พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด


หลวงพ่อโต หรือ “พระศรีอริยเมตไตรย”
[พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก]
วัดอินทรวิหาร (พระอารามหลวง) เขตพระนคร กรุงเทพฯ



“หลวงพ่อโต” หรือ “พระศรีอริยเมตไตรย” พระพุทธปฏิมากรยืนปางอุ้มบาตร วัดอินทรวิหาร แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2410 ก่อด้วยอิฐถือปูน หากดำเนินการการก่อสร้างไปได้เพียงครึ่งองค์ สูงเพียงพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ก็สิ้นชีพิตักษัย ณ ศาลาใหญ่ วัดบางขุนพรหมใน เป็นพระยืนอุ้มบาตรที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าท่านได้สอนยืนและเดินได้ที่นั่น

ต่อมา พระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) ซึ่งร่วมสร้างหลวงพ่อโต ร่วมกับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มาแต่ต้น ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2463 พระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) มีอายุ 91 ปี พรรษาที่ 70 ชราภาพมากแล้ว จึงได้ยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ ท่านจึงมอบฉันทะให้ พระครูสังฆบริบาล (แดง) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ช่วยบูรณปฏิสังขรณ์ต่อจากเดิม ซึ่ง พระครูกัลยานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) ได้เขียนบันทึกไว้เกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งมีปรากฏในจารึกศิลาว่า

“ศุภมัสดุพระพุทธศาสนกาลล่วงแล้วได้ 2463 ปีวอก โทศก (จ.ศ. 1282) พระครูสังฆบริบาล (แดง) ได้ลงมือทำการปฏิสังขรณ์เมื่อเดือน 11 ณ วันพฤหัสบดี แรม 1 ค่ำ ประวัติเดิมของ พระครูสังฆบริบาล อุปสมบทที่แขวงตะนาว เมื่ออุปสมบทแล้วได้มาสร้างวัดเข่ชั้นบันไดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วได้มาศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย ณ สำนักวัดบวรนิเวศ ในบารมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 5 พรรษา เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ จึงได้มาทำการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์โตนี้ พร้อมด้วยเจ้าฟ้า ทายก ทายิกา ราษฎร จนถึงกาลบัดนี้สิ้นเงินรายได้รายจ่ายในการปฏิสังขรณ์ 5 หมื่นเศษ”

หากดำเนินก่อสร้างสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 พระครูสังฆรักษ์ (เงิน อินฺทสโร) ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระอินทรสมาจาร” ได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2470 และได้จัดให้มีงานสมโภชเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4-6 มีนาคม พ.ศ. 2471 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท) เสด็จมาทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ เสด็จมาทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ เปิดงานสมโภชองค์หลวงพ่อโต

ในหนังสือ “ประวัติหลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร ปี พ.ศ. 2490” ได้กล่าวถึงการปฏิสังขรณ์องค์หลวงพ่อโต ของพระอินทรสมาจาร (เงิน อินฺทสโร) ไว้ว่า

“ถึงปีชวด พ.ศ. 2467 พระครูอินทรสมาจาร (เงิน อินฺทสโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูสังฆรักษ์ ย้ายมาจากวัดปรินายกมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร ได้จัดการสร้างพระโตต่อมา โดยเป็นประธานบอกบุญเรี่ยไรจากประชาชนทั่วไป ผู้ช่วยเหลือที่เป็นกำลังสำคัญของท่านพระครูอินทรสมาจารที่ควรกล่าวให้ปรากฏคือ เจ้าคุณและคุณหญิงปริมาณสินสมรรถ พระประสานอักษรกิจ สิบเอกอินทร์ พันธุเสนา และนางพลัด พันธุเสนา พระครูอินทรสมาจารทำการก่อสร้างอยู่ 4 ปี จึงสำเร็จสมบูรณ์ (สิ้นเงินประมาณ 10,000 บาท)”


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)
[SIZE="3"]หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร[/SIZE]

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)
หลวงพ่อโต พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรองค์ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้มีการปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมคือ เมื่อปี พ.ศ. 2481 ได้ทำประภามณฑล (พระรัศมี) ประดับองค์หลวงพ่อโต และประดับกระเบื้องโมเสกทองคำ 24 เค ที่พระพักตร์ พระเศียร และพระหัตถ์ และได้เปลี่ยนโมเสกใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2509 เนื่องจากของเดิมหมองคล้ำและชำรุด

พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีอัญเชิญโมเสกทองคำขึ้นประดับเป็นรูปอุณาโลม ณ พระนลาฏองค์หลวงพ่อโต

พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสถิต ณ ยอดพระเกศองค์หลวงพ่อโต และทรงปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์

อย่างไรก็ตามต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์หลวงพ่อโต ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)
เหรียญวัตถุมงคล “หลวงพ่อโต”

กล่าวสำหรับวัตถุมงคลที่เกี่ยวเนื่องด้วย “หลวงพ่อโต” ที่พระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) ที่สร้างขึ้นเป็นพิมพ์หนึ่งในจำนวนหลากหลายพิมพ์ของหลวงปู่ภู จนฺทเกสโร เป็นพระเครื่องเนื้อปูนปั้นผสมผง ที่กล่าวกันว่ามีส่วนผสมของผงวิเศษของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ผสมอยู่ด้วย จึงกล่าวได้ว่า พระเครื่องของหลวงปู่ภูใช้แทนพระสมเด็จฯ ได้เป็นอย่างดี

พระเครื่องพิมพ์อุ้มบาตร มีพุทธลักษณะทรงห้าเหลี่ยม องค์พระปฏิมากรประทับยืนบนอาสนะบัว ภายในซุ้มกรอบ 5 เหลี่ยม ด้านหลังองค์พระเครื่องเรียบปราศจากอักขระใดๆ

อย่างไรก็ตาม มีเหรียญปั๊ม “พระศรีอริยเมตไตรย” ที่น่าสนใจยิ่งของพระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) ซึ่งมีความเป็นมาคือ เมื่อปี พ.ศ. 2467 ที่พระอินทรสมาจารย์ (เงิน อินฺทสโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูสังฆรักษ์ ทำการก่อสร้างพระศรีอริยเมตไตรย์ “หลวงพ่อโต” สืบต่อจากที่คั่งค้างอยู่ เป็นเวลา 4 ปีจึงแล้วเสร็จ และมีงานสมโภชเมื่อวันที่ 4-6 มีนาคม พ.ศ. 2471 ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2472 ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการและปิดทองพระโต ในเดือนมีนาคม และกำหนดเป็นเทศกาลประจำปีสืบมา

ต่อเมื่อปี พ.ศ. 2521 ภายหลังอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสถิต ณ ยอดพระเกศองค์ “หลวงพ่อโต” การจัดงานประจำปีจึงเปลี่ยนไปเป็น งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และปิดทองหลวงพ่อโต สันนิษฐานว่าในการสมโภชเมื่อปี พ.ศ. 2471 นั้น ได้มีการสร้าง “เหรียญพระเครื่อง” ขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันว่า เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นทันในช่วงพระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) ยังมีชีวิตอยู่ และต้องร่วมปลุกเสกด้วยอย่างแน่นอน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)
เหรียญวัตถุมงคล “หลวงพ่อโต”


เหรียญรุ่นดังกล่าวนี้ มีด้วยกัน 2 แบบพิมพ์ เป็นเหรียญปั๊มรูปเสมา มีหูในตัว เนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง แบบแรกนั้น ด้านหน้าเป็นรูปจำลองพระศรีอริยเมตไตรย “หลวงพ่อโต” ประทับยืนปางอุ้มบาตรบนอาสนะฐานบัวคว่ำบัวหงาย ขอบเหรียญแกะเป็นลวดลายกระหนกสวยงาม ด้านหลังพื้นเหรียญเรียบ ปรากฏข้อความอักษร 3 บรรทัด ว่า “พระศรีอารย์ ยืนโปรดสัตว์ วัดอินทรวิหาร”

ส่วนแบบที่สอง ประทับยืนปางอุ้มบาตรบนอาสนะฐานบัวหงาย ภายใต้ฉัตร 7 ชั้น ขอบเหรียญแกะเป็นลวดลายสวยงาม ด้านหลังพื้นเหรียญเรียบ ปรากฏข้อความอักษร 5 บรรทัด ว่า

“พระศรีอารย์ ยืนโปรดสัตว์ ให้พ้นทุกข์ วัดอินทรวิหาร กรุงเทพฯ”


เป็นเหรียญเก่าอันน่าเก็บสะสมในทำเนียบ “เหรียญพระพุทธ”



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)








พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)

หลวงพ่อพระร่วง หรือ “หลวงพ่อร่วง วาจาศักดิ์สิทธิ์”
พระประธานในพระวิหาร วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อพระร่วง
วัดมหรรณพาราม วรวิหาร กรุงเทพฯ

“วัดมหรรณพาราม” ตั้งอยู่ที่แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ได้เริ่มสร้างขึ้นมาตั้งแต่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช ๒๓๙๓

นามผู้สร้างพระอารามนี้ คือ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี
มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอรรณพ
ทรงเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในพระอารามแห่งนี้ มีปูชนียวัตถุที่สำคัญมาก คือ
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ มีนามเรียกว่า “หลวงพ่อพระร่วง”
หรือที่ชาวบ้านเรียกจนติดปากว่า “หลวงพ่อร่วง วาจาศักดิ์สิทธิ์”
พระพุทธรูปอันงดงามสมัยสุโขทัย สถิตอยู่ภายในพระวิหาร


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)
พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)
พระวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงเป็นศิลปะผสมแบบจีน


หลวงพ่อพระร่วง เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย
ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๑ วา ๓ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว
องค์พระเป็นโลหะทอง มีรอยต่อ ๙ แห่ง โดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อม
ที่รอยต่อชุกชีที่ประดิษฐาน ยาว ๒ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว กว้าง ๒ วา ๒ ศอก

ถัดจากฐานขึ้นไปที่เรียกว่าบัลลังก์ ทำเป็นลายดอกบัวคว่ำบัวหงาย
และดอกไม้เครือกระจังลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสีต่างๆ
ได้อัญเชิญมาจากกรุงสุโขทัยในราวปี พ.ศ.๒๓๙๓ ในรัชกาลที่ ๓

หลวงพ่อพระร่วง มีประวัติสังเขปดังนี้ เมื่อครั้งที่ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี
ทรงสร้างวัดอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้พระราชทานเงินสมทบ ๑,๐๐๐ ชั่ง สร้างพระอุโบสถ แล้วทรงรับสั่งให้
เจ้าหน้าที่ทางเมืองเหนือเสาะหาพระพุทธรูปใหญ่ เพื่อนำมาเป็นพระประธาน

ครั้นได้พบแล้วก็ทราบรับสั่งให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ
เพื่อให้ทันกับการฉลองพระอุโบสถและผูกพัทธสีมา


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)

แต่การเดินทางสมัยนั้นลำบากมาก หากจะขนวัตถุสิ่งใดลงมากรุงเทพฯ
ต้องอาศัยเรือหรือแพเท่านั้นเป็นพาหนะ

หลวงพ่อพระร่วงก็เช่นเดียวกัน อาศัยบรรทุกมาด้วยแพ
แต่การเดินทางล่าช้ามาก มาไม่ทันกำหนดเวลาที่พระอุโบสถสร้างเสร็จ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงรับสั่งให้
สร้างพระประธานด้วยหินปูนก่ออิฐให้ทันกับเวลาฉลองพระอุโบสถ
และใช้เป็นพระประธานในพระอุโบสถจนกระทั่งบัดนี้

ครั้นสร้างพระประธานเสร็จเรียบร้อย หลวงพ่อพระร่วงจึงถูกอัญเชิญ
มาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงรับสั่งให้สร้าง พระวิหาร ขึ้นทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ
ให้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงตั้งแต่นั้นมาตราบเท่าทุกวันนี้


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๕)

หลวงพ่อพระร่วง มีคุณลักษณะดีพิเศษ ๓ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ทางด้านศิลปะ
หลวงพ่อพระร่วงเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงามมาก พระพักตร์อิ่มเอิบ
พระเนตรดูแล้วเหมือนยิ้มนิดๆ เป็นเหตุชวนให้ชุ่มชื่นใจแก่ผู้ดู
พระกรวางอยู่ในลักษณะสมส่วน นิ้วพระหัตถ์เรียวงาม ทั้งองค์มีที่ต่ออยู่ ๙ แห่ง
เป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าตามความนิยมของคนสมัยนั้น
ด้วยทุกสัดส่วนขององค์พระไม่มีที่ไหนบกพร่องที่น่าตำหนิ
ยากที่ช่างสมัยนี้จะทำเทียมเสมอได้

ประการที่ ๒ ด้านวัตถุ
หลวงพ่อพระร่วงมีคุณค่าทางด้านวัตถุมากมายมหาศาล
พระพุทธรูปโบราณที่สร้างในสมัยเชียงแสน สุโขทัย
มักจะเป็นเนื้อทองสัมฤทธิ์เป็นส่วนมาก หรือเป็นเนื้อทองคำปนอยู่มาก
เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้มาพิสูจน์ ลงความเห็นว่าเป็นเนื้อทองคำประมาณ ๖๐%


ประการที่ ๓ ด้านความศักดิ์สิทธิ์
หลวงพ่อพระร่วงเป็นที่พึ่งทางใจให้แก่ชาวบ้านและชาวจีน
ปัดเป่าความทุกข์ให้แก่ผู้ที่มากราบไหว้บูชาได้ดี จนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา
เป็นพระพุทธปฏิมารูปเปรียบของพระพุทธเจ้าชาวพุทธที่กราบไหว้บูชา
ก็เท่ากับกราบไหว้พระพุทธเจ้าจัดเข้าเป็นพุทธานุสติได้ตามหลักการปฏิบัติของชาวพุทธ

ด้วยพุทธานุภาพอันเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระร่วง
การบนบานนั้น จึงมักจะสำเร็จผลตามความประสงค์เป็นส่วนมาก
ทำให้มีผู้นิยมนับถือท่านมากทั้งชาวไทยและชาวจีน
เกิดเดือดร้อนขึ้นมาก็หันหน้าเข้าวัดบนบานให้ท่านช่วย
ของเซ่นที่ท่านชอบก็ไม่เหมือนที่อื่นๆ เป็นเพียงตะกร้อ ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า
หรือพวงมาลัยเท่านั้น เมื่อก่อนนี้ทางวัดไม่ได้เปิดให้คนเข้านมัสการภายในวิหาร
ผู้ประสงค์จะไหว้อยู่แต่ภายนอกวิหารเท่านั้น แต่นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา

จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ทางวัดได้เปิดให้คนเข้านมัสการภายในพระวิหาร
ได้ทุกโอกาสและเปิดเป็นประจำทุกวัน

ทุกปีจะมีงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อพระร่วง วันกำหนดงานไม่ค่อยจะแน่นอน
แต่อยู่ในระหว่างช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นส่วนมาก
เมื่อมีงานเทศกาลชาวไทยและชาวจีนจะหลั่งไหลกันมากราบไหว้บูชา

“หลวงพ่อพระร่วง” พระประธานในพระวิหาร







มีต่อ


เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19302
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35