กำลังแสดงผล 1 ถึง 1 จากทั้งหมด 1

หัวข้อ: 5 อาการป่วยในเด็ก 1-3 ปี ที่ไม่ควรวางใจ

Hybrid View

คำตอบที่แล้วมา คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป คำตอบถัดไป
  1. #1
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jinnawat90
    วันที่สมัคร
    Mar 2013
    กระทู้
    620

    5 อาการป่วยในเด็ก 1-3 ปี ที่ไม่ควรวางใจ

    5 อาการป่วยในเด็ก 1-3 ปี ที่ไม่ควรวางใจ

    อาการป่วยที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เป็นไข้, ชัก,อาเจียน,ไอและท้องเสีย ต้องมีวิธีดูแลที่ถูกต้องเพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้นเสียก่อน รวมทั้งการสังเกตเมื่ออาการรุนแรงขึ้นด้วย เพราะเด็กเล็กๆ วัย 1-3 ปีเจ็บป่วย ไม่สบาย แม้จะมีอาการเล็กน้อยที่พ่อแม่สามารถดูแลเองได้ แต่ก็อย่าวางใจเพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายหลายชนิด
    toddler_momypedia
    1.ไข้
    ทั้งไข้ตัวร้อน และหวัดธรรมดา ข้อดีของอาการไข้ คือสัญญาณเตือนว่าร่างกายมีการสร้างปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อโรคที่เข้ามาจู่โจม

    ส่วนข้อเสียคือการมีไข้อย่างต่อเนื่อง แสดงว่าร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค ส่วนจะได้ผลหรือไม่นั้นต้องรอดูอาการ ซึ่งภาวะติดเชื้อทุกอย่างมักจะเริ่มจากการมีไข้ โดยเด็กเล็กที่พบได้บ่อยคือติดเชื้อไวรัส

    ไข้หวัดธรรมดา มักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไอ มีน้ำมูก เด็กบางคนอาจจะมีอาการท้องเสียด้วย แต่เมื่อไหร่ที่ลูกมีแต่อาการไข้อย่างเดียว ไม่มีอาการอื่นเลย ต้องเริ่มเอะใจแล้วว่าลูกอาจติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะไข้เลือดออกที่มีไข้สูง กินยาแก้ไข้แล้วทุก 4-6 ชั่วโมง ไข้ก็ยังไม่ลด
    นอกจากนี้ต้องดูว่าลูกกินนมได้หรือไม่ และปัสสาวะปกติหรือเปล่า ถ้าปัสสาวะเป็นสีน้ำชาแสดงว่ากินน้ำไม่พอ ก็ให้กินน้ำเยอะๆ แล้วรักษาตามอาการค่ะ แต่ถ้าเลย 2 วันไปแล้ว ยังไม่ดีขึ้นต้องรีบมาพบคุณหมอด่วน

    ไข้ที่ไม่ธรรมดา
    1. ลูกดูไม่สดชื่นซึม หงอย ไม่เล่นเลย
    2. การกิน ถ้าลูกเป็นไข้แล้วกินนมกินน้ำไม่ได้เลย หรือกินได้น้อยมาก 2 วันผ่านไปอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบคุณหมอ แต่ถ้าลูกร้องงอแง ไม่สบายตัวมาก ไม่ต้องรอจนครบ 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน ให้รีบพาไปพบคุณหมอด่วน เพราะลูกอาจเป็นปอดบวมได้

    2. ชัก
    อาการชักจากไข้มักพบในเด็กวัย 6 เดือนถึง 5 ปี ในช่วง 24-48 ชั่วโมงหลังมีไข้ ซึ่งอาการชักนี้พ่อแม่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าลูกมีไข้แล้วจะชักด้วยหรือไม่
    ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือทำให้ไข้ลดลง ซึ่งมีอยู่ 2 วิธีคือเช็ดตัวและกินยาลดไข้

    แต่ถ้าลูกชัก ควรทำให้ไข้ลดก่อนด้วยการเช็ดตัว แล้วจับลูกนอนราบ ยังไม่ต้องเอาอะไรไปงัดแงะในช่องปาก ถ้าลูกมีอาการเกร็ง กัดลิ้น ให้ใช้ผ้าผืนหนาๆ กั้นระหว่างฟันกับลิ้น ไม่ควรเอาช้อนไปแงะเพราะอาจไปกระแทกที่เพดานปากหรือช่องปาก ทำให้เป็นแผลได้ หลังเช็ดตัวลดไข้แล้วให้รีบพาไปพบคุณหมอทันที

    3. อาเจียน
    เด็กเล็กมักขับเสมหะไม่เป็น ก็จะกำจัดโดยการไอแล้วอ้วกออกมา ซึ่งก็เป็นข้อดี ทำให้เสมหะไม่เข้าไปคั่งค้างในหลอดลม แต่ถ้าลูกอาเจียนแบบนี้ต้องระวัง ต้องรีบพาไปพบคุณหมอ

    1.อยู่ดีๆ ก็อาเจียนและตลอดเวลา เพราะถ้าปล่อยไว้ลูกจะขาดน้ำ เพราะอาเจียนออกหมด เป็นไปได้ว่าอาจเกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ

    2.ติดเชื้อทางเดินอาหารส่วนบน จะมีแต่อาการไข้และอ้วกอย่างเดียว

    3.อาเจียน มีไข้ ร่วมกับท้องเสีย แสดงว่าติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร

    ถ้าอาเจียนพุ่ง ยิ่งต้องรีบไปโรงพยาบาล เพราะต้องระวังว่าปัญหาเกี่ยวกับระบบสมอง เช่น มีปัญหาความดันสมองเพิ่มขึ้น สาเหตุจากได้รับอุบัติเหตุ หรือมีก้อนเนื้ออยู่ในสมอง เป็นต้น

    ส่วนวิธีดูแลที่ถูกต้องนั้น หลังอาเจียนให้ลูกกินอาหารอุ่นๆ เช่น ข้าวต้มเนื่องเป็นน้ำแป้ง ง่ายต่อการดูดซึม ควรดื่มน้ำอุ่น ถ้าอาเจียนมากสามารถใช้น้ำเกลือแร่ชงให้ลูกดื่มได้

    ถ้าปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย ก็ต้องรีบพาไปโรงพยาบาล เพราะนั่นอาจแสดงว่าลูกขาดน้ำได้

    4. ไอ
    อาการไอ อาจไม่ใช่สาเหตุจากหวัด แต่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทำให้ลูกไอมากจนนอนไม่ได้และส่งผลต่อการกินอาหาร แบบนี้ควรรีบพาไปโรงพยาบาล

    สำหรับอาการไอนั้นไม่สามารถประเมินได้ชัดว่าแบบไหนเข้าข่ายรุนแรง แต่ให้ยึดหลักว่าถ้าไอจนนอนไม่ได้ กินไม่ได้เหมือนเดิม ก็พาลูกไปโรงพยาบาลเถอะ
    โดยคุณแม่สามารถดูแลอาการเบื้องต้นด้วยการให้ยาแก้ไอ ยกเว้นในเด็กเล็กวัย 0 -1 ปี ควรหลีกเลี่ยงค่ะ และการให้ก็ต้องระมัดระวังด้วย เพราะมีโอกาสทำให้มีเสมหะอุดตันทางเดินหายใจได้ ควรให้ดื่มน้ำมากๆ ด้วย เพื่อช่วยให้เสมหะไม่เหนียว ถ้าลูกไอแล้วสำรอกเสมหะออกมา อาการไอก็จะดีขึ้น

    5.ท้องเสีย
    อาการท้องเสียในเด็กนั้น ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจพบได้บ่อย แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรพามาพบคุณหมอทันที (และถ้าทำได้ ควรนำอุจจาระลูกมาด้วย)
    ถ่ายเป็นมูกปนเลือด + มีไข้
    ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก หรือถ่าย + อาเจียน ทำให้กินน้ำ กินนม หรือน้ำเกลือแร่ไม่ค่อยได้ เกิดอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจทำให้ช็อกได้
    อาการขาดน้ำนี้ สามารถสังเกตจากการที่ลูกไม่ค่อยปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีสีเข้มร้องไห้ไม่มีน้ำตา น้ำลายไม่ค่อยมี ปากแห้งมาก
    ลูกซึมมาก ไม่เล่น ไม่กินน้ำและนม
    ซึ่งอาการท้องเสียรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะช็อคจากการขาดน้ำหรือช็อคจากการติดเชื้อได้

    ถ้าอาการท้องเสียไม่ได้รุนแรงมากสามารถดูแลรักษาเบื้องต้น โดยให้กินน้ำเกลือแร่ซองทดแทน ถ้ามีไข้กินยาลดไข้ ถ้าท้องเสียเป็นน้ำ เป็นเนื้อเละ แต่ยังกินน้ำกินนมพอได้ ปัสสาวะได้บ่อยและสีไม่เข้ม น้ำลายในปากชุ่มฉ่ำไม่แห้ง และถ้าเด็กสามารถกินน้ำเกลือซองทดแทนได้จะดีมาก อาจดูแลเบื้องต้นได้สัก 2-3 วันแรก ถ้าไม่ดีขึ้นพาไปพบคุณหมอ
    เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ พญ.นัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก หน่วยงาน กุมารเวชศาสตร์สังคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

    จาก : นิตยสาร รักลูก
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย jinnawat90; 06-09-2013 at 11:42.

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •