พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธเทวปฏิมากร
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ


“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”
หรือที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดโพธิ์”
ถือเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลในรัชกาลที่ ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงสถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่จากวัดโบราณเก่าแก่ที่มีอยู่เดิม
โดยนับเป็นวัดที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างราชธานี

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย
เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน
เป็นมรดกความทรงจำโลก (Memory of the World) เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๑

ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ ๙๙ องค์
พระเจดีย์ที่สำคัญคือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงเป็นเหตุให้เรียกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ว่า ‘อาณาจักรแห่งเจดีย์’


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔
ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ ๒๔ ของโลก
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง ๘,๑๕๕,๐๐๐ คน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
โดยเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่างๆ
จารึกลงบนศิลาจารึกหรือแผ่นศิลา รวมทั้งได้ปั้นฤๅษีดัดตน ประดับไว้ภายในบริเวณวัด

ในศิลาจารึกทั้งหมดอาจจะแบ่งความรู้ต่างๆ ออกได้เป็น ๘ หมวด ได้แก่
หมวดประวัติการสร้างวัดพระเชตุพนฯ, หมวดตำรายาแพทย์แผนโบราณ,
หมวดอนามัย, หมวดประเพณี, หมวดวรรณคดีไทย, หมวดสุภาษิต, หมวดทำเนียบ
(จารึกหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) และหมวดพระพุทธศาสนา

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นับเป็นวัดสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์วัดหนึ่ง
“พระพุทธเทวปฏิมากร” พระประธานในพระอุโบสถ ก็เช่นเดียวกัน


พระพุทธเทวปฏิมากร นามอันมีความหมายว่า เทวดามาสร้างไว้
เนื่องด้วยเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่งสมกับชื่อ
เป็นพระพุทธรูปโบราณ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

ที่ใต้ฐานชุกชีพระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่อไว้ ๓ ชั้นนั้น
ในชั้นที่ ๑ ได้บรรจุพระบรมอัฐิ (บางส่วน)
และพระบรมราชสรีรางคารของบุรพกษัตริย์รัชกาลที่ ๑ ไว้ด้วย


มีหลักฐานปรากฏใน ‘ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ’ ไว้ว่า

เดิมพระพุทธเทวปฏิมากรประดิษฐานอยู่ ณ วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดโพธาราม
ให้เป็นวัดใหญ่สำหรับพระนคร และได้ทรงขนานนามใหม่ว่า
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ได้ทรงเลือกหาพระพุทธรูป
ที่มีพุทธลักษณะงามสมควรเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัด
จึงได้พบและเลือกพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์)
ดังกล่าว

ครั้งนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ถวายพระนามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร”

ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระอุโบสถเก่า ซึ่งสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑
ลงทั้งสิ้น แล้วทรงสร้างขึ้นใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเก่า

ส่วนฐานพระพุทธเทวปฏิมากรนั้นรื้อของเก่าทำขึ้นใหม่ขยายเป็น ๓ ชั้น
พระสาวกเดิมมี ๒ องค์ ทรงสร้างขึ้นใหม่อีก ๘ องค์
รวมเป็นพระสาวก ๑๐ องค์ ดังที่ปรากฏอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
มีพระราชดำริถึงพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ซึ่งพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลนั้นได้รับพระราชทานไปกระทำสักการบูชา
เมื่อเจ้านายพระองค์นั้นๆ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีใครพิทักษ์รักษา
ได้เชิญมาเป็นของหลวง มีอยู่ควรจะประดิษฐานไว้ให้มหาชน
ได้กระทำสักการบูชาโดยสะดวก จึงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมอัฐิ
ในกล่องศิลา แล้วเชิญมาบรรจุไว้ในพุทธอาศน์พระพุทธเทวปฏิมากร
และยังมีคำที่เล่าสืบกันมาว่าถึงพระอุณาโลมพระพุทธเทวปฏิมากรนั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้โปรดให้สร้างถวายในครั้งนั้นด้วย

อนึ่ง พระพุทธเทวปฏิมากรพระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จะทรงเคารพนับถือว่าเป็นเจดีย์สถานสำคัญแห่งหนึ่งมาช้านานแล้ว
เพราะปรากฏในจดหมายเหตุว่า เมื่อได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเสร็จแล้ว
ได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารค
เมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๗๙

ครั้งนั้น จึงได้เสด็จประทับพระอุโบสถทรงกระทำสักการบูชา
พระพุทธเทวปฏิมากรเป็นปฐม เรื่องนี้เลยเป็นพระราชประเพณีตั้งแต่นั้นสืบมา
คือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารคนั้น
ย่อมเสด็จประทับ ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ทรงกระทำสักการบูชาพระพุทธเทวปฏิมากรสืบมาทุกรัชกาล


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔






พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธไสยาส หรือ ‘พระนอน’
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

พระวิหารพระพุทธไสยาส หรือ พระวิหารพระนอน
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
ภายในประดิษฐาน “พระพุทธไสยาส” หรือ “พระนอน”
ขนาดองค์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย
ซึ่งเป็นพระพุทธไสยาสที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้น โดยสร้างองค์พระขึ้นก่อนแล้วจึงสร้างพระวิหารครอบในภายหลัง

“พระพุทธไสยาส” หรือ “พระนอน” วัดโพธิ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น
พระพุทธไสยาสที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอันดับต้นๆ แห่งสยามประเทศ
มีขนาดความยาวถึง ๔๖ เมตรด้วยกัน ดำเนินการสร้างโดยช่างสิบหมู่หลวง
และมีหลวงพระองค์เจ้าลดาวัลย์ (กรมหมื่นภูมินทรภักดี) เป็นผู้กำกับดูแลการก่อสร้าง
เชื่อกันว่าเป็นปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองเหลืองอร่ามทั้งองค์
ในขณะที่พระพักตร์อิ่มเอิบ ดูขรึมขลังงดงามสมส่วน เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธายิ่งนัก

ลักษณะพระพุทธไสยาสโดยทั่วๆ ไป มีลักษณะบรรทมตะแคงขวา
พระบาทขวาเลื่อมพระบาทซ้าย แต่พระพุทธไสยาสวัดโพธิ์นั้น
มีความแตกต่างออกไปเป็นเอกลักษณ์พิเศษ
คือ พระบาททั้งซ้ายและขวานั้นซ้อนเสมอกัน
อาจเป็นความตั้งใจของช่างสิบหมู่หลวงผู้สร้างที่ตั้งใจจะแสดงลวดลาย
ลักษณะเป็น ภาพมงคล ๑๐๘ ประการ บนฝ่าพื้นพระบาททั้งสองก็เป็นได้


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

ที่น่าทึ่งคือ ลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการ

ที่งดงามโดดเด่นอย่างยิ่งบนฝ่าพื้นพระบาททั้งสองข้าง
ซึ่งเป็นลายศิลปะไทยกับจีนผสมผสานกันกลมกลืนลงตัวอย่างประณีตศิลป์
หากพิจารณาแล้ว ภาพมงคล ๑๐๘ ประการ และลวดลายภูเขาต่างๆ
ในป่าหิมพานต์ เป็นคติแบบไทยที่รับมาจากชมพูทวีป
ส่วน ภาพนก หงส์ ภูเขา เมฆ ฯลฯ รวมทั้งแนวคิดเรื่องฮวงจุ้ยเป็นคติแบบจีน

อนึ่ง การประดับลวดลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการไว้ที่ฝ่าพระบาทนั้น
เป็นไปตามคติอินเดียโบราณที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพุทธลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง
คือ ฝ่าพระบาทมีลายมงคล ๑๐๘ ประการ ได้แก่ ปราสาท หอยสังข์ ช้าง แก้ว
นก หงส์ ภูเขา เมฆ ฯลฯ ตรงกลางเป็นรูปกงจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ
แสดงถึงพระบุญญาบารมีอันแรงกล้า ซึ่งหากเป็นพระพุทธรูปปางอื่นๆ
จะมองไม่เห็น ยกเว้นพระพุทธรูปปางไสยาสน์
ทำให้ช่างผู้สร้างบรรจงประดับลวดลายอันวิจิตรไว้อย่างเต็มที่


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด  o๔





เครดิต : http://www.dhammajak.net
http://www.baanmaha.com