วันสำคัญทางพุทธศาสนา "วันอาสาฬหบูชา และ วันเข้าพรรษา" กำลังเวียนมาอีกครั้ง พุทธศาสนิกชนคงกำลังเตรียมภัตตาหาร เครื่องอัฐบริขาร เพื่อนำไปถวายพระกันอยู่ใช่มั้ยคะ แต่ขอถามสักนิดว่า "คุณคิดว่าอาหารที่คุณจะนำไปถวายพระนั้นเหมาะสมหรือไม่" ส่วนใหญ่เรามักจะเลือกอาหารที่ตัวเองชอบ หรือไม่ก็อาหารโปรดของญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ลืมนึกไปว่าพระสงฆ์คือผู้ฉันอาหารที่เรานำไปถวาย ฉะนั้นเพื่อทำบุญให้ได้บุญ เรามาจัดอาหารถวายพระสงฆ์อย่างถูกต้องกันเถอะ

จัดอาหารถวายพระอย่างไรให้ได้บุญ

สิ่งแรกที่เราควรรู้คือ พระสงฆ์ท่านปฎิบัติธรรมอยู่ในวัด จะมีกิจนิมนต์ข้างนอกบ้าง แต่มิได้ใช้แรงหรือออกกำลังกายมากนัก และญาติโยมใส่บาตรถวายสิ่งใดมา ท่านก็ต้องฉัน เลือกไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงกับโรคภัยที่เกิดจากจากการฉันอาหาร สำหรับโรคที่พระสงฆ์อาพาธมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
1 โรคความดันโลหิตสูง
2 เบาหวาน
3 ถุงลมโป่งพอง
4 โรคกระดูกเสื่อม
5 ข้อเข่าเสื่อม
6 โรคหัวใจและหลอดเลือด
7 โรคไขมันหลอดเลือดสูง
8 โรคฟันผุ, เหงือกอักเสบ
9 โรคเกี่ยวกับตา เช่น ต้อกระจก
10 โรคท้องเสีย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาหารที่จะถวายต่อพระภิกษุสงฆ์
อาหารต้องห้ามสำหรับพระภิกษุ คือ อาหารที่เป็น อกัปปิยะ ไม่สมควรแก่สมณบริโภคขบฉันได้แก่ เนื้อ 10 ชนิด และอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อ 10 ชนิด คือ
1 เนื้อมนุษย์ รวมทั้งเลือดมนุษย์ด้วย
2 เนื้อช้าง
3 เนื้อม้า
4 เนื้อสุนัข
5 เนื้องู
6 เนื้อราชสีห์ (สิงห์โต)
7 เนื้อเสือโคร่ง
8 เนื้อเสือเหลือง
9 เนื้อหมี
10 เนื้อเสือดาว

จัดอาหารถวายพระอย่างไรให้ได้บุญ

-นอกจากเนื้อสัตว์ 10 ชนิดนี้ จำพวกเนื้อที่ยังไม่ได้ทำให้สุกด้วยไฟ เช่น เนื้อดิบ ปลาดิบ ก็เป็นของต้องห้ามไม่ให้พระภิกษุขบฉันด้วยเช่นกัน (ซูชิปลาดิบ, เนื้อย่างเสือร้องไห้ที่สุกๆดิบๆจำพวกนั้นไม่ได้เด็ดขาด)

-เนื้อสัตว์ที่ฆ่าเจาะจง เช่น ฆ่าปลา ฆ่าไก่ เพื่อทำอาหารถวายแก่พระภิกษุสามเณรโดยตรง ซึ่งเรียกว่า “อุทิศสะมังสะ” แปลว่า เนื้อเจาะจง ก็เป็นของห้ามไม่ให้พระภิกษุสามเณรขบฉัน ถ้าพระภิกษุไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเป็นอาหารเฉพาะเจาะจงแก่ตน จึงฉันได้

-ผลไม้ที่มีเมล็ดอาจเพาะเป็น คือ ผลไม้ที่ใช้เมล็ดปลูกได้ เช่น เงาะ ลำไย เป็นต้น และเง่าที่ปลูกเป็น คือ พวกเผือก มัน แห้ว เป็นต้น อนุญาตให้อนุปสัมบัน คือ บุคคลที่ไม่ใช่พระภิกษุ ได้แก่ สามเณร และคฤหัสถ์ ทำให้เป็นของสมควรแก่สมณะเสียก่อนแล้วฉันได้ ไม่เป็นอาบัติ

-อาหารที่ปรุงด้วยสุรา จนมีสี มีกลิ่น หรือ มีรสปรากฏ รู้ได้ว่ามีสุราเจือปน ห้ามไม่ให้พระภิกษุขบฉัน ถ้าไม่มีสี ไม่มีกลิ่น หรือไม่มีรสปรากฏ ฉันได้ ไม่เป็นอาบัติ

อาหารที่สมควรแก่พระภิกษุสงฆ์
-เนื้อสัตว์ (นอกจากเนื้อที่ห้าม 10 ชนิดดังกล่าวแล้ว) ทุกชนิด ซึ่งเป็นเนื้อที่เขาฆ่าเพื่อนำมาขายเป็นอาหารคนพื้นเมือง ตามร้านตลาดเรียกว่า “ปะวัตตะมังสะ” แปลว่า เนื้อมีอยู่แล้ว เนื้อที่เป็นไปอยู่ตามปกติที่เขาทำให้สุกด้วยไฟแล้ว อนุญาตให้พระภิกษุฉันได้ ไม่เป็นอาบัติ

-สัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อทำอาหารถวายแก่พระภิกษุโดยตรง แต่พระภิกษุไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้สงสัยว่าเขาฆ่าเป็นการเฉพาะเจาะจงแก่ตน อนุญาตให้พระภิกษุฉันได้ไม่เป็นอาบัติ

วิธีการจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์
-การจัดภัตตาหารถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ในเวลาเช้านิยมจัดอาหารประเภทอาหารเบา เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก กาแฟ ขนมปัง เป็นต้น เพื่อพระภิกษุจะได้มีโอกาสฉันภัตตาหารเพลได้ดี ทำให้ไม่เกิดความหิวในเวลาเย็นและค่ำคืน

-ถ้าจัดภัตตาหารถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ในเวลาเพลนิยมจัดอาหารประเภทอาหารหนัก โดยมากนิยมจัดอาหารไทย ซึ่งถูกกับรสนิยมของพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นคนไทย และควรเป็นอาหารประเภทพื้นเมืองเป็นหลัก อาจมีอาหารพิเศษแทรกบ้างบางอย่างก็ได้

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วค่ะว่ากิจของสงฆ์นั้นไม่ได้ใช้แรงกำลังมากนัก พูดกันง่ายๆว่าพระท่านจะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ดังนั้นอาหารไม่ควรหนักไปทางแป้ง, น้ำตาล, ไขมัน ส่วนข้าว เน้นเป็นข้าวกล้องจะดีที่สุด

ตัวอย่างเมนูจัดภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ : ข้าวกล้อง, แกงป่า, แกงเลียง, ผัดผัก (หากเป็นมังสวิรัติได้ก็ดี หรือจะใส่เนื้อสัตว์ เช่น กุ้ง บ้างก็ได้), น้ำพริกกับผักสด หรือผักต้ม เมนูที่ใส่เนื้อสัตว์ เน้นเนื้อปลาดีที่สุดค่ะ เพราะไขมันต่ำ โปรตีนสูง ย่อยง่าย และจะดีที่สุดหากหลีกเลี่ยงเมนูที่ใช้กระทิเป็นส่วนประกอบ

จัดอาหารถวายพระอย่างไรให้ได้บุญ

สำหรับของหวาน เลี่ยงขนมหวานจากกระทิ, ขนมหวานจัดๆ เปลี่ยนมาเป็นผลไม้สดตามฤดูกาลดีกว่า เช่น แตงโม, องุ่น, มะละกอ เป็นต้น แต่อย่างทุเรียนนี่แป้งล้วนๆ เลี่ยงได้ก็ดี

จัดอาหารถวายพระอย่างไรให้ได้บุญ

การทำบุญตักบาตรเป็นเรื่องดี แต่หากเราเลือกอาหารที่ช่วยให้พระสงฆ์ท่านมีสุขภาพที่ดีด้วยแล้ว จะยิ่งส่งเสริมบุญมากขึ้น

แหล่งที่มา http://ethic-miza-e.blogspot.com