พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๙)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระเจ้าใหญ่อินแปลง
พระประธานในพระอุโบสถ วัดมหาวนารามหรือวัดป่าใหญ่
(พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี


วัดมหาวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
พระอารามหลวงแห่งแรกและแห่งเดียวของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกอย่างคุ้นเคยว่า “วัดป่าใหญ่”
ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมากับการก่อตั้งจังหวัดอุบลราชธานี
ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๓ ถ.สรรพสิทธิ์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ภายในพระอุโบสถมีพระประธานชื่อว่า “พระเจ้าใหญ่อินแปลง”
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน พร้อมกับลงรักปิดทอง
ลักษณะองค์พระเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบลาว
หน้าตักกว้างประมาณ ๓ เมตร สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี ๕ เมตร

ประวัติเล่าสืบต่อกันของพระพุทธรูปองค์นี้มีมากมาย ตั้งแต่การสร้างว่า
พระเจ้าใหญ่อินแปลง มีอยู่ด้วยกัน ๓ องค์
โดยองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่ วัดอินทร์แปลงมหาวิหาร
นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ปัจจุบันมีอายุประมาณพันกว่าปี


พระพุทธรูปอีกองค์ประดิษฐานอยู่ที่ วัดอินแปลง อ.เมือง จ.นครพนม
ซึ่งก็มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระเจ้าใหญ่อินแปลง
วัดอินทร์แปลงมหาวิหาร นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว

ส่วนองค์สุดท้าย คือ พระเจ้าใหญ่อินแปลง
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ วัดมหาวนาราม หรือวัดป่าใหญ่
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
และมีอายุเกือบสองร้อยปีแล้ว
สำหรับประเพณีปฏิบัติต่อพระพุทธรูปองค์นี้ ในวันเพ็ญเดือน ๕
หรือในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตร
เทศน์มหาชาติชาดก และสรงน้ำปิดทองพระเจ้าใหญ่อินแปลง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๙)

การสร้างพระเจ้าใหญ่อินแปลงเกิดขึ้นหลังจากพระปทุมวรราชสุริยวงศ์
หรือท้าวคำผง ได้ก่อสร้างเมืองอุบลราชธานีที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล
พร้อมได้ก่อสร้างวัดที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล โดยวัดแห่งแรกของจังหวัดมีชื่อว่า
“วัดหลวง” เพื่อให้เป็นสถานที่ใช้ทำบุญทำกุศลของประชาชนทั่วไป

ภายหลังก่อสร้างวัดหลวงเสร็จสมบูรณ์ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ได้นิมนต์
พระธรรมโชติวงศา ซึ่งเป็นพระมหาเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน
พร้อมพระภิกษุสามเณรมาอยู่จำพรรษาสนองศรัทธาของประชาชน

แต่เมื่อ พระธรรมโชติวงศา เข้ามาพำนักจำพรรษาเล็งเห็นว่า
วัดหลวงแห่งนี้เป็นวัดบ้าน หรือ “ฝ่ายคามวาสี” ตั้งอยู่กลางใจเมือง
ไม่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรมวิปัสสนากรรมฐาน
จึงได้แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐานใหม่
โดยพิจารณาเห็นว่าป่าดงอู่ผึ้ง ห่างจากวัดหลวงไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐๐ เส้น
มีหนองน้ำชื่อหนองสะพัง เป็นสถานที่สงบวิเวกเหมาะแก่การตั้งเป็น
สำนักสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน หรือ “ฝ่ายอรัญญาวาสี”
จึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ให้ชื่อว่า “วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์” คู่กับวัดหลวง

แต่ยังไม่ทันได้ตั้งเป็นวัดให้สมบูรณ์เรียบร้อย พระปทุมวรราชสุริยวงศ์
ผู้เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก ก็ถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๓

กระทั่งเจ้าเมืองคนที่ ๒ คือ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ หรือท้าวทิดพรหม
ได้มาก่อสร้างวิหารในวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๘
และปี พ.ศ.๒๓๕๐ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดประจำเจ้าเมืองคนที่สอง
และให้ชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า
วัดหนองตะพัง หรือหนองสระพัง ตามชื่อหนองน้ำที่อยู่ใกล้เคียง
โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
และพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เป็นผู้สร้างพระพุทธรูป “พระอินแปลง”
หรือ “พระเจ้าใหญ่อินแปลง” องค์ปัจจุบันซึ่งเป็นพระประธานประจำวัด


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๙)

ส่วนชื่อวัดได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดรวม ๒ ครั้ง เป็น วัดมหาวัน
และเปลี่ยนตามสมัยนิยมอีกครั้งชื่อว่า “วัดมหาวนาราม”
แต่ความหมายของชื่อก็ยังคงเดิมคือแปลว่า “วัดป่าใหญ่”

ส่วนพระพุทธรูป “พระเจ้าใหญ่อินแปลง” หลังก่อสร้างเสร็จ
ก็ได้รับความเคารพบูชาจากชาวเมืองมาโดยตลอด
โดยเฉพาะในอดีตเมื่อมีความขัดแย้งกันขึ้น หรือเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ
ชาวเมืองก็จะชวนกันมาสาบานต่อหน้าองค์พระเจ้าใหญ่อินแปลง
เพราะต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน
หากใครไม่ทำตามที่ได้ให้คำสัตย์สาบานเอาไว้ ก็จะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา

รวมทั้งการมาขอพรให้ประสบความสำเร็จในการสอบไล่
หรือในหน้าที่การงาน และความประสบโชคมีสุขในครอบครัว
หรือแม้กระทั่งมีสิ่งของสำคัญสูญหายไป จะมาบนบานต่อหน้า
องค์พระเจ้าใหญ่อินแปลง เพื่อขอให้ได้สิ่งของที่หายไปกลับคืนมา

พระเจ้าใหญ่อินแปลง วัดมหาวนาราม หรือวัดป่าใหญ่ จึงเป็นที่พึ่งทางจิตใจ
ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงมาต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเมื่อมีการเดินทางมารับตำแหน่งใหม่ของข้าราชการทุกระดับชั้น
จะต้องมาไหว้กราบนมัสการบอกกล่าวต่อองค์ท่าน
เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างราบรื่นปราศจากอุปสรรคใดๆ

สำหรับการทำบุญกับพระเจ้าใหญ่อินแปลงที่ชาวบ้านนิยม
คือ การถวายดอกบัวตูม ธูป และเทียน
พร้อมลงรักปิดทองที่ตัวองค์พระ และถวายสังฆทาน

แต่เนื่องจากอุโบสถที่ใช้ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่อินแปลงเริ่มคับแคบ
เพื่อลดความแออัดในการเข้าไปกราบนมัสการ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ
ซึ่งมีประชาชนจากทั่วสารทิศพากันมากราบไหว้จำนวนมาก

ทางวัดได้จัดทำรูปองค์พระเจ้าใหญ่อินแปลงจำลองที่หน้าทางขึ้นอุโบสถ
โดยประชาชนที่มากราบไหว้นมัสการขอพร
สามารถเลือกที่จะเข้าไปกราบพระเจ้าใหญ่อินแปลงในอุโบสถ
หรือเลือกกราบองค์พระจำลองที่สร้างไว้บริเวณทางขึ้นหน้าอุโบสถ



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๙)







พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๙)


ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระมงคลมิ่งเมือง
ณ พุทธอุทยาน อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

“พระมงคลมิ่งเมือง” หรือที่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระใหญ่”
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ
ประวัติความเป็นมาของพระมงคลมิ่งเมือง เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓
พระครูทัศประกาศ เจ้าอาวาสวัดมงคลมิ่งเมือง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
(ในสมัยสร้างองค์พระยังเป็นอำเภออำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี)
ท่านมีความประสงค์ต้องการสร้างพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่
เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนาที่หักพัง
เช่น เศียรพระพุทธรูป ใบเสมาเก่า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไว้ที่ใต้ฐานองค์พระ
รวมทั้ง เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
องค์ปฐมสังฆนายก และให้เป็นที่เคารพสักการบูชาแก่ชาวอำนาจเจริญ


รูปแบบการสร้างพระมงคลมิ่งเมือง ช่างได้ไปถ่ายแบบจากพระพุทธชินราช
ซึ่งสร้างในสมัยกรุงสุโขทัย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารหลวง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก
และได้มากำหนดให้องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง ๙ เมตร (๔ วา ๒ ศอก)
สูงจากฐานหรือแท่นประทับนั่งจรดยอดพระเกตุมาลา ๑๑ เมตร ๔ เซนติเมตร
(๕ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว) ฐานแท่นประทับกว้าง ๕ เมตร สูง ๕ เมตร

อุปกรณ์ที่ใช้สร้างพระมงคลมิ่งเมือง ประกอบด้วย หิน กรวด ทราย ปูนซีเมนต์
เหล็กขนาด ๓-๖ หุน กระเบื้องเคลือบสีเหลือง (สีทอง) ขนาดกลักไม้ขีดไฟ
ใช้ปิดทองที่องค์พระ งบประมาณที่ใช้ในการสร้างประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
โดยมีนายคำเม้า ภักดีปัญญา ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นช่างฝีมือควบคุมการสร้าง

สถานที่จัดสร้างตั้งอยู่กลางสันภูดานพระบาท เป็นลานหินขนานกัน ๒ ข้าง
มีเนื้อที่กว้างประมาณ ๓๖ ไร่ สภาพแวดล้อมเป็นภูเขาลูกเตี้ยๆ
ความสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๑๓ เมตร มีต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุม
มีความสงบร่มเย็น มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ ต.บุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
และติดกับทางหลวงแผ่นดินสายจังหวัดอุบลราชธานี-มุกดาหาร

ระหว่างการสร้างพระมงคลมิ่งเมือง มีผู้มีจิตศรัทธาทั้งที่เป็นพระภิกษุสงฆ์
และฆราวาส นำปัจจัยมาสมทบทุนการสร้าง รวมทั้งช่วยกันขนหิน ขนดิน
จนกระทั่งวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๐๕ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙
ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดสุปัฏวนาราม วรวิหาร
อ.เมือง จ.อุบลราชธานี จำนวน ๑๐ รูป นำโดย เจ้าคุณพระธรรมบัณฑิต
ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็น พระเทพบัณฑิต ได้เมตตามาเป็นประธานในพิธี

แต่ก่อนประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ มีเหตุการณ์แปลกเกิดขึ้น
คือ มีฝนตกลงมาอย่างหนัก จนต้องเลื่อนเวลาการประกอบพิธีออกไป
แต่ฝนก็ตกลงมาแบบไม่มีท่าทีจะหยุด เจ้าคุณพระธรรมบัณฑิต
จึงสั่งให้เริ่มประกอบพิธีท่ามกลางสายฝน
ทำให้พระเณรและประชาชนที่มาร่วมพิธีเปียกปอนไปตามๆ กัน

ในการก่อสร้างพระมงคลมิ่งเมืองครั้งนี้ ก็มีอุปสรรคเกิดขึ้น
เพราะทุนทรัพย์ใช้ก่อสร้างมีผู้บริจาคเพียง ๒๖,๗๒๑.๐๕ บาท

กระทั่งเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๕
พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนา ในขณะนั้น
พร้อมด้วย พ.อ.พรชัย วิชาวรณ์ ได้มาสำรวจการก่อสร้าง
พระครูโอภาสธรรมภาณ เจ้าคณะอำเภอฝ่ายธรรมยุต ในขณะนั้น
ได้เสนอให้ท่านทั้ง ๒ เป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้างองค์พระสืบต่อไป

พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ได้นำเรื่องการก่อสร้าง “พระมงคลมิ่งเมือง”
มารายงานให้ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร
ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับทราบ
พล.อ.ประภาส จึงได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัวสมทบการสร้าง ๑๐๐,๐๐๐ บาท
และผู้มีจิตศรัทธาในกลุ่มของ พล.อ.ประภาส ร่วมบริจาคสมทบให้อีก
๑๐๐,๐๐๐ บาท การก่อสร้าง “พระมงคลมิ่งเมือง” จึงได้เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับการก่อสร้างครั้งใหม่ มีการขยายแท่นองค์พระออกไปทั้ง ๔ ด้าน
ด้านละ ๑-๕ เมตร โดยขยายแท่นพระซึ่งมีความยาวเดิม ๙ เมตร กว้าง ๕ เมตร
เป็น ๑๒ เมตร กว้าง ๘ เมตร สูง ๕ เมตร สูงจากพื้นดินถึงพระเกตุมาลา ๒๐.๕๐ เมตร
ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐ เมตร องค์พระพุทธรูปหันพระพักตร์สู่ทิศบูรพา
ปิดด้วยกระเบื้องโมเสกทองเหลืองอร่าม โดยองค์พระแม้มีขนาดใหญ่ แต่สวยงามยิ่ง
ทำให้ผู้มีจิตศรัทธาบางคนนิยมเรียกท่านว่า “พระเจ้าใหญ่มงคลมิ่งเมือง”
ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๓๓๒,๘๐๐ บาท สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๘

ปัจจุบัน พระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ
หากสาธุชนท่านใดได้มาเยือนแล้วไม่ได้ไปกราบนมัสการ
ถือเสมือนว่ายังเดินทางมาไม่ถึงจังหวัดอำนาจเจริญ

การกราบขอพรจากองค์พระมงคลมิ่งเมือง
ส่วนมากนิยมขอพรให้คลายความทุกข์โศกร้อนใจ
และบนบานให้ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ

ทั้งนี้ ทุกวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาของทุกปี
ชาวอำนาจเจริญจะพร้อมใจจัดงานกราบนมัสการเป็นเวลา ๕ วัน ๕ คืน
ดังนั้น ผู้คนที่เคยเดินทางมากราบไหว้ขอพรหรือบนบานไว้
จะพากันเดินทางมากราบนมัสการและแก้บนในช่วงวันดังกล่าวจำนวนมาก

การกราบไหว้บูชา “พระมงคลมิ่งเมือง” หรือ “พระใหญ่”
เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ตัวและครอบครัว เป็นมงคลชีวิตดีนักแล


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๙)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๙)
ความงดงามของ “พระมงคลมิ่งเมือง” หรือ “พระใหญ่” ยามราตรี
ในงานกราบนมัสการพระมงคลมิ่งเมือง ณ พุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๙)


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๙)









เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=38920
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=73
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35