มะคังแดง

มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย

มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย

มะคังแดง

ชื่ออื่น : จงก่าขาว ตะลุมพุกแดง (กาญจนบุรี) ; จิ้งก่าขาว ชันยอด (ราชบุรี); ตุมกาแดง (กลาง) มะคัง (เชียงใหม่) มะคังป่า (กลาง เหนือ) ; มุยแดง ลุมพุกแดง (นครราชสีมา) โรคแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gardenia erythroclada Kurz.

ชื่อวงศ์ : Rubiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้น กึ่งไม้พุ่ม ขนาดกลาง สูง 6-12 เมตร ใบดกหนาทึบ ลำต้นและกิ่งก้านสีน้ำตาลแดง มีขนนุ่มๆเหมือนกำมะหยี่สีน้ำตาลแดงปกคลุมทั่วไป โคนต้นและกิ่งมีหนามโดยรอบ หนามขนาดใหญ่ พุ่งตรงออกเป็นระยะ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 8-15 เซนติเมตร ยาว 15-22 เซนติเมตร ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ โคนใบมน หลังใบเรียบ ท้องใบมีขนสีขาวปกคลุม ขอบใบเรียบ ก้านใบมีขนสีขาว มีหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหลุดร่วงง่าย ดอกช่อขนาดเล็กออกเป็นช่อสั้น ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีเขียวอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกติดกัน กลีบดอกรูปกลม เกสรตัวผู้เป็นเส้นติดกับกลีบดอกวางสับหว่างกลีบดอก ผลสด รูปกระสวย มีสันนูนจำนวน 5-6 สัน ผิวเรียบ ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เกิดตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณทางสมุนไพร

ยาพื้นบ้าน ใช้ ต้น ต้มน้ำดื่ม แก้เลือดลมเดินไม่สะดวก ผสมกับหัวยาข้าวเย็น ต้มน้ำดื่มแก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น เหลืองหรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้) แก้ปวดท้อง ขับพิษโลหิต และน้ำเหลืองเปลือกต้น ตำพอกแผลสด ห้ามเลือด ราก เป็นยาถ่าย ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ใช้แก้ไข้

บวบลม

มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย

บวบลม

ชื่ออื่น : เถาพุงปลา (ภาคตะวันออก ระยอง) โกฐพุงปลา พุงปลาช่อน (กลาง) จุกโรหินี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dischidia major (Vahl) Merr.
ชื่อวงศ์ : Asclepiadaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก ลำต้นเลื้อยเกาะพันกับต้นไม้อื่น รากงอกออกตามข้อแต่ละข้อ ของเถา สำหรับยึดเกาะ เถากลมสีเขียว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ หรือออกใบเดียว ผิวเรียบ ใบอวบน้ำ ใบมีรูปร่าง 2 แบบ คือ แบบแรกมีรูปร่างคล้ายถุง กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร จะแบนเป็นเหลี่ยม ด้านนอกมีสีเขียว ด้านในมีสีม่วง แบบที่สองเป็นใบธรรมดา รูปใบค้อนข้างกลม ปลายใบมน มีติ่งแหลมสั้นๆ ดอกออกเป็นช่อขนาดเล็ก 6-8 ดอก ออกตามง่ามใบ ตรงข้ามกับใบ กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ และป่องเบี้ยวไปอีกข้างหนึ่ง ตรงปลายเป็นรูปกรวย ที่ปากท่อดอกแต้มด้วยสีม่วง มีขนอยู่ด้านนอก ตามขอบกลีบดอกมีขน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ผลเป็นฝัก ผิวขรุขระ ฝักยาว 5-7.5 เซนติเมตร พบตามป่าดงดิบเขาทั่วไป

สรรพคุณทางสมุนไพร

ยาพื้นบ้าน ใช้ ทั้งต้น รสฝาดสุขุม ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง เนื่องจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ใบ รสฝาดสุขม ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องร่วง แก้ท้องเดิน แก้บิด แก้อาเจียน แก้ปวดเบ่ง มูกเลือด เสมหะผิดปกติ ใช้ภายนอกเป็นยาสมานแผล รากรสฝาดสุขุม แก้ท้องร่วง แก้อาเจียน แก้บิด แก้ปวดเบ่ง แก้เสมหะพิการ สมานแผล แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้ ใช้ภายนอกเป็นยาฝาดสมาน รากนำมาเคี้ยวกับพลู เป็นยาแก้ไอ

พุดผา

มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย

พุดผา



ชื่ออื่น : ข่อยสน ข่อยหิน สามพันตา (อุบลราชธานี) ข่อยโคก ข่อยด่าน



ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gardenia saxatilis Geddes



ชื่อวงศ์ : Rubiaceae



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น สูง 2-4 เมตร เปลือกต้นสีขาวนวล ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับฉาก รูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ กว้าง 2-4 เซนติมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายใบโค้งกลม แผ่นใบมีขน ผิวใบสากมือ หูใบอยู่ระหว่างก้านใบ ขอบใบเรียบ หลังใบสีเขียวเป็นมัน ดอกเดี่ยว สมบูรณ์เพศ ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย กลิ่นหอม ก้านดอก และกลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ มีขนสีขาว เกสรเพศผู้มี 6 อัน ฐานติดอยู่ด้านในของกลีบดอก เป็นแผ่นเรียว เกสรเพศเมีย รังไข่มี 2 ห้อง ผลสด รูปไข่กลับ เมื่อสุกสีส้มเมล็ดเดียว หุ้มด้วยเยื่อสีส้ม พบตามลานหินในป่าเต็งรัง ออกดอกเดือนเมษายน

สรรพคุณทางสมุนไพร
เนื้อไม้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้เบื่อเมา แก้พิษ ช่วยถอนพิษเห็ดเมา เปลือกต้น แช่เหล้าพอท่วม เอาส่วนน้ำทา แก้อัมพาต ปวด ชา ตามแขนขา ลำต้น ต้มน้ำดื่มแก้เบื่อเมา

เจตพังคี

มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย

มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย

เจตพังคี
ชื่ออื่น
พังคี ปังคี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Croton crassifolius Giesel.
ชื่อวงศ์
Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 20-40 เซนติเมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรีหรือรูปไข่แกมรูปหอก กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ผิวใบมีขน ใบหนา ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ดอกแยกเพศอยู่ในช่อดอกเดียวกัน กลีบดอกสีขาวนวล ผลแห้ง แตกได้ รูปทรงกลม มี 3 พู
สรรพคุณทางสมุนไพร
ใช้ ราก ซึ่งมีรสเผ็ด ขื่น เฝื่อนเล็กน้อย และมีกลิ่นหอม แก้ท้องขึ้น ปวดแน่นท้อง หรือใช้ภายนอกโดยฝนกับน้ำปูนใส ผสมกับมหาหิงคุ์และการบูรทาท้องเด็กอ่อน ทำให้ผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ปวดท้อง ราก ผสมกับรากส่องฟ้าดง ต้มน้ำดื่ม แก้จุกเสียด แก้ท้องอืด

แหล่งที่มา http://thaiherb-tip108.blogspot.com