การจัดสร้างพระเครื่อง


การบริหารจัดสร้างพระเครื่องเชิงพุทธ


ผู้ที่สนใจพระเครื่อง เคยเล่นแต่สะสมเป็นงานอดิเรก บางครั้งก็อาราธนาขึ้นแขวนคอ หลายคนไม่ทราบว่าพระเครื่องสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร มีไว้ทำไม วิธีการสร้างเขาทำกันอย่างไร และการสร้างพระเครื่องเชิงพุทธนั้นเป็นอย่างไร แต่ที่รู้ทราบถึงการสร้างพระเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งจะหาอ่านการวิธีการสร้างพระเครื่องได้ยาก แม้นในวารสารพระเครื่อง แต่สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้


การจัดสร้างพระเครื่องเนื้อว่านดินผง นั้นเป็นการทำบุญชนิดหนึ่ง เพื่อสืบทอดสัญลักษณ์พุทธศาสนาต่อไป แต่ปัจจุบันมักจะเบี่ยงเบนไปทางพุทธพาณิชย์ และในทางงมงายไม่ใช่สร้างปัญญา การนำพระเครื่องมาบูชา อาจเป็นงานอดิเรก หรือเชื่อมั่นในอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ หรืออนุสติเตือนใจ

ขั้นตอนการบริหารจัดสร้างพระเครื่องเชิงพุทธเนื้อว่านดินผง มีตั้งคณะทำงาน กำหนดวัตถุประสงค์การสร้าง จัดเตรียมงบประมาณ การเลือกแบบ การทำพิธีขอจัดสร้าง การออกแบบพระ การจัดเตรียมแม่พิมพ์ การเลือกประเภทแม่พิมพ์ การเลือกเนื้อพระ การจัดเตรียมเนื้อพระ การจัดเตรียมมวลสารวัตถุมงคล การจัดเตรียมวัตถุประสาน การผสมเนื้อพระ การพิมพ์พระ การทำให้พระแข็งตัว การตรวจสอบคุณภาพ การจัดเตรียมภาชนะหีบห่อ การเตรียมพระเครื่องเข้าพิธีพุทธาภิเษก การจัดพิมพ์คู่มือพระ การแจกจ่ายพระเครื่อง

ในเชิงพุทธนั้นการสร้างพระขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสติถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เป็นที่พึ่งทางใจ ให้จิตสงบ นึกถึงกับธรรมะ เพื่อใช้ในการปฏิบัติตนให้ใจสงบ ไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย ไม่ให้สร้างศรัทธาอันนำไปสู่ลาภสักการะ หรือเอาไปสร้างวัตถุจนเกินจำเป็น จนมองเป็นการค้าบุญไป หรือหนักไปทางพุทธพาณิชย์

1. วิธีการจัดสร้างพระเครื่องเนื้อว่านดินผง มักจะเป็นความลับ เนื่องจากเกรงว่าจะมีคู่แข่งในการทำมาหากิน
ในวงการนักเลงพระ หรือนักสะสมพระเครื่อง มักจะสนใจแต่พุทธลักษณะ เนื้อมวลสาร อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่มักไม่ค่อยจะทราบถึงวิธีการสร้าง และวัสดุประสานที่ใช้
เนื้อพระที่พบเห็นก็มีเนื้อว่าน เนื้อดินดิบ เนื้อดินเผา และเนื้อผง เนื้อว่าน เนื้อดินดิบ เนื้อผง ต้องหาวัสดุเชื่อมประสาน สำหรับเนื้อดินเผาจะให้เนื้อดินประสานกันเองด้วยความร้อน สุดท้ายเนื้อพระต้องเชื่อมกันติดแน่น และต้องไม่ยุ่ย ละลายน้ำเมื่อแช่น้ำต่อเนื่องกันหลายๆ วัน
การสร้างพระเครื่องสมัยนี้ มักจะกลายเป็นพุทธพาณิชย์ เป็นวัตถุที่ใช้ในการระดมทุนเข้าวัด หรือเป็นสินค้าในท้องตลาด จนเป็นล่ำเป็นสัน ร่ำรวยไปหลายคน ซึ่งแตกต่างจากสมัยโบราณที่สร้างพระเครื่องเพื่อชาติและศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ใช้ในการออกรบปกป้องบ้านเมือง และมักจะมีคนโบราณบอกว่า “จนอย่างไรก็จะไม่ขอขายพระกิน” สมัยนี้ขายพระกิน จนคนทั้งบ้านทั้งเมืองเห็นเป็นของธรรมดาไปเสียแล้ว มีการตั้งราคาพระเครื่องเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน และเป็นล้าน โดยเฉพาะพระสมเด็จ ที่สมเด็จพุฒาจารย์โตสร้างไว้แต่โบราณ มีราคาในท้องตลาดเป็นหลักล้าน
พระเครื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นพระแขวนคอ เนื้อว่านดินผง สำหรับเนื้อโลหะยังไม่กล่าวถึง

2. วัตถุประสงค์การจัดสร้างพระเครื่อง
วัตถุประสงค์การจัดสร้างพระเครื่อง อาจเรียงตามลำดับจากได้บุญมาก ไปบุญน้อย จนถึงบาป ดังนี้
1. สร้างพระเครื่องเป็นสื่อคำสั่งสอน โดยแจกแก่บุคคลทั่วไป โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา
2. สร้างพระเพื่อนำไปทำบุญแก่วัด หรือบุคคลทั่วไป โดยไม่คิดมูลค่า และไม่หวังสิ่งตอบแทน
3. สร้างพระเพื่อบรรจุลงกรุ เจดีย์ สถูป เจดีย์พระธาตุ เพื่อเป็นหลักฐานทางโบราณคดี และใช้เป็นสิ่งจูงใจ ระดมทุนมาซ่อมแซมบูรณะเมื่อชำรุดทรุดโทรมในอนาคต
4. สร้างพระเพื่อวิจัยสูตรเนื้อดินหรือโลหะธาตุ
5. สร้างพระเพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง สำหรับการออกสงคราม สู้รบปกป้องบ้านเมือง
6. สร้างพระเพื่อแจกเป็นของชำร่วย เพื่อเป็นของที่ระลึกในงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานวันเกิด งาน..พ งานแต่งงาน
7. สร้างพระโดยเน้นพุทธศิลป์ ศิลปวัฒนธรรม ในยุคนั้น
8. สร้างเป็นพระของขวัญ แก่ผู้มาทำบุญที่วัด
9. สร้างเพื่อหารายได้จากการเช่าพระ (ขายพระ) มาสร้างสาธารณประโยชน์ เช่น วัด โบสถ์ โรงเรียน โรงพยาบาล มีการตั้งราคาพระ เพื่อให้สามารถควบคุมรายได้และค่าใช้จ่ายได้
10. สร้างพระโดยเน้นวัตถุประสงค์พิเศษ เช่น เมตตามหานิยม มหาอุต โชคลาภ แคล้วคลาด คงกระพัน มหาเสน่ห์
11. สร้างพระแบบทั่วๆ ไป ไม่ระบุสังกัด ทำเป็นโหล เพื่อให้ทางวัดหรือบุคคลทั่วไปมาซื้อ แล้วเอาไปเข้าพิธีพุทธาภิเษกเอง
12. สร้างเสริมเพิ่มจำนวนที่หมดไปแล้ว เพิ่มยอดรายได้ แล้วทำให้เข้าใจผิดว่ารุ่นเดิมยังไม่หมด บางครั้งทางวัดสร้างเสริมเอง และบางครั้งคณะศิษย์ก็แอบสร้าง ทางที่ถูกต้องการสร้างเสริมควรแจ้งให้ทราบว่าเป็นรุ่นสร้างเสริมแล้วมีโค๊ดบอกให้ทราบด้วย เพื่อไม่ให้ผิดศีลข้อมุสา โกหกหลอกลวง
13. ทำปลอมพระเครื่องที่ดังๆ โดยมีเจตนาว่าให้ผู้ต้องการหลงผิด คิดว่าเป็นพระของแท้ดั่งเดิม แล้วจะขายในราคาพระแท้ เป็นการต้มตุ๋นอย่างหนึ่ง ผิดศีลข้อมุสา โกหกหลองลวง

3. วัตถุประสงค์ของการบูชาพระเครื่อง
“บูชา” นี้ก็คือ การเอาไปสักการะ เป็นการเล่นคำเพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า “ซื้อพระ” เช่นเดียวกับการที่ผู้ขายหรือผู้ให้บูชา ใช้คำว่า “ให้เช่าพระ” แทนคำว่า “ขายพระ” เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วยเงินกับพระตลอดไป เช่าพระ แปลว่า ขายพระ ถ้าซื้อพระขายพระเป็นสิ่งดี ทำไมต้องเลี่ยงคำด้วย
แหล่งสถานที่ที่จะบูชาเช่าซื้อหามีหลายแห่ง เช่น วัด ธนาคาร (เป็นครั้งคราว) ศูนย์พระเครื่องแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างบุคคล มรดกตกทอดมา นำมาจากกรุที่ค้นพบ ร้านค้าของชำร่วย (บางครั้ง) แถมมากับหนังสือพระเครื่อง ร้านขายหนังสือ พบตกหล่นในบริเวณโบราณสถาน คนตกรถนำมาขาย โรงรับจำนำ (ติดมากับสร้อยคอทองคำ) พระสงฆ์เดินธุดงค์ ถ้ำโบราณ เป็นต้น
การหาพระเครื่องมาเป็นเจ้าของนั้น บางครั้งก็ได้มาฟรี บางครั้งก็ใช้เงินพอประมาณ แต่บางครั้งก็ต้องใช้เงินจำนวนมากเป็นหมื่นเป็นแสนก็มี ซึ่งการใช้เงินมากๆ อย่างนี้ ขอให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองด้วย
วัตถุประสงค์ของการนำพระเครื่องมาบูชาหรือใช้งาน
q สะสมพระเครื่อง แบบงานอดิเรก หรือนักสะสมของเก่า
q ใช้เป็นเครื่องเตือนใจ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือพระสงฆ์ที่ตนเองนับถือ (พุทธานุสติ ธัมมานุสติ และ สังฆานุสติ)
q ชมชอบพุทธศิลป์ และมวลสารที่นำมาสร้างพระเครื่อง
q ใช้เป็นที่ระลึกในการทำบุญ ทำความดี ในโอกาสต่างๆ
q เชื่อในอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ของพระเครื่องที่จะคุ้มครองให้ปลอดภัย หรือนำโชคลาภมาให้
4. อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระเครื่อง
อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ถึงแม้นมีจริง แต่เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งจริงแท้แน่นอนก็คือ ต้องปฏิบัติธรรม
คนหนังเหนียวยิงฟันไม่เข้า แล้วสร้างศัตรูไปทุกแห่งหน ย่อมมีคนที่คอยหมายปองจ้องเอาชีวิต วันใดคาถาอาคมเสื่อมหรือพระหนีไปแล้ว ก็ย่อมถึงวันตาย สู้ปฏิบัติธรรมไม่ได้ โดยการสร้างมิตรไปทั่ว ดังนั้นก็ไม่มีใครคิดที่จะฆ่าฟัน อายุยาวนานกว่า
วัตถุประสงค์การสร้างพระเครื่อง อย่าเน้นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ให้คิดเป็นเรื่องของผลพลอยได้ ควรเน้นเรื่องการใช้พระเครื่องเป็นสื่อชักชวนให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความดี จะถูกต้องที่สุด

5. กระบวนการจัดสร้างพระเครื่องเนื้อว่านดินผง
การจัดสร้างพระเครื่อง ถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง หากทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เนื่องจากเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง การสร้างพระเครื่องนี้ เป็นการสร้างสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระธรรมจักร พระพุทธบาท พระสงฆ์ พระอรหันต์ เป็นต้น แต่เดี๋ยวนี้มักมีการสร้างที่อิงกับศาสนาพรามณ์ เช่น ยักษ์ ฤาษี เจ้าพ่อ เจ้าแม่ พระพิฆเนศ หนุมาน ราหูอมจันทร์ พระนารายณ์ พระพรหม เป็นต้น ความเชื่ออื่นๆ ก็มี เช่น ตะกรุด นางกวัก ขุนช้าง จิ้งจกสองหาง แม่พระธรณี เงาะป่า เป็นต้น
ในเชิงพุทธ จะเน้นสร้างเฉพาะสัญลักษณ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้น เช่นเดียวกันกับการสร้างพระพุทธรูป พระบูชา เพื่อสักการะกราบไหว้ตามที่เห็นตามวัดวาอารามทั่วไป
กระบวนการจัดสร้างพระเครื่องเนื้อว่านดินผง มีดังนี้
1. จัดตั้งคณะทำงานจัดสร้าง
2. กำหนดวัตถุประสงค์การจัดสร้าง
3. การจัดเตรียมงบประมาณ
4. การเลือกแบบพระเครื่องที่จะจัดสร้าง
5. จัดทำพิธีขอจัดสร้าง
6. ออกแบบพระเครื่อง
7. การลองพิมพ์พระ
8. การจัดเตรียมแม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์ขึ้นรูป
9. การเลือกประเภทแม่พิมพ์
10. การเลือกเนื้อพระที่จะจัดสร้าง
11. การจัดเตรียมเนื้อพระ
12. การจัดเตรียมมวลสารวัตถุมงคล
13. การจัดเตรียมวัสดุประสาน
14. การผสมเนื้อพระ
15. การพิมพ์พระ
16. การทำให้พระเครื่องแข็งตัว
17. การตรวจสอบคุณภาพพระพิมพ์
18. การจัดเตรียมภาชนะหีบห่อ
19. การนำพระเครื่องเข้าพิธีพุทธาภิเษก
20. การจัดพิมพ์คู่มือพระเครื่อง
21. การแจกจ่ายพระเครื่อง






ที่มา .budmgt.com/budman/bm01/budimage.html