กลิ่นใดไหนเล่าจะหอมเท่ากลิ่นความดี

กลิ่นใดไหนเล่าจะหอมเท่ากลิ่นความดี


เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ผม (ศาสตราจารย์ระพี สาคริก) ได้รับเชิญให้เดินทางไปพูดที่งานประชุมพืชสวนโลกที่ประเทศญี่ปุ่น ในหัวข้อ Man and Nature ครั้งนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิประทับฟังอยู่ด้วย ใจความสำคัญที่ผมพูดกับทุกท่านในที่นั้นมีอยู่ว่า

“ผมปลูกกล้วยไม้ต้นนี้ (ชี้ที่ตนเอง) ตั้งแต่ยังจำความได้ เฝ้ารดน้ำบำรุงรักษา จนกระทั่งออกดอกให้คนทั้งโลกได้ชื่นชมสมใจ แต่กล้วยไม้ที่ผมปลูกเป็นคนละพันธุ์กับที่ท่านปลูก พันธุ์ที่ท่านปลูกนั้น ออกดอกมาสวยแค่ไหนก็ต้องโรย แต่พันธุ์นี้ดอกไม่โรย นอกจากดอกไม้ไม่โรยแล้วยังสืบต่อไปให้คนรุ่นหลังได้อีก เพราะฉะนั้นผมของตั้งชื่อกล้วยไม้พันธุ์ใหม่นี้ว่า ความรักในเพื่อนมนุษย์”

เพราะสิ่งที่ผมทำมาจนถึงปีที่ ๘๗ ของชีวิต จริงๆ แล้วไม่ใช่การปลูก กล้วยไม้ แต่ผมปลูกคุณธรรมต่างหาก

กลิ่นของคุณธรรมหรือกลิ่นของความดีงาม มีความหอมกว่าดอกไม้ชนิดไหนๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังหอมทน หอมไกล และหอมนานอย่างยิ่ง

หากจะถามว่าความดีทำยากหรือง่าย ก็ต้องดูว่าตัวเราเองเป็นคนเช่นไร เพราะที่จริงแล้ว ความยากหรือง่ายไม่มีในโลกแห่งความจริง กล่าวคือ หากคิดว่ายาก เราก็ไม่อยากทำ หากคิดว่าง่าย เราก็ประมาท แต่ถ้าตั้งหลักคิดว่า ไม่ว่ายากหรือง่าย เราจะใช้ความวิริยะอุตสาหะคิดค้นหาวิธีการทำมันจนสำเร็จให้จงได้ เราก็จะมีอิสระ และอันที่จริง คนเราถ้าไม่เจอความยาก จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ความยากจึงมีคุณกับชีวิตมากทีเดียว

เป็นโชคดีของผมที่ได้เรียน วิชาลำบาก จากพ่อ (ขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตริยสมุห-เนื่อง สาคริก) ตั้งแต่เล็ก พ่อเป็นคนที่ไม่เหมือนใคร พ่อคนอื่นถ้าตัวลำบาก ก็ไม่อยากให้ลูกลำบาก จะพยายามทำทุกอย่างให้ลูกสบาย แต่พ่อผมนี่ตรงกันข้าม พ่อลำบากมาอย่างไร กลับเลี้ยงลูกให้ลำบากยิ่งกว่านั้น

พ่อ ลูกกับแม่ (นางสนิท ภมรสูตร) ๕ คน เป็นผู้ชายทั้งหมด ผมเป็นคนโต พ่ออยากเลี้ยงให้ผมเป็นคนแกร่ง เพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่น้องๆ จึงฝากผมเข้าโรงเรียนประจำ ตั้งแต่อายุเพียง ๗ ขวบ ขณะนั้นโรงเรียนใช้ระบบพี่ปกครองน้อง นักเรียนโตๆ มักรังแกนักเรียนรุ่นเล็กกว่าตามใจชอบ นักเรียนรุ่นเล็กสุดอย่างผม บางครั้งจึงต้องอดๆอยากๆ แม้จะร้องเรียนครู ก็ไม่ได้ผล

หนึ่งปีถัดมา พ่อนำผมไปฝากไว้กับครูของพ่อคนหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมต้องเผชิญชีวิตที่ยากลำบากกว่าเดิม เพราะต้องทำงานหนักเพื่อแลกกับที่พักอาศัย ตอนเช้าต้องตื่นแต่มืดเพื่อตักน้ำใส่โอ่งใหญ่ๆ ให้เต็มสามโอ่ง จากนั้นยังต้องกวาดถูบ้านไม้สองชั้น โดยไม่เปิดไฟ เสร็จงานแล้วจึงอาบน้ำแต่งตัวเตรียมไปโรงเรียน และเมื่ออยู่ที่โรงเรียน บางวันผมต้องคุ้ยหาเศษอาหารในถังขยะเพื่อนำมาบริโภค แม้กระทั่งเศษอาหารที่ติดใบตองก็เคยเก็บมากินเพื่อบรรเทาความหิวโหย

แม้ว่าจะมีชีวิตที่ลำบากยากแค้นเช่นนี้ ผมก็ไม่เคยรู้สึกโกรธเคือง กลับจะยิ่งขอบคุณท่านเหล่านั้นโดยเฉพาะพ่อ เพราะพ่อได้ให้เคล็ดลับในการดำเนินชีวิตที่สำคัญ นั่นคือ คนเราต้องมีความสุขในความทุกข์ของตัวเองให้ได้

หากเราสามารถทำได้เช่นนี้ แม้ว่าภายภาคหน้าจะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมายเพียงใด เราก็จะรักษาความดีงามที่อยู่ในรากฐานเดิมของตัวเราเองไว้ได้ ทั้งนี้เพราะโลกภายนอกเป็นที่ที่เรามาอาศัยเพียงประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น ไม่นานเราก็ต้องจากไป โลกใบจริงอยู่ที่ใจของเราเองต่างหาก

แม้แต่คนที่ว่าร้ายยิ่งกว่าเสือ ผมก็ยังมองว่าเขาทำคุณให้ผมยิ่งกว่าคนที่ชื่นชมผมเสียอีก เวลาที่มีคนร้ายต่อเรา แล้วเราไม่โกรธตอบ ได้แต่ตั้งหน้าทำความดี ทำในสิ่งที่คนทั้งผองได้รับประโยชน์ วันหนึ่งข้างหน้า เขาก็จะกลับมาดีกับเรา หรือเมื่อเราเอาชนะใจตัวเองได้แล้ว ก็จะสามารถชนะใจผู้อื่นได้นั่นเอง

เรื่องที่เล่ามานี้ ผมได้เห็นข้อพิสูจน์มาแล้วทั้งสิ้น ยกตัวอย่างในเรื่องกล้วยไม้ กว่าที่ผมจะทำให้กล้วยไม้งอกงามแพร่หลายในเมืองไทย ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมานับไม่ถ้วน

สมัยที่เริ่มปลูกกล้วยไม้ตรงกับช่วงพุทธศักราช ๒๔๐๙ กว่า ๆ คนไทยที่เล่นกล้วยไม้มักจะเป็นคหบดีหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งสูงๆเท่านั้น คนเหล่านี้มักนำกล้วยไม้มาเป็นเครื่องกีดกันคนจนและผู้เยาว์ ขัดขวางไม่ให้เกิดตลาดกล้วยไม้ ส่วนชาวบ้านบางกลุ่มก็มีพฤติกรรมชอบเก็บกล้วยไม้ป่าซึ่งเป็นสมบัติติดพื้นดินของชาติส่งมายังกรุงเทพฯ จากนั้นพ่อค้ากล้วยไม้ก็จะจัดส่งต่อไปให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะส่งไปยังฮาวาย ซึ่งนำกล้วยไม้ป่าของไทยเข้าระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม คือนำไปผสมแล้วส่งกลับมาขายคนไทยอีกต่อหนึ่ง ทำให้ประเทศไทยต้องตกเป็นทาสเงินตราของต่างประเทศ

ผมจึงตั้งปณิธานไว้ว่า “จะกู้อิสรภาพทางเศรษฐกิจให้แผ่นดินเกิดในเรื่องนี้ โดยใช้กล้วยไม้เป็นเครื่องมือ หากทำสำเร็จ ก็จะได้ความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้กู้อิสรภาพทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรไทยที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับพืชผลชนิดอื่นๆ อีกหลายอย่าง”

แน่นอนว่าผมต้องเผชิญกับคนที่ต่อว่าและทำร้ายทั้งต่อหน้าและลับหลัง เพราะถ้าผมทำสำเร็จ เมืองไทยกลายเป็นตลาดกล้วยไม้ คนบางกลุ่มจะเสียผลประโยชน์มหาศาล แต่ผมไม่ย่อท้อ ไม่กล่าวโทษคนเหล่านั้น แต่ได้พยายามทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ พยายามสู้กับกิเลส ความโลภ โกรธ หลงในจิตใจ ในเวลาเพียงสิบปีเศษ ผลงานก็ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติ และทำให้ผมได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดากล้วยไม้ของไทยจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี คนที่มาเยี่ยมเยือนผมที่บ้านมักคิดว่า อาจารย์ระพี ต้องปลูกกล้วยไม้ไว้มากมายแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วตรงกันข้าม เพราะผมเก็บกล้วยไม้ไว้ที่บ้านเพียงเล็กน้อย วันใดที่ผมอยากชมดอกกล้วยไม้งามๆ ได้สูดกลิ่นหอมหวานของดอกไม้ชนิดนี้ ผมก็จะได้ดูกล้วยไม้ที่คนอื่นปลูกไว้