"วันวชิราวุธ "


"วันวชิราวุธ "

ตรงกับ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ของทุกปี เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ที่เป็นประโยชน์ อย่างมากมายมหาศาล ต่อประเทศชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ทั้งนี้ภายหลังมีหลักฐานยืนยันว่า วันสวรรคตจริง ตรงกับเช้ามืดช่วงตี ๑ ของวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน แต่ทางราชการยังคงถือว่าวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เป็นวันวชิราวุธ

พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓

เมื่อพระชนมพรรษา เจริญครบเดือน พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ" ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ เมื่อมีพระชนมพรรษา ๘ พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้น เป็นเจ้าฟ้า "กรมขุนเทพทวาราวดี" ให้ทรงมีพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ ๒ รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ขณะทรงพระเยาว์ พระชนมพรรษา ๑๒ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทย พระองค์แรกที่ทรงได้รับ การศึกษาจากต่างประเทศ

พระองค์ทรงศึกษาสรรพวิชา หลายแขนง ทั้งการทหารบก ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนเฮิสต์ วิชาประวัติศาสตร์ และกฎหมายที่วิทยาลัย ไครสต์ เซิช มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และทรงพระราชนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ทางประวัติศาสตร์เรื่อง The
War of the Polish Succession แต่ระหว่างที่ศึกษาอยู่ ทรงพระประชวร ด้วยพระโรคพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ ทำให้ต้องทรงรับการผ่าตัดทันที จึงทรงพลาดโอกาสที่จะได้รับปริญญา


เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ซึ่งตรงกับวันเสด็จสวรรคต ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชธิดา เพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี ประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี หลังจากนั้นเพียง ๑ วัน ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระโลหิตเป็นพิษ ในพระอุทร รวมพระชนมพรรษาได้ ๔๕ พรรษา รวมเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ ๑๕ พรรษา

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ พระองค์ทรงประกอบ พระราชกรณียกิจที่สำคัญ หลายด้าน ไม่ว่าจะด้านการปกครอง การศึกษา กิจการกองเสือป่า ด้านวรรณกรรม ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่ยังให้เกิด ความวัฒนาต่อสยามประเทศ

ทรงโปรดให้สร้าง โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ขึ้นเป็นโรงเรียนในพระองค์ แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล ต่อมาพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย

ทรงตราพระราชบัญญัติ ประถมศึกษาเป็นครั้งแรก โดยกำหนดการศึกษา ภาคบังคับให้เด็กทุกคน ที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีบริบูรณ์ต้องเรียนหนังสือ ในโรงเรียนจนกระทั่งอายุครบ ๑๔ ปีบริบูรณ์


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ คลังออมสินพุทธศักราช ๒๔๕๖ ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน รู้จักการออม จนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ จึงจัดตั้งธนาคารออมสิน ทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขึ้น เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๕๙

ด้านการคมนาคม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟ ที่เคยแยกกัน เป็น "กรมรถไฟหลวง" และเริ่มเปิดการเดินรถไฟ สายกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ อีกทั้งรถด่วนระหว่างประเทศจากธนบุรี เชื่อมไปถึงปีนังและสิงคโปร์ และได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม ๖ เพื่อเชื่อมทางรถไฟ ไปยังภูมิภาคอื่น

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้น อีกทั้งทรงเปิดสถานเสาวภา เพื่อรักษาคนที่ถูกสัตว์ร้ายกัด

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลง คำเรียกชื่อ "เมือง" เป็น "จังหวัด" แทน มีพระราชดำริให้ทำการทดลอง ระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งเมืองจำลอง "ดุสิตธานี" ขึ้น ภายในพระราชวังดุสิต ก่อนจะย้ายมาที่พระราชวังพญาไทในปีถัดมา

ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เพื่อฝึกอบรมข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ให้ได้รับการฝึกหัดอย่างทหาร เพื่อให้เป็นราษฎร ที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ และส่งเสริมความสามัคคี โดยเหล่าเสือป่า จะมีหน้าที่ในการรักษาความสงบทั่วไป พระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์"

ด้านการต่างประเทศ ทรงมีพระบรมราชโองการ ประกาศสงคราม กับประเทศฝ่ายเยอรมัน และได้เข้าร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อรักษาสิทธิของประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารไทยอาสาสมัคร ไปร่วมรบในสมรภูมิในยุโรปด้วย ทำให้ไทยได้สิทธิสภาพ นอกอาณาเขตกลับคืนมา และสามารถเก็บภาษีอากร ได้ตามกฎหมายไทย

โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการใช้ธงช้างเดิม เปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์ แทนตามลักษณะสีธงชาติของประเทศ ที่เป็นสัมพันธมิตรกับประเทศไทย

ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ทรงส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในหลายๆ สาขา คือ
ด้านนาฏศิลป์ สถาปัตยกรรม พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งแบบไทยห ลังแรก คือพระที่นั่งสามัคคี มุขมาตย์ขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

ด้านวัฒนธรรมไทย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ได้พระราชทานนามสกุล ให้บุคคลต่างๆไว้ทั้งหมดประมาณ ๖,๔๓๒ นามสกุล ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สตรีโสดให้ใช้คำว่า "นางสาว" นำหน้าชื่อ หากแต่งงานแล้วให้ใช้ "นาง" เพื่อสอดคล้องกับ "นาย" ของฝ่ายชาย รวมทั้งคำว่า "เด็กหญิง เด็กชาย" ด้วย

ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ พระราชนิพนธ์ชิ้นงาน หลายประเภท ทั้งโขน ละคร พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุศาสนีย์ เทศนาปลุกใจเสือป่า นิทานชวนหัว คำประพันธ์ ร้อยกรอง สารคดี และบทความในหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยทรงใช้พระนามแฝง อยู่หลายชื่อ เช่น ศรีอยุธยา รามจิตติ พันแหลม อัศวพาหุ เป็นต้น

ปวงชนชาวไทยจึงรวมใจกันถวาย พระราชสมัญญาว่า "พระมหาธีรราชเจ้า" อันหมายถึงมหาราช ผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ เพื่อเป็นการยกย่อง และเทิดพระเกียรติคุณแด่พระองค์

เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔ UNESCO จึงได้ยกย่องพระองค์ท่าน ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงาน ดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก พร้อมกับได้มีพระราชพิธีเปิดอาคาร หอวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อเก็บรวบรวมพระราชนิพนธ์ เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านไว้ให้ประชาชน ได้ค้นคว้าศึกษา อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่ จัดแสดงละครพระราชนิพนธ์




เครดิต : https://www.facebook.com/siriwanna.jill?fref=ts