พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

ไหว้พระประธาน ๗๘ จังหวัด

หลวงพ่อใหญ่ หรือ “พระมงคลเทพนิมิต”
พระประธานในอุโบสถ วัดโยธานิมิต
บ้านดอนทราย ต.บางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี


จังหวัดจันทบุรี เป็นเมืองชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยในแต่ละยุคสมัย
ทั้งสมัยก่อนกรุงธนบุรีและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ดังปรากฏหลักฐานสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ให้เห็นอยู่จวบจนทุกวันนี้

หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังพลประมาณ ๕๐๐ คน
ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยาและยึดเมืองจันทบุรี
ไว้เป็นเวลา ๕ เดือน เพื่อเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและรี้พล
จากนั้นจึงนำกำลังพลทั้งไทย-จีน จำนวน ๕,๐๐๐ คน
กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐


เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวจันทบุรี
สามารถเห็นได้จากที่มีโบราณสถานและอนุสรณ์สถานหลายแห่ง
ที่มีความเกี่ยวข้อง หรือจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึง
พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในครั้งนั้น

จังหวัดจันทบุรี เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย
ต่อการปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะ ทุเรียน เงาะ มังคุด
และพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เป็นศูนย์กลางธุรกิจ ด้านอัญมณี
และมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็นภูเขา
ป่าไม้ น้ำตก ชายทะเล และโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ


นอกจากนี้ จังหวัดจันทบุรี ยังมีสถานที่สำคัญที่เป็นศูนย์รวมใจ
แห่งศรัทธาของชาวเมือง คือ วัดโยธานิมิต

“วัดโยธานิมิต” ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลบางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี
สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระอุโบสถเป็นแบบหลังคาชั้นเดียว
ไม่มีช่อฟ้า ไม่มีใบระกา เป็นลักษณะเฉพาะของอุโบสถ
ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งได้รับอิทธิพลการก่อสร้างมาจากศิลปะแบบจีน

ภายในพระอุโบสถไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
สภาพปัจจุบัน วัดโยธานิมิต อยู่ในค่ายเนินวง
และอยู่ห่างจากแนวกำแพงประมาณ ๑๐๐ เมตร
เนื้อที่วัดประมาณ ๑ ไร่ โดยมีซากแนวกำแพงรอบวัดก่อด้วยศิลาแลง
สภาพปัจจุบันเหลือแต่แนวกำแพงเป็นบางส่วน

จากแนวกำแพงรอบวัด หลังพระอุโบสถมีเจดีย์สูงประมาณ ๒๐ เมตร
มีกำแพงรอบพระอุโบสถ ก่ออิฐถือเป็นปูนสองชั้น
ชั้นนอก กว้าง ๒๗ เมตร ยาว ๕๕ เมตร สูง ๑.๒๐ เมตร
ชั้นใน กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สูง ๑ เมตร

กำแพงเมืองวัดโยธานิมิต ก่อด้วยศิลาแลงโดยรอบ
ภายในกำแพงวัดมีพระอุโบสถหลังหนึ่งขนาดกว้าง ๕ ห้อง
มีเฉลียงรอบพระประธานในพระอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งสร้างพร้อมกันกับพระอุโบสถ
หลังพระอุโบสถออกไปมีเจดีย์กลมแบบกังกาอยู่องค์หนึ่ง
สูงประมาณ ๒๐ เมตร พร้อมกับศาลาการเปรียญอยู่หลังหนึ่ง และกุฏิสงฆ์

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓
ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ระบุว่า
...ในพุทธศักราช ๒๓๗๗ เมื่อเดือน ๑ โปรดเกล้าฯ
ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เนินวง
ด้วยบ้านราษฎรอยู่ลึกเข้าไปข้างหลักเมือง เป็นที่ป้องกันครอบครัวพลเมืองได้
แล้วจึงสร้างวัดขึ้นสำหรับเมืองวัด ๑ ชื่อวัดโยธานิมิต...”

เหตุที่สร้างวัดเนื่องจากในครั้งนั้น เมื่อญวณขอเดินทางผ่านประเทศไทย
เพื่อจะไปตีเมืองเขมร รัฐบาลไทยส่ง หลวงประดิษฐ์ บุญนาค
นำทัพมาปักหลักที่เมืองจันทบุรี ตรงบริเวณค่ายเนินวงค์ เพื่อขัตตาทัพ

แต่ทหารไทยไม่ได้รบกับต่างชาติ หลวงประดิษฐ์ บุญนาค จึงนำทหารสร้างวัดโยธานิมิต
โดยสร้างพระอุโบสถด้วยชันอ้อยผสมดินศิลาแลง ต่อด้วยฝาผนังเป็นไม้
หลังคามุงกระเบื้องดินเผา มีเสมาทรงเหลี่ยมตั้งทับหลุมลูกนิมิต

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ คณะกรรมการวัดโยธานิมิต
ได้ก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนพระอุโบสถหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม
ด้วยการสร้างทับตามรอยเขตขอบเสมาเดิม

ปัจจุบัน วัดโยธานิมิตมี พระครูพินิจธรรมประภาส (พระอาจารย์ต้อม)
เป็นเจ้าอาวาส วัดโยธานิมิตเป็นหนึ่งใน ๙ วัดของจังหวัดจันทบุรี
ที่กำหนดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ต้อนรับนักท่องเที่ยวมาจากต่างจังหวัดที่มาเยือน
ทางเข้าวัดอยู่ริมถนนท่าแฉลบ ห่างจากเขตเทศบาลเมืองจันทบุรี
ประมาณ ๔ กิโลเมตร ตั้งอยู่ใกล้พิพิทธภัณฑ์แห่งชาติพาณิชยนาวี

“พระมงคลเทพนิมิต” หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ วัดโยธานิมิต
ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองของค่ายเนินวง (ค่ายทหารเมืองเก่า)
ต.บางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางสมาธิ
ขนาดหน้าตัก ๔ เมตร หล่อด้วยดินศิลาแลงผสมงบน้ำอ้อย

ประชาชนนิยมเข้าสักการะหลวงพ่อใหญ่ เนื่องจากเชื่อว่า
มีเมตตามหานิยม และแคล้วคลาด จึงมีชาวบ้านและบุคคลทั่วไป
เดินทางมากราบไหว้จำนวนมากในแต่ละวัน

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ เกิดเหตุประหลาดไฟฟ้าลัดวงจร
เพลิงลุกไหม้หลวงพ่อใหญ่ เผาไหม้ที่ผ้าอังสะ ที่สวมใส่ในองค์หลวงพ่อใหญ่
ชาวบ้านช่วยกันดับไฟ พอเพลิงสงบ พบว่า
อังสะที่สวมใส่องค์หลวงพ่อใหญ่ไม่มีร่องรอยไฟไหม้เลย

มีลูกศิษย์ได้นำอังสะติดตัวไปหลายคน และประสบความโชคดี ค้าขายดี
บ้างก็มีโชค ตามที่ตั้งจิตอธิษฐานไป และแคล้วคลาดภัยอุบัติเหตุ

หากมีโอกาสไปเยือนเมืองจันทบุรี ขอเชิญไปกราบไหว้
พระมงคลเทพนิมิต หรือหลวงพ่อใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคลอันดีเทอญ







พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อโสธร หรือ “หลวงพ่อพุทธโสธร”
ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถ
วัดโสธรวรารามวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา


ประวัติความเป็นมา

“หลวงพ่อพุทธโสธร” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อโสธร” แห่งแม่น้ำบางปะกง ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานภายในพระอุโบสถ วัดโสธรวราราม วรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อโสธรนั้น มีผู้เล่าสืบกันมาหลายกระแส บ้างว่า ท่านมีพี่น้องที่ลอยน้ำมาพร้อมกัน ๓ องค์ คือ หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อโตบางพลี และหลวงพ่อโสธร ส่วนอีกตำนานหนึ่งบอกว่า ท่านเป็นพี่น้องกับหลวงพ่อบ้านแหลมและหลวงพ่อวัดไร่ขิง และก็ยังมีนิยายปรัมปราที่เล่าสืบมาว่า ท่านลอยน้ำมาพร้อมกับหลวงพ่อบ้านแหลม และหลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา

อย่างไรก็ตาม ตำนานที่เล่าขานกันมานี้ก็มีความคล้ายคลึงกันว่า พระพุทธรูป ๓ องค์พี่น้องลอยน้ำมาจากทางเมืองเหนือ จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “สามเสน” จึงได้แสดงอภินิหารลอยให้ชาวเมืองเห็น ชาวบ้านจึงได้ทำการฉุดพระพุทธรูปทั้งสามองค์ โดยใช้เวลา ๓ วัน ๓ คืนก็ฉุดไม่ขึ้น กล่าวกันว่าครั้งนั้นใช้ผู้คนเป็นแสนๆ ก็ไม่สำเร็จ ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่า “สามแสน” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “สามเสน” พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ก็จมน้ำลง

จากนั้นก็ลอยล่องเข้าสู่คลองพระโขนงลัดเลาะไปสู่แม่น้ำบางปะกง และได้ลอยผ่านคลอง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า คลองชักพระ พระพุทธรูปได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นให้ชาวบ้านเห็น ชาวบ้านจึงพากันมาชักพระขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สำเร็จ จึงเรียกคลองนี้ว่า “คลองชักพระ” แล้วทั้งสามองค์ก็ได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปทางหัววัดอีก สถานที่นั้นจึงเรียกว่า “วัดสามพระทวน” และเรียกเพี้ยนเป็น “วัดสัมปทวน” ทั้งสามองค์ได้ลอยตามแม่น้ำบางปะกงเลยผ่านหน้าวัดโสธรไปถึงคุ้งน้ำใต้วัดโสธร และแสดงอภินิหารให้ชาวบ้านเห็นอีก ชาวบ้านได้ช่วยกันฉุดแต่ไม่ขึ้น จึงเรียกหมู่บ้านและคลองนั้นว่า “บางพระ” มาจนทุกวันนี้ พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ได้ลอยทวนน้ำวนอยู่ที่หัวเลี้ยวตรงกับกองพันทหารช่างที่ ๒ ณ สถานที่ลอยวนอยู่นั้นเรียกว่า “แหลมหัววน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ
หลวงพ่อโสธร (องค์จำลอง) ปิดทองที่องค์พระได้



อัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากน้ำ

หลังจากนั้นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง คือ หลวงพ่อโสธร ได้แสดงอภินิหารลอยมาขึ้นที่หน้าวัดโสธรวราราม ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า วัดหงษ์ ชาวบ้านช่วยกันยกและฉุดองค์พระพุทธรูปขึ้นจากน้ำ แต่ไม่สามารถนำขึ้นได้ จนกระทั่งมีอาจารย์ผู้หนึ่งรู้วิธีอัญเชิญ โดยตั้งพิธีบวงสรวงใช้สายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์ จนสามารถอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานในพระวิหารได้สำเร็จ ในราวปีพุทธศักราช ๒๓๑๓

ในการนี้จึงจัดให้มีการสมโภชฉลององค์หลวงพ่อ หลังจากท่านได้ประทับที่วัดหงส์เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะขนานนามชื่อของหลวงพ่อว่าอย่างไร แต่เข้าใจว่าท่านคงต้องการชื่อเดิมของท่าน คือ “พระศรี” เพราะเป็นชื่อดั้งเดิมขณะประทับที่วัดศรีเมือง ทางภาคเหนือ ประกอบกับมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าหลวงพ่อมีความประสงค์จะใช้นามว่า “หลวงพ่อพุทธศรีโสธร” เพราะได้เกิดพายุพัดเอาหงษ์ที่ตั้งอยู่บนยอดเสาหักลงมา ชาวบ้านจึงเปลี่ยนหงษ์เป็นเสาธง แล้วเรียกชื่อ วัดหงษ์ เป็น วัดเสาธง

ต่อมาไม่นานก็เกิดพายุพัดเสาธงหักทอนลงอีก ชาวบ้านจึงเรียก วัดเสาธง ว่า “วัดเสาธงทอน” ภายหลังเห็นว่าไม่ไพเราะ จึงได้พร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดโสธร” และเรียกนามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อโสธร” ต่อมาวัดโสธรได้รับการเสนอแต่งตั้งให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” และขนานนามหลวงพ่ออย่างเป็นทางการว่า “หลวงพ่อพุทธโสธร”

ปกปิดองค์จริง

องค์เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางสมาธิ หน้าตักกว้างเพียงศอกเศษ มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยลานช้าง เพราะดูจากพุทธลักษณะซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันมากในสมัยนั้น แต่เนื่องจากพระสงฆ์ในวัดขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าอาจจะไม่ปลอดภัยในภายภาคหน้า จึงได้พอกปูนเสริมให้ใหญ่เพื่อหุ้มองค์จริงไว้ภายใน จนมีหน้าตักกว้างประมาณสามศอกครึ่งอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แล้วจึงลงรักปิดทองให้สวยงาม เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา

ความศักดิ์สิทธิ์

ความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อโสธร เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนมากมายที่มีจิตศรัทธา และเชื่อมั่นในบุญกุศลที่หลั่งไหลมากราบไหว้สักการบูชา และขอพรบารมีจากหลวงพ่อ จนเป็นที่กล่าวขานบอกเล่าต่อๆ กันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางค้าขาย ทางคงกระพัน ทางแคล้วคลาด ทางรักษาโรค โดยใช้ขี้ธูป ดอกไม้บูชาที่แห้งเหี่ยวแล้ว และอธิษฐานหยดเทียน ขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อมาทำยา

ดังมีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งชาวบ้านโสธรเกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง ฝนก็แล้ง จนเกิดโรคระบาด ทั้งคนและสัตว์ล้มตายไปมาก มีครอบครัวหนึ่งป่วยเป็นไข้ทรพิษ เมื่อหมดทางรักษาก็ไปนมัสการอธิษฐานขอความคุ้มครองจากหลวงพ่อ และนำเอาขี้ธูปและดอกไม้แห้งที่บูชาหลวงพ่อ และหยดน้ำตาเทียนที่ขอน้ำมนต์ แล้วเอามาต้มกิน ปรากฏว่าโรคหาย กิตติศัพท์หลวงพ่อจึงได้โด่งดังไปทั่ว ถึงกับมีการสมโภชและแก้บนกันตราบทุกวันนี้

แม้กระทั่งชาวต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศฮ่องกง, ไต้หวัน, มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ก็มากราบไหว้บูชาบนบานไม่ขาดสาย และบางรายมาแก้บนเช่นเดียวกับคนไทยอีกด้วย การแก้บนหลวงพ่อโสธรที่นิยมกัน คือ ละครชาตรี ไข่ต้ม ผลไม้ และพวงมาลัย

รื่องที่ห้ามบนบาน

มีเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่สืบมาว่า เรื่องที่ห้ามบนบานกับหลวงพ่อโสธร คือ เรื่องขอไม่ให้เป็นทหาร กับเรื่องขอบุตร ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อท่านชอบให้คนเป็นทหารเพื่อจะได้ปกปักรักษาบ้านเมือง และคนที่เป็นทหารก็เป็นเสมือนลูกหลานของท่าน ดังนั้นใครที่มาขอไม่ให้โดนเกณฑ์ทหาร เป็นต้องถูกเกณฑ์ทุกราย ! และคนที่มาขอบุตร ก็มักจะได้บุตรที่มีอาการไม่ครบ ๓๒ เนื่องจากว่าท่านได้ส่งลูกหลานซึ่งเป็นทหารที่บาดเจ็บล้มตายมาให้นั่นเอง ! เรื่องนี้เท็จจริงประการใดคงต้องพิจารณากันเอาเอง

งานนมัสการหลวงพ่อโสธร

ในแต่ละวันจะมีผู้คนหลั่งไหลไปนมัสการกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะในงานนมัสการประจำปีหลวงพ่อโสธร ซึ่งมีปีละ ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรก ในกลางเดือนห้า ซึ่งถือเป็นงานวันเกิดหลวงพ่อโสธร มีงานฉลอง ๓ วัน ๓ คืน ครั้งที่สอง ในงานกลางเดือน ๑๒ มีงาน ๕ วัน ๕ คืน และครั้งที่สาม ในเทศกาลตรุษจีน มีงาน ๕ วัน ๕ คืน



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ
“หลวงพ่อโสธร” ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานภายในพระอุโบสถ
วัดโสธรวรารามวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ
พระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

วัดโพธิ์บางคล้า สักการะพระไสยาสน์เก่าแก่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช

สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2310 - 2325 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นศิลปสมัยรัตนโกสินทร์กับอยุธยา รูปทรงจตุรมุ ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องเกร็ดเต่าทำจากดินเผา มีหน้าต่างหนึ่งช่อง มีประตูสองช่องเหนือขอบประตูสองด้าน ประดับด้วยถ้วยชามสังคโลกเรียงกันเป็นรูปทรงกลม หน้าจั่วเป็นพื้นเรียบ กระเบื้องชายหลังคาเชื่อมด้วยปูน ตัววิหารมีกำแพงล้อมรอบพร้อมมุงหลังคา และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำด้วยปูน ประดิษฐานไว้โดยรอบจำนวน 8 องค์ ส่วนภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ ต่อมาหลังคมวิหารและกำแพงได้ชำรุดและพังลง

ในปี พ.ศ. 2485 มีผู้ใจบุญได้ซ่อมหลังคาใหม่ โดยมุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่าเคลือบสี หน้าบันจั่วทิศตะวันตก เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประดับด้วยลายเครือเถาหน้าบัน จั่วด้านประตูปั้นเป็นรูปดอกบัว 5 ดอก ประดับแจกัน หลังคาประดับด้วยช่อฟ้ารูปหัวพญานาค มีใบระกา และต่อมาหลังคาและนาคปั้นก็พัง เกิดความชำรุดเสียหายอีก ทางอำเภอบางคล้าได้ร่วมกับประชาชนบริจาคทรัพย์เพื่อช่วยซ่อมแซมขึ้นในปี พ.ศ. 2541 เป็นการอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้เพื่อเป็นมรดกของชาติ โดยได้ทำการซ่อมหลังคาโครงสร้างใหม่หมด ตั้งเสาเสริมความเข้มแข็ง 4 ด้าน รวม 8 ด้าน ฉาบผนังภายในโดยก่ออิฐฉาบปูนทุกด้าน เปลี่ยนฝ้าเพดาน เปลี่ยนโคมไฟ ปูพื้นใหม่ด้วยหินอ่อน และปูศิลาแลงโดยรอบวิหารทั้ง 4 ด้าน และทางวัดได้ดำเนินการประดับตกแต่งเครื่องบนตัวนาคและลวดลายหน้าบัน เพื่อทรงคุณค่าทางศิลปกรรมและมรดกทางวัฒนธรรม

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดแม่น้ำบางปะกง
ทิศตะวันตก และทิศใต้ติดกับคลองท่าทองหลาง

จุดน่าสนใจ

วัดโพธิ์บางคล้า เป็นวัดที่มีค้างคาวแม่ไก่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ค้างคาวแม่ไก่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่บินได้ มีลักษณะหน้าตาคล้ายสุนัขจิ้งจอก จมูก ใบหูเล็ก ตาโต ขนสีน้ำตาลแกมแดง ปีกสีดำเป็นพังผืดบาง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างนิ้ว นิ้วของค้างคาวจะยาวเกือบเท่าความยาวของลำตัว มีนิ้วหัวแม่มือสั้นกว่านิ้วอื่น ๆ เล็บหัวแม่มือแหลมคม และโค้งได้อย่างเล็บเหยี่ยวมีไว้สำหรับจับหรือยึดกิ่งไม้ โตเต็มที่เวลากางปีกจะยาวประมาณ 3 ฟุต ออกลูกครั้งละ 1 ตัว เวลานอนจะห้อยหัวลง และจะนอนในเวลากลางวัน พอพลบค่ำจะออกหากินตามป่า ตามสวน อาหารที่ชอบมาก ได้แก่ ลูกและใบอ่อนของต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นนุ่น และผลมะม่วงแก่ ฝรั่งแก่ ฯลฯ โดยกัดเคี้ยวและกลืนเฉพาะน้ำ ส่วนกากจะคายทิ้ง จึงทำให้มีการถ่ายมูลเป็นของเหลว พอรุ่งสว่างจะบินกลับมาที่เดิม โดยอยู่เป็นกลุ่มเฉพาะบริเวณวัดโพธิ์ ไม่ว่าแดดจะร้อนจัด หรือฝนตกก็จะไม่หลบหนีไปไหน

ค้างคาวเหล่านี้อาศัยอยู่ในวัดโพธิ์มาเป็นเวลานานแล้ว ไม่มีผู้บันทึกไว้ชัดเจน ตั้งแต่ในเมื่อสมัยพระครูสุตาลงกตเป็นเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ. 2573 - 2509 ซึ่งท่านเป็นพระที่มีเมตตาธรรมต่อสัตว์ทั้งหลาย ทำให้วัดโพธิ์มีค้างคาวนับแสนตัวมาอาศัยเกาะต้นไม้ในบริเวณวัด โดยไม่อพยพไปอยู่ที่ไหน

เรื่องแปลกเกี่ยวกับค้างคาวที่อาศัยอยู่บริเวณวัดซึ่งเล่าขานต่อกันมา เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่มีการฝังลูกนิมิต ปรากฎว่าค้างคาวได้บินไปจากวัดนานถึง 7 วัน เมื่อเสร็จงานแล้วจึงได้บินกลับมาอาศัยอยู่ดังเดิม และเมื่อพระครูสุตาลงกต มรณภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2509 ค้างคาวได้ตกลงมาตายเป็นจำนวนมากมายราวกับค้างคาวสามารถรับรู้ได้ ซึ่งนับเป็นความประหลาดยิ่ง



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๙) ต่อ








เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73&t=41079&sid=81b0e8ddbb0d3ced9553cb0e3980198c
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35
ขอขอบคุณ ภาพจากทางกูเกิ้ล