***  หมอก  ***
***  หมอก  ***
***  หมอก  ***
***  หมอก  ***
***  หมอก  ***


หมอก

หมอกเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งในการลดประสิทธิภาพการมองเห็น หมอกจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการคมนาคมทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ หมอกคืออะไรและเกิดมาจากอะไรนั้น ผู้เขียนได้นำเสนอในคอลัมน์นี้ไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ วันนี้จึงขอกล่าวเฉพาะชนิดและลักษณะของหมอกซึ่งมีหลายชนิดหลายลักษณะแตกต่างกันออกไป ดังตัวอย่างจากหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๘ ที่นำมาเสนอแต่พอสังเขปดังนี้

หมอกน้ำค้าง (mist) คือหมอกที่ประกอบด้วยละอองน้ำเล็กมากจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะเช่นเดียวกับหมอกแต่บางกว่า เมื่อมีหมอกน้ำค้างเกิดขึ้นที่ใดมักจะแลดูคล้ายม่านบางสีเทาคลุมอยู่เหนือภูมิประเทศแห่งนั้น ทำให้ทัศนวิสัยลดลง

หมอกไรม์ (rime fog) คือหมอกที่เกิดจากหยดน้ำซึ่งเย็นจัด อุณหภูมิต่ำกว่า ๐ องศาเซลเซียส จนเป็นเกล็ดน้ำแข็งเกาะบนวัตถุกลางแจ้ง ปรกติเกิดขึ้นจากสภาพท้องถิ่น มักเกิดขึ้นในทะเลหมอกน้ำแข็ง (ice fog) คือหมอกที่ประกอบด้วยอนุภาคน้ำแข็งเป็นจำนวนมาก ล่องลอยอยู่ในอากาศ มักเกิดในเขตละติจูดสูงเมื่ออากาศมีอุณหภูมิต่ำมาก ท้องฟ้าแจ่มใส และลมสงบ

หมอกมรสุม (monsoon fog) คือหมอกที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของมวลอากาศไปในแนวนอน เกิดตามบริเวณชายฝั่งในช่วงที่มีลมมรสุม ขณะที่อากาศชื้นและอุ่นเคลื่อนไปบนผิวพื้นที่เย็นกว่า

โดยทั่วไปประเทศไทยจะมีหมอกในฤดูหนาว ซึ่งจะเกิดขึ้นมากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงดังกล่าวอาจมีหมอกหนาทึบเกิดขึ้น ทำให้ทัศนวิสัยลดลงมาก ดังนั้น ฤดูหนาวที่จะมาถึงในปีนี้ นักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางไปชมทะเลหมอกในช่วงฤดูหนาว จึงควรต้องระมัดระวังเรื่องการขับขี่ให้มาก เพื่อเลี่ยงหลีกการเกิดอุบัติเหตุ.







องค์ความรู้ภาษาไทย, อารี พลดี
เดลินิวส์ออนไลน์, ศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555
วิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์