ดื่มนมต้านมหันตภัยเงียบ

ป้องโรคกระดูกพรุน ดื่มนมต้านมหันตภัยเงียบ

"นมและผลิตภัณฑ์จากนม" เป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย หนึ่งในนั้นคือ "แคลเซียมธรรมชาติ" เพื่อเสริมสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรง โดยร่างกายต้องการแคลเซียมเฉลี่ย 1,000 ม.ก. ต่อวัน

จากสถิติการบริโภคนมของคนไทย พบว่า คนไทยดื่มนมเฉลี่ยเพียง 14.19 ลิตรต่อคนต่อปี ทำให้ผู้หญิงไทยทุกๆ 3 คน และผู้ชายไทยทุกๆ 5 คน มีหนึ่งคนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็น "โรคกระดูกพรุน" มหันตภัยเงียบ

"กลุ่มบริษัทดัชมิลล์" ร่วมกับ "มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ" จัดเสวนาในหัวข้อ "อาหารและการออกกำลังกาย เพื่อกระดูกที่แข็งแรง" ในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 7

รศ.พญ.วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และกรรมการมูลนิธิโรคกระดูกพรุนฯ เผยถึงสถานการณ์ "โรคกระดูกพรุน" ว่า เป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุการเกิด ไม่มีอาการเจ็บปวด และไม่มีการรักษา มีเพียงแค่การหยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูกและรักษาอาการกระดูกหักเท่านั้น ซึ่งอาการของโรคจะรุกคืบตลอดเวลาโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อกระดูกหักไปแล้ว

ส่วนใหญ่กระดูกที่มีโอกาสหักได้ง่ายจากภาวะกระดูกพรุนคือ กระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อมือ และกระดูกต้นแขนบริเวณหัวไหล่ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่อง หรือเรียกว่า โดมิโน เอฟเฟ็กต์ ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

"เคล็ดลับง่ายๆ เพื่อกระดูกแข็งแรงคือ การดื่มนมเป็นประจำ เพื่อสะสมแคลเซียมธรรมชาติ และจะดีที่สุดถ้าได้เริ่มดื่มนมตั้งแต่วัยเด็กหรือในช่วงอายุ 30 ปีแรก เพื่อเสริมสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรง แต่ถ้าอายุเกิน 30 ปี ขึ้นไปก็ควรดื่มนมเพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียมวลกระดูก ไม่ว่าจะเป็นนมเปรี้ยว โยเกิร์ต และชีส ซึ่งมีแคลเซียมสูง

ทั้งนี้ "การออกกำลังกาย" ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน โดยสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้แข็งแรง และเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระดูก

นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ รองประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนฯ อธิบายว่า วิธีป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดีคือ การรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง และการออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และกล้ามเนื้อ

รวมทั้งลด ละ เลี่ยง พฤติกรรมที่ส่งผลร้ายทำลายกระดูก เช่นลดหรือเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินซ้ำๆ หรือแม้แต่การใส่รองเท้าส้นสูง การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียว และควรให้ร่างกายได้รับแสงแดดในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อช่วยในการสังเคราะห์วิตามินดี





วิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์
รายงานพิเศษ/ข่าวสดออนไลน์, 1 พ.ย.2556