พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)


ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อโต
พระประธานในอุโบสถ วัดนาทวี
บ้านนาทวี ต.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา


“หลวงพ่อโต” วัดนาทวี ต.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา
เป็นพระพุทธรูปโบราณศิลปะอยุธยา มีหน้าตักกว้าง ๒.๒๐ เมตร
ทำจากปูนปั้น โดยช่างท้องถิ่นและชาวบ้านร่วมกันจัดสร้าง

ถือว่าเป็นปูชนียวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิ์
มีปาฏิหาริย์และปรากฏการณ์ที่เล่ากล่าวขานเป็นตำนาน
หลายอายุคนเป็นที่พึ่งทางใจและเคารพนับถือของประชาชน
ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ให้ความนับถือศรัทธาเป็นอย่างมาก

มีความเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์จริง และปาฏิหาริย์ที่ทุกคนประสบ
มีเรื่องเล่ากันมาว่า แต่เดิมชาวบ้านแถวนาทวี และใกล้เคียง
เมื่อมีของหายหรือถูกโจรลักวัวลักควาย ต่างก็เดินทางมากราบไหว้
บนบานอธิษฐานกับ “หลวงพ่อโต” พระประธานของวัดนาทวี
ขอให้ได้ของคืน เช่น วัวควาย และของมีค่า ฯลฯ
ส่วนมากจะได้คืนกลับมาเป็นอัศจรรย์และความสมปรารถนา

แม้แต่ในปัจจุบันทุกคนมีความเชื่อว่าเมื่อแต่งงานกันแล้ว ไม่มีบุตรไม่มีธิดา
โดยเฉพาะชายหญิง ทั้งๆ ที่ร่างกายไม่ได้บกพร่อง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน
ทุกคนมีความเชื่อกันว่า เมื่อเดินทางไปจุดธูปจุดเทียนบูชาหลวงพ่อโต
และอธิษฐานขอลูกกับหลวงพ่อโตแล้วทุกคน ก็จะได้สมปรารถนา
และหลายคนก็มีความเชื่อกันอีกว่า ชีวิตนี้ ชาตินี้ได้เป็นพ่อแม่ ลูก และญาติสนิท
คนที่รักปรารถนาดีให้ความรัก เกื้อหนุน จุนเจือ อุปถัมภ์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ชีวิตนี้ ชาตินี้มีอันต้องจากไป ถ้าชาติหน้ามีจริงขอให้เกิดมาประสบพบเจอ
และเป็นญาติพี่น้องคนที่เคารพนับถือ ซึ่งมีความห่วงใยซึ่งกันและกัน
และขอให้สมความปรารถนาในคำอธิษฐานนั้น
ทุกคนก็เดินทางมาเป็นจำนวนมากทั้งใกล้และไกล ในประเทศและต่างประเทศ
หลายเชื้อชาติศาสนามาอธิษฐานขอพรกับหลวงพ่อโต พระประธานวัดนาทวี
ขอให้สัมฤทธิผลในชาติหน้าและชาตินี้

สำหรับ อุโบสถวัดนาทวี เป็นทรงโบราณเก่าแก่ หลังคาทรงไทยแบบปักษ์ใต้
เปิดโล่งทั้ง ๓ ด้าน มีความเชื่อกันว่ารับพลังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๓ ภพ
เช่น สวรรค์ มนุษย์ บาดาล ซึ่งมี “หลวงพ่อโต”
พระประธานภายในอุโบสถ เป็นประธานของจักรวาล
อุโบสถมีความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๓ เมตร
สันนิษฐานจากคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙
โดย พระอธิการซ้าย ธัมมโชโต เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ รวมอายุประมาณ ๑๐๙ ปี
และศรัทธาจากชาวบ้านนาทวีและบ้านใกล้เคียง
ร่วมกันสร้างเพื่อเป็นถาวรวัตถุสืบทอดพระพุทธศาสนา

วัดนาทวี สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๖๐
ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
บนที่ดินของนายยอดทอง ซึ่งมีตำแหน่งหัวเมือง หรือนายอำเภอ
โดยมี พระสัน สันตจิตโต จากวัดนาหว้า เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
และเนื่องจากพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบริมคลองนาทวี เกิดน้ำท่วมทุกปี

แต่สิ่งที่สร้างความมหัศจรรย์ใจให้กับชาวบ้านและหมู่บ้านข้างเคียงมาตลอด
คือ เมื่อเกิดน้ำท่วมถึงพื้นอุโบสถ แต่ไม่ถึงฐานพระประธานแม้แต่ครั้งเดียว
และเมื่อดูน้ำในคลองก็พบว่าน้ำมีระดับสูงกว่าฐานองค์หลวงพ่อโต

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนที่ได้ทราบได้รู้ได้เห็นจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมา
ยิ่งเพิ่มความศรัทธากับหลวงพ่อโต พระประธานวัดนาทวี ทวีคูณยิ่งขึ้นเป็นอย่างมาก
และยังเป็นที่พึ่งทางกายทางใจกับบุคคลที่ตกทุกข์ได้ยาก
และทำการสิ่งใดไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เข้ามาภายในโบสถ์วัดนาทวี
ได้กราบไหว้พระประธานแล้ว ทุกคนกลับก็ประสบพบแต่สิ่งที่ดีๆ
อุดมพรั่งพร้อมไปด้วย ลาภผลพูนทวี มั่งมีศรีสุข ตลอดกาล

ของศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดนาทวี มีอีกอย่างหนึ่งคือ แหวนพุทธดำรง
เป็นกำไลหยกโบราณซึ่งขุดพบที่ท้องนา อำเภอนาทวี
คนขุดพบก็ได้นำมาถวายให้กับวัดนาทวี

ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันวัดนาทวีได้นำแหวนพุทธดำรง
มาประกอบพิธีกรรมแช่น้ำพุทธมนต์
แล้วนำมานาบตามส่วนของร่างกายที่เจ็บไข้ได้ป่วย
เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคภายในที่ไม่สามารถล่วงรู้ได้
ก็มีอภินิหารหลายจากโรคร้ายได้
ปัจจุบันมีประชาชนเดินทางไปที่วัดนาทวี
เพื่ออธิษฐานขอให้แหวนพุทธดำรง
มานาบตามร่างกายที่เจ็บไข้ได้ป่วยวันละหลายร้อยคน

พระครูสุวัฒนาภรณ์ (อาจารย์ภัตร อริโย) เจ้าอาวาสวัดนาทวี
เป็นพระนักพัฒนา ช่วยเหลือสังคมการศึกษามอบทุนกับโรงเรียนต่างๆ ทุกปี
และยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์
ได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ ตำราโบราณ ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก
และแนะนำวิธีการดำเนินชีวิตในด้านธุรกิจและสังคม

สำหรับท่านที่จะเดินทางไปวัดนาทวีจะไปไหว้พระประธาน
หรือกราบอาจารย์ภัตร อริโย เจ้าอาวาส ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ติดต่อสอบถามเส้นทางไป...วัดนาทวี
เลขที่ ๕๕ หมู่ที่ ๔ บ้านนาทวี ต.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา
โทรศัพท์ ๐๘-๗๘๙๙-๙๙๐๙, ๐๗๔-๓๗๓-๔๔๓








พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)

ไหว้พระปรพธาน ๗๗ จังหวัด


• พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง •
จังหวัดสตูล


ตั้งอยู่ที่ถนนศุลกานุกูล ตำบลพิมาน เดิมชื่อ วัดมำบัง เป็นวัดแห่งแรกของเมืองสตูล สร้างเมื่อ พ.ศ. 2425 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนาธิปเฉลิมเมื่อ พ.ศ.2482 ชาวเมืองสตูลส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นที่รวมน้ำใจของชาวพุทธศาสนามาร่วม 100 กว่าปี พระอุโบสถของวัดสร้างเมื่อ พ.ศ.2473 มีลักษณะเด่นแตกต่างจากพระอุโบสถทั่วไป คือ เป็นอาคารทรง 2 ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ใช้เป็นศาลาการเปรียญ ชั้นบนเป็นอาคารไม้ ใช้ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นระเบียงมีบันไดสองข้าง เสาบานหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปเครือเถา วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดที่หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสตูลร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสตูล โรงเรียนสตูลวิทยา ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สอบถามรายละเอียดหมายเลขโทรศัพท์ +66 7471 1996








พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)



ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อโต
พระประธานในพระอุโบสถ วัดบางพลีใหญ่ใน
(พระอารามหลวง) ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ


“หลวงพ่อโต” ได้ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
วัดบางพลีใหญ่ใน ริมคลองสำโรง ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางสะดุ้งมาร) สมัยกรุงสุโขทัย ขัดสมาธิราบ
องค์พระเป็นทองสำริดทั้งองค์ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ลืมพระเนตร
องค์หลวงพ่อได้รับการกล่าวขวัญถึงความศักดิ์สิทธิ์
เป็นที่เคารพสักการะของชาวบางพลีและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ประมาณกาล ๒๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว
ได้มีพระพุทธรูป ๓ องค์ ปาฏิหาริย์ลงมาจากทางเหนือ
ลอยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดมา

พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ เข้าใจว่าปวงชนในกรุงศรีอยุธยา
คงอาราธนาท่านลงสู่แม่น้ำ เพื่อหลบหนีข้าศึก
ด้วยในสมัยนั้นบ้านเมืองได้เกิดสภาวะสงครามขึ้นกับพม่า

พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำ
และบางครั้งก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้ผู้คนเห็นตามลำดับ
จนเป็นที่โจษจันกันทั่ว ถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน

ต่อมาภายหลังปรากฏว่า พระพุทธรูปองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐาน
อยู่ที่ วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) จ.สมุทรสงคราม

ในเวลาไล่เลี่ยกันพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง
ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดโสธรเทพวราราม จ.ฉะเชิงเทรา

ส่วนอีกองค์หนึ่งได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา
ปาฏิหาริย์ลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง
ประชาชนพบเห็นต่างโจษจันกันไปทั่ว พร้อมกับได้อาราธนา
ขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่พระพุทธรูปไม่ยอมขึ้น

ในที่นั้น มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่ง ได้ให้ความเห็นว่า
คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน
แม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งไม่สำเร็จเป็นแน่
ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน
แล้วใช้เรือพายฉุดท่าน ให้ลอยตามลำน้ำสำโรงและอธิษฐานว่า
“หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใด
ก็ขอจงได้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด”


เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องดีกันดังนั้นแล้ว
ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือ
ซึ่งสมัยนั้นเป็นเรือพายทั้งสิ้น ช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง
เรือที่ใช้ลากจูงแพมานั้นมีชื่อแปลกต่างๆ กัน เช่นชื่อ ม้าน้ำ
เป็ดน้ำ ตุ๊กแก และอื่นๆ เป็นต้น และจัดให้มีการละเล่นต่างๆ
มีละครเจ้ารำถวายมาตลอดทาง และการละเล่นอื่นๆ ครึกครื้นมาตลอดทั้งลำน้ำ

ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม
หรือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านเกิดหยุดนิ่ง

พยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาได้ขยับเขยื้อนไม่

ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลี จึงได้พร้อมใจกัน
อาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครอง
ชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว
ก็ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด”


และเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนัก
สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย
ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่านเป็นอย่างยิ่ง
และได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา

ครั้นต่อมาได้รื้อวิหารนั้นอีกเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร
จึงต้องชะลออาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว
จนกระทั่งได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว
จึงได้อาราธนาท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ
เพื่อเป็นพระประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน

เล่ากันว่า เมื่อคราวสร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ
ได้วัดช่องประตูพระอุโบสถกับองค์หลวงพ่อโต
ปรากฏว่า ช่องประตูใหญ่กว่าองค์พระประมาณ ๕ นิ้ว
ซึ่งสามารถนำองค์หลวงพ่อโตผ่านเข้าไปได้

แต่พอถึงคราวอาราธนาจริง กลับปรากฏว่าองค์หลวงพ่อใหญ่กว่าประตูมาก
คณะกรรมการจำนวนหนึ่งเห็นว่าควรทุบช่องประตูทิ้ง
แต่อีกจำนวนหนึ่งเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโต
จึงได้พร้อมใจกันอธิษฐานขอให้หลวงพ่อโตสามารถผ่านเข้าประตูได้
เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบไป

เมื่ออธิษฐานเสร็จก็อาราธนาหลวงพ่อโตผ่านประตูได้โดยสะดวก



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)

การที่ท่านได้พระนามว่า “หลวงพ่อโต” คงเป็นเพราะองค์ของท่านใหญ่โต
คือ ใหญ่โตกว่าองค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันทั้ง ๒ องค์
จึงถือเป็นนิมิตอันดีให้ประชาชนพากันถวายนามว่า “หลวงพ่อโต”
เป็นสิ่งที่เคารพสักการะของชาวบางพลี ตราบเท่าทุกวันนี้

ทั้งนี้ การลำดับว่าองค์ไหนเป็นองค์พี่ องค์กลาง และองค์น้อง
เนื่องจากลอยน้ำมาพร้อมกัน ซึ่งตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา
เข้าใจว่าคงจะนับเอาองค์ที่อาราธนาขึ้นจากน้ำได้ก่อนเป็นองค์พี่
ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๒ เป็นองค์กลาง ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๓ เป็นองค์น้อง ตามลำดับคือ

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม
อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๑


หลวงพ่อโสธร วัดโสธรเทพวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๒


หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ
อาราธนาขึ้นจากน้ำเป็นองค์ที่ ๓ เรียงกันตามลำดับ


นอกจากนี้ หลวงพ่อโตยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เจ็บป่วยทั้งหลาย
ที่มาบอกเล่าบนบานกราบนมัสการท่าน บางท่านได้นำน้ำมนต์หลวงพ่อไป
เพื่อความเป็นสิริมงคล ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นนั้นหายวันหายคืน

แม้แต่กระทั่งรูปเหรียญหลวงพ่อโต ชาวบ้านทั้งใกล้ไกลต่างพากัน
ห้อยคอให้แก่บุตรหลานของตน เพราะเมื่อเด็กเผลอพลัดตกน้ำ
เด็กนั้นกลับลอยได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ ตลอดทั้งพระเครื่องราง
ที่ทำเป็นรูปขององค์หลวงพ่อ ก็มีอภินิหารป้องกันภยันตรายต่างๆ ได้

ทุกวันนี้ชาวบางพลีต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และบารมีของหลวงพ่อโต
ที่คุ้มครองชุมชนบางพลีให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย
ในขณะที่ชุมชนโดยรอบ อาทิ ตลาดบางบ่อ ตลาดจระเข้
ตลาดคลองด่าน ล้วนแต่ประสบกับอัคคีภัยมาแล้วทั้งนั้น

คาถาบูชาหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

อิมินา สักกาเรนะ พุทธะมหานุภาโว
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมะมหานุภาโว
อิมินา สักกาเรนะ สังฆะมหานุภาโว
อิเมยันตา มหาเตชา มหานุภาตะชาติกา
มหามังคะละ สัมพุทตา อันตราเยวินาสะกา
สัพพะถะสุขะ สัมพุทตา อเนกาคุณันตานานับปะโก
สัพพะทุกขัง สัพพะภะยัง สัพพะโรคังวินาสสันติ
สัพพะลาภัง สัพพะสุขัง ภะวันตุเมฯ

ปัจจุบัน วัดบางพลีใหญ่ใน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
เนื่องด้วยในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ยกฐานะวัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ
จากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา
พร้อมกับวัดราษฎร์อื่นๆ ทั่วประเทศรวมจำนวน ๒๐ วัด


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)
หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)
ชุมชนหน้าวัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ





พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อบ้านแหลม หรือ “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม”
วัดเพชรสมุทร วรวิหาร (วัดบ้านแหลม) อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

“หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” แห่งแม่น้ำแม่กลอง ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดเพชรสมุทร วรวิหาร (วัดบ้านแหลม) ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ตามตำนานหลวงพ่อลอยน้ำ ๕ พี่น้อง พระพุทธรูป ๕ องค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันจากทางเหนือนั้น มีเพียงองค์เดียวที่เป็นพระพุทธรูปยืน คือ องค์ที่ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลองแล้วขึ้นสถิตอยู่ ณ วัดเพชรสมุทร วรวิหาร (วัดบ้านแหลม) ก็คือ หลวงพ่อบ้านแหลม นั่นเอง

-ประวัติความเป็นมา

สำหรับตำนานเล่าขานหลวงพ่อบ้านแหลมนั้น มีตำนานอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลาก พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ทุกคนต่างดีใจมาก จึงอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับเข้าฝั่ง แต่ระหว่างทางคนในเรือได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยปริ่มๆ น้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไป จึงได้พบ พระพุทธรูปยืน ทุกคนต่างอัศจรรย์ใจเป็นที่สุดที่พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น แล้วอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง

พอเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้า วัดศรีจำปา ได้เกิดอาเพทคล้ายกับว่า พระพุทธรูปยืน ท่านประสงค์ที่จะอยู่วัดนี้ จึงทำให้ฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด จนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งองค์ที่เหลืออยู่ ไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ ณ วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างช่วยกันลงดำน้ำค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่นั้น และอาจเป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปา จึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาดำน้ำจนพบและอาราธนาไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา

ครั้นชาวประมงบ้านแหลมรู้ข่าวว่าชาวบ้านศรีจำปาพบพระพุทธรูปของตนที่จมน้ำ จึงยกขบวนกันมาทวงพระคืน แต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้ จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้น แต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อและการมีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็สามารถประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ ฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมจึงยินยอมยกพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรให้ชาวบ้านศรีจำปาไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็น “วัดบ้านแหลม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาแต่แรก

ตั้งแต่นั้นมา “วัดศรีจำปา” จึงได้นามว่า “วัดบ้านแหลม” มาจนทุกวันนี้ และขนานนามพระพุทธรูปยืนองค์นี้ว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ต่อมาวัดบ้านแหลมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเพชรสมุทร วรวิหาร”



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)
“หลวงพ่อบ้านแหลม” พระประธานในพระอุโบสถ


-พุทธลักษณะ

หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลืองแบบสมัยสุโขทัยตอนปลาย ภายในโปร่ง ส่วนสูงประมาณ ๑๗๐ เซนติเมตร (บ้างว่าสูงประมาณ ๒ เมตร ๘๐ เซนติเมตร) แต่บาตรเดิมนั้นได้สูญหายไปในทะเลก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้เสด็จมานมัสการและได้ถวายบาตรแก้วสีเงินแก่หลวงพ่อบ้านแหลมดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

-ความศักดิ์สิทธิ์

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ไม่ว่าเป็นทางก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ทางแคล้วคลาด ทางรักษาโรค และเรื่องอื่นๆ อีกมาก แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงทราบ อีกทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงเลื่อมใส ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๖ ที่พระราชทานมายังพระครูมหาสิทธิการ (แดง) ความว่า

“ปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จไปยังเมืองสมุทรสงคราม ในกระบวนหลวง ได้รับสั่งให้คนนำเครื่องสักการะไปถวายหลวงพ่อบ้านแหลม และได้รับสั่งไว้แต่ครั้งนั้นว่า ขอผลอานิสงส์ความทรงเลื่อมใส จงบันดาลให้หายประชววร ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นานก็หายประชวร จึงทรงระลึกถึงที่ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานไว้สมพระประสงค์ โปรดพระราชทานปัจจัยเป็นมูลค่า ๘๐๐ บาท มาเพื่อช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดบ้านแหลม ข้าพเจ้าได้ส่งมาให้ท่านพระครูทางกระทรวงธรรมการแล้ว”

อีกประสบการณ์หนึ่งจากผู้ที่รอดชีวิตเพราะบุญญาบารมีของหลวงพ่อคุ้มครอง คือ นายชิต เข้มขัน อดีตนายด่านศุลการกร สมุทรสงคราม ได้ประกอบอาชีพเป็นกัปตันเรือเดินทะเลระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ คราวหนึ่งเรือถูกพายุอัปปางลง เขาต้องลอยอยู่ในทะเลหลายชั่วโมงจวนหมดกำลังจมน้ำอยู่แล้ว ก็นึกถึงหลวงพ่อบ้านแหลมขึ้นมาได้ จึงขอให้หลวงพ่อช่วย

ขณะนั้นเรือที่เดินอยู่ในทะเลได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วย จึงหันหัวเรือตามหา แต่เดือนมืดมองไม่เห็น เรือแล่นวนเวียนอยู่สักครู่ก็จะหันหัวเรือกลับ แต่ก็ได้ยินเสียงคนร้องเรียกให้ช่วยอยู่เรื่อย จึงค้นหาอีกจนพบนายชิต เข้มขัน ลอยคออยู่จวนจะจมน้ำ เมื่อเอาตัวขึ้นมาบนเรือนั้นนายชิตสลบไม่ได้สติ ต้องแก้ไขอยู่นาน พอฟื้นขึ้นมาจึงพากันซักถามว่าตะโกนให้ช่วยหรือเปล่า นายชิตบอกว่าไม่ได้เรียกให้ช่วย เป็นแต่คำนึงถึงหลวงพ่อบ้านแหลมอยู่ในใจ ขอให้หลวงพ่อช่วยเท่านั้นเอง

-บนบานศาลกล่าว

เรื่องการบนบานขอให้หลวงพ่อบ้านแหลมช่วยเหลือนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันมาว่า ท่านช่วยทุกเรื่องที่คนเข้ามาขอความเมตตา ยกเว้นเรื่องทหาร หากมาขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร คนนั้นเป็นต้องถูกเกณฑ์อย่างแน่นอน เพราะกล่าวกันว่าท่านชอบทหารนั่นเอง และเมื่อสิ่งที่บนบานไว้ได้ดังประสงค์ มักจะนิยมแก้บนกันด้วยพวงมาลัยเป็นส่วนใหญ่ จะมีประทัดบ้างก็ประปราย

-ที่พึ่งของชาวประมง

ทุกวันนี้ก่อนออกเรือหาปลา ชาวประมงสมุทรสงคราม จะกราบไหว้และขอพรหลวงพ่อบ้านแหลมให้คุ้มครองพวกตนพ้นจากภยันตราย และกลับมาโดยสวัสดิภาพ และได้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อๆ กันมาตราบจนทุกวันนี้




พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)
วัดเพชรสมุทร วรวิหาร (วัดบ้านแหลม) อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม





พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)

พระหลับตา วัดบางน้ำวน
หมู่ที่ 4 ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาครนั้น


จากกรณีที่มีข่าวแพร่สะพัดออกไปว่า มีพระพุทธรูปลืมตาในตอนเช้าและหลับตาในตอนกลางคืน โดยประดิษฐานอยู่ที่บริเวณลานหน้าวัดบางน้ำวน หมู่ที่ 4 ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาครนั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในช่วงค่ำของวันที่ 30 เมษายน ปรากฎว่า มีชาวบ้านหลายร้อยคนทั้งจากในพื้นที่และต่างพื้นที่เดินทางไปกราบไหว้พระพุทธรูปองค์นี้ เพื่อขอโชคขอลาภ โดยพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ คาดว่า มีหน้าตักกกว้าง 7 ศอก และสูงไม่น้อยกว่า 99 นิ้ว (ยังไม่มีผู้ใดให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ ) สำหรับพระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อว่าพระโสภิตทศพลญาณ พุทธเจ้า โดยมี พ.ต.ท.สุรพล วิเศษมงคลชัย (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นผู้ควบคุมการจัดสร้าง ร่วมกับคณะของกรมตำรวจและครอบครัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้จัดสร้างขึ้นเป็นองค์ที่ 9 ในวันที่ 2 ธันวาคม 2549

นางนวลอนงค์ สำเภาทอง ประธานสตรีจังหวัดสมุทรสาครในฐานะชาวบ้านตำบลบางโทรัดและอยู่ใกล้กับวัดบางน้ำวน อีกทั้งยังเป็นผู้เคยร่วมสร้างพระองค์นี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วเล่าว่า พระองค์นี้เป็นพระที่ทางกรมตำรวจดำเนินการจัดสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 7 แสนกว่าบาท ภายในองค์พระก็มีพระเหรียญต่างๆ บรรจุอยู่มากมาย ซึ่งในการก่อสร้างครั้งนั้น มีชาวบ้านในพื้นที่ได้มาร่วมด้วยช่วยกันสร้างตั้งแต่เทปูน จนกระทั่งออกมาเป็นองค์พระสวยงามอย่างที่เห็น โดยทางผู้แทนของกรมตำรวจคือ พ.ต.ท.สุรพล ที่เป็นผู้ควบคุมการจัดสร้างก็ได้เป็นผู้ลงมือในการกระทำพิธีต่างๆ เพื่อเบิกฤกษ์เบิกชัยก่อนลงมือก่อสร้าง และมีชาวบ้านมาร่วมกันนั่งวิปัสนากรรมฐานขอให้การสร้างพระองค์นี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แล้วเสร็จสมบูรณ์ดังความมุ่งมั่นปรารถนาของทุกคน ซึ่งโดยจุดมุ่งหมายของผู้สร้างนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 28 องค์ จะไปสร้างตามจังหวัดต่างๆ และองค์นี้เป็นองค์ที่ 9 ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการสร้างพระพุทธรูปพุทธลักษณะเดียวกันนี้แล้วเสร็จ 17 องค์ กำลังดำเนินการก่อสร้างองค์ที่ 18

นางนวลอนงค์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับปาฏิหาริย์ซึ่งเกิดกับพระพุทธรูปองค์นี้ ก็มาจากเมื่อ 10 กว่าวันที่ผ่านมา มีวัยรุ่นในพื้นที่มาเตะฟุตบอลกันตรงสนามหน้าลานประดิษฐานองค์พระฯ แล้วสังเกตเห็นว่าดวงตาของพระในตอนกลางวันกับกลางคืนต่างกัน จึงพูดต่อๆกันไป เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็พากันมาดูและเห็นความแตกต่างเกิดขึ้น จึงเชื่อว่า เป็นปาฏิหาริย์และความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูป จากนั้นก็พากันมากราบไหว้บูชาขอโชคขอลาภ ขอพรต่างๆ และก็มีชาวบ้านต่างพื้นที่ทยอยมาจนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสองวันนี้ยิ่งมีชาวบ้านมากันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันจนเลยเที่ยงคืน

ขณะที่ในส่วนของเงินบริจาคที่ผู้มีจิตศรัทธามาซื้อดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลและจะนำเงินส่วนหนึ่งมาบริหารจัดการปรับปรุงสภาพพื้นที่โดยรอบให้มีความสวยงาม รองรับผู้ที่จะมากราบไหว้สักการบูชา รวมถึงผู้ที่ต้องการจะมานั่งปฏิบัติธรรมอีกด้วย ส่วนเมื่อใครมาแล้วจะรู้สึกอย่างไรนั้น ก็เป็นความเชื่อของแต่ละคน ที่จะต้องใช้วิจารณญาณส่วนตัวเรื่องแบบนี้อยู่ที่บุญของแต่ละคน แต่สิ่งหนึ่งที่นับเป็นสิ่งที่ดีอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ เมื่อมีข่าวแบบนี้ออกไปก็ทำให้มีชาวบ้านทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่เดินทางมากราบไหว้พระพุทธรูป ซึ่งก็จะได้ช่วยทำให้ผู้คนได้เข้าวัดใกล้ศาสนากันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ พ.ต.อ.สุรพล วิเศษมงคลชัย (ยศปัจจุบัน) ก็จะเดินทางมาที่วัดบางน้ำวน เพื่อมาดูพระพุทธรูปองค์นี้ด้วยตัวเอง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)

ด้านชาวบ้านหลายรายที่มาดูพระโสภิตทศพลญาณ พระพุทธรูปที่กล่าวกันว่าลืมตาตอนกลางวันและหลับตาตอนกลางคืนนั้น ก็บอกว่าเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ว่าท่านหลับตาและลืมตาได้จริง เพราะจากการที่ได้เดินทางมาดูทั้งสองช่วงเวลาทำให้เห็นว่าตอนกลางวันดวงตาท่านจะเบิกกว้างขึ้นจนเห็นตาดำข้างใน ใบหน้าก็จะยิ้มอิ่มเอิบ ส่วนกลางคืนใบหน้าจะเปลี่ยนไปดูสงบนิ่งและเปลือกตาก็จะผลุบลงมาจนมองไม่เห็นตาดำ เหมือนท่านกำลังทำสมาธิ

ขณะที่ทางด้านผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกือบ 10 ราย ที่มาตั้งแผงขายอยู่บริเวณลานหน้าพระพุทธรูปก็บอกว่าเลขที่ขายดีที่สุดคือ 549 , 949 และ 49 เพราะชาวบ้านจะเสี่ยงโชคตามเลขปีที่จัดสร้าง หรือ สร้างองค์ที่ 9 โดยเลขเหล่านี้ได้ขายจนหมดแล้ว แม้แต่จะไปหาซื้อเพิ่มที่กองสลากเพื่อนำมาขายให้กับชาวบ้านยังหาไม่ได้เลย






พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)


ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อขาว หรือ “พระพุทธศากยมุนีศรีบูรพา”
พระประธานในวิหารหลวงพ่อขาว วัดนครธรรม
(วัดสระลพ) ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว

หลวงพ่อขาว หรือ “พระพุทธศากยมุนีศรีบูรพา” หรือ “หลวงพ่อปูน” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุปูนขาว ขนาดหน้าตัก 1.30 เมตร สูง 1.99 เมตร เป็นศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์

มีเรื่องเล่าว่า หลังจากที่พระยาบดินทรเดชายกทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ปราบกบฏได่้สำเร็จจึงได้อพยพผู้คนจากเมืองเวียงจันทร์กลับมาเมืองไทย ส่วนหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านจิก ต่อมาชาวบ้านและพระภิกษุชาวเวียงจันทร์ จึงได้ช่วยกันสร้างอุโบสถและพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปั้นด้วยปูนขาว เสร็จแล้วอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธาน ครั้นสงครามสงบพระภิกษุและชาวบ้านจึงได้อพยพกลับ คงเหลือแต่ชาวบ้านบางกลุ่ม วัดและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดบ้านจิกจึงทรุดโทรมรกร้าง

ต่อมาชาวบ้านสระลพได้สร้างอุโบสถขึ้น เจ้าอาวาสจึงได้อัญเชิญหลวงพ่อขาวจากวัดร้างบ้านจิกมาเป็นพระประธาน ปรากฎว่าในวันที่อัญเชิญท่านมา มีปรากฎการณ์อัจศรรย์ ทั้งพระภิกษุและชาวบ้านเห็นน้ำพระเนตรของหลวงพ่อขาวไหลออกมา พร้อมกับมีฝนโปรยปรายลงมาอย่างหนัก ตั้งแต่เริ่มชักลากลงมาจากวัดบ้านจิกจวบจนกระทั่งมาถึงวัดนครธรรม ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี และคิดว่าพระพุทธรูปองค์นี้จะนำความผาสุขร่มเย็นมาสู่หมู่บ้าน

วัดนครธรรม ได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น อุโบสถหลังเดิมเรียกว่า วิหารหลวงพ่อขาว เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว เพื่อให้ประชาชนได้มาสักการบูชาจวบจนปัจจุบัน

ประวัติวัดนครธรรม

วัดนครธรรม ตั้งอยู่ในท่ามกลาง 5 หมู่บ้าน คือ บ้านสระลพ บ้านเมือง บ้านจิก บ้านพร้าว และบ้านตลาดวัฒนานคร หน้าวัดติดกับเทศบาลอำเภอวัฒนานคร และกองพิสูจน์หลักฐาน กองวิทยาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ห่างจากสถานีรถไฟ และถนนสุวรรณศร ประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ เดิมวัดนี้มีชื่อว่า วัดสระลพ มาเปลี่ยนเป็นชื่อว่า วัดนครธรรม นี้ เมื่อปี พ.ศ. 2506 เพื่อให้เป็นมงคลแก่พระครูวิวัฒน์นครธรรม ผู้ซึ่งบุกเบิกสร้างวัดนี้ ในสมัยที่ท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งมีขอบเขตติดต่อ ดังนี้

ก. ทิศเหนือ ติดต่อกับเทศบาลอำเภอวัฒนานคร และกองพิสูจน์หลักฐาน กองวิทยาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

ข. ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านพร้าว

ค. ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านเมือง

ง. ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านสระลพ

ผู้สร้างวัด

วัดนครธรรมนี้ ตามหลักฐานปรากฏว่าไม่มีผู้ใด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างมาแต่สมัยใด แต่ก็อาศัยบารมีเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ โดยความร่วมมือร่วมใจ เกิดศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนา ของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ก็ได้ให้การสนับสนุนอุปถัมภ์ด้วยดีเสมอมาจนถึงปัจจุบันนี้

วัดนี้เป็นวัดโบราณเก่าแก่วัดหนึ่ง และมีผู้บริหารสืบต่อกันมาเป็นลำดับ ได้สร้างกันมานาน ปฏิสังขรณ์สืบต่อเนื่องกันมาหลายสมัยเพื่อให้วัดเป็นวัดที่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น ทางวัดนครธรรมจึงได้ดำเนินการให้ทางราชการรับรองสภาพวัด โดยได้ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2430 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2526 มีเนื้อที่ทั้งหมด 29 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา

รายนามอดีตเจ้าอาวาสวัดนครธรรมถึงปัจจุบัน

ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่องค์แรกเป็นลำดับมาตลอดจนประวัติของท่านเหล่านั้น ไม่สามารถทราบได้โดยละเอียด เท่าที่ปรากฏรายนามมีดังนี้

1. พระอธิการเล็ก เอมโอด
2. พระอธิการมื้อ จันทร์ภักดี
3. พระอธิการทองแดง เกษมสร้อย
4. พระอธิการสิงห์ ฑียะบุญ
5. พระอธิการเนตร ท่าประสาร
6. พระอธิการชาลี จันทร์ภักดี
7. พระอธิการก้อน ทองนพ
8. พระอธิการจ้อย สมบูรณ์กูล
9. พระครูวิวัฒน์นครธรรม (ซาย พิภักดิ์)
10. พระครูวัฒนานครกิจ (เจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน)

เดิมวัดนครธรรมไม่มีพระพุทธรูปองค์ประธานในอุโบสถ ทางเจ้าอาวาสจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดร้างที่อยู่บ้านจิก ซึ่งไม่มีผู้ใดดูแลรักษาในสมัยนั้น เป็นพระพุทธรูปโบราณนั่งขัดสมาธิสร้างด้วยปูน ได้นำมาประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ. 2468 พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อว่า หลวงพ่อปูน เข้าใจว่าสร้างด้วยปูนแต่โดยส่วนมากชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า หลวงพ่อขาว จนถึงปัจจุบันนี้

ในการอัญเชิญหลวงพ่อขาวหรือหลวงพ่อปูนมายังวัดนครธรรมได้ใช้ล้อเลื่อนบรรทุกมาใช้เชือกมะนิลาโยงให้ประชาชนได้ช่วยกันฉุดลากไป ปรากฏว่าวันนั้นเกิดอภินิหารน้ำพระเนตรหลวงพ่อขาวไหลออกมาอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับมีฝนตกลงมาอย่างหนักโดยที่ไม่มีเมฆฝนตั้งเค้ามาก่อนเลย ตั้งแต่เริ่มชักลากมาจากวัดบ้านจิก ตลอดทางจนมาถึงวัดนครธรรม ชาวบ้านเชื่อถือเป็นนิมิตหมายว่า พระพุทธรูปองค์นี้จะนำความสุขความร่มเย็นมาสู่หมู่บ้านของตนอย่างแน่แท้

สิ่งสำคัญภายในวัดนครธรรม

1. หลวงพ่อขาว
2. พระบรมสารีริกธาตุ
3. รอยพระพุทธบาทจำลอง
4. พระสยามเทวาธิราช

นับเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งหรือจะด้วยสาเหตุใดๆ ไม่ทราบ นับตั้งแต่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ที่วัดนครธรรมเป็นต้นมา ปกติทางวัดจัดงานปิดทองพระประจำปีเนื่องในงานนมัสการหลวงพ่อขาว หรือหลวงพ่อปูน เป็นประจำทุกปี บางปีจัด 3 วัน 4 วัน 5 วัน ตามแต่โอกาส แต่ปี พ.ศ. 2536 ได้จัดเป็นกรณีพิเศษ คณะกรรมการวัดได้จัดงาน 10 วัน 10 คืน แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย รวมทั้งคณะทัวร์ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ที่เดินทางไปเที่ยวชมประเทศกัมพูชาก็ได้แวะมาพักแรมที่วัดนครธรรม และได้มานมัสการปิดทองหลวงพ่อขาว และนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เป็นจำนวนมาก ระหว่างงานก็มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาปิดทองหลวงพ่อขาวอยู่เสมอโดยไม่ขาด



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๓)







http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=38553
http://www.klongdigital.com/webboard3/27486.html
https://www.facebook.com/ThaiBuddhism
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35