พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔o)


ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อแก่นจันทน์ พระประธานในศาลาหลวงพ่อแก่นจันทน์
วัดช่องลม (พระอารามหลวง) ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี

"วัดช่องลม" พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมชื่อ วัดช้างล้ม ตั้งอยู่ใกล้บริเวณเมืองเก่า ริมถนนวรเดช ใจกลางเมืองราชบุรี เป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อแก่นจันทน์" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองราชบุรี

"หลวงพ่อแก่นจันทน์" เป็นพระพุทธปฏิมา ศิลปะสมัยทวารวดี ในส่วนตั้ง แต่พระเศียรถึงพระอุระ เป็นเนื้อทองสำริด ส่วนองค์พระสร้างด้วยไม้จันทน์หอม มีความสูงตั้งแต่พระเกศมาลาถึงพระบาท 2.26 เมตร เป็นพระพุทธปฏิมาปางอุ้มบาตร โดยบาตรขององค์หลวงพ่อ เหมือนสวมอยู่ในถุงบาตรและมีสิ่งหนึ่งยาวประมาณ 2 นิ้ว ยื่นออกมาจากขอบบาตร ซึ่งติดอยู่กับปากบาตรทั้งสองข้าง ดูแล้วเหมือนม้วนผ้าที่ยื่นออกมาสำหรับจับ

พระหัตถ์ของหลวงพ่อแก่นจันทน์จับอยู่ที่ม้วนผ้า คล้ายสะพายบาตร ซึ่งนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะแปลกจากพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรทั่วไป เพราะเป็นลักษณะถือบาตร ที่ไม่มีในพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรอื่น โดยยังเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก

หลวงพ่อแก่นจันทน์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และมีบารมีธรรมที่สูงส่งยิ่ง ตามปกติมีผู้มากราบไหว้บูชาขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ส่วนใหญ่จะขอให้ช่วยปัดเป่าเหตุร้ายทุกวัน จนเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของ จ.ราชบุรี ตลอดมา

สำหรับการจัดสร้างหลวงพ่อแก่นจันทน์ พระครูโสภณปัญญาวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดช่องลมแห่งนี้ บอกเล่าว่า คนส่วนมากมักเข้าใจตามคำบอกเล่าว่า ท่านลอยน้ำมา คล้ายกับประวัติของหลวงพ่อบ้านแหลม และหลวงพ่อโสธร

โดยมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์สร้างขึ้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยมีชายผู้หนึ่งเข้าไปในป่าเพื่อแสวงหาของป่า ในขณะที่เดินทางเข้าไปในป่าลึกก็ได้พบกับเสือใหญ่ตัวหนึ่ง เมื่อเสือตัวนั้นเห็นเข้าก็วิ่งเข้ามาเพื่อจะทำร้าย ชายผู้นั้นเห็นเสือวิ่งเข้ามาก็ตกใจกลัวรีบวิ่งหนี และในขณะที่กำลังวิ่งหนีนั้นก็ได้ไปพบต้นไม้ใหญ่อยู่ข้างหน้าจึงรีบวิ่งขึ้นไปบนค่าคบ ซึ่งเจ้าเสือตัวนั้นก็วิ่งตามไปจนถึงต้นไม้ใหญ่

ชายผู้นั้นกลัวเสือจะกัดจึงได้ตั้ง สัตยาธิษฐานว่า "ถ้าข้าพเจ้ารอดพ้นจากอันตรายคือไม่ถูกเสือกัดในครั้งนี้ ตนจะนำเอาต้นไม้ที่ข้าพเจ้าขึ้นมาอาศัยอยู่นี้ไปแกะเป็นพระพุทธปฏิมา เพื่อให้คนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา"

ปรากฏว่าเมื่อชายผู้นี้ตั้งสัตยาธิษฐานเสร็จเสือก็หายไป ชายผู้นั้นดีใจรีบลงมาจากต้นไม้ แล้ว กลับบ้านและได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการตั้งสัตยาธิษฐานของตนให้ชาวบ้านฟัง

รุ่งขึ้นชายคนนั้นก็ได้ชวนชาวบ้านเข้าไปในป่า เพื่อตัดต้นไม้ที่ตนตั้งใจเอาไว้เพื่อจะนำมาแกะเป็นพระพุทธปฏิมา โดยได้มีการทำความเคารพเจ้าที่และเทวดาที่รักษาต้นไม้ และขอขมาโทษต่อต้านไม้ ต่อจากนั้นก็ช่วยกันโค่น

เมื่อต้นไม้นั้นล้มลงแล้วก็พิจารณาดูเนื้อไม้ก็ รู้ว่าเป็นไม้จันทน์หอมที่หายาก และได้ช่วยกันทอนกะให้ได้ความยาวเท่ากับพระที่ตนจะทำ

เมื่อทำการแกะสลักเสร็จแล้วก็นำไปประดิษฐานไว้ที่บ้านแก่งหลวง เพื่อให้คนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา

ตามประวัติเล่าว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์นี้ลอยน้ำมาจาก จ.กาญจนบุรี สันนิษฐานว่า เมื่อหลวงพ่อแก่นจันทน์ ประดิษฐานอยู่ที่บ้านแก่งหลวงนั้น เมื่อถึงหน้าฝนมีน้ำหลากช่วงเดือน 11 ถึงเดือน 12 ฝนคงจะตกหนักจนน้ำท่วมมาก

เมื่อน้ำหลากมาถึงบ้านแก่งหลวงก็พัดพาเอาหลวงพ่อแก่นจันทน์ลอยไปถึงวัดใด ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำก็ตาม ประชาชนที่เห็นเข้าก็ช่วยกันฉุดกันดึงเพื่อจะนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดของตน แต่หลวงพ่อแก่นจันทน์ก็ไม่ยอมมา ไม่ยอมขึ้น แม้จะพยายามเท่าใดก็ไม่สำเร็จ

กระทั่งหลวงพ่อแก่นจันทน์ลอยมาถึงวัดช่องลม ท่านก็ได้ลอยวนอยู่หน้าวัดไม่ยอมไหลไปตามสายน้ำซึ่งกำลังไหลเชี่ยว

หลวงปู่จันทร์ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น จึงบอกให้พระสงฆ์และประชาชนมาทำความเคารพกราบไหว้และได้กล่าวอาราธนา แล้วก็พากันลงไปประคองและชะลอองค์ท่านขึ้นจากแม่น้ำ ท่านก็ขึ้นมาโดยง่าย ก่อนอัญเชิญท่านไปประดิษฐานไว้ที่วัดช่องลมแห่งนี้ พร้อมกับจัดงานสมโภชตลอดมา

ในอดีตหลวงพ่อแก่นจันทน์ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารจตุรมุข โดยพระเทพญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดช่องลม และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ได้จัดสร้างถวายเมื่อปี พ.ศ.2522 ก่อนที่พระครูโสภณปัญญาวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดช่องลมรูปปัจจุบัน จะได้ก่อสร้าง ศาลาหลวงพ่อแก่นจันทน์ และขยายพระวิหารจตุรมุขให้กว้างขึ้นอีก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มากราบไหว้นมัสการ







พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔o)

พระประธานในอุโบสถ
วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี








พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔o)

หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ พระประธานในวิหาร
วัดปราสาทสิทธิ์ ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

"หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดปราสาทสิทธิ์ เลขที่ 326 หมู่ที่ 5 ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธาและมีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ประวัติหลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์

ความเป็นมาของ หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ ได้รับการบอกเล่าจากคนเก่าแก่อย่าง พระครูสมุห์รวีโรจน์ วรมังคโล รองเจ้าอาวาสวัดปราสาทสิทธิ์ ว่า เมื่อ พ.ศ.2371 รัชสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปรารภว่า คลองสุนัขหอน ทางแม่กลองมาชนกับทางแม่น้ำท่าจีนที่ ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ทำให้คลองตื้นเขินบ่อยๆ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้การขุดคลองแต่ละครั้งจะใช้ได้นานๆ เจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุญนาค) ทูลแนะว่าให้ขุดคลองแยกจากคลองสุนัขหอนหรือคลองควายในปัจจุบัน ผ่านมาทางริมหมู่ บ้านโพหัก

ดังนั้น รัชกาลที่ 3 จึงรับสั่งให้ขุดคลองขึ้น โดยชาวจีนผู้รับจ้างที่อาศัยอยู่ที่โคกสูง ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนิน สะดวก ซึ่งเป็นที่ตั้งอุโบสถในปัจจุบัน กระทั่งเมื่อขุดเสร็จ เจ้าพระยาคลังได้มาตรวจดูคลอง สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือท่านช่วง บุญนาค ได้ติดตามบิดามาด้วย ตอนนั้นเจ้าพระยาคลังได้ปรารภว่า "โคกนี้สูงใหญ่กว้างขวางเหมาะที่จะสร้างวัด" แต่แล้วก็ยังไม่ได้มีการจัดสร้างวัด ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้รับสั่งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ดำเนินการขุดคลองดำเนินสะดวกเป็นระยะทางยาว เมื่อขุดคลองมาถึงหลักห้า พระยาศรีสุริยวงศ์ก็ระลึกถึงคำปรารภของเจ้าพระยาคลังผู้เป็นบิดาที่เคยปรารภ ว่าอยากจะสร้างวัดที่บริเวณดังกล่าว

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงตกลง ใจสร้างวัดขึ้นที่โคกนั้นด้วยสาเหตุ 3 ประการ คือ เพื่อทำตามความประสงค์ของบิดา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่น้องสาวที่วายชนม์ไปแล้ว และไว้สำหรับบำเพ็ญกุศลเหมือนกับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พระครูสมุห์ รวีโรจน์ วรมังคโล เล่าว่า เมื่อสร้างวัดเสร็จ เจ้าคุณอริยมุนี วัดราชาธิวาส ได้มาเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมา และในราว พ.ศ.2448 ท่านเจ้าอธิการแก้ว รัตนโชติ ก็ได้ย้ายศาลาการเปรียญไปไว้ริมเขื่อนด้านตะวันออก ต่อมา พ.ศ.2456 วัดเดิม กุฏิและโบสถ์เกิดการแตกร้าวมาก ประกอบกับว่าพื้นที่เป็นโคกดินเหนียว พอถึงช่วงฤดูแล้งก็แตกระแหงลึกมากเกือบเมตร พอฤดูฝน ฝนตกมากๆ ดินก็ทรุดเกินที่จะปฏิสังขรณ์ได้อีก ท่านเจ้าอธิการแก้วจึงย้ายวัดมา อยู่ที่ริมคลองดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน และเมื่อวัดสร้างเสร็จก็ตั้งชื่อว่า "วัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดาราม" แต่พอย้ายวัดลงมาอยู่ที่ริมคลองดำเนิน สะดวก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จมาตรวจก็ทรงรับสั่งว่า วัดควรจะให้ตั้งชื่อตามตำบลที่ตั้งอยู่ว่า "วัดดอนไผ่" แต่วัดให้ใช้ตามทางราชการ ว่า "วัดปราสาทสิทธิ์"

ส่วน "หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์" องค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลังใหม่ ริมคลองดำเนินสะดวก เป็นพระพุทธรูปหินเขียวปางสมาธิ ศิลปกรรมสมัยอยุธยา หน้าตักกว้างประมาณ 60 นิ้ว สูง 3 ศอกคืบ มีพระพักตร์กลมอิ่มยิ้ม พระอังสะและพระอุระใหญ่กว้างและผึ่งผายสง่างาม พระเพลาเป็นแบบสมาธิธรรมดา พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธลักษณะได้สัดส่วน ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างและผู้สร้าง แต่สันนิษฐานตามพุทธลักษณะ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณ มีอายุยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ย้อนกลับไป เมื่อครั้งที่วัดสร้างเสร็จ พระมหาแจ่ม วรรณวงศ์ ได้เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยพระอาจารย์บุนนาค ซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสสมัยนั้น ได้จัดกองผ้าป่าไปทอดยังวัดเชิงเลน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเสร็จพิธี คณะผ้าป่าก็ได้เอ่ยปากขอพระพุทธรูป เพื่อจะนำมาเป็นพระประธานในอุโบสถที่วัดเพิ่งสร้างเสร็จ เจ้าอาวาสวัดเชิงเลนท่านก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งคณะผ้าป่าได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษ ฐานที่วัดปราสาทสิทธิ์ เมื่อขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปี 2499 โดยตอนนั้นหลวงพ่อมีองค์ชำรุดที่บริเวณพระอังสะและพระเพลา คณะกรรมการวัดจึงได้ช่วยกันนำไปปฏิสังขรณ์ให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด เมื่อบูรณะเสร็จแล้ว พระมหาแจ่ม และพระอาจารย์บุนนาค เห็นพ้องต้องกันว่า เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาว ต.ประสาทสิทธิ์ และตำบลใกล้เคียง จึงขนานนามท่านว่า "หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์" ตั้งแต่นั้นมา ทุกวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 หรือช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นวันที่ได้อัญเชิญหลวงพ่อไตรรัตน์ฯ มาประดิษฐานที่วัดปราสาทสิทธิ์ ชาวบ้านได้ร่วมใจกันจัดประเพณีแห่พระทางน้ำเชิงอนุรักษ์ โดยได้นำองค์จำลองหลวงพ่อไตรรัตน์ฯ ขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว ประดิษฐานในขบวนเรือแห่ให้ประชาชนตลอดสองฝั่งคลองดำเนิน สะดวก ระยะทาง 32 กิโลเมตร ได้ตั้งโต๊ะสักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล การเดินทางมา สักการะหลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ วัดปราสาทสิทธิ์ สามารถเดินทางจากถนนพระราม 2 ผ่านทางวัดเกตุมดีฯ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เข้ามายัง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เพียง 60 กิโลเมตร








พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔o)
หลวงพ่อโต วัดเสาธงทอง


วัดเสาธงทอง เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ติดถนนฝรั่งเศส (Rule de France) ตรงข้ามตลาดสดเทศบาลเมืองลพบุรี ด้านหลังใกล้กับท่าขุนนางริมแม่น้ำลพบุรี ทิศเหนือ ใกล้กับบ้านหลวงรับราชทูต ทิศใต้ใกล้กับพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เดิมแยกเป็น 2 วัด คือ วัดรวก และวัดเสาธงทอง พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้รายงานกราบทูลเสนอความเห็นต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลอยุธยาว่า วัดรวกมีโบสถ์ ส่วนวัดเสาธงทองมีวิหารสมควรจะรวมเป็นวัดเดียวกัน ทรงดำริเห็นชอบให้รวมกันและให้เรียกชื่อว่า วัดเสาธงทอง เป็ฯวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งโบราณซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระวิหารหลวงและพระประธานเป็นฝีมือช่างแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างน้อยคงสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดเสาธงทองตั้งอยู่บนเนินดินที่สูงกว่าที่อื่นๆ และตั้งอยู่ใจกลางเมืองลพบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 15ไร่ 1 งาน โดยรอบวัดมีถนนเข้าวัดทั้งสี่ด้าน
วัดนี้มีโบราณสถานที่ควรชม คือ พระวิหารซึ่งเดิมคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่นเพราะจากแผนที่ของช่างชาวฝรั่งเศสทำไว้ ระบุว่า พื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่พำนักของราชทูตชาวเปอร์เซีย พระวิหารหลังนี้อาจเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามของชาวเปอร์เซียก็เป็นได้ นอกจากนี้ ก็มีตึกปิจู ตึกคชสาร หรือตึกโคโรซาน เป็นตึกเก่าสันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พำนักของแขกเมือง และราชทูตต่างประเทศชาวเปอร์เซีย โดยตึกปิจู มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า เล็ก ซึ่งอาจเป็นที่อาศัยของชาวฝรั่งเศสที่มารับราชการ ส่วนตึกโคโรซาน เป็นชื่อเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของเปอร์เซีย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นตึกที่ใช้รับรองชาวเปอร์เซียที่มาพำนัก กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 [1]วิหารหลวง


วิหารหลวง

พระวิหารวัดเสาธงทอง เป็นวิหารที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ศิลปะอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 วา สูง 4 วา 2 ศอก ถือเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองลพบุรีมาช้านาน บริเวณของผนังพระวิหารเจาะเป็นช่อง ซุ้มโค้ง ประดิษฐานพระพุทธรูปลักษณะต่างๆ ส่วนพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔o)

พระเจดีย์

ตั้งอยู๋ระหว่างพระวิหารหลวงกับศาลาการเปรียญ มีมาแต่ครั้งโบราณ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐาน 8 เหลี่ยม กว้าง 9 วา สูง 17 วา ตรงกลางเหนือฐานขึ้นไปมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปซุ้มละ องค์ 8 ซุ้ม เหนือขึ้นไปเป็นทรงลังกา
พระอุโบสถ

พระอุโบสถมีใบเสมา 2 ชั้น เป็นหินทรายสลัดลวดลายแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา และเคยได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2470 เพระถูกไฟไหม้ ได้เทคอนกรีตเสริมเหล็กบนทั้งหลัง พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร เนื้อในองค์พระเป็นศิลาทราย มีรูปั้นหุ้มไว้ เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา
หอระฆัง

ก่ออิฐถือปูน ฐานกว้าง 2 วา สูง 5 วา (แต่เดิมมี 3 หอ ลักษณะเหมือนกัน แต่ถุกรื้อไป หอ คือหอทิศเหนือพระวิหารและกลางวัดส่วนระฆังนำไปแขวนที่หอระฆังใหม่ หน้าศาลาการเปรียญ 2 ใบ)คงเหลืออยู่หอเดียว เข้าใจว่าสร้างรุ่นเดียวกับพระวิหารหลวง
สิ่งของพระราชทานสำหรับวัดนี้

ตู้พระไตรปิฎก และพรธไตรปิฎกฉบับสยามรัฐรัชกาลที่ 5 พระราชทาน
ธรรมาสน์ชั้นตรี รั้ชกาลที่ 6 พระราชทานงานถวายพระเพลิงรัชกาลที่ 5
พระบรมรูปหล่อยืนในรัชกาลที่ 5 ทรงเครื่องจอมพลทหารบก
ลำดับเจ้าอาวาส

เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ไม่มีหลักฐานปรากฏ สำหรับเจ้าอาวาสตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบันมีดังนี้
ท่านเจ้าอยู่
พระครูสังฆภารวาหะ (ชื่น)
พระครูสังฆภารวาหะ (เล็ก)
พระสังฆภารวาหมุนี (เนียม)กำกับการคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี (พ.ศ. 2457-2478)
พระธรรมารามมุนี ขุน ป.ธ 6 เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. 2478-2506)
พระราชวรรณเวที (คล้อย)ป.ธ 6(พระราชาคณะชั้นราช) เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. 2506-2513)
พระธรรมมหาวีรานุวัตร ป.ธ 7 (พระราชาคณะชั้นธรรม) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (พ.ศ. 2513- 2554)
พระวิมลปัญญาภรณ์ ป.ธ.7(พระราชาคณะชั้นสามัญ)รองเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี(พ.ศ.2554-ปัจจุบัน)


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔o)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔o)
เจดีย์และวิหารหลวง

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔o)
ศาลาการเปรียญ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔o)
พระอุโบสถ







เครดิต : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87_(%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B5)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73&t=41034
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35
ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสด
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ วิจิตรา เนตรอุบล