หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 2 หน้า 12 หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย
กำลังแสดงผล 1 ถึง 10 จากทั้งหมด 11

หัวข้อ: วันปิยะมหาราช

  1. #1
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    วันปิยะมหาราช

    วันปิยะมหาราช

    วันปิยะมหาราช

    พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือ การประกาศเลิกทาส ทำให้ปวงชนชาวไทยได้เป็นไทมาจวบจนทุกวันนี้

    ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า "พระปิยมหาราช" หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น วันปิยมหาราช

    ความเป็นมาของ วันปิยมหาราช รัชกาลที่ 5


    เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า

    ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า "วันปิยมหาราช" และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ

    เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น "กรุงเทพมหานคร" ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น "สำนักพระราชวัง" ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร 5 ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

    พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันปิยมหาราช ครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรม..พพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์


    วันปิยะมหาราช

    พระราชประวัติ รัชกาลที่ 5


    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ" ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมขุนพินิตประชานาถ" บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

    เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

    ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

    ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

    เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

    ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี


    พระราชกรณียกิจ

    พระราชกรณียกิจที่สำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาทิเช่น

    1.การเลิกทาส


    วันปิยะมหาราช

    เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่ง ที่ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช"
    ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า มีทาสในแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และลูกทาสในเรือนเบี้ยจะสืบต่อการเป็นทาสไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีเงินมาไถ่ตัวเองแล้ว ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต พระองค์จึงทรงมีพระทัยแน่วแน่ว่า จะต้องเลิกทาสให้สำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะทาสมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งเจ้านายที่เป็นใหญ่ในสมัยนั้นมักมีข้ารับใช้ เมื่อไม่มีทาส บุคคลเหล่านี้อาจจะไม่พอใจและก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงตราพระราชบัญญัติขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2417 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงปีที่พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ มีบัญญัติว่า ลูกทาสซึ่งเกิดเมื่อปีมะโรง พ.ศ.2411 ให้มีสิทธิได้ลดค่าตัวทุกปี และพอครบอายุ 21 ปีก็ให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิง จากนั้นใน พ.ศ.2448 จึงได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า "พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124" (พ.ศ.2448) เลิกลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป และการซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด

    ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ในเวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยไม่เกิดการนองเลือดเหมือนกับประเทศอื่นๆ

    2.การปฏิรูประบบราชการ

    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน จากเดิมมี 6 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงลาโหม, กระทรวงนครบาล, กระทรวงวัง, กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตราธิการ ได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา, กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่างๆ , กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้าง การทำถนน ขุดลอกคูคลอง งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ

    3.การสาธารณูปโภค

    การประปา ทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2452

    การคมนาคม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย


    วันปิยะมหาราช

    นอกจากนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพาน และถนนอีกมากมาย คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น และโปรดให้ขุดคลองต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางคมนาคม และส่งเสริมการเพาะปลูก

    การสาธารณสุขเนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้านไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลศิริราช" เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2431

    การไฟฟ้า พระองค์ทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433

    การไปรษณีย์ โปรดให้เริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ.2424 รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2412 โดยโทรเลขสายแรกคือ ระหว่างจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) กับจังหวัดสมุทรปราการ

    4.การเสด็จประพาส


    วันปิยะมหาราช

    การเสด็จประพาสเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอันหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลังจากเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสแล้ว ก็ได้เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2440 ครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2450 อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรป ตลอดจนประเทศฝรั่งเศสด้วย อีกทั้งยังได้ทรงเลือกสรรเอาแบบแผนขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้นมาปรับปรุงในประเทศให้เจริญขึ้น

    ในการเสด็จประพาสครั้งแรกนี้ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตลอดระยะทางถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ (ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชเทวี) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระราชหัตถเลขานี้ต่อมาได้รวมเป็นหนังสือเล่มชื่อ "พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน" ให้ความรู้อย่างมากมายเกี่ยวแก่สถานที่ต่างๆ ที่เสด็จไป

    ส่วนภายในประเทศ ก็ทรงถือว่าการเสด็จประพาสในที่ต่างๆ เป็นการตรวจตราสารทุกข์สุขดิบของราษฎรได้เป็นอย่างดี พระองค์จึงได้ทรงปลอมแปลงพระองค์ไปกับเจ้านายและข้าราชการ โดยเสด็จฯ ทางเรือมาดแจวไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อแวะเยี่ยมเยียนตามบ้านราษฎร ซึ่งเรียกกันว่า "ประพาสต้น" ซึ่งได้เสด็จ 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ.2447 และในปี พ.ศ.2449 อีกครั้งหนึ่ง


    วันปิยะมหาราช

    5.การศึกษา

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงโปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ "โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" ต่อมาโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก คือ "โรงเรียนวัดมหรรณพาราม" และในที่สุดได้โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2435 (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและการศาสนา


    วันปิยะมหาราช


    6.การปกป้องประเทศจากการสงครามและเสียดินแดน

    เนื่องจากลัทธิจักรวรรดินิยมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังที่จะรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม โดยดินแดนที่ต้องเสียให้กับต่างชาติ ได้แก่

    พ.ศ.2431 เสียดินแดนในแคว้นสิบสองจุไทย
    พ.ศ.2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้
    พ.ศ.2447 เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสได้ยึดตราดไว้แทน
    พ.ศ.2449 เสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับตราด และเกาะทั้งหลาย แต่การเสียดินแดนครั้งสุดท้ายนี้ไทยก็ได้ประโยชน์อยู่บ้าง คือฝรั่งเศสยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยอมให้ศาลไทยมีสิทธิที่จะชำระคดีใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชาวฝรั่งเศส ไม่ต้องไปขึ้นศาลกงสุลเหมือนแต่ก่อน

    ส่วนทางด้านอังกฤษ ประเทศไทยได้เปิดการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วย ใน พ.ศ.2454 อังกฤษจึงยอมตกลงให้ชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับอังกฤษมาขึ้นศาลไทย และยอมให้ไทยกู้เงินจากอังกฤษ เพื่อนำมาใช้สร้างทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯ ถึงสิงคโปร์ เพื่อตอบแทนประโยชน์ที่อังกฤษเอื้อเฟื้อ ทางฝ่ายไทยยอมยกรัฐกลันตัน ตรังกานูและไทยบุรี ให้แก่สหรัฐมลายูของอังกฤษ

    ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น

    พ.ศ.2411 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

    พ.ศ.2412 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์

    พ.ศ.2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา, โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย

    พ.ศ.2415 ทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่, โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน, โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมหาราชวัง

    พ.ศ.2416 ทรงออกผนวชตามโบราณราชประเพณี, โปรดให้เลิกประเพณีหมอบคลานในเวลาเข้าเฝ้า

    พ.ศ.2417 โปรดให้สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน, ตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) และให้ใช้อัฐกระดาษแทนเหรียญทองแดง

    พ.ศ.2424 เริ่มทดลองใช้โทรศัพท์ครั้งแรก เป็นสายระหว่างกรุงเทพฯ–สมุทรปราการ, สมโภชพระนครครบ 100 ปี มีการฉลอง 7 คืน 7 วัน

    พ.ศ.2426 โปรดให้ตั้งกรมไปรษณีย์ เริ่มบริการไปรษณีย์ในพระนคร, ตั้งกรมโทรเลข และเกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่ 2

    พ.ศ.2427 โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ทั่วไปตามวัด โรงเรียนแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม

    พ.ศ.2429 โปรดฯ ให้เลิกตำแหน่งมหาอุปราช ทรงประกาศตั้งตำแหน่งมกุฏราชกุมารขึ้นแทน

    พ.ศ.2431 เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส, เริ่มการทดลองปกครองส่วนกลางใหม่, เปิดโรงพยาบาลศิริราช, โปรดฯให้เลิกรัตนโกสินทร์ศก โดยใช้พุทธศักราชแทน

    พ.ศ.2434 ตั้งกระทรวงยุติธรรม, ตั้งกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา

    พ.ศ.2436 ทรงเปิดเดินรถไฟสายเอกชน ระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำ, กำเนิดสภาอุนาโลมแดง (สภากาชาดไทย)

    พ.ศ.2440 ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก

    พ.ศ.2445 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส

    พ.ศ.2448 ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาสโดยสิ้นเชิง

    พ.ศ.2451 เปิดพระบรมรูปทรงม้า

    พ.ศ.2453 เสด็จสวรรคต

    พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมรูปทรงม้า


    วันปิยะมหาราช


    ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างอนุสาวรีย์ถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้ทรงสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์นานถึง 40 ปี

    พระบรมรูปทรงม้านี้ หล่อด้วยโลหะชนิดทองบรอนซ์ พระองค์ใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อย ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนอันเป็นแท่นรองสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร ห่างจากฐานของแท่นออกมามีรั้วเตี้ยๆ ลักษณะเป็นสายโซ่ขึงระหว่างเสาล้อมรอบกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร ที่แท่นด้านหน้ามีคำจารึกบนแผ่นโลหะติดประดับสรรญเสริญว่า "คำจารึกฐานองค์พระบรมรูปทรงม้า ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว 2451พรรษา จำเดิมแต่พระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้ประดิษฐาน แลดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยาเป็นปีที่ 127 โดยนิยม"

    สำหรับแบบรูปของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ได้จ้างช่างหล่อชาวฝรั่งเศส แห่งบริษัทซูซ เซอร์เฟรส ฟองเดอร์เป็นผู้หล่อ ณ กรุงปารีส เลียนแบบพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2450 พระองค์ได้เสด็จประทับให้ช่างปั้นพระบรมรูป เมื่อวันที่ 22 สิงหคม ศกนั้น พระบรมรูปเสร็จเรียบร้อย และส่งเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ในทางเรือ

    เมื่อ พ.ศ.2451 โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ระหว่างพระราชวังสวนอัมพรกับบสนามเสือป่า ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ตรงกับวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครองราชสมบัติได้ 40 ปี

    เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้า ขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองที่หน้าพระลานพระราชวังดุสิต ที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบันนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล เสร็จแล้วจึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปทรงม้า กราบบังคมทูลอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชบิดาให้ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อประกาศเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้สถิตสถาพรปรากฏสืบไปชั่วกาลนาน

    กิจกรรมใน วันปิยมหาราช


    วันปิยะมหาราช

    ในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและภาคเอกชน นักเรียน-นิสิตนักศึกษา รวมทั้งประชาชนจะมาวางพวงมาลาดอกไม้สักการะ และถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำบุญตักบาตอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในหน่วยงาน และโรงเรียน มหาวิทยาลัย จะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นการประกาศเกียรติคุณให้ไพศาลสืบไป





    ที่มา : http://hilight.kapook.com/view/29980

  2. #2
    Moderators สัญลักษณ์ของ สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน
    วันที่สมัคร
    Feb 2010
    ที่อยู่
    เกาหลี
    กระทู้
    750
    บล็อก
    30
    เป้นอีกวันที่คนไทยต้องระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

  3. #3
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    “เครื่องเสวย” ทรงโปรด ของรัชกาลที่ 5

    “เครื่องเสวย” ทรงโปรด ของรัชกาลที่ 5
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระปรีชาสามารถในทุกด้าน พระราชกรณียกิจหลายด้านของพระองค์ ยังความเจริญรุ่งเรืองมาสู่พสกนิกรชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงประกาศเลิกทาส การเกิดสาธารณูปโภคพื้นฐาน การปกครองบ้านเมือง พระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์เหล่านี้ จึงกลายเป็น “พระปิยมหาราช” เคารพรักของปวงชนชาวไทย

    อีกหนึ่งพระปรีชาคือ ทรงสนพระทัยในเรื่องอาหารการกิน จนได้ชื่อว่าเป็นนักชิมตัวยง จนก่อเกิดตำรับเสวยมากมายในรัชกาลของพระองค์ ซึ่งมีหลักฐานจากพระราชนิพนธ์รวมทั้งจดหมายเหตุต่างๆ ที่ทรงเขียนครั้งเสด็จประพาสยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้คนในยุคนี้ ได้รับทราบถึงตำรับอาหารในสมัยก่อนอันกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ทรงเล่าเรื่องที่พระองค์เสด็จประพาสเมืองต่างๆ รวมทั้งทรงมีเรื่องขำขันตรัสเล่าว่า

    “...ลงมือชักม่านดับไฟพยายามจะหลับ ทำไมมันจึงนึกต่อไปไม่รู้ ข้าวแกงเผ็ดโผล่ขึ้นมาในนัยน์ตาที่หลับๆ ประเดี๋ยวไข่เจียวจิ้มน้ำพริก ประเดี๋ยวทอดมันกุ้ง ปลาแห้ง พากันหลอกเสียใหญ่ หลับตาไม่ได้ต้องลืม ลืมก็แลเห็นแกงปลาเทโพ หลอกได้ทั้งกำลังตื่นเช่นนั้น จนชิ้นยำแตงกวาก็พลอยกำเริบ ดีแต่ปลาร้า ขนมจีนน้ำยาหรือน้ำพริกสงสารไม่ยักมาหลอก มีแต่เจ้ากะปิคั่วมาเมียงมองอยู่ไกลๆ...”

    ผศ.ดร.ศันสนีย์ จะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักศิลปะวัฒนธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักฯ กำลังวิจัยค้นคว้าเรื่อง “สำรับ” ทรงโปรดของรัชกาลที่ 5 ซึ่งนอกจากมีความเป็นมาของแต่ละสำรับแล้ว ยังมีทั้งเครื่องปรุงและเครื่องเคียงเพื่อให้ครบสำรับอาหารไทย โดยผลงานเหล่านี้จะมีการตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปีหน้า

    ส่วน “เครื่องเสวย” ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดมีอะไรบ้างนั้น ผศ.ดร.ศันสนีย์เล่าว่า รัชกาลที่ 5 ทรงสนพระทัยและพิถีพิถันกับเรื่องอาหารมาก โดยเฉพาะ ทรงโปรดอาหารแปลกๆ เนื่องจากเสด็จประพาสไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทอดพระเนตรเห็นวัตถุดิบพื้นบ้าน และทรงเสวยอาหารแปลกใหม่เป็นประจำ บ่อยครั้งจะนำมาทรงเล่าให้ พระวิมาดาเธอฯ พระอัครชายาในรัชกาลที่ 5 ที่ดูแลห้องเครื่องต้นเสวยตลอดรัชกาลฟัง ซี่งพระวิมาดาเธอฯ ทรงได้รับการยกย่องเป็น “เอตทัคคะทางด้านการทำกับข้าว” ก็ทรงนำไปดัดแปลงและทำถวายจนเป็นที่พอพระทัย

    ส่วน “เครื่องเสวย” ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดนั้น มีมากมายด้วยกันดังนี้

    “ขนมจีนน้ำยา” หนังสือ “สวนสุนันทา” ได้กล่าวไว้ว่า ทรงโปรดอาหารไทยมากกว่าอาหารฝรั่ง โดยเฉพาะ “ขนมจีนน้ำยา” โปรดมากเป็นพิเศษ ถึงกับมีรับสั่งให้จัดถวายทั้งมื้อเช้าและมื้อเย็น และเป็นพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนเสด็จสรรคตเพียง 4 วัน

    “น้ำพริกกะปิ” เป็นสำรับทรงโปรดที่จะต้องตั้งเครื่องถวายทุกครั้ง โดยต้องมี “เครื่องเคียง” ที่ขาดไม่ได้คือปลากุเลาทอด ไข่เค็ม และผักจิ้มต่างๆ โดยเฉพาะ “ปลาทูทอด” ที่ทรงโปรดเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องเป็นปลาทูจากเพชรบุรีเท่านั้น มีบันทึกไว้ว่า ไม่โปรดปลาทูทอดที่เหม็นคาว และผู้ที่ทอดปลาทูได้ถูกพระราชหฤทัยมากที่สุดคือเจ้าจอมเอิบ ซึ่งรับหน้าที่ทอดปลาทูถวายมาตลอด ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีรับสั่งไว้ว่า

    “เรื่องทอดปลาทูข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้วข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้เขาจัดรถให้นางเอิบออกไปทอดเตรียมเตาและกระทะให้พร้อม”

    “ข้าวคลุกน้ำพริก” ตามปกติจะเห็นคนส่วนมากนิยมนำ “ ข้าวคลุกกะปิ” ไปไหว้พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.ศันสนีย์ กล่าวว่า ที่ถูกต้องน่าจะเป็น “ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิ” โดยมีที่มาจากพระราชหัตถเลขาตอนเสด็จประพาสต้นว่า

    “เหลือกะปิน้ำตาลติดก้นขวด เอามาปนกับมะนาวบีบ พริกป่นโรยลงไปหน่อยคลุกข้าวกินกับหมูแฮมแลกับฝรั่ง เพลินอิ่มสบายดี”

    ผศ.ดร.สันสนีย์ วิเคราะห์ว่า เครื่องปรุงและกรรมวิธีในพระราชหัตถเลขานั้น คือการทำ “น้ำพริกกะปิ” ซึ่งมีกะปิ น้ำตาลปี๊บ มะนาว และเนื่องจากไม่มีพริกขี้หนู จึงใช้พริกป่นเพื่อความเผ็ด สอดคล้องกับที่พระองค์ทรงโปรดน้ำพริกกะปิด้วย จึงไม่น่าจะเป็นข้าวคลุกกะปิที่เข้าใจกันผิดๆ

    อีกทั้ง ม.จ.หญิงจงจิตถนอม ดิศกุล ยังทรงทำกะปิพล่าถวาย และเป็นที่พอพระราชหฤทัยถึงกับทรงขอเสวยซ้ำในวันรุ่งขึ้น และได้พระราชทานรางวัลเป็นสร้อยข้อมือ 1 เส้น พร้อมด้วยพระราชดำรัสว่า “ข้าได้กินน้ำพริกของเจ้า ทำให้ข้ารอดตายแล้ว”

    “ข้าวต้มสามกษัตริย์” ที่มาของสำรับนี้มีบันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งเสด็จประพาสแม่กลอง โปรดต้มข้าวต้มด้วยพระองค์เองบนเรือน โดยใช้กุ้ง ปลาทู และปลาหมึกที่ทรงซื้อจากชาวบ้านที่จับปลา จึงเรียกขานสำรับนี้ว่า “ข้าวต้มสามกษัตริย์” หรือถ้าปัจจุบันคือข้าวต้มซีฟู้ดนั่นเอง โดยครั้งนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงร่วมเสวยด้วยและออกพระโอษฐ์ว่า “ตั้งแต่เกิดมาฉันยังไม่เคยกินข้าวต้มอะไรที่อร่อยเหมือนวันนี้เลย”

    “ซุปลูกหมา” เป็นสำรับที่ทรงคิดและโปรดปรุงด้วยพระองค์เองเสมอ ที่มาของสำรับนี้เกิดขึ้นตอนเสด็จประพาสยุโรป ทรงมีโอกาสได้ชิมอาหารฝรั่งและทรงโปรดหลายอย่าง อาทิ ซุปปอดโอโฟ ไก่นมวัวและเทอรีน เป็นต้น หลังจากเสด็จกลับแล้ว ก็ทรงปรุงซุปปอดโอโฟ และทุกครั้งจะพระราชทานให้แก่สุนัขทรงเลี้ยง เนื่องจากสุนัขทรงเลี้ยงชอบมาก พระองค์จึงทรงเรียกซุปปอดโอโฟว่า “ซุปลูกหมา” โดยปรุงจากเนื้อวัวและผัก

    เครื่องเสวยที่ทรงโปรดยังมีอีกมาก แต่สำหรับผลไม้ทรงทรงโปรดมากคือ “ลูกแพร์” ที่เคยตรัสว่า “ลูกเดียวอิ่มบริบูรณ์ชื่นใจ” ส่วนน้ำที่เสวยนั้น ต้องนำมาจากแม่น้ำเพชรบุรีเท่านั้น




    ข่าวโดย Manager-Celeb Online

  4. #4
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    23 ตุลาคม วันปิยมหาราช

    23 ตุลาคม วันปิยมหาราช

    23 ตุลาคม วันปิยมหาราช

    วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ภาษาอังกฤษคือ Chulalongkorn Day เป็นวันสำคัญ และวันหยุดราชการวันหนึ่งของไทย

    วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช" ซึ่งมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน" ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น "วันปิยมหาราช"



    ที่มา : สมุนไพรดอทคอม

  5. #5
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    ข้าแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ๒๓ ตุลาคม

    ข้าแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ๒๓ ตุลาคม

    ข้าแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ๒๓ ตุลาคม

    ข้าแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ๒๓ ตุลาคม


    พระคาถาบูชา เสด็จพ่อ ร.5 พระพุทธเจ้าหลวง
    การบูชาพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ควรบูชาทุกวันอังคาร ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ และวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันครู

    เครื่องสักการะให้ถวายเสด็จพ่อ ร.5 พระปิยมหาราช


    1. น้ำมะพร้าวอ่อน
    2. กล้วยน้ำว้า
    3. ทองหยิบ
    4. ทองหยอด
    5. บรั่นดี
    6. ซิการ์
    7. ข้าวคลุกกะปิ
    8. ดอกกุหลาบสีชมพู


    ตั้งนะโม 3 จบแล้วสวด พระคาถาบูชา เสด็จพ่อ ร.5 พระพุทธเจ้าหลวง ดังนี้
    พระสยามมินโธ วะโรอิติ พุทธสังมิ อิติอรหัง สะหัสสะกายัง วะรังพุทโธ นะโมพุทธายะ
    ปิยะมะมะ นะโมพุทธายะ (กล่าว 3 ครั้ง)

    (พระคาถาบูชา เสด็จพ่อ ร.5 แบบเต็มรูปแบบดังนี้)

    คาถาบูชา เสด็จพ่อ ร.5 คำบูชาเสด็จพ่อ ร.5 แบบเต็มรูปแบบ

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    อิติปิ โส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ
    อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ
    พระสยามมินโท วะโรอิติ
    พุทธะสังมิ อิติอะระหัง
    สะหัสสะกายัง วะรังพุทโธ
    นะโม พุทธายะ มาสีสะมานัง






    ที่มา : 26 พุทธศตวรรษ

  6. #6
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    " พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

    " พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

    " พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระพุทธเจ้าหลวง ทรงเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบรมราชสมภพเมื่อ วันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เสวยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. 2411) รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ด้วยโรคพระวักกะ รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา

    พระองค์ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร ให้ร่มเย็นเป็นสุข ทรงโปรดการเสด็จประพาสต้น เพื่อให้ได้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ทรงสนพระทัยในวิชาความรู้ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และนำมาใช้บริหารประเทศให้ เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช และมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน

    พระราชประวัติ

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ (ต่อมาภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลงพระนามเจ้านายฝ่ายในให้ถูกต้องชัดเจนตามโบราณราชประเพณีนิยมยุคถัดมาเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร

    พระองค์ทรงมีพระขนิษฐาและพระอนุชารวม 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

    วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2404 สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ได้รับการสถาปนาให้ขึ้นทรงกรมเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ [1] และเมื่อ พ.ศ. 2409 พระองค์ทรงผนวชตามราชประเพณี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังจากการทรงผนวช พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า [2]

    วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตภายหลังทรงเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า "พระราชดำริทรงเห็นว่า เจ้านายซึ่งจะสืบพระราชวงศ์ต่อไปภายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ พระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันจงพร้อม สุดแล้วแต่จะเห็นดีพร้อมกันเถิด ท่านผู้ใดมีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็ให้เลือกดูตามสมควร" ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จสวรคต จึงได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องการถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ซึ่งในที่ประชุมนั้นประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา [3] โดยในขณะนั้น ทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะทรงมีพระชนมพรรษครบ 20 พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า

    " พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทร มหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว"

    เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา จึงทรงลาผนวชเป็นพระภิกษุ และได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า

    " พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราช รวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฏไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา



    พระมเหสี พระราชินี เจ้าจอม พระราชโอรส และ พระราชธิดา

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมเหสี และ เจ้าจอม รวมทั้งหมด 92 พระองค์ โดย 36 พระองค์มีพระราชโอรส-ธิดา อีก 56 พระองค์ไม่มี และพระองค์ทรงมีพระราชโอรส-ธิดา รวมทั้งสิ้น 77 พระองค์



    พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

    พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเลิกทาส การป้องกันการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติการในศาสนาได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ได้มีมีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัดและอำเภอ และได้มีการสร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง เมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433 นอกจากนี้ได้มีงานพระราชนิพนธ์ ที่สำคัญ


    การเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส

    ครั้งที่ 1 เสียแคว้นเขมร (เขมรส่วนนอก) เนื้อที่ประมาณ 123,050 ตารางกิโลเมตร และเกาะอีก 6 เกาะ วันที่ 15 กรกฎาคม 2410

    ครั้งที่ 2 เสียแคว้นสิบสองจุไท หัวพันห้าทั้งหก เมืองพวน แคว้นหลวงพระบาง แคว้นเวียงจันทน์ คำม่วน และแคว้นจำปาศักดิ์ฝั่งตะวันออก (หัวเมืองลาวทั้งหมด) โดยยึดเอาดินแดนสิบสองจุไทย และได้อ้างว่าดินแดนหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์ เคยเป็นประเทศราชของญวนและเขมรมาก่อน จึงบีบบังคับเอาดินแดนเพิ่มอีก เนื้อที่ประมาณ 321,000 ตารางกิโลเมตร วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2431 ฝรั่งเศสข่มเหงไทยอย่างรุนแรงโดยส่งเรือรบล่วงเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า ฝ่ายไทยยิงปืนไม่บรรจุกระสุน 3 นัดเพื่อเตือนให้ออกไป แต่ทางฝรั่งเศสกลับระดมยิงปืนใหญ่เข้ามาเป็นอันมาก เกิดการรบกันพักหนึ่ง ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสนำเรือรบมาทอดสมอ หน้าสถานทูตของตนในกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ (ทั้งนี้ประเทศอังกฤษ ได้ส่งเรือรบเข้ามาลอยลำอยู่ 2 ลำ ที่อ่าวไทยเช่นกัน แต่มิได้ช่วยปกป้องไทยแต่อย่างใด) ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ไทย 3 ข้อ ให้ตอบใน 48 ชั่วโมง เนื้อหา คือ

    ให้ไทยใช้ค่าเสียหายสามล้านแฟรงค์ โดยจ่ายเป็นเหรียญนกจากเงินถุงแดง พร้อมส่งเช็คให้สถานทูตฝรั่งเศสแถวบางรัก

    ให้ยกดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆ ในแม่น้ำด้วย

    ให้ถอนทัพไทยจากฝั่งแม่น้ำโขงออกให้หมดและไม่สร้างสถานที่สำหรับการทหาร ในระยะ 25 กิโลเมตร ทางฝ่ายไทยไม่ยอมรับในข้อ 2 ฝรั่งเศสจึงส่งกองทัพมาปิดอ่าวไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2436 และยึดเอาจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราดไว้ เพื่อบังคับให้ไทยทำตาม

    ไทยเสียเนื้อที่ประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 และฝรั่งเศสได้ยึดเอาจันทบุรีกับตราด ไว้ต่ออีก นานถึง 11 ปี (พ.ศ. 2436- พ.ศ. 2447)
    ปี พ.ศ. 2446 ไทยต้องทำสัญญายกดินแดนให้ฝรั่งเศสอีก คือ ยกจังหวัดตราดและเกาะใต้แหลมสิงห์ลงไป (มีเกาะช้างเป็นต้น) ไปถึง ประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) ดังนั้นฝรั่งเศสจึงถอนกำลังจากจันทบุรีไปตั้งที่ตราด ในปี พ.ศ. 2447


    วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ไทยต้องยกดินแดนมณฑลบูรพา คือเขมรส่วนใน ได้แก่เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศสอีก ฝรั่งเศสจึงคืนจังหวัดตราดให้ไทย รวมถึงเกาะทั้งหลายจนถึงเกาะกูด

    รวมแล้วในคราวนี้ ไทยเสียเนื้อที่ประมาณ 66,555 ตารางกิโลเมตร

    และไทยเสียดินแดนอีกครั้งทางด้านขวาของแม่น้ำโขง คืออาณาเขต ไซยะบูลี และ จำปาศักดิ์ตะวันตก ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450



    การเสียดินแดนให้อังกฤษ

    เสียดินแดน รัฐไทรบุรี รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู และรัฐปะลิส ให้อังกฤษ เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451 ( นับอย่างใหม่ พ.ศ. 2452) เพื่อขอกู้เงิน 4 ล้านปอนด์ทองคำอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี มีเวลาชำระหนี้ 40 ปี



    พระราชปณิธาน

    พระราชบิดาของฉัน ได้ทรงสละเวลาเป็นส่วนใหญ่ ในการศึกษาและคุ้มครองศาสนาของชาติ ส่วนฉันได้ขึ้นครองราชย์ในขณะอายุยังน้อย จึงไม่มีเวลาที่จะเป็นนักศึกษาอย่างพ่อ ฉันเองมีความสนใจในการศึกษาหนังสือหลักธรรมต่างๆ สนใจที่จะคุ้มครองศาสนาของเรา และต้องการให้มหาชนทั่วไปมีความเข้าใจถูกต้อง

    ดูเหมือนว่า ถ้าชาวยุโรปเชื่อในคำสอนของคณะมิชชันนารีว่า ศาสนาของเราโง่งมงาย และชั่วทราม คนทั้งหลายก็จะต้องถือว่าพวกเราเป็นคนโง่งมงายและชั่วทรามไปด้วย ฉันจึงรู้สึกขอบคุณบรรดาบุคคล เช่น ท่านเป็นตัวอย่าง ที่สอนชาวยุโรปให้ความคารวะแก่ศาสนาของเรา


    พระราชนิพนธ์

    ทรงมีพระราชนิพนธ์ ทั้งหมด 10 เรื่อง

    1 ไกลบ้าน

    2 เงาะป่า

    3 นิทราชาคริต

    4 อาบูหะซัน

    5 พระราชพิธีสิบสองเดือน

    6 กาพย์เห่เรือ

    7 คำเจรจาละครเรื่องอิเหนา

    8 ตำรากับข้าวฝรั่ง

    9 พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี

    10 โคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์


    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    พระบรมนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชวรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร

    ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี

    ครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2410

    ระยะครองราชย์ 42 ปี

    รัชกาลก่อนหน้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    รัชกาลถัดไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    วัดประจำรัชกาล วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

    ข้อมูลส่วนพระองค์

    พระราชสมภพ 20 กันยายน พ.ศ. 2396

    วันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู

    สวรรคต 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

    รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา

    พระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    พระราชมารดา สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์

    พระมเหสี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

    พระราชโอรส/ธิดา 77 พระองค์

    (ที่มา: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี )

  7. #7
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    ราชยานยนต์คันแรก

    ราชยานยนต์คันแรก

    ราชยานยนต์คันแรก

    ราชยานยนต์คันแรก ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รถยนต์ Mercedes Benz 28Hp ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับ เรื่องรถยนต์เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการตัดถนนใน กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น หลายสาย ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เสด็จกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้เสด็จไปรักษาพระองค์ จากอาการประชวรที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ทรงมีรับสั่งให้ บริษัทเยอรมันใน กรุงปารีสทำการประกอบ รถยนต์ส่วนบุคคลยี่ห้อ Mercedes ซึ่งนับได้ว่าเป็น รถยนต์ชั้นยอดในเวลานั้น

    รถยนต์ Mercedes ปรากฏหลักฐานการสั่งซื้อ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสยาม ประจำกรุงปารีส โดยทำการสั่งซื้อจาก ออโตโมบิลยูเนียน ปารีส และมาถึงสยามประเทศ โดยการบรรทุกมาทางเรือ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ระบุในใบส่งของว่าผู้รับปลายทาง คือพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม เป็นรถยนต์ Mercedes Benz รุ่น 28 HP 4 สูบเครื่องยนต์ 35 แรงม้าหมายเลขแชสซีส์ 2397 และหมายเลขเครื่องยนต์ 4290 ในขณะนั้น เสด็จกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงทำการเร่งการประกอบ รถยนต์แทบทุกวัน พอรถเสร็จก็ทรงว่าจ้าง คนขับชาวอังกฤษ ขับรถคันนี้พาพระองค์ท่าน พร้อมด้วย ม.จ.อมรทัต กฤดากร หลวงสฤษดิ์ สุทธิวิจารณ์ (ม.ร.ว.ถัด ชุมสาย) ตระเวนไปทั่วยุโรปภาคกลาง เพื่อเป็นการทดสอบเครื่องยนต์ และตัวรถ จากนั้น จึงวนกลับไปยังนครปารีส

    เมื่อเสด็จกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสด็จกลับถึงยังเมืองไทยแล้ว ก็ได้ทรงนำรถยนต์คันนี้ ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่พอ พระราชหฤทัยยิ่งนัก และแล้วรถยนต์ Mercedes Benz หมายเลขแชสซีส์ 2397 และหมายเลขเครื่องยนต์ 4290 ก็กลายเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรก ในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่สารถีก็คือ เสด็จกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์นั่นเอง

    ต่อมาทรงเห็นว่ารถยนต์ เพียงคันเดียวไม่เพียงพอ ที่จะใช้งาน ตามพระราชประสงค์ อันเนื่องมาจาก พระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ก็ทรงโปรดปรานรถยนต์ กัน แทบทุกพระองค์ และมักจะตามเสด็จไปด้วย ในการเดินทางรอบพระนคร จึงได้ตัดสินพระทัย ซื้อรถยนต์พระที่นั่งอีกคันหนึ่ง ในครั้งนี้เสด็จกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้เป็นผู้แทนพระองค์ ในการสั่งซื้อ อีกครั้ง และทรงเลือกรถ Mercedes Benz เหมือนเดิม โดยสั่งนำเข้าจากเยอรมันโดยตรง เป็นรถเก๋งสีแดงรุ่นปี 2448 เครื่องยนต์ 4 สูบ 28 แรงม้าสามารถวิ่งได้เร็ว ถึง 73 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นรถยนต์ที่เร็วมาก ได้พระราชทานนามแก่รถยนต์พระที่นั่ง คันที่ 2 ว่า แก้วจักรพรรดิ ในทำนองเดียวกันกับ โบราณราชประเพณี ที่มีการพระราชทานนามให้แก่ ช้างเผือกคู่พระบารมี คำว่า แก้วจักรพรรดิ มีความหมายเปรียบประดุจหนึ่ง ในแก้วเจ็ดประการ อันเป็นของคู่พระบารมี แห่งองค์พระมหากษัตริย์






    ที่มา : facebook.com/Siriwanna Jill

  8. #8
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    ถือกำเนิดรถไฟไทย

    ถือกำเนิดรถไฟไทย
    ถือกำเนิดรถไฟไทย
    ถือกำเนิดรถไฟไทย
    ถือกำเนิดรถไฟไทย


    รถไฟไทย ถือกำเนิดขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุผลทางด้านการเมือง จากนโบายขยายอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส พฤติการณ์ ของมหาอำนาจตะวันตก ขณะนั้นเป็นเหตุการณ์ให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงดำริสร้างทางรถไฟของรัฐ ด้วยทรงเห็นว่าลำพังทางเกวียน และแม่น้ำลำคลอง เป็นเส้นทางคมนาคม ไม่เพียงพอแก่การทำนุบำรุงรักษา ราชอาณาเขต

    กิจการรถไฟได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อรัฐบาลได้อนุมัติสัมปทาน แก่บริษัทชาวเดนมาร์ก ให้สร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพฯ ถึง สมุทรปราการ ระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร หลังจากนั้น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมรถไฟหลวงขึ้น สังกัดกระทรวงโยธาธิการ ครั้นเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๙ พระองค์จึงเสด็จทรงประกอบ พระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟ ระหว่างกรุงเทพฯ - อยุธยา ระยะทาง ๗๑ กิโลเมตร ซึ่งทางการได้ถือเอาวันนี้ เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟหลวง ความกว้างของราง เมื่อแรกสร้างทางฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นรางกว้าง ๑.๔๓๕ เมตร ระยะทางทั้งหมด ๑,๐๗๖ กิโลเมตร ส่วนทางฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำ เป็นรางกว้าง ๑.๐๐ เมตร ที่สร้างเป็นรางขนาด ๑.๐๐ เมตรก็เพื่อให้มีขนาดเท่ากับ ของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหลาย คือ มาเลเซีย พม่า เขมร ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้เปลี่ยนราง ขนาด ๑.๔๓๕ เมตร ทางฝั่งตะวันออก ที่สร้างไปแล้ว ทั้งหมดเป็นขนาด ๑.๐๐ เมตร โดยใช้เวลาทั้งสิ้น ๑๐ ปี แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๙

    ในการสร้างทางรถไฟสายแรกนี้ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ กรมหมื่นนคราธิปประพันธ์พงษ์ รองเสนาบดี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ประกาศขายหุ้น ลงทุนในการสร้าง ทางรถไฟหลวง สายนครราชสีมา ให้แก่ประชาชนด้วย โดยแบ่งเป็นหุ้น ไม่เกิน ๑๖๐,๐๐๐ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๑ ชั่ง ๒๐ บาท

    สำหรับเงินทุน ที่จะใช้ในการก่อสร้างนั้น ปรากฏว่า ได้กำหนดกันไว้ ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ ชั่ง เมื่อการก่อสร้างทางรถไฟสายแรก สำเร็จลงตามพระราชประสงค์แล้ว ก็ทรงพิจารณาสร้างทางรถไฟสายอื่น ๆ ต่อไป จนกระทั่งสิ้น รัชสมัยของพระอง
    ค์





    ที่มา : facebook.com/Siriwanna Jill

  9. #9
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    ตามรอยเสด็จประพาสพระปิยมหาราช ยลพระที่นั่งงามเรืองรอง ที่ “ถ้ำพระยานคร”

    ตามรอยเสด็จประพาสพระปิยมหาราช ยลพระที่นั่งงามเรืองรอง ที่ “ถ้ำพระยานคร”
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของปวงชนชาวไทย

    วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของชาติ โดยเป็นวันที่ปวงชนชาวไทยได้ร่วมกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือพระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อชาติและประชาชนอย่างมากมาย และยังทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนชาวไทยไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในท้องถิ่นใดๆ ก็ตาม ด้วยการเสด็จประพาสไปยังหัวเมืองต่างๆ ทั้งการเสด็จประพาสอย่างเป็นทางการ และการเสด็จประพาสต้น (การเสด็จประพาสโดยไม่แจ้งหมายกำหนดการ) ที่จะทำให้ทรงรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่แท้จริง

    หนึ่งในสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จประพาสก็คือ “ถ้ำพระยานคร” ในอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถ้ำอันมีความงดงามวิจิตรพิสดารจนพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จมาประพาสถ้ำแห่งนี้สักครั้งหนึ่ง



    ตามรอยเสด็จประพาสพระปิยมหาราช ยลพระที่นั่งงามเรืองรอง ที่ “ถ้ำพระยานคร”

    บรรยากาศอันงดงามภายในถ้ำพระยานคร

    “ถ้ำพระยานคร” ถูกค้นพบโดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อครั้งที่เดินทางโดยทางเรือมุ่งหน้าขึ้นมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้นำเรือเข้ามาจอดพักหลบพายุในแถบนี้และสำรวจพบถ้ำที่อยู่ด้านบน ถ้ำนี้จึงได้ชื่อว่า “ถ้ำพระยานคร” และในคราเดียวกันนั้นเอง ก็ได้ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ดื่มกิน เรียกว่า “บ่อพระยานคร” ซึ่งตั้งอยู่ก่อนถึงทางเดินขึ้นสู่ถ้ำพระยานคร

    ความงดงามของถ้ำแห่งนี้อยู่ที่หินงอกหินย้อยที่ผนังถ้ำซึ่งดูราวกับธารน้ำตก จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จประพาสถ้ำ ในคราวเดียวกับที่เสด็จประพาสแหลมมลายู โดยได้เสด็จมาประพาสถ้ำพระยานครเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2433

    ในการเดียวกันนี้ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ทรงออกแบบสร้างพลับพลาจตุรมุข กว้าง 2.55 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 2.55 เมตร โดยสร้างขึ้นที่กรุงเทพฯ แล้วส่งมาประกอบทีหลัง โดยให้พระยาชลยุทธโยธินเป็นนายงานก่อสร้าง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมายกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง และพระราชทานชื่อว่า “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์


    ตามรอยเสด็จประพาสพระปิยมหาราช ยลพระที่นั่งงามเรืองรอง ที่ “ถ้ำพระยานคร”
    พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์

    ปัจจุบัน พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของถ้ำพระยานคร เมื่อมองเข้าไปจากปากถ้ำแล้ว จะเห็นแสงอาทิตย์ส่องผ่านปล่องภูเขาด้านบน ลงมากระทบกับพลับพลาที่ประทับ กลายเป็นแสงเรืองรองส่องประกาย และยังถูกยกให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ เป็น 1 ใน 10 สถานที่ท่องเที่ยวอันมหัศจรรย์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว 1 ใน 9 ความมหัศจรรย์ของแหล่งท่องเที่ยวยามกลางวันที่จะงดงามที่สุด ตามคู่มือท่องเที่ยว 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และที่สำคัญ พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ยังถูกนำมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย


    ตามรอยเสด็จประพาสพระปิยมหาราช ยลพระที่นั่งงามเรืองรอง ที่ “ถ้ำพระยานคร”
    พระปรมาภิไธยย่อของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7

    นอกจากการเสด็จมาประพาสถ้ำพระยานครในครั้งนั้น และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาจตุรมุขขึ้น ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ไว้ ณ บริเวณผนังถ้ำด้านเหนือของพลับพลา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระองค์ได้ทรงเคยเสด็จมาประพาส ณ สถานที่แห่งนี้แล้ว

    และนอกจากรัชกาลที่ 5 แล้ว ก็ยังมีพระมหากษัตริย์อีกสองพระองค์ที่ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานคร ด้วยเช่นกัน นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. เมื่อครั้งเสด็จประพาสถ้ำนี้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2469 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จประพาสถ้ำพระยานครสองครั้ง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2501 และวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2524


    ตามรอยเสด็จประพาสพระปิยมหาราช ยลพระที่นั่งงามเรืองรอง ที่ “ถ้ำพระยานคร”

    ทางเดินเพื่อขึ้นไปชมถ้ำพระยานคร

    ผู้ที่มาเที่ยวชมยัง “ถ้ำพระยานคร” จะได้เห็นความงดงามของหินงอกหินย้อย และความงามของพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เมื่อกระทบแสงแดด (ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะชมพระที่นั่งได้งามที่สุดคือ 10.30-11.00 น. เพราะแสงอาทิตย์จะส่องลงมายังพระที่นั่งพอดี) นอกจากนั้นเมื่อมองไปยังด้านบนปล่องถ้ำจะเห็นว่ามีลักษณะแผ่นหินเชื่อมติดกันคล้ายกับสะพาน ซึ่งจุดนี้เรียกว่า "สะพานมรณะ" ส่วนบริเวณพื้นทางเดินเป็นปุ่มหินขนาดเล็กใหญ่สลับกันไปคล้ายกับปุ่มหลังของจระเข้ จึงมีชื่อเรียกว่า "ทางสันจระเข้" แต่ทางเดินขึ้นไปยังถ้ำซึ่งมีระยะทาง 430 เมตร มีความลาดชัน เส้นทางเป็นหินขรุขระเกือบตลอดเส้นทาง ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดิน แต่มีความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ และยังมีจุดแวะพักให้ชมทิวทัศน์รอบๆ ได้ด้วย

    นอกจากนั้น บริเวณโดยรอบถ้ำยังมีความสวยงามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นหาดแหลมศาลาซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างภูมิประเทศเขาหินปูนและชายฝั่งทะเล มีลักษณะเป็นภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน ด้านหน้าเป็นท้องทะเลอ่าวไทยที่งดงาม โดยหาดแหลมศาลายังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทาง 900 เมตร มีความน่าสนใจของธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งภูมิประเทศเขาหินปูน ภูมิประเทศชายฝั่งทะเล และพืชพรรณเฉพาะบริเวณเขาหินปูน เช่น ปรงเขา จันผา สลัดได เป็นต้น


    ตามรอยเสด็จประพาสพระปิยมหาราช ยลพระที่นั่งงามเรืองรอง ที่ “ถ้ำพระยานคร”

    “ถ้ำพระยานคร” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การเดินทางสู่ตัวถ้ำสามารถเดินทางได้ 2 แบบ คือ การเดินเท้าขึ้นและข้ามเขาเทียนไปประมาณ 500 เมตร หรือจะไปทางเรือ โดยขึ้นเรือที่หาดบางปูนั่งอ้อมเขาไปประมาณ 10 นาที ส่วนช่วงที่สองนั้นต้องเดินขึ้นเขาในระยะทาง 430 เมต





    ที่มา : http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000132305http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000132305

  10. #10
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    ระยะอันตรภัยในสมัยรัชกาลที่ 5

    ระยะอันตรภัยในสมัยรัชกาลที่ 5

    ระยะอันตรภัยในสมัยรัชกาลที่ 5


    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือพระปิยมหาราช ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทยเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ.2411 สวรรคตเมื่อ พ.ศ.2453 รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี 22 วัน ซึ่งระยะเวลาในการทรงครองราชย์ของพระองค์นั้นตรงกับยุคที่ประวัติศาสตร์โลกเรียกว่า ยุคจักรวรรดินิยมใหม่ (New Imperialism หรือ High Imperialism ช่วงทศวรรษ 1870s-1910s) พอดี อันเป็นช่วงเวลาที่บรรดาประเทศในทวีปต่างๆ เผชิญกับการคุกคามและครอบงำ ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมที่เบอร์ลิน (Berlin Conference)

    โดยบรรดาประเทศมหาอำนาจตะวันตก 12 ประเทศ อันได้แก่ 1) อังกฤษ 2) ฝรั่งเศส 3) เยอรมนี 4) ออสเตรีย-ฮังการี 5) รัสเซีย 6) เดนมาร์ก 7) ฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) 8) เบลเยียม 9) โปรตุเกส 10) สเปน 11) อิตาลี และ 12) สวีเดน-นอร์เวย์ (ประเทศเดียวกันตอนนั้น) ได้มาร่วมประชุมกันที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยนายกรัฐมนตรีออสโต ฟอน บิสมาร์ก เป็นเจ้าภาพ

    เมื่อ พ.ศ.2427-2428 ซึ่งตกลงกันที่จะร่วมมือกันแบ่งทวีปแอฟริกาด้วยกันแบบว่าเอาแผนที่แอฟริกามาขีดแบ่งเขตแดนกันบนโต๊ะอาหารเลยทีเดียวซึ่งต่อมาก็เป็นพื้นฐานของการแบ่งเขตแดนที่จะยึดครองประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียเป็นอาณานิคม หรือการแบ่งเขตเช่าในเมืองจีน โดยต่อมาสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาขอเป็นภาคีร่วมในข้อตกลงของการประชุมที่เบอร์ลินนี้ด้วย

    ครับ! การประชุมที่กรุงเบอร์ลินนี้เองคือการจัดระเบียบให้บรรดามหาอำนาจใหญ่น้อยของยุโรปจำนวน 1 โหลนี้ ไม่ต้องแก่งแย่งกันและเปิดฟรีให้จัดการกับประเทศเอกราชทั้งหลายในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียได้ตามอำเภอใจ ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากรายงานของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงเวลานั้น อังกฤษชึ่งได้พม่าตอนล่างไปแล้วได้ส่งกำลังทหารขึ้นไปตีเอากรุงมัณฑะเลย์ของพม่าใน พ.ศ.2428 โดยกษัตริย์ธีบอของพม่าพยายามดิ้นรนด้วยการส่งคณะราชทูตมาฝรั่งเศสเพื่อจะหาทางจูงใจฝรั่งเศสให้เข้าไปขัดขวางอังกฤษ แต่ฝรั่งเศสก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับคณะทูตจากพม่า เพราะประเทศจักรวรรดินิยมทั้งสองสามารถตกลงแบ่งผลประโยชน์จากข้อตกลงในการประชุมกรุงเบอร์ลินได้แล้ว

    ขณะที่คณะทูตเคว้งคว้างอยู่ในกรุงปารีสไม่รู้จะทำอย่างไรดีนั้น อังกฤษก็สามารถจับเอากษัตริย์ธีบอและราชินีศุภยาลัตเป็นเชลยแล้วยึดพม่าทั้งประเทศเป็นเมืองขึ้นโดยสมบูรณ์

    คณะราชทูตพม่าเลยตกงานจึงเข้ามาปรับทุกข์กับท่านอัครราชทูตไทยคือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ขอให้ช่วยแก้ปัญหาจนได้ฝรั่งเศสช่วยจัดการส่งคณะราชทูตพม่ากลับบ้านกลับเมืองได้ในที่สุด พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงได้ข้อมูลมากมายถวายรายงานมาทางกรุงเทพฯ

    การล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมใหม่นี้มีเจ้าอุดมการณ์คนอังกฤษคนหนึ่งชื่อ นายรัดยาร์ด คิปลิง (คนที่แต่งหนังสืออ่านเล่นเรื่องเมาคลีลูกหมาป่านั่นแหละ) แกแต่งออกมาเป็นบทกวีจนเป็นที่ยึดถือเป็นอุดมการณ์ของพวกล่าอาณานิคมว่า

    Take up the White Man?s Burden-Send forth the best ye breed-Go bind your sons to exile

    To serve your captives? need; To wait in heavy harness

    On flattered folks and wild-Your new caught sullen peoples,

    Half devil and half child

    แปลว่า

    จงสวมแอกของคนขาวเข้า-ส่งเชื้อสายที่ดีที่สุดของท่านออกไป

    ให้ลูกเราทั้งหลายออกไปสู่การเนรเทศ

    เพื่อให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของหมู่เชลยของเรา ;

    คอยรับใช้ในแอกอันหน่วงหนัก

    ทนต่อชาวบ้านและชาวป่าพื้นเมืองที่คอยประจบประแจง

    ทนต่อพวกเชลยที่หน้าตาบูดบึ้งที่เพิ่งถูกท่านจับมาได้ใหม่

    อันเป็นพวกครึ่งปีศาจและครึ่งเด็ก

    บทกวีของคิปลิงนี้เองแสดงถึงความชอบธรรมของชาวตะวันตกผิวขาวในการช่วยปลดปล่อยคนป่าเถื่อนที่มีสภาพเป็นครึ่งปีศาจครึ่งเด็ก ด้วยการรุกรานดินแดนป่าเถื่อนเหล่านี้ให้อยู่ในปกครองของตะวันตกและนำความเจริญของตะวันตก รวมทั้งคริสต์ศาสนาไปสู่ดินแดนเหล่านั้น ดังนั้น การเข้าไปบุกยึดดินแดนเหล่านี้มาเป็นอาณานิคมจึงถูกอธิบายว่าคือภารกิจอย่างหนึ่งของคนขาว

    ภารกิจที่สำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2440 นั้นเพื่อเจรจาโดยตรงกับผู้นำของฝรั่งเศส เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) ที่เราต้องเสียดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง (คือลาวเกือบทั้งหมด) ให้กับฝรั่งเศสและยังมีกรณีดินแดนที่ยังคาราคาซังกันที่จันทบุรีที่ฝรั่งเศสยึดไว้เป็นประกัน และเพื่อแสวงหาชาติพันธมิตรมาช่วยส่งเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ

    การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างสัมพันธไมตรีอย่างแน่นแฟ้นกับรัสเซียในรัชสมัยซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ (โปรดอย่าลืมว่ารัสเซียเป็นสมาชิกเริ่มแรกของ The Berlin Conference ด้วย)

    การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ถือเป็นพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งในการรักษาเอกราชของสยามในระยะอันตรภัยในยุคจักรวรรดินิยมใหม่นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า

    "ในเมื่อสยามถูกรังควานโดยฝรั่งเศสด้านหนึ่ง โดยอาณานิคมอังกฤษด้านหนึ่ง...เราต้องตัดสินใจว่าเราจะทำอย่างไร จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปทำตัวเป็นมิตรกับจระเข้ หรือว่ายออกทะเลไปเกาะปลาวาฬไว้ หากเราพบบ่อทองในประเทศเรา...พอที่จะซื้อเรือรบจำนวนร้อยๆ ลำก็ตาม เราคงไม่สามารถสู้รบกับพวกนี้ได้ เพราะเราจะต้องซื้อเรือรบจากประเทศเหล่านี้ (อังกฤษและฝรั่งเศส) พวกนี้จะหยุดขายให้เราเมื่อไหร่ก็ได้...อาวุธชนิดเดียวที่จะเป็นประโยชน์ อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคตก็คือ วาจาและหัวใจอันกอปรด้วยสติและปัญญา"

    เนื่องในวันนี้เป็นวันปิยมหาราช อันเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทยหลายด้าน และสิ่งที่โดดเด่นคือการที่ทรงนำประเทศของเราให้พ้นจากเงื้อมมือของจักรวรรดินิยมใหม่ในช่วงระยะอันตรภัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมาได้ในครั้งกระนั้น



    ที่มา นสพ.มติชน
    คลิกภาพเพื่อขยาย
    updated: 23 ต.ค. 2556 เวลา 14:10:38 น.
    ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

    โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 2 หน้า 12 หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •