พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธไสยาสน์
วัดสุวรรณคูหา ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

“พระพุทธไสยาสน์” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพังงา
ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำสุวรรณคูหา (ซึ่งเป็นถ้ำธรรมชาติมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์)
วัดสุวรรณคูหา หมู่ที่ ๒ ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔ โดยพระยาโลหภูมินทราธิบดี เจ้าเมืองตะกั่วทุ่ง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔


วัดสุวรรณคูหา แห่งนี้ ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดถ้ำ”
เป็นวัดที่น่าสนใจและมีความสำคัญที่สุดของจังหวัดพังงา
เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ในบริเวณที่ตั้งวัดมีภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งภายในบริเวณเขาลูกนี้
มีถ้ำใหญ่น้อยหลายแห่ง ทั้งที่ต่ำและที่สูง
ถ้ำที่สำคัญมี ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้งถ้ำมืด และถ้ำแก้ว


ถ้ำใหญ่อยู่ตอนล่างสุด เวลาเข้าถ้ำจะต้องผ่านก่อนเสมอ มีขนาดใหญ่กว่าถ้ำอื่น กว้างประมาณ ๒๐ เมตรเศษ ยาวประมาณ ๔๐ เมตร เศษ พื้นถ้ำเรียบ เพดานโค้งครึ่งวงกลมเหมือนประทุนเรือ ตลอดความยาวของถ้ำประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องถ้วยจานเชิงลายคราม และเบญจรงค์ชนิดขนาดต่าง ๆ ถ้ำใหญ่ใช้เป็นวิหารมี พระพุทธรูปปูนปั้นต่างๆ ประดิษฐานอยู่จำนวนหลายองค์ที่สำคัญคือ พระพุทธ ไสยาสน์ ยาว ๗ วา ๒ ศอก องค์หนึ่ง ศิลปะรัตนโกสินทร์พระนาคปรก พระพุทธนิพพาน นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนยังได้สร้างพระพุทธ รูปองค์เล็กๆ ไว้ตามเชิงถ้ำ พุทธศักราช ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินมา ประพาสวัดสุวรรณคูหา ทรงโปรดฯ จารึกพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. ๑๐๙ ภายในถ้ำและอักษรพระนามย่อพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านาย องค์อื่นๆ อีกหลายองค์

โบราณวัตถุที่สำคัญนอกจากพระพุทธรูปหลายองค์แล้ว มีพระพุทธบาทจำลองพระปรางค์สิงห์โตจีนกระเบื้อง ศิลาจารึก ใบเสมา บาน ประตู ถ้ำพระเจดีย์เล็ก ถ้วยชามเบญจรงค์ จานเชิงเครื่องลายคราม และเครื่องมือหินสมัยโบราณ ฯลฯ วัดสุวรรณคูหายังมีถ้ำสวยงาม เป็นจำนวนมาก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังของจังหวัดพังงาที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง

การเดินทาง ใช้เส้นทางสาย พังงา -โคกกลอย (ทางหลวงหมายเลข ๔) ไป ๗ กิโลเมตรถึงหลักกิโลเมตรที่ ๓๑ อำเภอตะกั่วทุ่ง จะมีถนนลาดยางแยกเข้าขวามือไปอีก ๑ กิโลเมตร


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)







พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อเพชร
วัดท่าหลวง (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.พิจิตร

“วัดท่าหลวง” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก
ถนนบุษบาใกล้ศาลากลางจังหวัดเก่า ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิจิตร
เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๓๘๘
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชื่อ
“หลวงพ่อเพชร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสนรุ่นแรก
หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ในท่าขัดสมาธิเพชร สังฆาฎิสั้นเหนือพระอุระ
มีพุทธลักษณะงดงามมาก มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๔๐ เมตร (๒ ศอกเศษ)
สูง ๑.๖๐ เมตร (๓ ศอกเศษ) ที่ที่ประทับนั่งตั้งอยู่บนฐานมีรูปบัวคว่ำบัวหงายรองรับ
สร้างในระหว่างปีพุทธศักราช ๑๖๖๐ ถึง ๑๘๘๐ สร้างมาแล้วประมาณ ๘๘๒ ปี
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองพิจิตร

ด้วยกิตติศัพท์นานัปการ เมื่อใครได้ไปเที่ยวเมืองพิจิตร
จะต้องไปนมัสการหลวงพ่อเพชร เพื่อความเป็นสิริมงคล
เนื่องจากมีประชาชนที่นับถืออย่างมาก เมื่อใครมีเรื่องเดือดร้อน เช่น
ของหายหรือมีความทุกข์ยาก ที่จะบนบานศาลกล่าวขออำนาจหลวงพ่อเพชร
ให้ช่วยปกป้องรักษา หรือปัดเป่าความทุกข์ยากให้หมดไป
เดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชรก็จะช่วยทุกราย
เมื่อผู้นั้นพ้นทุกข์ก็จะนำหัวหมู เป็ด ไก่ ขนม ฯลฯ ไปถวายแด่
หลวงพ่อเพชรที่พระอุโบสถ กลิ่นธูปและควันเทียนจะไม่ขาดระยะ
ชาวพิจิตรทุกผู้ทุกนามต่างให้ความเคารพนับถืออย่างสูงต่อพระองค์หลวงพ่อเพชร
ทั้งยังเป็นมิ่งขวัญศูนย์รวมใจของชาวพิจิตร พลังแห่งความนับถือพุทธานุภาพ
ของหลวงพ่อเพชรจะไม่จางหายไปจากหัวใจของชาวพุทธ

ประวัติการสร้างหลวงพ่อเพชร ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดแน่นอน
เพียงแต่มีตำนานเล่าขานกันสืบมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลว่า
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เกิดขบถจอมทอง เมืองเชียงใหม่
กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ไปปราบปรามขบถจอมทอง
เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองพิจิตร แม่ทัพก็ได้สั่งให้หยุดพักลี้พลที่เมืองพิจิตร
ซึ่งทางเจ้าเมืองพิจิตรก็ได้ให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี
จึงสร้างความประทับใจให้แก่กองทัพเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อกองทัพกรุงศรีอยุธยาหายเหนื่อยแล้ว จึงออกเดินทางจากเมืองพิจิตร
แต่ก่อนที่จะจากกันเจ้าเมืองพิจิตรได้ไปปรารภกับแม่ทัพว่า
ถ้าปราบขบถเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว ขอให้หาพระพุทธรูปงามๆ มาฝากสักองค์หนึ่ง
ฝ่ายทางแม่ทัพเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากนัก จึงรับปากว่าจะหามาให้ตามความต้องการ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)
พระอุโบสถวัดท่าหลวง จ.พิจิตร

หลังจากนั้นก็มุ่งสู่จอมทอง เมื่อไปถึงได้ปราบขบถจอมทองจนราบคาบ
ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาก็นึกถึงคำร้องของ
พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ในขณะนั้น
จึงอัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรจากจอมทองมาด้วย

โดยให้ประดิษฐานบนแพลูกบวบล่องมาตามลำน้ำแม่ปิง
เมื่อมาถึงเมืองกำแพงเพชรก็ได้ฝากหลวงพ่อเพชรไว้กับเจ้าเมืองกำแพงเพชร
ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองพิจิตรทราบข่าวจึงพร้อมด้วยชาวเมืองพิจิตรเป็นจำนวนมาก
ได้ไปอัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้
ณ วัดนครชุม (เมืองพิจิตรเก่า) ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.พิจิตร
ซึ่งนำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ชาวพิจิตรเป็นอย่างมาก

จวบจนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๔๔๒
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
มีพระราชประสงค์จะหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม
เพื่อนำไปไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จังหวัดพระนคร
เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก
จึงได้สั่งการให้ พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ในขณะนั้น
แสวงหาพระพุทธรูปที่สวยงามตามพระราชประสงค์
เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้น พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม)
จึงออกตรวจดูพระพุทธรูปทั่วๆ ไปในเมืองพิจิตร ก็พบว่า
องค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามตามพระราชประสงค์
และเพื่อสะดวกในการขนย้าย จึงได้จ้างชาวณวนคนหนึ่งชื่ออาง
ทำการทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชร
การทะลวงหุ่นดินนั้นก็เพื่อต้องการให้น้ำหนักเบา
แล้วนำขึ้นเกวียนมาลงเรือชะล่า มีปรำลากจูงด้วยเรือพาย
และเมื่อมาถึงเมืองพิษณุโลก ก็เทียบท่าอยู่หน้า
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่)

หลังจากนั้น พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ก็ได้ไปกราบเรียน
เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก
ว่า ได้นำองค์หลวงพ่อเพชรมาถึงเมืองพิษณุโลกแล้ว
และกราบเรียนต่อไปว่า การนำหลวงพ่อเพชรมาครั้งนี้
ชาวเมืองพิจิตรทุกคนมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก
เพราะเสียดายในองค์หลวงพ่อเพชร
ในฐานะที่เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่เดิม
เมื่อได้ทราบดังนั้น เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก
จึงได้ตรวจดูพระพุทธรูป ก็เห็นว่ามีความงดงามจริงๆ
ดังคำบอกเล่าของเจ้าเมืองพิจิตร แต่มีขนาดองค์ใหญ่โตเกินไป
อีกประการหนึ่งก็เห็นว่าเป็นการทำลายจิตใจของชาวเมืองพิจิตร
จึงได้สั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำกลับไปไว้ที่เมืองพิจิตรตามเดิม
อย่างไรก็ตาม การอัญเชิญหลวงพ่อเพชรกลับมายังเมืองพิจิตรคราวนี้
ไม่ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่อุโบสถวัดนครชุมเหมือนเดิม
แต่นำมาไว้ที่วัดท่าหลวง โดยทำปรำคลุมไว้เป็นการชั่วคราว

เมื่อประชาชนรู้ข่าวการนำหลวงพ่อเพชรกลับมาที่เมืองพิจิตร
ต่างก็พากันมาปิดทองนมัสการอยู่ที่วัดท่าหลวง
จึงได้ปรึกษาหารือกันจะแห่แหนหลวงพ่อเพชรกลับไปวัดนครชุมอย่างเดิม
ส่วนราษฎรทางเมืองใหม่เห็นว่าเมืองพิจิตรได้ย้ายมาตั้งใหม่แล้ว
หลวงพ่อเพชรก็ควรจะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวเมืองใหม่ด้วย
จึงไม่ยินยอมให้ชาวเมืองเก่านำกลับไปวัดนครชุม



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)

เหตุการณ์ตอนนี้มีผู้เล่าขานว่า ขนาดเกิดการยื้อแย่งกัน
และถึงขั้นการเตรียมอาวุธเข้าประหัตประหารกัน เดือดร้อนถึง
พระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ในขณะนั้น
ต้องออกห้ามทัพ ด้วยเดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชร
ประกอบกับชาวเมืองพิจิตรเคารพนับถือท่านมาก ศึกครั้งนั้นจึงยุติลง
และได้ชี้แจงว่า จะหล่อหลวงพ่อเพชรจำลองเท่ากับขนาดองค์จริง
เพื่อนำกลับไปให้ชาวเมืองเก่าแทนองค์หลวงพ่อเพชรองค์จริง
ส่วนหลวงพ่อเพชรองค์จริงนั้น
ขอให้ประดิษฐานไว้ที่วัดท่าหลวงซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่
และถ้าชาวเมืองเก่าจะมานมัสการก็ไม่ไกลเกินไปนัก
ชาวเมืองพิจิตรก็เชื่อฟังแต่โดยดีไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
องค์หลวงพ่อเพชรจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าหลวงตราบเท่าทุกวันนี้

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่องค์หลวงพ่อเพชรได้ประดิษฐาน ณ วัดท่าหลวง นั้น
มีคนเล่าสืบต่อกันมาว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญ พระพุทธชินราช
จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อ.เมือง จ.พิษณุโลก
ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่
พระองค์จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบหาพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่งดงาม
สมควรที่จะนำไปแทนพระพุทธชินราช
จึงมีคำสั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำองค์หลวงพ่อเพชรไปยังเมืองพิษณุโลก

ข่าวการที่ทางราชการจะนำองค์หลวงพ่อเพชรไปกรุงเทพฯ
ได้ล่วงรู้ไปถึงประชาชน ชาวเมืองพิจิตรต่างพากันเสียดายและหวงแหน
องค์หลวงพ่อเพชรเป็นอันมาก จึงได้คบคิดกับนายอาง ซึ่งเป็นชาวญวน
มีหน้าที่จัดการทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรออก
เพื่อให้น้ำหนักเบาสะดวกในการขนย้าย เมื่อจัดการทะลวงหุ่นดินออกแล้ว
ก็ช่วยกันย้ายองค์หลวงพ่อเพชรไปซ่อนไว้ในป่า
และเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ มิได้หยุดหย่อน
แต่ข่าวการนำองค์หลวงพ่อเพชรเคลื่อนย้าย
หาได้พ้นการติดตามและค้นหาของเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองแต่อย่างใด
ผลที่สุดก็ใช้อำนาจบังคับให้นำองค์หลวงพ่อเพชรมาจากเมืองเก่า
และได้นำมาพักไว้ชั่วคราวที่วัดท่าหลวง เพื่อรอการนำไปยังเมืองพิษณุโลก

ชาวเมืองพิษณุโลกก็เช่นเดียวกันกับชาวเมืองพิจิตร
เมื่อทางราชการจะนำองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชไปจากพวกเขา
ต่างก็พากันหวงแหนโศกเศร้าเสียใจ ร้องให้กันทั่งเมือง เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก
ท่านเจ้าคุณสมุหเทศาภิบาล จึงได้นำความเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงทราบก็เห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก
จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ระงับการนำพระพุทธชินราชไปกรุงเทพฯ
โดยจะหล่อพระพุทธชินราชจำลองไว้ประดิษฐาน
ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แทน
เมื่อองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชไม่ได้เคลื่อนย้ายไปกรุงเทพฯ
องค์หลวงพ่อเพชรจึงได้ประดิษฐานอยู่
ณ วัดท่าหลวง อ.เมือง จ.พิจิตร ตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓o)








เครดิต :
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19301
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35