอจึงค่อยเติม คุณพ่อคุณแม่บางท่านโลภมาก อยากให้ลูกทานอาหารมากๆ ก็ตักข้าวพูนจาน ยิ่งทำให้ลูกไม่อยากกินอาหารครับ ( แค่เห็นจานข้าวก็ท้อแล้ว )

8 ถ้าเด็กไม่กินหรือเล่นอาหาร ให้เก็บอาหาร
โดยไม่ให้นมหรือขนมอีกเลยจนกว่าจะถึงอาหารมื้อใหม่ ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องตัดใจครับ ก็เห็นใจหัวอกพ่อแม่นะครับ แต่วิธีนี้เท่านั้นที่อาจจะทำให้ลูกกินข้าวได้ ถ้าเด็กหิวก่อนถึงเวลาของมื้อต่อไปก็อนุญาติให้กินอาหารเดิม คือมื้อที่เด็กปฏิเสธไปโดยอาจนำมาอุ่นให้ แต่ห้ามให้นมหรือขนมแทนนะครับ ถ้ามื้อนี้กินน้อย มื้อหน้าเด็กจะกินมากขึ้นเอง เพราะมนุษย์เราทุกคนมีศูนย์ควบคุมการหิวอยู่ที่สมองอย่างที่เรียนท่านผู้อ่านไปแล้ว ดูตัวอย่างเราเราท่านท่านเองก็ได้ สังเกตว่าถ้ามื้อเที่ยงเราทานน้อย หรือไม่ได้ทาน พอถึงมื้อเย็นเราจะ กินได้มากขึ้น เพราะศูนย์หิวทำงานนั่นเอง พอหิวแล้วพบว่าเด็กหลายๆคนเลือกอาหารน้อยลง เดิมไม่กินผักหรือไม่เคี้ยวเนื้อหมูก็เริ่มกินได้

9 ให้เด็กกินอาหารพร้อมผู้ใหญ่
จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากอาหารได้อย่างมากครับ วิธีนี้ไม่ลอง ไม่รู้ครับ คุณพ่อคุณแม่หลายคนแปลกใจ กับการที่ลูกกินอาหารได้มากขึ้น เวลากินร่วมโต๊ะอาหารกับพ่อแม่ บรรยากาศในครอบครัวก็จะดี ขึ้นด้วยครับ ดูดีกว่าภาพที่คุณพ่อคุณแม่วิ่งไล่ป้อน พยายามบังคับให้ลูกกินข้าวเป็นไหนๆ

10 สร้างระเบียบวินัยในการกินให้เด็ก
การกินของเด็กก็มี เรื่องของระเบียบวินัยครับ ไม่ได้หมายถึงลักษณะการกินอาหารแบบนักเรียนนายร้อยกินนะครับ อย่าเข้าใจผิด แต่หมายถึงสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการกินอาหาร ได้แก่
- เริ่มมื้ออาหารบนโต๊ะอาหารเสมอ ไม่ควรลุกออกไป เล่นไปกินไป
ตรงนี้มีข้อผ่อนผันได้บ้างคือเริ่มมื้ออาหารบนโต๊ะก่อน แต่ถ้าเด็กไม่ยอมกิน ลงจากเก้าอี้ไป จะไปเล่น ก็ อนุโลมให้เดินตามไปป้อนได้บ้าง แต่ถ้าลูกเริ่มอมข้าว ป้วนข้าว หรือสะบัดหน้า (ไม่ยอมกิน) 2-3 ครั้งแล้ว ก็ควรเลิกป้อน แล้วเก็บอาหารไป ต้องตัดใจ อย่างที่เคยเรียนท่านผู้อ่านไปแล้ว
- เวลาในการกินอาหารไม่ควรเกิน 20-30นาที
คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเดินตามป้อนข้าวลูกหรือลูกเล่นไปกินไปเป็นชั่วโมง ซึ่งจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่ายการกินอาหาร
- ไม่เปิดโทรทัศน์ขณะกินอาหาร และไม่ควรเล่นของเล่นบนโต๊ะอาหาร เพราะจะดึงความสนใจเด็กจากอาหารที่อยู่ตรงหน้า และจะเกิดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม ปัญหาการเปิดโทรทัศน์ขณะป้อนอาหารลูกนี้พบบ่อยครับ และคุณพ่อคุณแม่บางคนอาจเถียงว่าวิธีทำให้ลูกกินได้มากขึ้นบ้าง แต่ได้ไม่คุ้มเสียหรอกครับ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติตาม10 วิธีที่กล่าวมานี้หมดแล้ว ก็มีคำถามว่าจะได้ผลหมดทุกคนหรือไม่
เท่าที่ผมมีประสบการณ์มา น่าจะได้ผลราวร้อยละ 60-70 ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะผู้เลี้ยงดูทำไม่ได้ตามที่แนะนำ บางคนใจอ่อนเสียก่อน กลับไปใช้วิธีแบบเดิมๆ คุณแม่บางท่านมีความวิตกกังวลสูงมาก ห้ามใจตนเองไม่ได้ บางรายก็ทำไม่นานพอ เช่นทำได้2-3 วัน เห็นว่าลูกไม่ดีขึ้น ยังกินไม่มากขึ้น ก็เลิกล้มกลางคันเสียก่อน อย่าลืมนะครับว่าการปรับเปลื่ยนทุกอย่่างต้องใช้เวลาคล้ายกับการเปลื่ยนนิสัยหรือความเคยชินของคน( ผู้ใหญ่) ก็ยังต้องใช้เวลานาน
แต่ก็มีบางรายครับ ที่ทำตามคำแนะนำที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว เด็กก็ยังไม่ยอมกินข้าว กลุ่มนี้ต้องยอมรับว่ายากจริงๆ ทำยังไง น้ำหนักก็ไม่ขึ้น ตกเกณฑ์ไปตลอดช่วงอายุ 2-6 ปี ทั้งทั้งที่ไม่มีสาเหตุ หรือโรคทางกาย อื่นๆ ก็เหลือวิธีสุดท้าย คือต้องทำใจครับ เรื่องปัญหาการกินของเด็กนั้นจริงๆแล้วก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด ใครไม่เจอเองก็คงจะไม่รู้ แต่ถ้าวิธีเดิมๆที่เคยทำมานานแล้วไม่ได้ผล เช่นบังคับให้กิน หรือเดินตามป้อนเป็นชั่วโมง จะไม่ลองเปลื่ยนวิธีใหม่ดูบ้างหรือครับ

แหล่งที่มา http://www.gotoknow.org