พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก
พระประธานในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

พระประธานในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
อันเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

มีนามว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก”
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชทานนามให้

พระประธานในพระอุโบสถ องค์นี้ มีเรื่องเล่าขานกันว่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอกคืบหรือ ๑.๗๕ เมตร ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
ประดิษฐานเหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชี พระพุทธรูปองค์นี้เดิมยังไม่มีพระนาม
เบื้องพระพักตร์มี รูปหล่อพระอัครสาวก ๒ องค์ หันหน้าเข้าหาองค์พระประธาน
ระหว่างกลางรูปหล่อพระอัครสาวก ๒ องค์นั้น มี พัดยศพระประธาน (พัดแฉกใหญ่)

ตั้งอยู่เช่นเดียวกับ “พระพุทธเทวปฏิมากร” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงอัญเชิญ
พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
มาประดิษฐานบรรจุไว้ที่ ‘ผ้าทิพย์’ ซึ่งประดับด้วยลายพระราชลัญจกรเป็นรูปครุฑจับนาค
ตรง ใบพัดยศพระประธาน ในบริเวณ พระพุทธอาสน์ ของพระประธานในพระอุโบสถ
แล้วถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก”


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้ทรงสันนิษฐานเกี่ยวกับ พัดยศพระประธาน ดังกล่าวนี้ไว้ว่า

นึกได้ว่าในเรื่องพุทธประวัติ มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง
ดูเหมือนจะเป็นพระเจ้าปเสนทิ ได้ทำพัดงาถวายพระพุทธองค์
สำหรับทรงถือในเวลาประทานพระธรรมเทศนา
เรื่องนั้นพวกสร้างพระพุทธรูปได้เอาเป็นคติ
ทำพระพุทธรูปปางหนึ่งทรงถือพัด มีมาแต่โบราณ ยกตัวอย่างดังเช่น
พระชัยนวรัฐ ที่เจ้าเชียงใหม่ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เป็นต้น
แลยังมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานอีกหลายองค์ แต่ชั้นเก่าทำพัดเป็นรูปกลมหรือรูปไข่
เช่น รูปพัดงาสาน พระชัยของหลวงสร้างประจำรัชกาล ก็คงมาแต่พระปางนั้น
เป็นแต่แก้รูปพัดเป็นพัดแฉก คงเป็นแบบพระชัยหลวง มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

จึงทรงสร้างพระชัยประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นปางทรงถือพัดแฉก
ยังมีคติเนื่องกับพระพุทธรูปปางถือพัดต่อไปอีกอย่างหนึ่ง
ที่พระเจ้าแผ่นดินถวายพัดแฉกเป็นพุทธบูชา
ตั้งไว้บานฐานชุกชีข้างหน้าพระประธานในพระอารามหลวง
เคยเห็นที่วัดอรุณ วัดราชบุรณะ และทำเป็นพัดแฉกขนาดใหญ่
ถวายพระพุทธเทวปฏิมากรวัดพระเชตุพน ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้”

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

สำหรับ พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหารนั้น
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญ
ที่มีความสวยงามยิ่งชิ้นหนึ่งของฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ ๒
เป็นพระอุโบสถยกพื้นสูง หลังคาลด ๒ ชั้น
มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีทองและสีเขียวใบไม้
ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก
หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังสลักด้วยไม้ลงรักปิดทอง
เป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์ประทับในปราสาท
เป็นไม้แกะ มีสังข์ และคันโทน้ำวางอยู่บนพานข้างสะพาน
ประดับลายกระหนก ชื่อว่า ช่อกระหนกหางโต ลงรักปิดทอง
ตัวพระอุโบสถมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
มีเสาใหญ่รับเชิงชายทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีชานเดินได้
พื้นหน้ามุขและพื้นรอบพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อน บันได เสาบันไดเป็นหินทราย
ระหว่างเสาใหญ่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีกำแพงเตี้ยๆ ประดับด้วย
หินสลักรูปดอกไม้ ใบไม้ ที่หุ้มกลองด้านหน้าอยู่ระหว่างประตูทั้ง ๒ ข้าง

มีบุษบกที่สร้างไว้ระหว่างประตูด้านหน้าทั้งสองข้างของพระอุโบสถ
ซึ่งเป็น บุษบกยอดปรางค์ จำหลักลายวิจิตร ปิดทองประดับกระจก
ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป นามว่า ‘พระพุทธนฤมิตร’
เป็นพระพุทธรูปยืน ปางห้ามสมุทร (ยกพระกรทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ)
ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์
(พระพุทธรูปเท่าพระองค์ของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์)
ที่สร้างขึ้นเฉพาะพระพุทธรูปยืน ปางห้ามสมุทรนี้เท่านั้น
พระพุทธนฤมิตรนี้เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในรัชกาลที่ ๒
ที่หุ้มกลองด้านหลังระหว่างประตูทั้ง ๒ ข้างเหมือนกัน
บุษบกยอดปรางค์มีพาน ๒ ชั้น ลงรักปิดทอง มีพุ่มเทียนตั้งอยู่
ผนังด้านนอกถือปูนประดับกระเบื้องจีนลายดอกไม้ร่วง
บัวหัวเสาและบัวเชิงเสาลงรักปิดทองประดับกระจก
หน้าต่างทั้งหมดมี ๑๔ ช่อง ด้านเหนือ ๗ ช่อง ด้านใต้ ๗ ช่อง
บานหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำซ่อมใหม่ ด้านในเป็นภาพต้นไม้

จึงถือว่าวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้ เป็นวัดที่มีความผูกพันกับ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มากที่สุด
ซึ่งปัจจุบันก็มี พระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ ๒
ของพระองค์ท่านตั้งอยู่บริเวณด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน
ซึ่งฝีมืองดงามยิ่งนัก เป็นภาพพระพุทธประวัติ เช่น ภาพผจญมาร
และภาพในชาดก เช่น เวสสันดรชาดก เป็นต้น

นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังมี ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
ฝีมือของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู
ที่เคยฝากฝีมือไว้ที่วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย ไว้ด้วยเช่นกัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๑๑
การปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในรัชกาลนี้ควรนับได้ว่าเป็นการใหญ่
เพราะได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมดเกือบทั้งวัด
เริ่มต้นจากพระวิหารที่กำลังชำรุดทรุดโทรม
และบุษบกที่มุขหน้าและมุขหลังของพระอุโบสถที่ค้างไว้


ปีมะแม วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๘ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา
ได้เกิดอัคคีภัยไหม้พระอุโบสถ สาเหตุเกิดจากลูกไฟปลิวมาจาก
โรงถ่านที่อยู่เหนือคลองนครบาล หรือคลองวัดแจ้ง
ตึกกุฏิสงฆ์ริมคลองลุกไหม้ขึ้นก่อน แล้วเปลวไฟปลิวมาไหม้พระอุโบสถ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้รีบเสด็จพระราชดำเนินมาอำนวยการดับเพลิงด้วยพระองค์เอง
และอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช ออกไปได้ทัน
ในการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ พระอุโบสถได้รับความเสียหายมาก
เพลิงไหม้หลังคาพระอุโบสถจนหมด
และทำให้ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเสียหายไปบ้าง

จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมดให้คืนดีดังเดิม
โดยได้โปรดให้ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เป็นแม่กองในการบูรณะ
ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างใหม่ ตลอดจนเขียนภาพผนังด้านใน
และปฏิสังขรณ์พระระเบียงรอบพระอุโบสถ กับถาวรวัตถุอื่นๆ
ที่ควรปฏิสังขรณ์ด้วย สิ้นพระราชทรัพย์ครั้งนี้เป็นเงิน ๑๒,๘๐๐ บาท
ซึ่งพระบรมวงศ์ฝ่ายในได้ทรงร่วมบริจาคทรัพย์เป็นเงิน ๒๔,๐๐๐ บาท
เพื่อการปฏิสังขรณ์และสถาปนาถาวรวัตถุภายในวัด
และโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์
ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่าด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่
เป็นตึกใหญ่ แล้วพระราชทานนามว่า “โรงเรียนทวีธาภิเศก”

นอกจากนั้นยังได้โปรดให้ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล)
เป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์องค์ใหญ่
และบริเวณทั่วไปตามของเดิม แก้ไขเพิ่มเติมบางอย่างตามที่ควรจะแก้
การปฏิสังขรณ์พระปรางค์ได้เริ่มแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๑
และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองพระปรางค์ร่วมกับ
งานฉลองพระไชยนวรัฐ และงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล
คือมีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รวม ๓ งานพร้อมกัน ซึ่งทั้ง ๓ งานนี้เป็นงานใหญ่ รวมเวลา ๙ วัน
ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๒-๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๒

ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน
ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายอย่าง
โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่
มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์
ในวันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐
และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้

พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ไม่มี กำแพงแก้ว
แต่มี พระวิหารคด (พระระเบียงคด) ล้อมรอบ
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ ๒ เช่นกัน ภายในพระวิหารคด (พระระเบียงคด)
มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่โดยรอบถึง ๑๒๐ องค์

บริเวณรอบๆ พระอุโบสถนั้น มี ตุ๊กตาหินจีน ขนาดเล็กตั้งเรียงราย
อยู่เต็มไปหมด นับตั้งแต่ระหว่างซุ้มเสมายอดมณฑปทั้ง ๘ ซุ้ม
ก็มี สิงโตหินจีน ตัวเล็กตั้งอยู่บนแท่นเรียงกัน
เว้นไว้แต่ตรงช่องบันไดทางขึ้นพระอุโบสถเท่านั้น
และด้านหน้าบริเวณลานพระระเบียงคดที่ล้อมรอบอุโบสถนั้น
ก็มีตุ๊กตาหินจีนเป็นรูปคน แต่งกายในชุดแบบจีน
ยืนอยู่ในลักษณะต่างๆ กันเรียงเป็นแถวครบทั้งสี่ด้าน

นอกจากนี้ที่มุมพระอุโบสถทั้ง ๔ มุมยังมี พระเจดีย์หินแบบจีน
แต่มียอดเป็นปล้องๆ คล้ายปล้องไฉนของไทย
มีผู้วิเศษจีนแปดรูป หรือที่เรียกว่า โป๊ยเซียน
ตั้งอยู่ในซุ้มคูหาขององค์พระเจดีย์หินแบบจีนนั้นทั้ง ๘ ทิศด้วยกัน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร
พระประธานในพระวิหาร วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

“พระวิหาร” วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
อันเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ตั้งอยู่ระหว่างมณฑปพระพุทธบาทจำลองกับหมู่กุฏิคณะ ๑
สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เช่นกัน
เป็นพระวิหารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น
มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันสลักด้วยไม้มีรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่บนแท่น
ประดับด้วยลายกระหนก ลงรักปิดทองประดับกระจก
มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู
ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งกระบวนไทย
เป็นกระเบื้องที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทรงสั่งมาจากเมืองจีนเพื่อใช้ประดับผนังด้านนอกพระอุโบสถ
แต่ไม่งามพระราชหฤทัย จึงทรงโปรดให้เอามาประดับผนังด้านนอกพระวิหารนี้

ด้านนอกของประตูและหน้าต่างทั้ง ๑๔ ช่อง ทำขึ้นใหม่ เป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้
ผนังด้านใน เดิมคงมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพราะเสาสี่เหลี่ยมข้างใน
และเรือนแก้วหลังพระประธานและบนบานประตูและหน้าต่างด้านใน
ยังมีภาพสีปรากฏอยู่ แต่ปัจจุบันผนังได้ฉาบด้วยน้ำปูนสีเหลืองเสียหมดแล้ว
ยังเห็นเป็นรอยเลือนลางได้บางแห่ง แต่น้อยเต็มที
ปัจจุบันได้ใช้พระวิหารหลังนี้เป็น ศาลาการเปรียญ ของวัดด้วย


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
พระประธานในพระวิหาร มีนามว่า
“พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร”
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทอง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้หล่อขึ้นในคราวเดียวกันกับ “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์”
พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศเทพวราราม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๖
ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์บรรจุอยู่ในโกศ ๓ ชั้น อยู่ในพระเศียร

ที่ฐานชุกชีด้านหน้า พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร
ได้ประดิษฐาน “พระอรุณ” หรือ “พระแจ้ง” พระพุทธรูปปางมารวิชัย
หล่อด้วยสำริด ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร
ซึ่งองค์พระพุทธรูปและผ้าทรงครองได้หล่อด้วยทองต่างสีกัน

ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๑ ในสมัย รัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้อัญเชิญพระอรุณหรือพระแจ้งมาจากเมืองเวียงจันทน์
โดยมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญมาประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง
แต่ภายหลังพระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะย้ายพระอรุณหรือพระแจ้ง
มาประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม แทน ด้วยเหตุที่นามพระพุทธรูปพ้องกับชื่อวัด
ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔
เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๒๐ (พุทธศักราช ๒๔๐๑) ความตอนหนึ่งว่า

“...ยังมีพระที่มีชื่อเอามาแต่เมืองเวียงจันทน์อีกสองพระองค์
พระอินแปลงน่าตัก ๒ ศอกเศษ พระอรุณน่าตักศอกเศษ...พระอรุณนั้น
ฉันคิดว่าจะเชิญลงมาไว้ในพระวิหารวัดอรุณ เพราะชื่อวัดกับชื่อพระต้องกัน
สมควรแต่จะให้จัดแจงที่ฐานเสียให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะเชิญลงมาต่อน่าน้ำ...”


จากพระราชดำริดังกล่าว ในเวลาต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ
พระอรุณหรือพระแจ้งมาประดิษฐานในพระวิหารวัดอรุณราชวราราม
โดยโปรดให้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระพุทธชัมภูนุทฯ
ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหาร นับแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี ในวันที่ ๑๒ เมษายน
วัดอรุณราชวรารามจะอัญเชิญพระอรุณองค์จำลองแห่เวียน
ตั้งแต่ถนนอรุณอมรินทร์ไปจนถึงถนนอิสรภาพ
และในวันที่ ๑๓ เมษายน จะอัญเชิญพระอรุณองค์จำลอง
ออกมาให้ประชาชนสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปี


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
วัดประจำรัชกาลที่ ๒
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


๏ ประวัติของวัดอรุณราชวราราม
๏ ศาสนสถานและศาสนวัตถุอันงดงามล้ำค่า
• พระปรางค์ใหญ่
• พระปรางค์ทิศและพระมณฑปทิศ
• พระอุโบสถ
• พระประธานในพระอุโบสถ
• ประตูซุ้มยอดมงกุฎ
• พระวิหาร
• พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๒
• พระวิหารคด (พระระเบียงคด)
• มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
• พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ๔ องค์
• ซุ้มเสมายอดมณฑป
• หอไตร
• โบสถ์น้อย
• ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน
• ภูเขาจำลอง
• อนุสาวรีย์ธรรมเจดีย์
• ตุ๊กตาหินจีน
• งานเทศกาลวัดอรุณ ร.ศ.๑๐๐



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

๏ ประวัติของวัดอรุณราชวราราม

วัดประจำรัชกาลที่ ๑ ถึง ๓...วัดเก่า ทำใหม่

วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
คือ “วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดแจ้ง”
เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ ๑
ที่ประทับของท่านจะอยู่ที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และวัดที่อยู่ใกล้กับ
พระราชวังเดิมที่สุดก็คือวัดอรุณราชวราราม พระองค์ท่านจึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ และยังได้ทรงลงมือปั้นหุ่นพระพักตร์
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก”
พระประธานในพระอุโบสถ ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกด้วย
และเมื่อพระองค์ท่านทรงเสด็จสวรรคต พระบรมอัฐิของพระองค์
ก็ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก
ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างวัดในสมัยโบราณ
ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏมีเพียงว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
มีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศักราช ๒๑๙๙-๒๒๓๑)
เพราะมีแผนที่เมืองธนบุรีซึ่ง เรือเอก เดอ ฟอร์บัง (Claude de Forbin)
กับ นายช่าง เดอ ลามาร์ (de Lamare) ชาวฝรั่งเศส
ทำขึ้นไว้เป็นหลักฐานในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังมีพระอุโบสถและพระวิหารของเก่าที่ตั้งอยู่ ณ
บริเวณหน้าพระปรางค์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
มูลเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้แต่เดิมว่า “วัดมะกอก” นั้น ตามทางสันนิษฐานเข้าใจว่า
คงจะเรียกคล้อยตามชื่อตำบลที่ตั้งวัด ซึ่งสมัยนั้นมีชื่อว่า ‘ตำบลบางมะกอก’
(เมื่อนำชื่อ ‘ตำบลบางมะกอก’ มาเรียกรวมกับคำว่า ‘วัด’ ในตอนแรกๆ คงเรียกว่า
‘วัดบางมะกอก’ ภายหลังเสียงหดลงคงเรียกสั้นๆ ว่า ‘วัดมะกอก’)

ตามคติการเรียกชื่อวัดของไทยในสมัยโบราณ
เพราะชื่อวัดที่แท้จริงมักจะไม่มี จึงเรียกชื่อวัดตามชื่อตำบลที่ตั้ง
ต่อมาเมื่อได้มีการสร้างวัดขึ้นใหม่อีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันนี้
แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกชื่อวัดที่สร้างใหม่
ว่า “วัดมะกอกใน” (ในปัจจุบันคือ วัดนวลนรดิศวรวิหาร)
แล้วเลยเรียก ‘วัดมะกอก’ เดิม ซึ่งอยู่ตอนปากคลองบางกอกใหญ่
ว่า “วัดมะกอกนอก” เพื่อให้ทราบว่าเป็นคนละวัดกัน

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานี
มาตั้ง ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้า
‘วัดมะกอกนอก’ แห่งนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอก
เป็น ‘วัดแจ้ง’ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง


เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยา
มาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ และได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่
มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตกเข้ามาอยู่กลางพระราชวัง
จึงโปรดไม่ให้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา
การที่เอาวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวังนั้น
คงจะทรงถือแบบอย่างพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ที่มีวัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในพระราชวัง
การปฏิสังขรณ์วัดเท่าที่ปรากฏอยู่ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร
ก็คือ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และพระวิหารหลังเก่าที่อยู่หน้าพระปรางค์
กับโปรดให้สร้างกำแพงพระราชวังโอบล้อมวัด
เพื่อให้สมกับที่เป็นวัดภายในพระราชวัง แต่ไม่ปรากฏรายการว่า
ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์หรือก่อสร้างสิ่งใดขึ้นบ้าง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง
เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง
ซึ่ง สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก
(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑)
ไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๑๔๑ (พ.ศ.๒๓๒๒)
แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์คือ พระแก้วมรกตและพระบาง
ลงมากรุงธนบุรีด้วย และมีการสมโภชเป็นเวลา ๒ เดือน ๑๒ วัน
จนกระทั่งถึงวันวิสาขปุณณมี วันเพ็ญกลางเดือน ๖ ปีชวด โทศก
จุลศักราช ๑๑๔๒ (พุทธศักราช ๒๓๒๓) โปรดเกล้าฯ
ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป
ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถเก่าและพระวิหารเก่า หน้าพระปรางค์
อยู่ในระยะกึ่งกลางพอดี มีการจัดงานสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วันด้วยกัน


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก
ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก
ด้วยเหตุนี้วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป
พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง
โดยนิมนต์ พระโพธิวงศาจารย์ จากวัดบางหญ้าใหญ่
(วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ) มาครองวัด พร้อมทั้ง
พระศรีสมโพธิและพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งมาเป็นพระอันดับ

นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒)
เป็นผู้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง
แต่การปฏิสังขรณ์คงสำเร็จเพียงกุฏิสงฆ์ ส่วนพระอุโบสถและพระวิหาร
ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ เสียก่อน
(เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน
ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
ส่วนพระบางนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้โปรดพระราชทานคืนไปยังนครเวียงจันทร์ ประเทศลาว)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
ต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ ๒
พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ
มีการจัดงานสมโภชใหญ่ถึง ๗ วัน ๗ คืน
แล้วโปรดพระราชทานพระนามวัดว่า ‘วัดอรุณราชธาราม’

ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรด
ให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้นด้วย
ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว
แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ.๒๓๙๔

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ.๒๓๙๔
พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ในวัดอรุณฯ
เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง อีกทั้งยังได้อัญเชิญ
พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
มาบรรจุไว้ที่ พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ
ที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า ‘พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก’
และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว
จึงได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า
‘วัดอรุณราชวราราม’ ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
๏ ศาสนสถานและศาสนวัตถุอันงดงามล้ำค่า

สิ่งสำคัญที่น่าสนใจในวัดอรุณราชวรารามนั้น มีมากมายนับตั้งแต่

• พระปรางค์ใหญ่

พระปรางค์ใหญ่วัดอรุณราชวราราม เป็น พระเจดีย์ทรงปรางค์
ซึ่งดัดแปลงมาจากพระปรางค์ แต่เดิมเป็นสถาปัตยกรรม
ที่สร้างขึ้นเพื่อสักการบูชาในศาสนาพราหมณ์และฮินดู
แต่สำหรับพระปรางค์ใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างสืบเนื่องมาจาก
ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาผสมผสานไปกับศิลปกรรมแบบฮินดู
วัตถุประสงค์หลักนั้นสร้างด้วยความศรัทธาในคตินิยมของพุทธศาสนา
จึงอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งของพระปรางค์ใหญ่ว่าเป็น พระพุทธปรางค์

พระปรางค์ใหญ่ ตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศใต้ ซึ่งหันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยอยู่ด้านหลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อย (พระวิหารเล็ก)
และเป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นพร้อมกับโบสถ์และวิหารน้อย
เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและงดงามยิ่งนักของวัดอรุณราชวราราม
ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ก่อด้วยอิฐถือปูน
ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ และ บนส่วนยอดสุดขององค์พระปรางค์
มีมงกุฎปิดทองประดิษฐานครอบอยู่เหนือ ‘ยอดนภศูล’ อีกชั้นหนึ่งด้วย

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
พระปรางค์องค์นี้เดิมสูงเพียง ๘ วา เท่านั้น ซึ่งไม่ทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยใด
แต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ทรงมีพระราชศรัทธาจะให้เสริมสร้างก่อเพิ่มเติมขึ้น
ให้สูงใหญ่สมเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ประจำกรุงรัตนโกสินทร์
แต่ทรงกระทำได้เพียงฐานรากคือกะเตรียมที่ขุดรากไว้เท่านั้นก็สิ้นรัชกาล

ถึงในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวรารามแห่งนี้เป็นการใหญ่อีกครั้ง
เริ่มแต่ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างกุฏิสงฆ์เป็นตึกใหม่ทั้งหมด เป็นต้น
และทรงมีพระราชดำริเพื่อสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ
จึงโปรดเกล้าฯ ให้เสริมสร้างองค์พระปรางค์ต่อตามแบบที่ทรงคิดขึ้น
จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์สูงถึง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว
หรือประมาณ ๖๗ เมตร แล้วยกยอดนภศูล (ลำภุขันหรือฝักเพกา)
แต่ไม่ทันฉลองก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ จึงมีรับสั่งให้จัดการต่อเติมจนเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
ลักษณะของพระปรางค์ใหญ่ที่รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์มีดังนี้ พระปรางค์ใหญ่อยู่ภายในวงล้อมของพระวิหารคด และเก๋งจีน ๓ ด้าน (เว้นด้านหน้า) มีประตูเข้า ๙ ประตู บริเวณลานจากพระวิหารคดและเก๋งจีน ถึงฐานพระปรางค์ใหญ่ชั้นล่างปูด้วยกระเบื้องหิน มีบันไดขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ ๑ ระหว่างพระปรางค์ทิศและพระมณฑปทิศ ด้านละ ๒ บันได รวม ๔ ด้าน เป็น ๘ บันได เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๑ นี้นี้เป็นฐานทักษิณชั้นที่ ๒ รอบฐานมี รูปต้นไม้ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ เหนือขึ้นไปเป็นเชิงบาตร ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีลายดอกไม้ ใบไม้ มีบันไดขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ ๒ ตรงหน้าพระมณฑปทิศมณฑปละ ๒ บันได คือทางซ้ายและทางขวาของแต่ละพระมณฑปทิศ รวม ๘ บันได เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๒ นี้เป็นฐานทักษิณชั้นที่ ๓ มี ช่องรูปกินรีและกินนร สลับกันโดยรอบ ที่เชิงบาตรมี รูปมารแบก และมีบันไดตรงจากหน้าพระมณฑปทิศแต่ละมณฑปขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ ๓ อีกด้านละบันได รวม ๔ บันได ที่เชิงบันไดมี เสาหงส์หิน บันไดละ ๒ ต้น เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๓ นี้เป็นฐานทักษิณชั้นที่ ๔ มี ช่องรูปกินรีและกินนร สลับกันโดยรอบ เว้นแต่ตรงย่อมุม ๔ ด้าน เป็น รูปแจกันปักดอกไม้ เพราะเป็นช่องแคบๆ ที่เชิงบาตรมี รูปกระบี่แบก มีบันไดขึ้นไปยังทักษิณชั้นที่ ๔ อีก ๔ บันไดตรงกับบันไดชั้นที่ ๓ ดังกล่าวแล้ว และมี เสาหงส์หิน อยู่เชิงบันไดอีกด้านละ ๒ ต้น เช่นเดียวกัน

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ ๔ มี ช่องรูปกินรีและกินนร สลับกันโดยรอบ
และตรงย่อมุมเป็น รูปแจกันปักดอกไม้ ที่เชิงบาตรมี รูปพรหมแบก
เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหา ๔ ด้านมี รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
อยู่ในคูหาทั้ง ๔ คูหา เหนือซุ้มคูหารูปพระอินทร์เป็น ยอดปรางค์ขนาดย่อม
และมี รูปพระนารายณ์ทรงครุฑแบกพระปรางค์ใหญ่ อยู่โดยรอบ
ส่วนยอดสุดขององค์พระปรางค์ใหญ่เป็น ยอดนภศูลและมงกุฎปิดทอง

สำหรับ ยอดพระปรางค์ ตามแบบแผนแต่โบราณจะเป็น ‘ยอดนภศูล’
แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำ มงกุฏปิดทอง
สำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดนางนอง
มาสวมครอบต่อจากยอดนภศูลอีกชั้นหนึ่ง คนสมัยนั้นจึงโจษจันกันว่า
รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนทั้งหลายเข้าใจโดยนัยว่า
สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) จะเป็น “ยอดของแผ่นดิน”
หมายถึงจะเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์

องค์พระปรางค์ใหญ่ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ
อย่างงดงามประณีตบรรจง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่นๆ
กระเบื้องเคลือบสีที่ใช้ประดับเหล่านี้ บางแผ่นเป็นรูปลายที่ทำสำเร็จมาแล้ว
บางชิ้นบางแผ่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบกันเข้าเป็นลาย
บางลายใช้กระเบื้องเคลือบธรรมดา บางลายเป็นกระเบื้องเคลือบสลับเปลือกหอย
และบางลายใช้จานชามของโบราณที่มีลวดลายงดงามเป็นของเก่าหายาก
เช่น ชามเบญจรงค์ ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ฯลฯ
นำมาประดับสอดสลับ ประกอบกันเข้าไว้อย่างเรียบร้อยน่าดูน่าชมยิ่ง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘

ครั้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์จนเสร็จสมบูรณ์สวยงามดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
แม้จะมีการปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งในสมัย รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน
แต่ก็ยังคงความสวยงามในสภาพเดิมไว้ทุกประการ ตามที่รัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ไว้ดังนี้

พระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งอยู่ภายในรั้วล้อมทั้ง ๔ ด้าน
คือด้านตะวันออก ตะวันตก เหนือ และใต้
ตอนล่างเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ทาด้วยน้ำปูนสีขาว
ตอนบนเป็น รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดง มีรูปครุฑจับนาค
อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๒
ทำด้วยเหล็ก ติดอยู่ตอนบนที่รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดงทุกช่อง
แต่ละช่องกั้นด้วยเสาก่ออิฐถือปูนเหมือนกำแพง
ตอนล่างทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์ใหญ่นั้น
มี เก๋งจีน แบบของเก่าเหลืออยู่อีก ๑ เก๋ง
หน้าบันและใต้เชิงชายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี
และภาพสีเทาเขียนเป็นรูปดอกไม้ ต้นไม้ และรูปสัตว์ต่างๆ แบบจีน
ผนังของเก๋งจีนด้านในทาด้วยน้ำปูนสีขาว ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นภาพสีเกี่ยวกับนรก
ในรัชกาล ๕ โปรดให้ลบออกเสียเพราะทรงพิจารณาเห็นว่าไม่งาม
ส่วนรั้วด้านใต้ที่ติดกับกำแพงพระราชวังเดิมนั้น
เป็นรั้วก่อด้วยอิฐถือปูนทึบตลอดทั้งด้าน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
ลานพระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งแต่รั้วถึงฐานพระปรางค์ปูด้วยกระเบื้องหิน
มีท่อระบายน้ำจากพื้นลานลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
แต่ละมุมด้านในของรั้วมีแท่นก่อไว้มีลายเป็นขาโต๊ะตั้งติดกัน
เข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับตั้งเครื่องบูชา หรือวางของ
รอบๆ ฐานพระปรางค์มี ‘ตุ๊กตาหินแบบจีน’ เป็นรูปสัตว์ต่างๆ
เช่น วัว ควาย ลิง สิงโต เป็นต้น กับ ‘รูปทหารจีน’ ตั้งไว้เป็นระยะๆ
และบริเวณลานที่ตรงกับพระมณฑปทิศ
มีราวเทียนและที่สำหรับปักธูปบูชาทั้ง ๔ พระมณฑป

องค์พระปรางค์ใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก
โปรดให้เปลี่ยนเพียงรูปกินนรกินรี และแจกันปักดอกไม้ตามช่องต่างๆ
เป็นซีเมนต์ครึ่งซีกติดกับผนังคูหาด้านใน แทนของเก่า
ซึ่งสลักด้วยหินเป็นตัวๆ ตั้งไว้ เพราะถ้าจะทำใหม่ให้เหมือนเก่า
จะต้องใช้เงินมาก ด้วยของเก่าเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ได้โปรดให้รื้อประตูเข้าพระปรางค์ใหญ่ออกหมดทั้ง ๙ ประตู
แล้วสร้างขึ้นใหม่เพียง ๕ ประตู เป็นประตูซุ้มแบบ วัดราชประดิษฐ์ฯ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘
ซุ้มเหนือบานประตูทางเข้าพระปรางค์ทั้งด้านนอกและด้านในเป็นลายปูนปั้นลงสี
ทำเป็น รูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๕
ติดอยู่ตรงด้านนอกและด้านใน คือที่รั้วด้านตะวันออกหน้าพระปรางค์มี ๓ ประตู
ซุ้มเหนือบานประตูที่อยู่เหนือโบสถ์น้อยเป็น รูปครุฑจับนาค ประจำรัชกาลที่ ๒
ประตูกลางระหว่างโบสถ์น้อยและวิหารน้อยเป็น รูปพระเกี้ยว ประจำรัชกาลที่ ๕
และประตูข้างใต้พระวิหารน้อยเป็น รูปพระมงกุฎ ประจำรัชกาลที่ ๔
ส่วนที่รั้วทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์มี ๒ ประตู
ซุ้มเหนือบานประตูเหนือเก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในกลีบบัว ประจำรัชกาลที่ ๑
ประตูใต้เก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในปราสาท ประจำรัชกาลที่ ๓


องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องทำเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามมาก
แต่ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ
และยังคงแข็งแรงมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ได้นี้
แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด o๘



มีต่อ
เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19404
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35