พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระเจ้าพลาละแข่ง หรือ “พระมหามุนี”
พระประธานในวิหารพระเจ้าพลาละแข่ง
วัดหัวเวียง ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน


“พระเจ้าพลาละแข่ง” หรือ “พระมหามุนี”
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารพระเจ้าพลาละแข่ง
วัดหัวเวียง ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

ด้วยเหตุที่วัดหัวเวียงหรือวัดกลางเวียงตั้งอยู่ใจกลางเมือง
จึงมักใช้เป็นที่จัดงานวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยใหญ่ตลอดปี

ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือเทศกาลต่างๆ เช่น
เทศกาลออกพรรษา เทศกาลปีใหม่สากล และเทศกาลปี๋ใหม่เมือง
วัดหัวเวียงจะได้จัดพิธีการสรงน้ำพระเจ้าพลาละแข่งเป็นประจำทุกปี
พอถึงเทศกาลสำคัญ จะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ
ต่างเดินทางมานมัสการเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์
อยู่คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนมานับหลายร้อยปี

พระเจ้าพลาละแข่ง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่อง
ฝีมือช่างชาวเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
องค์พระหล่อจากทองเหลือง
แต่พระพักตร์มีส่วนผสมของทองคำอยู่จำนวนหนึ่ง
ทำให้พระพักตร์เงาแวววาวอยู่เสมอ ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง

“พระเจ้าพลาละแข่ง” นี้จำลองมาจาก “พระมหามุนี”
ในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ซึ่งชาวพม่านับถือกันมาก
เนื่องจากเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทานลมหายใจให้แก่พระมหามุนี
การหล่อพระเจ้าพลาละแข่ง ช่างได้หล่อเป็นท่อนๆ จำนวน ๙ ท่อน

ส่วนประวัติความเป็นมาของพระเจ้าพลาละแข่ง หรือพระมหามุนี
พระพุทธรูปองค์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
มีตำนานเล่าว่า ในสมัยเมื่อ ๙๐ ปีล่วงมาแล้ว
ก่อนที่มีการจำลองพระพุทธรูปองค์นี้มาไว้บูชาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
มีประวัติเล่าว่า มีพ่อเฒ่าคนหนึ่งชื่อว่า “ลุงจองโพหย่า” เป็นพ่อค้าวัว
ในสมัยนั้นการคมนาคมลำบาก เวลาจะไปทำการค้าขายในต่างอำเภอ
ในระหว่างเดินทางนั้นต้องรอนแรมไปในป่าตลอดทาง
วันหนึ่งพ่อลุงจองโพหย่ากินหมากเสร็จเรียบร้อย
แล้วก็ไม่ได้เก็บเชี่ยนหมาก และไม่ได้ปิดฝาด้วยแล้วก็เข้านอนพักผ่อน

พอตื่นเช้าได้ทำธุระส่วนตัวเรียบร้อยก็หาเชี่ยนหมากเพื่อจะกินหมาก
พอมองดูในเชี่ยนหมากก็พบว่า มีพระบรมธาตุ ๑ องค์
ใหญ่ขนาดเมล็ดข้าวโพดอยู่ในเชี่ยนหมาก

พ่อลุงจองโพหย่า รู้ว่าเป็นพระบรมธาตุแน่นอน จึงได้บอกกล่าวแก่เพื่อนฝูง
ที่เป็นพ่อค้าด้วยกันทราบ แล้วก็บอกกับเพื่อนฝูงว่าเราจะเข้าไปในเมือง
เพื่อจะเอาผอบทองมาใส่พระบรมธาตุนี้ เมื่อได้ผอบทองคำมาแล้ว
ได้นำไปใส่พระบรมธาตุมาไว้ที่บ้านปางหมูก่อน
แล้วกลับเข้าไปในเมืองแม่ฮ่องสอนอีกครั้งหนึ่งเพื่อบอกข่าว
ให้แก่ประชาชนทั้งหลายที่มีจิตศรัทธาในเมืองแม่ฮ่องสอนโดยทั่วถึงกัน

ในขณะที่คณะศรัทธาบ้านปางหมู ได้เตรียมฆ้องกลอง
พร้อมเครื่องสักการะร่วมกับคณะศรัทธาชาวในเมืองแม่ฮ่องสอน
ได้จัดขบวนอัญเชิญพระบรมธาตุแห่แหนเข้าไปยังตัวเมือง
เพื่อจะนำไปไว้ที่บ้านพ่อลุงจองโพหย่า
วันรุ่งขึ้นได้จัดให้มีการถวายอาหารบิณฑบาต
พร้อมบอกกล่าวเพื่อนบ้านให้มาร่วมอนุโมทนาเป็นการใหญ่


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วพ่อลุงจองโพหย่าได้กลับไปทำหน้าที่ของตนเอง
ทำการค้าขายกับเพื่อนๆ เป็นเวลานานแรมเดือน
เมื่อเก็บเงินเก็บทองได้พอประมาณ ได้กลับมายังบ้านของตนเอง
เพื่อที่จะนำพระบรมธาตุไปประดิษฐานบรรจุไว้ในพระธาตุดอยกองมู

โดยพ่อลุงจองโพหย่าได้ปรึกษาหารือกับเพื่อนบ้านและกลุ่มพ่อค้าด้วยกัน
แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยที่จะนำเอาพระบรมธาตุ
ไปบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ เนื่องจากเป็นองค์พระเจดีย์ที่เก่าแก่

ในที่ประชุมได้เสนอให้พ่อลุงจองโพหย่าและพ่อลุงจองหวุ่นนะ
เดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ประเทศพม่า
เพื่อติดต่อขอจำลองพระมหามุนี หรือเจ้าพลาละแข่ง
โดยฝีมือช่างจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เป็นผู้จำลองขึ้น
เมื่อ จ.ศ.๑๒๗๙ ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๑๖ รวมน้ำหนัก ๙๙๙ กิโลกรัม

พ่อลุงจองโพหย่าและพ่อลุงจองหวุ่นนะ ได้ทำการบูชา
เพื่อนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดหัวเวียง ตลอดจนถึงปัจจุบัน
โดยได้อัญเชิญพระบรมธาตุขึ้นบรรจุไว้ในพระเศียรของเจ้าพลาละแข่ง

พระเจ้าพลาละแข่ง มีความศักดิ์สิทธิ์ได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏไว้หลายประการ
อาทิ อัญเชิญมาสู่วัดหัวเวียงจะมีฝูงผึ้งบินอยู่รอบโดยไม่ได้ทำอันตรายผู้ใด
ครั้นถึงเวลาจัดงานสมโภชจะมีกระแสลมอยู่เฉพาะภายในวิหาร
ส่วนภายนอกไม่ปรากฏ สมัยเมื่อครั้งยังไม่มีไฟฟ้า ในวันเพ็ญเดือน ๑๑
หรือ ๑๒ พระเจ้าพลาละแข่งจะเปล่งพระรัศมีทำให้วิหารสว่างไสวเสมอ

ชาวเมืองแม่ฮ่องสอนจึงถือว่าพระเจ้าพลาละแข่ง
เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
ใครที่เดินทางไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน ควรไปสักการบูชากราบไหว้
เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว




พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระประธานในอุโบสถ
วัดหลวง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระประธานในวิหาร
วัดต่อแพ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระประธานในวิหาร
วัดพระธาตุดอยกองมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระประธานในพระวิหาร
วัดจองคำ (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

หลวงพ่ออุ่นเมือง วัดน้ำฮู อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน

หลวงพ่อพระอุ่นเมือง เป็นพระสิงห์รุ่นที่ 3 หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้า ๒๘ นิ้ว สูง ๓๐ นิ้ว บนพระเศียรมีพระเมาลีครอบ ไม่มีประวัติการสร้างที่ชัดเจน เชื่อว่าสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา แต่ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ตรงบริเวณเศียรขององค์พระสามารถเปิดออกมาได้ ข้างในกลวงและมีน้ำขังอยู่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทางวัดมีการนำเอาน้ำจากเศียรพระมาทำเป็นนำมนต์ เพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยมที่เดินทางมาสักการะหลวงพ่ออุ่นเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ด้านหน้าของวัดยังมีศาล ซึ่งภายในประดิษฐานรูปหล่อเหมือนของสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรสให้นักท่องเที่ยวได้สักการะ ด้านหลังของโบสถ์มีเจดีย์สีทอง ซึ่งเชื่อว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสร้างถวายแก่สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาเมื่อครั้งสวรรคตไปแล้ว







พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระพุทธไสยาสน์ วัดคูหาภิมุข(วัดหน้าถ้ำ)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธไสยาสน์ หรือ “พ่อท่านบรรทม”
พระประธานในถ้ำคูหาภิมุข วัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ)
บ้านหน้าถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา



วัดคูหาภิมุข ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดหน้าถ้ำ” วัดเก่าแก่ของเมืองยะลา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 136 หมู่ที่ 1 บ้านหน้าถ้ำ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา มีที่ดินทั้งวัดเนื้อที่ 52 ไร่เศษ ระยะทางห่างจากตัวเมืองยะลาไปตามถนนหลวงหมายเลข 409 ประมาณ 8 กิโลเมตร

วัดหน้าถ้ำสร้างเมื่อปี พ.ศ.2390 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ นายเมือง บุตร พระยายะหริ่ง เป็น พระยายะลา ให้มีราชทินนามว่า พระยาณรงค์ฤทธิ์ ศรีประเทศวิเศษวังษา ตั้งที่ว่าราชการอยู่ที่บ้านท่าสาป

เมื่ออยู่นานเข้า เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างวัดขึ้น เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลในหมู่บ้าน จึงได้ขออนุญาตสร้างวัดขึ้นที่ริมเขาหน้าถ้ำที่มีพระนอนแห่งนี้

ภายในวัดคูหาภิมุข มีถ้ำใหญ่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา และพระพุทธรูปปางอื่นๆ มากมาย นอกจากนี้ภายในถ้ำคูหาภิมุขยังมีหินงอกหินย้อยเป็นรูปลักษณะต่างๆ เช่น ม่าน เศียรช้างเอราวัณ และมีน้ำใสสะอาดไหลรินจากโขดหินธรรมชาติ มีความร่มรื่น ตรงบันไดทางขึ้นไปยังปากถ้ำ มีรูปปั้นยักษ์ ชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าเขา" ภายในถ้ำมีลักษณะคล้ายห้องโถงใหญ่ ดัดแปลงปรับปรุงเป็นศาสนสถาน มีปล่องที่เพดานถ้ำยามแสงแดดส่องลงมาดูสวยงามมาก รวมทั้งมีการติดตั้งไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวที่จะชมถ้ำมืดแห่งนี้ด้วย

วัดคูหาภิมุข เป็นวัดที่สำคัญของเมืองยะลา มีพิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย เก็บวัตถุโบราณที่ได้มาจากวัดถ้ำภูเขากำปั่น พระพิมพ์ดินดิบ สถูปเม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อ “วัดหน้าถ้ำ” เป็น “วัดคูหาภิมุข”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยายะหริ่งมาสร้างเมืองยะลา ตั้งที่ว่าราชการ ณ บ้านท่าสาป ตำบลท่าสาป และสร้างวัดขึ้นที่ริมเขาหน้าถ้ำที่มีพระพุทธไสยาสน์ภายในถ้ำ

ปี พ.ศ.2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯมาประทับแรมที่วัดนี้ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ไว้ที่ผาหินในบริเวณวัดคูหาภิมุข


ตำบลหน้าถ้ำ

ภาพพิกัดทางภูมิศาสตร์ของวัดคูหาภิมุขตำบลหน้าถ้ำเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบร่องรอยศาสนสถาน เมืองโบราณ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่พบเทวรูปสำริด กำแพงเมือง พระพิมพ์ดินดิบแบบทวารวดีศรีวิชัย ภาพเขียนสีพระพทธรูปฉาย ภาพเขียนสีราชรถมีสัตว์เทียม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-17 ยะลาเป็นชุมชนเกษตร นักโบราณคดีได้พบภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์บริเวณถ้ำคูหาภิมุข เป็นภาพพระพุทธฉายและภาพราชรถแกะสลักไว้บนหน้าผา ภายในบริเวณถ้ำคูหาภิมุข


พระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์ ชาวตำบลหน้าถ้ำนิยมเรียกว่า “พ่อท่านบรรทม” เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ วัสดุก่ออิฐถือปูน ปั้นด้วยดินเหนียวโดยใช้ไม่ไผ่เป็นโครง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัยรุ่งเรือง ราว พ.ศ. 1300 หรือสมัยเดียวกับพระบรมธาตุเมืองนคร ขนาดความยาวของพระเศียรถึงพระบาท 81 ฟุต 1 นิ้ว โดยรอบองค์พระ 35 ฟุต ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา เป็นพระพุทธรูปที่แสดงออกถึงพัฒนาการหรือการผสานศิลปวัฒนธรรมต่างยุคเข้าไว้ด้วยกัน

เชื่อกันว่าเดิมเป็นปางนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะมีภาพนาคแผ่พังพานปกพระเศียร ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพระพุทธไสยาสน์แบบหินยาน ชาวใต้ถือกันว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 3 ของภาคใต้ เช่นเดียวกับพระบรมธาตุเมือง จ.นครศรีธรรมราช และพระธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

มีคำกล่าวว่าหากได้มาเยือนยะลา ต้องมากราบไหว้ขอพรพระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุขแห่งนี้ จะได้ชื่อว่ามาถึงยะลาอย่างแท้จริง และหากได้มาอธิษฐานบนบานองค์พระพุทธไสยาสน์ที่ถ้ำแห่งนี้ มักจะได้ผลสำเร็จสมปรารถนา

มีประวัติว่า พบครั้งแรกปั้นด้วยดินดิบ โครงไม้ไผ่สานเป็นตะแกรง ภายในองค์พระกลวงสามารถเดินลอดเข้าไปได้ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2464 องค์พระถูกน้ำจากเพดานหยดลงมาถูกพระอุระทะลุเป็นรูลึก เจ้าอาวาสจึงสั่งให้ช่างเหล็กผูกประสานไว้ จากนั้นจึงโบกปูนทับไว้ภายนอก ส่วนข้างในที่เป็นดินเหนียวปั้นเป็นลวดลายสังวาลย์ต่างๆ นั้น เก็บบรรจุรักษาไว้ภายในองค์พระเช่นเดิม

พุทธลักษณะต่างจากพระนอนองค์อื่นๆ คือ มีพญานาคทอดตัวยาวและแผ่พังพานปรกอยู่เหนือเศียร พระกรขวาทอดออกไปข้างหน้าตามแบบอินเดีย ที่ปรากฏโดยทั่วไปนั้นพระกรมักหักศอกตั้งฉาก ส่วนพระหัตถ์ยันรับพระเศียรไว้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นรูปหนึ่งของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

ประดิษฐานภายในถ้ำคูหาภิมุข วัดคูหาภิมุข เดิมชื่อ วัดหน้าถ้ำ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 วัดคูหาภิมุข มีพระพุทธรูป สมัยศรีวิชัย สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง ใกล้ๆ กับวัดมีภูเขากำปั่นเป็นภูเขาหินอ่อนสีชมพู สวยงามมาก ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนทำหินอ่อนจำหน่าย หินอ่อนสีชมพูจากยะลามีความสวยงาม มีชื่อเสียงระดับประเทศ


พิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย

พิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดคูหาภิมุข มีวัตถุโบราณที่ขุดค้นได้จากถ้ำต่างๆ ในตำบลหน้าถ้ำ ได้แก่ ภูเขาวัดถ้ำ ภูเขากำปั่น กรมศิลปากรค้นพบพระพิมพ์ดินดิบ สมัยศรีวิชัย สถูป เม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป ขวานหินขัด และบริเวณสนามบินท่าสาป ได้ค้นพบโคกอิฐ เนินดิน ซากกำแพงเมืองโบราณ เครื่องถ้วยชาม เทวรูปพระนารายณ์สำริด สูงประมาณ 1 ศอก (0.5 เมตร) พระพุทธรูปแกะสลักในแผ่นหินมีสภาพสมบูรณ์ จำนวน 3 องค์ กว้าง 21.50 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมาตร สลักเป็นรูปนูนต่ำ รูปพระพุทธเจ้าประทับนั่ง ปางสมาธิ อีกองค์หนึ่งชำรุดครึ่งหนึ่งมีแร่พระเศียร พระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง

พระพุทธรูปที่ค้นพบที่ถ้ำคนโท ที่เป็นพระพุทธรูปสลักในแผ่นหินมีอยู่ 3 องค์องค์ที่สมบูรณ์ ที่สุดสลักในแผ่นหินกว้าง 21.5 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร สลักเป็นรูปนูนต่ำรูปพระพุทธเจ้า ประทับนั่งแสดงปางสมาธิ ส่วนอีกรูปหนึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ชำรุดเสียครึ่งหนึ่งมีแต่พระเศียร พระพุทธรูปสำริด ที่พบจากถ้ำคนโทมีจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่ตกเป็นสมบัติเอกชนและไม่เป็นที่ เปิดเผยว่าอยู่ที่ใดบ้าง ที่เป็นสมบัติของวัดคูหาภิมุขเพราะชาวบ้านนำมาถวาย ซึ่งมักจะไม่สมบูรณ์ มีทั้งที่เป็นแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง บางองค์ก็สันนิษฐานว่าเป็น แบบศรีวิชัย แต่ ยังไม่มีการยืนยันให้แน่นอนลงไปได้ เนื่องจากภูเขากำปั่นเป็นภูเขาหินอ่อนสีชมพู ซึ่งหาได้ยากมาก รัฐบาลจึงได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนสำรวจทำหินอ่อนออกจำหน่าย ปัจจุบันหินอ่อนสีชมพู จากยะลามีชื่อเสียงมาก แต่ในอนาคต ถ้ำสำเภา ถ้ำคนโท และเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับพระพุทธรูป พระพิมพ์ในภูเขาแห่งนี้คงจะสูญหายไปด้วย

จากบันทึกของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการข้างต้น ทำให้ทราบว่าพื้นที่จังหวัดยะลาบริเวณตำบลท่าสาป และตำบลหน้าถ้ำปัจจุบัน เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กัน และพัฒนาเรื่อยมาจนเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
*****






พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
พระพุทธรูปยืนปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทยและสูงที่สุดในโลก
วัดบูรพาภิราม (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


“พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่”
เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานพร บุด้วยกระเบื้องโมเสกสีเนื้อ แลเห็นเด่นชัด
ศิลปะแบบพื้นบ้าน องค์พระรวมฐานแล้วมีความสูงทั้งสิ้น ๖๗.๕๕ เมตร
เป็นพระพุทธรูปยืนองค์สูงที่สุดในประเทศไทยและสูงที่สุดในโลก
นำพาการก่อสร้างโดยพระราชปรีชาญาณมุนี (พุทธา สิริวุฑฺโฒ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาภิรามรูปที่ ๕ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (มหานิกาย)
พระนักพัฒนา พระผู้ศรัทธาการก่อสร้างศาสนสถานและปูชนียสถานต่างๆ
โดยประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๘ ปี
สิ้นงบประมาณค่าก่อสร้างองค์พระเป็นจำนวนประมาณ ๗,๐๒๓,๕๗๙.๗๕ บาท

“พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔
เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดกระเบื้องโมเสกสีเนื้อ
ด้านหลังซึ่งเป็นฐานพิงขององค์พระนั้น มี พระเจดีย์ ขนาดความสูง ๙ เมตร
ซึ่งภายในประดิษฐาน พระบรมสาริกธาตุ ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย
โดยฐานพระพุทธรูปยืนองค์นี้เป็น ห้องพิพิธภัณฑ์ จำนวนหลายห้อง

ความสูงขององค์พระวัดจากพระบาทถึงยอดเกศสูงถึง ๕๙.๒๐ เมตร
โดยมีความสูงทั้งหมดรวมฐานขององค์พระ สูงทั้งสิ้น ๖๗.๕๕ เมตร
นอกจากนี้ “พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี” หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
ยังเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และปรากฏอยู่เป็นหนึ่งในคำขวัญ
ของเมืองร้อยเอ็ดด้วย ในวรรคที่ว่า
“เรืองนามพระสูงใหญ่”

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พระราชธรรมโสภณ (จำปี จนฺทธมฺโม)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสิริวุฒิเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาภิรามรูปที่ ๖
และอดีตเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (มหานิกาย) ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์
พระพุทธรัตนมงคลมหามุนีหรือหลวงพ่อใหญ่ โดยกะเทาะกระเบื้องโมเสกที่ชำรุดลง
ฉาบปูนใหม่ทั้งองค์ และทาองค์พระด้วยสีทอง พร้อมทั้งบูรณะกำแพงแก้วรอบองค์พระ
สิ้นงบประมาณค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๒,๗๕๐,๐๐๐ บาท

พุทธลักษณะของพระพุทธรูปยืนปางประทานพรองค์นี้ ค่อนข้างสูงชะลูด
มองดูไม่ได้สัดส่วนสมจริง สันนิษฐานว่าออกแบบก่อสร้างโดยช่างท้องถิ่น
สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามากกว่าจะเน้นความสวยงามขององค์พระ
เป็นความวิริยะอุตสาหะอย่างสูงของ พระราชปรีชาญาณมุนี (พุทธา สิริวุฑฺโฒ)
ที่เป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างพระยืนสูงที่สุดองค์นี้ให้เป็นศรีสง่าแก่เมืองร้อยเอ็ดสืบต่อไป

“วัดบูรพาภิราม” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด
เลขที่ ๕๕๙ ถนนผดุงพานิช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
เดิมเป็นวัดเก่าแก่ ติดคูเมืองเก่าด้านตะวันออกของจังหวัดร้อยเอ็ด
สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๓๔๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑
วัดบูรพาภิรามได้ก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐
เขตวิสุงคามสีมา มีความกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร
ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑
วัดมีเนื้อที่ทั้งหมด ๒๙ ไร่ ๓ งาน ๙๗ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๗๙

ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนทั้งชาวร้อยเอ็ดและในจังหวัดใกล้เคียง
จะเดินทางมาทำบุญ กราบไหว้ ขอพรและบนบาน ในแต่ละวันไม่ขาดสาย
เนื่องจากแทบทุกคนล้วนประสบความสำเร็จสมหวังด้วยกันแทบทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเที่ยวชมวันละกว่า ๑,๐๐๐ คน

วัดบูรพาภิราม เดิมชื่อ วัดหัวรอ เพราะเป็นสถานที่สำหรับรวมแขกคนในสมัยนั้น
ประชาชนส่วนใหญ่นิยมติดต่อค้าขายกับต่างเมือง พาหนะในการเดินทางยังไม่มี
นิยมเดินกันเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าค่ำไหนนอนนั่น
วัดหัวรอ จึงเป็นจุดแรกที่พ่อค้าวาณิชจะนัดพบกันและพักแรม
ในคืนแรกของการเดินทาง ก่อนที่จะออกเดินทางไปค้าขายยังต่างเมือง
ดังนั้น วัดแห่งนี้จึงถูกเรียกกันติดปากของคนสมัยนั้นว่า วัดหัวรอ
ซึ่งหมายถึงการรอคอยก่อนที่จะออกเดินทางต่อไป

ในสมัย พระอธิการหล้า อินฺทวํโส (เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดบูรพาภิราม)
ท่านได้ขยายเนื้อที่วัดเพิ่มจากที่แห่งเดิม เพื่อให้อาณาบริเวณกว้างขวางยิ่งขึ้น
รวมทั้ง ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ให้สมกับที่ตั้งว่า วัดบูรพา
ด้วยเหตุที่ว่าวัดตั้งอยู่ในทางทิศตะวันออกของเมือง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖
ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่อีกครั้ง โดยเพิ่มสร้อยต่อชื่อวัด
เพื่อความเหมาะสมยิ่งขึ้นว่า “วัดบูรพาภิราม” และใช้ชื่อนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันมี พระสุขุมวาทเวที (สถาพร โชติธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาส

ด้านทิศตะวันออกของบริเวณวัดบูรพาภิรามที่อยู่ติดกับคูรอบเมืองสมัยเก่า
เป็นที่ตั้งของ ศาลเจ้าพ่อมเหศักดานุภาพ ซึ่งชาวเมืองร้อยเอ็ดเคารพนับถือมาก

พุทธศาสนิกชนท่านใดอยากได้ในสิ่งที่ปรารถนา
เชิญมานมัสการและกราบขอพรจากพระพุทธรัตนมงคลมหามุนี
หรือหลวงพ่อโต เพื่อความเป็นสิริมงคลให้สมดังปรารถนา


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)







พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระนอนตะแคงซ้าย หรือ พระพุทธไสยาสน์
พระประธานในพระวิหาร วัดป่าประดู่
(พระอารามหลวง) ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง


จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย
มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร มีเนื้อที่ ๓,๕๕๒ ตารางกิโลเมตร

จังหวัดระยอง เริ่มปรากฏชื่อในพงศาวดารเมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๑๓
ในรัชสมัยของ สมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา
สันนิษฐานว่าเมืองนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๑๕๐๐
ยุคที่ขอมมีอานุภาพเฟื่องฟูแถบดินแดนสุวรรณภูมิ
ปรากฏจากหลักฐานคือ ซากศิลาแลง คูค่ายที่ยังหลงเหลืออยู่
ในเขตอำเภอบ้านค่าย อันเป็นศิลปะการก่อสร้างแบบขอม


ประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเมืองระยอง
ระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียทีแก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒
ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ ปีพุทธศักราช ๒๓๐๙
พระยาวชิรปราการ หรือพระยาตาก พร้อมไพร่พลประมาณ ๕๐๐ คน
ได้ตีฝ่าวงล้อมทัพพม่า มาหยุดพักไพร่พลที่เมืองระยอง
ก่อนเดินทัพต่อไปยังเมืองจันทบุรี เพื่อยึดเป็นที่มั่น
ในการกอบกู้อิสรภาพคืนจากพม่าในปีพุทธศักราช ๒๓๑๑

จังหวัดระยอง เป็นแหล่งอาหารทะเลและผลไม้นานาชนิด เป็นเมืองอุตสาหกรรม
และเป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
รวมทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่สำคัญ

ระยองได้รับการขนานนามให้เป็นเมือง “สุนทรภู่” เมืองแห่งกวีเอก
ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ประพันธ์วรรณกรรมประเภทร้อยกรอง
ได้อย่างไพเราะสละสลวย และเต็มไปด้วยจินตนาการ
โดยเฉพาะนิทานกลอนสุภาพ เรื่องพระอภัยมณี ซึ่งฉากหนึ่งในนิทานเรื่องนี้
คือ หมู่เกาะน้อยใหญ่และท้องทะเลที่สวยงามในจังหวัดระยอง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

นอกจากธรรมชาติอันงดงามแล้ว ในขณะเดียวกันระยองยังมีสถานที่ท่องเที่ยว
ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่หลายแห่ง และถ้าเป็นรูปแบบพระพุทธรูปแล้ว
ก็ต้อง “พระนอนตะแคงซ้าย” (พระพุทธไสยาสน์)
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดป่าประดู่
ในเขตเทศบาลเมือง ถนนสุขุมวิท ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

เดิมองค์พระตั้งอยู่กลางแจ้ง ต่อมามีการสร้างพระวิหารครอบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔

“วัดป่าประดู่” สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ประวัติความเป็นมาก่อนสร้างวัด ประมาณเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๒
พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ อุปัชฌาย์เทียน เดิมจำพรรษาอยู่ที่ วัดเนิน
(หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดอินทรสมบัติ ปัจจุบันรวมกับวัดลุ่ม)
ได้มาพบสถานที่แห่งนี้เป็นวัดร้าง มีต้นตะเคียนเป็นจำนวนมาก
มีซากวัดที่เหลือแต่ ซากโบสถ์ ซากพระพุทธรูปปางไสยาสน์
และ ซากองค์พระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์
วัดป่าประดู่แห่งนี้จึงเคยมีชื่อเดิมว่า วัดป่าเลไลยก์

อุปัชฌาย์เทียนจึงได้มาจำพรรษาเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่นี่
บรรดาชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงพากันศรัทธาเลื่อมใสในท่าน
จึงชักชวนกันสร้างกุฏิถวายและร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดนี้จนเจริญสืบมา

ต่อมา เพื่อให้สอดคล้องกับนามหมู่บ้านที่วัดตั้งอยู่คือ ตลาดท่าประดู่
อีกทั้งเพราะมีต้นประดู่ใหญ่อยู่ภายในวัดเป็นจำนวนมาก
(แต่ปัจจุบันเหลือเพียงต้นเดียวตรงปากประตูทางเข้าวัด)
และเพื่อมิให้ชื่อวัดพ้องกับวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรีด้วย
จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้เปลี่ยนนามวัดเป็น “วัดป่าประดู่”

ปัจจุบัน พระพุทธรูปทั้งสององค์ได้รับการบูรณะไว้
จึงถือเป็นพระเก่าแก่คู่บ้านเมืองของระยองแห่งหนึ่ง
วัดได้รับการพัฒนามาโดยตลอด
ปัจจุบัน กำลังก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่สวยงาม



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

วัดป่าประดู่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
เป็นวัดตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่มีความสำคัญต่อชุมชน
ในการปฏิบัติศาสนกิจและพิธีการทางศาสนาของประชาชน

ที่วัดป่าประดู่ มีพระพุทธรูปนอนตะแคงซ้ายที่เก่าแก่
เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่แปลกที่สุดในประเทศไทย

โดยปกติแล้ว เมื่อมีการสร้างองค์พระปางสีหไสยาสน์
มักจะสร้างประทับอยู่ในท่านอนตะแคงขวา
แต่พระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าประดู่สร้างในท่านอนตะแคงซ้าย
มีความยาว ๑๑.๙๕ เมตร สูง ๓.๖๐ เมตร ขนาดใหญ่

ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ พระครูสมุทรสมานคุณ (แอ่ว) อดีตเจ้าอาวาส
ได้บูรณะองค์พระส่วนที่ชำรุดแล้วปิดทองเสียใหม่

มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นการสร้างตามพระพุทธประวัติ
ตอนพระพุทธเจ้ากระทำยมกปาฏิหาริย์ให้พวกเดียรถีย์ชม
โดยมีพระพุทธนิมิตแสดงอาการอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้าเป็นคู่ๆ
เมื่อถึงอิริยาบถไสยาสน์จึงผินพระพักตร์เข้าหากัน
เป็นการนอนตะแคงซ้ายและขวาในลักษณะเดียวกัน
ผู้สร้างคงเจตนาสร้างให้มีนัยของพุทธปาฏิหาริย์ดังกล่าว
จึงสร้างเป็นพระนอนตะแคงซ้าย.....


องค์พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าประดู่ มีลักษณะพิเศษ
กล่าวคือ มีการหนุนพระเศียรด้วยหัตถ์ซ้าย
สังเกตจากพระเกศ ไรพระศก จีวรแล้ว น่าจะอยู่ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา
จนกระทั่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ดูแลรักษาอย่างดี

วัดป่าประดู่ ได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๓
อยู่คู่บ้านคู่เมืองระยอง และมีงานสมโภชใหญ่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำทุกปี

ทุกวันจะมีประชาชนผู้ศรัทธา เดินทางเข้าไปกราบไหว้ขอพร
เพื่อให้สมหวังในเรื่องต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล อย่างไม่ขาดสาย

การเดินทางไปสักการะพระนอนตะแคงซ้าย (พระพุทธไสยาสน์) วัดป่าประดู่
สามารถใช้เส้นทาง ถ.สุขุมวิท เข้าตัวเมืองระยอง ใกล้กับโรงพยาบาลระยอง
และโรงเรียนวัดป่าประดู่ ถือเป็นการเดินทางที่สะดวกสบายที่สุด


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)
พระวิหารวัดป่าประดู่ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระนอนตะแคงซ้าย”

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)
ด้านหน้าพระวิหารวัดป่าประดู่

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๙)
พระอุโบสถวัดป่าประดู่





เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19274
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35